Trigger warning: ความรุนแรงในครอบครัว, การล่วงละเมิดเด็ก
เคยค้นพบว่าเรามีช่องว่างในความทรงจำหรือเปล่า?
ไม่ได้หมายถึงการลืมที่เกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปนานมากพอ แต่คือเมื่ออยู่มาวันหนึ่งเราเผลอมองย้อนไปในอดีต ในห้วงหนึ่งของชีวิต แล้วพบว่าเราไม่พบอะไรเลย นอกจากเศษเสี้ยวเล็กๆ กึ่งจริงกึ่งฝัน แดดบ่ายของวันสักวัน เสียงของจักจั่น กลิ่นของฝน รอยยิ้มสักรอย และความเจ็บปวดไม่มีชื่อ เกิดอะไรขึ้นกับความทรงจำเหล่านั้น? ห้วงเวลาเหล่านั้นหลบซ่อนอยู่ที่ไหน? ที่สำคัญทำไมมันจึงต้องซ่อน?
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของมังงะสายเลือดวิปริต*
มังงะเรื่อง สายเลือดวิปริต (Chi no Wadachi) โดย อ.โอชิมิ ชูโซ (Oshimi Shuzo) เริ่มต้นอย่างนั้น ในบ่ายอบอุ่นที่เข้ามาในหัวของเด็กชายโอซาเบะ เซอิจิ เป็นวันที่แม่ของเขาชิซูโกะเรียกเด็กน้อยไปดูแมวสีขาวนอนตากแดดอุ่นอยู่ข้างทางระหว่างทั้งสองเดินกลับบ้าน แต่ตรงข้ามกับแดด เมื่อมือของเซอิจิจับต้องลงบนขนนุ่มของแมว ร่างของมันเย็นยะเยือบ แมวไม่ได้นอน แต่มันเสียชีวิตไปเสียแล้ว เซอิจิวัยสองขวบผู้ไม่รู้จักกับความตายถามกับแม่ของเขาว่า “ทำไม?”
คำตอบของเธอมีเพียง…
รอยยิ้มที่มีความหมายนับพัน ความหมายที่ อ.โอชิมิจะค่อยๆ เผยให้เราเห็นตลอดในเวลา 153 ตอนของหนึ่งในเรื่องราวที่สยองขวัญกว่าเรื่องผีหรือคดีฆาตกรรมใดๆ เพราะสายเลือดวิปริตคือการพูดคุยเกี่ยวกับความสยดสยองของการเลี้ยงดู อย่างความสยองขวัญของความเป็นมนุษย์ ที่เป็นหนึ่งในแง่มุมถนัดสำหรับอ.โอชิมิ เมื่อมองไปยังงานทั้งหมดของเขา
ความสยองขวัญของการเป็นมนุษย์
สายเลือดวิปริตคือเรื่องราว Coming-of-Age ของโอซาเบะ เซอิจิ เด็กหนุ่มธรรมดาคนหนึ่ง ในครัวเรือนธรรมดา ที่มีพ่อเป็นพนักงานเงินเดือนธรรมดา และแม่ของเขาโอซาเบะ ชิซูโกะ แม่บ้านญี่ปุ่นธรรมดาที่อาจจะหวงลูกเป็นพิเศษด้วยเหตุผลบางอย่าง อย่างไรก็ดี ในทริปการเดินป่ากับครอบครัวใหญ่ กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่ทำให้เซอิจิมองใบหน้ายิ้มแย้มของแม่ตัวเองเปลี่ยนไปตลอดกาล เราจะทำยังไง เมื่อวันหนึ่งเราพบว่าคนผู้ให้กำเนิดเรา นั้นเป็นปีศาจที่ซ่อนตัวอยู่? และอะไรกันที่ให้กำเนิดปีศาจตนนั้น?
ในการสัมภาษณ์ของผู้เขียนกับนิตยสาร Konomanga อ.โอชิมิเล่าให้นักสัมภาษณ์ฟังว่า แม้เรื่องราวของสายเลือดวิปริตนั้นจะเป็นเรื่องแต่ง เขาแรงบันดาลใจสำคัญของเขานั้นมาจากความสัมพันธ์ระหว่างเขากับแม่ของตัวเอง “ผมวาดเฉพาะความจริง” อ.โอชิมิพูด เรื่องราวและภาพวาดของเขาสื่อสารความเป็นจริงเหล่านั้นอย่างละเอียดลออเสมอ เบื้องลึกเบื้องหลังของตัวละคร การกระทำที่ไม่ยึดอยู่บนจริยธรรมสีขาวหรือดำ และทั้งหมดนั้นแสดงออกผ่านสีหน้าที่สมจริงจนน่ากลัว
ความสมจริงในที่นี้อาจไม่ได้หมายความว่าอาจารย์ใช้เทคนิคการวาดภาพเหมือนในการเขียนโคลสอัปตัวละคร แต่ลองมองไปยังหน้าตัวละครของเขาสักหนึ่งครั้ง แม้จะเป็นเพียงเส้นยุ่งเหยิงขาวดำ บางครั้งแทบจะเป็นเส้นร่างดินสอ แต่วิธีการที่คนคนหนึ่งยิ้ม การขยายและย่อของนัยน์ตา เงาที่ตกกระทบใบหน้า ช่องการ์ตูนที่เล็กเกินไป ใบหน้าที่ใกล้เกินไป ฟันที่เหมือนจริงเกินไป รอยย่นจากความโกรธ รอยย่นที่ไม่ควรอยู่ตรงนั้นในรอยยิ้ม ฯลฯ
ความน่ากลัวของสายเลือดวิปริตแตกต่างออกไปจากความสยองขวัญอย่างอื่น เพราะมันไม่ใช่ความกลัวของสิ่งที่เราไม่อาจรู้จัก ไม่ใช่ความกลัวจากความน่าขยะแขยงของซากศพหรือภูติผี แต่คือความกลัวที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด นั่นคือความน่ากลัวของความเป็นมนุษย์ การเรียนรู้ครั้งแรกว่าพ่อและแม่ของเราไม่ได้เป็นสิ่งสมบูรณ์แบบ การอ่านสายตาของคนที่รังเกียจเราออก หรือเสียงที่แข็งกร้าวขึ้นมาในชั่วขณะของคนที่เรารัก
เราต่างหยิบยื่นความรักและความเจ็บปวดให้กัน
คงจะง่ายเกินไปหากจะเรียกชิซูโกะว่าเป็นแม่ปีศาจ เราแต่ละคนเป็นตัวเอกในเรื่องราวของตัวเอง และเรื่องของเธอไม่ใช่เส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ด้วยชีวิตที่ไม่เติมเต็มและบรรทัดฐานที่สังคมคาดหวังในตัวแม่บ้านญี่ปุ่น มองครั้งแรกไปยังการออกแบบตัวละครของเธอ ผมตรงยาว หน้าม้าตรงแด่ว เธอถูกออกแบบมาด้วยแม่แบบของการเป็นแม่บ้านญี่ปุ่นทั่วไป และการออกแบบนั้นลึกลงไปถึงภายในตัวละครของเธอ
ไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ โลกรอบตัวของเราปั้นแต่งและชี้ทางเราเสมอ ในตอนต้นของเรื่อง เรามองเรื่องราวผ่านมุมมองของเซอิจิ ชิซูโกะหวงเซอิจิเป็นไข่ในหิน ไปยืนอยู่หลังห้องเรียนของเขาทุกวัน โผจับเด็กชายวัย 13 เมื่อโดนลูกพี่ลูกน้องแกล้งผลักจนโดนคนทั้งครอบครัวหัวเราะเยาะ แม้แต่ไม่ยอมให้ลูกของตัวเองมีความรักด้วยความกลัวที่จะเสียเขาไป เราถูกทำให้คิดว่านี่คือตัวร้ายของเรื่อง แต่เมื่อดำเนินเข้าถึงช่วงสุดท้ายของเรื่อง เรากลับเรียนรู้สิ่งที่ทำให้เธอเป็นเช่นนี้
ชิซูโกะเกิดในบ้านต่างจังหวัดที่มองเธอเป็นคนไร้ค่า มีพ่อธรรมดาที่ห่างเหิน และแม่ที่ไม่ชอบชีวิตของตัวเอง ทุกความรู้สึกลบที่แม่มี แม่ลงมันกับชิซูโกะ เธอตัดสินใจจะเข้าไปตามหาความฝันในการเป็นนักแสดงในโตเกียวแล้วจะไม่มองย้อนกลับไปที่บ้านเกิดอีก เธอทิ้งครอบครัวไปโดยสิ้นเชิง ระหว่างเส้นทางนั้น เธอพบเข้ากับอิจิโร่ หนุ่มผู้ละทิ้งเส้นทางการศึกษาเพื่อจะกลายเป็นกวีเต็มตัว ทั้งคู่ต้องการตามหาความฝันของตัวเอง แต่หลังจากล้มลุกคลุกคลานอยู่สักพัก อิจิโร่กลับเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แล้วตัดสินใจกลับบ้านเพื่อไปรับกิจการของที่บ้านต่อ และขอให้หญิงสาววัย 24 แต่งงานกับเขา
ชิซูโกะยอมรับข้อตกลงนั้น และละทิ้งความฝันของเธอ
ในตอนที่ 134 เธอพูดว่า:
“แล้วฉันจะมีลูกหรือเปล่า? ไม่เห็นความจำเป็นเลย เพราะฉันเองยังไม่อยากจะเกิดมาเสียด้วยซ้ำ”
และ “หากฉันรักเด็กคนนั้นตั้งแต่เกิด ไม่สิ ตั้งแต่ก่อนเขาเกิด เขาจะไม่พบกับความโดดเดี่ยวที่ฉันพบเจอ ฉันจะให้ทุกอย่างแก่เขา ทุกอย่างที่ฉันเคยอยากได้ ทุกอย่างที่ไม่เคยได้รับ ฉันจะให้ ฉันจะเริ่มใหม่ให้มันถูกต้อง สิ่งที่ฉันฝันมันไม่ไปไหน แต่เขาต้องใช้ชีวิตนั้นแทนฉัน”
พ่อแม่ที่เจ็บปวดมอบความเจ็บปวดให้แก่ลูกของตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ มากไปกว่านั้น สำหรับชิซูโกะ เซอิจิเป็นตัวแทนของ 2 สิ่ง อย่างแรกคือการละทิ้งความเป็นตัวเองของเธอเพื่อทำหน้าที่แม่บ้านอย่างเต็มตัว และอีกอย่างคือเขากลายเป็นสิ่งล้ำค่าเดียวที่ชิซูโกะเหลืออยู่ในชีวิต คนที่เธอต้องการให้ใช้ชีวิตที่เธอไม่เคยมี ความรักและความเจ็บปวดมาด้วยกันในสัมพันธ์เช่นนี้ เพราะจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคนคนหนึ่ง เป็นได้เพียงสิ่งที่แม่ของเขาต้องการให้เป็น?
ให้อภัยแก่คนที่ไม่ควรได้รับ
เราติดตามเซอิจิตั้งแต่เกิดจนวัยชรา เราพูดถึงวัยเด็กของเขาไปแล้วว่าเขาตกอยู่ภายใต้ความควบคุมของแม่มากในระดับที่เราสามารถเรียกได้ว่าเป็นการคุกคามเด็กเลยด้วยซ้ำ และแม้ว่าเราจะรู้ถึงเหตุผลที่คนคนหนึ่งเป็นเช่นนั้น นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะชะล้างพวกเขาจากความผิดเหล่านั้นได้ เพราะร่องรอยของชิซูโกะนั้น เป็นแผลเหวอะหวะที่ไม่เคยหายไว้กับลูกชายของเธอไปตลอดชีวิต
ถึงชิซูโกะจะบอกว่าสิ่งที่เธออยากให้ลูกของเธอได้รับคือชีวิตที่เธอไม่เคยมีและความฝันของเธอที่ไม่เคยเป็นจริง ผลลัพธ์ของการเลี้ยงดูที่กอดลูกเอาไว้แน่นเกินไปนั้นนำไปสู่การตัดขาดกันและกันของทั้งคู่ เธอไม่เคยมองเซอิจิเป็นคนที่มีตัวตนของเอง แต่เป็นเพียงทารกในจินตนาการของเธอ และเมื่อลูกวัยที่เขาต้องเติบใหญ่ออกจากอ้อมอกของเธอแล้ว เธอไม่อาจรับความจริงตรงนั้นเอาไว้ได้
ชีวิตของเซอิจิในวัยทำงานนั้นติดอยู่กับการทำงานที่เรียบนิ่ง เป็นอีกหนึ่งคนไร้หน้าในบรรดาคนนับร้อย ในหัวยังหลงเหลือความโกรธและความเศร้าไม่ทราบชื่อเป็นของดูต่างหน้าของแม่และพ่ออยู่ในทุกขณะ แต่เมื่อถึงห้วงท้ายสุดของเรื่อง การกลับมาเจอกกันของทั้งสองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นี้ นำไปสู่คำถามที่เราแต่ละคนถามตัวเองบ่อยครั้ง: ทำไมเราให้อภัยคนที่ไม่ควรได้รับมันอยู่ตลอด?
เช่นเดียวกับทุกคำถามที่มันโยนขึ้นมา เรื่องไม่เคยตอบคำถามนั้นอย่างตรงไปตรงมา เพราะมนุษย์เองก็ตอบคำถามเหล่านั้นให้ตัวเองไม่ได้เหมือนกัน ทำไมเราไม่อาจเดินออกจากสัมพันธ์ที่ทำร้ายเรา? ทำไมเรามองข้ามความผิดของคนใกล้ตัว? แต่สิ่งที่ อ.โอชิมิทำ คือการฉายภาพบางอย่างให้เราเห็น นั่นคือเซอิจิเดินต่อไปเสมอ ตั้งแต่เด็กจนโตชีวิตของเขานั้นเต็มไปด้วยบาดแผล มีความคิดฆ่าตัวตายนับครั้งไม่ถ้วน แต่การฉายภาพสุดท้ายที่เราเห็นเขาในวัยชรานั้นบอกกับเราว่าเขาเองก็ผ่านมันไปได้
แม้ว่าการมีชีวิตนั้นจะเจ็บปวดและเต็มไปด้วยแผลที่ไม่หายก็ตาม
อ้างอิงจาก