“You Either Die A Hero, Or You Live Long Enough To See Yourself Become The Villain”
ประโยคนี้จากภาพยนตร์ The Dark Knight เป็นหนึ่งในประโยคที่ผมชื่นชอบมาก เพราะมันสื่อถึงอะไรได้หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ว่า คนเราควรจะรู้ว่าตรงไหนคือพอแล้ว และหยุดที่ตรงนั้น แทนที่จะลากต่อไปยาวๆ จนกลายเป็นเสื่อมเสียทีหลัง ตัวอย่างที่ดูได้ไม่ยากก็คือซีรีส์ดังๆ หลายเรื่องที่ถึงเวลาควรจะจบแล้วดันไม่ยอมจบ กระแสดีเลยลากกันยาวต่อไป กลายเป็นเรื่องราวเละเทะ พยายามยัดนั่นยัดนี่เข้ามา พอเสื่อมความนิยมก็โดนตัดจบกันแบบทิ้งท้ายไม่สวยงาม
ซึ่งที่บ่นๆ มานี่ ก็ไม่ใช่แค่กับซีรีส์หรอกครับ แต่ว่าตั้งแต่ตอนเด็กแล้วที่ผมและผู้อ่านอีกหลายท่านต้องเจออะไรแบบนี้กับมังงะที่เรารักหลายต่อหลายเรื่อง ตอนอ่านแรกๆ ก็สนุกสนานบันเทิง และคิดว่าน่าจะจบสวยๆ แต่ เอ๊ะ ทำไมมีต่อ เอ๊ะ ทำไมต่ออีก เอ๊ะ มุขเดิมอีกแล้ว อืม ช่างหัวมันเถอะ สุดท้ายก็จบลงแบบจืดจางไปจากความทรงจำ
แต่ปัญหาที่ว่ามา บางทีมันก็ไม่ได้เกิดจากตัวนักเขียนหรอกครับ โดยเฉพาะเรื่องดังๆ เนี่ย เพราะของแบบนี้มันมี ‘เหตุผลของผู้ใหญ่’ อยู่ หนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อผลงานมังงะเรื่องนั้นมากๆ โดยเฉพาะตำแหน่งบรรณาธิการที่มีหน้าที่เป็นเหมือนโปรดิวเซอร์ของนักเขียนมังงะ คอยช่วยแนะนำแนวทาง เสนอไอเดีย ปรับปรุง ร่วมงานกับนักเขียน จนบางครั้งก็มีคนเทียบว่า เป็นการทำงานแบบสองคนสามขา บางครั้งมังงะจึงไม่ได้เป็นเพียงผลงานของนักเขียนมังงะเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบรรณาธิการ และแน่นอนว่าก็ต้องมีบริษัทต้นสังกัดมาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น ถ้าตัวนักเขียนจะทำอาร์ตแตก ไม่เอาเว้ย พอแค่นี้ จบเท่านี้ ไม่เขียนต่อแล้ว ขายดีแต่ไม่แคร์ พอแค่นี้ ก็คงทำไม่ได้ง่ายๆ นัก เพราะมีเหตุผลของผู้ใหญ่อยู่นั่นล่ะครับ
ตัวอย่างการยืดไปเรื่อยนี่ ถ้าจะให้เห็นชัดก็คงต้องค่าย Shueisha หรือเจ้าของมังงะรายสัปดาห์ Jump ที่ครองใจเด็กวัยรุ่นตอนปลายมาถึงตอนต้นในบ้านเรามานาน ตั้งแต่งานฮิตแต่เดิมอย่าง Dragon Ball, Saint Seiya หรือยุคหลังอย่าง Naruto และ One Piece ที่เรื่องหลังก็ยังไม่มีวี่แววจะจบได้ง่ายๆ
ในอดีตเวลาเราอ่านมังงะยอดนิยมอย่าง Dragon Ball ที่ต่อมาเป็นภาค Z อีก ตอนเด็กๆ ก็ไม่คิดอะไรหรอกครับ แต่พอโตมาแล้วอ่านอีกรอบก็จะเริ่มคิดว่า เอ๊ะ มันจะเล่นลูปนี้กี่รอบเนี่ย ตัวร้ายมา โหด พระเอกแพ้ ไปฝึกวิชา เอาชนะได้ ตัวร้ายใหม่มา ยืดไปเรื่อยๆ พลังก็สุดทางไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายไม่ไหวก็จบที่ตอนจอมมารบู หรือ หมัดดาวเหนือ ที่จบภาคราโอห์อย่างประทับใจ แล้วจู่ๆ ก็มี ไคโอห์ ออกมาอีก เหมือนกับเขียนด้วยมือลบด้วยตีน เข้ายุค 2000s ที่ดูเหมือนมังงะจะเริ่มมีการวางโครงเรื่องละเอียดมากขึ้น ไม่ใช่สู้ไปเรื่อยๆ แบบยุค 80-90s แต่สุดท้าย พออ่าน Bleach กับ Eyeshield21 ก็ยังรู้สึกเหมือนเดิมคือ เรื่องเลยจุดที่ควรจะจบไปแล้ว กลับมีต่อมาเรื่อยๆ อย่าง Bleach นี่ลากยาวมากจนใช้เวลารวม 15 ปีกว่าจะจบ คนเขียนก็เริ่มหมดไฟ ไม่ขยันลงรายละเอียดในภาพ ไปๆ มาๆ โดนบี้เร่งให้จบอีก ส่วน Eyeshield21 นี่ก็ชวนเศร้าใจ เพราะถ้ามันจบไปตอนแข่งระดับประเทศก็แล้วๆ เรื่อง ลงท้ายอย่างสวยงาม จู่ๆ มาเปิดภาคระดับโลกที่กลายมาเป็นมังงะแบบเร่งๆ เปิดคาแรคเตอร์ประเทศอื่นมาแต่ดันจบในสองช่อง สุดท้ายก็จบแบบรวบรัดไป
ของแบบนี้ บางทีเราก็ไม่รู้หรอกครับว่าเป็นเพราะใคร เพราะนักเขียนเองไม่ยอมจบ? หรือว่าเพราะบรรณาธิการอยากให้เขียนต่อ? ก็ต้องรออ่านบทสัมภาษณ์นักเขียนถึงค่อยมารู้ทีหลังว่าตกลงเป็นไงมาไง อย่าง Dragon Ball นี่เห็นว่าต้องเปลี่ยนเรื่องตามไอเดียของบรรณาธิการ ตอนแรกส่งหุ่นแอนดรอยด์แก่ตัวนึง แอนดรอยด์อ้วนตัวนึงออกมาแล้วดูไม่ดีก็โดนตัดออก เลยปล่อยหุ่นแอนดรอยด์วัยรุ่นใสกิ๊งออกมาแทน แถมเขียนไปไม่พอใจก็ต้องเพิ่มตัวละครเซลมาอีก อ่านไปแล้วก็ได้แต่เหนื่อยใจแทนคนเขียน
แต่ก็พอเข้าใจได้นะครับว่าทำไมทางฝ่ายบริหารถึงอยากจะยืดเรื่องออกไป
โดยเฉพาะอย่าง Jump ที่สามารถพลิกแซงเจ้าอื่นขึ้นมาเป็นเจ้าของมังงะเด็กผู้ชายได้ในยุครุ่งเรือง (ยุค 80-90s) ซึ่งยุค 90s นี่รุ่งขนาดทำยอดขายหลายล้านเล่มจนต้องมีโรงพิมพ์เพื่อพิมพ์เฉพาะของตัวเองต่างหากเลย เพราะมังงะแต่ละเรื่องหมายถึงรายรับสำคัญของบริษัทนี่ครับ แน่นอนว่าตัวนักเขียนเป็นเจ้าของผลงาน แต่ในฐานะเจ้าของสำนักพิมพ์ ใครก็อยากจะได้เงิน มังงะดังจบไปเรื่องนึงนี่ผลกระทบเยอะแน่นอนครับ เลยต้องเลี้ยงไว้เรื่อยๆ ทีม บก. เองก็อยากให้เขียนต่อ เพราะมังงะดังถือเป็นผลงานของตัวเอง ต่อให้นักเขียนอยากจะจบก็ทำได้ยาก บางทีเล่นหอบทั้งสำนักพิมพ์มาก้มหัวขอร้อง ถ้าเลิกไปจะมีผลกระทบแบบนี้ อาจจะต้องเลิกจ้างงานเท่านั้นเท่านี้ เป็นใครก็คงต้องอ่อนใจบ้างล่ะครับ (แต่พอตกหลุมแล้วก็ต้องก้มหัวเขียนมังงะต่อไปงุดๆ)
ทีแรกผมก็นึกว่าไอ้ของแบบนี้เขามานิยมทำกันในช่วง Jump เบ่งบานรุ่งเรืองยุค 80-90s แต่ที่ไหนได้ จริงๆ แล้วมีประวัติยาวนานกว่านั้นอีกครับ ตัวอย่างที่โหดมากๆ คือเรื่อง Otoko Ippiki Gaki Taishou (แปลได้ประมาณว่า ลูกผู้ชายลุยเดี่ยว ลูกพี่ใหญ่เด็กแสบ) ผลงานของอาจารย์ Motomiya Hiroshi (ที่ปัจจุบันเขียนเรื่อง Salaryman Kintarou) เป็นมังงะเกี่ยวกับตัวเอกที่เป็นเด็กซ่า ออกเดินสายท้าต่อยท้าตีไปเรื่อย แล้วก็กลายมาเป็นมิตรภาพ ได้เพื่อนใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามสไตล์มังงะคลุ้งกลิ่นลูกผู้ชาย ซึ่งเรื่องนี้ตีพิมพ์ใน Jump ช่วงปี 1968-1973 และดังขนาดเป็นอนิเมะฉายในยุคนั้นเลย ด้วยความฮิต ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องขายของ Jump ไปตามสูตรลูกผู้ชาย ใจสู้ และมิตรภาพ
แต่เรื่องก็วุ่นเมื่อตัวนักเขียนอยากจะให้เรื่องจบที่ตัวเอก—มังคิจิ สู้กับตัวร้ายแล้วโดนหอกแทง แล้วใส่คำว่า 完 หรือ จบบริบูรณ์ ไว้ในภาพด้วย แถมส่งงานแล้วยังหนีไปเลย แต่ด้วยความฮิตของเรื่อง กอง บก. มีหรือจะยอมให้จบแบบนั้น ทาง บก. ที่ดูแลเรื่องนี้ เลยจัดการแต่งภาพเอง เอาน้ำยาลบคำผิดลบคำว่า 完 ออก แล้วลบฉากโดนหอกแทงออก ก่อนจะตีพิมพ์ทั้งอย่างนั้น แล้วค่อยไปเกลี้ยกล่อมตัวนักเขียนให้เขียนต่อจนกว่าตัวเอกจะได้เป็นลูกผู้ชายอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น แถมเขียนไปจนจบอีกทีนึงด้วยฉากตัวเอกออกเรือไปผจญภัย (ถึงรวมเล่ม 16) แต่พอเรื่องอื่นที่จะเอามาลงขายไม่ดีเลยโดนตัดจบ ก็ไปขอให้คนเขียนมาเขียนต่ออีก จนรวมเล่มได้ 20 เล่ม ลากยาวกันหน้าด้านๆ แบบนี้ล่ะครับ
ส่วนคนเขียนรู้สึกยังไงเหรอครับ ก็แค่ตอนพิมพ์ใหม่ในปี 1995 แกบอกว่า ไม่อยากย้อนกลับไปอ่านอีก ยอมให้พิมพ์ถึงส่วนที่ตัวเองพอใจเท่านั้น ส่วนใครอยากอ่านต่อ ให้ไปหาซื้อในร้านหนังสือเก่าเอาเอง ขนาดเวอร์ชั่น e-book ยังยอมให้ตีพิมพ์ถึงแค่เล่ม 11 เท่านั้น จนกระทั่งต้นปีนี้ที่ฉลองครบรอบ 50 ปีของเรื่องถึงค่อยใจอ่อน ยอมให้เอามาลงเป็น e-book ครบทุกเล่ม โหดมั้ยล่ะ ของแบบนี้มันก็พูดยากนั่นล่ะครับ เจ้าของผลงานก็อยากรักษาคุณภาพงาน แต่ในขณะเดียวกัน สำนักพิมพ์ก็ต้องทำกำไร เลยต้องขัดแย้งกันแบบนี้เรื่อยๆ
แต่ก็ใช่ว่าจะมีคนเชื่อ บก. ไปหมดทุกอย่าง
เคสหนึ่งที่ดังมากๆ และจบแบบที่เล่นเอาแฟนๆ อารมณ์ค้างก็คือ Slam Dunk มังงะบาสเกตบอลชื่อดังที่ทำยอดขายในยุค 90s ไปได้ถึง 120 ล้านเล่ม แน่นอนว่างานดังแบบนี้ ใครก็อยากให้เขียนต่อ แต่กลายเป็นว่า Slam Dunk จบด้วยแมตช์การแข่งขันเกมที่สองของอินเตอร์ไฮเท่านั้น โดยที่เกมถัดไปก็ถูกย่อเหลือแค่ประโยคเดียว แล้วเรื่องก็จบลง ทั้งๆ ที่ตัวละครที่ยังไม่ได้โชว์ฟอร์มยังมีอีกมาก โดยเฉพาะตัวโหดที่น่าจะมาเป็นคู่ปรับกับพระเอก แต่เรื่องก็จบลงเท่านั้น ทำให้มีข่าวลือกันต่างๆ นาๆ ถ้ามีโซเชียลเน็ตเวิร์กแบบยุคนี้คงเดือดแน่นอนครับ ผมเองก็ยังงงว่า เฮ้ย จบแค่นี้เหรอ แชมป์ก็ยังไม่ได้นะ
ตัวอย่างข่าวลือที่น่าสนใจก็คือ อาจารย์ Inoue Takehiko ทะเลาะกับทีม บก. เลยตัดจบเท่านั้น ไม่เขียนต่อ โดยเฉพาะมีประเด็นเรื่องลิขสิทธ์เอาไปทำสินค้าประเภทอื่นเช่นเกม ทำให้โดนหัวหน้า บก. Torishima (ที่เราอาจจะคุ้นๆ จากใน Dr. Slump และเป็น บก. ในตำนานที่ค้นพบ Toriyama Akira เจ้าของ Dragon Ball กับ Katsura Masakatsu เจ้าของ Video Girl ที่สร้างผลงานทำให้บริษัทดังได้) บอกว่า มีปัญหานักงั้นก็ตัดจบไปเลย จนหลังจากนั้นอาจารย์ Inoue ก็ไม่ได้เขียนลง Jump อีกเลย แกย้ายไปเขียน Real ลงหัว Young Jump ขนาดที่ตอน Toriyama ย้ายไปคุมบังเหียนบริษัทลูก Hakusensha แทนในปี 2015 ยังมีข่าวว่า อาจจะมีลุ้นให้ Slam Dunk กลับมาลงภาคต่อใน Jump ได้ (แต่ดูจากการทำงานของอาจารย์ตอนนี้ แค่เขียน Real กับ Vagabond ให้ได้อ่านจนจบก็เป็นบุญทับหัวแล้วครับ)
แถมก่อนหน้านั้นก็มีบทสัมภาษณ์ลงในหนังสือ Manga ga Hajimaru ว่า อาจารย์เองก็ไม่อยากต้องโดนบีบให้เขียนไปเรื่อยๆ จนคิดอะไรไม่ออก เลยต้องแพลนตอนจบให้ดีด้วย ซึ่งตอนที่อาจารย์บอกว่าอยากจะจบตรงนี้แล้ว แกก็โดนต่อต้านเหมือนกัน (แต่คงจะไม่ยอมเขียนจริงๆ ที่บอกว่า ไม่ได้ทะเลาะ คือกรณีกับ Torishima แต่ตอนเลิกนี่รับรองว่ามีดราม่าแน่ๆ) แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจตัดจบ โดยให้เหตุผลว่า “เวลาเรื่องไม่ฮิตน่ะ ก็ตัดจบโดยไม่สนใจความเห็นนักเขียน ถ้าอย่างนั้น เวลาที่เรื่องฮิต อย่างน้อยก็ควรตัดสินใจได้สิว่าจะให้จบแบบไหน” ซึ่งก็เมกเซนส์ดีครับ เพราะตอนอ่านศึกกับซังโนแบบเรียลไทม์ ผมยังต้องหนีเรียนไปซื้อ Boom มาอ่านเพราะรอไม่ไหวเนี่ย ลุ้นแบบโคตรเหนื่อยครับ มันพีคมากๆ จนไม่รู้จะไปต่อยังไง เขียนต่อก็ไม่สมจริงล่ะ จบแบบนั้นอาจจะค้างคาใจบ้าง แต่ก็สมจริงและประทับใจแฟนๆ และอย่างน้อยๆ ในปี 2013 อาจารย์ ก็เคยทวีตบอกว่า “เด็กรุ่นใหม่ที่อาจจะได้ยินว่า เพราะทะเลาะกับทีม บก. เลยตัดจบ Slam Dunk เนี่ย ก็ไม่ใช่อย่างนั้นนะ” ก็ทำให้ได้โล่งใจหน่อย เอ้อ ก็ไม่ได้จบกันแบบเลวร้ายนะ (อย่างน้อยๆ ก็ยังมีงานใน Shueisha)
ตราบใดที่ Jump ยังคงแบกศักดิ์ศรีมังงะเยาวชนชาย (โชเน็ง) รายสัปดาห์ที่ทำสถิติขายดีตลอดกาล กองบรรณาธิการก็คงต้องต่อสู้กับนักเขียนต่อไปในเรื่องของความสร้างสรรค์ของผลงาน ว่าตกลงควรจะให้สิทธิ์นักเขียนครีเอตเต็มที่ หรือควรจะคุมด้วยเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท คนที่รักษาสมดุลตรงนี้ได้ก็ดีไป ส่วนใครที่ยังเส้นไม่ใหญ่หรือไม่แก่กล้าพอ ก็อาจจะทำตามทีมบริหารมากไปจนสุดท้ายกลายเป็นเหมือนผลงานคนอื่นไปซะงั้น และโดนตัดจบแบบเศร้าๆ เหงาๆ ลืมเลือนไปจากความทรงจำคนอ่าน
บางทีก็น่าคิดนะครับว่า มังงะที่อายุไม่ยาวนานแต่จบได้อย่างประทับใจ กับเรื่องที่เขียนมายาวนาน ทำยอดขายได้ แต่กลับพลาดตอนจบ แบบไหนมีค่าในสายตาบริษัทมากกว่ากัน
อ้างอิงข้อมูลจาก