พวกเขาคือนักสู้ที่ไม่ใช้อาวุธ หมัดของพวกเขาสามารถผ่าท้องนภา ลูกเตะของพวกเขาสามารถขยี้พสุธา พวกเขาฝึกตนเองให้มีความสามารถเหนือมนุษย์ มีความเร็วยิ่งกว่าเสียง และถ้าทำได้ก็ขอทะยานไปว่องไวกว่าแสง เพื่อทำหน้าที่ปกป้องเทพธิดาแห่งการศึกที่ไม่ชื่นชมการใช้อาวุธ และสวมใส่ชุด ‘คลอธ’ ที่จำลองมาจากหมู่ดาวบนฟากฟ้าทั้ง 88 …พวกเขาคือเหล่านักสู้ที่ถูกขนานนามว่า ‘เซนต์’
สำหรับท่านที่คุ้นเคยกับเรื่องราวขั้นต้นนี้ น่าจะเข้าใจได้ทันทีว่า เรากำลังพูดถึง ‘เซนต์เซย่า’ ผลงานการ์ตูนจากประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมหาศาลในช่วงที่งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในรูปแบบมังงะ กับฉายในรูปแบบอนิเมะ และตอนนี้ก็นำกลับมาให้ชมกันอีกครั้ง ผ่านการดัดแปลงเนื้อเรื่องใหม่เพื่อฉายสำหรับทาง Netflix โดยภาคดังกล่าวจะทำออกมาเป็นอนิเมชั่นคอมพิวเตอร์สามมิติที่จะใช้ชื่อภาคว่า Saint Seiya: Knights Of The Zodiac
กว่าจะมาเป็น ‘เซนต์เซย่า’
ก่อนที่จะมาเขียนมังงะเรื่อง เซนต์เซย่า อาจารย์คุรุมาดะ มาซามิ เองก็สร้างชื่อมาจากการวาดมังงะอย่างเรื่อง ‘Ring Ni Kakero’ (นักชกจ้าวสังเวียน) และ ‘Fuma No Kojiro’ (ภูตลมโคจิโร่) มาก่อนแล้ว และก็พบกับความล้มเหลวมาบ้างเช่นกันในงานหลายๆ ชิ้น แต่นักเขียนคนนี้ก็ยังพยายามกลับมาเกาะกระแสความนิยมจากผู้อ่านอีกครั้ง เขาเริ่มออกเก็บข้อมูลหาแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานชิ้นใหม่
ก่อนจะข้ามไปพูดถึงสิ่งที่อาจารย์คุรุมาดะได้พบจากการหาข้อมูล เราอาจจะต้องพูดถึงสไตล์การเขียนมังงะของอาจารย์กันเล็กน้อย สิ่งที่เราเห็นได้ชัดจากผลงานของอาจารย์คุรุมาดะ ก็คงจะไม่พ้นการเล่าเรื่องของ ‘ลูกผู้ชาย’ ในแบบของอาจารย์ การต่อสู้ที่มีพลังเหนือมนุษย์ในบางรูปแบบ (เป็นสิ่งที่อธิบายทางฟิสิกส์ไม่ได้บ้าง, ดาบวิเศษบ้าง, เครื่องจักรบ้าง ฯลฯ) ซึ่งเรื่องราวแบบนี้ก็ถูกปรับมาใช้คู่กับการใช้ตัวละครแบบ Tezuka Star System ที่ตัวละครจะทำหน้าที่เหมือนกับนักแสดง แล้วรับบทบาทแตกต่างกันไปในมังงะแต่ละเรื่อง ซึ่งนั่นทำให้กลุ่มตัวละครหลักของนักเขียนท่านนี้มีหน้าตาแบบเดียวกันหมดไม่ว่าจะเรื่องไหนก็ตามนั่นเอง
ย้อนกลับไปในช่วงที่อาจารย์คุรุมาดะเก็บข้อมูลอีกครั้ง อาจารย์คุรุมาดะเคยเก็บข้อมูลของเทพปกรณัมกรีกมาก่อน เพื่อเขียนตัวละครคู่แข่งของกลุ่มตัวเอกในมังงะเรื่อง ‘Ring Ni Kakero’ และอาจารย์ก็นำเอาแนวคิดที่จะให้ตัวละครใส่ชุดเกราะและใช้ศิลปะการต่อสู้ที่แตกต่างกันไปตามเกราะ ก่อนจะพบว่าไอเดียทั้งสองอย่างนั้นมาผสมปนเปกันได้ จนมีการวางตัวละครเอกให้มีความเกี่ยวข้องกับหมู่ดาวต่างๆ และตั้งชื่อเรื่องไว้ในตอนแรกว่า ‘Ginga No Rin’
เชื่อกันว่าอาจารย์ได้รับแรงบันดาลใจเพิ่มเติมมาจากกลุ่มฝนดาวตกเลโอนิดส์ เลยมีการพยายามปรับเรื่องราวให้สอดคล้องกับดาวตกจำนวนมาก รวมถึงตำนานของหมู่ดาวต่างๆ ในเทพปกรณัมกรีก จนสุดท้ายก็มีการพัฒนา ‘คลอธ’ เพื่อให้ตัวละครในเรื่องสวมใส่ ก่อนจะทำการปรับเปลี่ยนชื่อตัวละครเป็น เซย่า และพัฒนาเรื่องราวเพิ่มเติมจนกลายมาเป็น ‘เซนต์เซย่า’ ที่ออกตีพิมพ์ครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปีค.ศ. 1986
และการ์ตูนเรื่องดังกล่าวก็ได้รับความนิยมอย่างรุนแรง จึงมีการนำไปสร้างเป็นสื่ออื่นๆ อีกมากมายตามมาไม่ว่าจะเป็นละครเวที (ที่ได้วง SMAP มาแสดง), นิยาย, เกม และ อนิเมะที่หลายๆ คนจดจำกันได้ดี ทั้งยังมีมังงะภาคขยายตามมาอีกหลายภาค
เรื่องราวของ ‘เซน์ตเซย่า’ ฉบับมังงะโดยสังเขป และสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น
เซย่า เด็กชายจากญี่ปุ่น ได้เดินทางไปยังประเทศกรีซเพื่อฝึกฝนตัวเองให้กลายเป็น ‘เซนต์’ หนึ่งในนักรบของ ‘อาธีน่า’ เทพีแห่งการศึก ที่คอยดูแลจัดการเรื่องราวเบื้องหลังของโลกใบนี้นับตั้งแต่สมัยเทพนิยาย แต่เนื่องจากองค์เทวีไม่นิยมการใช้อาวุธ เหล่า เซนต์ จึงต้องฝึกฝนการใช้ ‘คอสโม’ พลังแฝงที่มีอยู่ในห้วงจักรวาล ก่อนที่จะทำการต่อสู้เพื่อรับคัดเลือกเป็นเซนต์ที่จะได้ ‘คลอธ’ เกราะที่จะเสริมพลังโจมตีและป้องกัน โดยเกราะเหล่านี้จะมีทั้งหมด 88 ชุดตามกลุ่มหมู่ดาวที่อยู่ในเทพปกรณัมกรีก
เหตุผลหนึ่งที่เซย่า ต่อสู้เพื่อครอบครองชุดคลอธประจำหมู่ดาวเพกาซัส ก็เพราะตัวของเขาถูกส่งมาฝึกโดย คิโดะ มิสึมาสะ อภิมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น เจ้าของมูลนิธิแกรนด์ที่ส่งเด็กกำพร้า 100 คน ไปทั่วโลก ซึ่งมูลนิธิดังกล่าวให้สัญญากับเซย่าว่า ถ้าเขาเป็นเซนต์กลับมาได้ จะได้พบกับพี่สาวที่เคยอาศัยอยู่ในบ้านเด็กกำพร้าแห่งเดียวกัน แต่เมื่อกลับถึงญี่ปุ่นแล้ว คิโดะ ซาโอริ ที่เป็นหลานสาวของมิสึมาสะกลับบอกว่า พี่สาวของเซย่านั้นหายตัวไป และถ้าเขาชนะในศึกกาแลกเซียนวอรส์ ที่นำเหล่าเซนต์มาต่อสู้กันเอง มูลนิธิแกรนด์จะช่วยหาตัวพี่สาวของเขาจนเจอ รวมไปถึงว่าเขาจะได้รับ ‘โกลด์คลอธ’ ชุดเกราะที่ถือว่าเป็นเกราะสำหรับ โกลด์เซนต์ สุดยอด 12 นักรบของอาธีน่าอีกด้วย
กระนั้นเรื่องราวกลับพลิกผัน เพราะแท้จริงแล้ว คิโดะ ซาโอริ ไม่ใช่หลานสาวของ คิโดะ มิสึมาสะ แต่เป็น เทพีอาธีน่าที่มาจุติในร่างมนุษย์ และการจัดศึกของเหล่าเซนต์ให้มาต่อสู้กันนั้นก็เพื่อดึงดูดสายตาคนทั้งโลกเอาไว้ และทำให้เกิดศึกแยกย่อยตามมาอีกมากมาย นับตั้งแต่การต่อสู้กับเหล่าแบล็คเซนต์, การเข้าเผชิญหน้ากับ 12 โกลด์เซนต์, ปะทะกับเทพสมุทรโพไซดอน ก่อนที่จะลงเอยด้วยการเดินทางสู่นรกภูมิเพื่อพิชิต ยมเทพ ฮาเดส
เรื่องราวของมังงะของอาจารย์คุรุมาดะ มาซามิ ที่เป็นต้นฉบับนั้นยุติลงในปีค.ศ. 1990 ซึ่งส่วนหนึ่งเชื่อกันว่าเป็นการโดนร้องขอให้หยุดเขียนเรื่องจากทางกองบรรณาธิการของนิตยสารโชเน็นจัมพ์รายสัปดาห์ในสมัยนั้น แต่ตัวอาจารย์คุรุมาดะเองเคยเกริ่นไว้ในหลายๆ สื่อว่าเขาตั้งใจจะเขียนเรื่องราวที่พวกเซย่าต้องกับปะทะกับทวยเทพตามเทพปกรณัมของกรีก
ซึ่งอาจารย์คุรุมาดะก็ไม่ได้เขียนเรื่องราวดังกล่าวทันที เพราะอาจารย์ขยับไปเขียนผลงานเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง (ที่คนไทยน่าจะพอคุ้นเคยคงจะเป็น ‘Silent Night Sho’ กับ ‘B’t X’ และ ‘Ring Ni Kakero’ ภาค 2) จนกระทั่งเวลาเดินทางผ่านไปในช่วงยุค 2000 ที่อาจารย์คุรุมาดะเริ่มกลับมามีส่วนกับมังงะ เซนต์เซย่า อีกครั้ง
เริ่มต้นในช่วงปลายปีค.ศ. 2002 ที่อาจารย์คุรุมาดะ เริ่มทำมังงะภาคขยายจากเนื้อเรื่องหลัก Saint Seiya Episode.G ที่ได้อาจารย์โอคาดะ เมกุมิ ที่เล่าเรื่องของ เลโอ ไอโอเลีย โกลด์เซนต์ราศีสิงห์ มาเป็นตัวเอก จากเดิมที่ในมังงะต้นฉบับตัวละครตัวนี้เป็นทั้งศัตรูผู้แข็งแกร่งและผู้สนับสนุนเซย่า แต่ในมังงะ Episode.G จะเล่าเรื่องในอดีตที่ ไอโอเลีย ต้องเผชิญกับข้อครหาว่าจะทรยศเทพีอาธีน่าเหมือนพี่ชายของเขาหรือไม่
อาจารย์โอคาดะ เมกุมิ ได้เขียนมังงะภาค Episode.G จนถึงปีค.ศ. 2013 ก่อนที่จะอวสานภาคดังกล่าว และเขียนภาคต่อที่ใข้ชื่อภาคว่า Saint Seiya Episode.G: Assassin ตั้งแต่ปีค.ศ. 2014 จนถึงปัจจุบัน
ย้อนกลับมาที่ปีค.ศ. 2006 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบ 20 ปี ของ เซนต์เซย่า ฉบับมังงะ ในปีดังกล่าวจึงมีการออกมังงะภาคขยายเพิ่มเติมอีกสองภาค ภาคขยายแรกก็คือ Saint Seiya The Lost Canvas ที่ได้อาจารย์เทชิโรงิ ชิโอริ มาวาดเรื่องราวของ สงครามศักดิ์สิทธิ์ระหว่าง อาธีน่า กับ ฮาเดส ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 และมีตัวเอกเป็นตัวละครสามตัว คือ เท็นมะ ที่ภายหลังกลายเป็น เซนต์เพกาซัส, ซาช่า ที่ภายหลังพบว่าตัวเองคือร่างจุติของเทพีอาธีน่าในยุคนี้ และ อาโลน ที่ภายหลังพบว่าตัวเองเป็นร่างจุติของยมเทพฮาเดส
อาจารย์เทชิโรงิ เขียน The Lost Canvas จนอวสานในปีค.ศ. 2011 ก่อนจะเขียนมังงะภาคแยกอีกภาคที่ขยายเรื่องราวของเหล่า 12 โกลดเซนต์ ที่ใช้ชื่อภาคว่า Saint Seiya: The Lost Canvas Gaiden (ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อภาคว่า เซนต์เซย่า The Lost Canvas จ้าวนรกฮาเดส ตำนานโกลด์) ซึ่งอวสานลงไปในปีค.ศ. 2016
มังงะภาคขยายอีกเรื่องที่เริ่มต้นเขียนในปีค.ศ. 2006 ก็คือ ‘Saint Seiya: Next Dimension’ ที่อาจารย์คุรุมาดะ มาซามิ เป็นผู้เขียนด้วยตัวเอง ซึ่งจะมีเนื้อเรื่องต่อจากเหตุการณ์ของมังงะภาคหลัก ทั้งยังมีเรื่องราวข้องเกี่ยวกับตัวละครในศตวรรษที่ 18 อย่าง เท็นมะ กับ อาโลน และมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางข้ามเวลา และปัจจุบันนี้อาจารย์คุรุมาดะก็ยังเขียนมังงะภาคนี้อยู่ รวมถึงเขียนแยกย่อยเป็นองก์เล็กๆ เพื่อขยายเรื่องราวของตัวละครอื่นๆ อีกด้วย อาทิ ‘Saint Seiya: Episode Zero’ ที่เล่าเรื่องเมื่อครั้งที่โกลด์เซนต์ซาจิทาเรียส ไอโอลอส พาตัวของเทพีอาธีน่าหลบหนี กับ Saint Seiya: Origin ที่ขยายเรื่องราวของตัวละครเด่นอีกหลายตัว
หลังจากนั้นในปีค.ศ. 2013 อาจารย์คุรุมาดะก็ประกาศว่าจะมีมังงะภาคขยายอีกหนึ่งภาค ซึ่งนั่นก็คือ ‘Saint Seiya: Saintia Sho’ ที่ขยับการเล่าเรื่องจากกลุ่มเซนต์ปกติที่เป็นชาย มาเป็นเรื่องราวของ เซนต์เทีย กลุ่มเซนต์หญิงที่เป็นข้ารับใช้และผู้คุ้มกันให้กับเทพีอาธีน่า เซนต์หญิงกลุ่มนี้จะแตกต่างกับเซนต์หญิงทั่วไปที่มีกฎให้ต้องสวมใส่หน้ากากปกปิดความเป็นสตรีของตัวเอง โดยมีตัวเอกเป็น เอคูเลอุส โชโกะ เด็กสาวที่มีศักยภาพเป็นเซนต์เทีย และต้องเผชิญกับการต่อสู้ที่เกิดขึ้นช่วงเดียวกับที่ เซย่า กำลังต่อสู้ในศึกอื่น เหล่าเซนต์เทีย รวมถึงเซนต์คนอื่นๆ ก็รับศึกอื่นขนานกันไปด้วย
สำหรับในฝั่งมังงะนั้นจะมีภาพรวมโดยคร่าวอยู่ประมาณนี้ และมีโอกาสที่อาจารย์คุรุมาดะจะเปิดไฟเขียวให้มีภาคขยายตามมาในภายหลัง
‘เซน์ตเซย่า’ ในฟากอนิเมะ กับสิ่งที่ตามมา
หลังจากพูดถึงฉบับมังงะไปแบบเต็มๆ แล้ว อีกส่วนที่เรายังไม่ได้พูดถึง และหลายคนอาจจะคุ้นเคยกันดีก็คือ ส่วนของอนิเมะที่ได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อยทั้งในบ้านเกิดที่ญี่ปุ่น และบ้านเรา รวมถึงอีกหลายๆ ประเทศอย่าง ฝรั่งเศส, บราซิล ฯลฯ และตัวอนิเมะก็มีออกมาหลายเวอร์ชั่นที่เราจะพูดถึงรายละเอียดคร่าวๆ ที่อาจจะแตกต่างกันไปในส่วนนี้ด้วย
อนิเมะชุดแรกสุดที่ออกฉาย ก็คือ Saint Seiya ซึ่งเป็นการดัดแปลงมาจากมังงะฉบับแรกสุดโดยตรง ที่ถูกนำไปสร้างอย่างรวดเร็วเพราะตัวมังงะที่เริ่มเขียนช่วงต้นปีค.ศ. 1986 ได้กลายเป็นอนิเมะออกฉายในช่วงเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ซึ่งก็เป็นผลจากความนิยมอันล้นหลามนั่นเอง
จุดที่แตกต่างสำหรับฝั่งมังงะกับอนิเมะ นอกจากการปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับสื่อต่างประเภท ก็คือตัวชุดเกราะแรกสุดของตัวละครหลักแต่ละตัวนั้นถูกปรับดีไซน์ใหม่หมด แม้ว่าในการวางแผนงานและโฆษณาจะเคยมีการปล่อยภาพเกราะที่ตรงกับฉบับมังงะออกมา ซึ่งคาดกันว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากการที่จะต้องทำสินค้า หรือ ของเล่นชุด Saint Cloth Myth ออกมาวางจำหน่ายควบคู่ด้วยและเทคโนโลยีสมัยนั้นยังไม่สามารถสร้างเกราะตามรายละเอียดในมังงะได้
อีกจุดแตกต่างที่กลายเป็นปัญหาก็คือ การที่อนิเมะถูกสร้างเร็วเกินไป ทำให้เนื้อเรื่องของอนิเมะไล่ตามมังงะในเวลาไม่นานนัก และส่งผลให้ต้องมีการคิดเนื้อเรื่องฟิลเลอร์ (Filler) หรือเนื้อเรื่องเฉพาะในฉบับอนิเมะตามมา เลยมีเนื้อเรื่องของ แอสการ์ด (Asgard) ที่เป็นการตีความเทพปกรณัมนอร์สกับจอร์มานิกให้มาต่อสู้กับเหล่าเซนต์แห่งอาธีน่าเพิ่มเติมอีกหนึ่งองก์ ก่อนจะเดินเรื่องเข้าสู่ช่วงต่อช่วงปะทะกับเทพสมุทรโปเซดอน และอนิเมะชุดนี้ก็อวสานลงในปีค.ศ. 1989
นอกจากจะมีอนิเมะออกฉายทางทีวีแล้ว ในช่วงปีค.ศ. 1987-1989 ก็มี เซนต์เซย่า ในรูปแบบภาพยนตร์อนิเมะสร้างออกมาด้วย ซึ่งอาจารย์คุรุมาดะ มาซามิ ผู้เขียนมังงะต้นฉบับ ก็มาร่วมออกแบบตัวละครใหม่ในภาพยนตร์เหล่านี้ด้วย ประกอบด้วย Saint Seiya: Jashin Eris (ภาคสงครามเทพีอีริส ปริศนาแอปเปิ้ลทองคำ) ออกฉายในปีค.ศ. 1987 / Saint Seiya: Kamigami No Atsuki Tatakai (ภาคสงครามเทพเจ้าโอดีนแห่งแอสการ์ด) ออกฉายในปีค.ศ. 1987 (ในภาคนี้เล่าเรื่องราวในแอสการ์ด และกลายเป็นพื้นเพเรื่องให้ช่วงแอสการ์ดของอนิเมะฉบับโทรทัศน์ในภายหลัง) / Saint Seiya: Shinku No Shonen Densetsu (ภาคสงครามสุริยเทพอาเบล) ออกฉายในปีค.ศ. 1988 / Saint Seiya: Saishu Seisen no Senshi-tachi (ภาคสงครามครั้งสุดท้าย ความทะเยอทะยานของลูซิเฟอร์) ออกฉายในปีค.ศ. 1989
แล้วอนิเมะทั้งแบบโทรทัศน์และแบบภาพยนตร์ก็หยุดสร้างไประยะหนึ่ง ก่อนที่จะมีอนิเมะกลับมาอีกครั้งในปีค.ศ. 2002 แต่คราวนี้มาในรูปแบบ Origina Video Animation และจัดทำเนื้อเรื่องในมังงะที่เซย่าต้องต่อสู้กับกองทัพคนตายจากยมโลกที่มี ยมเทพ ฮาเดส เป็นผู้นำทัพ เซนต์เซย่าฉบับ OVA ถูกจัดทำแยกเป็นส่วนๆ ทั้งหมด 3 ส่วน นั่นก็คือ Chapter Sanctuary ที่ออกฉายครั้งแรกในปีค.ศ. 2002 / Chapter Inferno ออกฉายครั้งแรกในปีค.ศ. 2005 และ Chapter Elysion ออกฉายครั้งแรกในปีค.ศ. 2008 ซึ่งในส่วนสุดท้ายนี้มีการเปลี่ยนนักพากย์ตัวละครหลักทั้ง 6 คน (เซย่า, ชิริว, เฮียวงะ, ชุน และ อาธีน่า) เนื่องจากผู้ให้เสียงพากย์ชิริวท่านแรก เสียชีวิตไปในปีค.ศ. 2006
ส่วนฝั่งภาพยนตร์นั้นมีการสร้างภาพยนตร์ Saint Seiya: Tenkai Hen Joso หรือ Heaven Chapter – Overture ออกฉายในประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 2004 ที่เป็นการตีความว่าเป็นภาคต่อจากเนื้อเรื่องหลักของมังงะ และเป็นการเกริ่นนำก่อนจะเข้าสู่บทที่พวกเซย่าต้องปะทะกับทวยเทพปกรณัมของกรีกองค์อื่นๆ ตามความตั้งใจของอาจารย์คุรุมาดะ แต่ด้วยปัญหาหลายๆ ประการทำให้ภาพยนตร์ภาคดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก และอาจารย์คุรุมาดะก็นำเอาผลลัพธ์บางอย่างของภาพยนตร์เรื่องนี้ไปดัดแปลงอยู่ในมังงะ Saint Seiya: Next Dimension
หลังจากนั้น เซนต์เซย่าภาคขยายอย่าง The Lost Canvas ก็ได้รับการสร้างเป็น OVA ในช่วงปีค.ศ. 2009 – 2011 แต่ด้วยยอดขายที่ไม่อู้ฟู่ทำให้ตัวอนิเมะตัดจบลงในช่วงประมาณกลางเรื่องของฉบับมังงะเท่านั้นเอง และในปีค.ศ. 2012 ทาง Toei Animation ที่เคยเป็นผู้สร้างอนิเมะเซย่าภาคหลัก ก็ตัดสินใจทำอนิเมะภาคขยายอีกหนึ่งภาค คือ Saint Seiya: Omega ที่เล่าเรื่องไปอีกทางหนึ่งว่า เซย่าได้กลายเป็นโกลด์เซนต์ซาจิทาเรียส และตัวละครหลักของเรื่อง กลายเป็นเด็กรุ่นลูกของตัวละครในภาคแรกมาเดินเรื่องแทน อนิเมะภาคนี้ได้รับความนิยมแบบเสมอตัว และอวสานไปในปีค.ศ. 2014
จากนั้น Toei Animation ก็จับเอาเนื้อหาของอนิเมะองก์แอสการ์ดกับองก์ฮาเดสมาพัฒนาเป็น OVA ชุดใหม่ที่ชื่อว่า Saint Seiya: Soul of Gold ที่ตีความว่า จริงๆ แล้วเหล่าโกลด์เซนต์ยังไม่เสียชีวิตจากการรวมพลังช่วยเหลือเซย่า แต่พวกเขาถูกส่งไปยังแอสการ์ดที่มีภัยวุ่นวายครั้งใหม่ และทำให้เหล่าโกลด์เซนต์ต้องปลุกพลังขั้นใหม่เพื่อสยบภัยครั้งนี้
ส่วนฝั่งภาพยนตร์นั้นก็มีการกลับมาสร้างใหม่ ชื่อเรื่อง Saint Seiya: Legend Of Sanctuary ในปีค.ศ. 2014 ซึ่งถือว่าภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ใช้ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเรื่องแรกของซีรีส์เซนต์เซย่า และเป็นการตีความเซย่าให้มีรูปลักษณ์กับเรื่องราวที่แตกต่างไปจากเดิมในระดับหนึ่ง
ต่อมาในปีค.ศ. 2018 ก็เป็นคราวของ Saintia Sho ที่ถูกสร้างเป็นอนิเมะ โดยในฉบับอนิเมะนั้นมีการปรับเปลี่ยนดีไซน์ตัวละครให้เหมือนกับตัวอนิเมะฉบับเก่า กระนั้นอนิเมะตัวนี้ก็มีกำหนดการฉายสั้นๆ แค่เพียง 10 ตอนเท่านั้น
และในปีค.ศ. 2019 นี้ก็จะมีการฉาย Saint Seiya: Knights Of The Zodiac ในรูปแบบซีรีส์ที่ใช้ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิกออกฉายใน Netflix ที่ในตัวอย่างก็แสดงให้เห็นว่ามีการตีความให้เรื่องราวเข้ากับโลกปัจจุบันมากขึ้น รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่าง เช่น การปรับเพศของ ชุน จนกลายเป็นดราม่ามาก่อนแล้ว
เรื่องที่น่าพูดถึงเล็กน้อยก็คงจะเป็นการที่อนิเมะเซนต์เซย่าไม่เคยทำตลาดได้ดีในอเมริกา นั่นก็เพราะกว่าอนิเมะเซย์ย่าจะเข้าไปฉายก็ปาเข้าไปปีค.ศ. 2003 แล้ว และมีการเปลี่ยนชื่อ ‘เซนต์’ เป็น ‘ไนท์’ แถมยังมีการปรับสีของเลือดในเรื่องให้กลายเป็นสีน้ำเงินพร้อมกับการพากย์แก้เรื่องราวว่า ตัวร้ายไม่ได้ตายแต่ถูกจับกุมไปนะ การมาผิดยุคกับการเซ็นเซอร์แบบเกินจำเป็นเลยทำให้คนอเมริกาลืมเลือนการ์ตูนเรื่องนี้ไป
แม้ว่าตัวอนิเมะจะทำออกมาแล้วมีกระแสแผ่วๆ ในหลายครั้ง แต่ตัวสินค้าไลน์ Saint Cloth Myth นั้นถือว่าเป็นสินค้าที่แฟนคลับคอยติดตามซื้ออยู่เรื่อยๆ และทุกครั้งที่มีอนิเมะออกมาใหม่ (ไม่ว่าจะเวอร์ชั่นใดก็ตาม) ก็จะมีของสะสมให้แฟนๆ ต้องกระเป๋าแห้งกันทุกครั้ง นอกจากนั้นตัวเกมหลายต่อหลายเกม ก็จะอ้างอิงเนื้อเรื่องของฝังอนิเมะมากกว่าฝั่งมังงะอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ภาพยนตร์คนแสดง เซนต์เซย่า ที่มีการประกาศข่าวสร้างมาแล้วเมื่อปีค.ศ. 2017 แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่าตอนนี้ภาพยนตร์ดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการสร้างช่วงไหนแล้ว
‘เซนต์เซย่า’ อันไหนเชื่อมโยงกับอันไหนกันแน่?
จะเห็นได้ว่า ในบทความนี้เราพยายามใช้คำว่า ‘ภาคขยาย’ ในภาคเสริมหลายๆ ภาค อันเนื่องมาจาก ณ ตอนที่เขียนเซนต์เซย่าในตอนแรกนั้น อาจารย์คุรุมาดะ มาซามิ ไม่ได้วางรายละเอียดเชื่อมโยงต่างๆ แบบลงลึกเท่าใดนัก หลายครั้งที่อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ว่า เนื้อบางส่วนนั้นเห็นอะไรเข้าท่าก็ใส่ไปเลย (อ้าว!) เมื่อมีการออกสื่อผสมหลายอย่างตามมา เลยทำให้เกิดภาวะมึนงงอยู่ไม่น้อย ว่าอะไรเชื่อมโยงกับอะไรกันแน่
ซึ่งก็อาจจะพอสรุปได้คร่าวๆ ว่า นอกจากตัวมังงะที่อาจารย์เขียนเองนั้น ที่เหลือถือว่าเป็น ‘ภาคแยก’ ทั้งหมดก็ได้อยู่เช่นกัน แต่หากจะลองนำมาเชื่อมโยงก็น่าสนใจไม่น้อย
ฟากฝั่งของมังงะ
เซนต์เซย่า ฉบับมังงะ – แกนกลางของทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลทั้งฉบับมังงะและฉบับอนิเมะภาคต่างๆ เพราะปมของเรื่องราวไม่ว่าจะภาคไหน ก็จะอ้างอิง หรือ ดัดแปลงจากภาคหลัก
Saint Seiya Episode.G – เนื้อเรื่องถูกกำหนดให้เกิดขึ้นในช่วงเวลา 7 ปี ก่อนภาคหลัก ตอนที่มังงะเรื่องนี้ตีพิมพ์ตอนแรก อาจารย์คุรุมาดะให้สัมภาษณ์แบบทางการว่า ตัวมังงะภาคนี้จะนับเป็นภาคก่อนโดยตรง ก่อนที่เรื่องราวจะดำเนินไปและตัวละครเริ่มมีท่าไม้ตายเพิ่มเติมทำให้ในปัจจุบันเรื่องนี้ถูกระบุว่าเป็นสปินออฟไปเสียแล้ว
Saint Seiya: The Lost Canvas – แรกเริ่มเดิมทีเหมือนจะเป็นภาคที่ตั้งใจดำเนินเรื่องคู่ขนานกับภาค Next Dimension แต่ถ้าอ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ในภายหลังนั้น อาจารย์เทชิโรงิ ผู้เขียนมังงะภาคนี้จะบอกกล่าวว่าตัวเธอนั้นตอนแรกๆ ก็เขียนเรื่องตามโครงเรื่องที่อาจารย์คุรุมาดะร่างไว้ แต่ในช่วงหลังตัวอาจารย์เทชิโรงิเป็นผู้เขียนเรื่องเอง กระนั้นอาจารย์เทชิโรงิยังปรึกษากับอาจารย์คุรุมาดะในการแต่งเรื่องอยู่ มังงะเลยกลายเป็นสปินออฟอย่างเต็มรูปแบบ และถ้าเอาเรื่องราวจากภาค The Lost Canvas Gaiden อาจารย์เทชิโรงิยังตีความเรื่องการเดินทางข้ามเวลาจากอนาคตมาสู่ห้วงอดีตอีกด้วย
Saint Seiya: Saintia Sho – เนื้อเรื่องถูกเล่าคู่ขนานกับภาคหลัก แต่จะเป็นการเลือกเล่าจากเบื้องหลังในช่วงนั้นที่พวกเซย่าไปลำบากลำบนกันอยู่ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง นอกจากนี้ตัวละครหลายตัวในภาคนี้ เป็นการเอาปมที่อยู่ในสื่ออื่นๆ มาใช้งานในภาคนี้ อาทิ ตัวร้ายหลักของภาคนั้น เป็นการหยิบเอาตัวร้ายของภาพยนตร์อนิเมะภาค Saint Seiya: Jashin Eris (ภาคสงครามเทพีอีริส ปริศนาแอปเปิ้ลทองคำ) ทั้งตัว แอปเปิลทองคำ, เทพี Eres และเหล่าเซนต์ในภาคนี้ กับตัวละคร Ares ซึ่งเดิมทีเคยโดนพูดถึงในฉบับอนิเมะกับภาค The Lost Canvas มาใช้งานอีกครั้ง ณ ตอนนี้พอบอกได้ว่าภาคนี้เป็นสปินออฟ แต่มีเรื่องที่ไม่หนีห่างจากมังงะต้นฉบับเลย
Saint Seiya: Next Dimension – ภาคต่อแบบเป็นทางการเพราะอาจารย์คุรุมาดะเป็นผู้เขียนเอง อาจารย์จึงเอาปัจจัยหลายอย่างที่เคยสร้างไว้มาใช้งาน อาทิชุดคลอธที่เคยลงเฉพาะในฝั่งหนังสือข้อมูล, ตัวละครที่ปรากฏในภาพยนตร์อนิเมะภาค Tenkai Hen Joso และมีการใส่ตัวละครใหม่เข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง อาทิโกลด์เซนต์คนที่ 13 กับการผูกพล็อตเดินทางข้ามเวลาข้ามมิติเข้าไป ซึ่งถ้าวิเคราะห์กันสนุกๆ อาจารย์คุรุมาดะอาจจะเอาประเด็นนี้มาตีความว่า การที่มีอนาคตกับอดีตที่แตกต่างกัน เป็นผลพวงของการใช้พลังเทพเพื่อสร้างพหุภพก็เป็นได้
ฟากฝั่งของอนิเมะ
เซนต์เซย่า ฉบับอนิเมะ – เนื้อเรื่องหลักนั้นเชื่อมโยงกับมังงะโดยตรง แต่จะมีเนื้อเรื่องส่วนเสริม อย่าง กลุ่มสตีลเซนต์ นักรบเกราะเหล็กที่สร้างจากเทคโนโลยี กับ เนื้อเรื่ององก์แอสการ์ด ถือเป็นเนื้อเรื่องออริจินัลเฉพาะฝั่งอนิเมะ ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับมังงะ
Saint Seiya: The Lost Canvas ฉบับอนิเมะ – เดินเรื่องตามมังงะ The Lost Canvas แทบทุกประการ แต่ถูกตัดจบกลางทางเลยค้างคาสำหรับคนดูหน่อย
Saint Seiya: Omega – จับประเด็นจากฉบับอนิเมะ แล้วตีความว่าโลกสงบสุขมาหลายปี เซย่ากลายเป็นโกลด์เซนต์ ชิริวแต่งงานมีลูกชายฯลฯ ระบบของเซนต์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ต้องแบกกล่องชุดคลอธกลายเป็นใช้อัญมณี ‘คลอธสโตน’ ในการแปลงร่างแทน และมีการนำเอาตัวละครสตีลเซนต์กลับมาอีกครั้ง ถือว่าเป็นภาคแยกจากอนิเมะต้นฉบับโดยชัดเจน
Saint Seiya: Soul Of Gold – จับประเด็นจากอนิเมะในช่วงฮาเดส กับเนื้อเรื่องช่วงแอสการ์ด โดยหลักที่มากับผลลัพธ์ของภาคนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับมังงะตัวต้นและออกจะเป็นแค่เรื่องราวเสริมเติมแต่งในส่วนอนิเมะเท่านั้น
ภาพยนตร์ทุกภาค – เนื้อเรื่องจบในตัว แต่มีการโดนหยิบยืมอะไรหลายอย่างไปใช้งานในฉบับมังงะบ้าง
อนาคตของเซนต์เซย่า
แม้ว่าอายุอานามของอาจารย์คุรุมาดะจะเข้าสู่หลัก 65 ปี ไปแล้ว แต่อาจารย์ก็ยังคงพยายามเดินหน้าจักรวาลเซนต์เซย่าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนมังงะของตัวเอง หรือวางโครงเรื่องให้นักเขียนรุ่นน้อง ดังนั้นในฝั่งมังงะของเซย่าน่าจะดำเนินเรื่องกันไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนฝั่งของอนิเมชั่นแล้ว หลังจากฉบับ Netflix เราคงไม่เห็นภาคใหม่อีกระยะหนึ่ง ส่วนภาพยนตร์คนแสดงก็ตามที่เรากล่าวไว้ก่อนหน้าแล้วว่ายังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ออกมา
ส่วนฝั่งของเกม เราได้เห็นว่ามีตัวเกมออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเกมบนเครื่องเกมคอนโซล หรือที่จะเห็นบ่อยๆ ในช่วงนี้ก็จะเป็นเกมสำหรับสมาร์ทโฟนที่มีเกมอย่าง Saint Seiya: Cosmo Fantasy, Saint Seiya: Galaxy Spirits, Saint Seiya : Awakening ให้ได้เลือกเล่นกัน กระนั้นถ้ามองไปฝั่งของเล่นของสะสมจะเห็นได้ว่าสินค้าของเซนต์เซย่ายังออกมาให้เห็นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมีการ์ตูนเซนต์เซย่าภาคใหม่ออกมาในช่วงนั้นหรือไม่ บ่งบอกได้ว่ากลุ่มแฟนคลับยังคอยติดตามซีรีส์นี้อยู่อย่างต่อเนื่อง
และตราบใดที่แรงใจของแฟนยังร้อนแรงแบบนี้ เซนต์เซย่า ก็คงจะเป็นการ์ตูนที่กลับมาให้เราได้เห็นกันเรื่อยๆ ไม่ต่างอะไรกับตัวของ เซย่า ที่ไม่ว่าจะล้มกี่ครั้งก็จะขอลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องเทพีอาธีน่าอย่างไม่ย้อท้อ
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://fenrir-loupblanc.blogspot.com/