*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของสารคดี*
หากจะมีอะไรที่ที่ทำให้เราลดอคติจากสิ่งที่เชื่อได้บ้าง ก็คงหนีไม่พ้นการเข้าไปมอง เข้าไปดู เข้าไปเห็นสิ่งเหล่านั้นด้วยตาตัวเอง
ในปี พ.ศ.2560 ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของผู้คนคือการบุกจับพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวพันกับคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กลายเป็นภาพของเจ้าหน้าที่รัฐบุกล้อมวัด และการต่อสู้ของผู้ที่ศรัทธา รวมไปถึงคำถามที่ยังค้างคากับคนในสังคมว่าสรุปแล้วมันเกิดอะไรขึ้น
ซึ่งอย่างที่เราอาจได้เห็นกันแล้วว่า สารคดีเรื่องใหม่ของผู้กำกับสารคดีมากฝีมืออย่าง ไก่-ณฐพล บุญประกอบ นั้นพาเราเข้าไปดู เข้าไปเห็น เข้าไปทำความรู้จักเรื่องราวของวัดพระธรรมกาย ที่เราอาจไม่เคยพาตัวเองไปสู่พื้นที่ตรงนั้น ซึ่งก็ อาจจะพูดได้ว่าการตั้งชื่อหนังว่า ‘Come And See เอหิปัสสิโก’ นี้เป็นอะไรที่พอเหมาะพอดีกับเรื่องราวภายในสารคดีมากทีเดียว
การมาถึงของ เอหิปัสสิโก นี้นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากๆ ที่หนังจะช่วยเป็นหมุดหมายทลายภาพสารคดีในไทยให้คนได้รับรู้มากขึ้นว่าสารคดีไม่ใช่การเล่าเรื่องที่น่าเบื่อ เพราะหนังสารคดี เอหิปัสสิโกนี้ ก็พาเราดำดิ่ง ลงลึก และลุ้นระทึกไปพร้อมกันๆ นอกจากนี้หนังสารคดีเรื่องนี้ยังทิ้งประเด็นทางสังคมไว้ให้เราได้ถกเถียง ขบคิด และตั้งคำถามต่อไป
การนำเสนอในฐานะคนกลางที่เฝ้าสังเกตการณ์ การตีความสารคดีผ่านอคติในใจคนดู
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษยทุกคนล้วนมีอคติในใจต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งเสมอ ซึ่งการดูหนังเรื่องนี้ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่การตีความและความเห็นหลังดูจบนั้นหลากหลาย ตามแต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายในความคิดของผู้คน คนที่ศรัทธาในวัดพระธรรมกายอาจเป็นแบบหนึ่ง คนที่เคยเข้าไปแล้วออกมาอาจเป็นแบบหนึ่ง คนภายนอกที่ได้แต่เฝ้ามองก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
แต่หากจะพูดถึงความน่าสนใจหนังเรื่องนี้ ก็คงเป็นวิธีการเล่าเรื่องของผู้กำกับ ที่ในช่วงแรกการเล่าเรื่องของหนังสารคดีนี้ เราพอจะพูดได้ว่าผู้กำกับเข้าไปเป็นเหมือนผู้เฝ้าสังเกตุการณ์คนหนึ่ง เข้าไปสอบถามพูดคุยกับบางคนเพื่อให้เรามองเห็นมุมมอง เฉดสีที่หลากหลาย แต่ไม่ใช่การยัดเยียดหรือตั้งคำถามที่ขัดแย้งกับความเชื่อของคนให้สัมภาษณ์
ซึ่งมุมมองการเล่าแบบนี้ชวนให้เรารู้สึกว่าหนังไม่ตัดสินว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นถูกหรือผิด สิ่งที่เขาเชื่อนั้นน่าหัวเราะเยาะหรืองมงาย แต่กลับชวนเราค่อยๆ ลองสังเกต ทำความเข้าใจ ไปในระหว่างทางที่หนังพาเราไปรู้จักกับมุมมองหลากหลายที่เล่าแบบตบมุกขัดแข้งขัดขากัน ทั้งจากคนที่ศรัทธาในวัดธรรมกายและคนที่เลิกศรัทธาไปแล้ว ทั้ง พระที่ยยังอยู่ในวัดพระธรรมกาย และศิษย์เก่าของวัดที่ออกมาและให้ข้อมูลในอีกฝากหนึ่ง รวมไปถึงเสียงจาก ไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามระหว่างที่เรื่องดำเนินไป เราก็รู้สึกว่าได้ว่าจริงๆ แล้วผู้กำกับเองก็อาจจะพยายามใส่ความเห็นของตัวเอง พยายามแสดงทัศนคติหรืออุดมการณ์บางอย่างออกมาผ่านทางฟุตเทจ ที่หากไม่ได้มองลงลึกหรือสังเกตมากนัก ก็จะมองในฐานะฉากพักสายตา ฉากที่ใส่เข้ามาเพื่อแวะพักกลางทางก็ย่อมได้ แต่หากลองมองผ่านภาพดีๆ ฉากเหล่านี้คือเครื่องมือในการบอกว่าผู้กำกับมองเห็นอะไร เขารู้สึกอะไร เขามองภาพเหล่านี้อย่างไร
มีสิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้บ่อยครั้งในหลายๆ ฉาก คือการตั้งใจให้มุมมองภาพนั้นถ่ายติดกล้องถ่ายทำของทางวัดธรรมกายอีกที ซึ่งก็ชวนเราคุยต่อถึงกลวิธีการสร้างความศรัทธาที่หลอมลวมเข้ากับเทคโนโลยี และการสร้างความจริงผ่านกระบวนการถ่ายทำ ไหนจะภาพของการเล่นละครเล่าเรื่องราวทางพุทธศาสนา หรือแม้แต่การใช้โทรทัศน์เข้ามาเป็นของประกอบฉาก ราวกักำลังสื่อสารว่าสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้อาจเป็นเพียงละครฉากนึงที่หลายๆ คนชอบดู เป็นภาพภาพหนึ่งที่เราลืมตั้งคำถามไปว่าภาพนี้ถูกสื่อสารมาเพื่ออะไร ซึ่งนี่อาจเป้นหนึ่งในสิ่งที่ผู้กำกับอาจจะพยายามบอกถึงสิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขารู้สึกด้วยเช่นกัน
หรือฉากของนกยูงที่เดินอยู่อย่างผิดที่ผิดทางในอาคารสิ่งก่อสร้างของวัด เป็นภาพที่เราเห็นแล้วรู้สึกว่ามันทรงพลังพอสมควร แถมนี่ไม่ได้เป็นการเซ็ตฉากแต่อย่างใด ซึ่งภาพๆ นี้ก็อาจจะชวนมองได้อีกเช่นกันว่าเรื่องราวหรือเหตุกาณ์เหล่านี้มันมีความผิดแปลกไปอย่างไร
แต่ท้ายที่สุดแล้ว ด้วยความที่หนังไม่ได้บอกเล่าชัดเจนว่าผู้กำกับหรือตัวหนังต้องการให้ผู้คนคิดอย่างไร ไม่ได้ตัดสินอย่างตรงไปตรงมาว่าอะไรผิดหรือถูก สิ่งที่เราอาจได้รับหลังดูจบ ก็เป็นคำถามที่ยังต้องหาคำตอบต่อไป หรือบางคำตอบก็อาจได้รับไปแล้วระหว่างการดูด้วยเช่นกัน
ความขัดแย้งของอำนาจ และการใช้ศรัทธาเป็นเครื่องมือ
แน่นอนว่าอีกเรื่องที่จะไม่พูดถึงเลยก็ไม่ได้ และคิดว่าการมาของหนังเรื่องนี้ช่างพอเหมาะพอเจาะในยุคสมัยที่คนกำลังลุกขึ้นพูดกับอำนาจที่ใหญ่กว่าอย่างตรงไปตรงมา ในช่วงท้ายๆ ของเรื่องที่ฉายภาพการพยายามเข้าจับกุมพระธัมชโยโดยเจ้าหน้าที่รัฐ (DSI ในเวลานั้น) เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการใช้อำนาจของคสช.ในยุคนั้นที่มีอำนาจโดยมิชอบ และใช้อำนาจนั้นตามอำเภอใจ
มีคำพูดของ ไพบูลย์ นิติตะวันที่กล่าวว่า “อย่าลืมว่ากฎหมายที่มีอยู่เป็นกฎหมายธรรมดาและตำรวจธรรมดา ไปใช้กับธัมมชโยซึ่งไม่ธรรมดา มันไม่ได้หรอก มันไม่ได้ มันต้องใช้กฎหมายพิเศษ”
คำพูดนี้ยิ่งชวนเราตั้งคำถามว่ากฎหมายพิเศษนี้จำเป็นแค่ไหนในสังคม ทำไม ‘กฎหมายธรรมดา’ จึงไม่แข็งแรงพอหากมีกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องและเป็นธรรมพอ
ซึ่งนี้ยังเป็นภาพซ้อนทับของการใช้อำนาจรัฐกับประชาชนนั้นเกิดขึ้นแทบจะในทันทีที่ได้เฝ้าดูแต่ละฉากหลัง DSI บุกไปที่วัด แม้ว่าอาจจะแตกต่างที่วิธีในการจัดการอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดก็ยังคงมุ่งตรงไปที่การใช้อำนาจของรัฐต่อการปราบปรามผู้คน และการแสดงออกถึงสถานะของรัฐที่อยู่เหนือกว่าประชาชนอยู่ดี
นอกจากนี้ เราเองก็มองว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ชวนเรามาตั้งคำถามกับความศรัทธาของผู้คนต่อวัดธรรมกายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงศาสนาพุทธในแบบไทยๆ เองนั้นก็พยายามสร้างอำนาจบางอย่างขึ้นมาเพื่อดึงคนให้ศรัทธา หรือกระทั่งสถาบันอื่นๆ ที่อยากให้ผู้คนรักผู้คนศรัทธาด้วยเช่นกัน ความดีงามของสารคดีเรื่องนี้คือการชวนเราพาไปถึงการตั้งคำถามต่อสิ่งเหล่านี้ได้อย่างแยบคายมากๆ และพาเราไปไกลกว่าการเล่าเรื่องราวของวัดพระธรรมกาย
ซึ่งสิ่งที่ช่วยให้เราขมวดปมได้ดีก็คือการพานักวิชาการมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มีประเด็นเรื่องสองเรื่องที่เราคิดว่าหากหนังเรื่องนี้ได้รับความสนใจวงกว้างก็อยากให้มีวงสนทนาคุยต่อไป ทั้งการผูกขาดพุทธศาสนาในแบบใดแบบหนึ่งที่เชื่อว่า ‘ดี’ มีหนึ่งเดียว และการตั้งคำถามต่อความศรัทธาในสถาบันหนึ่งที่เมื่อถูกสั่นคลอนจึงมีอำนาจเหนือกว่าลงมาจัดการกับสิ่งที่ทำให้เกิดความสั่นคลอนนั้น
แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ไม่ว่ามันจะเป็นการต่อสู้ของรัฐกับวัดธรรมกาย หรือการต่อสู้ชิงความศรัทธาของสถาบันใด สิ่งที่ผู้มีอำนาจหรือผู้กุมความศรัทธานั้นไม่ได้สนใจหรือแยแสเลยคือผู้คนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่ใต้อำนาจของเขา ผู้คนเหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือ เป็นแนวหน้าที่ถูกส่งเข้าปะทะ โดยที่ใช้ความศรัทธานั้นเป็นเกาะกำบังให้ตนลอยตัวเหนือปัญหา เลือกตายแทนอำนาจเหล่านั้นด้วยความศรัทธา