‘เอหิปัสสิโก’ คือสารคดีที่ไม่ได้ไปตามหาคำตอบว่าพระธัมชโยหายไปไหน วัดมีรายได้เท่าไหร่ เกิดอะไรขึ้นกับคดีของวัด แต่เป็นสารคดีที่ ไก่ – ณฐพล บุญประกอบ อยากลองหาคำตอบว่าศาสนามีบทบาทอะไรกับสังคมกันแน่?
เมื่อสี่ปีก่อน ไก่ ไปเรียนต่อด้านการทำสารคดีที่อเมริกา ในตอนนั้นเขาตั้งใจทำเรื่องของชายคนหนึ่งที่เล่นดนตรีให้แมวฟัง แต่พอเขาได้เห็นข่าวของวัดธรรมกาย เขาก็ตัดสินใจเปลี่ยนหัวข้อมาเป็นการเข้าไปดูเหตุการณ์เหล่านี้แทน
หลังจากฉายในคลาสเรียนของเขาเอง จนเดินทางไปประกวดที่ปูซาน กระทั่งวนกลับมาฉายในห้องเรียนที่ไทย ก่อนจะตัดสินใจฉายในโรงหนัง ผ่านกระแสข่าวที่จะถูกแบน จนกลายเป็นที่จับตามอง สารคดีเรื่องนี้ก็เดินทางมาไกลจนกระทั่งวันนี้ได้เข้าฉายใน Netflix ไปที่เรียบร้อย
เราชวนเขามาพูดคุยถึงเรื่องความเชื่อ ความศรัทธาในสังคมไทย รวมถึงสิ่งที่เขาตั้งใจอยากสื่อสาร คือการกลับมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเคยเชื่อ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้สังคมได้เกิดการเรียนรู้และเดินหน้าต่อไป ในขณะเดียวกันความท้าทายเหล่านี้ยากแค่ไหน ในฐานะที่เขาก็เป็นนักสื่อสารคนหนึ่ง ในสังคมที่ยังปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก
รู้สึกยังไงพอสารคดีที่ตอนแรกตั้งใจทำเป็นแค่ธีสิสจบ วันนี้มันได้ฉายใน Netflix แล้ว
ไม่เคยคิดเลยครับ แม้แต่เข้าโรงฉายก็ไม่เคยคิด
ตอนแรกที่เราตัดสินใจเลือกทำประเด็นนี้ เรารู้อยู่แล้วว่ามันอ่อนไหวมาก ตอนทำเสร็จนั้นก็ประมาณสี่ปีที่แล้วมั้ง เราคิดว่าสังคมไทยอาจจะ sensitive เกินกว่าที่จะรับรู้เรื่องความเชื่อกัน ก็เลยตั้งเป้าไว้แค่ว่าฉายเมืองนอก ส่งเทศกาล และก็อาจฉายวงเล็กๆ ในแบบห้องเรียนหรืออีเวนต์เล็กๆ ในเมืองไทย เพราะเราเชื่อว่าหนังมันต้องมีการพูดคุย ต่อบทสนากันหลังดูจบ
แต่ทีนี้หนังเรื่องนี้ก็ค่อยๆ ถูกพูดถึงมากขึ้นทีละเล็ก ทีละน้อย เช่น อยู่ดีๆ ก็หอภาพยนตร์ก็เริ่มเอาไปฉาย ก็เริ่มมีคนได้ดูมากขึ้น แต่เราก็ยังยืนยันว่าจะไม่ฉายอยู่ดี เวลาผ่านไปสักประมาณ 2-3 ปี ก็ได้ไปประกวดที่ปูซาน จนกระทั่งถึงจุดที่เราจะเอาไปฉายที่ House เป็นแบบเหมาโรงฉาย แล้วพอดีพี่จ๋องคนที่เป็นหุ้นส่วน House เขาดูแล้วชอบ แล้วรู้สึกว่าน่าจะฉายโรงทั่วไปให้คนได้ดูด้วย เราก็แบบ มันจะดีเหรอวะ แต่พี่เขาก็บอกขึ้นมาว่า ถ้าจะฉายก็ต้องส่งเซนเซอร์ หมายถึงว่าถ้าจะเหมาโรง ก็ควรส่งเซนเซอร์อยู่ดี
เราก็เลยเอาส่งกองเซนเซอร์ ก็เลยกลายเป็นข่าวขึ้นมาว่ากองเซนเซอร์มีแนวโน้มจะแบนหนัง แล้วมันเป็นข่าวใหญ่มาก เราก็ลองชั่งใจดูว่าจะเข้าโรง House อยู่แล้วโรงหนึ่ง บวกกับตอนนั้นพอมีกระแสเข้ามา แล้วประกอบกับสมาคมผู้กำกับเขามีโปรแกรมช่วยจัดจำหน่ายหนังอิสระในหลายๆ โรง หลายๆ จังหวัด ก็เลยคิดดูว่าเออ สังคมมันเปลี่ยนจากสี่ปีที่แล้วพอสมควร คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามมากขึ้น ก็เลยลองแลกไปเลยก็แล้วกัน
พอเข้าโรงเสร็จ มีกระแสมากๆ Netflix ก็ติดต่อมา จริงๆ ก็เป็นช่วงเวลาที่คิดหนักเหมือนกัน เพราะว่าหนังเรื่องนี้พยายามที่จะโปรโมตโดยไม่กล้าให้ subject ในหนังปรากฏตัวใน trailer หรือในที่เป็นออนไลน์ เพราะเราไม่แน่ใจว่า reaction เขาคิดอย่างไรกับหนัง หมายถึงว่าฟีดแบ็กคนรอบตัวเขา แต่ปรากฏว่าแทบจะทุกคนในหนังแบบโอเค ชอบ เราก็โอเค พอมาอยู่ในออนไลน์ก็น่าจะโอเคมั้ง คือเหมือนมาขนาดนี้แล้วก็เอาให้สุดเลยแล้วกัน
คิดว่าสารคดีเรื่องนี้ประสบความสำเร็จหรือยัง?
สำหรับผม การทำเสร็จก็ประสบความสำเร็จแล้วอะ (หัวเราะ) คือการทำให้ผมเรียนจบมันก็คือการประสบความสำเร็จหนึ่งขั้น แต่ว่าจริงๆ ผมว่าคนหลายๆ ฝ่ายดูแล้วเกิดคำถาม ผมว่านั่นคือประสบความสำเร็จที่สุดแล้ว ไม่ว่าเป็นคนที่มาจากฝั่งไหนก็ตาม มาจากฝั่งชอบหรือไม่ชอบวัดก็ตาม แค่ดูแล้วเกิดคำถามต่อยอด เกิดมุมมองที่มันกว้างขึ้น ไม่ใช่แค่ชอบหรือไม่ชอบวัด แต่เหมือน เดิมเราเคยมองสิ่งนี้ในระนาบเดียว ในมุมเดียว เราก็คาดหวังว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้เห็นมุมอื่นบ้าง แต่ก็ไม่ได้บอกว่าให้ชอบหรือไม่ชอบครับ คนไม่ชอบก็ยังไม่ชอบ คนชอบก็ชอบ ก็ไม่เป็นไร
แต่ว่าเราเห็นตัวเองชัดขึ้น เราตั้งคำถามต่อความเชื่อตัวเองมากขึ้น ติดเบรกให้กับความเชื่อหรือสิ่งที่เราศรัทธามากขึ้นเพราะได้ผ่านการตั้งคำถามนั้นแล้ว
ในฐานะที่พี่ไก่ทำงานเกี่ยวกับการทำหนัง หรือเป็นการสื่อสารอะไรบางอย่างอยู่แล้ว สำหรับสังคมที่เสรีภาพมันปิดกั้นมากๆ มันยากไหมกับการทำงานตรงนี้ มีอะไรเป็นอุปสรรคให้เราทำงานยากขึ้น หรือก็ท้าทายไปอีกแบบหนึ่ง
เราว่าถ้าพูดในเรื่องของเสรีภาพของการทำหรือไม่ทำ มันมองผ่านการพูดคุยในชีวิตประจำวันปกติได้ ว่าเราสามารถพูดเรื่องไหนได้ พูดเรื่องไหนไม่ได้ พูดอันไหนในที่สาธารณะได้หรือไม่ได้ มันถูกจำกัดมากน้อยแค่ไหน เราว่าสิ่งเหล่านั้นก็เป็นสมการเดียวกับงานสื่อสาร คือถ้าเราวิพากษ์วิจารณ์สิ่งนี้ในเฟซบุ๊กเราไม่ได้ หนังมันก็ทำไม่ได้เหมือนกัน
แน่นอนว่ามองว่าสามารถมองเป็นขีดจำกัด เป็นความอึดอัด เป็นอะไรก็ตามที่ผู้คนรู้สึกร่วมกันตอนนี้ ว่ามันไม่พาให้ประเทศเราไปข้างหน้าผ่านการถกเถียง เพราะมันถูกชี้ผิดชี้ถูกโดยรัฐตลอดเวลา ส่วนตัวเรามองว่ามันเป็นทั้งข้อจำกัดและความท้าทาย คือเรามองว่างานครีเอทีฟ งานสร้างสรรค์โดยปกติ อย่างเช่นเราทำงานโฆษณา รับบรีฟลูกค้า แก้ปัญหาอะไรก็ตาม ตามความต้องการของเขา สิ่งเหล่านี้มันกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์นะ คือเราว่า creativity มันเกิดจากการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะมิติไหนก็ตาม แบบคนคิดพลั่วขุดดินขึ้นมา มันไม่ได้คิดจากเดินๆ อยู่แล้วคิดได้ แต่มันเกิดจากการใช้เราใช้มือขุดจนมือแหกหมดแล้ว ก็เกิดการสร้างสรรค์อุปกรณ์หรืออะไรก็ตามให้ชีวิตเราง่ายและสบายขึ้น หรือว่าสื่อสารสิ่งนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น เราต้องการสื่อสาร แต่มันมีกำแพงแบบนี้ เราเลยต้องหลบเลี้ยวแบบนี้ ลีลามันจึงเกิดขึ้น
เราคิดว่ามันก็เป็นความท้าทายหนึ่งของคนที่ทำงานแบบนี้นะ คนที่ทำหนัง ว่าเราจะพูดถึงมันอย่างไรให้ไม่เกิดความเสี่ยง แต่ยังสื่อสารได้เต็มที่หรือมีพลังในแบบที่เราต้องการอยู่ ตัวอย่างง่ายๆ คือดูป้ายในม็อบเนี่ยชัดสุดแล้ว นี่คือความสร้างสรรค์ ความสร้างสรรค์ในความหมายของเราคือคือการฉีกกฎที่ไม่ทำร้ายตัวเอง แต่ยังได้พลังแบบเดิมหรือมากกว่าเดิมในบางครั้ง
ทุกวันนี้ โลกก็มีวิธีคิดว่า ทุกเรื่องเล่าหรือคามจริงบางอย่างผ่านการจัดวาง มีอคติ แล้วสำหรับการทำสารคดียังสามารถเล่าแบบเป็นกลางได้ไหม หรือแม้แต่ผู้กำกับหรือคนทำงานสื่อ ยังต้องวางตัวเป็นกลางอยู่ไหม
จริงๆ คำว่า ‘เป็นกลาง’ เป็นคำที่มีปัญหาในตัวมันเองนะครับ สำหรับผม เพราะมันเฟรมความคิดคนที่มองสิ่งนี้ว่า ทุกอย่างมีซ้ายและขวา ทุกอย่างมันมีไม้บรรทัดวัดแบบ 0-100 ซ้ายสุดคือศูนย์ ขวาสุดคือร้อย ซึ่งความจริงเราว่ามันก็ไม่ได้ผิดหรอก มันก็อาจช่วยให้เราพูดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วมีตัวเปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น
แต่เราว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีสองมิติแบบนั้น อย่างที่บอกว่ามันช่วยให้เราจัดวางความขัดแย้งหรือจัดวางความสัมพันธ์ในเชิงความคิดได้ง่าย อย่างเช่นเรายกตัวอย่างหนังเอหิปัสสิโกที่เราทำ คนก็จะแบบ โอ้ เป็นกลาง ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่าเป็นกลางในความหมายของเขาอาจมองว่า เออ มันแฟร์กับทั้งวัดนี้ วัดนั้น แต่สำหรับเรา จริงๆ เรามองว่าคนทำหนังไม่ใช่แบบพระอรหันต์ที่ตัดกิเลสออกได้ หรือว่ามาถ่ายสิ่งนี้แล้วจะต้องไม่รู้สึกอะไร เพราะเราเป็นกลาง เป็นผู้พิพากษา เราว่าเราไม่เชื่อสิ่งนี้
เราว่ามนุษย์ทุกคนมันมีประสบการณ์ อารมณ์ อคติอะไรอยู่แล้วในใจ
เพียงแต่ว่าเราให้ความแฟร์กับสิ่งที่เราพยายามนำเสนอนั้นอย่างไร
ซึ่งเราว่าสามารถทำได้ด้วยการพยายามจริงใจกับความรู้สึกตัวเอง จริงใจกับสิ่งที่ตัวเองเล่า เราพบเห็นสิ่งนี้ เราเจอสิ่งนี้แล้วเราเลือกที่จะหลับตาข้างหนึ่งในการนำเสนอหรือเปล่า หรือว่าเราตั้งคำถามกับมันอย่างจริงใจ อย่างตรงไปตรงมา เพื่อที่จะได้คำตอบที่เราสงสัย
ความคิดเรื่อง ‘ความเป็นกลาง’ นี่อันตรายเหมือนกัน เพราะสำหรับเรามันเป็นการแปะป้ายให้ตัวเองมีอำนาจเหนือกว่าชุดข้อมูลนั้น หมายถึงว่า สมมติว่าเราบอกว่า หนังเราเป็นกลาง เราพูดในฐานะคนทำว่าเราทำให้มันกลางที่สุด คนก็จะรู้สึกว่า เออ กูต้องเชื่อสิ่งนี้ว่ะ เพราะมันเป็นกลางแล้วใช่ไหม มันเป็นการแอบอ้างอำนาจของความจริงที่เป็นกลาง ที่อยู่เหนือกว่ามุมมองมนุษย์ทั่วไปที่มันเอียงซ้ายเอียงขวาอะ มันเหมือนถกเถียงกันเรื่องการเมืองอะ ว่ากูไม่สามกีบ กูไม่สลิ่ม กูเป็นกลางอะ คือมันเป็นการพยายามยกตัวเองอยู่เหนือความขัดแย้ง แล้วบอกว่าความคิดเห็นกูจริงที่สุด ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ซึ่งไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกัน ไม่กล้าวิจารณ์ครับ แต่เราว่าไม่น่าใช่
ย้อนกลับมาที่หนัง เราว่าพอหนังที่เราทำออกไป แล้วคนมองว่าเออ เป็นกลางนะ คือคำว่ากลางของเรามันไม่ใช่เรื่องไม่เลือกซ้ายหรือไม่เลือกขวานะ แต่มันเป็นการแบบถอยออกมาจากความขัดแย้งนั้นแล้วมองมันในมุมมองที่เป็นแบบ bird-eye view มากกว่าการมองอยู่ในความขัดแย้งว่าจะต้องซ้ายหรือขวาเท่ากันหรือเปล่า
ทั้งหมดเป็นการมองว่า โอเค กฎของเกมนี้มันคืออะไร ทำไมฝ่ายนั้นถึงใช้วิธีนี้ ทำไมทั้งสองทีมต้องมารวมกัน ทำไมแต่ละทีมต้องมีสมาชิกเท่านี้คน มันเลยเป็นมุมมองอีกมุมหนึ่ง ที่เราจะใช้มุมมองแบบในระนาบเดิมไม่ได้แล้ว
คือคำว่ากลางเนี่ย เราจำไม่ได้ละว่าได้ยินจากที่ไหนที่เขาพูดเรื่องว่าสำนักข่าวไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง หรือคนทำหนัง ทำสารคดีก็ไม่ต้องมีความเป็นกลาง เพียงแต่ว่าสิ่งสำคัญคือ เรายึดถือคุณค่าแบบไหนมากกว่าในการที่จะถ่ายทอดเรื่องเล่านั้น อย่างเช่น เรายึดถือคุณค่าว่าคนทุกคนมีค่าเท่าเทียมกัน แล้วการนำเสนอข่าวหนึ่งอยู่บนพื้นฐานของคุณค่านี้ สุดท้ายแล้วไม่ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในข่าวหรือหนังเรื่องไหนก็ตาม แล้วเรายังมองมันผ่านเลนส์ของคนเท่ากันอยู่ นั่นแหละ เราว่านี่คือความแฟร์ที่เกิดขึ้นของคนเล่า
ตอนทำสารคดี พี่ไก่บอกว่าต้องการหาคำตอบเรื่องศาสนาในบทบาทของสังคมไทย ทีนี้ต่อให้อาจารย์นิธิบอกว่ามันไม่มีบทบาทอะไรเลย แต่ในมุมพี่ไก่ มองเห็นคำตอบนี้เป็นอย่างไร ความคิดของเราเปลี่ยนไปไหมระหว่างก่อนและหลังทำสารคดีเรื่องนี้
ต้องบอกว่า การทำหนังเรื่องนี้ทำให้เรา shape ความคิดตัวเองมากๆ เลยนะ เพราะมันเป็นการหาคำตอบของตัวเราเองด้วย ในความสงสัยนั้น แล้วเราก็พยายามจะทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้ไปพร้อมๆ กับการทำหนัง ซึ่งการสัมภาษณ์จากอาจารย์นิธิเอง หรืออาจารย์คนอื่นๆ ตามที่อยู่ในหนัง คำตอบที่เขาตอบในหนัง ก็เป็นคำตอบเดียวกับเรานั่นแหละ เพราะเราก็เรียนรู้จากเขามา ก๊อบปี้จากเขามา
แต่ถ้าถามว่า คำตอบในเวอร์ชั่นของเราเอง เราคิดว่าจะคล้ายของอาจารย์นิธินะ คือสังคมในยุคหนึ่งต้องการศาสนาแหละ เพราะมันต้องการสร้างความเชื่อ และก็เป็นเหมือนเครื่องมือให้สังคมก่อร่างสร้างตัวไปได้ ผ่านการให้การศึกษา หรือว่าเป็นโรงพยาบาล หรือเป็นแหล่งพักพิง หรืออะไรก็ตามในการรูปแบบของสังคมในยุคหนึ่ง แต่ทีนี้พอรั้วมันแข็งแรงขึ้น วิธีการมันแข็งแรงขึ้น ในแง่ทั้งกฎหมายหรือวิทยาศาสตร์ ก็ทำให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้โดยที่ความสำคัญของความเชื่อมันลดลง
และเราก็เชื่อนะว่าสังคมที่แข็งแรงพอ
หรือมีวุฒิภาวะในตัวเอง จะอยู่ได้โดยไม่ต้องมีศาสนา
หรืออาจมีในรูปแบบอื่นที่เป็นในรูปแบบของปรัชญาหรืออะไรอย่างนี้ เรารู้สึกว่าในท้ายที่สุดศาสนาอาจจะอยู่แหละ แต่จะไม่อยู่ในแง่ของผู้ครองอำนาจความเชื่อที่เป็นในสังคมไทยบ้านเรา ที่เอาศาสนาเป็นตัวนำในหลายๆ มิติ เรารู้สึกว่าศาสนาสามารถเป็นในแง่ของทางเลือก คืออาจจำเป็นน้อยลงเรื่อยๆ แต่จะจำเป็นอยู่ในแง่ของทางเลือกของคนที่ยังต้องการที่พึ่งพิง หรือตอบคำถามที่วิทยาศาสตร์ยังตอบไม่ได้ แต่ความสำคัญคือมันจะไม่ได้มาชี้นำความคิดของทุกคนขนาดนั้น
สำหรับเรา เราชอบศาสนาพุทธในแง่ปรัชญา คือมองเป็นปรัชญา ไม่ได้มองในชุดแบบมีประเพณีต่างๆ คือเราไม่ได้นับถือขนาดนั้น ไม่ได้เชื่อพุทธประวัติ ไม่ได้เชื่อเรื่องราวอะไรที่มันเกี่ยวกับพุทธศาสนา แต่ก็เข้าใจได้ ว่าการที่มีอยู่ของศาสนาพุทธก็มีฟังก์ชันอยู่นะ อย่างเช่นในสังคมไทยตอนนี้ การมีอยู่ของมันก็ยังยึดโยงอยู่กับความจำเป็นของสังคมในบางมิติ
แต่แน่นอนก็จะเป็นอย่างที่อาจารย์นิธิพูด ว่ามันจะลดลงเรื่อยๆ
ความเชื่อมันมีฟังก์ชันกับมนุษย์มากแค่ไหน
ถ้าใช้คำว่าความเชื่อเลยมันก็ทุกอย่างนะ วันนั้นเราอ่านหนังสือ Sapiens ของอาจารย์ Yuval Noah Harari เขาก็พูดเรื่องนี้เต็มเหนี่ยวมาก ว่าสังคมมนุษย์มันเหนือกว่าสัตว์ อยู่ได้ด้วยการสื่อสารอะ แล้วการสื่อสารไม่ใช่แค่ไปซ้ายไปขวา แต่มันคือการสร้างความเชื่อหรือสร้างสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมาให้ทุกคนคล้อยตามและทำตามกันได้ ซึ่งบอกไปก็คงไม่ได้ดีไปกว่าไปอ่านเองนะครับทุกคน (หัวเราะ)
เหมือนพออ่านหนังสือนี้และทำหนังนี้ มันก็ยิ่งทำให้กลับมามองและเห็นคุณค่าของงานภาพยนตร์มากขึ้น ว่ามันเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่มีพลัง แล้วยิ่งพอเรารู้ว่าแก่นของสังคมมนุษย์ที่มีฟังก์ชันและมีพลังอยู่กับธรรมชาติได้ เป็นเพราะมีการสื่อสารอยู่ในทุกมิติ มันเลยแบบ โอ้ งานเราดูมีคุณค่ามากเลยนะ ไม่ใช่ว่าเราทำหนังที่มีสาระนะ แต่เราสามารถเลือกที่จะใช้ความรู้ที่เรามีในการขับเคลื่อนสังคมมากขึ้น เพราะสังคมมันขับเคลื่อนด้วยความเชื่อ
แล้วสังคมมันควรมีเสรีภาพในความเชื่อไหม อย่างเช่น ฉันเชื่อในรัฐบาล แต่คนอื่นไม่เชื่อ หรือเชื่อในซิโนแวค อีกคนไม่เชื่อ มันควรมีเสรีภาพในการเชื่อมากน้อยแค่ไหน
เราว่าสังคมมีเสรีภาพในการเชื่ออยู่แล้ว แต่ตอนนี้ปัญหามันคือไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก คือเราจะนับถือลัทธิเบคอนก็ได้ เรามีเสรีภาพในการที่จะคิดจะเชื่อ แต่เราจะแสดงออกได้ไหมว่าเราไม่อินกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ แสดงออกได้มากแค่ไหน เราว่านี่คือประเด็น ซึ่งเราว่าสังคมที่มัน healthy ที่มีวุฒิภาวะมากพอและพร้อมที่จะเรียนรู้ มันจะไปข้างหน้าได้ จะเติบโตได้ แต่บ้านเรามันไม่พร้อม มันพยายามที่จะชี้ผิดชี้ถูกให้กับประชาชนตลอดเวลา พยายามบอกว่าสิ่งนี้ใช่ไม่ใช่ สิ่งนี้ทำได้ไม่ได้
ซึ่งแน่นอนว่ารัฐมันก็มีหน้าที่ขีดเส้นอยู่แล้วแหละ แต่ว่าจะมีมากน้อยต่างกันในแต่ละประเทศ แต่บ้านเรา เรารู้สึกเหมือนกับคนหลายๆ คนที่บางทีรัฐบาลก็ขีดเส้นมากเกินไป เขาจำเป็นต้องเปิดรับนะ ในการที่จะถูกพูดถึง ในการที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถึงจะได้เรียนรู้ร่วมกัน ไม่ใช่คุณเอาฟังก์ชันกฎหมายมาปิดปากคน ถ้าเราไม่ได้ถกเถียงกันอย่างตรงไปตรงมา อย่างจริงใจ สุดท้ายเราจะเรียนรู้อะไร ให้ส่องกระจกแต่ไม่ให้พูดว่าเห็นอะไร แล้วจะรู้ไหมว่ามึงหน้าตาเป็นอย่างไร
ตอนที่ไปเรียนที่อเมริกา เราจะเห็นว่าที่นั่นความเชื่อมันไปแบบสุดโต่งมากๆ แต่ว่าเขาก็ยังอยู่ด้วยกันได้ คิดว่าอะไรคือปัจจัยให้ต่างประเทศเขาอยู่ร่วมกันได้
เรื่องนี้มันทั้งยวงเลยนะ รัฐธรรมนูญ การปกครอง เอาเรื่องไรดี ก็ทั้งรากฐานสังคมอะ ในขณะที่เราอยู่ในสังคมที่ไม่กล้าให้คนตั้งคำถาม คืออย่างอเมริกาบางทีก็เสรีเกินจนบางคนกลัวนะ โดยเฉพาะคนไทยด้วยนะ แบบโห ดูดิ พวกเมกัน มันบ้า มันเชื่อนู่นนี่ แต่ว่ารากฐานเขาแข็งแรงไง คือรัฐธรรมนูญ 200 ปีที่ไม่เปลี่ยนเลย
ข้อหนึ่งคือเสรีภาพในการแสดงออก เพราะเราคิดว่าเขาเชื่อว่าสังคมจะฟังก์ชัน เรียนรู้ และไปข้างหน้าได้ ผ่านการแสดงออกและแลกเปลี่ยนกัน แต่ถ้าคุณมาปิดกั้น เราจะไปไหนกันได้อะ ถ้าเราไม่ตรวจสอบกันเอง ไม่ส่งสารให้กันว่าสังคมตอนนี้มันอย่างไร บูดเบี้ยวอย่างไร เราว่าทุกคนควรมีสิทธิที่จะพูดอย่างนี้ได้ เพื่อนำไปสู่การถกเถียง นำไปสู่สังคมที่มีปัญญา ถ้าคุณปิดข้อนี้ตั้งแต่ข้อแรก แล้วเราจะไปอย่างไรต่อ
แต่ก็นั่นแหละ อย่างที่บอก เราอาจตอบไม่ได้ดีเท่านักวิชาการ แต่เราก็คิดว่ามันเป็นทั้งดวงดาวอะครับ พูดง่ายๆ อย่าง 112 ก็ได้อะ แค่นี้ก็พอแล้วมั้ง ไม่ต้องอธิบายเพิ่มแล้วมั้ง
ทำไมเราต้องตั้งคำถามกับความเชื่อหรือสิ่งที่เรารู้จักมาก่อน
การตั้งคำถามทำให้เกิดการถกเถียง และหาคำตอบ แล้วเราว่ามันก็คือการกระทำที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้และไปข้างหน้า ไม่ว่าจะในรายละเอียดของมนุษย์คนหนึ่ง สังคมหนึ่ง หรือประเทศหนึ่ง มันก็คือการท้าทายของที่มีอยู่เดิม ความคิดที่มีอยู่เดิม โลกมันหมุนเพราะสิ่งนี้ สำหรับเรา อันนี้คือเปรียบเปรยนะ เดี๋ยวจะมีบอกว่าโลกแม่งหมุนด้วยแรงฟิสิกส์ว่ะ (หัวเราะ)
เราว่าถ้ากฎหรือเงื่อนไขในศาสนาหรืออะไรก็ตามไม่ถูกท้าทาย หรือยังเป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ และปล่อยไปแบบนั้น สุดท้ายก็จบไปด้วยตัวมันเอง เพราะมันไม่ปรับเปลี่ยนตามบริบทภาพใหญ่ของสังคม มันอาจเปลี่ยนช้าจนบางคนอาจมองว่าไม่เปลี่ยน แต่มันก็เปลี่ยนแหละ มันเปลี่ยนแน่ๆ ถ้าคิดแบบนั้นนะ
การทำหนังเรื่องนี้ของเรา หนังที่เวิร์กสำหรับเราก็คือหนังที่ทำให้คนดูเกิดคำถามใหม่ๆ ไม่ได้ให้คำตอบใดคำตอบหนึ่งขนาดนั้น แต่นำไปสู่คำถามใหม่ๆ นำไปสู่การเรียนรู้ใหม่ๆ ให้คนดูไปหาคำตอบต่อไป
เราสามารถศรัทธาไปพร้อมๆ กับตั้งคำถามได้ไหม
ได้นะครับ นี่พูดในมิติไหน ทั้งศาสนาและการเมืองใช่ไหม เราว่ามันควรเป็นอย่างนั้นด้วยซ้ำ ง่ายๆ เลย เราซื้อสินค้าหนึ่งแล้วเราชอบมันมาก เราอยากให้มันดีขึ้น เราก็บอกผู้พัฒนาคนนั้น บอกคนที่ทำผลิตภัณฑ์นั้นๆ ว่าจะดีกว่านั้นได้ไหมนะ ถ้าใช้กระดาษแทนพลาสติก หรือพิมพ์ตัวให้ใหญ่ขึ้นไหม ลองเปลี่ยนสีไหม หรือลองปรับรสชาติไหม แล้วสินค้านั้นก็จะดีขึ้น อย่างน้อยก็ในความชอบของเราอะ พูดในมุมแคบเลย ใช่ไหม แต่เราก็ยังใช้ยังชอบสิ่งนั้นอยู่ ก็ธรรมดา เราชอบสิ่งไหนเราควรตั้งคำถามกับสิ่งนั้นได้อยู่แล้ว มันไม่ใช่แบบ เราไม่ตั้งคำถามเลย มันเหมือนคนตาบอดปะนะ มันเหมือนเราไปรักใครสักคน แล้วรักโดยไม่ตั้งคำถามเลย ก็พากันลงเหวแน่นอนแบบนี้
รักกันก็ต้องติเตียนกันได้
นี่มันโคตรธรรมดาของชีวิตเลย
แล้วเราว่า ถ้าเป็น healthy relationship มันจะเปิดกว้างให้เกิดการถกเถียงได้ และสิ่งที่ดีพอจะยืนหยัดในการถูกท้าทายอะ มองในมุมวิทยาศาสตร์ก็ได้ อย่างไปดูไอน์สไตน์ หรือว่าทฤษฎีไหนก็ตาม มันดีพอที่จะอยู่ข้ามเวลา แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดกว้างให้ถูกล้มล้างตลอดเวลา วิทยาศาสตร์ถึงก้าวหน้าได้ไง เรารู้สึกว่า เออ สิ่งที่มันเวิร์กควรจะเป็นแบบนั้น ควรจะถูกตั้งคำถาม ถูก challenge เพื่อต่อยอดให้มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ ให้มันสอดคล้องกับบริบทของคน
แต่เราก็เชื่อนะว่าเดี๋ยวมันก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อียิปต์มันยังล่มได้เลย อาณาจักรเป็นพันปี
ตอนที่ไปคุยกับคนที่เข้าไปอยู่ในธรรมกายที่เขามีความศรัทธามากๆ เนี่ย มองเห็นจุดร่วมของผู้ที่ศรัทธาไหม ว่าคนในนั้นเขาศรัทธาเพราะอะไร
โอ้โห มันมีหลายนะ หมายถึงว่าภาพจำเดิมที่เรามีกับวัดขนาดใหญ่ขนาดนี้ คนต้องซ้ายหัน ขวาหัน อินหลวงพ่อร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าเท่าที่เราไปมันก็มีหลายแบบ บางคนก็อินหลวงพ่อมาก บางคนก็ชอบเรื่องการปฏิบัติธรรม บางคนก็ไม่อินหลวงพ่อเลย ไม่รู้จักด้วยซ้ำตอนมา แต่เพราะได้ทดลอง เจอคน เจอเพื่อน เจอคนที่ทำให้เขาได้รู้สึกว่าปรับปรุงตัวเอง เขาก็เลยอยากมาทำงานที่วัด ก็เลยรู้สึกว่าเห็นความหลากหลายนะ ถ้ามองเป็นแพตเทิร์นเราก็มองไม่ออกนะ แต่ว่าเราเจอคนหลายแบบ หลายที่มา และก็มีความศรัทธาในดีกรีที่ต่างกัน และเอาความศรัทธานั้นไปวางคนละจุดกัน ไม่ได้อยู่ที่จุดเดียวกัน
เราอาจสะท้อนได้แค่ว่า คนที่ไปเขารู้สึกกับตัวเองอย่างไร อาจจะแบบพอตอบได้ เพราะเราก็ไม่กล้าไปตัดสินเขา คือบางคนก็ไปเพราะได้พัฒนาตัวเอง บางคนก็ไม่รู้ ไปแล้วอาจรู้สึกมีเพื่อน หรือว่าบางคนก็อาจไปเพราะคาดหวังว่าชาติหน้าจะดีกว่านี้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นความเชื่อในสังคมไทยอยู่แล้ว ไม่ได้ต่างกันเลย แค่เขาเลือกที่นี่เพราะมีระเบียบ ปฏิบัติตัวมี community เหตุผลมันร้อยแปดอะ
แต่สุดท้ายมันก็คล้ายๆ กัน ว่าวัดธรรมกายก็ไม่ได้ต่างจากวัดอื่นหรอก บางทีมันอาจเป็นวัดที่หลายๆ วัดอยากทำตามให้ได้ก็ได้ แต่อันนั้นมันอาจต้องมาตั้งคำถามอีกว่า แล้วฟังก์ชันของวัดหรือที่ทางของศาสนากับรัฐมันคืออะไร ก็เป็นอย่างที่เกิดขึ้นในหนังครับ
พี่ไก่ศรัทธาในอะไรบ้างไหม
(หัวเราะ) คำนี้มันอันตรายมากเลย ตอบแบบพี่เจ้ยไหม long live cinema นะ ก็ไม่นะ เราก็ไม่ศรัทธาขนาดพี่เจ้ยนะ
เราคิดว่าเราศรัทธาในศักยภาพของคน ศักยภาพในการตั้งคำถามของคน ในการท้าทายสิ่งเก่า ศรัทธาในความคิดของคน ไม่ว่าจะรุ่นไหนก็ตาม ไม่ว่ารุ่นใหม่รุ่นเก่า ที่กล้าท้าทายกับสิ่งที่มันไม่โอเค กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือว่าสังคมที่มันไม่เท่ากัน คนรุ่นไหนก็ได้ ไม่ต้องเป็นคนรุ่นใหม่อย่างเดียวหรอก ยิ่งเป็นคนรุ่นเก่ายิ่งนับถือเลย เพราะเขายิ่งอยู่ในเนื้อดินที่มันแห้งผากกว่ายุคนี้ ยุคนี้มันยังมี movement มีอะไรต่างๆ ที่มันเอื้อให้เกิดการเติบโตของความคิดแบบนี้มาก ซึ่งมันเป็นเรื่องดี แต่ยุคก่อนนั้นต้องอาศัยการต้านแรงโน้มถ่วงกว่าตอนนี้เยอะ