“ครูวี” เป็นคำที่หลายคนเรียก ‘วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง’
เปล่าเลย เขาไม่ได้เรียนจบด้านการสอน ไม่ได้ประจำโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่ไหน แต่เขาเป็น ‘นักเขียนสารคดี’
หลังจากหนังสือเล่มแรกเข้ามาเปลี่ยนทิศทางชีวิต เขาเริ่มต้นการเขียนตอน ม.ปลาย แล้วจริงจังมากขึ้นตอนมหาวิทยาลัย ควบคู่ไปกับการเรียน เขาพยายามแบ่งเวลามาเขียนเรื่องสั้น บทกวี และสารคดี เมื่อเห็นว่า ‘สารคดี’ เป็นความถนัดของตัวเอง เขามุ่งหน้าไปบนเส้นทางนั้น จนกระทั่งมีสารคดีชิ้นแรกตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2539
แม้ว่าเรียนจบคณะรัฐศาสตร์ แต่เขาชัดเจนว่าเป้าหมายคือ ‘นักเขียน’ เลยทดลองใช้เวลาหนึ่งปีไปกับการลงพื้นที่เก็บข้อมูลมาเขียนสารคดี แล้วส่งต้นฉบับไปให้นิตยสารต่างๆ พิจารณา เมื่อพบว่ารายได้ไม่เพียงพอต่อความเป็นอยู่ เขาตัดสินใจเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลและสิ่งพิมพ์ ที่คณะกรรมการยุติธรรมและสันติแห่งประเทศไทย ควบคู่ไปกับการทำงาน เขาพยายามแบ่งเวลามาเขียนสารคดีด้วย
การเขียนอย่างต่อเนื่องทำให้งานของเขาได้ตีพิมพ์อย่างสม่ำเสมอ หนึ่งในนั้นคือสารคดีขนาดยาวที่เผยแพร่ในนิตยสาร สารคดี ซึ่งได้กลายเป็นใบเบิกทางสู่บทบาทกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดีเมื่อปี พ.ศ.2546 และปัจจุบันเขาขยับมาเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร ต้องรับผิดชอบมากกว่าต้นฉบับของตัวเอง ควบคู่ไปกับบทบาทงานบริหาร เขายังคงเขียนสารคดีออกมาอย่างต่อเนื่อง
สารคดีขนาดสั้น-ยาวหลายร้อยชิ้น และหนังสืออีกหลายสิบเล่ม เป็นผลงานตลอด 23 ปีของ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง คือช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้น ลงมือทำ ลองผิดลองถูก เรียนรู้ และพัฒนางาน จนทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศลูกโลกสีเขียวปี พ.ศ.2551 รางวัลชนะเลิศเซเว่นบุ๊ค อวอร์ด ปี พ.ศ.2549 และปี พ.ศ.2554 และรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขงปี พ.ศ.2560 ฯลฯ ต้องบอกว่าความสม่ำเสมอทำให้เขาเป็นนักเขียนสารคดีคุณภาพคนหนึ่งของประเทศไทย
อย่างที่บอกไว้ในบรรทัดแรก นอกจากบทบาทนักเขียนสารคดี เขายังเป็น “ครูวี” ในค่ายนักเขียนต่างๆ อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่ได้มาจากการร่ำเรียนในสถานศึกษา แต่สั่งสมมาจากประสบการณ์ตรง จนกระทั่งกลั่นออกมาเป็นหนังสือ วิชาสารคดี ที่เพิ่งวางขายสดๆ ร้อนๆ เมื่องานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ผ่านมา
ใช่แล้ว บทสัมภาษณ์นี้อยากช่วยประชาสัมพันธ์หนังสือเล่มใหม่ แต่เพื่อให้ดูไม่ขายจนเกินไป เราเลยชวนเขาเล่าถึงเส้นทางชีวิตของตัวเอง เพื่อศึกษาบทเรียนระหว่างบรรทัดของ ‘วิชาสารคดี’
ชีวิตในวัยเด็กของคุณเป็นยังไง
ผมเป็นคนกระบี่ เกิดอำเภอคลองท่อม เติบโตมาในบ้านสวน (สวนยางพารา) เรียนประถมที่หมู่บ้าน แล้วย้ายมาเรียนมัธยมที่ตัวอำเภอ โรงเรียนห่างจากบ้าน 20 กิโลเมตร เดินทางลำบาก เพื่อนสมัยประถมยี่สิบกว่าคน เหลือต่อ ม.1 แค่สี่คน แล้วค่อยๆ ทยอยเลิกเรียนไปเป็นชาวสวน พวกเขาทำงานครึ่งวัน บางคนมีมอเตอร์ไซค์แล้ว พอขึ้น ม.3 ผมเลยตัดสินใจว่าจะเลิกเรียน พ่อกับอาคะยั้นคะยอให้เรียน ส่วนคนอื่นตามใจ ในสายตาของชาวบ้านแถวนั้น ร้อยละแปดสิบไม่เห็นความสำคัญของการเรียนหรอก สุดท้ายพ่อพูดว่า “ชีวิตแบบเกษตรกรก็ประสบความสำเร็จได้ อยากเลิกเรียนก็ได้”
หมู่บ้านของผมอยู่ติดภูเขา ตรงนั้นมีที่ดินรกร้างว่างเปล่า (ปัจจุบันคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม) ผมหักร้างถางพงปลูกกาแฟ และทำสวนยางที่บ้านด้วย เวลาผ่านไปสักระยะ น้าที่เป็นครูประชาบาลให้ผมช่วยไปซื้ออุปกรณ์การศึกษาที่ตลาดทับเที่ยง จังหวัดตรัง พอไปถึงร้านนั้น ผมเห็นหนังสือของน้าหงา (สุรชัย จันทิมาธร) หนังสือของวัฒน์ วรรลยางกูร และหนังสือ มหาวิทยาลัยชีวิต ของอาจารย์เสกสรรค์ (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) ผมซื้อเล่มนั้นมาอ่าน มันโยงต่อไปเล่มอื่น ผมเลยหามาอ่านอีก หนังสือของจําลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, พิบูลศักดิ์ ละครพล ฯลฯ
ตอนท้ายของเล่มมหาวิทยาลัยชีวิต พ่อพูดกับอาจารย์เสกสรรค์ว่า “ถ้ากูได้เรียนหนังสือ ชีวิตคงไม่ลำบากแบบนี้” แต่อาจารย์เขียนต่อว่า “วันหนึ่งผมอาจบ่นให้ลูกฟังว่า ถ้าไม่ได้เรียนหนังสือ ชีวิตคงไม่ยุ่งยากแบบนี้” (หัวเราะ) แม้ว่าผู้เขียนจะบอกว่าชีวิตยุ่งยาก แต่เนื้อหาทำให้เห็นความสำคัญของการศึกษา มันบันดาลใจให้ผมกลับมาเรียน และเริ่มมองว่าอาชีพนักเขียนก็น่าเป็น ตอนนั้นกลับไปขอวุฒิจากโรงเรียนเดิมมาต่อ กศน. จนจบ ม.3 แล้วกลับมาเรียนที่เดิมจนจบ ม.6
เรียนรอบสองแตกต่างไหม
เราอ่านหนังสือเยอะ ช่วง ม.ปลาย เลยมีคำมาเถียงครู ผมเริ่มหัดเขียนหนังสือแล้วด้วย ไม่รู้อะไรมากหรอก รู้แค่ว่าเป็นวรรคๆ คือร้อยกรอง คือบทกวี ถ้าเป็นพรืดๆ คือร้อยแก้ว ผมเขียนบทกวีเกี่ยวกับธรรมชาติและชีวิต แล้วเขียนร้อยแก้วเรื่องพื้นบ้านของภาคใต้ รูปแบบก็เลียนแบบงานของกนกพงศ์ (กนกพงศ์ สงสมพันธุ์) ไม่ได้แต่งเพิ่มเลย แล้วเรียกว่าเรื่องสั้น เพราะมันสั้น (หัวเราะ) อ่านเรื่องสั้นของกนกพงศ์ก็เข้าใจว่าจริงหมด (หัวเราะ) เขียนเก็บใส่สมุดไว้ แล้วเอาให้เพื่อนในห้องอ่าน
พอเรียนจบ ม.ปลาย คุณตัดสินใจยังไงต่อ
ตอนแรกผมสอบได้คณะรัฐศาสตร์ ที่ ม.อ.ปัตตานี (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) แต่ตอนไปมอบตัวรู้สึกว่าบรรยากาศไม่เหมือนในหนังสือของอาจารย์เสกสรรค์ที่บรรยายภาพธรรมศาสตร์ หรือหนังสือของวัฒน์ที่บรรยายรามคำแหง เลยเปลี่ยนมาเรียนราม เลือกคณะรัฐศาสตร์เพราะตามเพื่อน ประกอบกับผมอ่านหนังสือมาเยอะ รู้เรื่องต่อต้านเขื่อนปากมูล เรื่อง 14 ตุลาฯ ในงานวรรณกรรมมีความเป็นการเมืองภาคประชาชน เลยสนใจทางนี้ แต่พอมาเรียนมันเป็นการเมืองอีกแบบ สอนให้เราไปปกครองคน เลยเรียนไปอย่างนั้นแหละ แล้วใช้เวลาที่เหลือนอกห้องเรียน
ทำอะไรบ้าง
บรรยากาศในมหาวิทยาลัยเหมือนในหนังสือเลย คนหนุ่มสาวแสวงหา เราไปเข้ากลุ่มที่ร่วมกับสมัชชาคนจน เป็นชมรมค่ายอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยรามคำแหง และกลุ่มที่เขียนหนังสือ คือชมรมวรรณศิลป์ เพื่อนกลุ่มหนึ่งนำทางความคิด เพื่อนอีกกลุ่มนำทางวิธีการเล่าเรื่อง
ช่วงนั้นฝึกเขียนมากน้อยแค่ไหน
ชมรมวรรณศิลป์มีแต่นักเขียน ค่ายอาสาก็มีกลุ่มที่สนใจการเขียนด้วย ผมลงไปม็อบชาวบ้าน ไปป่าดอย ไปเรียนรู้ปัญหาของชาวบ้าน แล้วสิ่งเหล่านั้นเอามาเล่าเป็นงานร้อยแก้ว พอเพื่อนรุ่นพี่ที่ชมรมวรรณศิลป์มาอ่าน เขาบอกว่า “งานแบบนี้เรียกว่าสารคดี” เป็นครั้งแรกที่รู้จักงานสารคดี (หัวเราะ) เข้าใจว่าเป็นเรื่องสั้นมาตลอด ผมถนัดเล่าเรื่องจริงอย่างมีวรรณศิลป์ หลังจากนั้นเลยปักธงมาทางนี้เลย
ตอนเรียนมหาวิทยาลัย คุณแบ่งเวลาในการเขียนยังไง
ผมไม่ค่อยเข้าห้องเรียน เลยเขียนที่ห้องบ้าง เขียนในมหาวิทยาลัยบ้าง แต่กว่าจะได้ก็ยาวนานนะ งานเขียนสามหน้า บางวันได้ไม่ถึงหน้า บางวันได้ครึ่งหน้า บางวันได้ย่อหน้าเดียว บางวันได้ประโยคเดียวเลย
ถ้าเป็นคำสมัยนี้ ถือว่ามีแพสชั่น (passion) กับการเขียนหนังสือมาก
ใช่เลย เป็นคำที่ผมรู้จักปีนี้ หลานมาพูดให้ฟัง เขาบอกว่าหมายถึงเป้าหมายในชีวิตที่จริงจัง
งานเขียนให้อะไรกับคุณ ถึงจริงจังขนาดนั้น
มันอาจเป็นคำว่า ‘ตัวตน’ เราหน้าตาไม่หล่อ เรียนก็ช้า เป็นเด็กบ้านนอก แต่ถ้าทำสิ่งนี้ได้ เราจะมีสปอตไลต์ส่องมา แต่ไม่ใช่ความจงใจหรอก เราคลั่งไคล้การเขียนด้วย มันเป็นเรื่องมีคุณค่านะ เวลาเห็นอะไรที่แปลกใหม่ เช่น หมู่บ้านบนดอยที่ชาวบ้านไม่รู้จักก้อนน้ำแข็ง ชาวบ้านที่อยู่ดีๆ แล้วมี พ.ร.บ.เขตอนุรักษ์ไปทับ เราได้เอาสิ่งนั้นมาเล่าต่อ ทำให้คนอ่านได้รับความรู้และเห็นอกเห็นใจกัน
ตอนนั้นผมเขียนสารคดีประเด็นเขตอนุรักษ์ทับที่ของชาวบ้านในอำเภออมก๋อย ส่งไปเนชั่นสุดสัปดาห์ แล้วได้ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2539 ตอนนั้นเรียนรามปี 2 เป็นงานสารคดีชิ้นแรกที่ได้ตีพิมพ์ น่าจะได้เงินมา 1,000-1,500 บาท จำตัวเลขแน่ชัดไม่ได้แล้ว ไม่ได้ตื่นเต้นมากแล้ว เพราะมันพีคตั้งแต่บทกวีได้รับการตีพิมพ์ก่อนหน้านั้น
หลังจากนั้นคือเขียนแล้วส่งไปเรื่อยๆ เลยเหรอ
ใช่ ผมจับทางได้ จุดขายของนักเขียนใหม่ คือเรื่องต้องแปลก เรื่องบนดอยไม่ค่อยมีใครเขียน ตอนนั้นมีแค่สุวิชานนท์ (สุวิชานนท์ รัตนภิมล) ที่เขียนเรื่องบนดอย เวลารุ่นพี่ลงพื้นที่ในจุดลึกๆ ผมไปด้วย แล้วเอามาเขียนสารคดีส่งไปที่ต่างๆ ก็ได้ตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง พอเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง ผมเอามาซื้อพิมพ์ดีด
ถึงขนาดลงทุนซื้อพิมพ์ดีด แสดงว่าตั้งใจไปต่อทางนี้ยาวๆ เลย
ใช่ แต่ตอนนั้นมีข้อเรียกร้องจากครอบครัวให้ทำงานตามสาย ผมเลยไปสอบภาค ก ผ่านแล้ว แต่ภาค ข ที่เป็นสอบเฉพาะทาง ผมสอบไม่ผ่าน เลยเหมือนบอกทางบ้านว่า ทำแล้วนะ แต่ไม่สำเร็จ ระหว่างนั้นผมยังเขียนสารคดีตลอด แต่เพื่อประหยัดและได้มีวัตถุดิบมาเขียนงาน เลยย้ายไปอยู่กับเพื่อนที่ต่างจังหวัด ผมส่งงานไปที่ต่างๆ ตั้งใจจะอยู่แบบนั้น แต่ชีวิตจริงทำไม่ได้ บางชิ้นไม่ได้ตีพิมพ์ หรือได้ตีพิมพ์ทุกสัปดาห์ แต่ไม่ได้เงินทันที ตอนนั้นองค์กรชื่อคณะกรรมการยุติธรรมและสันติแห่งประเทศไทยรับสมัครเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลและสิ่งพิมพ์ ผมเลยเข้าไปทำ คิดว่าการเก็บข้อมูลมาผลิตสื่อ อย่างน้อยเราก็ได้เขียน
ระหว่างทำงานประจำ คุณหาเวลาเขียนยังไง
เหมือนตอนเรียนราม ผมเขียนวันละหน่อย กินกาแฟตอนเช้าก็เขียนไป ระหว่างรอรถเมล์ก็เขียน ก่อนนอนก็เขียน บทบาทขององค์กรคือรณรงค์ให้เกิดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อีกงานคือรณรงค์ให้รัฐบาลเก็บกู้กับระเบิดที่ตกค้างตามแนวชายแดน ผมต้องลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลมาเขียนเผยแพร่ในหนังสือขององค์กร พร้อมกันนั้น ผมเอามาเขียนเป็นสารคดีเต็มรูปแบบส่งไปที่นิตยสารสารคดีด้วย ตอนนั้นส่งไปสองชิ้น คือ เรื่องกู้ระเบิด อีกชิ้นผมไปเยี่ยมเพื่อนเก่าที่ไร่เลย์ เขาทำงานปีนผา เพื่อนก็ชวนปีน เลยเอามาเขียนเป็นสารคดี ทั้งสองชิ้นยาวสิบกว่าหน้า
ผมทำงานที่นั่นไปสักพัก ปรากฏว่านิตยสารสารคดีขาดคนทำงาน หัวหน้ากองบรรณาธิการ (ประวิทย์ สุวณิชย์) เลยโทรมาชวนไปทำงานด้วย ตอนนั้นบรรณาธิการคือพี่จอบ (วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์) ผมเลยได้เป็นกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดีเมื่อปี พ.ศ.2546 เวลานั้นสื่อสิ่งพิมพ์กำลังบูมมาก คนยุคนี้คงนึกไม่ออกหรอก (หัวเราะ) มันเท่มาก แล้วนิตยสารสารคดีคือที่สุดในงานสารคดีแล้ว เราเลยตอบรับด้วยความยินดี
ช่วงที่เขียนงานส่งไปที่ต่างๆ คาดหวังอะไรไหม เช่น วันข้างหน้าอยากมีอาชีพเป็นนักเขียนสารคดี
ผมอยากเป็นนักเขียนสารคดีเต็มตัว เราถนัดเล่าเรื่องจริงอย่างมีวรรณศิลป์ อ่านแล้วได้ความรู้และรื่นรมย์ ตลอดสี่ปีที่ทำงานเอ็นจีโอ บางเดือนหนึ่งชิ้น บางเดือนมากกว่าหนึ่งชิ้น ถ้านับตั้งแต่ปี พ.ศ.2539-2546 (นับจากชิ้นแรกได้รับการตีพิมพ์ จนถึงก่อนทำงานที่นิตยสารสารคดี) ผมมีงานเป็นร้อยชิ้นแล้ว ทั้งร้อยแก้วและร้องกรอง
ตอนได้ทำงานที่นิตยสารสารคดี ความรู้สึกเป็นยังไง
ผมเคยบันทึกไว้ในคำนำหนังสือเล่มแรกที่พิมพ์กับสำนักพิมพ์สารคดี (แสงใต้ในมรสุม) ผมอยู่หน้าราม นั่งเรือมาที่แยกผ่านฟ้า แล้วเดินเข้าซอยปรินายก ตื่นเต้นมาก เหมือนจะลอยๆ (หัวเราะ) เรากำลังจะได้ทำงานที่สำคัญมาก
คุณทำงานมาเป็นร้อยชิ้น แต่ทั้งหมดทำงานคนเดียว ตอนได้ทำงานในกองบรรณาธิการ มันแตกต่างกันยังไง
เมื่อก่อนผมทำงานคนเดียว ถ่ายรูปเองด้วย เวลาส่งงานไปนิตยสารต่างๆ ถ้าได้พิมพ์ก็พิมพ์ ถ้าไม่ได้พิมพ์ก็ลงถัง ผมเคยได้คอมเมนต์จากคนเดียวคือคุณปกรณ์ (ปกรณ์ พงศ์วราภา) จากนิตยสาร GM บอกว่า “คุณบรรยายภาพให้มากกว่านี้” เขาโทรมาคุยเลย ดังนั้นจุดต่างที่สำคัญของนิตยสารสารคดี ผมขอเรียกว่า ‘การเรียนรู้’ เราได้เห็นทั้งกระบวนการ สิ่งสำคัญคือการวางโครงเรื่อง ผมไม่เคยทำเลย ที่ผ่านมาไหลออกมาจากข้อมูลที่ล้น พี่จอบไม่ได้สอนแบบชั้นเรียนนะ เขาแค่ชี้ว่า อันนี้ไม่จำเป็น น่าจะเพิ่มอันนี้ สอนสั้นๆ กว้างๆ แต่เราได้การเรียนรู้ที่สำคัญมาก แล้วมันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเลย
อีกเรื่องที่ได้คือ การทำงานเป็นทีม เราเคยคิดเอง ถามเอง แต่ความสงสัยของช่างภาพต่อแหล่งข้อมูล มันจุดประเด็นให้อย่างสำคัญเลย แล้วการทำงานสองคน บางช่วงคนนึงช่วยรับหน้า เราได้มีเวลาคิด เป็นผู้เฝ้ามองได้บ้าง ถ้าเจอกับแหล่งข้อมูลหนึ่งต่อหนึ่งมันทำแบบนั้นไม่ได้ ส่วนเรื่องการขัดเกลาต้นฉบับจากพี่ๆ ในกองบรรณาธิการ พอเห็นการขัดเกลา เราก็เอาแนวทางนั้นมาขัดเกลางานตัวเอง
คนทำงานเขียนมาจำนวนหนึ่ง หลายคนมีอีโก้แบบนักเขียน ไม่ค่อยอยากรับฟังคำวิจารณ์ คุณมีปัญหานี้บ้างไหม
ตั้งแต่ต้นแล้ว ผมศิโรราบกับกองบรรณาธิการของนิตยสารสารคดี ยอมรับการขัดเกลา เลยไม่มีปัญหานี้
อยากให้ลองยกตัวอย่างงานเขียนสารคดีสักชิ้น แล้วเล่าขั้นตอนการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ
ในสมัยนั้น เวลาผู้หญิงไทยมีสามีฝรั่งคือเรื่องแปลก เราไปทำสารคดีเรื่องอื่นแถวภาคอีสาน ก็เห็นบ้านจัดสรรไปอยู่กลางทุ่งนา ใหญ่ แปลก สวย พอไปถามคนแถวนั้น ก็บอกว่าบ้านฝรั่ง ประเด็นน่าสนใจ แต่คำถามคือจะเก็บข้อมูลจังหวัดไหนในภาคอีสาน ตอนนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ก็ต้องค้นคว้าจากงานวิจัยและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ผมไปเจอหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของอีสานฉบับหนึ่งบอกว่า เมืองหลวงของเมียฝรั่งอยู่อุดรธานี แต่ทั้งจังหวัดมันกว้างมาก ระหว่างเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ ก็เจองานวิจัยของอาจารย์รัตนา บุญมัธยะ เขาวิจัยเรื่องนี้ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ร้อยเอ็ด เพราะมีข้อมูลว่าหญิงวัยเจริญพันธุ์ 1 ใน 3 ของหมู่บ้านได้สามีฝรั่ง เลยเปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นหมู่บ้านนั้น
เวลาไปทำสารคดีเรื่องอื่น ผมก็แวะไปโฉบที่หมู่บ้าน ปรากฏว่าชาวบ้านไม่ต้อนรับนักข่าวนักเขียน เพราะผู้หญิงคนแรกที่ได้สามีฝรั่ง เขาทำงานบาร์ที่พัทยา นักข่าวเลยไปตีความว่า คนได้สามีฝรั่งต้องขายบริการ ทั้งที่รุ่นหลังๆ ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ผมเลยสุ่มโทรไปที่อำเภอทุ่งเขาหลวง แนะนำตัวว่า เป็นนักเขียน อยากทำสารคดีเรื่องนี้ มีใครพอพาเข้าไปได้บ้างไหม ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของอำเภอบอกว่า ปลัดพัฒนาชุมชนคนหนึ่งทำงานอยู่หมู่บ้านนี้ เลยได้เบอร์โทรมา ผมโทรไป ปลัดคนนั้นก็อาสาพาไป แต่ต้องเก็บกล้อง เก็บสมุด แล้วทำตัวเป็นเพื่อนของเขา โดยแนะนำให้เข้าไปช่วงงานบุญ วันปีใหม่ วันสงกรานต์ เพราะปกติเมียฝรั่งจะอยู่เมืองนอกกัน
ผมลงพื้นที่ตอนงานบุญบั้งไฟ เป็นการเก็บข้อมูลแบบสัมผัสเหตุการณ์จริง ช่างภาพทำเหมือนนักท่องเที่ยว ต้องใช้กล้องตัวเล็ก เข้าไปกินดื่มในงานบุญ วันแรก วันที่สอง วันที่สาม ก็ได้ข้อมูลลึกขึ้น สามีคนไทยเล่าว่า ตัวเองระหองระแหงกับภรรยา แล้วบอกว่า “ปล่อยให้เขาไปหาสามีฝรั่งดีกว่า” แต่ตอนนั้นยังไม่สำเร็จ เลยจะให้ลูกสาวไปหาบ้าง อายุยังไม่มากเลย เรากินเหล้ากันจนสนิทแล้ว ผมเลยถามว่า “เหมือนพี่จะขายลูกเลยนะ” เขาบอกว่า “ถ้าตอบแบบลูกผู้ชาย บ้านอื่นอยู่กันรวยแบบนี้ เราจนไม่ได้หรอก ยังไงก็ต้องยอม” ครั้งนั้นสัมภาษณ์เมียฝรั่งได้ไม่มาก พวกเขาเล่าว่าชีวิตส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ ไม่ได้ขอเงินสามีใช้หรอก อยู่ที่นั่นก็ทำงานด้วย บ้านก็สร้างร่วมกันกับสามี พอหมดงานบุญก็กลับมากรุงเทพฯ
หลังจากได้ข้อมูลสัมผัสและสัมภาษณ์ คุณกลับมาทำงานต่อยังไง
ผมกลับมาสัมภาษณ์อาจารย์ที่ทำงานวิจัย และผู้หญิงที่มีสามีฝรั่งอีกคน เอาที่เป็นปัญญาชนหน่อย มองระบบ มองเครือข่าย และมองภาพรวมได้
ถ้าให้ประเมินสารคดีชิ้นนั้น คุณว่าทำออกมาได้อย่างที่ตั้งใจไหม
ผมว่าได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์คนในพื้นที่น้อยไป เลยต้องหนักการตีจากวงนอก คือสัมภาษณ์นักวิจัย และเติมข้อมูลจากงานวิจัยเข้าไป
นักเขียนสารคดีจำเป็นต้องมีลายเซ็นของตัวเองไหม ถ้าเขียนงานดี แต่ไม่มีเอกลักษณ์ได้หรือเปล่า
เรื่องนี้ตอบได้หลากหลาย ถ้าความเห็นของผม จำเป็น งานเขียนจะเป็นที่ประทับใจได้ หรือแม้กระทั่งคนอ่านยอมรับว่าเป็นนักเขียน มันได้มาจากสิ่งนี้แหละ ผมเรียกว่า ลายมือของตัวเอง การใช้วรรณศิลป์ การใช้พลังทางภาษา ประโยคที่แปลกใหม่ ไม่ต้องอะไรมากเลย แม้แต่การอธิบายเรื่องยากให้เข้าใจง่าย ก็ถือเป็นลายมือนะ
ช่วงที่เริ่มต้นเขียนงาน สำนวนก็อาจไปคล้ายกับนักเขียนที่ชอบ เราจะหลุดจากร่องรอยนั้นได้ยังไง
(เงียบคิด) ผมว่าเป็นเรื่องของชั่วโมงบิน ทำงานไปสักระยะ เราจะเบื่อความซ้ำนั้น แล้วค่อยๆ หาทางไปเอง
เมื่อก่อนบ้านเรามีงานวรรณกรรมเพื่อชีวิต หลายชิ้นเป็นแรงบันดาลใจในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าในปัจจุบัน คุณมองบทบาทงานเขียนสารคดีในเรื่องแบบนี้ยังไง
ผมว่าจังหวะเวลาแตกต่างกันนะ ในยุคหนึ่งงานเขียนของ คืน ญางเดิม เล่มที่ชื่อว่า สัญจรสู่สาละวิน-ถนนธงชัย ก็มีบทบาทในการหยุดยั้งเขื่อนแม่เงา เนื้อหาเปิดเผยถึงความอุดมสมบูรณ์ ปลูกจิตสำนึกคน หรืองานเขียนในนิตยสารสารคดีหลายชิ้นก็มีบทบาททำนองนั้น ซึ่งมันต้องอาศัยสถานการณ์ทางสังคมด้วย ถ้าไม่มี งานเขียนหนักแน่นแค่ไหนก็อาจไม่เกิด
แต่ผมเชื่อในการสั่นสะเทือนระดับปัจเจกนะ มันเกิดแน่ ซึ่งบางครั้งผู้เขียนไม่รู้ตัว เพราะไม่มีการรายงานกลับมา กรณีงานเขียนของผมเอง อย่างน้อยมีหนึ่งครั้ง ช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมปี พ.ศ.2554 มีคนโทรเข้ามาเบอร์ส่วนตัว ไม่รู้ไปเอามาจากไหน แล้วคร่ำครวญถึงความสูญเสียจากน้ำท่วม บอกว่าตัวเองเจ็บปวดมาก แต่อยู่ได้เพราะอ่านงานของผมเรื่องจิตร ภูมิศักดิ์ มันไม่ได้เกี่ยวกับชีวิตโดยตรง แต่อ่านแล้วเห็นพลังต่อสู้เลยอยู่ต่อได้
คุณเขียนงานมาไม่รู้กี่ร้อยชิ้น ได้ฟีดแบ็กแบบนั้น ยังดีใจอยู่ไหม
ต้องใช้คำว่าอิ่มใจ มันหล่อเลี้ยงเรา ในยุคออนไลน์แบบนี้ สื่อกระดาษที่เราถนัดยังสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรไหม ฟีดแบ็กเล็กน้อยก็เป็นส่วนหล่อเลี้ยง
ยุคที่โซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งกับชีวิตประจำวันไปแล้ว มันกระทบกับอาชีพนักเขียนสารคดีบ้างไหม
นิตยสารสารคดีไม่ได้บูมตั้งแต่ต้นแล้ว มีกลุ่มคนอ่านอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ยอดขายตามแผงก็ลดลง ในส่วนหนังสือเล่ม แต่เดิมขาย 3,000–5,000 เล่ม นานๆ ทีจะได้ถึงหมื่นเล่ม ปัจจุบันก็ยังขายได้ระดับเดิมนะ เลยไม่ได้กระทบอะไรมาก ระยะยาวเป็นยังไงไม่รู้นะ (เงียบคิด) ลึกๆ แล้ว ผมว่าสื่อกระดาษจะยังอยู่ ไม่รู้ว่าทำไมและเพราะอะไร มันอยู่มาสามพันปีแล้ว
นิตยสารสารคดีมีการปรับดีไซน์ของเล่ม เลือกทำประเด็นที่ร่วมสมัยบ้าง ขณะที่ตัวงานเขียนยังยาวเหมือนเดิม เคยคิดเรื่องการปรับให้สั้นลง หรือสร้างจังหวะแบบงานออนไลน์ มาลงในนิตยสารบ้างไหม
ถ้าเป็นงานเขียนลงนิตยสาร ก็คงเหมือนเดิมนะ แกนยังเป็นการพรรณนาความ แต่ถ้าเอามาลงออนไลน์ เราก็พยายามจะเล่าให้สั้นและเร็ว ซึ่งยังทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไร ต้องหัดใหม่เหมือนกัน
คุณได้รางวัลต่างๆ มาไม่น้อย มันยังมีผลกับความดีใจ เสียใจ บ้างไหม
ถ้าเรื่องนั้นไม่มี แต่คำถามนี้ต้องตอบอย่างระมัดระวัง เพราะเกรงใจคนให้ ต้องขอบคุณที่เขาเห็นคุณค่าในงาน รางวัลไม่ได้มีผลกับการเขียนงาน แต่มันมีผลในการเป็นหน้ากาก เป็นหมวก เพื่อปฏิสัมพันธ์กับองค์กรที่ต้องการตราประทับ พอมีรางวัลทำให้เข้าหาได้ง่าย
คุณอยู่กับการเขียนสารคดีมา 23 ปี คุณค่าของงานนี้คืออะไร
ผมมองในเรื่องการบันทึกประวัติศาสตร์ หมู่บ้านที่ต้องจมลงใต้เขื่อน เราได้บันทึกไว้ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 9 เราได้บันทึกไว้ คนอาจไม่ได้อ่านมาก แต่ถ้าอยู่ในห้องสมุด มันเป็นชิ้นเป็นอัน งานนั้นอาจอยู่นานกว่าเราด้วยซ้ำ
คุณพูดไว้ในหนังสือเล่มนี้ ‘วิชาสารคดี’ ว่าบางเรื่องก็สอนกันได้ แต่หลังจากนั้นต้องฝึกฝนด้วยตัวเอง อยากรู้ว่าถ้าได้อ่านหนังสือเล่มนี้ นักเขียนชื่อ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง จะสอนอะไรคนอ่านบ้าง
เป็นการสอนเขียนสารคดีเบื้องต้น อย่างที่บอกว่าสารคดีมีสองด้าน คือ ข้อมูล และการนำเสนอ ข้อมูลก็มีสามอย่าง การสัมผัส การสัมภาษณ์ และการค้นคว้า วิธีการนำเสนอก็ได้ทั้งเรียงตามเวลาแบบจดหมายเหตุ หรืออาจตัดสลับแบบหนังก็ได้ เนื้อหาในหนังสือจะบอกเป็นข้อๆ เลย แต่ละขั้นตอนต้องทำยังไง เรามีรายละเอียดไว้ทุกจุด ตั้งแต่การตั้งชื่อ เปิดเรื่อง เล่าเรื่อง ปิดเรื่อง
ถ้าคนอ่านเล่มนี้แล้วยังพะวงในการเริ่มต้น คุณอยากบอกอะไร
ลองเขียนออกมาเลย ฟังผมพูด หรืออ่านจากตำรา มันเป็นระดับการเรียนรู้ แต่ถ้าลองเขียนออกมา มันเป็นระดับปฏิบัติจริง อาจเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวก่อน สิ่งที่ชอบ สิ่งที่อยู่ในใจ เขียนออกมาก่อนแล้วค่อยดูตำราก็ได้ เล่าแบบนี้มีชั้นเชิงหรือยัง แล้วค่อยกลับไปปรับปรุงต้นฉบับก็ได้