การ์ตูนเป็นสื่อบันเทิงที่สร้างความสุขให้กับนักอ่านทั่วโลก แต่เบื้องหลังของมันหน้าตาเป็นยังไง?
ไม่ว่าจะการ์ตูนเล่ม การ์ตูนแก๊ก การ์ตูนคอลัมน์เสียดสีการเมือง การ์ตูนเว็บตูน หรือรูปแบบใดๆ เบื้องหลังทุกช่อง ทุกบับเบิ้ลข้อความ ทุกฉากหลังและแรเงา ย่อมมีบุคคลเบื้องหลังที่ทำให้มันเกิดขึ้นเสมอ และหลังเรื่องราวที่พวกเขาเล่าก็ย่อมมีเรื่องจริงของกระบวนการการทำงานที่ไม่มีใครเห็นเท่าไร
อย่างนั้นเรื่องของผู้ผลิตงานเป็นยังไงบ้าง? คำตอบของนักเขียนการ์ตูนแต่คนคงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย ทั้งตามประเภทของงาน เป้าหมาย สไตล์งาน ประสบการณ์ และอีกมากมาย และสำหรับใครที่อยากเข้าใจในแง่มุมเหล่านั้นหรือแม้แต่อยากก้าวขาเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้อาจไม่รู้จะเริ่มทำความรู้จักกับมันยังไง บทความนี้ที่จะพาไปคุยกับ 3 นักเขียนการ์ตูนที่ทำงานในจุดที่ต่างกันในอุตสาหกรรมอาจช่วยเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีได้
ขั้นตอนและตารางงานอยู่ที่ความถนัดและประเภทงาน
ขั้นตอนการทำงานและเพซการทำงานของอาชีพนักเขียนการ์ตูนนั้นไม่ได้ตายตัวที่จะบอกได้ว่าทำแบบไหนเรียกได้ว่าถูกหรือผิด และนี่อาจเป็นเรื่องที่นักเขียนทั้ง 3 ของเราแตกต่างกันมากที่สุด
ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ หรือนามปากกา สะอาด เป็นนักเขียนการ์ตูนที่เล่าเรื่องจริงจังและมีประเด็นด้วยเซนส์ความตลก สไตล์งานที่เขาพาไปยังทั้งงานการ์ตูนแก๊กสไตล์เสียดสีจำนวนมากของเขา ไปจนถึงการ์ตูนเล่ม เช่น ชายผู้ออกตามเสียงตัวเอง บทกวีชั่วชีวิต และล่าสุดให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต
การ์ตูนแต่ละเล่มของสะอาดจะมีขั้นตอนการทำที่แตกต่างกันออกไปตั้งแต่ขั้นตอนการริเริ่มคิดเรื่อง โดยเหตุผลที่นำไปสู่ความแตกต่างอย่างแรกมาจากการตกลงใจว่าหนังสือเล่มนั้นจะเขียนเพื่อใคร “วิธีคิดมันจะคล้ายๆ กับคนเรียนสื่อพอสมควร เราอยากให้หนังสือเล่มนี้มีประโยชน์ในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายเล่มนี้ เราทำยังไงได้บ้าง? มันก็จะมีส่วนของข้อมูล และวิธีคิดในการเล่าเรื่อง” เขาพูด ในทางกลับกัน เมื่อเป็นงานที่ส่วนตัวมากๆ อย่างให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต สะอาดจะไม่สนใจกลุ่มเป้าหมายเลยและจะเอาไอเดียทุกอย่างมาจากสิ่งที่เขาชอบเท่านั้น
ในส่วนขั้นตอนการทำงานหลังจากนั้นเขาเหล่าว่ามันใกล้เคียงกับการทำวรรณกรรมไทยมากกว่าการเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น โดยเริ่มที่การทำบทให้เสร็จ ออกแบบสตอรี่บอร์ด โดยบรรณาธิการจะเข้ามาในสองขั้นตอนแรกนี้เพื่อปรับแก้เชิงเนื้อหาครั้งสุดท้าย แล้วจึงเข้ากระบวนการด้านภาพ นั่นคือหาข้อมูล ถ่ายรูปในพื้นที่ ร่างภาพ ตัดเส้น แต่งในโฟโต้ช็อป โดยเขาเปรียบเทียบขั้นตอนภาพคล้ายกันกับการไปออกกองถ่ายภาพยนตร์
แต่หากเมื่อพูดถึงการ์ตูนที่ออกรายสัปดาห์ขั้นตอนการทำงานก็จะต่างออกไป
หลังจากวางโครงเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ วางรายละเอียดตัวละคร เขียนทรีตเมนต์เรื่องย่อรายตอนให้บรรณาธิการตรวจแก้ เมื่อผ่านเรียบร้อยแล้วจึงเริ่มเขียน การทำงานที่มีเด้ดไลน์แบบสัปดาห์สู่สัปดาห์ทำให้ต้องมีตารางงานที่คงที่ “ต่อวีคใช้เวลาทำประมาณ 6-7 วันนะคะ 1 วันเขียนสตอรี่บอร์ด ตัดเส้นสัก 2 วัน ลงสี 2 วัน วันที่ 6 ใส่ข้อความ ในระหว่างนั้นก็จะให้ผู้ช่วยเทสี ใส่ลายผ้า ลงเงาไปพร้อมๆ กันด้วย” มุพูด เธอคือนักเขียนการ์ตูน วันทองไร้ใจ การ์ตูนที่ขณะนี้อยู่ลำดับ 1 ของแพล็ตฟอร์มอ่านการ์ตูนดิจิทัล WebToon
ตารางงานแน่นขนัดของมุบางครั้งเบียดบังเวลาส่วนตัวของนักเขียน “เราต้องอยู่กับมันตลอดเวลา ตั้งแต่เช้ายันนอนเลย มีเวลาสังสรรค์กับเพื่อนน้อยลง” เธอพูด “เราต้องจัดตารางให้ทั้งเราและผู้ช่วยตารางเวลาตรงกัน จัดเวลาให้ได้ว่าหนึ่งสัปดาห์เราอยากหยุดสัก 1 วัน ไม่งั้นจะเบิร์นเอาต์”
ซึ่งหากไม่ได้ทำ WebToon เต็มเวลา มุบอกว่านักวาดในไทยอาจต้องยึดงานนอกแบบอื่นๆ ไว้เพื่อหาเงินเพิ่มเติม “ก่อนจะมาทำเว็บตูนเราต้องแบ่งเวลาพอสมควรเลยว่าทำไงดี ฉันจะหาเงินก่อน หรือควรจะมาวาดรูปดี” โดยมุยกตัวอย่างเช่นการวาดการ์ตูนแล้วพิมพ์หนังสือเอง ทำกู๊ดส์ขาย หรือรับงานคอมมิชชั่น “นักวาดในไทยต้องรับหลายงานถึงจะอยู่ได้” มุพูด
คล้ายกันกับสะอาดในประเด็นเดียวกันที่เขามักต้องทำงานคอลัมน์และการ์ตูนเล่ม ที่เขาแยกออกจากกันว่างานฟรีแลนซ์จะเป็นงานที่นำเงินเข้ามา และงานเล่มจะเป็นเหมือนการสร้าง portfolio ของตัวเองและเป็นชิ้นงานที่นักเขียนถือลิขสิทธิ์อยู่ในมือและมันจะสามารถเสริมแรงให้ฐานของอาชีพตัวเองแข็งแรงมากขึ้น
แต่สำหรับคนที่แตกต่างที่สุดใน 3 คนคือองอาจ ชัยชาญชีพ หรือโตโต้ ผู้เขียนหนังสือการ์ตูนชุดหัวแตงโมและแพนดาด้า ที่นอกเหนือจากการทำการ์ตูนเล่มและจัดการสำนักพิมพ์แล้วจะไม่มีการทำงานอย่างอื่น โดยตารางงานและวิธีการทำงานของเขาโดยมากจะขึ้นอยู่กับตัวเอง
“เมื่อก่อนเราเขียนหนังสือการ์ตูนให้นิตยสารกับหนังสือพิมพ์มันมีเงื่อนเวลาที่จำกัดแน่นอนที่ต้องทำ รายสัปดาห์ รายปักษ์ ก็รู้สึกทำได้นะ แต่ทำอยู่หลายปีก็รู้ตัวว่ามันหยุดไม่ได้นี่หว่า ซึ่งเราว่าไม่ไหว เราต้องการหยุดพัก” หลังจากนั้นเมื่อลองหันมาทำงานตัวเอง ซึ่งเขาอธิบายว่าเขาทำงานเหมือน ‘นักมวย’ นั่นคือทำงานเป็นฤดูกาล อย่างเช่น การวางตารางเวลาทำงาน 3 เดือนที่จะทุ่มเททุกอย่างให้งาน และหลังจากช่วงเวลานั้นจะไม่ทำเลย
“แล้วจริงๆ ไอ้ที่บอกว่าไม่ทำเลยมันก็ไม่จริงนะ มันก็คือขั้นตอนหนึ่งของการทำงาน คนเขียนการ์ตูนใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับตัวเอง กับหน้ากระดาษ กับจอ มันไม่มีเวลาไปเสพเรื่องราวข้างนอกเลย การพักผ่อนมันเหมือนเป็นช่วงเวลาที่เราได้อินพุตเรื่องราวต่างๆ หาแรงบันดาลใจ หาเรื่องมาเล่าในฤดูกาลถัดไป” แต่เขาก็บอกว่าปัญหาของการทำแบบนี้ก็มี นั่นคือบางครั้งก็ลืมตัวอยู่ในฤดูกาลพักผ่อนนานเกินไป
ต่อสู้กับตลาดที่ใหญ่กว่ามาก
เมื่อมองจากภายนอกอาจดูเหมือนว่าตลาดและอุตสาหกรรมของการ์ตูนไทยนั้นไม่ได้ใหญ่มาก อาจจะพอมีพื้นที่ว่างให้เข้าไป เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า? จริงเพียงครึ่งเดียว นั่นคือในขณะที่อุตสาหกรรมการ์ตูนไทยค่อนข้างกะทัดรัด ตลาดที่การ์ตูนไทยอาศัยอยู่นั้นอยู่ตลาดเดียวกันกับการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีทรัพยากรที่สูงกว่ามากๆ
“มันเหมือนคนทำซีรี่ส์ที่ต้องไปสู้กับเน็ตฟลิกอะ เราอยู่สนามเดียวกันแต่ทุนเน็ตฟลิกมันเยอะกว่ามากเป็น 10 เท่า แล้วมันพยายามช่วงชิงเวลาของคนดูและคนอ่านเท่าๆ กัน” สะอาดเทียบ “เมื่อไหร่ที่เขาอ่านงานเราแล้วเปรียบเทียบว่า ‘ถ้ากูเอาเงินที่ซื้อเล่มนี้ไปซื้อการ์ตูนญี่ปุ่นล่ะ’ แล้วเขามีผู้ช่วยห้าคน บก.ประกบ มีคนทำอนิเมะ มีนักวิจารณ์ มีวัฒนธรรมมาสอดรับ เราจะทำอะไรได้บ้าง มันก็ยาก” เขาอธิบายต่อว่าการอยู่ในสนามเดียวกันทำให้การสร้างฐานคนอ่านยาก
เขารู้สึกว่าสิ่งที่ต้องทำคือไม่ต้องไปพยายามเทียบ แล้วเปลี่ยนโจทย์ในการทำงาน “ตอนเราเริ่มเขียนการ์ตูนมันจะมีคนบอกว่า วันหนึ่งเราอาจจะเหมือนวันพีซก็ได้…ตอนนี้หนังสือเราพิมพ์ 3,000 เล่ม ซึ่งนับว่าเยอะนะ วันพีซมันขายเล่มละเป็นล้านอะ มันคืออันดับหนึ่งหรือสองของโลกและเราเชื่อว่าโอดะเป็นคนที่จ่ายภาษีเยอะที่สุดในเกาะนั้น”
และในมุมของ WebToon ก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ “เราไม่ได้แข่งกับแค่นักวาดไทยด้วยกันเอง เหมือนเราก็ต้องแข่งกับนักวาดเกาหลี จีน ญี่ปุ่นที่เขาแปลมาด้วย มันเป็นเหมือนงานยอดน้ำแข็งของประเทศเขาถึงได้มาแปล คุณภาพเขาก็คับแก้วอยู่แล้วเราก็ต้องสู้กับคุณภาพงานของเขาให้ได้ เพราะนักอ่านไทยก็ได้อ่านงานในระดับนั้นแล้ว” มุพูด เธอเองก็พยายามพัฒนาภาพผ่านการเริ่มใช้ฉากหลังสามมิติและพัฒนาลายเส้นตัวเองตลอดเพื่อให้ตัวเองแข่งขันได้
รักษาสุขภาพทั้งภายในและภายนอก
บ่อยครั้งเราเห็นข่าวว่านักวาดการ์ตูนญี่ปุ่นจำเป็นต้องหยุดการเขียนกะทันหันเนื่องจากอาการป่วย สำหรับบางคนเป็นปี หรือหลายคนเสียชีวิต ว่าแต่ถ้าเข้าวงการนักเขียนการ์ตูนไทยจะเจออะไรแบบนั้นรึเปล่า?
“การทำงานเป็นฤดูกาลของเรามันทำให้เราหักโหม พอเราหักโหมมันส่งผลกับสุขภาพของเราในหลายๆ อย่าง เช่น ปวดหลัง ปวดมือ เจ็บนิ้ว ล่าสุดเราเป็นเล็บขบที่นิ้วนาง” โตโต้อธิบายเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการทำงานยาวนานและบังคับให้ตัวเองงานเสร็จในห้วงเวลานั้นๆ ก่อนจะมีไอเดียใหม่เข้ามาตีกันในหัว
“แต่นั่นคืออุปสรรคทางกาย อุปสรรคทางใจก็มี” การทำงานของเขาจะแบ่งชัดระหว่างการคิดเรื่องและการวาด “ช่วงที่เราเรียบเรียงช่วงที่เรามีประเด็นอะไรต่างๆ เนี่ยไม่มีปัญหาอะไรเลย สนุกมาก…แต่พอต้องลงมือทำต้นฉบับจริงๆ รู้สึกว่าเหงาว่ะ สมองเราเวลาทำงานส่วนวาดมันว่าง เพราะเราใช้แค่มืออย่างเดียว แล้วพอสมองว่างเราฟุ้งซ่าน” เขาอธิบายว่าในขั้นตอนการลงมือเป็นส่วนที่ไม่สนุกเพราะตัวคนเขียนไม่ตื่นเต้นแล้วและรู้แล้วว่าเรื่องต่างๆ จะไปจบที่ตรงไหน โดยวิธีแก้ของเขาคือเมื่อถึงเวลาวาดจะออกไปทำงานข้างนอกแล้วคุยกับคน
ในมุมมองของมุเรื่องสุขภาพอย่างที่ว่าไปแล้วคือตารางนักเขียนเว็บตูนจะทำให้ไม่ค่อยมีเวลาทำอย่างอื่นนอกจากงาน นำไปสู่ความเครียดและความเจ็บป่วยทางกายได้ แต่อีกส่วนคือเมื่อทำงานที่เชื่อมต่อโดยตรงกับโซเชียลมีเดียก็อาจนำไปสู่ความวิตกกับคอมเมนต์ของผู้อ่านได้
“จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราจะสงสัยว่า คนเขาจะมีคำตอบรับกับงานเรายังไงบ้าง แต่คอมเมนต์น้อยจัง เราก็เลยไปหาอ่านที่อื่น ซึ่งบางทีเขาก็ไม่ได้อยากให้เราเห็นนะ แล้วเราก็เฟลเอง ถ้าจิตใจเราอ่อนไหวเราไม่ต้องไปอ่านก็ได้” มุพูด “บางคนจะรู้สึกกดดันว่าจะต้องพิสูจน์ตัวเอง ฉันต้องดี ต้องไม่บ้งในงานแรก ซึ่งงานแรกมันต้องผิดพลาดอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่โซเชียลมีเดียเดี๋ยวนี้มันไปถึงไว คำติชมมันมาถึงเราได้มาก แล้วมันหมดกำลังใจ” เธอพูดต่อ แล้วแนะนำว่าในความเห็นเหล่านี้มีทั้งที่นำไปใช้ได้และไม่ได้ ฉะนั้นไม่ต้องรับไปคิดทุกแบบจะดีที่สุด
ส่วนสะอาดเล่าว่า จุดโฟกัสในการทำงานของเขาเองก็ถูกออกแบบมาเพื่อการจัดการกับสุขภาพใจตัวเองอยู่แล้ว นั่นคือในขั้นตอนการทำงานทั้งหมดสะอาดจะให้ความสำคัญกับบทมากที่สุด “โดยส่วนตัวเราจะไม่วาดในสิ่งที่เราไม่ชอบ เพราะเราเคยมีประสบการณ์มาแล้วแล้วมันทรมานมาก” เขาพูด “เรามีความลับที่ไม่ค่อยได้บอกใคร แต่บอกใน (บทสัมภาษณ์) นี้ก็ได้ นั่นคือเราไม่ใช่คนชอบวาดรูปขนาดนั้น เราไม่ได้รักการวาดรูปอะไรก็ได้ แต่เรารักในการวาดรูปในเรื่องที่เราอยากเล่า เราเลยจะหาทางทำให้บทกับสตอรี่บอร์ดเป็นสิ่งที่เราอยากจะเล่ามากๆ ให้ได้”
แต่เมื่อพูดถึงสุขภาพกาย แม้จะมีปวดหลังบ้าง เหตุผลที่นักเขียนการ์ตูนไทยไม่เจ็บป่วยเท่า (และไม่ควรเจ็บป่วยเท่า) ของญี่ปุ่นเป็นเพราะธรรมชาติของอุตสาหกรรมที่ต่างกัน “ญี่ปุ่นเวลาเห็นนักเขียนที่ป่วยหรือตายไวมันเกิดจากอุตสาหกรรมที่บีบเค้นนักเขียนคนหนึ่งมากๆ” เขาพูดพร้อมแจงตารางว่านักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นสตอรี่บอร์ด 2 วัน ทำต้นฉบับราวๆ 3 วัน คุยกับบรรณาธิการบางครั้งเป็น 10 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังมีการปรับเรื่องตามการตลาดบ่อยครั้ง และมันพิงอยู่กับนักเขียนคนเดียวแม้จะมีผู้ช่วย บวกเข้ากับค่านิยมการทำงานของประเทศด้วย
ซึ่งในขณะที่เขาคิดว่ามันเป็นการเสียสุขภาพจิต แต่เหตุผลที่นักเขียนของญี่ปุ่นสามารถทำได้เป็นเพราะมันคือการเดิมพันในอุตสาหกรรมที่ในบางมุมมองอาจจะคุ้มค่า “ถ้าวันหนึ่งคุณสามารถกระโจนเข้าไปสู่โชเน็นจั้มพ์นิตยสารที่ขายดีอันดับต้นๆ ของโลก แล้วจั้มพ์อาจจะทำให้เราเป็นนักเขียนที่ดังระดับโลก งานชิ้นนี้อาจจะทำให้คุณเป็นเศรษฐี เขาก็เดิมพันได้ไง เดิมพันสุขภาพกับตลาดที่เดิมพันสูงแต่คืนสูงด้วย แต่มองกลับมาที่ไทยเราจะไปเดิมพันทำไม?” และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้สะอาดออกแบบชีวิตการทำงานของเขาให้ยืนระยะมากกว่าการทุ่มเทสูงจนยืนไม่ไหว
ดูเหมือนว่านอกจากความรักในการเล่าเรื่องแล้ว การชั่งน้ำหนักของแง่มุมต่างๆ ในชีวิตก็เป็นเรื่องสำคัญในการประกอบอาชีพนี้ด้วย