คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยไปนัก หากจะบอกว่า เสียงหัวเราะของคนไทยกว่า 40 ปีที่ผ่านมา อย่างน้อยๆ ไม่ต่ำกว่าสิบครั้งล้วนมีที่มาจาก ‘ขายหัวเราะ‘ และ ‘มหาสนุก‘ หนังสือการ์ตูนแก๊กเล่มเล็กๆ ภายใต้การดูแลของ วิธิต อุตสาหจิต
และสำหรับคนที่เคยผ่านตาขายหัวเราะและมหาสนุกมาบ้าง คงไม่มีใครไม่รู้จักตัวการ์ตูน ซึ่งนักวาดได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของวิธิตในนามว่า ‘บ.ก. วิติ๊ด’ ที่กลายเป็นมาสค็อตหลักอันดับต้นๆ เมื่อใดก็ตามที่เรานึกถึงขายหัวเราะและมหาสนุก
แต่ระยะเวลากว่า 40 ปี ที่ขายหัวเราะเป็น ‘ความฮาสามัญประจำบ้าน’ ของทุกคน ดูเหมือนจะเป็นระยะเวลาที่น่าเหลือเชื่อเหลือเกินว่า จะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดยืนยงคงกระพันมาได้ยาวนานขนาดนี้ โดยเฉพาะเรื่องของความตลกขบขัน
วิธิตพิสูจน์มาแล้วว่า ‘ความฮา’ คือวัตถุดิบที่มีมูลค่ามหาศาล
เขายืนยันว่า มันเป็นมากกว่าเสียงหัวเราะ และสะท้อนแง่มุมต่างๆ ของสังคมเอาไว้มากมาย
แน่นอนว่า เขามีพร้อมทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์ว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำให้คนทั้งประเทศอ้าปากหัวเราะได้
แต่ในวันนี้ ทิศทางของความฮาสามัญประจำบ้านที่เราคุ้นเคยนี้กำลังเดินหน้าต่อไปสู่ทิศทางไหน ‘บอกอวิติ๊ด’ ที่โลดแล่นอยู่ในหน้ากระดาษมานานหลายปีเหนื่อยหรือยัง หรือเขาวาดหวังจะส่งไม้ที่เคยประสบความสำเร็จมหาศาลมาแล้วนี้ต่อให้ใคร
ย้อนกลับไปสมัยทำ ขายหัวเราะ แรกๆ ตอนนั้นเห็นช่องทางอะไร
40 ปีก่อน โทรทัศน์ตอนนั้นมีแค่ 3-4 ช่อง พวกช็อปปิ้งเซ็นเตอร์หรือที่ที่คนจะไปพักผ่อนหย่อนใจได้นี่น้อยมาก โรงหนังในกรุงเทพฯ มีแค่ 20-30 โรง ฉะนั้นสิ่งที่คนจะยึดเป็นงานอดิเรกเป็นสันทนาการได้ก็คือการอ่าน ซึ่งมันมีข้อดีอยู่ตรงที่เมื่ออ่านจบก็สามารถส่งต่อได้ ไม่ใช่แค่อ่านคนเดียวแล้วจบ มันเป็นวงจรการดำรงอยู่ที่ถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ
ขายหัวเราะ เกิดขึ้นตอนผมอายุ 16 ปี มีความคิดอยากให้มีการ์ตูนที่มอบความสนุกให้ผู้อ่าน เน้นที่อารมณ์ขันและเสียงหัวเราะ เป็นอีกทางเลือกใหม่ที่ไม่เหมือนท้องตลาด เมื่อก่อน content รูปแบบนี้จะกระจายอยู่ตามเซกชั่นเล็กๆ ของนิตยสาร ไม่ใช่ main idea แล้วทำไมเราถึงไม่รวบรวมความสนุกเหล่านี้ไว้ด้วยกันล่ะ
ผมเห็นข้อดีของการหัวเราะ มีความสุขเวลาเห็นคนอื่นหัวเราะ คิดว่าถ้าได้ทำอะไรที่เกี่ยวกับอารมณ์ขันก็น่าจะดีตอนนั้นเลยเริ่มจากลงมือวาดเองก่อน ทำดัมมี่ วางรูปแบบ เฟ้นหาและคัดเลือกนักเขียนมาร่วมทีมเอง หัวหนังสือที่เป็นโลโก้ ขายหัวเราะ ยังวาดเองเลย (หัวเราะ)
จากนั้นก็รวบรวมความกล้าไปขอออกหนังสือของตัวเอง ขอตำแหน่ง บ.ก. เองด้วย โชคดีอย่างหนึ่งที่คุณพ่อ (คุณบันลือ อุตสาหจิต ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น) ไม่ห้าม อาจเพราะมองเห็นความเป็นไปได้ในไอเดียและมั่นใจในฐานแฟนของสำนักพิมพ์รวมถึงทีมงานที่มี ปรากฏว่าวางขายเล่มแรกมันก็เปรี้ยงเลย ผลตอบรับดีมาก
ทำไมถึงเลือกการ์ตูนแก๊ก
ตอนนั้นยังไม่มีใครเป็น leader ในด้านการ์ตูนแก๊กในไทย การ์ตูนแก๊กถูกวางบทบาทเป็นตัวประกอบ แต่เราเห็นศักยภาพว่ามันมีตลาด เอามาขยายใช้เป็นจุดขายได้
ใครที่เคยอ่านการ์ตูนแก๊กจะทราบว่ามันมีเสน่ห์ต่างจากศาสตร์แห่งอารมณ์ขันแบบอื่น มีแพตเทิร์นในการเกริ่นให้คนสนใจ การตบ แล้วขยี้แก๊ก แต่ ขายหัวเราะ จะมีลักษณะเฉพาะด้วย space และ visual คือมีข้อจำกัดของพื้น ทำให้มุกของเราต้องกระชับ อีกอย่างหนึ่งคือทุก element ของความขำต้องครบทั้งลายเส้นและ wording เพราะเราตลกด้วยภาพ ใช้เสน่ห์แบบการ์ตูนและเปิดพื้นที่ให้คนอ่านได้จินตนาการร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นครึ่งหน้า เต็มหน้า สองสามหน้าจบ หรือการ์ตูนเรื่องสั้น
ส่วนที่มาของคำว่าแก๊กที่ใช้มาตลอดจริงๆ ก็เป็นคำทับศัพท์ธรรมดาๆ แต่พอใช้แล้วนักเขียนเอาไปใช้กันต่อก็แพร่หลายไปถึงนักอ่านและแฟนทั่วไปจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเราไปด้วย ซึ่งจริงๆ การ์ตูนแก๊กมีมานานแล้วนะ ในไทยก็เป็นร้อยปี ถ้าจำไม่ผิดอาจตั้งแต่สมัย ร.4 แล้ว แต่ว่ามาแพร่หลายในไทยอย่างจริงจังก็ยุคของเรา ใครๆ ก็เลยชอบมาถามผมว่า ‘แก๊ก’ คืออะไร (หัวเราะ)
สิ่งที่ทำให้เรายังแข่งขันและเติบโตได้ทุกวันนี้คือ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง หาอ่านที่อื่นไม่ได้ มีรากฐานความผูกพันกับผู้อ่านสูงมานาน ผมเข้าใจว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ขายหัวเราะ มหาสนุก ไม่ว่าจะรู้จักแบบเพื่อนสนิท เพื่อนที่โตมาด้วยกัน คนคุ้นเคย หรือรู้จักระดับทักทายกัน แต่อย่างน้อยพวกเขาก็รู้จักเราในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแน่นอน เป็นสิ่งที่ทำให้เราซาบซึ้งและเป็นพลังที่ทำให้ตั้งใจทำงานมาตลอด
บรรยากาศของ ขายหัวเราะ ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ถ้าเปรียบเทียบกับประมาณช่วง 10-20 ปีแรก แตกต่างกันมากไหม
โลกของคอนเทนต์มีการแข่งขันสูงมากกว่าสมัยก่อนอย่างเทียบกันไม่ได้ ผู้ชมมีทางเลือกมากขึ้นมหาศาล เราก็พยายามจะไปอยู่ในทุกช่องทาง เพราะเรามองว่าการ์ตูนและอารมณ์ขันของเราคือ คอนเทนต์ ซึ่งสามารถอยู่ได้ทุกที่ทุกแพลตฟอร์ม อยู่ที่เราต่อยอดมันให้มีประสิทธิภาพ เป็นการ์ตูนที่ ‘ใครๆ ก็อ่านได้’ ตั้งใจให้การ์ตูนของเราเป็น ‘ความฮาสามัญประจำบ้าน’ ที่ทุกคนในบ้าน ในครอบครัวชอบอ่าน อ่านด้วยกันได้หมด เราภูมิใจเสมอที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างและสืบต่อวัฒนธรรมการอ่านในครอบครัวและสังคม
สิ่งที่ทำให้เรายังแข่งขันและเติบโตได้ทุกวันนี้คือ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง หาอ่านที่อื่นไม่ได้ มีรากฐานความผูกพันกับผู้อ่านสูงมานาน ผมเข้าใจว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ขายหัวเราะ มหาสนุก ไม่ว่าจะรู้จักแบบเพื่อนสนิท เพื่อนที่โตมาด้วยกัน คนคุ้นเคย หรือรู้จักระดับทักทายกัน แต่อย่างน้อยพวกเขาก็รู้จักเราในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแน่นอน เป็นสิ่งที่ทำให้เราซาบซึ้งและเป็นพลังที่ทำให้ตั้งใจทำงานมาตลอด บางคนบอกว่าขายหัวเราะนั้นกลายเป็นเหมือนอาหารประจำชาติของเราไปแล้ว (หัวเราะ) คือแม้โลกจะมีทางเลือกมากขึ้น มีเมนูรสชาติแปลกใหม่มากมายให้ลอง แต่เรายังเป็นทางเลือกที่ไว้ใจได้ของชาวไทยเสมอ
ความท้าทายในการแข่งขันของ ขายหัวเราะ คืออะไร
เรามองว่า เราแข่งขันกับตัวเองมากกว่า จะทำยังไงให้เติบโตไปในทุกสื่อทุกพรมแดน เป็นผู้นำด้าน humour business ได้อย่างยั่งยืน การรุกเข้ามาของสื่อออนไลน์ เราก็ไม่ได้มองว่าเทคโนโลยีเป็นคู่แข่งของเรา แต่มองว่าเป็นเครื่องมือใหม่ที่จะส่งคอนเทนต์ของเราไปสู่ผู้ชมได้อย่างสร้างสรรค์ หลากหลาย และแปลกใหม่มากขึ้น โลกพัฒนาไปก็ทำให้เราท้าทายตัวเองอยู่เสมอว่าเราจะพาคอนเทนต์ของเราไปได้ไกลแค่ไหน
อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้เรื่องช่องทางคือ การปรับตัวตามผู้ชมให้ทัน ส่วนนักเขียนก็ต้องพยายามไม่หยุดอยู่กับที่ ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และความร่วมสมัยอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่ต้องเอามาคุยกัน พยายามเติมพลังไอเดีย อ่านให้มาก ดูให้มาก มองสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวมากขึ้น หาแง่มุมน่าสนใจแปลกๆ ใหม่ๆ เอามาเสนอ สุดท้าย สิ่งหนึ่งที่ท้าทายที่สุดคือ ทำยังไงถึงจะกระตุ้นนักเขียนให้มีไฟและพลังในการทำงานอยู่เสมอ
อะไรคือองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ ขายหัวเราะ กลายเป็นหนังสือในระดับ ‘แมส’ ที่อยู่มาได้กว่า 40 ปี
เอกลักษณ์ ความเข้าถึงง่ายในแง่ของ content และราคาที่สบายกระเป๋า โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ผู้อ่านร่วมสร้างสรรค์แก๊ก ส่งเรื่องสั้นหรือขำขันเข้ามาแชร์ไอเดีย ทำให้พวกเขารู้สึกมีส่วนร่วมและผูกพัน เราให้ความสำคัญกับ user-generated content มาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีเทรนด์นี้เสียอีก (หัวเราะ) แต่แน่นอนว่าการเปลี่ยนผ่านย่อมเป็นช่วงที่ต้องทำงานหนัก ลองผิดลองถูก ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรก ตลอดหลายสิบปีมีเรื่องให้ปรับตัวตลอดเวลา เพียงแต่วงจรที่กระทบนั้นใหญ่บ้างเล็กบ้างแตกต่างไป เราก็ต้องคอยตรวจสอบ Plan-Do-Check-Act อยู่เสมอ
นอกจากความขำขัน สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้เสียงหัวเราะของ ขายหัวเราะ มีมากกว่านี้ไหม
ในฐานะสื่อ ผมว่า ขายหัวเราะ กลายเป็นพื้นฐานวัฒนธรรมการอ่านของคนไทย เพราะเป็นหนังสือที่สื่อสารด้วยภาพการ์ตูน เด็กเปิดมาก็ดูภาพ พออ่านออกเขียนได้ก็อ่านตัวหนังสือ นักอ่านจำนวนมากจึงเติบโตมากับเรา
ในฐานะตัวแทนวัฒนธรรมก็ดี เพราะนอกจากชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยเริ่มต้นพัฒนาภาษาไทยของพวกเขาด้วยการอ่านขายหัวเราะแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมไทยไปด้วยจากแก๊กที่สะท้อนเรื่องราวของสังคมไทย เหตุการณ์สำคัญ กระแสที่กำลังฮิต หรือรูปแบบความสัมพันธ์ของคนในสังคม เรานำเสนอทั้งหมดนี้โดยใช้อารมณ์ขันเป็นสื่อ
คุณคิดว่าคุณค่าของความขำขันหรือความตลกคืออะไร
ทุกวันนี้การที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพในโลกที่วุ่นวายดูจะลำบากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอารมณ์ขันเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่ช่วยให้มนุษย์ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข หรืออย่างน้อยก็ผ่านความทุกข์ไปได้ ถ้าหากปัจจัยสี่เป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย อารมณ์ขันเป็นเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อจิตใจและกำลังใจ ไม่เชื่อก็ลองสังเกตดูว่า หลายๆ ครั้งเสียงหัวเราะเป็นทางออกที่ได้ผลมากในการคลี่คลายสถานการณ์ต่างๆ ทำให้เราไม่เคร่งเครียดจนเกินไป
เป็นปัญหาไหมที่คนส่วนใหญ่ในสังคมจะชอบเสพแต่เรื่องราวที่สนุกสนานหรือจรรโลงใจเพียงอย่างเดียว
มันก็สะท้อนพื้นฐานของคนเสพด้วยเหมือนกัน แต่มันไม่ได้เป็นปัญหาขนาดนั้น เช่น การอ่านหนังสือขายหัวเราะ-มหาสนุกมันใช้เวลาไม่เยอะ เราดีไซน์มาตั้งแต่ต้นแล้วว่าเป็นหนังสือที่ขนาดกำลังดี อ่านได้เรื่อยๆ หรือถ้าไม่อ่านรวดเดียวจบก็เปิดมาอ่านต่อเมื่อไหร่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้อ่านผู้ชมแต่ละคน เพราะแต่ละคนก็ต้องการอารมณ์ขันในระดับแตกต่างกันไป คือทุกอย่างอยู่ที่ความพอดี
ปกติบุคลิกของบอกอวิติ๊ดเป็นคนตลกหรือเปล่า
ไม่นะ ส่วนใหญ่ก็จะเงียบๆ เพราะผมทำธุรกิจโรงพิมพ์ด้วย ซึ่งมันค่อนข้างซีเรียส เป็นภาพที่ดูจะขัดแย้งกันเองเหมือนกัน แต่ผมรักงาน บ.ก. ขายหัวเราะ เพราะผมนิยมและให้คุณค่ากับอารมณ์ขัน เพราะฉะนั้น ถึงตัวเองจะไม่ใช่คนตลกขนาดในการ์ตูน แต่ถ้าเป็นมุกอันนี้จะเก็ตนะครับ เพราะแก๊กทุกแก๊กจะต้องผ่านตาหมด ก็จะมีการตบแก๊ก เกลี่ยแก๊ก มีการดึงให้มันน่าสนใจขึ้น ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของฝั่งผู้ชมไปด้วย
ตัวการ์ตูน ‘บอกอวิติ๊ด’ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
สมัยก่อนนักเขียนจะมาพบปะสังสรรค์ค่อนข้างบ่อย และต้อม (สุพล เมนาคม เจ้าของตัวการ์ตูนที่มีชื่อเสียงอย่าง ‘ไก่ย่างวัลลภ’ และผู้เขียนปกการ์ตูนมหาสนุกในปัจจุบัน) เป็นคนแรกที่เล่น บ.ก. เผอิญว่า บ.ก. ระยะหลังมีเรื่องให้เล่นเยอะ เพราะ บ.ก. แต่งงาน มีลูก มีลูกแฝดนักเขียนก็เลยเล่นกันมาเรื่อยๆ
รู้สึกอย่างไรที่ตัวเองกลายเป็นตัวการ์ตูน
ก็รู้สึกดีครับ เพราะส่วนใหญ่ไม่มีอะไรเสียหาย มันเป็นมุมมองของนักเขียนที่มีต่อ บ.ก. เราถือว่ามันก็เป็นส่วนหนึ่งของอาชีพที่ทำให้คนอ่านสนุกไปกับมันได้ ไม่เคยมาบอกว่า เฮ้ย อย่าเขียนนะ
หนังสือ ขายหัวเราะ มีความเป็น ‘บ.ก.’ ชัดเจนขนาดนี้ ในอนาคตที่ต้องวางมือไปจริงๆ วางแผนไว้อย่างไร
ต้องเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ในการที่จะมารับไม้ต่อนะครับ จริงๆ แล้วผมคิดว่าเรายังสามารถต่อยอด humour business และคอนเทนต์ของเราออกไปได้อีกหลายอย่างจากวัตถุดิบที่เรามีมากมาย ซึ่งก็มีการเตรียมการไว้ค่อนข้างเยอะแล้วเหมือนกัน ทั้งการเติบโตในด้านช่องทาง รูปแบบ และพรมแดน
สำหรับผู้มารับไม้ต่อในอนาคต ผมเชื่อว่าเขาน่าจะทำได้ดีในแบบของเขาเอง อย่างผมเองก็โตมากับการ์ตูน หนังสือ การอ่าน โตมาในสำนักพิมพ์ของคุณพ่อ วิ่งช่วยงานคุณพ่อมาตั้งแต่หัวยังไม่ถึงขอบโต๊ะด้วยซ้ำ กระดาษและลายเส้นต่างๆ รอบๆ ตัวคือสนามเด็กเล่นของผม เวลาว่างๆ ผมก็ออกแบบไทโปหัวหนังสือหรือโลโก้เล่นบ้าง วาดการ์ตูนบ้าง อ่านต้นฉบับที่รอตีพิมพ์เล่นบ้าง มีโอกาสได้คุยกับนักเขียนนักประพันธ์หลายท่านหลายแนว และได้รับการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ชอบอ่านชอบเขียน มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการพิมพ์ ทำให้ผมทำธุรกิจเกี่ยวกับหนังสือ การ์ตูน และโรงพิมพ์มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งลูกของผมก็มีโอกาสเติบโตมาในสภาพแวดล้อมคล้ายๆ กัน จริงๆ แล้ว DNA ของผมอาจหมายถึงความใกล้ชิดที่เด็กๆ ได้เห็นตัวอย่างจากพ่อแม่ก็ได้
ขายหัวเราะจะเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปในทางไหนก็แล้วแต่เขา ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนที่ผมทำทุกอย่าง เพราะเรื่องของคอนเทนต์เป็นเรื่องของยุคสมัย และเรื่องช่องทางที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในรูปแบบของกระดาษอีกต่อไป แต่ไปได้ทุกสื่อ ทายาท DNA ด้านอารมณ์ขันของผม ผมก็เชื่อว่าเขาจะมี DNA ส่วนที่แข็งแรงจากผม และต่อยอดความสำเร็จไปได้ไกลกว่าผมแน่นอน
และคนรุ่นใหม่ที่จะมารับไม้ต่อที่ วิธิต อุตสาหจิต พูดถึงก็คือลูกสาวคนโตของเขาอย่าง พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ที่ถูกนำชื่อเล่นของตัวเองไปทำเป็นตัวละครในขายหัวเราะ-มหาสนุกมาตั้งแต่เด็กในนามว่า ‘นิว’—วันนี้ จากตัวการ์ตูน เธอกำลังกระโดดมาบริหาร บันลือกรุ๊ปด้าน business development เพื่อจะทำให้ ‘ความฮาสามัญประจำบ้าน’ อย่าง ขายหัวเราะ ไม่มีวันหมดอายุ
ลำบากใจไหมที่ต้องเข้ามารับไม้ต่อจากสิ่งที่ประสบความสำเร็จมากๆ มาก่อนอยู่แล้ว
ถ้าบอกว่าไม่ลำบากใจก็โกหกมากๆ เลยค่ะ (หัวเราะ) คือตอนเข้ามาแรกๆ จะรู้สึกเครียด เพราะ เราคิดว่ามันไม่มีขอบเขตเลยว่าจะวัดอย่างไรว่าแก๊กไหนจะโดน และต้องบาลานซ์ระหว่าง creativity, productivity และ marketability ของตัวโปรดักต์ ต้องมีสเปซให้นักเขียน คือเราห้ามเอามุมมองของเราไปครอบทั้งหมดว่าอันนี้คือขำ อันนี้ไม่ขำ อีกอย่างคือขายหัวเราะมันปิดเล่มรายสัปดาห์ มันก็ค่อนข้างบีบคั้นเหมือนกัน เพราะว่างานครีเอทีฟเป็นงานที่ต้องการเวลาในการคิด ไม่งั้นมันจะเหมือนไปเค้นให้เขาต้องขำ ต้องขำออกมาสิบหน้าอะไรแบบนั้น ซึ่งมันไม่ได้
จัดการความกดดันตรงนั้นอย่างไร
อย่างตอนนี้ที่เข้ามาใหม่ๆ จะกดดัน เพราะเราจะพยายามหาสิ่งที่มันโดนร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งจริงๆ แล้วเราอาจทำแบบนั้นไม่ได้เสมอไป เรื่องของอารมณ์ขันไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะมุมมอง ทัศนคติ หรือแบ็คกราวด์ของคนคนหนึ่งต่อเรื่องเรื่องหนึ่งไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะขำในเรื่องเดียวกัน ดังนั้นเราจึงมองว่า จุดเด่นของขายหัวเราะคือการผสมผสานความขำที่หลากหลาย ไม่จำเป็นว่าทุกแก๊กจะต้องหัวเราะก๊าก แต่จะมีบางแก๊กอาจคม นิ่ง แต่ทำให้คุณอมยิ้มได้นาน ต้องบาลานซ์ให้คนอ่านมีความสุข ทำให้เขารัก และสบายใจที่ได้อ่าน กลุ่มคนอ่านขายหัวเราะค่อนข้างแมส มีความหลากหลาย เพราะฉะนั้นเราจะไม่สามารถโฟกัสแค่เฉพาะกลุ่มได้ สโลแกนของเราที่บอกว่า เป็น ‘ความฮาสามัญประจำบ้าน’ ก็คือทุกคนในประเทศไทยหรือทุก เจเนอเรชั่นอ่านได้ ภารกิจของบริษัทเราคือ enhance your happiness หรือการยกระดับความสุขของทุกคน
เรามองว่า แม้เราจะเป็นพาร์ทหนึ่งของผู้ผลิต แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องวางตัวเองเป็นเครื่องผลิตแก๊กขนาดนั้น เราแค่ต้องเปิดรับ มองให้ออก แล้วรู้จักนำอารมณ์ขันมาประยุกต์มากกว่า เรื่องอารมณ์ขันมันเป็นเรื่องของมุมมอง มันขึ้นอยู่กับการสังเกตคนเยอะๆ เพื่อจะได้มองเห็นมิติของมนุษย์
จำเป็นไหมที่คนทำงานบริหารในสายงานธุรกิจด้านขายเสียงหัวเราะ ต้องเป็นคนที่มีบุคลิกตลก
เรามองว่า แม้เราจะเป็นพาร์ทหนึ่งของผู้ผลิต แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องวางตัวเองเป็นเครื่องผลิตแก๊กขนาดนั้น เราแค่ต้องเปิดรับ มองให้ออก แล้วรู้จักนำอารมณ์ขันมาประยุกต์มากกว่า เรื่องอารมณ์ขันมันเป็นเรื่องของมุมมอง มันขึ้นอยู่กับการสังเกตคนเยอะๆ เพื่อจะได้มองเห็นมิติของมนุษย์ ทุกอาชีพมีศาสตร์ของตัวเอง เช่น หมอก็เรียนรู้วิชาชีพของหมอ ครูเรียนวิชาชีพของครู แต่ศาสตร์ของเราคือการเข้าใจพวกเขา เราต้องเข้าใจทุกอาชีพ รู้ทุกมิติของเขาเพื่อที่จะได้หามุมขำขันออกมาได้ ทั้ง บ.ก. และนักเขียนก็เหมือนอาชีพอื่นๆ ที่ต้องไม่หยุดเรียนรู้ คอยพัฒนาทางแก๊ก เทคนิกการนำเสนอ และสังเกตความเป็นไปของโลกอยู่เสมอ
ท่ามกลางสื่อยุคใหม่ ในฐานะที่เข้ามารับไม้ต่อมองว่า อีก 10 ปีข้างหน้า เป้าหมายของขายหัวเราะจะมุ่งไปทางไหน
ส่วนตัวเราอยากจะปักธงในการเป็นผู้นำด้าน humour business โดยไม่ได้โฟกัสแค่การ์ตูนตลกอย่างเดียว คืออาจมีช่องทางอื่น หรือต่อยอดไปสู่ระดับสากล แน่นอนว่า ถ้าคนรู้สึกเครียด เราก็อยากให้ขายหัวเราะเป็น top of mind ที่คนจะนึกถึงเมื่อเขาต้องการหัวเราะ อยากให้มันเป็น hub ด้านอารมณ์ขันที่เป็นหลักไมล์ของประเทศไทย อยากทำให้เห็นว่า แก๊กของขายหัวเราะมีมากกว่าความขำ แล้วก็ล้ำกว่าความฮา คือมันไม่ใช่การขำ แต่ยังมีมุมมองที่เราต้องการบอกกับสังคมซ่อนอยู่ ซึ่งนี่คือภารกิจอย่างหนึ่งของคนทำงานสื่อ
อีกอย่างคืออยากทำให้มันเป็นผู้นำด้าน best local คือคนต่างชาติมองเข้ามา ถ้าคิดถึงการ์ตูนไทย ขายหัวเราะต้องเป็นเบอร์แรก อย่างแอพฯ ไลน์ที่เขาหาสติกเกอร์ไทยตัวแรกๆ เขาก็จะมาหาขายหัวเราะก่อน
ส่วนมุมมองด้านธุรกิจ เราอยากจะพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว เรารู้สึกว่าสามารถนำพาความสนุก ความฮา และคาแรคเตอร์ของเราไปใกล้ชิดกับผู้อ่านได้หลากหลายรูปแบบและต่อยอดไปเป็นธุรกิจอื่นได้ตามความเหมาะสม เช่น ไปเป็นเมอร์แชนไดส์ แอนิเมชั่น การ์ตูนออนไลน์ ดิจิตอลคอนเทนต์ต่างๆ หรือแอพพลิเคชั่น หรือไปร่วมมือกับแบรนด์อื่นๆ รวมถึงการขยายตลาดไปต่างประเทศ เพราะเราเชื่อว่า ‘อารมณ์ขันเป็นเรื่องสากล’ คนทุกเชื้อชาติสามารถหัวเราะไปด้วยกันได้และเชื่อมโยงกันได้หมดอย่างไร้พรมแดน ซึ่งขายหัวเราะโดดเด่นเรื่องความขำแบบไทยๆ อยู่แล้ว ก็ตั้งใจที่จะชวนคนชาติอื่นๆ มาขำอย่างมีคุณภาพร่วมกับเราด้วย
โดยรวมๆ คือการเติบโตของขายหัวเราะจะมีทั้งแบบเชิงกว้างและเชิงลึก ในเชิงกว้าง เช่น การขยายไปยังพรมแดนอื่นๆ ส่วนในเชิงลึก การ์ตูนของเราควรถูกพัฒนาต่อยอดไปได้อย่างหลากหลายไม่จำกัด นอกจากช่องทางสื่อต่างๆ แล้ว ตอนนี้เรายังเริ่มออกมาทัชกับผู้คนกลุ่มใหม่ๆ ผ่านอีเวนต์ด้วย เช่น กรกฎาคม-ตุลาคมนี้ เราก็จะจัดอีเวนต์กับ TCDC ภายใต้ชื่องานว่า ‘Humour Business อุตสาฮากรรม’ ผลิตขำ ทำเงิน
จะมุ่งไปสู่เป้าหมายตรงนั้นได้อย่างไร
ส่วนหนึ่งก็คือเป็นเรื่องของรสนิยมกับเรื่องของเทรนด์ ซึ่งต้องคอยอัพเดตเสมอ และต้องมองเรื่องของเทคโนโลยีที่ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลง เราต้องพยายายามปรับ mindset ใหม่ทั้งหมดว่า เราไม่ได้ทำคอนเทนต์เพื่อไปบรรจุในการ์ตูนแก๊กเท่านั้น แต่มันต้องอยู่ได้ในทุกภาชนะ ทุกสื่อ ทุกช่องทาง เพื่อใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของผู้ชมของเรามากที่สุด
ความขำขันเปลี่ยนตามยุคสมัยด้วยไหม
ในภาพรวมคงไม่ได้ต่างกันขนาดนั้น เราคิดว่ามันยังเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเรื่องของการสะท้อนความจริงเกี่ยวกับมนุษย์ สะท้อนมิติต่างๆ ของคนออกมา สังเกตคนว่าเขากำลังคิดอะไร แบ็คกราวด์เป็นอย่างไร และคิดว่าเราควร hit เขาที่จุดไหน ความแตกต่างอย่างเดียวคือเรื่องของรายละเอียด เช่น คนอาจขำกับอะไรสิ่งที่มัน niche ขึ้น เพราะสมัยก่อนคนเสพสื่อแค่โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ที่เป็นสื่อกระแสหลัก แต่ปัจจุบันมีสื่อออนไลน์ ซึ่งมันทำให้เทรนด์ของคนหลากหลาย ไม่ใช่เทรนด์ที่ใหญ่ระดับประเทศอีกต่อไป นี่คือสิ่งที่ขายหัวเราะรับรู้ แล้วต้องปรับตัวตาม
อย่างมุกติดเกาะหรือโจรมุมตึกยังเล่นได้อยู่ไหม
คือคาแรคเตอร์ แก๊กคลาสสิก ทุกอย่างที่มันสามารถเล่าซ้ำๆ กันมาได้ถึงปัจจุบันเนี่ยเป็นเพราะว่ามันมีเรื่องราวเป็นของตัวเองคนเลยอินกับมัน เรายังเล่นได้ตลอด เพราะว่าคนส่วนมากมีประสบการณ์ร่วม ไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเหมือนแก๊กกระแส คือเขารู้ว่าโจรมุมตึกมันเป็นเรื่องของการเล่นกับมุมตึก สิ่งที่ยังไม่เห็นตอนที่จะออกมาจากมุม หรือว่าเรื่องของการติดเกาะมันคือเรื่องของการปลีกวิเวก และการเล่นกับทรัพยากรที่อยู่ในพื้นที่จำกัด เพราะฉะนั้นเราก็ต้องบาลานซ์กันไประหว่างความตลกแบบ niche กับความตลกที่คลาสสิกและร่วมสมัยอยู่ได้มาจนถึงปัจจุบัน
พอเราพูดถึงความ niche ในมุมกลับความนิชเองก็พ่วงมาด้วยความเชื่อที่หลากหลาย ยิ่งในยุคนี้ที่มีการเรียกร้องเรื่องสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ เช่น มุกภรรยาตีหัวสามีที่อาจเป็นมุกที่ส่งเสริมความรุนแรง ตรงนี้ทำให้ทางเลือกในการเล่นมุกลดน้อยลงไหม
จริงๆ แล้วระยะหลังๆ เราพยายามจะทำให้มันไม่มีเรื่องการล้อปมด้อย หลีกเลี่ยงเรื่องที่จะสร้างความขัดแย้งด้านศาสนา การเมือง เชื้อชาติอยู่แล้ว เรามี Do and Don’t ที่เราระมัดระวังใส่ใจ อย่างการล้อปมด้อย ถ้าเราได้อ่านเราก็ไม่ขำเหมือนกัน
แต่จริงๆ เราไม่ได้มองว่า ทางเลือกของมุกมันลดลงนะคะ มันขึ้นอยู่กับมุมมองและน้ำเสียงของการเล่ามากกว่า คนอ่านเขาแยกแยะได้อยู่แล้วว่า น้ำเสียงที่เราต้องการพูดเป็นแบบไหน เราพยายามทำให้ขายหัวเราะเป็นแก๊กที่สะท้อนสังคม จุดเด่นของเราคือน้ำเสียงที่เล่าออกไปไม่ได้ตัดสินว่าแบบไหนถูกหรือผิด แต่เราเล่าด้วยอารมณ์ขัน ซึ่งอารมณ์ขันคือเครื่องมือที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของโลกเลยนะ เพราะมันทำให้คนเปิดใจให้กับเรื่องๆ หนึ่งได้มากกว่าวิธีสื่อสารแบบอื่นๆ เช่น เราสามารถทำบทเรียนยากๆ ให้มันสนุกผ่านอารมณ์ขัน อย่างการ์ตูนสามก๊กของพี่หมู (สุชาติ พรหมรุ่งโรจน์) รามาวตารของพี่เฟน (อารีเฟน ฮะซานี) ซึ่งทำให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องวรรณคดีมากขึ้น เพราะเราย่อยข้อมูลเหล่านั้นแล้วปรุงมันด้วยอารมณ์ขัน หรืออย่างการที่ปังปอนด์ที่ได้เป็น brand ambassador และทูตของกระทรวงต่างๆ เพื่อสื่อสารให้ความรู้เด็กๆ ในด้านต่างๆ หรือหนูหิ่นที่ได้รับเลือกเป็นพรีเซนเตอร์ของเงินติดล้อ ซึ่งเป็นการใช้คาแรคเตอร์บวกอารมณ์ขันเพื่อเล่าเรื่องการเงิน การกู้ยืม ดอกเบี้ย ที่ฟังดูยากๆ ให้ประชาชนทั่วไปฟัง เพราะตัวหนูหิ่นเองก็ชัดเจนว่ามีความเป็นเพื่อนของทุกคน ใครๆ ก็รัก เข้าถึงง่าย ซื่อ และจริงใจ คนทั่วไปแม้ไม่มีความรู้เรื่องการเงินมาก่อนก็จะรู้สึกว่า เรื่องนี้เป็นมิตรและใกล้ตัวกับเขามากกว่าหากหนูหิ่นเป็นคนเล่า ทำให้โปรเจกต์นี้ได้รับการตอบรับที่ดีมาก หรือแม้กระทั่ง dark humour อารมณ์ขันเชิงเสียดสก็มีพลังในแบบของมัน เช่น การ์ตูนล้อการเมือง เพราะอารมณ์ขันมันซอฟต์กว่า ทำให้คนเปิดรับได้ง่ายกว่า
ความฮาไม่มีวันหมดนะ จักรวาลความขำของขายหัวเราะมันกว้างใหญ่มาก เราเล่นได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่ก้อนอิฐริมทางเดิน หรือคนที่เราบังเอิญเดินไปเจอ อยู่ที่วิธีการใช้ ที่ขายหัวเราะอยู่มาได้กว่า 40 ปี ก็เพราะทรัพยากรของเราไม่มีวันหมด และเราหมั่นเติมมันเรื่อยๆ
ในระดับสังคม มองว่า จริงๆ แล้วค่านิยมที่สอนให้เรายิ้มกับทุกเรื่อง หัดพูดว่าไม่เป็นไรกับทุกอย่าง มันมีผลดีหรือผลเสียกันแน่
จริงๆ แล้วก็มีทั้งผลดีและผลเสียค่ะ อย่างผลดีคือเรื่องของพลังใจ การส่งเสริมให้คนมองโลกในแง่ดี เช่น บางทีเราก็ทำให้คาแรคเตอร์ของเรามีพลังบวกมากๆ เพื่อเชียร์อัพคนอื่น เพราะเราเชื่อว่าพลังใจเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง อย่างหนูหิ่น ไม่ว่าเขาจะเจออุปสรรคอะไร เขาไม่ท้อเลยนะ
แต่ข้อเสียก็มีอยู่ เช่น เป็นค่านิยมที่บังคับให้เราต้องโอเคกับทุกอย่าง ยอมรับกับอะไรง่ายๆ ทั้งที่บางทีมันอาจไม่โอเค แต่เราจะรู้สึกว่า การที่เราไม่โอเคมันเป็นเรื่องไม่ดี ทั้งที่จริงๆ มันไม่ใช่ ในความเป็นมนุษย์มันก็ต้องมีทั้งเรื่องที่โอเคและไม่โอเคอยู่แล้ว
แต่เรามองว่าการมองโลกในแง่ดีกับการหัวเราะมันเป็นคนละเรื่องกันนะ เพราะก็มีหลายครั้งที่เราหัวเราะ เพราะมองมันเป็นตลกร้าย เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วสิ่งสำคัญคือ ในความมองโลกในแง่ดี เราก็ควรตั้งคำถามด้วยว่า เบื้องหลังที่ทำให้เกิดความตลกและรอยยิ้มนั้น มันคือเรื่องอะไร หรือมันอาจเป็นความขำที่เกิดจากเรื่องเสียดสีที่ตรงใจเราหรือเปล่า ถ้าเรารู้ เข้าใจตัวเอง คนรอบข้าง รวมถึงสังคม เราจะมองเห็นทุกเรื่องด้วยความเป็นจริง
ติดตามความเคลื่อนไหวของขายหัวเราะได้ที่
fb : Kaihuaror
line : KaiHuaRor ขายหัวเราะ
จากคอลัมน์ Face โดย ฆนาธร ขาวสนิท : giraffe Magazine 42 — Humour Issue
ติดตามเรื่องราวอื่นๆ ได้ที่ readgiraffe.com