‘เทพที่ปกครองความฝันจะมีประโยชน์อะไร?’
‘ไม่ใช่เทพ สูงกว่าเทพ แล้วมนุษย์น่ะไม่ได้ถูกควบคุมโดยความฝันรึ?’
บทสนทนาสั้นๆ ระหว่างพ่อมดร็อดเดอริก เบอร์เจสส์และฝันร้ายโครินเธียนนั้นเป็นคำถามที่อยู่ใจกลางของ The Sandman ตั้งแต่ต้นจนจบ มนุษย์ถูกควบคุมโดยความฝันจริงรึเปล่า? เรามีความควบคุมต่อชีวิตตัวเองขนาดไหน? ไม่ใช่คำตอบที่ตอบง่าย เพราะแม้แต่ในชีวิตจริงเราอาจตอบคำถามนั้นไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะคำตอบอาจอยู่ที่มุมมองต่อชีวิตสำหรับแต่ละคน
แล้วที่สำคัญคือ The Sandman ซีรีส์และหนังสือที่เล่าเรื่องของมอร์เฟียส ราชาแห่งโลกความฝันและเรื่องราวมีมุมมองต่อเรื่องนี้ยังไง?
ก่อนจะสามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้เราอาจต้องถอยออกมาจากเส้นเรื่องหลักของซีรีส์พิศวงเรื่องนี้ แล้วมองไปยังจักรวาลที่นีล ไกแมน (Neil Gaiman) สร้างขึ้น ทั้งครอบครัวของมอร์เฟียสผู้เป็นตัวแทนของแง่มุมต่างๆ ในชีวิตของสิ่งมีชีวิต และมองไปยังพิภพอื่นๆ ในจักรวาลนี้
(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาในเส้นเรื่องย่อยของซีรีส์และหนังสือ The Sandman)
ดิเอนด์เลสและหน้าที่ของพวกเขา
มอร์เฟียสหรือดรีม (Dream) เป็นตัวแทนของความฝัน แต่มนุษย์ไม่ได้มีแง่มุมเดียวในชีวิต โดยแง่มุมอื่นๆ นั้นถูกแทนอยู่ในรูปของพี่น้อง 7 องค์ มีชื่อเรียกว่าดิเอนด์เลส (The Endless) ประกอบด้วยเดสตินี่ (Destiny) ตัวแทนของโชคชะตา ดีซายร์ (Desire) ตัวแทนของความปรารถนา เดสแพร์ (Despair) ฝาแฝดของดีซายร์และตัวแทนของความสิ้นหวัง ดีไลต์/เดลิเรี่ยม (Delight/Delirium) ตัวแทนความบ้าคลั่งที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นความสุข เดธ (Death) ตัวแทนของความตาย และน้องผู้ละทิ้งความรับผิดชอบ เดสทรักชั่น (Destruction) ตัวแทนของการทำลายล้าง
เมื่อสิ่งมีชีวิตใดๆ พูดถึงพวกเขาเราอาจมีชื่อเรียกให้ตามวัฒนธรรมของพวกเขา เช่น ชาวกรีกอาจเรียกดรีมว่าโอไนรอส หรือเรียกเดธว่าเทลูท แต่ไม่ว่าจะเรียกด้วยชื่ออะไร ชื่อที่แท้จริงของพวกเขานั้นผูกกับความรับผิดชอบของตัวเองโดยตรง นั่นแปลว่าการมีอยู่ของพวกเขาเชื่อมโยงกับหน้าที่อย่างแท้จริง และธรรมชาติของความรับผิดชอบเหล่านั้นที่ควบคุมตัวตนของพวกเขาในระดับหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น เมื่อพูดถึงธรรมชาติของความปรารถนานั้นครอบงำผู้คน เมื่อเราปรารถนาอะไรสักอย่างหรือเมื่อเรารักใครสักคน ความปรารถนานั้นสามารถบดบังทุกอย่างรอบตัวของเราได้ ไม่ว่ารักนั้นจะทำให้เจ็บปวดหรือทุกข์โศกขนาดไหน ธรรมชาติของดีซายร์ผู้เป็นตัวแทนของความปรารถนาจึงมีตัวตนที่สะท้อนความรับผิดชอบในการทำให้สิ่งมีชีวิตรักและต้องการ ทำให้ตัวตนของดีไซร์ครอบงำและชักใยผู้คนไม่ต่างจากหน้าที่ของเขา
แต่เมื่อพูดถึงธรรมชาติของความตายที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องเจอ อาจมองว่าด้วยความรับผิดชอบที่มั่นคงในระดับของการดับชีวิตใครสักคนแล้วความตายน่าจะควบคุมมนุษย์ไม่ต่างจากความปรารถนา แต่ในเรื่องนี้ตรงกันข้าม ผู้คนย่อมมีความรู้สึกที่แตกต่างกันต่อความตาย และบ่อยครั้งความรู้สึกนั้นไม่ใช่แง่บวก อาจเป็นความกลัว อาจเป็นความเสียดาย ความโศกเศร้า หรือความติดค้าง เดธเลือกที่จะมีมุมมองต่อหน้าที่ของเธอว่าเธอเป็นผู้ที่จะส่งให้พวกเขาไปยังแดนไร้ตะวันด้วยรอยยิ้ม
ฝันเป็นนาย หรือเราเป็นนายฝัน?
และในความแตกต่างนั้นเองที่ทำให้ความฝันอยู่อยู่ในจุดที่น่าสนใจ ความฝันในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงสิ่งที่เราพบเจอเมื่อเราหลับใหลเท่านั้น แต่รวมถึงความฝันใฝ่ที่เรามีเมื่อเราตื่นด้วย เราก็กลับมาที่คำถามของเรา มนุษย์ถูกควบคุมโดยฝันจริงหรือไม่? และแม้แต่มอร์เฟียสเองในฐานะราชาของความฝันก็ยังไม่มั่นใจในคำตอบของคำถามนั้น
ในฐานะราชาผู้มีพลังมหาศาลพร้อมความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ในการดูแลโลกความฝันและการนอนหลับของสิ่งมีชีวิตทั่วจักรวาล มอร์เฟียสมักมีความหยิ่งทะนงในความรับผิดชอบของตัวเองอย่างมาก ในระดับที่ไม่อาจมองว่าสิ่งมีชีวิตเช่นเขาจะสามารถมีปัญหาเช่นเดียวกับมนุษย์ อย่าง ความเหงา ความสัมพันธ์ ความผิดพลาด ฯลฯ แต่เขาเองก็ต้องตั้งคำถามเมื่อเขาถูกจองจำโดยมนุษย์
ในตอนที่ 6 ของซีรีส์ The Sound of her Wings การปรึกษากันและกันระหว่างเดธและดรีม ตัวแทนความตายพูดถึงมุมมองต่อหน้าที่ของเธอและของทุกคนในครอบครัว ‘เหตุผลเดียวที่ทำให้มีเราอยู่…เราอยู่ที่นี่เพื่อรับใช้พวกเขา’ และเมื่อพูดแบบนั้นแล้วนำมาใช้กับการมองความฝัน ในขณะที่ความใฝ่ฝันขับเคลื่อนเรา จะมีความฝันจะมีอยู่ได้ยังไงหากไร้ผู้ฝัน?
และอำนาจของเราในจักรวาลนี้มีนอกเหนือจากความฝันและความตาย แต่ลงไปยังนรกภูมิด้วย ‘พวกเขาให้เราเอาเพลิงลงนรกมาเองหรือ?’ แมทธิว ชายผู้กลายเป็นกาของมอร์เฟียสถามเมื่อพวกเขาเดินทางไปยังนรกเพื่อตามหามงกุฎของมอร์เฟียสที่ตกอยู่ในมือปีศาจ โดยมากแล้วในความเชื่อและปกรณัม นรกคือที่ที่ผู้ที่ถูกลงทัณฑ์ไปหลังความตายจากบาปที่พวกเขาทำ แต่ในเรื่องนี้นรกมีลักษณะพิเศษอีกหนึ่งอย่าง คือมันจะมีอยู่สำหรับคนที่เชื่อว่ามี และมันจะเปิดรับเฉพาะผู้ที่คิดว่าตัวเองต้องถูกลงทัณฑ์เท่านั้น เรื่องนี้ถูกขยายความอย่างมากในหนังสือเล่มที่ 4 The Season of Mists ที่เกี่ยวกับนรกล้วนๆ
ดูเหมือนว่ามุมมองของ The Sandman ต่อเรื่องนี้อาจนำมาสู่คำตอบว่าทั้งเราและฝันมีอำนาจต่อกันและกันในระดับเดียวกัน
แต่วิลเลี่ยม เชคสเปียร์เป็นข้อยกเว้น
หนึ่งในวิธีการที่ดีที่เราจะนำไปสู่คำตอบได้ คือการมองหาข้อยกเว้น และข้อยกเว้นของความสัมพันธ์พึ่งพาอาศัยของมนุษย์และความฝันใน The Sandman คือเรื่องราวของนักเขียนบทละครเวทีชาวอังกฤษวิลเลี่ยม เชคสเปียร์ (William Shakespeare)
‘ข้าจะยอมแลกอะไรก็ได้ เพื่อมอบความฝันที่คงอยู่ยาวนานให้ผู้คนหลังจากข้าสิ้นชีวิตไปแล้ว’ เชคสเปียร์ ในเวลานั้นนามว่า วิล แช็กซเบิร์ดพูดกับเพื่อนของเขาในผับในตอนที่ 6 ของซีรีส์ และเมื่อมอร์เฟียสบังเอิญได้ยินเช่นนั้น ราชาแห่งฝันเข้าหาเขาเพื่อเสนอสัญญาเพื่อให้วิลสามารถเขียนละครดีๆ ที่ปลุกความคิดในผู้คน แต่ด้วยวิธีใด?
ของขวัญที่มอร์เฟียสให้นั้นไม่เคยถูกพูดถึงอย่างแน่ชัด แต่สิ่งที่เชคสเปียร์ต้องแลกไปนั้นทำให้ภาพชัดเจนมากขึ้น ในเวอร์ชั่นหนังสือตอนที่ 34 A Midsummer Night’s Dream ลูกชายของวิล แฮมเน็ต พูดถึงพ่อของเขาต่อเพื่อนร่วมคาราวานว่า ‘เขาห่างเหิน บางครั้งเหมือนเขาไม่อยู่ตรงนั้นเลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเขาก็นำมันไปแต่งเรื่อง ฉันมีตัวตนจริงน้อยกว่าเรื่องราวของเขาอีกด้วยซ้ำ’
และในการเจอกันครั้งสุดท้ายของวิลและมอร์เฟียส วิลพูดว่า ‘ข้ามองชีวิตราวกับว่ามองมันเกิดขึ้นกับผู้อื่น ลูกของข้าตายและข้าเจ็บปวด แต่ข้าก็เฝ้าดูความเจ็บนั้น และเพลิดเพลินกับมันน้อยๆ เพราะวันนั้นข้าสามารถความตายจริงๆ ได้ ความสูญเสียที่แท้จริง วันที่ข้าอกหัก ข้าร้องไห้ในห้องของข้าอย่างเดียวดาย แต่ระหว่างร้องภายในสักแห่งข้าก็แสยะยิ้ม เพราะข้ารู้แล้วว่าข้าสามารถนำเศษใจนั้นไปวางบนเวทีของโรงละครโกลบ’
ของขวัญที่มอร์เฟียสให้แก่เชคสเปียร์คือความฝันและเรื่องราวตามที่เขาต้องการ โดยแลกกับการเขียนละครให้มอร์เฟียส 2 เรื่อง แต่สิ่งที่เขาสูญเสียไปจริงๆ นั้นคือผลข้างเคียงของความฝันที่ยิ่งใหญ่ งดงาม และคงทน จนมันกลืนกลินชีวิตของเขาไปทั้งหมดนั่นเอง และนั่นคือเหตุผลที่เขาคือข้อยกเว้น เพราะเขาคือคนคนเดียวในประวัติศาสตร์ของจักรวาลนั้นที่ถูกฝันควบคุมผ่านสัญญานั่นเอง