อาร์ตทอย (Art Toy) ของสะสมที่อยู่กึ่งกลางระหว่างของเล่นและผลงานศิลปะซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง หากใครสงสัยว่าความนิยมดังกล่าวสูงแค่ไหน ผมขอแนะนำให้ลองหาชมภาพแถวยาวเหยียดของฝูงชนที่ต่อคิวรอเข้างานทอยเอ็กซ์โปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา แล้วจะทราบว่าอาร์ตทอยได้รับความนิยมในหมู่คนทุกเพศทุกวัยโดยไม่ได้จำกัดเฉพาะคนไทยหรือคนเอเชีย
อาร์ตทอยมีมานานหลายทศวรรษ สำหรับนักสะสมมือเก๋าอาจคุ้นเคยกับอาร์ตทอยรุ่นคลาสสิคอย่างเจ้าตากากบาท KAWS หรือเจ้าหมีหลากลวดลายอย่าง Bearbrick อาร์ตทอยเหล่านี้ราคาปกติก็อยู่เรือนหมื่น แต่สำหรับเวอร์ชั่นสุดพิเศษก็ราคาอาจเหยียบล้าน ส่วนอาร์ตทอยรุ่นใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างน้องปากเป็ด Molly และผลงานฝีมือศิลปินคนไทยอย่างน้องร้องไห้ Crybaby ก็มีจำหน่ายหลายคอลเล็กชั่นในราคาที่ปุถุชนคนงบน้อยสามารถจับต้องได้
ซึ่งในฐานะคนนอกวงการสะสมอาร์ตทอยเห็นแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ‘มูลค่า’ ของสะสมเหล่านี้มาจากไหน แล้วทำไมคนจำนวนไม่น้อยถึงยอมลำบากเพื่อให้ได้ครอบครอง โชคดีที่เหล่านักเศรษฐศาสตร์มีคำตอบ (อีกแล้ว!) พร้อมทั้งสูตร (กึ่ง) สำเร็จที่จะทำให้ของสะสมเหล่านี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต
มองของสะสมในมุมเศรษฐศาสตร์
การสะสมสิ่งของไม่ใช่เรื่องใหม่ หากย้อนกลับไปในอดีต เหล่ามหาเศรษฐีมักจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อซื้อผลงานศิลปะจากศิลปินหลากยุคหลายสมัย เครื่องเพชร นาฬิการาคาเรือนล้าน รวมถึงกระเป๋าแบรนด์หรู แต่สำหรับเหล่าอาร์ตทอยนั้นต่างออกไป เพราะหากมองในมุมของมนุษย์ผู้มีเหตุมีผล ของสะสมประเภทนี้ไม่มีการบริโภคหรือมูลค่าในแง่การลงทุนที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามกลับมีคนจำนวนมากที่ทุ่มเทเวลาและเงินทุนเพื่อซื้อหามาสะสมพร้อมทั้งดูแลรักษาอย่างทะนุถนอม นิตยสาร New York Times รายงานว่าผู้ใหญ่ชาวอเมริกันราวหนึ่งในสามสะสม ‘อะไรสักอย่าง’ ไม่ว่าจะเป็นของเก่า แสตมป์ เครื่องดนตรี หรือเหรียญ แต่ความนิยมอย่างล้นหลามกลับไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก
ยกตัวอย่างเช่นการ์ดสุดหายากอย่าง ‘ปิกาจูนักวาด’ ในการ์ดเกมโปเกมอน ของรางวัลจากการแข่งขันผลงานวาดรูปการ์ดโปเกมอนซึ่งประกาศชื่อผู้ชนะในปี 1998 การ์ดดังกล่าวไม่ได้มีพลังโจมตีสูงโดดเด่น หรือความสามารถพิเศษใดๆ แต่เสมือนเป็นของที่ระลึกซึ่งมีจำนวนหยิบมือ ล่าสุดการ์ดใบดังกล่าวถูกประมูลไปในราคา 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 220 ล้านบาท
ผลการประมูลดังกล่าวเรียกว่าฉีกตำราทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ใช้สมมติฐานว่ามนุษย์ทุกคนมีเหตุมีผล แล้วเสนอสมมติฐานใหม่ที่ว่ามนุษย์แต่ละคนมีพฤติกรรมและความต้องการซึ่งแตกต่างหลากหลาย ทุกคนต่างมีเหตุผลของตัวเอง และที่แน่ๆ คือพวกเราไม่ได้ใช้เหตุผลสำหรับทุกการตัดสินใจ
ตลาดของสะสมจึงเป็นตลาดพิเศษที่แยกตัวออกจากตลาดทั่วไป ในตลาดของสะสมแห่งนี้แทบไม่สอดคล้องกับสมมติฐานของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เพราะคนจำนวนไม่น้อยจ่ายเงินเพื่อซื้อ ‘สินทรัพย์ทางอารมณ์’ ที่อาจมีคุณค่าในแง่เรื่องเล่าแต่ไม่มีคุณค่าในแง่การผลิต ราคาของสินทรัพย์ดังกล่าวจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสังคมล้วนๆ
นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเหล่านักสะสมไม่ได้ซื้อหาสิ่งของเหล่านี้โดยมีเป้าหมายเพื่อสะสมผลกำไร เนื่องจากผลตอบแทนในตลาดของสะสมมีความผันผวนอย่างยิ่งและคาดการณ์ได้ยาก สาเหตุก็เพราะไม่มีวิธีประเมินราคามาตรฐาน ทุกอย่างจึงขยับขึ้นลงไปตามกระแสและความนิยม หนทางเก็งกำไรในตลาดของสะสมยังมีสามอุปสรรคที่นักลงทุนทั่วไปเบือนหน้าหนีคือสภาพคล่องที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น ไม่ได้สร้างรายได้ระหว่างการครอบครอง อีกทั้งยังมีต้นทุนการเก็บรักษาเพื่อให้ของเหล่านั้นยังอยู่ในสภาพดี
ดังนั้น เป้าหมายสำคัญของเหล่านักสะสมคือการสร้าง ‘อรรถประโยชน์’ หรือแปลเป็นภาษาไทยว่าความพึงพอใจ กล่าวคือเพียงได้เห็นของสะสมชิ้นนั้นรอต้อนรับเราตอนเดินเข้าบ้านก็ทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจโดยไม่ได้หวังว่าของชิ้นนั้นจะขายได้ราคาเพิ่มมากขึ้นหรือนำไปใช้ผลิตอะไรได้ แน่นอนว่าอรรถประโยชน์ดังกล่าวไม่สามารถแปลงเป็นมูลค่าทางการเงินอย่างตรงไปตรงมา แต่หากยึดความพึงพอใจเป็นหลัก เราก็จะสามารถเข้าใจพฤติกรรมของนักสะสมได้ดียิ่งขึ้น เพราะแต่ละคนย่อมมีรสนิยมทาง ‘ความสุข’ ที่ไม่เหมือนกัน
มูลค่า ‘ของสะสม’ มาจากไหน?
แม้ว่าจะไม่มีทฤษฎีที่สามารถอธิบายหรือประเมินมูลค่าของสะสมได้อย่างตรงไปตรงมา แต่อย่างน้อยของสะสมราคาแพงก็มีลักษณะร่วมบางประการที่อาจใช้อธิบายได้ว่าทำไมถึงมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับราคาขายตั้งต้น
อย่างแรกคือความขาดแคลนที่แปลงของธรรมดาให้เป็นของสะสม
ย้อนกลับไปในปี 1938 ซุปเปอร์แมนปรากฏตัวเป็นครั้งแรกในหนังสือคอมิกส์ที่เรียกกันว่า Action Comics #1 คอมิกส์ดังกล่าวตีพิมพ์ร่วม 200,000 ฉบับและจำหน่ายในราคา 10 เซ็นต์เท่านั้น แต่ด้วยคุณภาพกระดาษที่ค่อนข้างต่ำเทียบเท่าได้กับหนังสือพิมพ์ คอมิกส์ดังกล่าวจึงเหลือรอดมาถึงปัจจุบันเพียงไม่ถึง 100 ฉบับ และสำหรับเหล่าผู้โชคดีที่เก็บรักษาเอาไว้ได้ในสภาพดีก็สามารถนำมาจำหน่ายในราคาฉบับละ 3.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 120 ล้านบาท
ในทางกลับกัน หากของสะสมดังกล่าวยังสามารถซื้อหาได้ไม่ยาก เช่นในปี 1992 ที่ค่ายดีซีประกาศว่าจะตีพิมพ์คอมิกส์ที่ซุปเปอร์แมนปรากฎตัวเป็นครั้งสุดท้าย กลายเป็นกระแสฟีเวอร์ของเหล่านักสะสมทั้งมือใหม่และมือเก๋าที่หวังว่าคอมิกส์ฉบับดังกล่าวจะราคาพุ่งสูงเช่นเดียวกับ Action Comics #1 ค่ายดีซีฉวยโอกาสจากกระแสดังกล่าวตีพิมพ์คอมิกส์ออกมาในปริมาณมหาศาล ยังไม่นับเวอร์ชั่นนักสะสมทั้งในรูปแบบปกฟอยล์ ปั๊มนูน หรือมีภาพปกแบบสามมิติ ทำให้สุดท้ายแล้วราคาของคอมิกส์ไม่ได้ขยับขึ้นมากมาย ยังไม่นับเรื่องที่ค่ายดีซีหักหลังแฟนๆ โดยชุบชีวิตซุปเปอร์แมนให้ตอนท้ายเรื่องเสียอีก!
อย่างที่สอง เพิ่มความพิเศษด้วยเรื่องเล่า
มูลค่าทางอารมณ์ในแง่ของสะสมย่อมมาจากเรื่องเล่าและความเชื่อมโยงกับมนุษย์คนอื่นๆ เรื่องเล่าจะทำให้ของสะสมมีความพิเศษยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นผลงานอาร์ตทอยที่มีลายเซ็นของนักออกแบบ รองเท้าของนักฟุตบอลที่ใส่แข่งขันในแมตช์สำคัญ หรือผลงานอาร์ตทอยที่เกิดจากการร่วมมือของแบรนด์ต่างๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเช่นเหล่า Bearbrick ที่จับมือกับแบรนด์อย่าง Coco Chanel หรือศิลปินผู้ออกแบบ KAWS ที่ต่างทำให้เป็นที่ต้องการอย่างล้นหลามในตลาดนักสะสมจนราคาพุ่งสูงลิ่ว
อย่างสุดท้าย คือองค์ประกอบของการสุ่มเพื่อกระตุ้นความเร้าใจ
มนุษย์ส่วนใหญ่ชื่นชอบการเสี่ยงดวง การเพิ่มองค์ประกอบของการสุ่มทำให้ราคาของสะสมพุ่งขึ้นหลายเท่าตัว โดยจุดเริ่มต้นคือความบังเอิญที่ผู้บริหารบริษัท Upper Deck ผู้ผลิตการ์ดนักเบสบอลสำหรับนักสะสมในสหรัฐอเมริกานั่งดูหนังในดวงใจกับลูกๆ รอบแล้วรอบเล่า หนังที่ว่านั้นคือโรงงานช็อคโกแล็ตมหัศจรรย์ (Willy Wonka And The Chocolate Factory) ที่ซ่อนตั๋วสีทองสุดพิเศษ 5 ใบไว้ในห่อช็อกโกแลต เด็กๆ ที่เปิดได้จะสามารถใช้ตั๋วดังกล่าวเพื่อเข้าชมโรงงานมหัศจรรย์
เขานำไอเดียดังกล่าวไปใช้งานจริงโดยที่ ‘ตั๋วสีทอง’ ของเขาคือการ์ดนักเบสบอลดาวรุ่งเรจจี้ แจ็คสัน (Reggie Jackson) พร้อมลายเซ็นและหมายเลขกำกับจำนวนทั้งหมด 2,500 ใบ การ์ดดังกล่าวจะถูกสุ่มใส่เข้าไปในซองเพื่อเปิดโอกาสให้เหล่านักสะสมค้นหา สำหรับใครโชคดีที่เปิดเจอเรจจี้ก็สามารถนำมาจำหน่ายต่อได้ในราคาร่วมหมื่น เทคนิคดังกล่าวแพร่หลายอย่างยิ่งในปัจจุบันโดยเหล่าดีไซน์เนอร์มักจะมีอาร์ตทอย ‘ตัวละครลับ’ ในแต่ละคอลเล็กชั่นให้เหล่านักสะสมค้นหา ความพิเศษ ความหายาก และองค์ประกอบของดวงทำให้ของสะสมลักษณะนี้ราคาพุ่งขึ้นหลายเท่าตัว
นี่คือสามองค์ประกอบเบื้องต้นที่ทำให้ของสะสมมีมูลค่าสูงขึ้นในตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนของเหล่านักสะสม แต่แน่นอนว่าต่อให้นักเศรษฐศาสตร์จะมุ่งมั่นทำความเข้าใจมนุษย์เพียงใด แต่เราก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่สลับซับซ้อนและแตกต่างหลากหลายเกินกว่าจะอธิบายได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์โดยทฤษฎีหรือแบบจำลอง
สิ่งสำคัญคือการตอบตัวเองว่าราคาที่จ่ายสอดคล้องกับ ‘ความพึงพอใจ’ ของเราหรือไม่ หากคำตอบคือใช่ การซื้ออาร์ตทอยเหล่านั้นก็ถือว่าคุ้มค่า
อ้างอิงจาก
Economics of Collectibles: Fighting the Assimilation of Desire
Some Economics of Collectibles
We Buy a Superhero 7: Collectibles