ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) คือคำที่คนไทยพบเห็นได้แทบทุกวันในช่วง 2-3 ปีมานี้ ว่ากันว่าสิ่งนี้นี่แหละที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กระตุ้นให้ต่างชาติสนใจ เข้ามาท่องเที่ยว ลงทุน ทั้งยังอาจเป็นรากฐานเพื่อการก่อร่างสร้างชาติในโลกยุคใหม่ที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ดี หนึ่งในหัวใจสำคัญของการผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ที่หลายภาคส่วนมองข้าม คือ ‘ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property)’ หรือ ‘IP’ ผลงานอันเกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้น หรือสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งยิ่งประเทศสามารถสร้าง IP ของตัวเองให้โดดเด่นและแข็งแรงได้มากเท่าไหร่ โอกาสที่มันจะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ สร้างกำไรและดึงความสนใจของชาวต่างชาติก็มีมากเท่านั้น ทว่าปัญหาอยู่ตรงที่วันนี้คนไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับ IP มากเท่าที่ควร เราเป็น ‘แรงงาน’ ช่วยประเทศอื่นสร้าง IP ของเขา มากกว่าที่จะเป็น ‘เจ้าของ’ สร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญาของเราให้เป็นที่ต้องการของตลาดโลก
ด้วยเหตุนี้เองจึงนำมาซึ่งบริษัทใหม่แกะกล่องอย่าง The World Engine บริษัทในเครือ KP Comic Group ที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าให้แก่ทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย ตั้งใจผลักดันบทประพันธ์ในประเทศสู่ระดับสากล พร้อมมองหาโอกาสในการต่อยอดทรัพย์สินเหล่านั้นไปยังสื่อใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย การ์ตูน หรือกระทั่งซีรีส์ โดยหนึ่งในโครงการตั้งต้นที่ The World Engine และเหล่าพันธมิตรเข้าไปมีส่วนร่วม คือ T-Toon Script Contest 2024: บทจะเขียน ก็ได้เขียน โครงการเฟ้นหาบทเว็บตูนที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นทรัพย์สินทางปัญญา หรือดัดแปลงเป็นสื่ออื่นๆ ต่อไปในอนาคต
เพื่อให้เข้าใจรายละเอียดของโครงการ ความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงทิศทางของซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้มากขึ้น The MATTER จึงขอพาทุกคนมาพูดคุยกับ ภัทร ชนารัตน์ Co-founder แห่งบริษัท The World Engine และ สุวัฒน์ โปษยะวัฒนากุล นักเขียนบทเว็บตูน ผู้ชนะการประกวด T-Toon Script Contest 2024
มาร่วมสำรวจตรวจสอบไปพร้อมกันว่า อนาคตของซอฟต์พาวเวอร์ไทยจะเป็นอย่างไร และทำไมคนทำงานสร้างสรรค์ในประเทศนี้ถึงยังมีความหวังรออยู่ที่ปลายอุโมงค์
บทจะเขียน ก็ได้เขียน
“จริงๆ ผมเป็นเภสัชกร ทำงานอยู่บริษัทยา จนถึงช่วงหนึ่งโดนคล้ายๆ เลย์ออฟ จึงตัดสินใจออก ก็ว่างงานมาเรื่อยๆ ตอนนั้นได้เจอโครงการนี้พอดี เห็นว่าน่าสนใจ ก็เลยลองส่ง”
สุวัฒน์ โปษยะวัฒนากุล เล่าถึงที่มาในการสมัครเข้าร่วมโครงการ T-Toon Script Contest 2024: บทจะเขียน ก็ได้เขียน การตัดสินใจของสุวัฒน์สะท้อนว่า แท้จริงแล้วความคิดสร้างสรรค์ซุกซ่อนอยู่ในตัวของเราทุกคน ขอเพียงเวทีที่ช่วยให้ฝีมือและความคิดนั้นได้เฉิดฉาย ซึ่งโครงการประกวดบทเว็บตูนนี้เองที่ช่วยจุดประกายให้เภสัชกรคนหนึ่งลองจับแป้นพิมพ์เล่าเรื่อง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการรังสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญาในเวลาต่อมา
สุวัฒน์ไม่คาดคิดว่า ตัวเองจะมาได้ไกลถึงขั้นได้รับรางวัลชนะเลิศ เขามีเวลาเพียงหนึ่งเดือน แต่ก็พยายามปั้นแต่งเรื่องราวความยาวไม่เกิน 10 หน้ากระดาษจนสำเร็จสมบูรณ์
“โชคดีที่รอบแรกส่งแค่พล็อต ไม่ต้องลงรายละเอียดเยอะ ผมเลยคิดว่าลองส่งดูก็ได้ ไม่มีอะไรเสียหาย” สุวัฒน์เล่าด้วยรอยยิ้ม
ทางฝั่งผู้จัดการแข่งขันอย่างภัทร ชนารัตน์ เผยที่มาของโครงการซึ่งถูกจัดทำด้วยความตั้งใจและเข้าใจ เขาเล่าว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทย ให้เห็นถึงโอกาสในการสร้างรายได้จากจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งผลงานที่เกิดขึ้นเป็นงานลิขสิทธิ์จัดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง กรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงร่วมมือกับ KP Comics Studios และ The World Engine ให้กำเนิดโครงการ T-Toon Script Contest 2024 เพื่อเฟ้นหาผลงานที่ควรค่าแก่การต่อยอด
“ญี่ปุ่นกับเกาหลีมี IP เยอะมาก จริงๆ คนไทยก็ทำได้เหมือนกัน คนไทยเก่งๆ มีตั้งเยอะ” ภัทรเล่าด้วยความมั่นใจ
ในทีแรก กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องการให้การประกวดอยู่ในรูปแบบของเว็บตูน แต่ภัทรและทีมมองว่ารูปแบบดังกล่าวอาจจะไม่ตอบโจทย์ เพราะการทำเว็บตูนต้องอาศัยทักษะหลายด้าน ตั้งแต่การแต่งเรื่อง วาดภาพ จนถึงลงสี ซึ่งผู้ที่จะมีฝีมือรอบด้านครบจบในคนเดียวขนาดนี้มีจำนวนน้อย เพราะฉะนั้น ทุกฝ่ายจึงลงความเห็นร่วมกันว่าจัดเป็นโครงการประกวดเขียนบทน่าจะตอบโจทย์มากที่สุด
“ตอบโจทย์ยังไงบ้าง” เราถาม
“โอกาสจะเปิดกว้างมากขึ้น เพราะไม่ว่าใครก็ทำได้ ขอแค่มีไอเดียและลงมือเขียน แล้วสุดท้าย ต่อให้เรื่องที่ส่งเข้ามาจะไม่ได้พัฒนาต่อเป็นเว็บตูน อย่างน้อยทรัพย์สินทางปัญญาของไทยก็เกิดขึ้นแล้ว มันอาจจะถูกนำไปทำต่อเป็นซีรีส์หรือหนังก็ได้ การขยาย IP ก็ง่ายขึ้น การขยายซอฟต์พาวเวอร์ก็ง่ายขึ้น” ภัทรอธิบาย
เกมล้างกรรม
โครงการ T-Toon Script Contest 2024 มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 300 คน ถือเป็นกระแสตอบรับที่น่าพอใจ ตอกย้ำว่า แม้จะยังไม่มีพื้นที่ในการแสดงฝีมือมากนัก แต่คนไทยก็พร้อมใจแสดงจินตนาการของตัวเองทุกครั้งที่มีโอกาส ทว่าจำนวนกว่า 300 พล็อตเรื่องที่ส่งเข้ามาก็ส่งผลให้คณะกรรมการต้องพิถีพิถันในการคัดเลือกเป็นพิเศษกว่าจะได้ 10 เรื่องที่ดีที่สุด ก่อนที่สุดท้ายจะกลั้นใจตัดชื่ออีกครั้งจนเหลือ 3 เรื่องที่ได้รับรางวัล
ผู้จัดอย่างภัทรถึงกับพูดแบบติดตลกว่า หากปีหน้ามีการประกวดอีก จำนวนผู้สมัครอาจพุ่งไปถึงหลักพันเลยทีเดียว
อย่างที่ทราบกันว่า รางวัลชนะเลิศในปีนี้ตกเป็นของสุวัฒน์ โปษยะวัฒนากุล อดีตเภสัชกรผู้เนรมิตเรื่องราวแฟนตาซีอย่าง เกมล้างกรรม จนสามารถคว้าใจกรรมการได้อยู่หมัด โดยเกมล้างกรรมว่าด้วยเรื่องราวของยมทูตผู้ต้องการดวงวิญญาณของตัวเอกที่เพิ่งเสียชีวิต ทว่าตัวเอกยังไม่พร้อมจากไป จึงสร้างเงื่อนไขกับยมทูต เกิดเป็นเกมล้างกรรม เกมที่ถ้าหากตัวเอกเอาชนะก็จะได้กลับคืนร่างและใช้ชีวิตต่อไปในฐานะมนุษย์อีกครั้ง
“เกมแต่ละเกมเปรียบได้กับบาปแต่ละข้อ คนอ่านต้องลุ้นว่า ตัวเอกจะผ่านเกมทั้งหมดไปได้หรือไม่อย่างไร เกมมี 8 ด่าน ต้องชนะให้ได้เกินครึ่งจึงจะฟื้น” สุวัฒน์บรรยาย
ภัทรช่วยเสริมว่า พล็อตเกม 8 ด่านของสุวัฒน์มีข้อดีตรงที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นการ์ตูน ซีรีส์ หรือภาพยนต์ได้สะดวก อีกทั้งคอนเซปต์ยังมีความเป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหนก็มีมุมมองต่อเรื่องการชำระล้างความผิดคล้ายคลึงกัน
“ตัวละครต้องเล่นเกมล้างบาป ผมคิดว่า นี่เป็นไอเดียที่เข้าถึงง่าย ชาติไหนก็เข้าใจ ถึงผมจะไม่ใช่กรรมการ แต่ผมมองว่า นี่น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกมล้างกรรมได้รับรางวัลชนะเลิศ”
Let’s go to Korea
ก่อนที่การประกวดจะเสร็จสิ้นเรียบร้อย เจ้าของโครงการได้จัดกิจกรรมเวิร์กชอปเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เพราะนอกจากการพัฒนาโครงเรื่องแล้ว ผู้จัดยังต้องการให้คนที่ทำงานสร้างสรรค์รู้จักการปกป้องสิทธิ์ของตัวเอง เข้าใจว่าข้อกำหนดของทรัพย์สินทางปัญญามีอะไรบ้าง เพื่อให้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบในอนาคต ทั้งยังอาจเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการต่อยอดวิชาชีพต่อไป โดยผู้ที่ไม่สะดวกมาเวิร์กชอปก็สามารถศึกษาข้อมูลย้อนหลังได้จากคลิปวิดีโอและเท็มเพลตสรุปข้อมูลที่ทางทีมงานเตรียมพร้อมไว้ให้
มากไปกว่านั้น หลังการประกวดสำเร็จเรียบร้อย ผู้ชนะอันดับ 1 ถึง 3 ยังได้ไปศึกษาดูงานด้านการทำการ์ตูนต่อ ณ ประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย
“เราอยากให้ผู้ชนะได้เห็นกระบวนการทำงาน เห็นว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างไร ซึ่งในทริปมีเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปด้วย ดังนั้นก็เหมือนทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน เรียนรู้เสร็จก็อาจจะนำองค์ความรู้กลับมาประเทศไทย ใครจะรู้ นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของประเทศเราก็ได้” ภัทรเล่าอย่างมีความหวัง
ด้านอดีตเภสัชกรที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเว็บตูนมีหน้าตาอย่างไรเล่าว่า ทริปนี้ช่วยให้โลกทัศน์ของเขากว้างขึ้นมาก ได้รู้ว่าซีรีส์เกาหลีหลายเรื่องถูกพัฒนามาจากเว็บตูน อาทิ Itaewon Class, The Uncanny Counter, Navillera ฯลฯ
“ผมได้ไป National Open University in Korea 1 วันเต็ม ได้ดูขั้นตอนการคิด การวาด เขาเล่าให้ฟังด้วยว่า ผลิตภัณฑ์จากซีรีส์ Squid Game สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ ได้ไป Korean Manhwa Museum ยิ่งใหญ่มาก เขาทำเหมือนเป็นย่านที่มีไว้สำหรับการพัฒนามันฮวา (การ์ตูนเกาหลี) โดยเฉพาะ” แววตาของสุวัฒน์เปี่ยมไปด้วยความประทับใจ
ถ้าไม่มีใครทำ เราจะทำเอง
“มีชาวต่างชาติถามผมว่า ถ้าอยากนำตัวละครไทยเข้าไปใส่ในเกม มี IP ไหนดังๆ แนะนำบ้าง ผมตอบคำถามนี้ไม่ได้ โห! มันน่าเศร้านะ จริงๆ เมืองไทยมีนะครับ IP ของตัวเอง แค่มันอาจจะยังไม่กว้างขวางมากพอ” ภัทรระบายความในใจ
แน่นอนว่าเบื้องหน้าที่สำคัญที่สุดคงจะต้องเป็นกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ริเริ่มโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทยเกี่ยวกับบทเว็บตูนขึ้นมา และหนึ่งในทีมเบื้องหลังที่สำคัญของโครงการ T-Toon Script Contest ในครั้งนี้หนีไม่พ้น The World Engine บริษัทที่ภัทรในฐานะ Co-founder ผู้มีประสบการณ์ในแวดวงอนิเมชันหมายมั่นปั้นมือว่าจะช่วยส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้ไปได้ไกลอย่างที่ควรจะเป็น โดยในช่วงต้น The World Engine จะมุ่งเน้นไปที่ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทนิยายกับเว็บตูนก่อน เพราะสองสิ่งนี้เอื้อต่อการสร้าง IP จำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น สามารถนำไปแปลเพื่อส่งออกได้ง่าย ทั้งยังใช้งบประมาณที่ไม่สูงจนเกินไป
ภัทรกล่าวอย่างหนักแน่นว่า “เราอยากสร้างบริษัทที่ทำ IP ไทยส่งออกนอกประเทศ ทุกวันนี้บริษัททำ IP ในไทยมีไม่มาก ทั้งที่จริงๆ แล้วรุ่นน้องผม คุณสุวัฒน์เอง หรือทุกคนที่ส่งผลงานเข้ามา ทุกคนเก่งมาก เราอยากต่อยอดสิ่งนี้ แต่ถ้าไม่มีใครทำ เราก็จะทำเอง”
ฝั่งผู้เข้าประกวดอย่างสุวัฒน์ก็ประทับใจในการทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป้าหมายของภัทรและ The World Engine เพราะหลายรายการประกวดที่เขาพบเจอมามักเป็นการประกวดที่จัดแล้วจบไป ไม่ได้มีการนำผลงานไปต่อยอดหรือสร้างมูลค่าเพิ่ม ตรงกันข้าม T-Toon Script Contest 2024: บทจะเขียน ก็ได้เขียน ไม่เพียงพาผู้ชนะอย่างสุวัฒน์ไปล่าประสบการณ์ไกลถึงเกาหลี แต่ยังเปิดให้เขามีอิสระเต็มที่ในการต่อยอดผลงานของตัวเอง กล่าวคือลิขสิทธิ์ของบทเว็บตูนเรื่องเกมล้างกรรมยังอยู่ที่ตัวผู้สร้างสรรค์ และวันนี้ เกมล้างกรรกมล้างกรรมได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา พัฒนาต่อยอด มาเป็นนวนิยายที่จะเปิดให้พรีอออเดอร์ที่บูท THE WORLD ENGINE ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 29 วันที่ 10-20 ตุลาคม 2567 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook KP Comics Studios
“ถ้ามีโอกาสแนะนำผู้ที่ฝันอยากเป็นนักเขียน ทั้งสองคนจะแนะนำว่าอะไร” เราถาม
“ถ้าชอบและฝันก็ต้องพยายาม หาโอกาสและเวที ต่อให้ไม่ชนะ อย่างน้อยก็ได้ประสบการณ์ ต้องสู้ ต้องอย่ายอมแพ้” คือคำตอบจากปากของอดีตเภสัชกร
“ผมชอบคำนี้มาก ถ้าเราไม่ทำ ยังไงผลลัพธ์ก็คือล้มเหลว แต่ถ้าทำ มันอาจจะล้มเหลวก็ได้นะ แต่อย่างน้อยก็มีโอกาสสำเร็จ” Co-founder ให้กำลังใจ
ก้าวต่อไปของทรัพย์สินทางปัญญาไทย
ในระหว่างการศึกษาดูงานที่ประเทศเกาหลีใต้ สุวัฒน์เล็งเห็นว่า กระทั่งชาติแห่งกิมจิที่พัฒนาทรัพย์สินทางปัญญามาแล้วหลายสิบปี มีซอฟต์พาวเวอร์ที่มีศักยภาพส่งออกทั่วโลก ทั้งวงการความงาม อาหาร เพลง ซีรีส์ ฯลฯ แต่เขาก็ยังไม่หยุดพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเอง เขายังพบเจอปัญหาระหว่างทางมากมายที่ต้องก้าวข้าม
“ขนาด IP เขาเจริญไปมากแล้ว แต่เขาก็ยังพยายามพัฒนาอยู่ วันนี้เราอยู่ในจุดเริ่มต้น คงดีถ้าก้าวไปได้ไกลกว่านี้” สุวัฒน์กล่าว
“ณ วันนี้ ความท้าทายของทรัพย์สินทางปัญญาไทยคืออะไร” เรายิงตรงเข้าประเด็น ซึ่งภัทรก็ยินดีไขข้อข้องใจ
“ความท้าทายของเราคือแรงสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม มันย่อมต้องใช้เงินลงทุน ซึ่งทุกการลงทุนมีความเสี่ยง อย่างเกาหลี กว่าจะถึงจุดนี้ก็ลงทุนไปเยอะมาก แล้วก็คงไม่ใช่ทุกการลงทุนที่จะประสบความสำเร็จ แต่อย่างที่บอก ถ้าไม่ทำ ไม่ลงทุน มันจะไม่มีทางเกิด การให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญาไทยตอนนี้ดีขึ้นมากแล้ว ขาดแค่แรงสนับสนุนจากทุกฝ่าย”
จริงอย่างที่สุวัฒน์กับภัทรว่า การจะสร้างอุตสาหกรรมหนึ่งขึ้นมาไม่สามารถใช้เพียงความร่วมมือของหนึ่งหรือสองบริษัท ที่สำคัญ ความสำเร็จไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้เพียงข้ามวัน ทว่าต้องอาศัยกระบวนการ การวางแผน และที่ขาดไม่ได้คือความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงก็จริง แต่ ณ วันนี้ที่ศักยภาพของคนไทยกำลังสุกงอม คงดีไม่น้อยหากคนไทยเหล่านั้นมีโอกาสสร้างทรัพย์สินทางปัญญาให้กับประเทศ แทนที่จะเป็นหนึ่งในแรงงานมากความสามารถที่ช่วยเนรมิต IP ให้ต่างแดน
ก่อนจบการสัมภาษณ์ สุวัฒน์กับภัทรทิ้งท้ายไว้สั้นๆ เราฟังแล้วอยากให้ภาพฝันนั้นเป็นจริงไม่ต่างจากทั้งสองคน
“ผมอยากได้ยินคนพูดว่า ฉันมาไทยเพราะได้ดูซีรีส์เรื่องนี้ ผมมาเที่ยวจังหวัดนี้เพราะได้อ่านเกมล้างกรรม”