สงสัยกันไหมว่าทำไมปีนี้คอนเสิร์ตถึงผุดขึ้นเยอะขนาดนี้ ศิลปินมากหน้าหลายตาพากันมาเยี่ยมเยือนชาวไทยแบบไม่ขาดสาย จนหลายๆ คนเริ่มบ่นว่า ถ้ามาเยอะขนาดนี้คงต้องขายไตกันแล้ว
Young MATTER ชวนมาไขคำตอบกันว่า ตกลงคอนเสิร์ตเพิ่มขึ้นจริงไหม อะไรทำให้เพลงอินดี้หรือเพลงนอกกระแสได้รับความนิยม และล้วงลึกถึงการจัดคอนเสิร์ตจากผู้จัดตัวจริง
เทปแทร็ก A หน้าแรก Young MATTER ชวนไปคุยกับเจ้าของเพจ hear and there เพจดนตรีที่เกิดขึ้นจากความหลงใหลในเพลงหลากหลายแนว บวกกับความชอบไปงานเฟสติวัล ชอบดูคอนเสิร์ต โดยเจ้าของเพจแทนตัวเองว่า ‘เฮีย’ เป็นคนที่จะมาแนะนำเพลง แนะนำคอนเสิร์ต วงไหนที่มาจัดในไทยบ้าง และรีวิวว่าแต่ละวงเป็นยังไง ด้วยบรรยากาศที่สนุกสนาน เป็นกันเอง ซึ่งความลึกลับของเฮียถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของตัวเพจ และทำให้เฮียสามารถแสดงจุดยืนของตัวเองได้อย่างเต็มที่
“อีกเหตุผลที่ทำเพจคือ อยากแชร์ให้คนได้รู้จักวงนู่น วงนี้เพิ่มขึ้น เพราะบางวงมีความสามารถจริงๆ แล้วเพลงนอกกระแสมันมีหลายแนวมาก ซึ่งเสน่ห์ของมันคือ ความไม่ซ้ำจำเจ มีรูปแบบเพลงใหม่ๆ ที่หลากหลายประเภทให้เราได้เลือกฟัง”
และด้วยความที่เฮียเป็นนักดูอยู่แล้ว ปีที่แล้วก็ดูไปถึง 250 โชว์ เลยอดถามไม่ได้ว่าจากการที่ไปดูมาเยอะๆ เขาคิดว่าคอนเสิร์ตอินดี้ในไทยจัดเพิ่มขึ้นไหมในปีนี้ “เพิ่มขึ้นเยอะมาก” เฮียตอบอย่างไม่ลังเล และให้เหตุผลว่า อาจเป็นเพราะปัจจุบันคนยอมจ่ายมากขึ้น ถ้าเทียบกับสมัยก่อนที่คนไม่ได้จ่ายเงินง่ายขนาดนี้ และคิดว่าปีนี้น่าจะเยอะที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมา เพราะเหมือนกับเพลงมันโตตามคนฟัง พอคนฟังเยอะขึ้น ทุกอย่างมันก็เพิ่มขึ้น เหมือนเทรนด์ตอนนี้คอนเสิร์ตกำลังมาแรง อุตสาหกรรมดนตรีกำลังกลับมาอีกครั้ง แต่ตอนนี้ปัญหาหลักๆ คือคนไม่มีเงิน เพราะมาเยอะมากจนเกินความพอดี
จากการที่ไปดู ไปฟังมาเยอะ เฮียบอกว่าปัญหาของการไปดูคอนเสิร์ตในไทยที่เจอบ่อยๆ คือเรื่องเสียง เพราะ ‘เสียง’ ถือเป็นจุดสำคัญของการไปดูคอนเสิร์ต และยังมีเรื่องการจัดการการเข้างาน จุดขายเครื่องดื่มที่น้อยเกินไปหรืออยู่ไกลออกไปนอกฮอลล์ ซึ่งบางทีก็ลำบาก เพราะพอออกไปซื้อกลับมาก็หายไปสองเพลง และสุดท้ายคืออยากให้มีพื้นที่ในการฟังเพลงที่กว้างขึ้น อยากให้มีพื้นที่ที่คนสามารถมาหาเพลงใหม่ฟังจากศิลปินที่เราไม่เคยฟัง ไม่เคยรู้จักมาก่อน ไม่เคยรู้เลยว่ามีวงนี้ด้วย
จากสังเกตการณ์ในฐานะนักดูคอนเสิร์ต เฮียให้ความเห็นว่าคอนเสิร์ตนอกกระแสมีจำนวนเพิ่มขึ้นจริงๆ เพราะเพลงโตตามคนฟัง พอคนรู้จักเยอะขึ้น ความต้องการที่อยากจะดูคอนเสิร์ตก็มากตาม อาจจะมากจนซื้อบัตรแทบไม่ทัน
ก่อนเสียงเพลงจะเริ่มดังขึ้นอีกครั้งคราวนี้เปลี่ยนเทปเป็นแทร็ก B มาสำรวจมุมมองของฝั่งผู้จัดกันบ้าง Young MATTER พาไปคุยกับ 3 โปรโมเตอร์ที่คัดสรรศิลปินที่หลากหลายและมีคุณภาพมาให้เราได้เสพ ไม่ว่าจะเป็น ‘ปูม—ปิยสุ โกมารทัต’ ชายรูปร่างสูงใหญ่จาก Seen Scene Space , ‘ท็อป—ศรัณย์ ภิญญรัตน์’ CEO จาก Fungjai และหญิงสาวเพียงหนึ่งเดียวอย่าง ‘กิ—กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร’ จาก HAVE YOU HEARD? มาดูกันว่า กว่าจะมาเป็นงานคอนเสิร์ตแต่ละงานโปรโมเตอร์ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ตลาดเพลงบ้านเราเป็นยังไง และทำไมคอนเสิร์ตถึงเยอะจนหาเงินมาหมุนไม่ทัน
The MATTER : แต่ละคนมาเป็นโปรโมเตอร์ได้ยังไง
ปูม Seen Scene Space : นอกจากจัดคอนเสิร์ต เราก็ทำค่ายเพลง Parinam Music ด้วย ความที่เป็นค่ายเล็กๆ อินดี้ ไม่ได้สังกัดใหญ่อะไร เราต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง 5-6 ปีก่อนหน้านู่น ก่อนที่จะมีคอนเสิร์ตดนตรีนอกกระแสตามร้าน ก่อนที่จะมี PLAY YARD เราก็ต้องจัดงานด้วยตนเอง แล้วก็มีช่วงหนึ่งที่เคยไปเปิดร้านซึ่งเป็นสไตล์คล้ายๆ PLAY YARD ที่เป็นไลฟ์เฮาส์ ชื่อว่า ณ นครมินิบาร์ ตอนนั้นก็สนุกเพลิดเพลินกับการเชิญวงนู้นวงนี้มา เอาพวกวงอินดี้มา สนุกสนานดี แต่ร้านมันก็เจ๊งไปอย่างรวดเร็ว (หัวเราะ) ในเวลาไม่ถึง 1 ปี เพราะว่าเป็นไลฟ์เฮาส์อย่างเดียว ซึ่งมันไม่รอดอยู่แล้ว
ผ่านมาสักปีหนึ่งก็เริ่มต้นจากการพยายามทำเพลงที่แตกต่าง เลยมีวงอย่าง Seal Pillow, Gym and Swim, Wave And So แล้วรู้สึกว่า 3 วงนี้ ไม่ค่อยมีเพื่อนในวงการที่เล่นเพลงแนวคล้ายๆ กัน เลยจัดงานหนึ่งที่ชื่อ POW! FEST ขึ้นมา เป็นเฟสติวัลเล็กๆ ซึ่งตอนนั้นได้ วง Safeplanet กับ FWENDS ที่เพิ่งตั้งวง มีเพลงไม่กี่เพลงมาเล่นด้วยมี Hariguem Zaboy Summer Dress, aire แล้วปิดด้วย SLUR น้องในค่ายก็เลยคุยกันว่ามันน่าจะมีวงต่างชาติสักวงมาให้เป็นสีสันนะก็เลยไปชวนวง The fin. จากประเทศญี่ปุ่นมา กะชวนมาขำๆ ให้เป็นสีสันของงาน ไม่ได้คาดหวัง ไม่ได้คิดเลยว่าเขาจะมีแฟนคลับในไทยด้วย เลยเป็นจุดเริ่มต้นเอาวงในเอเชียมา ถ้าในแง่ธุรกิจมันก็เป็นช่องทาง เพราะยังไม่ค่อยมีคนวงในเอเชียเข้ามา
ท็อป Fungjai : จริงๆ Fungjai ไม่ได้มี positioning ว่าเราเป็น music streaming ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เรามองตัวเองทำ music community ซึ่งคำว่า community เนี่ย จุดประสงค์ของมันคือ การเอาคนสองกลุ่มมาเจอกัน คนฟังกับศิลปิน เริ่มจากเจอกันบนออนไลน์ก่อน บนสตรีมมิ่ง บนคอนเทนต์ออนไลน์ เราเขียนคอนเทนต์เล่าเรื่องราวศิลปิน ออกเพลงใหม่ รีวิว ก็เลยเกิดไอเดียว่า เราอยากให้เขามาเจอกันบนโลกความเป็นจริงบ้าง ซึ่งจุดเริ่มต้นเราทำออนไลน์ไปสัก 2-3 เดือนแรก ก็รู้สึกว่าเราอยากเป็นที่รู้จักมากขึ้น เลยคุยกันในทีมว่า “เห้ย จัดคอนเสิร์ตไหม” มันทำให้เราดูจับต้องได้ ไม่ใช่อยู่แค่ออนไลน์
แล้วก็จะได้เจอยูเซอร์เราด้วยว่า ใครคือคนฟังของเรา ได้มาพูดคุยกับศิลปิน เราเชื่อว่าประสบการณ์การฟังเพลงที่ดีที่สุดมันคือการมาดูสดอยู่ดี เราอยากสร้างพื้นที่ จุดประสงค์ส่วนหนึ่งคือช่วยโปรโมตแบรนด์เรา เพราะเราเป็นน้องใหม่ไม่มีใครรู้จัก อีกฝั่งหนึ่งคือ เราเชื่อว่ามีวงดนตรีดีๆ วงเล็กๆ ที่คนอาจยังไม่ค่อยรู้จัก หรือมีทัศนคติว่า “เห้ย วงเล็ก วงนี้ไม่รู้จัก วงอินดี้ แบบอาจจะไม่เก่ง เพลงไม่ดีหรือเปล่า” จริงๆ พวกนี้เขาเก่งมาก อาจจะไม่แพ้วงที่มีชื่อเสียงเลย เพียงแต่ว่าถ้าเขาไปเล่นในเฟสติวัลหรือเวทีใหญ่ๆ เขาอาจจะได้เล่นแต่หัววัน เครื่องเสียงไม่ดีบ้าง แสงสีไม่ดีบ้าง แต่วงเหล่านี้ถ้าเขาถูกจับมาอยู่ในบริบทที่ถูกต้อง โปรดักชั่นเต็มรูปแบบ มีซาวด์ที่ดี มี lighting system ที่ดี เราเชื่อว่าเขาจะเปล่งพลังฉายแสงออกมาได้เต็มที่
กิ HAVE YOU HEARD? : เริ่มจากประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว ตอนนั้นซีนคอนเสิร์ตมันยังไม่บูมเหมือนทุกวันนี้ ก็จะมีแต่ผู้จัดที่นำแต่วงที่ดังแล้ว เป็นงานสเกลใหญ่ๆ เรากับเพื่อนก็รู้สึกว่า วงที่เป็นวงนอกกระแสหน่อย ไม่มีคนเอาเข้ามาในเมืองไทยเลยเหรอ ทั้งที่เขาก็บินโฉบมาเล่นใกล้บ้านเราบ่อยๆ ก็เริ่มจากการบิลต์กันเองในกลุ่มเนี่ยแหละว่า “ทำดิ ทำได้ก็มีคนดู” ตอนแรกก็เริ่มจากวงที่เราอยากดูเองก่อน คุยไปคุยมาก็ลองดู เริ่มทำ แรกๆ ที่ทำก็ไม่เชิงงานอดิเรกหรอก เพราะทุกคนก็มีทำงานอย่างอื่นด้วย พอทำเรื่อยๆ HAVE YOU HEARD? ก็โตขึ้นรวมถึงซีนคอนเสิร์ตก็โตขึ้นด้วย จนตอนนี้ก็มาทำ HAVE YOU HEARD? อย่างเดียวเต็มตัว
The MATTER : ในฐานะที่คลุกคลีกับดนตรีนอกกระแส ตอนนี้เส้นแบ่งของคำว่าแมสกับอินดี้เริ่มพร่าเลือนแล้ว?
กิ HAVE YOU HEARD? : จริงๆ แล้วก็เริ่มได้ยินคำที่เขาเรียกว่า อินดี้แมส ซึ่งก็เออ มันมีจริงๆ เพราะบางวงอย่าง HONNE ตอนแรกที่รู้จักค่อนข้างอินดี้ ตอนนี้เขาก็เหมือนเป็นอินดี้แมสไปแล้ว หรืออย่าง LANY ที่เราจะเรียกเขาว่าเป็นอินดี้ก็ไม่ใช่แล้ว เพราะเขาเล่น stadium show หลายหมื่น คำว่าอินดี้เราว่ามันก็มีหลายระดับขึ้น ถ้าเทียบอินดี้สมัยก่อนกับตอนนี้ เราว่าคำว่าอินดี้มันก็เหมือนเพลงที่นอกกระแส แล้วคำนิยามของคำว่าอินดี้ในตอนช่วงสมัยก่อนมันจะเป็นวงเล็กๆ ที่อยู่ค่ายเล็กๆ หรือไม่ได้มีการจัดการที่เป็นเรื่องเป็นราว เหมือนเขาดูแลตัวเอง แต่ในตอนนี้มันอาจจะหมายถึง ดนตรีที่นอกกระแส ซึ่งปัจจุบันวงอินดี้เขามีค่าย อยู่กับค่ายใหญ่ มี booking agency บริษัทใหญ่ที่ดูแลเขา
ท็อป Fungjai : อย่าง Polycat อัลบั้มแรกเนี่ย มีใครฟังบ้าง มีใครมีซีดีไหม มันไม่มีอะ แต่ถามว่าปัจจุบันคนก็คิดว่า Poly cat คือวงแมส นึกออกปะ ผมว่ามันอยู่ในยุคที่ไม่รู้จะแบ่งกันไปทำไม ถ้าคุณฟังเพลงแล้วคุณชอบ ก็คือคุณชอบเพลงนั้น คำถามแรกที่ถาม คุณไม่ถามหรอกว่า เพลงนี้มันแมสหรืออินดี้วะ มันแบ่งด้วยแนวเพลงก็ไม่ได้ มันแบ่งด้วยค่ายก็ไม่ได้ เพราะว่าบางศิลปินอยู่ค่ายใหญ่ แต่เขาก็ทำงานเหมือนเป็นศิลปินอิสระ ไม่ได้มีการแทรกแซงเข้ามา
อย่าง The Yers ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ไว้ดีมากว่า มันไม่มีแล้ว คนคิดว่าอยู่ GMM Grammy เหรอ อี๋ มึงต้องเป็นวงแมสแน่ๆ แต่เขาบอก เขาทำงานด้วยตัวเองทุกอย่าง ไม่ได้โดนกดดันมาจากทางค่ายว่า เอ่อ คุณอยู่แกรมมี่นะ คุณต้องแต่งเพลงแบบไหน ต้องเขียนเนื้อแบบนี้ๆ เขามีอิสระ เขาคอนโทร์ลทุกอย่างเต็มที่ ผมเลยมองว่าเราจะแบ่งกันด้วยอะไร เพลงที่ฮิตในกรุงเทพฯ หรอ แล้วถ้าเพลงมันฮิตในอีสานคนฟังเยอะ อย่างนี้แมสไหม แต่คนกรุงเทพฯ ไม่รู้จัก ผมว่าควรจะเลิกพยายามแบ่งเรื่องนี้กันได้แล้ว ความเห็นส่วนตัวนะครับ
The MATTER : ทำไมปรากฏการณ์คลื่นคอนเสิร์ตถึงเกิดขึ้นในประเทศไทย
ปูม Seen Scene Space : เรามองว่าที่คอนเสิร์ตเยอะขึ้น มันเป็นเพราะการปรับตัวของทั้งสองฝั่ง ทั้งผู้ฟังและผู้ผลิต มีตัวกลางที่เป็นนักจัดคอนเสิร์ตขึ้นมา หลังจากที่วงผ่านทั้ง mp3 ซีดีขายไม่ได้ สตรีมมิ่งก็มีให้โหลดฟรี บางทีมีผู้บริการฟรีหลายเจ้า ฟังยูทูบก็ไม่เสียเงิน ช่องทางหาเงินของวงก็คือ ต้องมีโชว์ให้มากขึ้น พอวงมันแสวงหาการเล่นสด ทุกคนก็อยากจะเล่น อยากจะพัฒนาจากเดิมที่พัฒนาแต่ด้านทำเพลงอย่างเดียว ตอนนี้ก็มาพัฒนาการเล่นดนตรีไปด้วย จะเห็นว่าวงดนตรีอินดี้ในยุคนี้กับยุคประมาณ 15 ปีที่แล้ว ฝีมือการเล่นดนตรีโชว์สดจะแตกต่างกันเยอะมาก อาจเป็นเพราะมีเด็กคณะเกี่ยวกับดนตรีด้วยมั้ง พอวงอยากเล่นคอนเสิร์ต คนดูก็ไม่ต้องเสียเงินกับเพลงเยอะแล้ว อย่างตอนพี่เป็นวัยรุ่น พี่เสียเงินซื้อซีดีเยอะมาก หรือเด็กๆ ก็ต้องเสียเงินกับการซื้อเทปเยอะมาก พอไม่ต้องเสียเงิน เขาก็เหลือเงินซื้อบัตรคอนเสิร์ต นักจัดคอนเสิร์ตพอมาจัดคอนเสิร์ตปุ๊บ ก็มีคนซื้อบัตรง่ายขึ้น เอาวงแปลกๆ มาก็มีคนอยากดู
สำหรับคอนเสิร์ตวงไทยจะเยอะขึ้นไหมไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะถ้าย้อนไปสัก 6-7 ปีเยอะกว่านี้ คนจะจัดงานดนตรีเยอะกว่านี้แบบจัดบ่อยมาก แต่ละสัปดาห์จะมีงานให้เราไป พอมีสตรีมมิ่งเข้ามาครอบงำ คนก็จะเริ่มฟังเพลงอยู่บ้าน คนที่เคยออกไปนู่นไปนี่ก็น้อยลง แต่กลายเป็นว่าคอนเสิร์ตวงอินดี้ต่างชาติเยอะขึ้น เพราะคนไปฟังสตรีมมิ่งก็จะเจอเพลง นอกจากเพลงที่เราฟัง มันก็จะมี recommend track คนก็จะฟังกว้างขึ้น พอมีคอนเสิร์ตต่างชาติมาเขาก็อยากไปดู เราคิดว่าเป็นโอกาสของวงต่างชาติที่มีคอนเสิร์ตเยอะขึ้นในช่วงนี้
The MATTER : ปริมาณคอนเสิร์ตปีนี้เป็นอย่างไร
กิ HAVE YOU HEARD? : ปีแรกๆ เราจัดแค่ 2-3 ครั้งต่อปีเองมั้ง แล้วมันก็เริ่มดับเบิลมาเป็น 5-6 ครั้ง ปีที่แล้วถ้ารวมของ HAVE YOU HEARD? แล้วรวมของ HUH? ด้วยที่เราเปิดแบรนด์ใหม่สำหรับ electronic act น่าจะเกือบ 20 นะคะ แล้วก็มีเฟสติวัลด้วยสิ้นปี น่าจะหนักที่สุดที่เคยทำ ทำให้เรารู้ว่าตอนนี้ตลาดมันค่อนข้าง ‘เฟ้อ’ นิดหนึ่ง ปีนี้เราก็เลยไม่ได้มีเป้าว่าเราจะจัดเยอะขึ้นกว่าปีที่แล้ว ตอนนี้ก็พยายามเลือกวงที่เราค่อนข้างมั่นใจว่า เราอยากพรีเซนต์จริงๆ เราอยากจะให้คนรู้จักจริงๆ เหมือนเลือกแบบระวังมากขึ้น
ท็อป Fungjai : ปีที่แล้วคอนเสิร์ตที่เราจัดจริงๆ มีประมาณเกือบ 40 งาน แต่ว่าแบรนด์ที่อยู่ภายใต้แบรนด์ฟังใจถ้าจำไม่ผิดก็น่าจะประมาณ 6-7 งาน ซึ่งปีนี้ก็จะน้อยลงอีกเหลือประมาณ 3-4 งาน เหตุผลคือ การเป็นโปรโมเตอร์มันเสี่ยง แต่เราก็ยังต้องทำอยู่ เพราะเราเชื่อว่าวงการดนตรียังต้องการพื้นที่แบบนี้ พื้นที่ที่เปิดให้กับวงแบบนี้ ลักษณะไลน์อัพแบบนี้ที่เรายังไม่เห็นคนอื่นทำ และรู้สึกว่าเรายังอยากทำตรงนี้ต่อ แม้ว่ามันจะมีความเสี่ยงมากก็ตาม แต่ความเสี่ยงเนี่ยมันก็ค่อยๆ ลดลงแหละ เพราะคนเริ่มรู้จักฟังใจมากขึ้น
ปูม Seen Scene Space : ทุกครั้งที่เราทำงานเสร็จ เราจะประเมินว่าอะไรดี อะไรไม่ดี สำเร็จไหม หรือมีอะไรที่ต้องปรับปรุง พอปี 2017 มันค่อนข้างสำเร็จหลายๆ โชว์ ก็เลยค่อนข้างเริ่มได้ใจ สนุก มันทำอะไรได้มากกว่านี้ เรามองว่าพอได้ดีเราก็รีบกอบโกย เลยทำให้ปี 2018 เราชวนวงมากขึ้น วงก็ตอบรับจากการที่เห็นเราชวนวงนั้นวงนี้มา จากที่ชวนยากๆ ก็ง่ายขึ้น เหมือนเห็นว่าเราทำได้ก็เลย ทำให้มีโชว์เยอะขึ้น กลายเป็นว่าปี 2018 ค่อนข้างชอกช้ำเล็กน้อย เพราะว่ามันไม่ค่อย success เท่าไร ในหลายๆ งาน ปี 2019 เลยลดลงและปีนี้ก็มีประมาณ 10 งานที่แพลนเอาไว้
The MATTER : ทำไมคนยังต้องไปดูคอนเสิร์ตทั้งที่มี music streaming
ท็อป Fungjai : มีหลายเหตุผลนะ เหตุผลแรกคงเป็นเรื่องของ sound system ต่อให้หูฟังเราดีแค่ไหน หรือ home studio มันดีแค่ไหน แต่การไปดูสดคือเครื่องเสียงมันใหญ่กว่าหลายเท่าสิบเท่า พลังงาน พลังเสียงที่มันส่งออกมา มันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนดูหนัง เราดูหนังบนมือถือ บนจอแท็บเล็ตเล็กๆ กับการดูในโรง ทำไมเราต้องไปดูในโรง เพราะวิชวลมันเต็มจอ มันเต็มตามากกว่า ระบบเสียงดีกว่า ถ้าพูดในเชิงคุณภาพของเสียง
อันอื่นๆ ก็คือ การที่เราไปยืนอยู่ตรงนั้น แล้วมีคนยืนอยู่ล้อมๆ ตัวเรา แล้วเขาสนุกไปด้วยกัน โยกไปด้วยกัน ร้องเพลงไปด้วยกัน ไอ้บรรยากาศอย่างนี้ดูผ่านฟัง audio มันไม่มีทางสู้ได้อยู่แล้ว เรื่องที่สามก็คงเป็นเรื่องของการแสดงสดที่แต่ละครั้งไม่ซ้ำกัน audio ฟัง 10 ครั้ง มันก็เหมือนเดิม แต่พอเล่นสด ศิลปินอาจจะมีการคิดรูปแบบวิธีการแสดง คิดโชว์พิเศษ บางท่อนมีการเปลี่ยนมีการ improvise บางอย่างขึ้นมา หรือมีท่อน interlude ที่เพิ่มขึ้นมา มีลูกเล่นต่างๆ ที่เสริมเข้ามา เป็นเสน่ห์ของการแสดงสดที่ไปดู 3-4 ครั้ง ก็คงไม่เหมือนกัน คิดว่ามันยังคงเป็นเสน่ห์ในการที่เอาตัวเองไปอยู่ในคอนเสิร์ตหรือว่าการดูดนตรีสดอยู่
กิ HAVE YOU HEARD? : ศิลปินส่วนใหญ่เวลาที่เขาเล่นสดกับเวอร์ชั่นที่เขาอัดในห้องอัดมันมีความแตกต่างกัน แม้กระทั่งการเล่นสดแต่ละครั้งก็แตกต่างกันไป ด้วยสถานที่ วัฒนธรรมของคนดูในประเทศนั้นๆ บางทีเราไปดูโชว์ของวงวงหนึ่ง เคยดูในบ้านเราก็จะสนุกอีกแบบหนึ่ง แต่ว่าเวลาได้เห็นเขาเล่นในบ้านเขาเองมันจะมีพลังที่มากขึ้น หรือว่าคนดูในวัฒนธรรมที่เขาเต็มที่ ไม่อายที่จะเต้น ที่จะกระโดด ก็เป็นเหมือนประสบการณ์ที่ต่างกันทุกครั้ง เป็นครั้งเดียวที่จะเกิดขึ้น ที่จะเป็นอย่างนั้นที่มีแค่ครั้งเดียว แล้วก็เป็นอะไรที่คาดเดาไม่ค่อยได้ บางทีเขาก็ impovise ไปอีกแบบหนึ่งที่เล่นแค่ที่นี่ที่เดียว หรือไม่กี่ที่ แล้วก็รวมถึงการไปดูวงนั้นตอนเขาไปเล่นเฟสติวัล ทุกๆ ครั้งก็จะต่างกันไป
ปูม Seen Scene Space : พี่ว่าเสน่ห์ของคอนเสิร์ตมันมีการได้ไปแฮงก์เอาท์กับเพื่อน การได้ดื่มกิน (หัวเราะ) การไปเทศกาลดนตรีมันก็จะมีกิจกรรมต่างๆ ในนั้นที่มากกว่าดนตรี แต่มันก็เกี่ยวข้องกันหมด การได้เห็นศิลปินที่เรารัก แล้วก็ได้เห็นหน้าเป็นๆ เหมือนตามติดดารา อันนี้มันคือศิลปินที่เราชอบ เห้ย ได้เจอตัวจริงแล้ว ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คนอยากไปคอนเสิร์ตกัน
The MATTER : มีความกลัวไหมในการจัดคอนเสิร์ต
กิ HAVE YOU HEARD? : ก็มีตลอดตั้งแต่งานแรก เพราะมันเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างจะเดายาก คือเราทำอย่างนี้ เราก็ไม่มีทางรู้แน่ๆ ว่า เอ๊ะ มีคนมากี่คน หรือมีเหตุการณ์ทางบ้านเมืองอะไรให้เราต้องแคนเซิลงานไหม มันก็เป็นงานที่ทำแล้วเหมือนมีปัญหาเฉพาะหน้าเกิดขึ้นได้ตลอด ไฟล์ทจะดีเลย์หรือเปล่า วันงานอุปกรณ์แสงสีเสียงจะมีปัญหาไหม รวมถึงความปลอดภัยของคนดูในงาน เพราะว่ามันเป็นไลฟ์ ทุกอย่างมันสด
ปูม Seen Scene Space : เราก็มีประสบการณ์จัดงานมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว แล้วด้วยความที่จบสายนิเทศมา มันก็มีสกิลในการจัดงาน ตอนสมัยเรียนก็ทำละครเวทีมา เลยพอจะเข้าใจ แถมไปเรียน sound engineer มาด้วยโปรดักชั่นสบายใจหายห่วง เพราะว่าเราอยู่กับมันมานานมากแล้ว แล้วก็รู้หมด แสง สีเสียง สเตจ ก็จะมีพวกเซอร์ไพรส์เวลาเอาวงต่างชาติมาแค่นั้นแหละ ที่จะมีความรู้สึกแบบเขาจะเอาอย่างงั้นเหรอวะ ถ้าญี่ปุ่นมา เราต้องพาเขาไปแค่นี้ ถ้าแบบนั้นจะถือว่ามากไปสำหรับเขา หรือถ้าเกาหลีมา ไอ้แบบนี้ไม่ได้นะ ทำได้แค่นี้ ถ้าทำมากกว่านี้เขาจะปรับ เขาจะแคนเซิลเราทันที มันจะมีความน่าตกใจ มันเหมือนเป็นการวางตัวของศิลปิน มันจะมีความเหมือนๆ กัน เช่น เกาหลีจะไม่ยอมให้ถ่ายรูปทันทีที่ลงจากเครื่องบิน สมมติ Seen Scene Space ไปรับที่สนามบินก็จะมีถ่ายรูป ทุกคนวงมาถึงแล้วนะ เกาหลีจะแบบ โนเลย ไอยังไม่แต่งหน้า ห้ามถ่ายรูป แต่ถ้าวงญี่ปุ่นจะเซอร์ๆ เลย มาถ่ายเลย หรือว่าถ้าเป็นวงฝรั่ง ต่างชาติก็จะสบายๆ
ท็อป Fungjai : กลัวขาดทุนไง (หัวเราะ) กลัวคนไม่มา กลัวขาดสปอนเซอร์ ไม่ได้ก็เป็นความลุ้น เป็นความกดดันอย่างหนึ่งของการเป็นโปรโมเตอร์ ก็คือทุกรอบมันลุ้นว่า เออ จะได้ไหมวะ จะถึงจำนวนเป้าไหม สมมติเว็บที่ดูสำหรับฝั่งคนขายบัตรใช่ไหมครับ ก็เข้าไปรีเฟรชทุก 2 ชั่วโมง ดูว่าถึงไหนแล้ว ถ้าเป็นสปอนเซอร์ก็คือดูว่ากับเซลส์เป็นยังไงบ้าง ใกล้จะปิดได้หรือยัง เวลาเริ่มน้อยแล้ว มันก็จะมีความกดดันตรงนี้เข้ามา หรือเปิดไลน์อัพมาแล้วคนแม่งไม่เฮว่ะ แชร์น้อย engage น้อยก็จะเริ่มเสียวละ ก็จะมีความกลัวเรื่องพวกนี้
The MATTER : ความท้าทายในการเป็นโปรโมเตอร์คอนเสิร์ตในไทย
ท็อป Fungjai : ข้อจำกัดของการเป็นโปรโมเตอร์ในไทยก็คือ กำลังซื้อของคนไทยเมื่อเทียบสัดส่วนกับต้นทุนของโปรดักชั่นมันไม่เมกเซนส์ในเชิงเศรษฐศาสตร์ แปลว่าอะไร แปลว่างานบางงาน เรารู้เลยตั้งแต่วันแรก ตั้งแต่เราออกแบบงานคอนเสิร์ตเราอยากได้ไลน์อัพแบบนี้ เราอยากได้โปรดักชั่นดีๆ แบบไม่น้อยหน้าที่อื่น บวกตัวเลขปุ๊บ เอามาคิดว่าในงานความจุของสถานที่จุได้กี่คน สมมติว่า sold out แล้วคนหนึ่งซื้อบัตรกี่บาท ยอมที่จะซื้อกี่บาท คูณเสร็จปุ๊บขาดทุนเลย ขาดทุนตั้งแต่วันแรกที่คิดงานเลย มันก็มีสองอย่างก็คือ หาเงินเพิ่ม หาเงินจากไหนอะ ก็คือสปอนเซอร์ถูกไหม แต่สปอนเซอร์ก็คือชัวร์ไหมว่าเขาจะซื้อ ก็คือไม่ชัวร์ว่าทุกงานมันจะขายได้ ถ้าไม่ซื้อสปอนเซอร์ ถ้าไม่เพิ่มรายได้ อีกวิธีการที่ทำคืออะไร ก็ลดต้นทุนไง แล้วต้นทุนมันไปลดตรงไหนอะ เพราะเราไม่สามารถขึ้นราคาบัตรได้
อีกอย่างคือ ความเต็มใจที่ผู้ดูคอนเสิร์ตในไทย ยินดีที่จะจ่ายให้กับหนึ่งงานเนี่ยกับมี cap ของมันอยู่ ต่างประเทศคือประมาณนี้ เอายังงี้ก่อน วงอินดี้ไทยก็จะประมาณนี้ วงอินดี้ฝรั่ง วงอินดี้เอเชียก็จะประมาณหนึ่ง วงแมสต่างประเทศก็ประมาณหนึ่ง วงเกาหลีก็อีกเบอร์หนึ่ง ทุกประเภทมันมี cap ของตัวเองอยู่ พอคำนวณแล้วไม่เมกเซนส์ในเชิงเศรษฐศาสตร์คุณก็ต้องไปหาทางอื่นในการปรับลด ซึ่งแน่นอนโปรดักชั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง เป็นส่วนแรกๆ ที่โดนก่อน เพราะสุดท้ายคนก็ยังได้ดูอะ แต่ว่าไฟมันก็อาจจะยังมาไม่เต็ม เครื่องเสียงก็อาจจะยังมาไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกอย่างที่วงเขาขอมา ก็ compromise มันก็ต้องเกิด สถานที่เหมือนกัน จัดที่นี่ไม่ได้ ไปไกลหน่อยได้ไหม คนอาจจะต้องลำบากขึ้นนิดหนึ่ง
กิ HAVE YOU HEARD? : ตอนช่วงแรกๆ ที่ทำก็จะเป็นอุปสรรคที่ว่าวงเขาไม่ค่อยตอบรับ เพราะเราไม่มีโปรไฟล์มาก่อน บวกกับตลาดในเอเชียตอนนั้น เวลามาเขาก็จะไปแค่โตเกียว โซล ไม่ค่อยมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่าไร อาจจะแค่ฮ่องกง หรือสิงคโปร์ ซึ่งตอนนั้นเขาก็แบบ เฮ้ย มาเมืองไทย เขาไม่แน่ใจว่าจะมีฐานแฟนเพลงไหมที่นี่ แต่ว่าตอนนี้เขาชิน เหมือนมาแล้วได้ฟีตแบคที่ดี และมีหลายวงที่อยากมามากขึ้น แต่ถ้าถามว่าความยากของการเป็นผู้จัดทุกวันนี้ก็คือการแข่งขันมันสูงขึ้น มีความต้องการของการอยากได้วงเดียวกันมากขึ้น ก็จะเครียดนิดนึง ส่วนเรื่องขาดทุน มันก็เหมือนทุกธุรกิจแหละ บางสินค้าก็ขายดี หรือในช่วงที่เศรษฐกิจดี ธุรกิจก็ดีตาม จัดคอนเสิร์ตก็เหมือนกัน บางโชว์ sold out ขายดี บางโชว์ก็มีที่เราอาจจะประเมินผิด หรือบางโชว์ดันไปอยู่ในช่วงที่มันมีโชว์ใกล้กันเยอะๆ
The MATTER: มองปรากฏการณ์คอนเสิร์ตอย่างไร
ปูม Seen Scene Space : สนุกสนานในแง่ของวงการ แล้วก็สนุกสนานสำหรับคนดูด้วย พี่ก็เป็นนักคอนเสิร์ตอยู่ ใครได้ไปคอนเสิร์ตก็จะเห็นพี่ไปแทบทุกงาน แต่ถ้าในธุรกิจมันก็จะค่อนข้างดาร์ก เพราะว่ามันก็จะแข่งกัน มันมีเจ้าใหม่ๆ เข้ามา พอแข่งกันเยอะๆ มันก็จะมีทั้งแบบต้องไปประมูลบิด แข่งกันให้ค่าตัวของวงดนตรีต่างชาติแพงขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่เขาเคยมาแค่นี้ แต่ว่าไอ้บ้านเราที่มันอยู่ 3-4 เจ้า แข่งกันแย่งราคากันอัดให้ราคาสูงขึ้นไปอีก มันก็เลยทำให้กลไกลการตลาดยากขึ้นด้วย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าในอนาคตมันจะเสียหายขนาดไหน ไม่รู้เหมือนกัน ก็พยายามหลบๆ หนีๆ ไม่ให้ชนกัน ก็มีคุยไม่ให้ทับไลน์กัน แต่ตอนนี้การต่อสู้กระจุยกระจายไปแล้ว
กิ HAVE YOU HEARD? : ตลาดครึกครื้นมากตอนนี้ รวมถึงคนเริ่มชินละว่าการมาดูคอนเสิร์ตเป็นกิจกรรมที่มาทำได้บ่อยๆ หรือเดือนหนึ่งบางคนอาจจะดูหลายโชว์ด้วยซ้ำก็เลยทำให้มีคอนเสิร์ตเกิดขึ้นมากมาย ตอนนี้ก็ค่อนข้างคึกคักมาก อาจจะคึกคักไปหน่อย คนก็จะเริ่มบ่นว่า “ขายตับ ขายไต ไปดูคอนเสิร์ต” ไม่มีเงินที่จะไปดูทุกคอนเสิร์ต สำหรับผู้จัดเองก็มีความยากขึ้นตรงที่ค่าตัวศิลปินก็มีความแพงขึ้น ด้วยความที่ความต้องการมีเยอะขึ้น รวมถึงผู้จัดที่เพิ่มขึ้น มีการแข่งขันที่สูงขึ้น
***
เราคงได้เห็นภาพกันแล้วว่า คอนเสิร์ตเพิ่มขึ้นจริงไหม เมื่อเพลงสุดท้ายของหน้าแทร็ก B สิ้นสุดลง และถ้าย้อนไปฟังคำตอบส่วนแรกจากแทร็ก A นักดูคอนเสิร์ตบอกว่า คอนเสิร์ตมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาจเพราะ อุตสาหกรรมในวงการเพลงโตตามคนฟัง และเพลงนอกกระแสค่อนข้างได้รับความนิยม
ส่วนในเรื่องเพลงอินดี้แมสขึ้นไหม ทางฝั่งผู้จัดแทร็กเทปหน้า B ให้ความเห็นว่า เพลงในตลาดบ้านเราที่กำลังบูมอยู่ตอนนี้อาจจะเรียกว่าเป็นแนวอินดี้แมส หรือไม่ต้องแบ่งกันแล้วว่าตกลงเพลงพวกนี้มันแมสไม่แมส และการที่คนสนใจเพลงหลากหลายแนวก็ทำให้คอนเสิร์ตมีจำนวนเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะมากเกินพอดี ทำให้ซื้อบัตรกันแทบไม่ทัน และอาจจะต้องขายตับขายไตกันแล้ว
โปรโมเตอร์ทั้ง 3 คน ยังบอกอีกว่าปีที่แล้วจัดคอนเสิร์ตค่อนข้างเยอะ ด้วยความที่มีช่องทางที่เปิดกว้างให้กับทั้งผู้ฟังและผู้ผลิต ทำให้ผู้ฟังได้รู้จักวงใหม่ๆ มากขึ้น ผู้ผลิตได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ และเมื่อมีการจัดคอนเสิร์ตในไทย ความต้องการอยากดูคอนเสิร์ตก็มากตาม ซึ่งจากการจัดเยอะเลยทำให้ค่อนข้างเฟ้อ และเสี่ยง ในปีนี้ทั้ง 3 โปรโมเตอร์เลยจัดคอนเสิร์ตให้มีความเหมาะสม พอดีมากขึ้น