**บทความนี้พูดถึงและเปิดเผยเนื้อเรื่องในสารคดี Don’t F**k With Cats**
**บทความนี้พูดถึงและเปิดเผยเนื้อเรื่องในสารคดี Don’t F**k With Cats**
**บทความนี้พูดถึงและเปิดเผยเนื้อเรื่องในสารคดี Don’t F**k With Cats**
คดีสะเทือนขวัญและแปลกประหลาด เกิดขึ้นในประเทศแคนาดาเมื่อปี 2012
พัสดุที่มีอวัยวะส่วนเท้าของคนอยู่ข้างใน ถูกส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของพรรคอนุรักษ์นิยม ขณะที่ชิ้นส่วนมือข้างซ้าย ถูกส่งไปยังสำนักงานของพรรคเสรีนิยม
ในเวลาไล่เลี่ยกัน ชิ้นส่วนร่างกายชายคนหนึ่งซึ่งถูกตัดเป็นหลายท่อน ได้ถูกค้นพบในกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ในเมืองมอนทรีออล โดยตำรวจเชื่อว่า ชิ้นส่วนทั้งหมดนี้เป็นของเหยื่อคนเดียวกัน
เหตุการณ์ที่ว่านี้กลายเป็นข่าวใหญ่ในแคนาดา และสื่อหลายสำนักคอยจับตาอย่างแทบจะใกล้ชิด แต่ ณ เวลานั้นแทบไม่มีใครคาดเดาได้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ยกเว้นคนกลุ่มหนึ่งที่ติดตามคดีนี้มาตั้งแต่ต้น และมีหลักฐานครบครันในไฟล์คอมพิวเตอร์ พร้อมกับชื่อของผู้ต้องสงสัย
เราขอย้ำอีกรอบว่า นี่คือเหตุการณ์จริงและมันเกิดขึ้นจริงๆ แล้วได้ถูกนำมาเผยแพร่อีกครั้งผ่านสารคดีที่ฉายบน Netflix ชื่อว่า Don’t F**k With Cats: Hunting an Internet Killer
สารคดีเรื่องนี้ เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงคนกลุ่มหนึ่งในอินเทอร์เน็ต ที่เข้าไปพบเจอกับคลิปบุคคลปริศนาที่โพสต์ทารุณสัตว์อันเป็นที่รักของโลกอินเทอร์เน็ตอย่าง ‘แมว’ พวกเขารวมตัวกันในกรุ๊ปเฟซบุ๊ก เพื่อพยายามรวบรวม-ไล่ตามหาหลักฐานทุกอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่จะรู้ให้ได้ว่าใครคือคนที่ทำสิ่งที่โหดร้ายนี้ขึ้นมา เขาคือใคร? อาศัยอยู่ที่ไหน?
Don’t F**k With Cats ได้พาเราไปติดตามวิธีการทำงานของ ‘นักสืบอินเทอร์เน็ต’ และตำรวจในโลกแห่งความจริง ที่กระตือรือร้นกับการไล่จับฆาตกรให้ได้ แม้ว่าพวกเขาจะได้หลักฐานที่ดูเหมือนจะเล็กๆ น้อยๆ แต่ชิ้นส่วนข้อมูลเหล่านั้นก็เหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์ที่ช่วยให้เห็นภาพรวมของผู้ต้องสงสัย จนนำไปสู่การระบุตัวตนได้ในที่สุด
แต่ยิ่งติดตามผู้ต้องสงสัยไปเรื่อยๆ พวกเขาก็เริ่มเห็นความน่ากลัวที่กำลังขยายตัว—จากการฆ่าแมว กำลังเปลี่ยนไปสู่การฆ่าคน พร้อมกับปมของคนร้ายที่ถูกรับรู้และมีตัวตนในสื่อต่างๆ
ความเห็นที่ผู้ชมมีต่อสารคดีเรื่องนี้ มีค่อนข้างหลากหลาย ฝ่ายที่ชอบมองว่ามันคือสารคดีที่พาเราไปเข้าใจมุมมืดของโลกอินเทอร์เน็ต และเล่าเรื่องได้ค่อนข้างสนุกจนทำให้ลุ้นมากในแต่ละตอน จนดูจบทั้ง 3 ตอนได้ในวันเดียว
ส่วนคำวิจารณ์อีกแง่ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน มีคนให้ความเห็นในทวิตเตอร์ว่า สารคดีเรื่องนี้ค่อนข้างสร้างความกังวลในจิตใจผู้ชมได้เหมือนกัน เพราะมันมีทั้งการเล่าถึงคลิปการทารุณสัตว์ และคดีฆาตกรรมที่ค่อนข้างสยดสยอง (บางคนถึงกับทวีตเตือนว่า เรื่องนี้อาจจะไม่เหมาะกับคนที่อ่อนไหวในประเด็นเรื่องสัตว์กับคดีฆาตกรรม)
“อย่าดูเรื่อง #DontFckWithCats ใน Netflix ถ้าหากคุณเป็นคนที่เซนซิทีพกับการทารุณสัตว์” ผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งระบุ
(ซึ่งสำหรับเราแล้ว ก็คิดว่ามันมีบางช่วงที่ค่อนข้างสะเทือนใจจริงๆ แม้ว่าสารคดีจะพยายามเลี่ยงๆ ไม่ฉายภาพมันตรงๆ แล้วก็ตาม)
Digital Footprint : ร่องรอยที่เราทิ้งไว้ในโลกออนไลน์
ในความเก่งและ ‘กัดไม่ปล่อย’ ของทีมนักสืบออนไลน์ที่ต้องการหาตัวคนร้ายให้เจอ สิ่งที่คนกลุ่มนี้ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการตามล่า คือ ‘Digital Footprint’ หรือร่องรอยที่คนร้ายทิ้งไว้ในโลกดิจิทัล
ข้อมูลรูปภาพ โลเคชั่นที่รูปถูกถ่าย หรือแม้แต่สถานที่ฉากหลังของรูปถ่ายที่คนร้ายเคยถ่ายไว้ ถูกตามค้นหาได้จนพบ สิ่งเหล่านี้บอกกับเราว่า จริงอยู่ที่ในกรณีนี้มันเป็นประโยชน์ที่ช่วยให้ตามหาคนร้ายได้ และเป็นหลักฐานสำคัญของคดี แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันก็กำลังจะบอกกับพวกเราด้วยเหมือนกันว่า ไม่ว่าเราจะเป็นคนร้าย คนดี หรือคนทั่วไป หากเข้ามาสู่โลกอินเทอร์เน็ตแล้ว เรามักจะทิ้ง Digital Footprint เอาไว้ไม่ที่ใดก็ที่หนึ่งเสมอๆ
แม้ว่าสารคดีจะอธิบายถึง ‘กฎที่ไม่ได้เขียนไว้ในอินเทอร์เน็ต’ ว่ามันคือการ ‘Don’t Mess With The Cats’ เพราะแมวคือสัตว์ที่อินเทอร์เน็ตรักมากที่สุด
ถึงอย่างนั้นกฎอีกข้อที่ไม่ได้เขียนไว้ และพวกเราเองในฐานะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกันอยู่อย่างสม่ำเสมอๆ ก็ควรเตือนตัวเองไว้เหมือนกันก็คือเรื่อง Digital Footprint ที่ถูกเก็บไว้ในโลกดิจิทัลทั้งที่เรารู้ตัว และไม่รู้ตัวด้วยเหมือนกัน
กฎข้อนี้อาจจะเป็นพื้นฐานแรกๆ เลยด้วยซ้ำ ก่อนที่เราจะโพสต์สิ่งต่างๆ ลงในโลกอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียต่างๆ
ฆาตกรกับการอยากอยู่ในสปอตไลท์
ทั้งนี้ทั้งนั้น ท่ามกลางความระทึกขวัญของคดีฆ่าสัตว์และฆ่ามนุษย์ สารคดีนี้ก็ยังมีอีกแง่มุมที่น่าพูดถึงไม่น้อยเลยทีเดียว ประเด็นแรกคือ ปมในจิตใจของฆาตกรที่อยากเป็นที่รู้จักของสังคม
บ่อยครั้งที่สารคดีต่างๆ พูดถึงปมในจิตใจของฆาตกร (ต่อเนื่อง) หนึ่งในประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาดีเบตกันบ่อยๆ คือเรื่องปมที่คนเหล่านั้นอยากตกอยู่ใน ‘สปอตไลท์’ ของสังคม หรือพูดอีกแบบคืออยากได้รับการพูดถึงเยอะๆ
ฆาตกรในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ หลายคนก็มีพฤติกรรมเช่นนี้จริงๆ โดยเฉพาะ ‘BTK Killer’ หรือ เดนิส เรดาร์ ที่มักจะส่งจดหมายไปหาตำรวจเพื่อบอกข้อมูลคดีของตัวเอง หรือบางครั้งก็ส่งคำขู่ไปถึงสถานีโทรทัศน์เพื่อให้เปิดเผยชื่อของเขาให้สาธารณะได้รับรู้เลยด้วยซ้ำ
เช่นเดียวกับที่สารคดี Don’t F**k With Cats พยายามจะสื่อว่า คนร้ายในคดีนี้ก็ต้องการความสนใจจากสื่อมวลชน และโหยหาการถูกรับรู้ตัวตนค่อนข้างมาก สะท้อนได้จากการตั้งใจส่งชิ้นส่วนมนุษย์ไปยัง 2 พรรคการเมืองใหญ่ในระดับชาติ ซึ่งสิ่งที่ฆาตกรทำก็ได้ผล เพราะสื่อเองก็ตีข่าวอย่างจริงจัง กระทั่งไปสัมภาษณ์หัวหน้าพรรคการเมืองอีกต่างหาก ขณะเดียวกัน ตัวตนของเขาก็ถูกเผย่แพร่ข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ และข้ามไปยังระดับนานาชาติ
คำถามที่น่าคิดจากสารคดีนี้คือ แล้วทำไมฆาตกรบางคนถึงอยากเป็นที่รับรู้? และพวกเรามีส่วนที่ช่วยให้เขาโด่งดังด้วยรึเปล่า? หรือการที่เราสนใจในเรื่องราวเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าเราได้ตอบสนองความต้องการของฆาตกรเหล่านั้นไปเรียบร้อยแล้วกันแน่?
อ้างอิงจาก