เคยลองพิมพ์ชื่อของตัวเองแล้วพิมพ์ลงใน Google ไหม? เชื่อว่าหลายๆ คนเวลาเห็นข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองผ่านเว็บค้นหาต่างๆ ก็น่าจะตกใจกันพอสมสมควรว่า จริงๆ แล้ว Google รู้จักและมีข้อมูลของเรามากกว่าที่คิด
ไม่ใช่แค่ข้อมูลของเราที่ปรากฎใน Search Engine หากแต่ว่าทุกวันนี้เว็บไซต์หรือบริการต่างๆ ในโลกออนไลน์ได้เก็บข้อมูล ‘พฤติกรรม’ ของพวกเราไว้แทบจะทุกวินาทีที่เรากดนิ้วเคาะลงคีย์บอร์ด หรือการคลิ๊ก กดไลก์สเตตัสของเพื่อนบางคน มันก็ถูกเก็บและนำไประบุตัวตนต่อไปในอนาคตได้เช่นกัน
หลายปีมานี้คอนเซ็ปต์ว่าด้วย ‘Digital Footprint’ ได้เริ่มรับการพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในหมู่คนทำงานแวดวงสื่อสารมวลชน ตลอดจนคนที่ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ หลายๆ คนกำลังชวนให้บุคคลทั่วไปได้เข้าใจถึงเรื่องนี้และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับ ‘ความเป็นส่วนตัว’ ของเราบนโลกอินเทอร์เน็ต
Digital Footprint คืออะไร?
ถ้าอธิบายกันแบบเข้าใจง่ายๆ มันก็แปลตรงตัวได้เลยคือ ‘รอยเท้าของเราบนโลกดิจิทัล’ หรือหากจะลงรายละเอียดกันอีกนิดได้ว่า Digital Footprint คือ ข้อมูลต่างๆ ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหรือผู้ท่องโลกออนไลน์อย่างๆ ได้ทิ้งข้อมูลเอาไว้บนโลกดิจิทัล ซึ่งสามารถถูกติดตามและถูกนำไปใช้ได้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ รวมถึงอินสตาแกรม ตลอดจนการใช้บริการเว็บไซต์
อธิบายให้ง่ายขึ้นอีกนิดก็คงจะได้ว่า มันคือพฤติกรรมต่างๆ ที่เราเคยทำไว้ในโลกดิจิทัลนั่นเอง และเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นรอยเท้าหรือ Foot print มันก็แปลว่า สามารถถูกติดตามและค้นหาได้แม้ว่าเวลาจะผ่านไปแล้วก็ตาม
ตัวอย่างที่เราทิ้งเอาไว้ในโลกออนไลน์ ไม่ได้มีเพียงแค่สเตตัสบนเฟซบุ๊ก หรือข้อความในทวิตเตอร์ หากยังมีข้อมูลที่ลึกมากไปกว่านั้น ทั้งจำนวนการคลิ๊ก หรือการค้นหาสิ่งต่างๆ ในโลกอินเทอร์เน็ต
เว็บไซต์ Techterms แบ่ง Digital Footprint เป็น 2 แบบ
1) Passive Digital Footprint : ข้อมูลที่เราทิ้งร่องรอยไว้แบบที่ไม่ได้ตั้งใจหรือไม่ได้รู้ตัว เช่น IP Address หรือ Search History ต่างๆ ที่เราถูกจัดเก็บเอาไว้
2) Active Digital Footprint : ข้อมูลที่เราตั้งใจเปิดเผยโดยที่รู้ตัว เช่น อีเมล์ต่างๆ หรือสิ่งที่เราตั้งใจโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย
ทั้งนี้ สเตตัสที่เราตั้ง ข้อความที่เราทวีต หรือรูปที่เราแชร์ลงอินสตาแกรม เหล่านี้ล้วนสร้าง Digital Footprint ได้อย่างชัดเจน ยิ่งมีเยอะมาก ร่องรอยก็เยอะตามไปด้วย
เคยมีการทดลองชื่อว่า Footprints Project จัดทำโดย Stanford University และ Princeton University เมื่อปี 2016 ที่นำข้อมูลการท่องเว็บไซต์ของกลุ่มตัวอย่าง มาวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ จนสามารถระบุตัวตนผู้ใช้งานได้ถูกต้องทั้งหมด 240 คนจาก 300 คน หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้วิธีการที่นักวิจัยทำ คือลักษณะที่ใกล้เคียงกับเครื่องมือต่างๆ ที่นักการตลาดออนไลน์หรือเอเจนซี่ด้านการตลาดมีในมืออยู่แล้ว
ตัวอย่างนี้สะท้อนได้ว่า ร่องรอยดิจิทัลของเราไม่ใช่แค่ไม่ได้หายไป หากยังถูกนำไปใช้ได้อยู่เกือบตลอดเวลาด้วยเหมือนกัน
ยิ่งทิ้งรอยเท้าไว้มาก ยิ่งระบุตัวตนได้ชัดเจน
ข้อสรุปหนึ่งที่เกิดขึ้นการศึกษาเรื่อง Digital Footprint ก็คือ ยิ่งเราทิ้งข้อมูลไว้เยอะมากแค่ไหน ตัวตนเราก็จะถูก (คนที่ได้รับข้อมูลเหล่านั้นไป) ระบุตัวตนเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ลองนึกถึงภาพนักการตลาดที่พยายามยิงโฆษณามาหาเราผ่านเฟซบุ๊ก นักการตลาดที่รู้ว่าตอนนี้เรากำลังอินกับเรื่องอะไร หรือกำลังสนใจประเด็นไหนเป็นพิเศษ ทั้งที่เราไม่เคยบอกกล่าวใครเลยว่าเราชอบสิ่งเหล่านั้น
เคยมีบทความที่เปรียบเทียบว่า ชีวิตในโลกออนไลน์ของพวกเราก็เหมือนกับการเดินเท้าเปล่าบนชายหาด ยิ่งเดินในระยะทางยาวเท่าไหร่ ร่องรอยที่จะเรียกตามตัวตนของเราก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น
ในแง่ของสังคมและการเมืองแล้ว ที่ผ่านมาก็มีหลายๆ กรณีที่ร่องรอยในอดีตของแต่ละคน ที่เคยทิ้งไว้ในอดีต ก็ได้กลายเป็นประเด็นให้กับตัวเขาในยุคปัจจุบัน
ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ และกลายเป็นกระแสที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง ในระดับนานาชาติ คือกรณีของ James Gunn ผู้กำกับหนังเรื่อง Guardians of the Galaxy ที่ถูกดิสนีย์สั่งปลดเพราะมีการค้นพบว่า เขาเคยทวีตข้อความที่ไม่เหมาะสมในเรื่องทางเพศ
จากกรณีของ Gunn และหลายๆ คนในโลกอินเทอร์เน็ต น่าจะบอกกับพวกเราว่า สิ่งที่เราอาจจะต้องรู้ตัวอยู่เสมอ คือเมื่อข้อมูลเหล่านี้มันปรากฎบนโลกออนไลน์แล้ว มันก็ยากจะลบทิ้งให้หายไป และอดีตในโลกออนไลน์ มันอาจตามไล่ล่าเราได้มากกว่าที่คิด
ผ่านร่องรอยที่เราทิ้งเอาไว้เอง ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามที
อ้างอิงจาก
https://techterms.com/definition/digital_footprint
https://edgy.app/digital-footprints-left-behind
http://www.globaltimes.cn/content/1016283.shtml
https://thematter.co/thinkers/digital-footprint-and-privacy/25169