เรียกว่ากลายเป็นกระแสชุบชูจิตใจส่งท้ายปีกับเหล่า #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ ที่ขนขบวนมาโชว์ตัวความน่ารักน่าเอ็นดู จนใครๆ ก็ งู้ยยยย ไอ้ต้าววว ไปตามๆ กัน แถมแฟนอาร์ตของเหล่าน้อนก็ยังมีออกมามากมายไม่หยุด ยิ่งทำให้เห็นความสามารถของการสร้างงานศิลปะในไทยเลยทีเดียว
ซึ่งความน่ารักของเหล่าสัตว์หิมพานต์นี้ จริงๆ ก็มีคอนเซปต์ของมันอยู่ซึ่งเรียกว่าเป็น Naïve art ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะของคนทั่วไปที่ไม่ได้เก่งเรื่องานสิลปะแต่มีใจรักและอยากสร้างผลงาน กลายเป็นรูปแบบงานสุดคิ้วต์ สุดน่ารัก จนเป็นความงามแบบหนึ่ง นอกจากนี้ก็ยังมีคอนเซปต์อีกแบบที่ทำให้เกิดประติมากรรมเหล่านี้ คือเรื่องของการลดทอนเปลือกให้เหลือเพียงแก่น ซึ่งรูปปั้นที่เราเห็นกันนั้นก็จะเห็นได้ว่าไม่มีการตกแต่งลวดลาย หรือมีอะไรยุ่งยากซับซ้อน กลายเป็นศาสตร์แห่งมินิมอลที่เขาถึงหลักธรรมของพุทธศาสนาไปพร้อมๆ กัน
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็อาจทำให้เรางงๆ ว่าสรุปน้องเป็นตัวอะไรกันแน่ เราเลยชวนมาทำความรู้จักบางตัวที่พอจะบอกได้กัน แต่เหล่า #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ ยังมีอีกหลายหลายตัวให้เราไปค้นพบ ใครชอบตัวไหน ลองมาแชร์ให้ดูหน่อย บางทีนี่อาจกลายเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวแบบใหม่ที่ชวนกันไปตามหาเจ้าน้องหิมพานต์ทั้งหลาย และทำให้การเที่ยวไม่น่าเบื่อก็ได้นะ
มอม
ตามหาได้ที่ : วัดเจติยภูมิ พระธาตุขามแก่น ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
น้องที่ทำให้หลายคนรู้จักความน่ารักของโลกหิมพานต์นี้มีชื่อเรียกว่า ‘มอม’ ซึ่งเป็นสัตว์ที่สร้างจากความเชื่อ ความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน โดย พจนานุกรมล้านนา ฉบับแม่ฟ้าหลวง ได้ให้ความหมายไว้ว่า มอมคือรูปสัตว์ครึ่งลิงครึ่งเสือ มีแขนยาว ตัวดำ บางทีก็ว่าคล้ายสุนัขปักกิ่ง บางแห่งก็แปลว่าเสือดำ
ส่วนในอีสานนั้นก็อธิบายถึงมอมว่า น่าจะเป็นสัตว์ครึ่งสิงห์ครึ่งลิงมากกว่า เพราะมอมมักกล่าวไว้คู่กับสิงห์ อย่างในบันทึก โครงท้าวฮุ่งขนเจือง นอกจากนี้ตามตำนานก็เล่าว่า มอมเป็นพาหนะของเทพปัชชุนนะเทวบุตร ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งฝนตามคติความเชื่อของคนล้านนา ทำให้เราอาจเจอมอมได้ตามบันไดวัดหรือตามศาสนสถานทางแถบล้านนา
ด้วยความที่มอมเป็นสัตว์ที่มีอำนาจ ทำให้มอมมีความหยิ่งลำพอง จนตามความเชื่อคือทำให้ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ผู้คนจึงใช้มอมมาตั้งที่หน้าบันไดเพื่อเตือนให้คนตั้งใจปฏิบัติธรรม
มกร/เหรา
ตามหาได้ที่ : วัดชัยภูมิการาม อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี
อีกหนึ่งตัวที่โด่งดังคือ เหรา (อ่านว่า เห-รา) หรือ มกร เป็นสัตว์ในจินตนาการที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ โดยเป็นการผสมผสานระหว่างจระเข้กับพญานาค โดยเหรานี้เป็นศัตรูกับนาค อยากเป็นเจ้าแห่งแม่น้ำโขง นอกจากนั้น เนื่องจากนาคเป็นตัวแทนของพุทธศาสนาก็ยิ่งเพิ่มไฟแค้น เลยทำให้อิจฉาริษยาพญานาค จนมีประติมากรรมที่เหราพยายามกลืนนาค แต่ไม่สำเร็จ เหรากลายเป็นตัวแทนเตือนสติคนไม่ให้ยึดติด อิจฉา จนไม่บรรลุธรรม
สิงห์ / สกุณไกรสร
ตามหาได้ที่ : วัดเกาะวาลุการาม จ.ลำปาง
อีกตัวที่ชวนทำความรู้จักที่คือสิงห์ หรือบางคนก็มองเป็น สกุณไกรสร ซึ่งเป็นสัตว์หิมพานต์ที่มีส่วนหัวเป็นนก ส่วนตัวเป็นสิงห์ ซึ่งสัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์ที่ดูสง่า และน่าเกรงขาม จึงมักได้รับหน้าที่ในการเฝ้าศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อย่างที่เป็นไวรัลนี้ก็เป็นตัวที่เฝ้าพระธาตุเอาไว้พร้อมๆ สัตว์หิมพานต์ชนิดอื่นๆ
นาค
น้องนาคตัวนี้อาจมาได้ทันเวลาพอดี เพราะสวมหมวกสีแดงคล้ายไปฉลองคริสต์มาส
จริงๆ นาคเป็นที่รับรู้ของคนไทยมาเสมอ เพราะเป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับวัดวาอารามมาโดยตลอด โดยลักษณะสำคัญของนาคคือเป็นงูใหญ่มีหงอน ต่างจากเหราตรงที่ไม่มีเท้า และทั้งคู่ก็เป็นศัตรูกัน โดยในวัดไทยเกือบทุกภาคนั้นใช้นาคมาประจำอยู่ตรงบันได เพราะเชื่อว่าเป็นการเชื่อมทางโลกกับทางธรรมเข้าด้วยกัน อีกทั้งนาคนั้นเป็นเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของศาสนาพุทธด้วย
แต่เรายังตามหาไม่เจอว่าน้องนาคตัวที่โด่งดังนี้อยู่วัดไหน ใครรู้ชี้เป้าหน่อยจ้า
อ้างอิงข้อมูลจาก