หลังจาก The MATTER พาไปสำรวจนรกกันมาแล้ว ล่าสุดเราก็มีละครพิภพหิมพานต์ที่พาเรากลับไปสำรวจป่าลึกลับที่เป็นเหมือนพื้นที่ในจินตนาการของภูมิภาคเอเชียของเรา ป่าหิมพานต์อยู่ในจักรวาลวิทยาทั้งของพุทธและของฮินดู ถ้าเป็นคติทางบ้านเรา ป่าหิมพานต์จะอยู่ในกามภูมิ ส่วนที่เป็นมนุสสภูมิหรือโลกมนุษย์ของเรานี่แหละ ด้านหนึ่งป่าหิมพานต์ก็มาจากจินตนาการของผู้คนที่อยู่บริเวณเทือกเขาหิมาลัย ตามวัฒนธรรมและความเชื่อที่เมือผู้คนมองไปยังเขาสูงและป่าอันลึกลับนั้นว่าเป็นที่สถิตของสิ่งอัศจรรย์และเหล่าเทพเจ้า
สำหรับวัฒนธรรมไทย ป่าหิมพานต์สัมพันธ์กับจักรวาลวิทยาแบบพุทธ ป่าหิมพานต์จึงส่งอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อ และงานศิลปะทั้งในพุทธศาสนาและในความคิดโดยทั่วไปอย่างลึกซึ้ง นอกจากสัตว์หิมพานต์ที่ล้ำจินตนาการแล้ว ยังส่งผลกับศิลปะทั้งจิตกรรมและการออกแบบภูมิทัศน์เช่นภาพวาดที่มักมีภูเขา หรือการออกแบบสวนที่มีเขาขนาดเล็กที่เรียกว่าเขามอ หรือการมีสระน้ำก็ล้วนมาจากจินตนาการของป่าหิมพานต์ และของสวรรค์อันเป็นที่อันอุดมสมบูรณ์และเป็นอุดมคติ
ดังนั้น การเป็นแมพป่าหิมพานต์ จึงเป็นอีกครั้งที่จะกลับไปเปิดไตรภูมิพระร่วง วรรณคดีโบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัยที่เล่าถึงโลก ที่มาและที่ไปของจักรวาล อันรวมไปถึงชีวิตของเราที่เวีบนว่ายอยู่ในภพทั้งสาม ในไตรภูมินั้นมีการพูดถึงโลกของเรา- อันหมายถึงโลกมนุษย์ไว้อย่างละเอียดพิสดาร ซึ่งป่าหรือตามไตรภูมิเรียกว่าเป็นเขาพระหิมพานต์นี้ก็มีการพูดถึงไว้อย่างมีสีสัน- ซึ่งในแง่การเปิดแผนผังอาจจะยากหน่อยเพราะการอธิบายลักษณะของป่าหิมพานต์ ไม่ได้มีการพูดถึงจุดที่ตั้งของสถานที่ต่างๆ ไว้ว่าอยู่ไหน อะไรต่อกับอะไรขนาดนั้น
ภูมิศาสตร์ของป่าหิมพานต์
ป่าหิมพานต์ตั้งอยู่ในชมพูทวีป หนึ่งในสี่มหาทวีป ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเขาพระสุเมรุหรือแกนของโลก ชมพูทวีปคือทวีปของเราๆ ท่านๆ นี่แหละ เป็นดินแดนที่มีทั้งสุข มีทั้งทุกข์ อายุขัยขึ้นๆ ลงๆ ไม่เหมือนกับทวีปอื่นๆ ที่ค่อนข้างตายตัวและเป็นอุดมคติ ชมพูทวีปมีพื้นที่ 10,000 โยชน์ เป็นที่อยู่ของมนุษย์ 3,000 โยชน์ เป็นป่าหิมพานต์ไป 3,000 โยชน์ คือครึ่งต่อครึ่ง ที่เหลือเป็นทะเลอีก 4,000 โยชน์ ไตรภูมิเรียกป่าหิมพานต์ว่าภูเขาหิมพานต์ สูง 500 โยชน์ และมียอดเขา 84,000 ยอด- เยอะมาก แต่น่าจะเป็นตัวเลขเชิงสัญลักษณ์
แลนด์มาร์ก
แลนมาร์กแรกของเขาหิมพานต์คือ ต้นหว้า ต้นไม้ที่ถือว่าเป็นไม้ประจำชมพูทวีป ท่านว่าที่ตีนเขาหิมพานต์จะมีต้นหว้าอยู่ต้นหนึ่ง ต้นหว้านี้ไม่ใช่ไก่กาแต่มีลักษณะพิเศษคือตัวต้นสูงใหญ่ สูงถึง 50 โยชน์ เมื่อมีดอกก็แสนจะหอมหวาน ถ้านึกไม่ออกว่าใหญ่แค่ไหนคัมภีร์ท่านก็อธิบายอย่างชัดเจนว่า ลูกหว้านี้ใหญ่ขนาดที่ว่าถ้าเราเอามือยัดเข้าไป พอสุดช่วงแขนพอดีถึงจะถึงเมล็ด ไม้หว้านี้ยืนต้นอยู่ที่ริมแม่ชื่อ สีทานที ผลของหว้ามีรสหวานเหมือนน้ำผึ้ง เมื่อตกใส่ร่างกายก็จะหอมเหมือนแก่นจันทน์ พวกนกที่มาจิกกันก็ใหญ่ยักษ์สมขนาดคือตัวเท่าช้างสาร หรือตัวเท่าบ้านเท่าเรือนก็มี ที่พิเศษกว่านั้นคือยางของต้นหว้าเมื่อตกลงในแม่น้ำก็จะกลายเป็นทองคำสุก มีชื่อด้วย ชื่อทองงชมพูนุท
ป่าในหิมพานต์
ถัดจากต้นหว้าใหญ่ จะมีป่าและแม่น้ำต่างๆ คือมีป่ามะขามป้อม ป่าสมอ พ้นจากป่าสมอไปก็จะมีแม่น้ำใหญ่ 7 สาย พ้นจากป่าและแม่น้ำก็จะเจอป่าที่มีชื่อเสียงคือป่านารีผล เซ็กส์ทอยประจำกามภูมิ นารีผลนั้นมีลักษณะเหมือนสาวอายุ 16 ปี ผู้ชายทั้งหลายพากันหลงรัก แต่พอนารีผลร่วงลงพื้นดินก็จะมีนกมาจิกกิน หลังจากนั้นก็พูดถึงป่ารวมๆ 7 ผืน คือป่ากุรภะ ป่าโกรภะ ป่ามหาพิเทหะ ป่าตะปันทละ ป่าโสโมโล และป่าไชยเยต
หลักๆ แล้วมีการอธิบายว่าป่าเหล่านี้เป็นที่อันพิเศษ คือเป็นที่บำเพ็ญภาวนาของผู้ทรงธรรม ในป่ามีเนื้อทรายและจามรีอยู่มาก มากจนเอาขนหางของจามรี(ที่เชื่อว่าพวกมันหวงขนและขนนั้นสูงค่ามาก) ผู้มีบุญจะเอาขนหางจามรีมามุงเป็นบ้าน ส่วนอาหารการกินก็เป็นทิพย์ คือมีข้าวมีถั่วงอกขึ้นมาเอง พรรณไม้ในป่ามีรสชาติอร่อยทุกอย่าง ไม่ต้องไปกินห้าง
สระอโนดาต
นอกจากป่าแล้ว ในป่าหิมพานต์ยังพูดถึงสระ 7 สระ คือ สระอโนดาต สระกัณณมุณฑะ สระรถการะ สระฉัททันต์ สระกุณาละ สระมันทากินี และสระสีหปปาตะ สระทั้ง 7 ใหญ่เท่ากันทุกสระ แต่ในบรรดามีอธิบายละเอียด 2 สระ ซึ่งแน่นอนคือสระอโนดาต และฉัททันต์ สระอโนดาต บางที่ก็บอกว่าเป็นเหมือนยอดเขาของป่าหิมพานต์ แต่โดยลักษณะเป็นเหมือนตาน้ำที่ก่อกำเนิดแม่น้ำสายหลักของโลกหรือปัญจมหาทนีคือคงคา ยมุนา จิรวดี มหี และสรภู ซึ่งสระอโนดาตนี้ก็แสนจะแฟนตาซีเพราะล้อมรอบด้วยภูเขาทิพย์ 5 ยอดที่โน้มเข้าหากันเหมือนเป็นสเตเดียม ทำให้น้ำในสระนั้นเย็นใสเพราะแสงอาทิตย์ต้องไม่ถึง
น้ำจากเขาทั้งหลาย และพลังของพญานาค ทำให้ทั้งฝนทั้งน้ำจะไหลมาลงที่สระอโนดาต ในสระจะมีท่าน้ำ 4 ท่า แต่ละท่าเป็นที่ลงอาบของเทวบุตร ของเทวดา ของพระปัจเจกโพธิเจ้า และเป็นของฤาษีลงอาบ รอบสระมีมีประตูสี่ทิศ แต่ละทิศจะเป็นรูปหน้าสัตว์แต่ละประเภท และในทางทิศนั้นก็จะเป็นถิ่นของสัตว์นั้นๆ คือสิงห์ ช้าง ม้า และวัว
ภูเขาในหิมพานต์
ในหิมพานต์มีภูเขาห้าลูก คือ เขาสุทัสสนะ เขาจิตรกูฏ เขากาฬกูฏ เขาคันทมาทน์ และเขาไกรลาศ ก็ไม่ธรรมดา แต่ละยอดมีความพิเศษ มีสีสันเหมือนแก้วมณี บางยอดเช่น เขาคันทมาทน์อุดมไปด้วยพืชหอมทำให้มีกลิ่นหอม ตรงนี้เหมือนเป็นการควบรวมทางความเชื่อ คือยอดเขาหนึ่งรอบสระอโนดาตมียอดหนึ่งชื่อไกรลาศ เป็นสีเงิน อธิบายว่าเป็นที่อยู่ของนางกินรี มีความสนุกสนานเหมือนกับดาวดึงษ์ โดยยอดเขานั้นเป็นที่ประทับของพระปรเมศวรหรือพระอิศวร ในขณะที่ยอดเขาจิตรกูฏ มีคูหาทองคำเป็นที่อยู่ของพญาหงส์ ท้าวความไปถึงพระชาติหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระยาหงส์ธตรฐราช มีหงส์ทอง 9 หมื่นตัวเป็นบริวาร
ช้าง ในหิมพานต์
จากสระอโนดาตที่เป็นตาน้ำและมีเขาล้อมเป็นโดม ถ้าเกิดบังเอิญไปเจออีกสระที่ต้องปีนเทือกเขา 6 เทือกเข้าไปและมีช้างอยู่ในที่นั้น แปลว่าหลงไปที่ฉัททันต์สระและ ซึ่งในจินตนาการของเอเชียเรามีช้างเป็นสัตว์สำคัญ และฉัททันต์สระก็เป็นที่อยู่ของช้างวิเศษ ตัวสระตั้งอยู่ในเทือกเขาหกเทือกล้อมสลับซับซ้อนกัน แต่ละเทือกมีสีเป็นแร่มีค่าเช่นทอง มรกต รวมหกสี ตรงกลางผืนดินเป็นทองคำ มีสระน้ำ 2 สระ ในบรรดาช้างของป่าหิมพานต์มีหลายตระกูล ส่วนใหญ่แบ่งตามสี ถ้าช้างเกิดในตระกูลฉัททันต์คือมีสีขาวเหมือนสังข์ขัดใหม่ ก็จะเป็นบอส คือใหญ่สุด แถมช้างฉัททันต์นี้จะเปล่งรัศมีออกมาเป็น 6 สี วิ่งฉวัดเฉวียนอยู่รอบๆ ตัว เหมือนเปิดผับตลอดเวลา โดยช้างฉัททันต์ มีสีกายเผือกผ่อง ปากและเท้าสีแดง สูงได้ 88 ศอก ยาว 120 ศอก งวงยาว 58 ศอก งายาว 30 ศอก
หมายเหตุ : ภาพประกอบเป็นเพียงจินตนาการของผู้ออกแบบภาพเท่านั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก