ในโลกของเหล่าสรรพสัตว์และผู้คนยังคงอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข หรือดินแดนที่เหล่าอัศวินยังสามารถเอาชนะปีศาจและสิ่งชั่วร้ายนำมาซึ่งความผาสุข ในโลกที่จินตนาการของเรายังสวยงาม ทุกวันนี้ใครหลายคนยังคงนั่งอ่านหนังสือเปี่ยมมนต์ขลังที่ว่า หนังสือที่ได้รับการแปะป้ายว่าเป็นเรื่องสำหรับเด็ก แต่สำหรับเรา – ผู้ใหญ่ – หนังสือที่ดูจะเขียนเพื่อเด็กๆ นี้ ก็ไม่ได้มีประโยชน์แค่สำหรับคนเพียงกลุ่มเดียว
ปรากฏการณ์แฮร์รี่ พอตเตอร์เป็นหนึ่งปรากฏการณ์ที่ยังยืนยันว่า ไม่ว่าเราจะเติบโตแค่ไหน ในที่สุดพลังแห่งเรื่องเล่าและจินตนาการก็ยังคงเอาผู้ใหญ่อย่างเราๆ อยู่หมัด แต่นอกจากการพาเรากลับไปสู่ความตื่นเต้นกับความอัศจรรย์แล้ว ทำไมเราถึงยัง – หรือกระทั่งถึงสมควรที่จะกลับไปรื่นรมย์ – กลับไปรู้สึกแบบเด็กๆ ไปกับเรื่องราวที่ยังสวยงามจากวรรณกรรมเยาวชน หนังสือนิทานของเด็กๆ กันอีกซักครั้ง
กลับไปสู่ทุ่งหญ้า และกลับไปสู่อดีต
มันก็จะเขินๆ นิดหน่อย ที่เราในฐานะผู้ใหญ่จะไปนั่งอ่านหนังสือสำหรับเด็ก แก่ปูนนี้แล้วยังคงอ่านนิทาน ปล่อยใจให้ลอยไปกับการผจญภัย แต่จริงๆ ก็ไม่เห็นมีอะไรต้องอาย ใครว่าเรื่องของเด็กต้องมีแต่เด็กอ่าน ในเรื่องที่ดูเด็กๆ – มีเรื่องเหนือจินตนาการ โครงเรื่องเรียบง่าย คลี่คลายสวยงาม จะต้องเป็นแค่เรื่องของเด็กน้อยเท่านั้น
คำอธิบายที่เรียบง่ายที่สุด – และเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของวรรณกรรม – คือเรื่องราวที่อุดมสมบูรณ์เหล่านี้กำลังพาเรา ‘หลีกหนี’ ไปจากโลกที่แสนผุพังในชีวิตจริง เราอยู่ในโลกแห่งความขัดแย้ง อยู่ในเมืองที่มีแต่เรื่องวุ่นวาย ดังนั้นก็คงมีแต่โลกแห่งหน้าหนังสือ ดินแดนแห่งจินตนาการเท่านั้นแหละที่พอจะพาเราล่องลอยไปยังทุ่งหญ้าเขียวขจี ไปอ่านเรื่องของกระต่ายน้อย หมี ชีวิตชาวไร่ แค่เราไล่สายตาไปก็แทบจะได้โดดหนีกลับไปสู่ดินแดนที่มีสายลมเย็นๆ แล้ว
นอกจากการอ่านจะพาเราหลีกหนีไปในเชิงพื้นที่ – คือได้ปล่อยใจล่องลอยไปยังดินแดนอื่นแล้ว – การอ่านวรรณกรรมเยาวชน – หนังสือเด็ก เช่นแมงมุมเพื่อนรัก หนังสือแปลของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ยังเป็นเสมือนการได้เดินทางย้อนเวลากลับไปสู่อดีต กลับไปสู่วัยเด็กและกู้คืนความเป็นเด็กอันล้ำค่าของเรากลับคืนมา
Graham Greene นักเขียนชาวอังกฤษหนึ่งในนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 บอกว่า บางครั้งในวัยเด็ก ก็เห็นจะมีแต่หนังสือนี่แหละที่ส่งอิทธิพลต่อตัวเราอย่างลึกซึ้ง กรีนบอกว่าที่เป็นอย่างนั้นเพราะพอเราโตขึ้น เรามีแนวโน้มที่จะอ่านต่ออะไรที่มาตอบสนองกับความคิดความเชื่อที่มีอยู่แล้ว ดังนั้นตอนเด็กๆ สิ่งที่เราอ่านจึงเป็นการเรียนรู้และก่อร่างตัวตนของเราไปบนความเป็นไปได้ที่ไม่รู้จบ ดังนั้น จากคำพูดของปู่กรีน การกลับไปอ่านหนังสือเด็ก อาจเป็นการกลับไปสู่ห้วงเวลาที่เรายังไม่มีอคติต่างๆ และในหัวใจเรายังมีประตูแห่งความเป็นไปได้ที่ยังคงไม่รู้จบ – หรือถ้าไม่ขนาดนั้น ก็เป็นการกลับไปสู่ห้วงเวลาในอดีตของเรา ฟื้นฟูความเป็นเด็กที่อาจจะด้านชาจากโลกใบนี้แล้วให้กลับมาสดใสสักเล็กน้อย
มันไม่มีหรอก เรื่องที่จำกัดเฉพาะเด็กอ่าน
หนังสือสำหรับเด็ก สุดท้ายคนที่เขียนก็ไม่ใช่เด็กอ้อแอ้ซะเมื่อไหร่ นักเขียนที่สร้างสรรค์งานซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องเด็ก ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่คนที่เป็นพ่อ เป็นพวกรักเด็ก แต่นักเขียนเหล่านี้คือคนที่กลับไปทบทวนและนำเสนอโลกที่บิดเบี้ยวใบนี้ในมุมมองที่เชื่อมโยงกับเด็กๆ ได้ดี Maurice Bernard Sendak เจ้าของ Where the Wild Things Are หนังสือสำหรับเด็กระดับตำนาน เคยให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เคยเชื่อเลยว่างานที่ตัวเองเขียนจะเป็นหนังสือเด็ก เขาเขียนหนังสือสำหรับใครก็ตาม เพียงแค่มันบังเอิญไปถูกใจเด็กๆ เท่านั้น
J. R. R. Tolkien เจ้าพ่องานแนวแฟนตาซีเองก็บอกว่า ในที่สุดแล้วมันไม่มีหรอกเรื่องที่เขียนขึ้นเพื่อเด็กๆ โทลคีนเขียนความเรียงว่าด้วยเรื่องเทพนิยาย On Fairy-Stories โต้แย้งว่าพวกเรื่องแนวแฟนตาซี นิทานหรือเทพนิยายไม่ได้มีจุดหมายให้เด็กๆ อ่านอย่างเดียว แต่งานเขียนเหล่านี้คือดินแดนแห่งจินตนาการที่บรรจุแกนของมนุษย์เอาไว้ แค่ถูกเล่าออกมาด้วยวิธีการของเวทย์มนตร์เท่านั้น ในทำนองเดียวกัน Neil Gaiman เจ้าพ่อเรื่องแฟนตาซีที่ไม่เหมาะกับเด็กเท่าไหร่ ก็เห็นพ้องว่าการไปจำกัดว่าเทพนิยายใดๆ เป็นแค่เรื่องของเด็กนั้นไม่ถูกต้อง
ความคิดเรื่องวรรณกรรมสำหรับเด็กอาจไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กดูจะเป็นสิ่งที่นักคิดนักเขียนหลายคนยืนยัน มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Wild Things: The Joy of Reading Children’s Literature as an Adult แค่ชื่อเรื่องผู้เขียน Bruce Handy ก็แทบจะบอกเราทั้งหมดแล้วว่าประเด็นของหนังสือและความคิดของพี่แกคืออะไร หนังสือเล่มนี้กลับไปสำรวจประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่และหนังสือเด็ก กลับไปอ่านและเรียนรู้พวกวรรณกรรมที่เราเคยอ่านตอนเด็กๆ ด้วยสายตาแบบผู้ใหญ่ แฮนดีชี้ให้เห็นมิติที่ลึกซึ้งขึ้นเมื่อเรา – เด็กน้อยที่โตขึ้นแล้วได้กลับไปอ่านการผจญภัยของกระต่ายน้อยปีเตอร์จาก The Tale of Peter Rabbit
สิ่งสำคัญหนึ่งที่บรูซ แฮนดีชี้ให้เห็นคือ เขาชวนให้เรานึกถึงเวลาที่เราพูดถึงหนังสือเล่มแรกๆ ที่เราอ่าน ในการพูดคุยนั้นมักสร้างบรรยากาศอบอุ่นหัวใจ เราได้พากันหวนกลับไปสู่อดีต ได้สำรวจความคิด ความรู้สึก และกลับไปเรียนรู้อะไรบางอย่างที่เราอาจหลงลืมและอาจทำให้เราเข้าใจอะไรใหม่ๆ เข้าใจโลกใบนี้จากมุมมองที่เราลืมเลือนไปบ้าง
ในความรู้สึกและบรรยากาศอันอบอุ่นนุ่มนวลนี้ ทำไมผู้ใหญ่อย่างเราๆ ถึงไม่กลับไปอ่านหนังสือเด็กกันใหม่ แล้วเอามาพูดคุยเรียนรู้กันอีกสักทีล่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก