อื้อหือ! เวรี่อังกฤษ
ขนาดคิงส์แมนหนังสายลับที่เพิ่งออกฉายไปเมื่อวาน ภาพสายลับในหนังแนวสายลับในปี 2017 ยังเชื่อมโยงกับ ‘ความเป็นอังกฤษ’ แบบที่เราจะนึกถึงบอนด์ สุภาพบุรุษอังกฤษ ผมเรียบแปล้ แต่งตัวแสนทางการ พกร่มหนึ่งคัน (ลอนดอนนี่เนอะ) ให้ความสำคัญกับมารยาท คิงส์แมนภาคนี้เป็นการทำงานของสายลับ จะเป็นการร่วมงานกันของสายลับสองโลก ระหว่างสายลับอังกฤษและสายลับอเมริกา สองโลกที่ต่างก็ผลิตภาพสายลับของตัวเอง – ซึ่งแน่ล่ะว่าภาพและเรื่องราวของสายลับที่รับรู้ ต่างก็มาจากหนัง จากงานเขียน จากตัวละครที่ถูกเขียนขึ้น
สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็น ถือเป็นภูมิหลังและเส้นเรื่องสำคัญของเหล่าสายลับชื่อดังทั้งหลาย เมื่อโลกเราแบ่งค่ายออกเป็นสอง ประเทศโลกที่ถือว่าตัวเองเป็นฝ่ายดีท่ามกลางความขัดแย้ง เป็นฝ่ายประชาธิปไตย เหล่านักเขียนนักคิดทั้งหลาย – หรือบางคนเคยทำงานในองค์การสายลับสมัยสงครามจริงๆ ต่างก็พากันจินตนาการหรือสร้างเรื่องเล่าของผู้คนที่ได้รับการฝึกหัดพิเศษ บุคคลที่เข้าไปทำภารกิจเสี่ยงภัยรับใช้รัฐบาลและทำหน้าที่ปกป้องประชาชนดำๆ จากโซเวียตบ้าง เกาหลีเหนือบ้าง ไปจนถึงความสงบสุขของโลกจากเหล่าองค์กรร้ายๆ ทั้งหลาย
จินตนาการเรื่องสายลับและความโด่งดังของนิยายสายลับมีความซับซ้อนและเป็นระดับโลกอยู่ในตัวเองแกนเรื่องและผลผลิตของหนังแนวสายลับจึงเป็นผลกระทบของความวิตกกังวลจากความขัดแย้งในระดับนานาชาติ เมื่อเรากลัวว่าเจ้าประเทศดำมืดอีกฝ่ายมันทำอะไรอยู่ การสร้างเรื่องราวสายลับขึ้นมากเป็นการเล่าว่า ชาติของเรายังเกรียงไกร มีเทคโนโลยี หน่วยงาน องค์ความรู้และผู้คนแบบนี้อยู่นะ คนที่คอยปกป้องความมั่นคงของชาติเราไว้
สำหรับอังกฤษ เจ้าตำรับสายลับยุคสงครามเย็นเอง ความเฟื่องฟูของเรื่องสายลับจากเกาะอังกฤษที่กลายมาส่วนหนึ่งของ ‘ตัวตนความเป็นอังกฤษ’ จนทุกวันนี้ Sam Goodman เสนอความคิดไว้ในหนังสือ British Spy Fiction and the End of Empire ว่า ตัวละครและจินตนาการเรื่ององค์กรสายลับ เป็นการสร้างจินตนาการที่อังกฤษพยายามรักษาความเกรียงไกรของการเป็นจักรวรรดิมหาอำนาจ จากการเป็นชาติทรงอำนาจอันดับหนึ่งไปสู่ระเบียบโลกแบบใหม่ และการล่าอาณานิคมที่กำลังจบลง เจมส์ บอนด์ เป็นตัวแทนของอำนาจที่ทำงานสอดส่องและปกป้องผลประโยชน์ให้กับพระราชินี และล่าสุดคิงส์แมนก็ให้ภาพองค์กรสายลับอัศวิน เป็นเหล่าสายลับสุภาพบุรุษที่ได้รับการขัดเกลาในทุกๆ ด้าน แป็นผลผลิตจากอดีตอันเกรียงไกรที่ยังคงทำงานรับใช้ประเทศชาติอยู่
ภาพของสายลับดูจะเป็นภาพรวมๆ ที่สอดคล้องไปทางเดียวกัน แล้วภาพเหล่านี้มาจากไหน ใครเป็นคนเขียน นอกจากพี่บอนด์แล้ว ยังมีคนอื่นๆ อีกมั้ยนะ The MATTER ชวนมารู้จักเหล่าสายลับชื่อดังที่ถูกสร้างขึ้นจนกลายมาเป็นภาพจำของการเป็นสายลับว่า จำเป็นจะต้องเท่แบบนี้ เสี่ยงตายแบบนี้ ใส่สูท ทำตัวแปลกๆ แว่นกรอบหนา รถซิ่ง อุปกรณ์ทันสมัย รึเปล่านะ?
Mr. Verloc (The Secret Agent: A Simple Tale – Joseph Conrad, 1907)
Mr. Verloc เป็นสายลับของ Joseph Conrad นักเขียนอังกฤษชื่อดัง The Secret Agent เป็นงานเขียนที่พูดเรื่องการเมืองไม่กี่ชิ้นของคอนราด แถมเรื่องนี้ไม่ได้เล่าถึงสายลับฝ่ายพันธมิตร Mr. Verloc ตัวละครเอกที่น่าจะนิยามว่าเป็นตัวร้ายของโลกได้ เป็นสายลับที่ทำงานให้ประเทศสมมุติ (ส่อเค้าว่าเป็นรัสเซีย) มากบดานอยู่ในลอนดอนเพื่อก่อวินาศกรรม ภาพของเวอร์ล็อกในฐานะสายลับก็คล้ายๆ กับสายลับในทุกวันนี้ คือ กึ่งเป็นคนปกติธรรมดา ที่มีกลิ่นตุๆ นิดหน่อย ตามเรื่องคือแกเป็นเจ้าของร้านอุปกรณ์ถ่ายหนังโป๊อะไรเทือกนั้น งานเขียนชิ้นนี้ได้รับความนิยมและความสนใจอีกครั้งหลังเหตุการณ์ 9/11 ในฐานะวรรณกรรมที่เริ่มพูดถึงความกังวลเรื่องการก่อการร้ายในโลกตะวันตก
Ashenden (Ashenden or the British Agent – W. Somerset Maugham, 1928)
เรารู้จัก W. Somerset Maugham ในฐานะนักเขียน แต่พี่แกไม่ได้เป็นแค่นักเขียน พี่แกเคยทำงานในหน่วยสืบราชการลับในยุโรปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้ลงมือเขียนนวนิยายแนวสายลับไว้ด้วย ด้วยความที่เรื่องแต่งนี้อิงเรื่องลับๆ จากเรื่องจริง Maugham ต้องทำลายเกือบครึ่งของงานเขียนดราฟต์แรกเพราะเชอร์ชิลบอกว่างานเขียนดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฏหมายว่าด้วยการรักษาความลับของทางการ
Ashenden เป็นนวนิยายแนวสายลับที่ได้รับการชื่นชมว่าเป็นงานชิ้นแรกที่เขียนโดยคนที่มีประสบการณ์ตรง ถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมจริง
James Bond (Casino Royale – Ian Fleming, 1952)
Ian Fleming มนุษย์ระดับตำนานที่ไม่ได้แค่สร้างบอนด์จนกลายเป็นไอคอนสายลับ และแทบจะกลายเป็นส่วนสำคัญของความเป็นอังกฤษในปัจจุบัน – พิธีเปิดโอลิมปิกในปี 2012 ที่ลอนดอนมีบอนด์และพระราชินีเคียงคู่กัน
Ian เองเรียกได้ว่าเป็นสุดยอดสุภาพบุรุษอังกฤษทั้งการศึกษาและภูมิหลังทางครอบครัว แถมพี่แกยังเคยเป็นสมาชิกหน่วยสืบราชการลับ เคยมีส่วนร่วมกับปฏิบัติการสำคัญๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งทั้งหมดนี้ก็กลายมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ เจมส์ บอนด์ ขึ้นมา
Casino Royale เป็นงานเขียนที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมทันทีเมื่อตีพิมพ์ในปี 1952 มีงานเขียนต่อเนื่องมากมาย และเป็นต้นแบบให้กับนวนิยายแนวสายลับ และส่งอิทธิพลกับภาพและเรื่องราวของสายลับจนทุกวันนี้
James Wormold (Our Man in Havana – Graham Greene, 1958)
เรื่องสายลับมันเครียด จะเครียด จะเก่งอะไรนักหนา ระยะหลังเราเลยมีเรื่องแนวสายลับตลกๆ ขึ้นมาล้อเลียนเป็นจำนวนมาก Our Man in Havana ถือว่าเป็นนักสืบแนวล้อเลียนตลกขบขันที่ล้อความประสาทกินว่าจะมีศัตรูและภัยอันตรายแฝงอยู่
Graham Greene เป็นนักเขียนนวนิยายสายลับที่มีชื่อเสียง โดดเด่นเรื่องความสมจริงจากประสบการณ์การเป็นหน่วยราชการลับช่วงสงคราม (ทำไมทุกคนดูเคยอยู่หน่วยลับและสามารถเขียนหนังสือได้) พี่แกคงเบื่อๆ มั้ง ใน Our Man in Havana เลยพูดถึงเรื่องการสืบที่บ้าๆ บอๆ คืออีตา James Wormold เป็นพนักงานขายเครื่องดูดฝุ่นในเมือง Havana เมืองหลวงของคิวบา ตกลงยอมเป็นสายลับให้อังกฤษเพื่อแลกกับค่าจ้างเพื่อเอามาเลี้ยงลูกสาวหัวสูง ทางอังกฤษก็คงกะว่าคิวบามันต้องมีข่าว มีเรื่องแน่ แต่สุดท้ายอีตา Wormold ที่รับจ็อบ (คือแค่ชื่อก็เป็นทั้งหนอน ทั้งสายแล้วเนอะ) มาแล้วดันไม่มีเรื่องราวอะไร พี่แกเลยต้องกุเรื่องรายงานเก๊ กลายเป็นนักสืบแนวตลกบ้าบอล้อเลียนไป
George Smiley (Call for the Dead – John le Carré, 1961)
หลังจากที่บอนด์ได้สร้างภาพของสายลับไว้ นักเขียนในยุคหลังก็เริ่มบอกว่า ภาพตัวละครสายรับแบบบอนด์มันไม่จริงซะหน่อย สภาพคนทำงานให้กับรัฐบาลมันจะมีสภาพแบบนี้หรือ?
George Smiley เป็นภาพที่ถูกเขียนออกมาเพื่อต้านบอนด์ เป็นภาพ ‘คนของรัฐบาล’ ที่ไม่ได้โลดโผน เป็นเจ้าหน้าที่ที่ดูธรรมดาๆ ดูเงียบๆ นุ่มนวล ใช้ความคิดมากกว่าการโหนโคมไฟสาดกระสุน และก็ไม่ได้มีสาวอะไรเยอะแยะ
John le Carré เคยทำงานให้กับหน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยสืบราชการลับหรือ MI6 หลังจากที่งานเขียนพี่แกโด่งดังขายดีระดับโลก พี่แกก็เลยเลยลาออกจากหน่วยและออกมาเป็นนักเขียนเต็มตัว
Harry Palmer (The IPCRESS File – Len Deighton, 1962)
Harry Palmer เป็นอีกหนึ่งตัวละครนักสืบที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบอกว่า นักสืบจะต้องไม่ใช่แบบบอนด์อีกแล้ว ในยุคนั้นอุตสาหกรรมภาพยนตร์เริ่มเติบโตแล้ว และหนังนักสืบก็เป็นแนวเรื่องที่ขายได้ The IPCRESS File เป็นนวนิยายแนวสืบสวนของ Len Deighton ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในสามนักเขียนเรื่องสายลับร่วมกับ Ian Fleming และ John le Carré
นักสืบของ Deighton ถือว่าเป็นนักสืบที่มีความสมจริง ชื่อ Harry Palmer เกิดจากทีมสร้างที่เอา The IPCRESS File นวนิยายเล่มแรกมาสร้างหนังในปี 1965 แล้วบอกว่าตัวเอกต้องมีชื่อนะ เอาชื่ออะไรดี สุดท้ายเลือก Harry Palmer เพราะฟังดูเป็นชื่อที่ธรรมดาๆ ในฉบับนวนิยายมีตอนหนึ่งที่ตัวเองถูกทักว่าแฮร์รีเป็นไงบ้าง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้บอกว่าชื่อนี้จริงไหม ลักษณะตัวละครนักสืบก็ดูเนิร์ดๆ ใส่แว่น เป็นคนธรรมดา – คล้ายๆ พระเอกคิงส์แมน
Jason Bourne (The Bourne Identity – Robert Ludlum, 1980)
สายลับสุดเท่ เนื้อเรื่องก็เท่ โดยเล่นกับอาการความจำเสื่อม เป็นการไขปริศนาทั้งจากภายใน จากความทรงจำและจากจิตใจที่ซับซ้อนของตัวของนักสืบเอง และรับมือกับตัวร้ายเรื่องราวอื่นๆ ในฐานะนักสืบอื่นด้วย ที่มาของเรื่องก็เท่อีก จากที่ Robert Ludlum เคยป่วยเป็นความจำเสื่อมระยะสั้น เลยเอาประสบการณ์และอาการป่วยมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้าง Jason Bourne ขึ้น ภายหลังงานเขียนชิ้นนี้ก็ได้รับการยกย่องขึ้นเทียบชั้นกับสามนักเขียนนวนิยายนักสืบเอกยุคก่อนหน้า จนสุดท้ายได้ แมตต์ เดมอน มาโลดโผนตามหาความทรงจำและตัวตนที่หายไป
อ้างอิงข้อมูลจาก