เคยสังเกตไหม ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงเชื่อเรื่องความหลากหลาย หรือกล้ายอมรับตัวตนกันมากขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อก็มีผลต่อความคิดและความเชื่อของเราไม่น้อย เราโตมากับอะไร ก็มักส่งผลต่อการมองโลกของเรา ซึ่งอาจมาจากอิทธิพลจากสื่อที่คนรุ่นก่อนทิ้งไว้ก็ได้
หนึ่งในสื่อสะท้อนความเชื่อของคนแต่ละยุคได้ดี คงหนีไม่พ้นภาพยนตร์ เพราะมันเต็มไปด้วยมุมมองจากคนทำหนัง และการตั้งคำถามกับสังคม ณ ช่วงเวลานั้นๆ ทุกวันนี้ภาพยนตร์หลายเรื่องไม่ได้ให้แค่ความบันเทิงอย่างเดียว แต่ยังแทรกประเด็นสังคมและตั้งคำถามให้เราได้ขบคิด เมื่อย้อนดูแล้วก็พบว่ามีหลายความคิดและความเชื่อจากหนังที่สะท้อนออกมาในคนรุ่นใหม่อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกับหนังที่สร้างโดยผู้กำกับที่ใกล้ชิดกับคนรุ่นใหม่อย่าง ชาวมิลเลนเนียลหรือเจน Y ซึ่งหลายเรื่องก็กลายเป็นที่พูดถึง และสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ๆ
วันนี้เราเลยอยากชวนไปสำรวจว่ามีความคิดและคุณค่าอะไรจากนักทำหนังชาวมิลเลนเนียล ที่ส่งต่อมายังคนรุ่นใหม่ในวันนี้กันบ้าง
หนังแห่งความหลากหลาย
อันที่จริงมีหลากหลายเหตุผลที่ทำให้ภาพยนตร์เปลี่ยนแปลงไป ใน collaborate x คอมมูนิตี้สำหรับนักเรียนภาพยนตร์ได้อธิบายไว้ว่านับตั้งแต่ทศวรรษ 60 อุตสากรรมภาพยนตร์ก็เปลี่ยนไป จากเทคโนโลยี รสนิยมของผู้ชม เศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เมื่อผู้คนเปลี่ยน ภาพยนตร์ก็ต้องเปลี่ยนตาม
เช่นเดียวกับนักทำหนังรุ่นใหม่ๆ ที่เติบโตมาในโลกที่หมุนไปข้างหน้า ภาพยนตร์จากมุมมองของพวกเขาจึงเปลี่ยนไปด้วย เพื่อทำความเข้าใจว่าหนังช่วงหลังๆ ที่สร้างโดยชาวมิลเลนเนียลเปลี่ยนไปอย่างไร เราลองมาทำความเข้าใจโลกที่คนเจนนี้เติบโตขึ้นมาเป็นอันดับแรก
ข้อมูลจาก Orasi Media แพลตฟอร์มซื้อขายลิขสิทธิ์สื่อบันเทิง อธิบายถึงความความชอบแนวหนังของคนเจน Y ไว้ว่า ชาวมิลเลนเนียล หรือคนที่เกิดระหว่างปี 1981-1996 เติบโตมาในช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่าน จากยุคอนาล็อกมาสู่ยุคดิจิทัลช่วงแรก จึงเป็นคนรุ่นที่มองเห็นความแตกต่างของทั้งสองยุคได้อย่างดี
ในสภาพแวดล้อมนี้ก็ส่งผลมาถึงการเลือกดูหนัง พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับหนังที่มีความหลากหลาย ความสมจริง รวมถึงหนังที่แทรกประเด็นสังคม อย่าง หนังซูเปอร์ฮีโร่ แฟรนไชส์แฟนตาซี สารคดี คอมเมดี้ที่ครอบคลุมทุกเพศและสีผิว หรือดราม่าหนักๆ สะท้อนสังคม เนื่องจากเห็นความหลากหลายได้มากกว่ายุคอื่นๆ
นั่นเลยเป็นเหตุให้ชาวมิลเลนเนียลให้ความสำคัญกับตัวแทน (representation) และมุมมองใหม่ๆ เมื่อได้เข้ามาสู่ในการทำงานก็เป็นไปได้ว่า หนังจาก ชาวมิลเลนเนียลจึงมักพูดถึงความหลากหลายมากกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากจึงต้องการเห็นสิ่งที่สะท้อนค่านิยมที่พวกเขายึดถือ
ริชาร์ด บรอดี้ (Richard Brody) นักวิจารณ์ภาพยนตร์เขียนบทความใน The New Yorker สื่อดังจากอเมริกา ได้ตั้งข้อสังเกตว่าปัจจุบันมีผู้สร้างหนังอิสระรุ่นบุกเบิก กล้าทดลองเล่าเรื่องที่แตกต่างออกไป เช่น ออว์ดลีย์ (Audley), เอมี ไซเมตซ์ (Amy Seimetz), โจ สวอนเบิร์ก (Joe Swanberg) หรือเทอเรนซ์ แนนซ์ (Terence Nance) พวกเขาต่างก็มีความสนใจเฉพาะตัว และปัจจุบันก็มีบทบาทในแวดวงหนัง ซึ่งช่วยส่งต่อความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในภาพยนตร์ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อมา
การเล่าเรื่องนอกขนบไม่ได้ถูกรับชมแค่กลุ่มเล็กๆ อีกต่อไป แต่ยังถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง อย่าง A24 สตูดิโอหนังอินดี้ แม้จะไม่เดินตามสูตรสำเร็จของฮอลลีวูด แต่ก็สามารถครองใจคนรุ่นใหม่ได้และประสบความสำเร็จจากภาพยนตร์หลายเรื่อง จากฝีมือผู้กำกับรุ่นใหม่ในวงการ อย่างเกรต้า เกอร์วิก (Greta Gerwig) จากเรื่อง Lady Bird (2017) หรือ ผู้กำกับคู่หู แดเนียล ไชเนิร์ต (Daniel Scheinert) และ แดเนียล กวัน (Daniel Kwan) จากเรื่อง Everything Everywhere All at Once (2022) ซึ่งทั้งคู่ก็คว้ารางวัลจากเวที Academy Award ได้ในที่สุด
ย้อนกลับมาที่ฝั่งไทยเอง ในช่วงหลังก็มีผู้กำกับรุ่นใหม่ที่นำเสนอเรื่องราวที่ต่างไป อย่าง มะเดี่ยว—ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับรักแห่งสยาม (2007) เต๋อ—นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับ ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (2015) ฐา—ฐาปณี หลูสุวรรณ จาก Blue Again (2023) หรือบอส—นฤเบศ กูโน จาก วิมานหนาม (2024) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เห็นเรื่องราว ความสัมพันธ์ หรือตัวตนในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงของยุคนี้
อย่างไรก็ตามแม้เราจะได้เห็นจากเจน Y มากขึ้น แต่บทความจาก The Pamphleteer ก็ตั้งคำถามถึงชาวมิลเลนเนียลเช่นกัน ว่าทำไมจึงยังไม่มีหนังคลาสสิกของคนยุคนี้บ้าง โดยอธิบายว่าปัจจุบันภาพยนตร์ขึ้นหิ้งส่วนใหญ่ยังอยู่ในคนเจน X ในขณะหนังของชาวมิลเลนเนียล ผู้ซึ่งเคยถูกเรียกว่าเป็น ‘Me Generation’ หรือคนที่หมกมุ่นแต่เรื่องของตัวเอง มักติดอยู่กับความถวิลหาอดีต หรือเรื่องที่สะท้อนในโลกเล็กๆ ของตัวเอง แทนจะเปิดกว้างต่อประเด็นที่ใหญ่กว่า แต่ถึงอย่างนั้นผู้เขียนก็ปิดท้ายว่าท่ามกลางคนทำหนัง ก็มีผู้กำกับชาวมิลเลนเนียลไม่น้อยที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนด้วยเรื่องราวเล็กๆ เหล่านี้ด้วยน้ำเสียงที่จริงใจต่อเรื่องเล่าของตัวเองเช่นกัน
หนังที่บอกเล่าปัญหาร่วมของยุคสมัย
ทั้งความหลากหลายของหนังในช่วงหลังจากผู้กำกับรุ่นก่อนหน้า รวมกับเทคโนโลยีที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น ก็ส่งผลต่อค่านิยมการบริโภคสื่อของชาวเจน Z ในยุคนี้
ชาวเจน Z คือคนที่เติบโตมาในยุคสมาร์ทโฟนอยู่ในชีวิตประจำวันเต็มตัว จึงทำให้เป็นรุ่นที่กล้าทดลอง อยากรู้อยากเห็น และมักได้รับอิทธิพลจากกระแสสังคม ในแง่ของการดูหนัง พวกเขาเติบโตมากับเนื้อหาที่หลากหลาย จึงเปิดกว้างในการรับสื่อ ตั้งแต่อนิเมะ แอนิเมชั่น สยองขวัญ จิตวิทยาระทึกขวัญ ไปจนถึงหนังอินดี้ แนว coming-of-age
จากการสำรวจปี 2019 ของ VICE สื่อไลฟ์สไตล์ และ Ontario Creates กองทุนสำหรับทำภาพยนตร์ ต้องการทำความเข้าใจว่าคนรุ่น Gen Z บริโภคเนื้อหาของสื่อแบบไหน พบว่า คนรุ่นใหม่สนใจเนื้อหาที่หลากหลายทางวัฒนธรรมและเพศมากที่สุดถึง 75% ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ หรือชาติพันธุ์ และต้องการเห็นความหลากหลายนี้อยู่ในเนื้อหาที่พวกเขาบริโภค
นอกจากนี้หนังหรือสื่อที่ชาวเจน Z เลือกดูยังสะท้อนค่านิยมที่ส่งผ่านมาจากสื่อที่พวกเขาได้รับด้วย งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยตูริน อิตาลี อธิบายว่าเจน Z มักให้คุณค่ากับสื่อที่เป็นตัวแทนของตัวเอง โดยให้ความสำคัญกับแท้จริง (authenticity) ไม่ปรุงแต่ง หรือการดูหนังที่สร้างจากเรื่องจริง
เนื้อหาเหล่านี้ไม่ต่างจากหนังที่ชาวเจน Y มักพูดถึง เช่น Lady Bird ที่พูดถึงการค้นหาตัวตนในวัยรุ่น ที่เป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนกล้าที่จะตั้งคำถามกับครอบครัวและเลือกเส้นทางของตนเอง หรือ Get Out (2017) ที่ตั้งคำถามต่ออคติทางเชื้อชาติ ซึ่งตรงกับความเชื่อทางสังคมที่คนรุ่นใหม่กำลังให้ความสำคัญ
คุณค่าที่เจน Z ยึดถือจากสื่อ ยังสะท้อนมาในพฤติกรรมอื่นๆ เช่น การยอมรับผู้พิการ ความใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน การเติบโต และการแสวงหาความสนุกสนาน หรือเทรนด์การถ่ายภาพที่ดูเหมือนไม่ผ่านการปรุงแต่งด้วย
อาจเรียกได้ว่าภาพยนตร์ที่คนรุ่นก่อนหน้าได้ทำขึ้นมา นอกจากจะสะท้อนความเชื่อ และปัญหาร่วมยุคสมัยในรุ่นของตัวเองแล้ว ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งต่อความเชื่อ ค่านิยม รวมไปถึงการตั้งคำถามไปยังคนรุ่นถัดไปเช่นกัน
ในวันที่เจน Z เริ่มทยอยเข้าสู่โลกการทำงานเต็มตัว แล้ว ทุกคนคิดว่าหนังจากคนรุ่นนี้จะส่งต่ออะไรให้กับคนรุ่นถัดไปกันบ้าง
อ้างอิงจาก