จำได้ไหม คุณป้าคนนั้นที่พาไปช้อปปิ้งซื้อของที่อยากได้ คุณอาคนนู่นที่ยอมให้นอนดึกเพื่อเล่นเกมที่ชอบ หรือจะเป็นปัญหาหัวใจที่ไม่กล้าเล่าให้พ่อแม่ฟัง ก็มีคุณน้านี่แหละที่ฟังโดยไม่ตัดสิน
แน่นอนหลายคนคงมีคุณป้า คุณน้า คุณอาคนนั้นเป็นของตัวเอง คนที่แต่งตัวสุดเก๋ ไลฟ์สไตล์สุดชิค ช่วงวัยที่อยู่ตรงระหว่างพี่สาวและแม่ สามารถให้คำแนะนำแบบผู้ใหญ่ได้ แถมยังคุยกับเราได้ทุกเรื่องเหมือนเพื่อนสนิท
แต่เผลอไม่ทันไร เด็กคนนั้นกำลังจะโตมากลายเป็นคุณป้าสายเปย์ของหลานสักคนแล้วเหรอเนี่ย!
ในวันที่ชาวมิลเลนเนียล (เกิดระหว่างปี 1981-1995) หรือชาวเจน Z ตอนต้นเติบโตขึ้นมาถึงจุดที่คนรอบตัวหลายคนเริ่มแต่งงาน มีครอบครัว พร้อมกับเบบี๋วัยเตาะแตะกันแล้ว ก็คงอดไม่ได้ที่จะเข้าไปแสดงความรัก ถ่ายรูปอวดโซเชียล ประหนึ่งว่าเบ่งคลอดมากับมือ อย่างน้อยแม้ไม่คิดจะมีลูกเอง ก็ขอสัมผัสความรู้สึกของการเป็นแม่ (ทูนหัว) ผ่านลูกของพี่ชาย พี่สาว น้องชาย น้องสาว เพื่อนชาย เพื่อนสาวหน่อยแล้วกัน
แต่อาการอยากเป็นคุณป้าคุณอาสุดเก๋นี่เกิดขึ้นได้ยังไง? แล้วอะไรทำให้ชาวมิลเลนเนียลหลายเกิดอาการเห่อหลานกันขึ้นมาแบบนี้? The MATTER ขอชวนไปสำรวจถึงปัจจัยที่ซ่อนอยู่ใต้อยากช่วงคนอื่นเลี้ยงลูกนี้กัน
เมื่อชาวมิลเลนเนียลอยากโสด มากกว่าแต่งงาน
บนโลกนี้มีหลายเหตุผลที่ทำให้คนคนหนึ่งมีความรู้สึกเห่อหลาน แต่สำหรับชาวมิลเลนเนียลแล้ว การเลือกที่จะเป็นโสดนานขึ้นพร้อมตั้งจิตแน่วแน่ว่าจะไม่มีลูกนี่แหละ คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนกลุ่มนี้เห่อเบบี๋มากกว่าเจนเนอเรชั่นอื่นๆ
ดร.เบลล่า เดอเปาโล (Bella DePaulo) นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์บารา ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ อธิบายว่าชาวมิลเลนเนียลโดยทั่วไปเลือกจะอยู่เป็นโสด หรือแต่งงานช้ากว่ารุ่นก่อน ทำให้มีเวลามากพอที่จะหันมาทุ่มเทให้กับลูกของคนในครอบครัวหรือเพื่อนๆ ได้ โดยเฉพาะคนโสดที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหลานๆ แบบไม่ต้องคิดถึงคนรักให้ยุ่งยาก บวกกับการมีโซเชียลมีเดียที่ให้คอยอัพเดตชีวิตของเจ้าตัวเล็กได้ตลอด นั่นเลยทำให้พวกเขาสนิทกับหลานได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ยังมีหลายคนที่บอกว่า การที่พวกเขาอยากเลี้ยงหลานมากกว่ามีลูกเอง เพราะคิดว่าตัวเองยังเป็นผู้ใหญ่ไม่มากพอ แม้ว่าจะดูแลได้ แต่การรับผิดชอบเด็กคนหนึ่งเป็นคนละเรื่องกัน
สอดคล้องกับผลสำรวจของ insuranks บริษัทเปรียบเทียบประกันภัยออนไลน์จากอเมริกา ที่สอบถามหนุ่มสาวสหรัฐอเมริกา ทั้งเจน Z และมิลเลนเนียลจำนวน 1,000 คน พบกว่าครึ่ง หรือ 57% บอกว่าพวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่พร้อมเป็นผู้ใหญ่ และ 67% ยอมรับว่าตัวเองหมดไฟเมื่อต้องเป็นผู้ใหญ่
ผลสำรวจนี้ก็ได้สอบถามว่าอะไรที่เรียกว่าเป็นงานของ ‘ผู้ใหญ่’ บ้าง มีทั้ง การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนยางรถยนต์ ผูกเนคไท เปลี่ยนผ้าอ้อม เย็บซ่อมเสื้อผ้า ฯลฯ ทั้งมิลเลนเนียลและเจน Z ส่วนใหญ่ต่างประสบปัญหาไม่รู้ว่าต้องดูแลรถอย่างไร นอกจากนี้ 1 ใน 3 ของผลสำรวจยังพบว่าตัวเองไม่รู้วิธีเปลี่ยนผ้าอ้อมด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นผู้ใหญ่ตามความคิดพวกเขา
เหตุผลอีกประการที่ทำให้ชาวมิลเลเนียลไม่อยากมีลูก เป็นเพราะสถานภาพทางการเงิน จากผลสำรวจเดียวกันเรื่องการเงินพบว่าหนึ่งในสามของเจน Z และมิลเลเนียลบอกว่าพวกเขาไม่มีอิสระทางการเงิน และยังต้องให้ที่บ้านคอยช่วยเหลือเพื่อให้มีการเงินที่มั่นคง นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ความคิดที่จะมีลูกจึงเป็นไปได้ยากมากขึ้น
เพราะไม่มีเงินการมีลูกเลยยากขึ้น?
แน่นอนว่าปัจจัยเรื่องความมั่นคงทางการเงินเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนตัดสินใจไม่มีลูกแต่นั่นย่อมไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด จากรายงานของ Pew Research Center ศูนย์วิจัยที่สำรวจทัศนคติทางสังคม ได้ทำการสำรวจคนสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่มีลูก จากกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป จำนวน 2,542 และผู้ใหญ่ที่อายุต่ำกว่า 50 (18-49 ปี) จำนวน 770 คน ระบุว่าแม้เงินจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจไม่มีลูก แต่นั่นก็ยังไม่ใช่เหตุผลหลัก แต่มีเรื่องของความพร้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ถึงพวกเขาจะสามารถหารายได้ได้สูงกว่ารุ่นพ่อแม่ แต่ก็ต้องจ่ายเงินไปกับเรื่องต่างๆ ที่แพงขึ้น เช่น ที่อยู่อาศัย ค่าดูแลเด็ก และค่ารักษาพยาบาล ดังนั้นการไม่มีลูกทำให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตและมีเงินเก็บสำหรับอนาคตง่ายกว่า
นอกจากนี้ชาวมิลเลนเนียลยังต้องเจอกับความคาดหวังทางสังคมที่สูงขึ้นกว่าเมื่อก่อนหากต้องมีลูกด้วย อย่างที่เราเคยได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่า ต้องเรียนจบที่ดีๆ มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง หาคู่ครองที่เหมาะสม และต้องย้ายออกมาอยู่ด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินและเวลามากพอสมควร
จึงไม่แปลกหากคนยุคนี้จะรู้สึกว่าการพร้อมสำหรับมีลูกเป็นเรื่องที่ยากเย็น หรือบางคนอาจนึกภาพตัวเองแต่งงานมีลูกไม่ออกด้วยซ้ำ การผันตัวไปเป็นคุณอา คุณน้า คุณป้าคนเก๋คอยเลี้ยงลูกของเพื่อนๆ หรือครอบครัวจึงมาทดแทนช่องว่างนี้ได้มากกว่า
เมื่อไม่มีลูก เลยขอเป็น Rich Auntie ของหลานๆ
อย่างที่บอกไปก่อนหน้า เมื่อชาวมิลเลนเนียลรู้สึกว่าการมีลูกเองนั้นยากแสนยาก การเป็นคุณอา คุณน้า คุณป้าคนเก๋ ช่วยคนอื่นเลี้ยงลูกในฐานะ ‘Rich Auntie’ อาจสบายใจกว่า
แต่ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจว่า การเป็น ‘Rich Auntie’ หรือคุณป้าผู้ร่ำรวย ไม่ได้จำเป็นต้องมีเงินในบัญชีเป็นล้านๆ เสมอไป เพราะส่วนใหญ่คำคำนี้มักใช้เรียกผู้หญิงโสดที่ใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ และนำเงินที่ตัวเองหาได้มาเปย์หลานๆ แทน
แล้วคำนี้ถูกใช้อย่างไร? คงต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 เรเชล คาร์เกิล (Rachel Cargle) นักเคลื่อนไหวและนักเขียนชาวอเมริกา เธอตัดสินสร้างเว็บไซต์และอินสตาแกรมชื่อว่า ‘Rich Auntie Supreme’ เพื่อเป็นพื้นที่เฉลิมฉลองให้กับเหล่าสาวๆ ที่ตั้งใจว่าจะไม่มีลูก และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งชื่อนี้เธอได้แรงบันดาลใจจากมีมบนอินเตอร์เน็ต กับภาพผู้หญิงสี่คน แต่งตัวจัดจ้านเก๋ไก๋ ด้วยหน้าตาท่าทางมีความสุขกับเพื่อนๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกใช้เป็นแสลงด้วย สื่อถึงการแต่งตัวโอเวอร์ ดูหรูหราเหมือนคุณป้าผู้ร่ำรวยนั่นเอง
คำว่า Rich Auntie จึงไม่ได้ผูกติดกับความมั่งคั่งทางการเงิน แต่หมายถึงการที่ผู้หญิงที่ตัดสินใจใช้ชีวิตอย่างอิสระ โฟกัสไปที่ความสุขและเป้าหมายของตัวเอง แตกต่างจากความคาดหวังทางสังคม ที่พร่ำบอกว่าผู้หญิงต้องมีลูก เป็นแม่ศรีเรือนที่คอยดูแลครอบครัว ซึ่งปัจจุบันผู้หญิงที่รักอิสระเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีผู้หญิงเก่งๆ หลายคนมีหน้าที่การงานและรายได้ที่สามารถดูแลตัวเองได้ แม้ไม่ได้แต่งงานเลยก็ตาม
เมื่อไม่มีลูก คุณป้าเหล่านี้จึงหันมาทุ่มเทกับลูกหลานของคนใกล้ตัวแทน ซึ่งถือว่าตอบโจทย์สำหรับหลายคน เพราะนอกจากไม่ต้องปวดหัวกับการเลี้ยงเด็กเองแล้ว ยังมีเด็กที่พร้อมรับความรักจากเราไปเต็มๆ
ทั้งนี้การมีอยู่ของ Rich Auntie ก็ไม่ได้ให้ข้อดีแก่ใครหลายคนที่ไม่อยากมีลูกเป็นของตัวเองเท่านั้น เมื่อหลายครั้งตัวแปรอย่างคุณป้า คุณน้า คุณอาในบ้านก็ถือเป็นตัวช่วยสำคัญ โดยเฉพาะในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ที่พ่อหรือแม่อาจเหนื่อยล้ากับการทำงานจนมีเวลาอยู่กับลูกได้น้อยลง การมีอยู่ของเหล่าคุณป้า คุณน้า คุณอาที่พอมีเวลาว่างก็สามารถช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองไปได้
ขณะเดียวกัน ดร.เบลลา ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ยังบอกอีกว่า ป้าหรือน้ามีแนวโน้มจะสนิทกับหลานได้ง่ายกว่า เพราะไม่มีการตัดสินเท่าพ่อแม่ สำหรับเด็กที่ทำผิดเรื่องเดียวกัน อาจโดนพ่อแม่ต่อว่ายกใหญ่ กลับกันพอเป็นป้าหรือน้าแล้วอาจได้คำปลอบใจ หรือขนม ของเล่นกลับมาแทน ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า เพราะคนมิลเลนเนียลมักให้ความสำคัญกับความเป็นตัวของตัวเองมากกว่านั่นเอง เลยทำให้หลานพร้อมใจจะสนิทกับคุณป้าหรือคุณน้าเหล่านี้ได้ไม่ยาก
หากใครที่ยังไม่เห็นภาพตัวเองว่าจะมีลูกในอนาคต การเป็นคุณป้า คุณอาที่คอยเปย์หลานๆ ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย เพราะนอกจากจะยังได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระแล้ว การมอบความรักแบบห่างๆ ของเหล่าคุณป้า ก็ช่วยให้เด็กๆ ได้เติบโตมาพร้อมกับคนที่รักและเข้าใจในแบบที่ตัวเขาเป็นได้อย่างดี
อ้างอิงจาก