“ละครไทยมีแต่พล็อตซ้ำๆ”
“ตัวละครก็เดิมๆ”
“เมื่อไหร่ละครไทยจะเหมือนเกาหลี”
ดูเหมือนว่า ‘ละครไทย’ จะได้รับคอมเมนต์กันแบบนี้อยู่เสมอๆ ก็ทำให้ชวนสงสัยว่าละครไทยไปไหนไม่ได้จริงๆ มั้ย ซึ่งจากการลองสำรวจของเราก็พบว่า genre ใหญ่ๆ ที่แต่ละช่องยังคงนำเสนอคือ drama – romantic เป็นหลัก และอาจจะพอมองเห็นภาพได้บ้างว่าแต่ละช่องก็มีสไตล์การทำละครที่แตกต่างต่างกัน
นอกจากนี้หากมองตลาดต่างประเทศ ในงานเสวนา ‘ผลักดันละครไทยไปสู่สากล’ ที่จัดโดยกลุ่มจับตาอาเซียน (ASEAN Watch) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ก็มีการพูดถึงเอาไว้อย่างน่าสนใจว่าในประเทศอาเซียน ละครไทยได้รับความนิยมอยู่มาก อย่างเวียดนามนั้นชอบละครไทยมากกว่าละครเกาหลีเพราะการแสดงอารมณ์ที่ชัดเจน รุนแรง มีการปะทะกันของอารมณ์
แม้แต่จีนเองก็นิยมละครไทยอยู่ไม่น้อย แม้บางเรื่องจะเป็นการนำเข้าแบบผิดลิขสิทธิ์เนื่องจากความเข้มงวดของจีนที่มีกองเซ็นเซอร์ละครเสมอ แต่ก็มีการเสียดสีจากคนจีนกันว่า “ดูละครไทยไม่ต้องใช้สมองคิดเยอะ” อยู่ด้วย
ผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ อาจารย์หัวหน้าภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ข้อมูลกับเว็บไซต์ประชาชาติว่า วัตถุประสงค์การทำละครตั้งอยู่บนฐานของความบันเทิงเพื่อหลบหลีกความเหนื่อยจากการทำงานในแต่ละวัน การได้ดูฉากที่ตัวร้ายโดนตบหรือถูกลงโทษจากสังคมจึงทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่คนชั่วสมควรได้รับ เช่นเดียวกับฉากรักกุ๊กกิ๊ก หรือพลอตเกินจริงชวนฝัน ก็พลอยให้คนดูรู้สึกผ่อนคลาย เกินเอื้อม และสบายตา
ถึงอย่างนั้นแล้วคนในวงการละครไทยเขาตั้งใจทำอะไรแบบเดิมๆ จริงมั้ย หรือไม่มี genre ใหม่ให้ดูจริงๆ หรือเปล่า
เราไปคุยกับคนในวงการละครไทยอย่าง ณัฐิยา ศิรกรวิไล ผู้เขียนบทให้กับช่องสามที่ปีนี้มีผลงานอย่างวัยแสบสาแหรกขาด ที่ได้รับการพูดถึงว่าเป็นละครที่นำเสนอประเด็นปัญหาของเด็กและอาชีพนักจิตวิทยาเด็กได้ดี นอกจากนี้ยังมีละคร TEE ใครทีมันส์ ที่บอกเล่าอาชีพนักโปรกอล์ฟที่ฉายอยู่ในขณะนี้ รวมถึงพูดคุยกับ วรรณแวว และ แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ สองนักเขียนบทและผู้กำกับของนาดาว ที่มีซีรีส์ดังๆ ที่เคยฝากผลงานไว้กับ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น, I HATE YOU I LOVE YOU รวมถึง Great Men Academy สุภาพบุรุษสุดที่เลิฟ
การทำงานของช่องใหญ่ กับวงการละครไทยที่กำลังเปลี่ยนไป
แน่นอนว่าละครของช่องใหญ่ๆ ที่ฉายอยู่ในโทรทัศน์นั้นมักได้รับคำบอกเล่าว่าไม่ค่อยมีอะไรใหม่ ดูเรื่องก็ซ้ำๆ แย่งผู้ชายไปมา หรือไม่ก็ย้อนอดีตกันเรื่อยเปื่อย บางทีก็เอานิยาย เอาละครเก่ามารีเมคแล้วรีเมคอีก แต่จริงๆ แล้วบทละครนั้นมีสองแบบ คือ ละครที่มาจาก การดัดแปลงจากสื่ออื่นๆ อย่างนวนิยาย หรือภาพยนตร์ ซึ่งผู้จัด ผู้กำกับ หรือคนเขียนบท อาจไปเจอแล้วเห็นว่าสนุกจนน่านำมาดัดแปลงต่อเพื่อเสนอช่อง
บทละครอีกแบบคือบทละครที่เป็นคิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งคนเขียนบทจะเป็นคนคิดไอเดียขึ้นมา แล้วนำไปเสนอกับช่อง หากทางช่องสนใจก็ทำเรื่องย่อเพื่อนำเสนออีกครั้ง หลังจากช่องหรือนายทุนซื้อบทก็จะไปเป็นขั้นตอนการพัฒนาบทและเริ่มเปิดกล้อง ซึ่งสำหรับช่องใหญ่ๆ นั้นจะมีการเขียนบทไป ถ่ายทำไป เพื่อให้มีคอนเทนต์ออกฉายทันเวลา
ซึ่งเมื่อได้คุยกับ ณัฐิยา ศิรกรวิไล ถึงเรื่องพล็อตของละครไทยที่คนมักพูดกันว่ามีแต่เรื่องซ้ำๆ เธอบอกว่า “มันนานแล้วเนอะ พี่เคยมานั่งดูสถิติจริงๆ โดยเฉพาะตอนนี้ พล็อตละครไทยหลากหลายมาก และเราเป็นประเทศที่กล้าทำละคร LGBT ที่คิดว่าน่าจะอันดับต้นๆ ของโลก ตอนนี้สัดส่วนละครวายเยอะมากในตลาด เยอะจนสาวกวายพูดว่าดูไม่ทัน แล้วเราจะมาใช้คำว่าละครไทยมันมีแต่อะไรเดิมๆ พี่ว่ามันเป็นภาพจำเก่าๆ คือ ณ ตอนนี้ ถ้าละครออกมาเดิมๆ คนไม่เอาด้วยซ้ำ”
“เมื่อก่อน โอเค ทุกช่องอาจจะมองไม่กี่ genre เนื่องจากเขาก็เอาความมั่่นใจ แนวนี้เขามั่นใจซึ่งมันก็มีไม่กี่แนว แอ็กชั่น ดราม่า เมโลดราม่า คอมเมดี้ มันก็มีอยู่แค่นี้วนเวียนกันไปมา เมโลดราม่ากับดราม่าอาจจะมีสัดส่วนเยอะหน่อย แอ็กชั่นกับคอมเมดี้ก็ปะปนกันไป”
“แต่ที่พี่ว่ามันดัง ปังขึ้นมา และคนรู้จักมันก็หนีไม่พ้นเมโลดราม่านี่แหละ”
ในความรู้สึกของหลายๆ คน ‘เมโลดราม่า’ หรือบางคนอาจจะมองว่าเป็น ‘ละครน้ำเน่า’ นั้นดูจะเป็นสิ่งที่ทางช่องมักจะนำมาฉายกันบ่อยๆ แต่ณัฐิยาชวนมองว่าประเภทงานแบบดราม่านั้นคือสิ่งที่เขียนได้ยากที่สุด “มันมีหนังสือเล่มนึงที่พูดเกี่ยวกับ genre เขาบอกว่าสิ่งที่เขียนยากที่สุดคือดราม่า ดราม่าชั้นดีถือเป็นงานศิลปะ จะเห็นว่างานรางวัลต่างๆ พวก ออสการ์ ลูกโลกทองคำ หนังรางวัลก็คือหนังดราม่า ในเชิงบทละครเอง งานดราม่าเป็นงานที่ยาก และยิ่งทำดราม่าให้สนุกด้วยมันก็ยิ่งยาก ส่วนเมโลดราม่ามันเป็น genre ที่มีเยอะที่สุด มันแมสที่สุด แล้วมันก็สร้างรายได้มากที่สุดบนโลกใบนี้ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย”
ด้วยความสำเร็จรูป ดูเข้าใจง่าย เน้นไปที่ความบันเทิง ทำให้งานเมโลดราม่ากลายเป็นสินค้าที่ไม่ว่าใครก็ชอบ “หลายประเทศโดยเฉพาะทางลาตินอเมริกา เขาก็ทำจนมันเป็นสินค้าส่งออกของเขา เขาส่งไปไหน เขาก็ส่งไปตามประเทศต่างๆ ที่ชอบงานเมโลดราม่า หรือมีคนวิเคราะห์ประมาณว่า ตลาดใหญ่ของเมโลดราม่าคือที่อเมริกาและในยุโรป เพราะว่าคนละตินไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเมด หรือทำงานต่างๆ และคนเหล่านี้คือคนที่ดูละคร soap ของละติน” ซึ่งหากมองในแง่ของสินค้า เมโลดราม่าคือสินค้าที่ขายดิบขายดี ไม่ว่าที่ไหนบนโลกก็ตาม
เธอยังชวนมองว่าจริงๆ แล้วงานเมโลดราม่าเป็นประเภทที่สนุก ไม่ต้องใช้สมาธิหรือการจดจ่อในการดู ดูไป ทำงานไป ล้างจาน ซักผ้าไปได้ ซึ่งถือเป็นกิจวัตรประจำวันของใครหลายๆ “พี่ไม่ได้มองว่ามันเป็นความความบันเทิงแบบถูกหรือแพง แต่มันคือการเสพง่าย เมโลดราม่าเจ๋งๆ มันสนุกนะ ง่ายๆ ในเน็กฟลิกซ์ ละครละตินที่เข้าเน็ตฟลิกซ์เป็นเมโลดราม่าทั้งนั้น พี่ยังดูเลย ‘playing with fire’ อะ ดูพล็อตแบบ ผู้ชายหล่อ เป็นลูกโสเภณีในซ่อง เกิดมาพร้อมปาน และคำทำนายว่าชีวิตนี้จะได้ผู้หญิงทุกคนที่อยากจะได้ แต่อย่ารัก รักเมื่อไหร่จะตาย น้ำเน่ามั้ยล่ะ”
‘ละคร’ เองจึงเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่ต้องมีต้นทุนและต้องการนายทุน ทำให้คอนเทนต์ที่ทำออกมานั้นต้องตอบสนองต่อตลาด ต้องมั่นใจว่าขายได้อยู่ด้วย การทำละครที่ไม่ได้คำนึงว่าจะทำกำไรได้หรือไม่จึงอาจเป็นเรื่องยาก “เราต้องยอมรับว่าละครคือ commercials art ถึงเราไม่คิด นายทุนจะถาม หรือนายทุนจะคิดแทนเรา ถ้าเราไม่คิดว่าคนดูอยากจะดูอันนี้ แล้วเราทำสิ่งที่คนดูไม่อยากดูขึ้นมา พี่ว่านายทุนเขาก็ไม่อนุมัติ เพราะเขาอ่านขาดกว่าเรา ถูกมั้ย แบบ เอาอะไรมาขายเนี่ย นี่จะทำดูกันเองในครอบครัวใช่มั้ย มันก็ยากนะ มันไม่เหมือนหนัง”
แต่แม้งานเมโลดราม่าจะสนุกและขายได้เสมอ แต่ในวงการละครทุกวันนี้ต่างต้องแข่งขันกับหลายๆ อย่่าง ไม่เพียงแต่เนื้อหาของละครที่แข่งขันกันระหว่างช่อง แต่ยังต้องแข่งกับสิ่งบันเทิงอื่นๆ ที่เข้ามามากมาย “อะไรเดิมๆ คนไม่ดูอยู่แล้ว มีบุพเพสันนิวาส สองสามสี่จะอยากดูมั้ย? ก็ไม่อยากหรอก นายทุนก็ต้องการอะไรใหม่ๆ คนทำละครก็อยากทำอะไรใหม่ๆ มันมีคนที่พยายามทำอะรใหม่ๆ เยอะมาก พล็อตแปลกๆ หลายพล็อตที่ฟังแล้วรู้สึก เออๆ ดี เยอะนะ เยอะจริงๆ เพียงแต่มันอาจจะไม่ได้ปังขึ้นมา ที่ปังๆ หน้าละครมันจะคล้ายเดิม”
“คนดูมันแตกกระสานซ่านเซ็นมากๆ ที่เขาเรียกว่า niche market มันเยอะขึ้นเนาะ คือเนื่องจากว่าสื่อมันเยอะ ตัวเลือกเยอะ เราก็มีโอกาสเลือกมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนสื่อมันน้อย ตัวเลือกมันน้อย เราก็อาจจะไม่ได้อยากดูหรอก แต่เราก็จำเป็นต้องดู เพราะมันไม่มีอะไรให้ดู แต่ตอนนี้เราไม่ได้แข่งกันเองในประเทศแล้ว มันไม่ใช่ช่อง 3 ช่อง 7 แข่งกันเองแล้ว” เธอยังเสริมอีกว่าตอนนี้พอเป็นทีวีดิจิทัลที่มีหลายช่อง บางทีละครที่เธอเป็นคนเขียนบทเองก็เป็นการแข่งขันกับช่องอื่นๆ ที่เอาหนังบล็อกบัสเตอร์มาฉาย ซึ่งกลายเป็นงานยากมากขึ้นไปอีก
ซึ่งเรื่องนี้หากมองว่าเป็นอุปสรรคของวงการละครไทยก็ได้ แต่ในอีกทางหนึ่ง มันคือการแข่งขันที่จะทำให้แต่ละช่องต้องสรรหาคอนเทนต์เพื่อดึงคนดูให้อยู่ และนำมาสู่การเปิดรับเนื้อหาใหม่ๆ การลองเสี่ยงทำบทละครที่ต้องก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน ซึ่งหากลองดูในปีที่ผ่านมาก็จะเห็นละครที่เริ่มมีเนื้อหาแปลกใหม่มากขึ้น ไม่ได้มีการดำเนินเรื่องหลักที่ต้องเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของพระ-นางอีกต่อไป เช่น กรงกรรม วัยแสบสาแหรกขาด ฤกษ์สังหาร ใบไม้ที่ปลิดปลิว
“พอ ณ จุดนี้ คนดูมันแตก แล้วความสนใจมันหลากหลาย พี่ว่าช่องทุกช่องนะ เปิดมากขึ้น มันถึงมีละครอย่าง ‘เลือดข้นคนจาง’ ที่ออกแนวสืบสวนสอบสวนนิดๆ มีการลุ้น มีการเดากันขึ้นมา หรืออย่างฤกษ์สังหาร ก็เป็นเรื่องของแอ็กชั่นแฟนตาซี ความเชื่อขึ้นมา หรือรักฉุดใจนายฉุกเฉิน ก็เป็นโรแมนติกแฟนตาซี คือมี genre ที่มันหลากหลายมากขึ้น หรืออย่าง tee ใครทีมันส์ ก็เป็น sport drama เขาก็กล้าที่จะเอาคอนเทนต์แปลกๆ มาลง เพราะเหมือนต้องลองวัดกันแล้วว่าคนดูอยากดูอะไร เพราะฉะนั้นมีทุกอย่างเลยละกัน แล้วให้คนดูเลือกเอาว่าจะดูอะไร”
ซึ่งหากคำถามคือแล้วเมื่อไหร่ละครไทยจะทำได้แบบละครเกาหลี ณัฐิยาก็ให้ข้อมูลว่า “ทุกวันนี้งบการทำละครของเราต่างกับเขาเยอะมากจริงๆ เยอะมากๆ บางช่องเต็มที่หลักแสนอะ ตอนนึงมีกี่นาที แต่เขาหลักล้าน แล้วของเขาบางทีอาจได้มาตอนละสิบกว่าล้าน ความยาวเขากี่นาที อันนี้คือความแตกต่างเรื่องคุณภาพ ซึ่งเชื่อมโยงกับต้นทุนเนอะ งบประมาณที่เราได้”
นอกจากนี้ระบบของการฉายละครระหว่่าางไทยกับเกาหลีก็เป็นอีกสิ่งที่แตกต่าง “ในไทย นายทุนจะคุมผังของทั้งปี 30-40 เรื่อง เราเองมีหน้าที่ผลิตออกมาให้ทันฉาย เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมี genre ซ้ำๆ ออกมา เพราะการที่ผู้จัดคนนึงจะไปสร้างหรือครีเอตโปรเจกต์อะไรขึ้นมา อาจไม่ตอบโจทย์ช่อง มันเลยทำให้ระบบมันมาแบบนั้น แต่นานๆ ที ถ้าเขาอยากให้มีอะไรใหม่ๆ แล้วผู้จัดคนนี้เสนอพล็อตใหม่ขึ้นมา เขาก็อาจจะลองทำ มันคือความเสี่ยง ช่องก็ต้องพร้อมจะเสี่ยง”
“ที่เกาหลี producer เป็นคนจ้างคนเขียนบทมาอยู่ในสังกัด แล้วทำหน้าที่สร้างคอนเทนต์ คิดคอนเทนต์ให้มันใหม่ ให้มันแปลก ให้มันโดน แล้วโปรดิวเซอร์ก็จะเอาคอนเทนต์นี้มาขายช่อง แล้วบทนั้นต้องเขียนจบแล้วด้วยนะ ในขณะที่ไทย เราขายพล็อต แล้วช่องกับผู้ผลิตก็พัฒนาบทไปพร้อมๆ กัน แต่อันนั้นเขาสำเร็จรูปกว่า คุณต้องมาโชว์ให้เห็น แล้วเขาจะดูว่าต้องลงทุนยังไง แปลกใหม่มั้ย จะขายดารา ขายความแปลกใหม่ ขายประเทศไหน เป็นเรื่องการตลาด เพราะฉะนั้นพอเป็นแบบนี้ความหลากหลายมันจะมาก เพราะนายทุนจะมีคนเดินเข้ามาพร้อมกับช้อยส์”
ด้วยจุดตั้งตั้นที่ต่างกันตั้งแต่การเขียนบท การขายบท การอนุมัติให้ฉาย และทิศทางของช่อง ทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นข้อแตกต่าง และทำให้คุณภาพของละครต่างกันด้วยเช่นกัน ซึ่งดูเหมือนว่าเนื้อหาของละครไทยก็ค่อนข้างขึ้นอยู่กับนายทุนไม่น้อย
เพราะคนดูไม่ได้สนใจแค่เรื่องเรื่องเดียวอีกต่อไป การทดลองใหม่ๆ และซีรีส์ของนาดาว
ช่องใหญ่ๆ อาจมีข้อจำกัดเรื่องนายทุนที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับการพัฒนาบท และมีการเขียนบทไป ถ่ายทำไป แต่วิธีการทำงานของนาดาวนั้นแตกต่างออกไป วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ อธิบายวิธีการทำงานของนาดาวไว้ให้เราฟังว่า “ที่นาดาวทำคือเขียนบทให้จบ ให้เสร็จ ซึ่งอย่างต่ำประมาณหกเดือน ไม่เคยทำได้น้อยกว่านั้น หกเดือนก็รู้สึกไม่ค่อยพออะ”
“เราก็จะเริ่มต้นจากคิดโปรเจกต์ก่อนว่า ไอเดียหลักของโปรเจกต์นี้คืออะไร แล้วก็ไปหาช่องทางก่อนว่าจะฉายที่ไหน ด้วยความที่นาดาวไม่ได้เป็นสื่อด้วยตัวเอง เวลาเขาคิดโปรเจกต์ขึ้นมาเขาก็จะมองว่าโปรเจกต์นี้เหมาะกับแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็เข้าไปหาแพลตฟอร์มออนไลน์ เหมาะกับความเป็นช่อง เป็นละคร ก็ไปหาช่องอะไรอย่างนี้ แล้วพอช่องโอเค ยินดีทำด้วยกัน ก็จะมาถึงขั้นตอนการเขียนบท ซึ่งขั้นตอนการเขียนบทเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานาน”
เธอยังเสริมอีกว่า “ด้วยความที่นาดาวคือเครือของ GDH ก็เลยมีวัฒนธรรมการทำแบบหนังอยู่ แต่ว่าแค่มาอยู่ในฟอร์แมตของซีรีส์ เพราะฉะนั้นมันคือการทำงานซีรีส์ด้วยวิธีการแบบหนังแหละ การคิดภาพ การคิดเรื่อง หรือแม้กระทั่งการถ่ายทำ”
เมื่อถามถึงซีรีส์ของนาดาวที่ดูจะแตกต่างจากที่อื่นและสามารถจุดกระแสได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น, I HATE YOU I LOVE YOU หรือเลือดข้นคนจาง เรียกได้ว่าทางนาดาวเองก็ทำละครด้วยการทดลองไปเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่ ซึ่ง แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ ก็อธิบายให้เราฟังว่า “ฮอร์โมนส์ ซีซั่น 1 เหมือนเป็นนำร่อง ไม่มีทุนจากข้างนอก แต่ GDH ลงทุนเอง พอประสบความสำเร็จ ซีซั่น 2-3 ก็เริ่มมีสินค้าเข้ามา คือเขาก็ต้องเห็นตัวอย่างก่อน ถึงจะกล้าลงทุน แล้วเราว่ายุคที่ฮอร์โมนออกมาเป็นยุคที่ซีรีส์ยังอยู่ในกรอบอยู่ แต่พอมีฮอร์โมนส์ออกมา ก็เริ่มมีซีรีส์ที่แหวกแนวขนบธรรมเนียมมากขึ้น ก็เริ่มมีนายทุนหรือสินค้ามาลงเงินมากขึ้นด้วย”
ในส่วนของการเขียนบทและกำกับนั้น การเขียนบทเพื่อเอาใจคนดูหรือต้องทำละครเพื่อสังคมอาจจะไม่ได้เป็นคำตอบทั้งคู่ แต่ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คนทำเรื่องนั้นอยากจะเล่ามากกว่า “เราไม่ได้ทำคอนเทนต์หนึ่งๆ โดยตั้งต้นว่าจะเอาใจคนดูหรือจะทำเพื่อสังคม มันแล้วแต่จุดตั้งต้นของโปรเจกต์”
“อย่างฮอร์โมนส์เป็นซีรีส์ที่เน้นตัวละคร เราเริ่มจากการสร้างตัวละครวัยรุ่นที่มีปัญหาบางอย่างที่ universal เช่นเรื่องเซ็กซ์ หรือเรื่องเพศสภาพ เรื่องความรัก ความรุนแรงในครอบครัว การโดนล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งถามว่าทำเพื่อรับผิดชอบสังคมมั้ย เราก็เลยไม่รู้จะตอบยังไง”
“ไม่รู้ว่าคำว่ารับผิดชอบกินขอบเขตขนาดไหน เราคิดแค่ว่าอยากเอาปัญหาวัยรุ่นออกมากาง ที่บางปัญหาสังคมก็อยากซ่อนไว้ใต้พรม พอฮอร์โมนเอามาพูด ก็มีข้อถกเถียงเหมือนกันว่าแบบนี้รับผิดชอบสังคมรึเปล่า แต่ในฐานะคนทำ เราคิดว่าเราต้องพูดด้วยน้ำเสียงเป็นเพื่อนกับวัยรุ่น ไม่ใช่ฝ่ายตรงข้าม” วรรณอธิบายวิธีการทำงานของเธอให้ฟัง
เมื่อชวนคุยถึงเรื่องการสร้างตัวละครที่หลายคนมักจะมองว่าตัวละครไทยนั้นมีการ steryotype บางอย่าง เช่นนางเอกถ้าไม่เป็นสาวหวาน เรียบร้อย ก็ต้องลุยๆ ไม่กลัวใคร ตัวร้ายต้องวี๊ดว้าย กรี๊ดกร๊าด หรือพระเอกต้องเชื่อคนง่ายเสมอ และมีการแบ่งตัวละครเป็นสีขาวดำอย่างชัดเจน แต่แววให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “เรารู้สึกว่าแพทเทิร์นของตัวละครในยุคนี้มันก็ไม่ได้มากแล้วนะ อย่างเรื่องกรงกรรม นางเอกก็เป็นโสเภณี หรือเรื่องใบไม้ที่ปลิดปลิว นางเอกก็เป็นกะเทย”
“เรารู้สึกว่าคนทำเริ่มพยายามหาอะไรที่แปลกใหม่ เรื่องที่ทำให้เราเห็นคือสูตรเสน่หา คือนางเอกนิสัยไม่ดีเลย แต่ว่าก็ได้เป็นนางเอก ช่องต่างๆ ก็พยายามดึงคนดูด้วยคอนเทนต์ คือตอนนี้คนมีทางเลือกเยอะมาก ทั้งเน็ตฟลิกซ์ ไลน์ทีวี ยูทูบ ไหนจะซีรีส์เกาหลี ซีรีส์จีน ซีรีส์ญี่ปุ่น เราว่าละครไทยก็เหมือนต้องพยายามปรับตัวที่จะดึงคนดูอยู่ประมาณนึง”
แต่วรรณก็เล่าให้ฟังเพิ่มเติมถึงเรื่องที่เขาเพิ่งได้เรียนรู้ว่าบางครั้งคนดูก็อาจจะมีชุดความคิดบางอย่างที่เธอต้องพยายามทำความเข้าใจ “คือเพิ่งรู้ว่ายังมีคนที่คิดว่าพระเอกต้องได้กับนางเอกอยู่นะ เพราะที่ผ่านมาเข้าใจว่าเขาเป็นแค่นักแสดงนำชาย ก็คือพระ เท่ากับ ผู้ชาย เอก คือตัวนำ ไม่ได้มีอะไรบอกว่าพระเอกต้องคู่กับนางเอกเสมอ อย่างรักฉุดใจนายฉุกเฉิน สำหรับเรา เราว่าหมอเป้งก็เป็นพระเอกอยู่ดี เพราะตัวละครที่ได้รับการเรียนรู้ผ่านเรื่องราว 16 อีพี ตัวละครที่ได้เปลี่ยนแปลงคาแรกเตอร์ ผ่านร้อนผ่านหนาว จนเปลี่ยนเป็นคนใหม่มันก็คือหมอเป้งรึเปล่า อะไรอย่างนี้”
เมื่อพูดถึงคุณภาพของละครไทยในปัจจุบันที่ปัญหาเรื่องทุนน่าจะเป็นปัญหาใหญ่ในการผลิตออกมาให้ได้คุณภาพอย่างที่หลายคนคาดหวัง แววก็เล่าให้ฟังถึงเรื่องของทุนการถ่ายทำ “ละครหรือซีรีส์มันเป็น free content ที่คนดูไม่ต้องจ่ายตังค์ดู มีแค่สินค้า ซึ่งลูกค้าจ่ายตังค์ให้ให้สินค้าไปปรากฏในซีรีส์ ซึ่งก็ไม่มีอะไรการันตีว่าคนดูแล้วจะมาซื้อสินค้าของเขาหรือเปล่า เพราะงั้นก็เข้าใจเขาได้ที่ต้องคิดเยอะๆ ก่อนลงทุน ซึ่งเรารู้สึกว่าของเกาหลีหรือญี่ปุ่น รัฐบาลเขาซัพพอร์ต”
“แต่ของเราเอกชนทำกันเองแล้วก็ค่ายไหนมีตังค์น้อยก็ผลิตโปรดักชั่นเท่าเม็ดเงินที่มี เราจะมามุมกล้องหวือหวาไม่ได้ เราต้องตั้งกล้องรีบถ่ายๆๆ ให้เสร็จภายในไม่กี่คิวที่เรามี”
วรรณเสริมอีกว่า “ซีรีส์เราได้เงินจากโฆษณาเท่านั้น ซึ่งเขาก็ต้องเชื่อในซีรีส์นี้ก่อนที่จะผลิตออกมา แล้วเขาจะเอาอะไรมาเชื่อ ก็มีแค่สองอย่างคือเชื่อผู้กำกับกับเชื่อนักแสดง ซึ่งเลเวลเราใครจะมาเชื่อ เป็นผู้กำกับใหม่ ยังเด็ก เพราะฉะนั้นนักแสดงก็ต้องแข็งแรง”
แววยังชวนสำรวจวงการละครไทยที่มีพื้นที่แสดงออกให้คนทำงานอยู่น้อยจนกลายเป็นไม่สร้างแรงจูงใจเท่าไหร่ “คือรางวัลสำหรับซีรีส์หรือละครมีไม่กี่เวที และไม่ได้มีรางวัลแยกย่อยให้ทุกหน่วยงานเหมือนภาพยนตร์ กำลังใจสำหรับทีมงานมันเลยน้อย ทั้งๆ ที่ปริมาณเนื้องานมันเยอะมาก”
“การทำงานมันบีบ มันหนักกว่า และมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์มากๆ ที่พอเราทำงานเหนื่อยมากจนถึงจุดนึงเราก็จะแบบ ล้อฟรีละ ก็เลยเกิดการทำงานแบบทำเท่าที่ทำได้ ไม่เต็มที่ไรงี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความทุกคนเป็นอย่างนี้นะ คนที่ตะบี้ตะบันทำให้ดีมันก็มีเยอะนะ แต่พอมันเหนื่อยมากๆ ก็เลยทำบ่ออยๆ ไม่ไหว”
วรรณยังได้บอกเล่าปัญหาอีกอย่างในความคิดของเธอว่า “เหตุผลสำหรับเราที่ซีรีส์หรือละครไทยไปไม่ไกลเท่าเกาหลีหรือฝรั่งคือตลาดเราแคบ เม็ดเงินก็น้อย ถ้าเราทำให้ตลาดเราเป็นแบบเกาหลีได้ เม็ดเงินก็อาจจะเยอะขึ้นมั้ง แต่ว่ามันก็เป็นภาพใหญ่มากเลย ไม่รู้ว่าเราจะไปตลาดโลกได้ไง”
ซึ่งแววก็ปิดท้ายด้วยสิ่งที่ใครหลายคนได้แต่คาดหวัง “เรารู้สึกว่าทางออกเดียวที่คิดได้คือรัฐต้องซัพพอร์ต แต่ก็ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น”