ข่าวละครนำเสนอภาพตัวละครหญิงถูกข่มขืนฉายวนเวียนเข้ามาซ้ำๆ มีประเด็นนี้ทุกปี แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยน?
ละครรีเมควนเวียน เรื่องเดิมกลับมาให้ได้ดูกันทุกรอบ 5 ปี 10 ปี ราวกับทั้งประเทศมีบทประพันธ์อยู่เท่านี้?
จะเอาเรื่องจริง/บุคคลจริง/วิชาชีพจริงก็ติดข้อห้ามและกฎหมายสารพัด สุดท้ายเลยมีแต่เรื่องประโลมโลก?
3 คำถามนี้เป็นประเด็นที่ผู้เขียนเห็นคนยกมาพูดถึงอีกครั้ง ภายใต้กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงของโลกบันเทิงภายนอก ธุรกิจหนังที่ปรับตัวอย่างมหาศาล ช่องว่างระหว่างหนังโรงกับหนังทางสตรีมมิ่งที่เคยต้องทิ้งช่วงนาน 6 เดือน – 1 ปี ลดลงเหลือเพียง 4 เดือน Netflix สตรีมมิ่งหมายเลขหนึ่งของโลกทุ่มเงิน 500 ล้านดอลลาร์ให้วงการหนังและซีรีส์เกาหลีป้อนงานให้แก่พวกเขา ยังไม่นับถึงความเปลี่ยนแปลงของวงการละครโทรทัศน์รอบประเทศเพื่อนบ้าน โปรเจคต์จากเวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ได้รับความสนใจจากตลาดสตรีมมิ่งระดับโลกทั้ง Netflix และ HBO เพราะทั้ง 3 ประเทศต่างมีจำนวนประชากรเยอะกว่าไทย มี ‘ตลาด’ ที่มีศักยภาพมากกว่าในสายตานักลงทุน
ขณะเดียวกันตลอดเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เข้าฟังห้องใน Clubhouse อยู่หลายห้องที่เกี่ยวพันกับละครไทย ทั้งห้องที่คนทำงานตั้งขึ้นเองเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาในวิชาชีพ และห้องที่คนดูตั้งขึ้นเองเพื่อหาคำตอบของคำถามข้างต้น จึงขอโอกาสชวนผู้อ่านทุกท่านมาร่วมกันหาคำตอบต่อ 3 คำถามข้างต้นกันผ่านบทความนี้ครับ
ฉากข่มขืนในละคร ไม่มีได้ไหม?
เป็นหัวข้อที่ร้อนแรงในทุกครั้งที่ดูหยิบยกมานำเสนอ และเช่นเดียวกับที่ทางผู้จัด/ผู้สร้างเองเลือกจะเงียบ ไม่มีการให้คำตอบที่กระจ่างชัด
ความละเอียดอ่อนของประเด็นนี้อยู่ที่มุมมองต่อการนำเสนอ ตัวอย่างจากละครหลายเรื่องในอดีตให้น้ำหนักกับฉากนี้ในทำนองเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ความสัมพันธ์ของพระเอก-นางเอก ที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความยินยอมพร้อมใจของฝ่ายหญิง หลังผ่านสัมพันธ์อันโหดร้ายต่อตัวละครหญิงแล้ว หลายเรื่องกลับเลือกโฟกัสไปที่การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของตัวละครชายที่เกิดสำนึกผิด พยายามแก้ไขในความผิดพลาดที่เคยกระทำต่อตัวละครหญิงเอาไว้ นำมาสู่การพิสูจน์ใจและพิสูจน์ตัวเองสารพัดจนสุดท้ายฝ่ายหญิงให้การยอมรับในที่สุด
ฉากข่มขืนที่ทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ เป็นมรดกตกทอดมาจากนิยายยุคเก่าที่ต้องการจุดเปลี่ยนความสัมพันธ์ของพระ-นาง ซึ่งมักเริ่มต้นด้วยความเข้าใจผิด อาทิ พระเอกเข้าใจว่านางเอกเป็นคนนิสัยไม่ดี เขาจึงรู้สึก ‘มีสิทธิอันชอบธรรม’ ที่จะทำร้ายนางเอกทั้งร่างกายและจิตใจได้ ความเข้าใจไปเองนี้เลยเถิดไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศในท้ายสุด
การข่มขืนถูกนับเป็นส่วนหนึ่ง
ในการลงโทษผู้หญิงของนิยายจำพวกนี้
ต่อมาเมื่อมีการดัดแปลงนิยายกลุ่มดังกล่าวเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ ฉากข่มขืนยังคงทำหน้าที่เช่นเดิมในฐานะจุดเปลี่ยนของความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร จุดที่ผู้ชมไม่เห็นหรือน้อยครั้งมากจะได้รับรู้ผ่านละคร/ภาพยนตร์เหล่านี้คือความรู้สึกของผู้ถูกกระทำในฐานะเหยื่อ (Victim) ของตัวละครหญิง ไม่ว่าจะเกลียดพระเอกที่กระทำเลวร้ายสารพัดต่อตัวเธอมากแค่ไหน สุดท้ายนางเอกในกลุ่มนี้ก็มักจะใจอ่อนในตอนท้ายอยู่ดี?
อีกประการเห็นจะเป็นชุดคำอธิบายเรื่องสิทธิสตรีในประเทศไทยและค่านิยมความเชื่อเรื่องพรหมจรรย์ในสังคมไทย การรักษาเนื้อตัวและการเป็นผู้บริสุทธิ์จริงแท้ก็คือต้องรักษาความบริสุทธิ์ หลายครั้งนิยายเหล่านี้จึงเอาความเชื่อมากดทับตัวละครในเชิงการจำยอมรับเงื่อนไขของการเป็น ‘ผัว/เมียจำเป็น’ นี้ เพื่อรักษาตัวเองให้อยู่ในกรอบจารีตความเชื่อของสังคมในยุคสมัยนั้น
ขณะเดียวกันละครอีกประเภทที่แม้ไม่ได้ขับเน้นการข่มขืนเด่นชัด แต่ก็แฝงนัยการทำลายความบริสุทธิ์ของตัวละครนางเอกซึ่งนับเป็นตัวละครที่จำต้องบริสุทธิ์ผุดผ่องเสมอมานี้ ก็ยังปรากฏแพร่หลายไม่ร้อย ในทำนอง ความบริสุทธิ์ของนางเอกนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ร้ายมุ่งหมายจะครอบครองเสมอ หน้าที่ของพระเอกคือพยายามปกป้องความบริสุทธิ์นี้เอาไว้
การข่มขืน จึงเป็นทั้งการครอบครองร่างกายเพื่อสร้างเงื่อนไขต่อรองในการครอบครองทางจิตใจของตัวละครในละคร ซึ่งเป็นมรดกความเข้าใจตกทอดอันล้าหลังคร่ำครึ ในมุมของผู้ชมที่เปิดห้องสนทนาใน Clubhouse นั้นต่างวิพากย์เรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อน ตลอดจนการแตกประเด็นเป็นแฮชแท็ก #ข่มขืนผ่านจอพอกันที ในทวิตเตอร์จากกรณีละครเรื่อง ‘เมียจำเป็น’ ที่มีฉากผู้ร้ายข่มขืนนางเอกแล้วพอพระเอกมารู้เรื่องทีหลังกลับแสดงท่าทีรังเกียจนางเอกอย่างเห็นได้ชัด
ผู้ใช้ทวิตบางรายนำเสนอต่อประเด็นนี้ในหลากหลายมุม อาทิ
“แล้วเมื่อไหร่จะปลูกฝังผู้ชายบ้างว่าข่มขืนเป็นเรื่องเลวร้าย”
“แทนที่จะสอนผู้หญิงให้ระวังตัว ควรคิดจะสอนให้ผู้ชายมีจิตสำนึก รู้ผิดชอบชั่วดีแทนรึเปล่า สอน ผญ จนเป็นค่านิยมรักนวลสงวนตัวกันมากี่รุ่น ข่าวโดนข่มขืนก็ไม่ลดลงเลย ลองมั้ย ลองสอน ผช ดูบ้างอ่ะ”
“เห็นด้วยมากๆ ต่อให้ผู้หญิงคนนั้นจะเลวอะไรแค่ไหนก็ไม่สมควรโดนข่มขืน การข่มขืนไม่ควรเอามาเป็นบทลงโทษอะ เลิกสักทีบทแบบนี้”
สิ่งที่ผู้เขียนขอตั้งคำถามเพิ่มคือในขณะที่ละครโทรทัศน์มุ่งเน้นปิดกั้นการนำเสนอความรุนแรงอย่าง ‘การเอาปืนจ่อหน้า’ ‘การใช้อาวุธมีดคม’ ‘ฉากสยดสยอง’ ‘คำพูดจาหยาบคาย’ ‘ฉากโป๊เปลือย’ สิ่งเหล่านี้เป็นความรุนแรงที่รัฐและสื่อมองเห็นอย่างชัดเจน มีการสั่งให้ตัดหรือเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวด แต่กับกรณีการข่มขืนกลับไม่มีการว่ากล่าวตักเตือน สั่งตัดหรือเซ็นเซอร์จนเกิดเป็นกรณีศึกษาแต่อย่างใด
แสดงว่าสังคมเราประเมินความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิง
เป็นเรื่องที่รับได้กว่า ความรุนแรงที่ผู้ชายห้ำหั่นฆ่ากันเอง
ในละครบู๊แอ็คชั่น? เป็นเรื่องที่ยอมรับได้กว่าการด่าทอด้วยคำหยาบคาย?
ข้อสังเกตสุดท้ายคือแม้กระทั่งฉากโป๊เปลือย ฉากตัวละครอาบน้ำในการ์ตูน ที่ถูกมองว่าส่อนัยเรื่องเพศ ทำไมการกระทำที่เป็นความรุนแรงทางเพศอย่างโจ่งแจ้งอย่างการข่มขืน ถึงไม่เคยถูกสำรวจตรวจสอบอย่างเข้มงวดเท่า กลับปล่อยผ่านราวเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในสังคมเราตลอดมาและตลอดไปอย่างนั้นหรือ?
อันที่จริงในแฮชแทก #ข่มขืนผ่านจอพอกันที ก็มีการแนะนำละครน้ำดี ไม่มีความรุนแรง มีข้อคิดเป็นประโยชน์ต่อผู้ชม มีเนื้อหาทันสมัย แม้แต่ละครบางเรื่องก็พยายามสำรวจ ‘เหยื่อ’ ที่ถูกข่มขืนผ่านการเปิดเผยบาดแผลทางกายและจิตใจให้ผู้ชมเข้าใจ และเห็นถึงอันตรายของพฤติการณ์นี้เช่นกัน แต่ก็นับว่าเป็นจำนวนน้อยอยู่มากเมื่อเทียบกับละครที่มีเนื้อหาวนเวียนกับการข่มขืนในเชิงบวกที่มีอยู่กลาดเกลื่อน
หัวข้อนี้อาจไม่มีคำตอบให้ผู้อ่าน และเป็นการโยนหินถามทางต่อสังคมไปเรื่อยๆ ตราบใดก็ตามที่ไม่เกิดการผลักดันหรือสนับสนุนให้ละครน้ำดีสามารถยึดครองหน้าจอแทนละครน้ำเน่าไปได้
รีเมควนเวียน บทประพันธ์ตกยุค?
อีกคำถามหนึ่งในกลุ่มคลับเฮ้าส์ “เพราะอะไรละครไทยถึงไม่ไปถึงไหน” มีการโยนคำถามที่น่าสนใจขึ้นมาในแง่ของการหยิบตัวบทประพันธ์เก่ามาทำซ้ำๆ รวมถึงห้องที่ในวันต่อมาเป็นกลุ่มคนเขียนบทละครโทรทัศน์เปิดห้องเพื่อตอบคำถามผู้ชมด้วยตัวเอง ก็มีการโยนคำถามนี้ขึ้นมาในห้องอีกครั้ง ไปจนถึงคำถามว่า “นิยายใหม่ๆ ที่น่าสนใจเยอะแยะทำไมถึงไม่ถูกทำเป็นละคร”
เป็นอีกหนึ่งคำถามที่คำตอบปรากฏในความเงียบ
ในความเงียบนั้นเต็มไปด้วยความอึดอัด คนเขียนบทไม่ใช่คนเลือกเรื่อง และคนเลือกเรื่องก็ไม่ได้มาอยู่ในห้องเพื่อฟังคำถามเหล่านั้น บทประพันธ์ถูกเลือกจากความดังเป็นลำดับแรก ความดัง ติดตรึง และเข้าใจง่ายของผู้มีสิทธิอนุมัติการสร้างในระดับบนๆ ลองจินตนาการถึงคนระดับผู้บริหารที่ไม่มีเวลามานั่งอ่านนิยายหรือบทละครด้วยตัวเอง แต่ต้องทำการตัดสินใจอนุมัติงานสร้างจากเรื่องย่อขนาดความยาว 2-3 หน้า เหตุผลของการหยิบละครเก่ามาสร้างเพราะเรื่องราวมันอยู่ในความเข้าใจของคนระดับบริหารอยู่แล้ว ง่ายต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้นำมาสู่การอนุมัติงานสร้าง และมีความเชื่อว่าบทประพันธ์เหล่านี้มี “ฐานแฟน” อยู่เดิม ทั้งฐานแฟนที่อ่านนิยาย ไปจนถึงฐานแฟนที่เคยดูละครรีเมคเวอร์ชั่นก่อนๆ
บทประพันธ์บางเรื่องอาจมีอายุมากกว่า 50 ปีแล้วด้วยซ้ำ ข้อนี้ตอบปัญหาในข้อที่หนึ่งได้ว่า ทำไมแนวคิดบางอย่างที่ล้าสมัย (เช่น การข่มขืน, ผู้หญิงมากรัก = ผู้หญิงชั่ว, ไม่มีพื้นที่ให้เพศที่สาม ฯลฯ) จึงยังคงปรากฎอยู่ในละครไทยปัจจุบัน เพราะแนวคิดดังกล่าวเป็น ‘จุดเปลี่ยนสำคัญ’ ของเรื่องที่เปลี่ยนทั้งความนึกคิดของตัวละคร รวมไปถึงเปลี่ยนสถานการณ์ของเรื่องด้วย บางเรื่องแนวคิดดังกล่าวเป็นแกนในการขับเคลื่อนทั้งเรื่อง อาทิ ชีวิตผู้หญิงมากรักที่ชีวิตค่อยๆ พังทลายลงไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีหยุดยั้ง โดยไม่ได้ให้มิติความรักแง่อื่นแก่ตัวละครเลยนอกจากเธอเป็นคนไม่ดี จึงสมควรได้รับชีวิตเช่นนี้ ซ้ำร้ายยังตัดขาดจากปัจจัยทางสังคมและการเมืองโดยสิ้นเชิงไป สังคมในละครกลับกลายเป็นเพียงฉากหลังระบุยุคสมัยเท่านั้น อาทิ วิกฤติเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงการเข้ามาของทุนอเมริกันและญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ 50-70 ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยไปอย่างรวดเร็ว
อาการยึดติดและล้าหลังของละครไทยที่ดัดแปลง
จากบทประพันธ์บางเรื่องเหล่านี้ จึงขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์
ของผู้จัดและผู้กำกับโดยสำคัญ
ว่าการเลือกดัดแปลงใหม่แต่ละครั้งจะปรับเปลี่ยนความสมจริงและสร้างเหตุผลร่วมสมัย เพื่อรองรับหรือตีโต้ แนวคิดคร่ำครึตกสมัยไปได้มากน้อยแค่ไหน และอีกปัจจัยที่สำคัญคือคนดูให้การต้อนรับและรับได้ต่อการ ‘ดัดแปลงใหม่’ มากน้อยแค่ไหน ในหลายกรณีจะเห็นว่ามีหนังหรือละครที่หยิบจากบทประพันธ์เก่าประสบกับข้อวิจารณ์ว่า ‘ดัดแปลงจนไม่เหลือเค้าเดิม’ ‘ทำไมไม่ทำตามนิยาย’ ‘ฉบับเก่าสนุกกว่า’ ฯลฯ ข้อวิจารณ์เหล่านี้กลายเป็นงูกินหาง คนทำไม่กล้าเอาของเก่ามาดัดแปลงใหม่ให้น่าสนใจขึ้น ไม่กล้าเปลี่ยนสิ่งที่ล้าสมัยออกไปเพราะกลัวจะกระทบของเดิม คนดูก็รู้สึกว่าทำมาทีไรๆ ก็ย่ำอยู่กับที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่ พอแปลกใหม่มากเกินไปก็เกิดการเปรียบเทียบจนถึงขั้นด้อยค่าการดัดแปลงใหม่อีก
ในห้องพูดคุยดังกล่าวนั้นยังมีอีกข้อเสนอที่น่าสนใจคือ สำหรับกลุ่มคนดูแล้ว พื้นที่ของซีรีส์วายมีความสดใหม่น่าสนใจกว่า นอกจากจะมีทั้งบทประพันธ์ที่เป็น original content โดยผู้กำกับหรือคนเขียนบทเองแล้ว ยังมีการหยิบนิยายออนไลน์ที่เขียนโดยคนรุ่นใหม่มาดัดแปลง แม้จะมีข้อท้วงติงว่าขาดคุณภาพ (เมื่อเทียบกับนิยายยุคเก่า) แต่ในแง่หนึ่ง นิยายออนไลน์นั้นก็ไม่ได้อิงกับรูปแบบการเขียนแบบนิยายยุคเก่าแล้ว กลับสร้างรูปแบบการเขียนใหม่ๆ ขึ้นมากกว่า
ดังนั้นการเปรียบเทียบกันในประเด็นเรื่องคุณภาพนี้ จึงมีความหมิ่นเหม่จะเป็นการหยิบเอารสนิยมผสมกับการตีค่าบทประพันธ์ในประเด็นรูปแบบเสียมากกว่า เพราะสำหรับผู้ชมยุคใหม่ พวกเขาเองก็คุ้นเคยกับรูปแบบการอ่านเช่นนี้ ยกตัวอย่างเช่น การบรรยายที่ไม่ให้เกิดภาพพจน์นัก หันไปเน้นการบรรยายด้วยบทสนทนาแทน เพื่อไปให้ความสำคัญกับฉาก ‘ชวนจิ้น’ (ฉากเข้าพระ-เข้านาย) แทนเสียมากกว่า
ไหนจะนิยายออนไลน์ยุคใหม่นั้นนำเสนอประเด็นทางศีลธรรม, สังคม, การเมือง ที่ค่อนข้างเดินไปในทิศทางตรงข้ามกับนิยายยุคเก่า ยกตัวอย่างเช่น นิยายวายที่ตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ของพระ-นางตามขนบนิยายไทย ไม่จำเป็นต้องเป็นชาย-หญิงอีกต่อไป ปัญหาของความสัมพันธ์ไม่ได้อยู่ที่รวยหรือจน ดีหรือเลว แต่เป็นเรื่องการยอมรับตัวตนของอีกฝ่าย การกล้าจะเปิดใจเปิดเผยรสนิยมของตัวเอง ตัวละครที่มีความกล้าท้าทายกฎระเบียบอันไม่เป็นธรรม จนนำมาสู่การสร้างคุณค่าใหม่ๆ ที่ล้างไพ่แนวคิดแบบเดิมๆ อันตกยุค
ซึ่งเป็นท่าทีที่สร้างความสั่นสะเทือน
แก่แนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมค่อนข้างสูง
ประเด็นเรื่องการหยิบบทประพันธ์เก่ามาดัดแปลงนี้ อาจต้องถกเถียงกันไปถึงเรื่องวัฒนธรรมการอ่านในบ้านเราที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว นิยายที่มีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่คือนิยายแปลและนิยายออนไลน์ มากกว่าบทประพันธ์เมื่อ 50 ปีก่อน คล้ายกับว่ามีโลกสองใบซ้อนกันอยู่ ซึ่งเป็นคำถามระหว่างคนสองรุ่นประทะกันต่อไป ตราบที่ไม่มีการประนีประนอมเกิดขึ้น อาทิ การดัดแปลงที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ชมรุ่นใหม่มากขึ้น หรือการหันไปยกระดับนิยายออนไลน์ให้ได้รับการยอมรับในคุณค่าในเชิงงานประพันธ์มากขึ้น อย่างที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อทำให้ตัวเลือกของผู้จัด/ผู้สร้างมีมากขึ้น เช่นเดียวกันกับผู้ชมก็อาจมีโอกาสได้ชมงานที่แปลกใหม่ท้าทายหลากหลายมากยิ่งขึ้นด้วย
ละครวิชาชีพสมจริง เป็นไปได้หรือไม่?
ประเด็นสุดท้ายของบทความนี้ เริ่มเป็นประเด็นจากการที่ผู้ชมซีรีส์เกาหลี-ญี่ปุ่นรวมทั้งต่างประเทศ นำมาเปรียบเทียบกับละครไทยในแง่การนำเสนอวิชาชีพอย่างสมจริงผ่านตัวละคร ในขณะที่ละครไทยให้ตัวละครใช้เวลาไปกับการชิงรักหักสวาท ตามงอนง้อพ่อแง่แม่งอน ซีรี่ส์ต่างประเทศกลับให้รายละเอียดวิชาชีพของตัวละครอย่างสมจริง ไม่ว่าจะเป็นหมอ, ตำรวจ, ทหาร, ทนายความ ตลอดจนนักการเมือง ทำให้คนดูเห็นและเข้าใจถึงภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ ตลอดจนผลกระทบจากการทำงานในชีวิตของพวกเขาที่ส่งผลต่อเรื่อง
ความสมจริงของวิชาชีพนี้ผู้เขียนเห็นว่าพอจะมีปรากฏในละครไทยอยู่บ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อยมาก ในอดีตเคยมีละครเรื่อง อวสานเซลล์แมน (2530-นำแสดงโดย พิศาล อัครเศรณี, ศรัณยู วงศ์กระจ่าง, พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ดัดแปลงหนังสือเรื่อง Death of A Salesman ของ Arthur Miller นักเขียนชาวอเมริกัน นับเป็นละครที่มุ่งพูดถึงชีวิตของเซลล์แมน ซึ่งต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบหางาน ย้ายบ้านไปตามงานที่ได้ใหม่ไปเรื่อยๆ จนทำให้เกิดปัญหาในครอบครัวกับลูกชายที่เริ่มตั้งคำถามต่อความไม่มั่นคงในอาชีพของพ่อ ผู้เขียนเข้าใจว่าก่อนมีการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ เคยมีการดัดแปลงเป็นละครเวทีมาแล้วในไทย
หรือไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ก็มีละครเรื่อง “แอบรักออนไลน์” (2558) ทางช่อง 3 ที่ถูกพูดถึงมากในแง่การนำเสนออาชีพนักการตลาดในบริษัทหุ้นของพระเอก เรื่องดำเนินไปในวงคนทำงาน ผลจากการทำงานส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเช่นกัน อีกเรื่องก็คือ “รักฉุดใจนายฉุกเฉิน” (2562) ซีรี่ส์ที่มีความพยายามนำเสนอภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่แพทย์ประจำห้องฉุกเฉิน กระบวนการทำงานในห้องฉุกเฉินที่ต้องรับมือกับเคสยากๆ ถูกผูกเข้ากับเงื่อนไขของอาชีพแพทย์ที่ไม่มีเวลาให้คนรัก กลายเป็นประเด็นหลักของเรื่องไป
สาเหตุสำคัญที่ละครแนววิชาชีพมีการผลิตน้อย คือ
ผู้จัด/ผู้สร้างต้องแบกรับความเสี่ยงในกรณีเกิดการฟ้องร้อง
ฐานทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือเสียภาพลักษณ์ของวิชาชีพนั้นๆ
การนำวิชาชีพใดๆ มานำเสนอจึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงในรายละเอียดให้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ในขณะเดียวกันถ้าคิดจะนำเสนอแล้ว ก็จำต้องนำเสนอในแง่มุมที่ดีเท่านั้น การเลือกนำเสนอวิชาชีพใดๆ ให้เห็นแง่ร้ายหรือด้านลบ อาจนำไปสู่การฟ้องร้องของกลุ่มวิชาชีพต่อกลุ่มผู้สร้างหรือลุกลามไปถึงสถานีโทรทัศน์นั้นๆ ด้วย
ลำพังเหตุผลข้างต้นนี้ ก็ทำให้เห็นวิชาชีพ ‘ผู้ร้าย’ ในละครไทย วนเวียนอยู่ไม่กี่กลุ่ม คนรวยนิสัยไม่ดี, นักธุรกิจฉ้อฉล, นักการเมืองเลว ตลอดจนเจ้าพ่อค้ายา-ค้าอาวุธ ฯลฯ กลุ่มวิชาชีพที่สุ่มเสี่ยงจะถูกฟ้องร้องมากที่สุดหากนำเสนอภาพไม่ดีก็คือตำรวจและทหาร เพราะเป็นกลุ่มวิชาชีพที่ทำงานด้านกฎหมายโดยตรง ทางเลี่ยงในการเขียนละคร/ซีรีส์เหล่านี้คือการฉายภาพด้านดีให้อยู่ในกลุ่มพระเอก หากจะมีผู้ร้ายอยู่ในกลุ่มวิชาชีพข้างต้น ก็ต้องแสดงให้เห็นชัดว่าทำงานภายใต้ผู้มีอิทธิพลแอบแฝง และต้องได้รับโทษตามกฎหมายในตอนท้าย ไม่ให้ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของวิชาชีพดังกล่าว
แต่มีสองกรณีสำคัญที่ทำให้เห็นว่าละครวิชาชีพ ที่มีลักษณะวิพากย์ ‘ระบบภายในวิชาชีพนั้นตรงๆ’ ก็จะเกิดปัญหาได้เช่นกัน ดังตัวอย่างจากกรณีละครเรื่อง ‘สารวัตรใหญ่’ (2537) เล่าถึงนายตำรวจระดับสารวัตรที่ต้องเผชิญคู่ต่อกรสำคัญ ไม่ใช่ผู้ร้ายที่ไหนแต่เป็นคนและระบบเส้นสายในกรมตำรวจเองที่เอื้อให้อาชญากรลอยนวล ละครเรื่องนี้ถูกตัดจบไปดื้อๆ ไม่ให้ออกอากาศถึงตอนอวสาน
เช่นเดียวกับ เหนือเมฆ 2 (2555) ที่ถูกตัดจบไปด้วยเหตุผลคล้ายๆ กัน คือวิพากย์ระบบการเมืองในฝั่งรัฐบาลที่มีตัวร้ายใช้ขมังเวทย์ควบคุมนักการเมืองและวางแผนนโยบายประเทศตามใจนึก ละครถูกตัดจบหลังออกอากาศไป 9 จากจำนวนตอนทั้งหมด 12 ตอน ความน่าสนใจของเหนือเมฆ 2 อยู่ที่ใน 3 ตอนสุดท้ายที่ถูกตัดจบห้ามออกอากาศไปนั้น มีนักแสดงรับเชิญชื่อ ชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกรัฐบาลในสมัยนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร่วมแสดงอยู่ด้วย
นอกจากวิชาชีพด้านกฎหมายและการเมืองแล้ว การแตะวิชาชีพอื่นๆ ในแง่มุมที่ถูกมองว่าไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์วิชาชีพนั้นๆ ก็เกิดผลเช่นกัน อาทิ ‘สงครามนางฟ้า’ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เป็นเรื่องอื้อฉาวภายในสายการบินแห่งหนึ่งที่บรรดาพนักงานต้อนรับต่างตบตีแย่งชิงตัวละครชายในเรื่อง ทำให้กลุ่มวิชาชีพดังกล่าวตั้งโต๊ะแถลงข่าวฟ้อง ล่าสุดกับกรณีของซีรีส์เรื่อง ‘The Debut อวสานไอดอล’ ก็มีกระแสกลุ่มแฟนคลับวงไอดอลไม่พอใจตั้งแฮชแทก #แบนเดอะเดบิวต์อวสานไอดอล และ #BoycottTheDebutWeTV จนเกิดกระแสในโลกโซเชียล นำมาสู่การแถลงการณ์จากบริษัทที่ดูวงไอดอลแห่งหนึ่งซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นผู้ถูกพาดพิง ซึ่ง ณ ขณะที่เขียนบทความอยู่นี้ก็ยังไม่ปรากฎข่าวคืบหน้าว่าจะส่งผลกระทบต่อซีรีส์เรื่องดังกล่าวเช่นไร
สำหรับผู้เขียนแล้ว การเรียกร้องละครวิชาชีพสมจริงนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้ละครไทยเท่าทันโลกละครสมัยนี้ แต่ในขณะเดียวกันผู้เขียนก็เกิดคำถามว่าแล้วในมุมของผู้จัด/ผู้สร้าง ได้รับความคุ้มครองมากน้อยแค่ไหน ขอบเขตการตีความนำเสนอวิชาชีพดังกล่าวควรอยู่ที่ตรงไหน ประเด็นของการทำให้เสียภาพลักษณ์ของวิชาชีพก็เป็นเรื่องหนึ่ง
อีกเรื่องหนึ่งคือแล้วมีวิชาชีพไหนที่เราเล่าทั้งสองด้าน
ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ได้เหลือให้เล่าอยู่อีก? ในเมื่อทุกวิชาชีพ
สามารถลุกขึ้นมาแสดงความไม่พอใจได้ทั้งสิ้น
ในกรณีของภาพยนตร์ ‘พระ’ ก็เป็นกลุ่มตัวละครที่ผู้สร้างพยายามหลีกเลี่ยง หากจะนำเสนอก็เลือกนำเสนอในมุมที่ดีเอาไว้ก่อน เมื่อมีภาพยนตร์หลายเรื่องที่นำเสนอ ‘พระ’ ในด้านไม่ดีนัก หรือด้านที่สถาบันศาสนามองว่าเสื่อมเสีย เช่น พระกลัวผี?? จึงเกิดการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ตัด, ปรับ เปลี่ยนเนื้อหาภาพยนตร์อยู่หลายกรณี ซึ่งผู้เขียนจะไม่กล่าวถึงในรายละเอียดเนื่องจากเป็นบทความเกี่ยวกับละครโทรทัศน์ไทย
ท้ายสุดแล้วสำหรับผู้สร้าง/ผู้จัดละครไทยเอง ก็ต้องเผชิญกับคำถามใหญ่จากคนดูที่เรียกร้องความทันสมัย เท่าทันโลกละคร กล้าวิพากษ์วิจารณ์สังคม หลุดออกจากวังวนน้ำเน่า ให้ความสำคัญกับวิชาชีพมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งพวกเขาก็ต้องเผชิญกับกฎกรอบของสังคมเองที่ยังไม่เปิดรับเต็มที่ สังคมที่เต็มไปด้วยข้อห้าม ทั้งห้ามด้วยกระเทือนกฎหมาย ทั้งห้ามด้วยธรรมเนียมปฏิบัติ ตลอดจนห้ามด้วยความเกรงอกเกรงใจ จนท้ายสุดพื้นที่ของละครที่จะทำได้เหลืออยู่เพียงเท่าไหร่ก็ยากจะนึก ไหนจะการแข่งขันสูงขึ้นที่ต้องบีบให้ละครโทรทัศน์ต้องทลายกรอบในเร็ววัน เพื่อสร้างพื้นที่ใหม่ๆ สร้างผู้ชมใหม่ๆ ต่อสู้กับการถูกแย่งชิงกลุ่มคนดูไปสู่สื่ออื่น ไม่ว่าจะซีรีส์ไทยหรือซีรีส์ต่างประเทศเอง โดยเฉพาะหลังการเข้ามาของสตรีมมิ่งหลายเจ้าที่นอกจากราคาถูกแล้ว ยังนำเสนอละครโทรทัศน์ต่างประเทศที่มีคุณภาพงานสร้างและเนื้อหาที่สูงกว่า ดึงดูดใจผู้ชมมากกว่าในราคาที่ถูกลงกว่าเมื่อก่อนมาก
ข้อได้เปรียบสองข้อของละครโทรทัศน์ไทยในปัจจุบันนี้ เห็นจะมีแค่พูดภาษาไทยและดูได้ฟรีเท่านั้น
แต่ในมุมผู้จัด/ผู้สร้าง พวกเขากำลังเสียเปรียบมหาศาล ภายใต้กฎกรอบเงื่อนไขของทั้งสังคมและอุตสาหกรรมที่บีบให้เหลือพื้นที่น้อยลงทุกวัน ในมุมคนดู พวกเขากำไรมหาศาลเพราะมีคอนเทนต์ให้เลือกมากมาย มากพอที่จะทิ้งละครไทยไปโดยไม่เหลียวหลังกลับมาอีกเลย
เหรียญสองด้านที่มีชื่อว่าความเก่าและใหม่ สิ่งที่คิดว่าดีแล้วกับสิ่งที่จำต้องเปลี่ยน อาจเป็นทั้งทางสว่างและทางตันของละครไทยเหมือนกัน