ตื่นเช้ามาแต่ละวันเรามีเรื่องให้เสพจากโซเชี่ยลมีเดียมากมาย แต่ทำไมเรื่องที่ดึงความสนใจเราได้มากที่สุดมักเป็นเรื่องลบๆ?
อาจจะเป็นดราม่าในแฮชแท็กทวิตเตอร์ ข่าวเงินเฟ้อ ข่าวความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่แน่นอน ฯลฯ จนบางครั้งเราแทบนึกไม่ออกเลยว่าแต่ละวันมีข่าวอะไรดีๆ บ้าง ส่วนหนึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดจากอัลกอริทึมที่มักเทรนด์ข่าวลบๆ เข้ามาในหน้าโซเชี่ยลมีเดียของเรา แต่อีกส่วนหนึ่งที่มันเป็นแบบนั้นเพราะสมองของมนุษย์สั่งงานให้เรามองเห็นเรื่องลบก่อนเรื่องบวกเสมอ
สัญชาตญาณการเอาตัวรอดไม่หายไป
ในอดีตความเครียดส่วนมากเกิดจากการโดนสัตว์นักล่าไล่ หรืออาจจะเป็นเมื่อเราต้องเอาตัวรอดในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย แม้ว่าเราไม่ต้องเจอกับสถานการณ์แบบนั้นแล้ว แต่เราก็ยังได้รับความเครียดจากแหล่งอื่นๆ มากมาย และหนึ่งในนั้นคือจากการพบเจอข่าวลบๆ ในชีวิตประจำวัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและจิตวิทยาเด็ก เคนดรา เชอร์รี่ เขียนในบทความของเธอเกี่ยวกับ Negative Bias ว่าเหตุที่มนุษย์โฟกัสในเรื่องร้ายก่อนเรื่องดีนั้นมาจากการวิวัฒนาการที่มนุษย์ต้องแยกเรื่องที่เป็นภัยและไม่เป็นภัยออกจากกันเพื่อการเอาตัวรอดในชีวิตประจำวัน โดยสัญชาตญาณนี้ถูกฝังมาในดีเอ็นเอของมนุษย์ตั้งแต่เป็นทารก
และแม้ว่าความเครียดเหล่านี้จะมาจากแหล่งที่ต่างกัน รวมทั้งความรุนแรงที่ต่างกันอย่างมาก ร่างกายยังจัดการกับมันไม่ต่างจากเดิมนัก ตัวอย่างเช่นการเพิ่มความดันโลหิตและการลดระดับการเผาผลาญโดยทำผ่านการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล
คอร์ติซอลหรือฮอร์โมนความเครียดนี้ผลิตมาจากต่อมหมวกไต และหน้าที่หลักๆ ของมันคือการทำให้มนุษย์อยู่รอดได้หากเจอเข้ากับอันตรายตรงหน้า การเพิ่มระดับการเต้นของหัวใจและความเร็วในการหายใจทำให้เราตื่นตัวและรับออกซิเจนมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการเอาตัวรอดของเราได้
นอกจากความเครียดแล้ว อีกด้านของเรื่องคือการเสพติดดราม่าและข่าวแง่ลบนั้นเกิดจากการรู้สึกเสพติดสารอีกอย่างที่หลั่งเมื่อเราพบเข้ากับความเจ็บปวด นั่นคือเอ็นโดรฟิน ที่ทำหน้าที่การสร้างความสุข และนักวิจัยบางกลุ่มมองว่าในแง่หนึ่งมนุษย์สามารถเสพติดความรู้สึกที่สารดังกล่าวสร้างขึ้นได้ในระดับเบาๆ อาจจะผ่านการออกกำลังกาย การเล่นกีฬาโลดโผน และในเคสของเราคือการกลับไปเสพข่าวคราวร้ายๆ เหล่านี้นี่เอง ฉะนั้นไม่แปลกเลยที่เราจะเผลอโฟกัสการเสพข่าวที่ทำให้เราเครียดโดยไม่รู้ตัว
สัตว์สังคมต้องการการเชื่อมต่อ
เราได้ยินมาเสมอว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม โดยมีความหมายว่าไม่ทางตรงก็ทางอ้อมมนุษย์จะต้องพึ่งพาคนอื่นๆ ในสังคมเพื่อจะอยู่รอด ในร่างกายเรามีแม้กระทั่งฮอร์โมนที่เชื่อมโยงโดยตรงกับการมีปฏิสัมพันธ์ของคน นั่นคือออกซิโทซินที่จะหลั่งออกมาระหว่างการให้นมลูก หรือระหว่างที่มีการสื่อสารแง่บวกต่อมนุษย์ผู้อื่น
แต่เรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับดราม่ายังไง?
ดร. พอล เจ. แซ็ก ผู้กำกับของศูนย์ประสาทวิทยาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ พบว่าในการทดลองสแกนสมองระหว่างที่กลุ่มตัวอย่างอ่านเรื่องของพ่อของเด็กที่เป็นมะเร็ง กับอีกกลุ่มดูวิดีโอที่พวกเขาพูดพร้อมการตัดต่อ น้ำเสียง และดนตรี กลุ่มที่ดูวิดีโอแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อพ่อและเด็กมากกว่ากลุ่มแรก โดยเขาได้บทสรุปจากการทดลองว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่โหยหาเรื่องเล่า เพราะเรื่องเล่าสามารถสนองความต้องการของสัตว์สังคมมากกว่าการเล่าข้อเท็จจริงตรงๆ นั่นคือการเชื่อมต่อผู้คนทั้งรู้จักและไม่รู้จัก
ในอีกการทดลองของดร. แซ็ก เกี่ยวกับออกซิโทซิน เขาพบว่าปริมาณที่ร่างกายหลั่งสารดังกล่าวออกมาแปรผันตรงกับความต้องการที่จะตอบแทนความใจกว้างด้วยความใจกว้าง และความเชื่อใจด้วยความเชื่อใจแม้แต่ในคนแปลกหน้า โดยเขาสรุปว่าออกซิโทซินนั้นเป็นสารที่ก่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ ในระดับที่เขาเรียกมันว่า ‘โมเลกุลจริยธรรม’ และเขาโยงมันเข้ากับงานวิจัยเรื่องการเล่าเรื่องของเขาว่ากลุ่มที่ดูวิดีโอมีการหลั่งออกซิโทซินในสมองอย่างต่อเนื่อง ต่างจากกลุ่มแรกที่ได้อ่านอย่างเดียว
ในนัยหนึ่งดราม่าและการฟังข่าวลบๆ ที่มี ‘ตัวละคร’ ก็เป็นการเล่าเรื่อง หากลองเทียบกันว่าการอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์หรือการดูคลิปสัมภาษณ์ผู้ที่อย่าในเหตุการณ์นั้นๆ แล้ว การดูใครสักคนเล่าเรื่องของตัวเองโดยมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมนั้นเชื่อมเราเข้ากับสถานการณ์ได้ง่ายกว่ามากๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เราเห็นเหตุการณ์ที่ดู ‘มีเรื่องมีราว’ และเกี่ยวข้องกับความสนใจของมนุษย์ (Human Interest) ได้รับความนิยมจากผู้รับสารมากกว่าข่าวที่ไม่ถูกเล่าด้วยอารมณ์ความรู้สึก
‘ความเห็นอกเห็นใจ’ นี้มีแต่ข้อดีหรือเปล่า?
จริงอยู่ที่ความรู้สึกอินไปกับปัญหาของเพื่อนมนุษย์นั้นไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หลายๆ ความรู้สึกเหล่านั้นเป็นหนึ่งในแรงสำคัญที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ แต่ว่าการเสพข่าวลบและการร่วมวงเข้าสู่ดราม่าสามารถสร้างผลลบให้แก่เราได้หรือเปล่า?
ร่างกายมนุษย์เป็นสิ่งที่ซับซ้อน นั่นรวมไปถึงเหล่าฮอร์โมนและสารที่หลั่งระหว่างเราติดตามเรื่องราวดราม่าในอินเทอร์เน็ตด้วย ในบทความเรื่องผลของดราม่าต่อสมองโดย โจชัวร์ โกวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์เชิงพฤติกรรม มหาวิทยาลัยเทกซัส กล่าวว่าคอร์ติซอลนั้นเป็นสารที่ร่างกายหลั่งออกมาเป็นเวลาประจำทุกๆ วัน นั่นคือหลั่งตอนเช้าเยอะที่สุดแล้วค่อยๆ ลดลงเมื่อวันดำเนินไป
แต่เมื่อเราตกอยู่ในห้วงของการเสพข่าวลบที่นำไปสู่ความเครียดทุกวันนั้น อาจทำให้ระดับคอร์ติซอลของเราขยับขึ้นลงตลอดเวลา นำไปสู่ความซึมเศร้า การกินอาหารเกินปริมาณปกติ นอนไม่หลับ และภาวะเบิร์นเอาต์ได้ ฉะนั้นการบาลานซ์ระหว่างการเสพเรื่องราวลบๆ กับสุขภาพใจของตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องทำพร้อมๆ กันไปด้วยเช่นกัน
แต่เราจะทำยังไงในเมื่อร่างกายของเราเรียกร้องให้เราสนใจมากขนาดนี้? อย่างที่ว่าไป ร่างกายและจิตใจของคนนั้นเป็นสิ่งที่ซับซ้อน และมันอาจซับซ้อนเกินกว่าจะพูดได้ว่าทำวิธีนี้แล้วจะหยุดความชอบตามดราม่าได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่ว่าสิ่งที่สามารถช่วยได้คือการใช้ชีวิตให้ช้าลง และตั้งคำถามต่อสิ่งที่เราทำว่าหากเราตามเรื่องอะไรสักเรื่องอยู่ เรามีส่วนได้ส่วนเสียได้อะไรบ้าง และเรื่องเหล่านั้นคุ้มค่าต่อการนำสุขภาพจิตของเราไปลงหรือไม่
อ้างอิงข้อมูลจาก