ในเดือนกรกฏาคมแบบนี้ เราจะเรียนวิชารักจากใครไปได้ดีกว่า เจน ออสเตน นักเขียนหญิงต้นตำรับนิยายรัก ที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีวันตาย แถมยังส่งอิทธิพลต่อนวนิยายรักอีกมากมายทั่วโลก ในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของเธอในวัน 18 กรกฏาคม ประกอบกับการที่ Persuasion นวนิยายเรื่องสุดท้ายที่เขียนเมื่อตอนมีชีวิตกลับมาเป็นซีรีส์อีกครั้ง The MATTER จึงชวนกลับไปอ่านข้อความกึ่งคำสอนว่าด้วยความรัก จากเจ้าแม่นวนิยายรักที่เธอเองก็เต็มไปด้วยความรักทั้งในการเขียน และการใช้ชีวิต
เจน ออสเตน เป็นหนึ่งในนักเขียนหญิงที่เป็นที่รู้จัก และทั่วโลกรักมากที่สุดคนหนึ่ง ในชีวิตส่วนตัวของเธอก็ถือว่าน่าสนใจ ยิ่งในแง่ของการเป็นผู้หญิง และในแง่ของการทำอาชีพนักเขียน ออสเตนเกิดในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 (ค.ศ.1787–1817) ชีวิตส่วนตัวไม่แต่งงาน—คือตอบตกลงจะแต่งแต่ไม่แต่ง—และสันนิษฐานกันว่าน่าจะเพราะเธอมีคนรักที่เสียชีวิตไปก่อนแล้ว ดังนั้น ผู้หญิงที่ไม่แต่งงานก็จะเจอกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจเอง โดยสังเขปเจนเอง แม้จะนับเป็นผู้มีอันจะกิน (gentry) ในพื้นที่ชนบทของอังกฤษ เธอเองนับว่าเป็นชนชั้นกลางที่เลือกจะอยู่เป็นโสด รักการเขียนมาตั้งแต่เด็ก และในที่สุดก็สานฝันและเป็นนักเขียนที่มีแฟนคลับ และมีรายได้จากการเขียนจริงจัง แต่ทว่าด้วยอายุที่สั้นไปหน่อย ผลงานของเธอจึงตีพิมพ์ออกเพียง 6 เล่ม ซึ่งทั้งหมดกลายเป็นหนัง ละคร และมีงานล้อเลียนเช่นเวอร์ชั่นซอมบี้
ในแง่ของงานเขียน เจน ออสเตน เริ่มเขียนงานตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่นโดยงานเขียนสำคัญสามชิ้นคือ Sense & Sensibility, Pride & Prejudice, และ Northanger Abbey สามเล่มแรกเขียนเสร็จตอนอายุแถวๆ 20-25 ปี เขียนมั่ง ปรับปรุงมั่ง แต่นับว่าเป็นช่วงที่เขียนงานชิ้นเอก หลังจากนั้นชีวิตก็ไม่ได้จังหวะ คือยังทำงานเขียนบ้าง แต่เขียนได้ไม่ดี ส่งงานไปให้สำนักพิมพ์บ้างเช่น Northanger Abbey ก็ขายได้แต่ไม่ได้พิมพ์แถมติดลิขสิทธิ์ พ่อตาย ย้ายบ้านหลายหลัง จนมาช่วงอายุ 34-35 ที่ได้ไปอยู่คฤหาสน์เล็กๆ ในชนบท ก็เลยเริ่มเอางานเก่ากลับมาทบทวนและได้ตีพิมพ์ในท้ายที่สุด
ช่วงปี ค.ศ.1811 เป็นช่วงที่ เจน ออสเตน เริ่มพิมพ์งานเขียนเป็นนักเขียนเต็มตัวและทำงานเขียนจริงจัง หลังจากทบทวนงานอยู่สองปีจนในปี 1811 นั้นเองที่ผลงานชิ้นแรก Sense & Sensibility ได้รับการตีพิมพ์ ซึ่งกระบวนการทำงานของเธอจะเป็นลักษณะ พิมพ์งานเก่า เขียนงานใหม่ งานเก่าพิมพ์ครั้งที่ 2 แล้วก็ออกงานใหม่ต่อ ลำดับการพิมพ์นวนิยายของเจนต่อๆ มาคือ Pride & Prejudice ตีพิมพ์ช่วงต้นปี ค.ศ.1813 ต่อด้วย Mansfield Park ในปี ค.ศ.1814 และ Emma ในปี ค.ศ.1815 ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายคือในช่วงปี ค.ศ.1815-1816 เจนกำลังเขียน Persuasion ที่ไม่ทันได้พิมพ์แต่ก็เสียชีวิตไปซะก่อน ผลงานที่เหลืออีกสองชิ้นคือ Persuasion—เขียนเสร็จก่อนเสียชีวิต และ Northanger Abbey งานเก่าที่ติดเรื่องลิขสิทธิ์ จึงเป็นงานสองชิ้นสุดท้ายที่พิมพ์หลังเสียชีวิตไปแล้ว
ความทั้งน่าเศร้าและน่าดีใจคือ นึกภาพชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งในศตวรรษที่ 18 ไม่แต่งงาน เขียนหนังสือดราฟต์แรกไว้ตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ ผ่านไปสิบปีก็ยังคงเอางานเขียนนั้นกลับมาและได้พิมพ์งานเป็นนักเขียน ในแง่ความน่าเศร้าคือในตอนมีชีวิต เจน ออสเตน ไม่ได้เป็นที่รู้จักทั้งๆ ที่เธอเองนับว่ามีแฟนคลับ มีงานวิจารณ์เชิงบวก มีระดับมกุฎราชกุมารที่กลายเป็นพระเจ้าแผ่นดินคือพระเจ้าจอร์จที่ 4 อ่าน มีนักวิจารณ์ที่กลายเป็นตำนานด้านวิชาการวิจารณ์ชื่นชมงานเขียน แต่เธอนั้นรู้จักเพียงแค่ในนามว่าเป็น Lady คนหนึ่งที่เขียนงานเหล่านั้น —เพราะสมัยนั้นผู้หญิงไม่ได้รับการยอมรับและไม่พึงทำอาชีพใดๆ อย่างจริงจัง จนกระทั่งเสียชีวิตแล้ว พี่ชายถึงได้พยายามพาชื่อของเธอออกสู่สาธารณะ
แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะสุดท้าย แม่ก็คือแม่ และในวันครบรอบนี้ เราก็จะขอกลับไปเรียนวิชารักจากตำนานแห่งนวนิยายรัก งานเขียนที่แม้จะถูกนิยามว่าพาฝันน้ำเน่า แต่สุดท้ายชีวิตเรามันก็น้ำเน่า สิ่งที่ต้องการคือความแข็งแกร่งและความเข้าใจตัวเอง เพื่อที่จะเข้าความรักเข้าไปอีกสักนิด เจ็บใจน้อยลงหน่อย อกหักดีขึ้นอีกเล็กน้อย ว่าในที่สุดแล้ว เราทุกคนยังเป็นคนโง่ และคนตกหลุมรักทุกคนมักจะตกหลุมรักกันร่ำไป หรือความหวังของคนอดทนรออาจจะเป็นเรื่องจำเป็นที่เป็นการหลอกตัวเองอยู่กลายๆ และนี่คือคำแม่สอนจากนวนิยาย 6 เล่มแถมด้วยจดหมายของ เจน ออสเตน เอง
“We are all fools in love.”
— Pride and Prejudice
คนที่รู้จักความรัก ไม่กล้าบอกว่าตนเก่งเรื่องรัก
“I may have lost my heart, but not my self-control.”
— Pride and Prejudice
ตกหลุมรัก ไม่หัวปักหัวปำ
“Know your own happiness. You want nothing but patience—or give it a more fascinating name, call it hope.”
— Sense and Sensibility
ปลายทางของเรื่องรักคือความสมหวัง แต่นั่นคือแผนสุดท้ายของเรื่อง ความรักคือการอดทนและการรอคอย เรียกมันอย่างสวยงามว่าความหวัง และอยู่กับมันจนกว่าจะถึงวันสุดท้าย
“She was one of those, who, having, once begun, would be always in love.”
— Emma
เธอก็เป็นใช่ไหม ตกหลุมรักไปแล้ว ก็จะรักอยู่ร่ำไป
“If I loved you less, I might be able to talk about it more.”
— Emma
ยิ่งรักมาก ยิ่งพูดยาก
“There are as many forms of love as there are moments in time.”
— Mansfield Park
ที่ว่ารัก ก็รัก แต่ที่ว่ารักนั้นมีหลายรูปลักษณ์ เหมือนกับช่วงเวลาที่ล้วนเฉพาะตัว
“Friendship is certainly the finest balm for the pangs of disappointed love.”
— Northanger Abbey
เป็นอีกสัจธรรม เมื่อเพื่อนช้ำรัก ก็มีเพื่อนด้วยกันที่คอยเยียวยาหัวใจ
“It is not time or opportunity that is to determine intimacy;—it is disposition alone. Seven years would be insufficient to make some people acquainted with each other, and seven days are more than enough for others.”
— Sense and Sensibility
ความรักบางครั้งไม่ใช่เรื่องของเวลา แต่เป็นเรื่องของหัวใจ เจ็ดปีมีค่าเท่าเจ็ดวัน จะยาวนานหรือแสนสั้น รักก็คือรัก ไม่รักก็คือไม่รัก
“To you I shall say, as I have often said before, do not be in a hurry, the right man will come at last.”
— Jane Austen’s Letters
สุดท้ายแล้ว แม่สอนอย่างเข้าใจ ความรักเป็นเรื่องที่เร่งร้อนไม่ได้ จังหวะ โอกาสและคนที่ใช่ จะมาได้ในท้ายที่สุด ระหว่างรอ จงเรียกมันว่าความหวัง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Manitan Boonyong