เราตกหลุมรักได้ตั้งแต่วินาทีที่ 5
ระยะเวลาเฉลี่ยที่จะตกหลุมรักอยู่ราวที่ 2 สัปดาห์ – 2 เดือน
นั่นคือเรื่องที่วิทยาศาสตร์และสถิติบอก
ทว่าเรื่องความรัก เรื่องหัวใจ เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน และหัวใจมันก็บางเบาแค่นั้นเอง การตกหลุมรักเป็นอีกหนึ่งอาการที่จะว่าดีก็ดี เป็นความนุ่มฟูของจิตใจ แต่บางทีคุยๆ ไปจนรู้สึกตัวอีกทีก็ว่า เอ้า เราตกหลุมรักเขาไปอีกแล้ว บางตำราพิชัยสงครามก็บอกไว้ว่า ถ้าเรารักใครไปก่อน เราเองก็อาจจะเป็นคนแพ้ก็ได้ เพราะความสัมพันธ์นั้นอาจจะยังไม่มีอะไร แต่ปลายทางของการตกหลุมรัก คือหัวใจของเราที่เอาลงไปเจ็บอีกแล้ว
คุณเป็นคนหนึ่งรึเปล่าที่ไปๆ มาๆ ก็ตกหลุมรักใครไปซะง่ายๆ คุยๆ ไปไม่นาน ความชอบพอ การรอตอบแชต และการเฝ้ารอจะได้คุยกับคนคนนั้นอีกครั้งก็กลายเป็นกิจวัตรไปอีกแล้ว ในด้านหนึ่ง การสานสัมพันธ์ของคนเรามีหลายสไตล์ ถึงเราจะค่อยๆ รักษาระยะห่าง ค่อยๆ สานสัมพันธ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่สุดท้ายถึงจะวางระยะไว้แค่ไหน หัวใจมันก็เผลอรักเขาไปอีกแล้ว รักทีก็เสี่ยงที รักง่ายก็เจ็บง่ายเนอะ พร้อมๆ กันนี้คนที่รักคนง่ายก็ดูจะเป็นคนที่สดใส รู้สึกโลกนี้มีสีสัน บางวันก็สีชมพู แต่วันไหนอีกฝ่ายเริ่มตอบแชตช้า หรือโดนเท โลกก็จะกลายเป็นสีเทา และทำให้เราต้องหันหน้าหาเพื่อนฝูงให้ช่วยดามใจ
อาการตกหลุมรักง่ายเกินไปดูจะเป็นอาการธรรมดา เพลงแจ๊สก็มีเพลงชื่อ I Fall In Love Too Easily จากทศวรรษ 1940 ที่กลายเป็นเพลงแจ๊สมาตราฐาน เนื้อเพลงจากยุคคนเหงาในบาร์เหล้ากลางแสงไฟ ดูจะคล้ายกับเพลงของ D2B ที่พูดถึงหัวใจที่ไม่ได้รับการฝึกฝน ไม่ได้ไปโรงเรียน เลยเที่ยวตกหลุมรักใครไปทั่ว เจ็บแล้วก็ไม่จำ เจ้าอาการรักคนง่ายนี้จึงเป็นประเด็นทางความสัมพันธ์ มีนิยามที่เรียกว่า ‘Emophilia’ หรือการตกหลุมรักง่ายและเร็วจนเกินไป โดยการตกหลุมรักที่ง่ายนี้อาจเป็นความเสี่ยงในความสัมพันธ์อยู่บ้าง เช่น เป็นสัญญาณของการนิยามตนเองเข้ากับคนอื่น และอาจนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ไวเกินไป หรืออาจเจ็บเองจากความรักที่ไม่สมหวัง
ตกหลุมรักขึ้นไม่ไหว
ต้องออกตัวก่อนว่าการตกหลุมรักไม่ใช่เรื่องผิด และหลายครั้งก็ไม่ใช่เรื่องที่จะห้ามกันได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่แค่เขาพิมพ์มาว่า “สวัสดี” หรือดูสตอรี่เราแล้วก็คิดไปถึงการเตรียมขอหมั้น เป็นพวกเจอเนื้อคู่ได้ในทุก 5 นาที หรือคุณอาจเป็นพวกที่สานสัมพันธ์อย่างมีชั้นใจ ทว่าหัวใจดันไม่ฟังก็ตาม การตกหลุมรักเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกใจฟูกับชีวิต แต่ในขณะเดียวกันก็น่าหวาดหวั่นกับความผิดหวังที่อาจมาถึง
การตกหลุมรักนอกจากจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ หลายครั้งยังเป็นเรื่องของปฏิกิริยา โดยเฉพาะการหลั่งสารต่างๆ ในสมอง เมื่อเราตกหลุมรัก หรืออยู่ในห้วงรัก สมองจะหลั่งสารแห่งความสุข เช่น โดปามีน ออกซิโทซิน และเอ็นดอร์ฟินออกมา ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกนุ่มฟู ใจฟู มองไปทางไหนก็มีแต่ความสุข ดังนั้นการตกหลุมรักจึงเป็นเรื่องของสารเคมีในสมองด้วย หลายครั้งเราถึงได้ตกหลุมรักไปทั้งๆ ที่ไม่รู้ตัว จนต้องกลับมานั่งคุยกับตัวเองว่า เรารักเขาเข้าอีกแล้วเหรอ ในทางกลับกันวงจรของสารเคมีเหล่านี้ก็อาจนำไปสู่ความรู้สึกเสพติดได้ ทำให้เราอาจเสพติดการตกหลุมรักหรืออยู่ในห้วงรัก
ทีนี้อาการตกหลุมรักง่ายและไวจนเกินไปก็มีคำเรียกคือ Emophilia พอเป็นคำศัพท์ขึ้นมาก็อาจจะต้องเข้าใจว่า มันใช้อธิบายถึงคนที่มีอาการสุดโต่งมากๆ รักมาก รักง่าย พอรักแล้วก็ทุ่มสุดตัวไม่เผื่อใจ และพออยู่ในห้วงรัก อาการต่อเนื่องอย่างความรู้สึกพึ่งพาอีกฝ่าย เริ่มไม่เป็นตัวเอง เริ่มไม่มีความสุขได้ด้วยตัวเอง เริ่มรอ เริ่มคาดหวังที่อาจจะเกิดขึ้นไว และส่งผลเสียกลับมาที่สุขภาพกายใจของตัวเอง
ในเว็บไซต์ Psychology Today มีการพูดถึงภาวะรักคนง่ายและไม่เผื่อใจว่า อาจเป็นสภาวะจิตใจ หรือมุมมองต่อความสัมพันธ์ที่เราต้องระวังบ้าง โดยทางเว็บไซต์ได้เสนอข้อสังเกตตัวเองว่า เอ๊ะ เราเข้าข่ายรักคนง่ายไปไหม เช่น ดูว่าเราใช้เวลากับคู่ของเราแทบจะตลอดแม้ว่าจะเพิ่งพบกันก็ตาม หรือเราพูดคำว่ารักง่ายไปไหม เดตแรกก็สารภาพซะแล้ว และข้อนี้ก็น่าสนใจคือ ความรู้สึกรักคนง่ายอย่างลึกซึ้ง แต่ดันรักทีละหลายๆ คน ข้อสุดท้ายก็ค่อนข้างสำคัญคือ เวลาเลิกราแล้วเราฟื้นตัวช้า เจ็บนานกว่าจะกลับมาแข็งแรงสดใส
รักคนง่ายมันไม่ดีตรงไหน?
ความรักมันดีเนอะ แต่จริงๆ ในคำถามว่าแล้วรักคนง่าย (เกินไป) ไม่ดีตรงไหน ถ้าพูดอย่างทั่วๆ ไปก็จะรู้สึกเจ็บบ่อยกว่าชาวบ้าน แต่ถ้าเราเป็นแนวมีความรักแล้วโลกสดใส พอผิดหวังแล้วเรียนรู้ใหม่ ไม่นานก็กลับมาตกหลุมรักใหม่ ก็อาจจะเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่มีสีสันดีเหมือนกัน
ในหลายความเห็นเรื่องความสัมพันธ์ การรักคนง่ายและให้ใจไวอาจนำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์ได้ เช่น คนคนนั้นอาจกระโจนเข้าสู่ความสัมพันธ์เร็วเกินไป เสี่ยงต่อการเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่ไม่ดี อาจจะถูกควบคุมบงการจากการที่เราให้ใจอีกฝ่ายมากและไวเกินไป ในบางความคิดเห็นอธิบายว่า การที่เรารักคนง่าย ส่วนหนึ่งอาจมาจากการสร้างภาพของอีกฝ่ายขึ้นมา จากการที่เราเสพติด หรือมีภาพหวานของความรัก คือเราไม่ได้รักที่ตัวตน (เพราะยังไม่รู้จักกันเลย) แต่เรารักภาพจินตนาการของห้วงรัก หรือคนรักที่เราสร้างขึ้น
การตกหลุมรักง่ายเกินไป หลายครั้งก็นำไปสู่หลายปัญหา ทำให้เรามองไม่เห็นความจริง ทำให้เรากลายเป็นคนพึ่งพาคนอื่นทางความรู้สึก จากคนที่แข็งแรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง มีความสุขกับการอยู่ด้วยตัวเอง แล้วกลายเป็นคนที่เฝ้ารอ และเอาความสุขไปผูกไว้กับคนอื่น
บางความเห็นชี้ให้เห็นว่า การตกหลุมรักง่ายอาจเป็นอาการจากความรู้สึกลึกๆ ของเราได้ด้วย อ่านถึงตรงนี้แล้วอย่าเพิ่งตกใจว่าป่วย แต่มันอาจทำให้เราย้อนกลับไปสำรวจตัวเอง เพราะการที่เรารักคนอื่นง่ายๆ นั้นอาจสัมพันธ์กับความเหงา และอาจเป็นพฤติกรรมการหนีจากความจริง ซึ่งลึกๆ แล้วเราอาจขาดความมั่นใจในตัวเอง บางความเห็นก็ให้ภาพย้อนกลับคือ การที่เรากระโจนลงไปในหลุมรักอาจสัมพันธ์กับความกลัวการผูกมัด เพราะเราข้ามขั้นการเรียนรู้ข้อดี-ข้อเสียของอีกฝ่าย หนีการค่อยๆ เรียนรู้กันและเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง การตกหลุมรักจึงเป็นเหมือนทางลัดทางความรู้สึก ที่ทำให้เราไม่ต้องมองเห็นหรือเรียนรู้ความผิดหวัง
ปมเหล่านี้และการตกหลุมรัก ในที่สุดอาจเป็นอาการลิงโลดชั่วขณะ ซึ่งไม่นำไปสู่ความสัมพันธ์ และความรักที่ยืนยาวต่อไป
หยุดรักครั้งนี้ต้องทำอย่างไร?
ประเด็นสุดท้ายที่ยากแสนยากคือ การหยุดรัก แล้วจะทำอย่างไรให้เราไม่ตกหลุมรักง่ายเกินไปล่ะ? จริงๆ การบอกว่าห้ามตกหลุมรัก ฟังดูเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีเท่าไร เอาเป็นว่าถ้ารู้สึกว่าเรารักคนง่าย ให้ใจคนมากเกินไป การกลับมาทบทวนตัวเองก็เป็นเรื่องพื้นฐานทางจิตใจ การทำความเข้าใจว่า สิ่งที่เราเป็นอยู่อาจก่อให้เกิดปัญหากับตัวเราเอง เราจะเป็นทุกข์ไหม หรือเราจะตกไปสู่ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีซ้ำๆ ไหม ถ้าแบบนี้แล้วเราอาจลองค่อยๆ หาทางห้ามใจดู
ขั้นตอนการห้ามใจส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากการรับรู้ปัญหา หลังจากนั้นเราอาจค่อยๆ เผื่อใจ ค่อยๆ ปรับรูปแบบความสัมพันธ์ หรือปฏิสัมพันธ์ต่อความรัก แตะเบรกบ้าง ลองวางขอบเขตหรือเส้นแบ่งในความสัมพันธ์ ลองวางข้อควรระวังไว้ เช่น ความสัมพันธ์หรือความรู้สึกของเราเริ่มไม่ดีตรงไหน เราเริ่มหมกมุ่นไหม เราเริ่มไม่อยู่กับความจริง ไปจนถึงเริ่มไม่รักตัวเองหรือเปล่า เริ่มหงุดหงิดใส่คนอื่น ระบายอารมณ์ หรือไม่เป็นตัวเองไหม คือเอาง่ายๆ ว่าถ้าเราเริ่มไม่ชอบตัวเองจากความรู้สึก หรือจากความสัมพันธ์นั้นๆ นั่นก็อาจเป็นสัญญาณที่ทำให้เราลองค่อยๆ หดกลับความรัก หรือการพึ่งพาความรู้สึกจากคนอื่นๆ มาสู่ความเข้าใจตัวเองก่อน
ประเด็นเรื่องความรัก การบริหารความรู้สึก การบริหารการเชื่อมต่อกับอีกฝ่ายโดยไม่เสียตัวตนมากนัก และการลงทุนทางหัวใจหรือความรู้สึก พูดตามตรงคือเป็นเรื่องที่กะประมาณยาก และไม่ใช่ว่าเราควรจะไม่รักใครเลย หรือกลัวจะเจ็บปวดอย่างสมบูรณ์โดยไม่ยอมตกหลุมรัก หรือจ่ายความรู้สึกอะไรออกไป แต่การหาเส้นแบ่งที่เหมาะสม การจ่ายและรับอย่างเหมาะสม การเปลี่ยนแปลงตัวเองไปตามคนที่เรารัก หรือความสัมพันธ์กับการรักษาตัวตน ทั้งหมดนี้ถือเป็นศิลปะท่ีค่อนข้างซับซ้อน และเราเองก็อาจจะต้องค่อยๆ เรียนรู้มัน
สุดท้ายเรื่องการรักคนง่ายอาจเป็นปัญหาเล็กๆ ที่พูดกันตลกๆ หรืออาจเป็นปมที่สัมพันธ์กับความรู้สึกของเรา แต่การตกหลุมรัก โดยส่วนตัวคิดว่าก็ยังเป็นเรื่องสวยงาม การตกหลุมรักบ่อยๆ เจ็บบ่อยๆ อาจทำให้เติบโตขึ้น ย้อนกลับมารักตัวเอง และค่อยๆ กลับไปตกหลุมรักใหม่จนกว่าจะเจอความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน ก็เป็นอีกหนึ่งความสนุกของการใช้ชีวิต
เป็นเรื่องธรรมดาที่หัวใจเรามันจะเกเร หรือหันไปรักใครเสียง่ายๆ เพราะสุดท้ายเราเองที่ต้องคอยทำความรู้จักมัน การตกหลุมรักอย่างน้อยที่สุด กระบวนการอาจทำให้เรากลับมาเข้าใจหัวใจตัวเองอีกครั้ง
อ้างอิงจาก