โดยทั่วไปคนรักวรรณกรรมหรือเคยเรียนวรรณกรรมร่วมสมัยมาบ้างอาจจะรู้จัก ซัลมัน รัชดี (Salman Rushdie) ในฐานะนักเขียนที่ค่อนข้างเป็นที่รัก รัชดีคือคนที่พาเราข้ามพรมแดนระหว่างโลกของความฝันและความเป็นจริง นิทานปรัมปราและประวัติศาสตร์ที่เข้มข้นจริงจัง ทว่า ข่าวเรื่องที่รัชดีถูกจ้วงแทงบนเวทีวรรณกรรมที่นิวยอร์กนั้นก็สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก
ปมขัดแย้งของ ซัลมัน รัชดี เกิดจากนวนิยายชื่อ The Satanic Verse ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1988 ด้วยวิธีการเล่าที่รัชดีเชี่ยวชาญคือวิธีเขียนแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) เป็นการผสมผสานตำนาน เรื่องเล่าต่างๆ เข้ากับบริบทร่วมสมัยในการเล่าเรื่องผ่านวรรณกรรม กรณีของ The Satanic Verse รัชดีได้แรงบันดาลใจและมีการเล่าอ้างอิงกับชีวิตของศาสดามุฮัมมัด หลังจากหนังสือตีพิมพ์ออกไปได้เกิดกระแสต่อต้านในกลุ่มชาวมุสลิม เป็นความขัดแย้งในระดับนานาชาติและนำไปสู่ความรุนแรงในเวลาต่อมา เช่น ปากีสถานประกาศแบนหนังสือในปี ค.ศ.1988
ความขัดแย้งและความรุนแรงที่สำคัญที่สุดคือในปี ค.ศ.1989 ผู้นำสูงสุดของอิหร่านในขณะนั้นได้ประกาศคำวินิจฉัยหรือฟัตวา (Fatwa) เป็นโทษตายแก่ ซันมัน รัชดี ในตอนนั้นความขัดแย้งรุนแรงถึงขนาดอิหร่านประกาศตัดความสัมพันธ์กับอังกฤษ และรัชดีเองต้องหลบลี้ออกจากสาธารณชนและใช้ชีวิตภายใต้การคุ้มครองของรัฐบาล หนังสือเล่มนี้นับเป็นงานเขียนต้องห้ามที่นำมาซึ่งความรุนแรงและความตายของผู้เกี่ยวข้อง นักแปลผู้แปลหนังสือเป็นภาษาญี่ปุ่นถูกสังหารในปี ค.ศ.1991 โดยก่อนหน้าในปีเดียวกัน นักแปลผู้แปลออกเป็นภาษาอิตาเลียนก็ถูกแทงในบ้านที่มิลาน ในขณะที่ผู้จัดพิมพ์ที่นอร์เวย์ก็ถูกยิงที่ออสโลในปี ค.ศ.1993
รัชดีต้องอยู่ภายใต้การหลบซ่อนและการคุ้มกันเป็นเวลากว่า 13 ปี แม้ว่าผู้นำอิหร่านผู้ประกาศฟัดวาจะเสียชีวิตไปในปี ค.ศ.1989 แล้วก็ตาม ในปัจจุบัน รัชดีเองได้ประกาศยุติการหลบซ่อนตั้งแต่ปี ค.ศ.2001 โดยก่อนหน้านั้นสามปีทางอิหร่านได้มีการทบทวนฟัตวาหลายครั้ง และสุดท้ายก็ได้ประกาศให้โทษตายของรุชดีสิ้นสุดลง รัชดีกล่าวถึงช่วงวัยของตัวเองว่าตนต้องเริ่มหลบซ่อนเมื่อตอนอายุ 41 ปี กว่าจะได้ออกจากที่หลบซ่อนก็ตอนที่เขาอายุได้ 71 ปี และไม่อยากที่จะหลบซ่อนอีกต่อไปแล้ว จากในตอนนั้นรัชดีเองก็ยังอยู่ใต้การคุ้มกันอยู่แต่ก็ใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น ทว่า ความขัดแย้ง ความเกลียดชัง และความรุนแรงก็ยังคงไม่จางหายไป ยังมีการรายงานตัวเลขค่าหัวของรัชดีเช่นมีการขึ้นค่าหัวจาก 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 3.3 ล้านในปี ค.ศ.2012 และจากเหตุการณ์ล่าสุดที่รัชดีถูกจ้วงแทงที่ลำคอและลำตัวต่อหน้าสาธารณะชน รายงานล่าสุดจับผู้ต้องสงสัยได้แล้ว และมีรายงานอาการรัชดีที่ดีขึ้น ถอดเครื่องช่วยหายใจและพูดคุยได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม รัชดีถือเป็นนักเขียนร่วมสมัยที่ส่งอิทธิพลต่อวงการวรรณกรรมในระดับโลก เป็นอีกหนึ่งคนที่ทั่วโลกจับจ้องว่าน่าจะได้รับโนเบลสาขาวรรณกรรมแต่ก็ยังไม่ได้สักที งานของรัชดีโดดเด่นในแง่ของการผสมผสานเรื่องเล่าและตำนานเข้ากับบริบทร่วมสมัยหรือการเล่าเรื่องแบบสัจนิยม รัชดีถือเป็นนักเขียนดังที่แม้ว่าจะหลบซ่อนตัวแต่ก็ผลิตผลงานในฐานะนักเขียนอยู่เสมอ รัชดีเขียนนวนิยาย 12 เรื่องโดยเล่มล่าสุดตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2019 นอกจากนวนิยายยังมีงานเขียนเชิงสารคดีตั้งแต่ข้อเขียนว่าด้วยการอ่านการเขียนถึงข้อเขียนว่าด้วยชีวิตและความคิดต่อเรื่องราวในชีวิตทั่วๆ ไป ทั้งยังมีหนังสือเด็กซึ่งก็สมกับความเป็นนักเล่าเรื่องผู้พาเราไปยังโลกแห่งจินตนาการ รวมถึงได้ออกบันทึกชีวิต (memoir) เล่าถึงช่วงชีวิตหลังจากที่ต้องใช้ชีวิตในการคุ้มครองและหลบซ่อนจากสาธารชน
Midnight’s Children, 1981
Midnight’s Children เป็นนวนิยายเล่มสำคัญของวงวรรณกรรมร่วมสมัย และค่อนข้างนิยามสไตล์การเขียนของรัชดีผู้นำเอาเส้นแบ่งของเรื่องเหนือจริงกลับเข้ายอกย้อนเรื่องราวหรือประวัติศาสตร์—ในกรณีนี้คือการสร้างความเป็นชาติและการเป็นเอกราชของอินเดียได้อย่างคมคาย Midnight’s Children เล่าถึงค่ำคืนที่อินเดียประกาศเอกราชจากการอังกฤษในปี ค.ศ.1947 ในโมงยามของค่ำคืนแห่งอิสรภาพนั้นมีทารกถือกำเนิดขึ้น 581 คน และหนึ่งในนั้นได้เกิดมาพร้อมกับปาฏิหาริย์ที่ทำให้หนึ่งในทารกนั้นสามารถสื่อสารกับทารกที่ผู้เกิดร่วมเวลา (สหชาติ) เดียวกันกับตนได้ นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเล่าที่ใช้ความเหนือจริงเพื่อพูดถึงประเด็นและปมอันซับซ้อนของประวัติศาสตร์ชาติและการประกาศเอกราชจากการปกครองอันยาวของอังกฤษ ความขัดแย้งที่สัมพันธ์อย่างซับซ้อนในมิติทางวัฒนธรรม ทั้งภาษา ตัวตน และความเป็นชาติ Midnight’s Children ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1981 ชนะรางวัลวรรณกรรมสำคัญเช่น The Booker Prizes และ James Tait Black Memorial Prize และได้รับรางวัล The Booker of Bookers เป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยมที่ยอดเยี่ยมในบรรดางานเขียนรางวัลเล่มอื่น
The Satanic Verses, 1988
ผลงานสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตของรัชดี The Satanic Verses เป็นนวนิยายลำดับที่สี่ เขียนและเผยแพร่หลังจากที่รัชดีค่อนข้างมีชื่อเสียงแล้ว ตัวเรื่องยังคงใช้แนวการเขียนแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งและทำให้รัชดีต้องหลบซ่อนกระทั่งถูกทำร้ายในเหตุการณ์ความรุนแรงที่นิวยอร์ก งานเขียนชิ้นนี้นับว่าเป็นอีกชิ้นที่ขึ้นชื่อว่ามีความซับซ้อนและอ่านเข้าใจยาก มีการผสมผสานตำนานปรัมปราเข้ากับชีวประวัติ ใช้การเล่าเรื่องที่ซับซ้อนระหว่างความจริงและความฝัน โดยตัวนวนิยายเองก็ได้รับการรับรู้ในเวทีวรรณกรรม เข้ารอบสุดท้าย The Booker Prizes ในปี ค.ศ.1988 ปีที่ตีพิมพ์ และได้รับรางวัลนวนิยายแห่งปีจาก Whitbread Award ในปีเดียวกัน
The Ground Beneath Her Feet, 1999
The Ground Beneath Her Feet เป็นนวนิยายลำดับที่หก ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1999 นวนิยายเล่มนี้เป็นอีกเล่มที่เท่และสะท้อนความสดใหม่สนุกสนานในการผสานเรื่องปรัมปราเข้ากับบริบทร่วมสมัยได้ ในเรื่องรัชดีใช้แกนเรื่องของออร์ฟิอัส ตัวละครจากตำนานกรีกผู้มีไลร์ (เครื่องดนตรีคล้ายพิณ) หรือดนตรีเป็นอาวุธ และเป็นผู้เดินทางไปยังยมโลกเพื่อพาคนรักของตนกลับมา ในเรื่องนี้รัชดีเปลี่ยนพิณเป็นดนตรีร็อคแอนโรล และนำเอาแกนของดนตรีร็อคอันเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ความขบถ และบรรยากาศร่วมสมัยของยุค 90s มาเล่าเป็นตำนานการไล่ตามความรักบทใหม่ที่มีโครงข่ายปกรณัมทั้งตะวันออกและตะวันตกโยงใยเข้าสู่โลกแห่งกีตาร์และลำโพง เป็นการเชื่อมโยงเวลาและพื้นที่เข้าหากันผ่านเรื่องเล่าอันไม่รู้จบ
Languages of Truth, 2021
“ก่อนจะมีหนังสือ ก่อนนั้นมีเรื่องเล่า” (“Before there were books, there were stories.”) เป็นประโยคแรกของรัชดี และแน่นอนว่าด้วยความที่รัชดีเป็นคนที่ใช้สรรพเสียงและเรื่องเล่าจากทุกห้วงของเวลาจนกลายเป็นหนึ่งในนักเขียนคนสำคัญได้ รวมบทความที่ใช้ชื่อว่า Languages of Truth จึงเป็นอีกหนึ่งงานเขียนเชิงทบทวนครุ่นคิดที่พาเราไปสำรวจประเด็นว่าด้วยการเขียน การเล่าเรื่องและเรื่อง (narrative) งานเขียนชิ้นนี้จึงนับเป็นอีกงานสำคัญที่เราได้สำรวจความคิดและการครุ่นคิดในมิติที่เกี่ยวข้องกับภาษาและวรรณกรรม ศิลปะการเล่าเรื่อง ไปจนถึงการทบทวนตัวตนและงานเขียนของตัวเองที่ลึกซึ้งและกว้างขวางครอบคลุมทั้งการเล่าเรื่อง (storytelling) วรรณกรรม ตำนานปรัมปรา ภาษา ไปจนถึงประเด็นคาบเกี่ยวพัวพัน เช่น การอพยพและการเซ็นเซอร์ งานเขียนชิ้นนี้รวมบทความและข้อเขียนที่รัชดีเขียนขั้นในช่วงปี ค.ศ.2003-2020 และตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2021
Imaginary Homelands: Essays and Criticism 1981-1991, 1991
วรรณกรรมของรัชดีมีความมหัศจรรย์เหนือจริงแต่ก็มีความเป็นการเมืองอยู่มาก ภูมิหลังของรัชดีเองก็ยิ่งเข้มข้นและมีความเป็นการเมืองไม่แพ้กัน ทั้งการเป็นคนอินเดียที่พลัดถิ่นและการเมืองในมิติทางศาสนา โดยเราอาจกล่าวได้ว่ารัชดีเองใช้วรรณกรรมเป็นเครื่องมือในการพูดถึง หรือกระทั่งทบทวนอัตลักษณ์และปมของความเป็นคนพลัดถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากอาณานิคมและการปลดแอกการเจ้าอาณานิคม
งานเขียนชิ้นจึงเป็นงานเขียนที่ค่อนข้างผสมผสานระหว่างการรวบรวมประวัติศาสตร์ เรื่องราว และความเห็นส่วนบุคคลที่มองไปยังประเด็นต่างๆ รอบตัว ตั้งแต่ประสบการณ์ที่ใช้ชีวิต พูดเรื่องหนังและวัฒนธรรมต่างๆ ในขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลในฐานะที่ตัวเองเป็นคนพลัดถิ่น (diaspora) ที่พยายามเชื่อมต่อและปะติดปะต่อเรื่องราวของตัวเองเข้ากับบ้านเกิดและอัตลักษณ์ร่วมสมัย งานเขียนชิ้นนี้จึงสัมพันธ์มิติทางวิชาการหลายแง่มุม เช่น ยุคหลังอาณานิคม (ผลกระทบที่กว้างขวางในระดับวัฒนธรรมจากการการล่าอาณานิคม) ไปจนถึงแนวคิดรุนแรง (fundamentalism) นอกจากนี้ตัวงานเขียนยังเชื่อมโยงบริบทและเรื่องราวส่วนบุคคลของรัชดีเข้ากับนวนิยายที่ถูกเขียนขึ้นด้วย
Haroun and the Sea of Stories, 1990
ด้วยความเป็นเจ้าพ่อนิทาน เรื่องเล่า และตำนาน จริงๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่นักเขียนผู้ผลิตงานอันเข้มข้น บางเล่มขึ้นหิ้งและขึ้นชื่อ ทั้งความซับซ้อนและหนักแน่นในการวิพากษ์วิจารณ์โลกความจริง แต่นักเขียนรุ่นใหญ่เหล่านี้หลายท่านก็ได้เขียนงานที่น่ารักประเภทหนังสือเด็กเอาไว้ด้วย และนี่คือหนึ่งในสองเล่มที่รัชดีเขียน โดย Haroun and the Sea of Stories เป็นนวนิยายสำหรับเด็กที่นับเป็นผลงานลำดับที่ 5 ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1990 ต่อจาก The Satanic Verses
หนังสือเล่มนี้เขียนเล่าเป็นเหมือนนิทานเชิงเปรียบเทียบ เล่าถึงเมืองอันโศกเศร้าและผุพังจนหลงลืมกระทั่งนามของตัวเอง รัชดีกล่าวว่านวนิยายสำหรับเด็กเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อลูกชายที่ต้องพลัดพรากกัน ซึ่งนิทานนี้เองก็เป็นนิทานแบบที่เด็กอ่านได้ แต่รัชดีได้ซ่อนประเด็นร่วมสมัยต่างๆ ของอินเดียเอาไว้ รวมถึงได้พูดประเด็นสำคัญเนื่องจากการหลบลี้จากการถูกหมายหัว ประเด็นสำคัญของเรื่องจึงอยู่ที่การเซ็นเซอร์ มีการใช้ชื่อหรือความเปรียบต่างๆ เพื่อสื่อถึงประเด็นที่มีความซับซ้อนและสุ่มเสี่ยงเช่นชื่อตัวละครต่างๆ มีนัยถึงการเงียบเสียงหรือถ้อยคำ
Joseph Anton: A Memoir, 2012
ด้วยชีวิตที่ผกผันไม่ต่างกับนวนิยายที่ตนเขียน รวมถึงความอดทนในการเอาชีวิตรอดและหลบซ่อนจากการถูกสังหารและความรุนแรง Joseph Anton: A Memoir เป็นงานเขียนประเภทบันทึก (memoir) ที่ซัลมัน รัชดีเขียนบันทึกและถ่ายทอดชีวิตของตัวเองนับตั้งแต่วันที่ถูกฟัตวาหมายเอาชีวิต งานเขียนชิ้นนี้จึงมีลักษณะเป็นอัตชีวิตประวัติที่รัชดีให้ภาพตั้งแต่วันแรกของการถูกหมายหัว การใช้ชีวิตภายใต้การคุ้มกัน ไปจนถึงการเล่าเรื่องราวชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก การเผชิญหน้ากับพ่อที่ติดแอลกอฮอล์ ไปจนถึงเรื่องราวส่วนบุคคลเช่นความสัมพันธ์กับเพื่อนนักเขียน การแต่งงานและการเลิกราทั้งสี่ครั้ง ชื่อเรื่องเป็นการรวมชื่อนักเขียนที่รัชดีชื่นชอบโจเซฟ คอนราด (Joseph Conrad) และอันตอน เชคอฟ (Anton Chekhov) รัชดีเลือกที่จะเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านตัวละครสมมติคือ โจเซฟ แอนตัน และเล่าด้วยสรรพนามบุคคลที่ 3 คือไม่เชิงว่าเขียนเป็นบันทึกความทรงจำหรืออัตชีวประวัติ แต่ยังคงใช้องค์ประกอบของเรื่องเล่าและนวนิยายมาเล่าชีวิตตัวเองด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก