คิมจียอง เกิดปี 82 เขียนโดย โชนัมจู (조남주) ในปี ค.ศ.2016 มียอดขายถล่มทลายในประเทศเกาหลี เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง และถูกแปลในหลายภาษา รวมถึงภาษาไทย โดย ตรองสิริ ทองคำใส (เมื่อเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.2018) ผู้แปลได้ใช้การแปลเป็นภาษาไทยที่เข้าใจง่าย และยังมีการอธิบายคำเฉพาะหรือคำที่มีนัยสำคัญทางวัฒนธรรมเกาหลี หลังจากได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนเป็นกระแสในสังคมเกาหลี วรรณกรรมเล่มนี้ได้ถูกนำไปสร้างภาพยนตร์ที่มีพระเอกดังระดับเมะสตาร์เกาหลีอย่าง ‘กงยู’ เป็นนักแสดงนำอีกด้วย
หนังสือได้บอกเล่าเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของเพศหญิง ผ่านตัวละครหญิงในเรื่อง โดยกล่าวถึงชีวิตของ ‘คิมจียอง’ และครอบครัว รวมถึงคนรอบข้าง ตัวละครหญิงในเรื่องเป็นเพศหญิงที่เกิดและโตในประเทศเกาหลี มีสถานภาพทางสังคมที่แตกต่างกันออกไป เป็นแม่ เป็นพี่สาว เป็นน้องสาว เป็นเพื่อนสาว เป็นคู่รัก เป็นภรรยา เป็นเพื่อนร่วมงาน หนังสือเล่มนี้ (และเชื่อว่าจะปรากฏในภาพยนตร์ด้วย) ได้บอกเล่าการถูกกดทับของค่านิยม ‘นิยมชาย’ ในสังคมเกาหลีที่ยังรับใช้ค่านิยมหลักในชีวิตประจำวัน สะท้อนผ่านช่วงชีวิตตั้งแต่ก่อนเธอเกิดจนเธอให้กำเนิดลูกสาว ตลอดชีวิตในแต่ละช่วงเล่าให้เห็นถึงความได้เปรียบที่เป็นไปอย่างธรรมชาติของเพศชาย และความเข้าใจพร้อมยอมรับชะตาชีวิตที่เกิดมาเป็นผู้หญิงเกาหลีของสังคม
“…ปกติฉันไม่รับลูกค้าคนแรกเป็นผู้หญิงหรอก แต่พอเห็นหนูก็รู้เลยว่าจะไปสัมภาษณ์งาน ฉันเลยช่วยรับเอาบุญ…” เป็นคำพูดในหนังสือ คิมจียอง เกิดปี 82 (แปลโดย ตรองสิริ ทองคำใส) ที่ลุงคนขับแท็กซี่พูดกับคิมจียอง ประโยคนี้ไม่เป็นเพียงแค่ถ้อยคำกดทับความเป็นหญิงแต่ยังสะท้อนค่านิยมของชาวเกาหลีที่มีต่อผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ด้วย
แต่ทำไมการรับลูกค้าคนแรกที่เป็นผู้หญิงถึงเป็นเรื่องที่ไม่เป็นมงคล จากหนังสือ ฮันกุกอินเน ซาฮเวจ็อก ซ็องกย็อก (한국인의 사회적 성격, ค.ศ.1994) แปลเป็นไทยได้ว่า ‘ลักษณะสังคมของชาวเกาหลี’ เขียนไว้ว่า “…หากร่วมกิจการกับผู้หญิงถือว่าซวย หากมีผู้หญิงเข้าไปในบ้านผู้ชายตั้งแต่เช้าจะทำให้ว่าซวยไปทั้งวัน หากเป็นลูกค้าคนแรกที่เข้ามาในวันแรกของเดือนมกราคมจะทำให้ซวยไปทั้งปี หากตอนเช้าแท็กซี่รับลูกค้าคนแรกเป็นผู้หญิงจะทำให้ซวย หากผู้หญิงนั่งฝั่งขับรถในตอนเช้าจะทำให้ซวย หากมีลูกค้าคนแรกของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ตามปฏิทินจันทรคติเป็นผู้หญิงจะถือว่าซวย หากผู้หญิงเห็นลูกกระต่ายหรือลูกหมูที่เพิ่งเกิดก่อนผู้อื่นจะทำให้ซวย หากผู้หญิงร้องไห้ตอนเช้าหรือตอนค่ำจะทำให้ซวย หากผู้ชายเดินอยู่แล้วมีผู้หญิงตัดหน้าจะทำให้ซวย ถ้าผู้หญิงเข้าไปในที่ก่อสร้างถือว่าซวย หากเห็นผู้หญิงในฝันถือว่าซวย หากผู้หญิงจับไหล่ผู้ชายถือว่าซวย เป็นต้น”
ทำไมผู้หญิงเท่ากับความซวย ไม่เป็นมงคล โชคร้าย ทั้งๆ ที่ผู้ให้กำเนิดชีวิตก็เป็นผู้หญิง
ในสังคมในสมัยโบราณหรือสมัยที่ยังมีการสมสู่อย่างสำส่อน (กุหลาบ สายประดิษฐ์, พ.ศ.2524) ก่อนที่จะมีวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว สถานะผู้หญิงยังเป็นใหญ่ในสังคม หรือก็คือการนับญาติหรือการสืบสายตระกูลจะนับจากฝ่ายหญิงเนื่องจากไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อที่แท้จริง แต่รู้ว่าใครเป็นแม่นั่นเอง อีกทั้งเมื่อมีการสมรสแบบผัวเดียวเมียเดียวทำให้สถานะของผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัวเพราะเข้าถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่า
ในเกาหลีเช่นกัน ก่อนที่แนวคิดจากลัทธิขงจื๊อจะเข้ายึดพื้นที่ฝังรากลึกเป็นวัฒนธรรมหลัก สถานภาพผู้หญิงยังไม่ตกต่ำ และมีสิทธิเท่าเทียมไม่ค่อยต่างจากผู้ชาย แต่โครงสร้างทางสังคมชนชั้นได้บีบอัดคนชั้นล่างให้ลำบากเท่านั้นเอง อย่างเช่นในสมัยอาณาจักรชิลลามีวรรณะกระดูกเพื่อกำหนดตำแหน่งหน้าที่ทางสังคม โดยวรรณะกระดูก (골품제) นี้ให้ความหมายว่าอาณาจักรชิลลามีความเหลื่อมล้ำ-ไม่เท่าเทียม อำนาจในการปกครองเป็นของคนชนชั้นสูงเท่านั้น เกิดมาอย่างไรก็จะมีชนชั้นนั้นติดตัวไปตลอดชีวิต ลำดับกระดูก (골품제) แยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ กระดูกศักดิ์สิทธิ์ (성골) และกระดูกแท้ (진골) หมายถึงกลุ่มกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ และกลุ่มที่สอง จะแบ่งเป็นอีกหกระดับ เรียกว่า ทูพุม (두품) ระดับที่ 1 ถือว่าต่ำที่สุดในวรรณะสังคม ระดับที่ 6 เรียกว่า ทึกนัน (특난) ระดับ 1-3 ไม่สามารถเข้ารับราชการเป็นขุนนางได้ ระบบวรรณะนี้สืบทอดทางสายเลือด หากเกิดมาในวรรณะใดต้องคงสถานะนั้นไปตลอดชีพ แต่ต่อมามีการเปลี่ยนผ่านทางการปกครอง และล้มเลิกการใช้วรรณะกระดูกไปในที่สุด จนมาถึงอาณาจักรโชซ็อนที่ยึดเอาขงจื๊อใหม่เป็นอุดมการณ์รัฐ ทำให้หลักคำสอนของขงจื๊อกลายเป็นรากฐานของวัฒนธรรม และค่านิยมที่ถูกเชื่อว่าดีงามในสังคมเกาหลี ซึ่งขงจื๊อใหม่ไม่ได้มีชุดความคิดที่เหยียดผู้หญิงตรงๆ ก็จริง แต่เป็นชุดความคิดที่เปิดโอกาสให้ผู้ชายมีบทบาทมากกว่า ได้รับสิทธิมากกว่าหรือสำคัญกว่าผู้หญิงนั่นเอง (วีรญา กังวานเจิดสุข, 2562)
มากกว่าการนิยมชาย การดูถูกผู้หญิงไปจนถึงการมองผู้หญิงเป็น ‘โชคร้าย’ นั้นก็ดูไม่เป็นธรรมเอาซะเลย จากหนังสือที่กล่าวถึงเรื่องความซวยหากผู้หญิงทำอะไรต่างๆ ยิ่งตอกย้ำว่าเกาหลีเป็นสังคมชายเป็นใหญ่แถมผู้หญิงเท่ากับความซวย
จากข้อความเดียวที่ยกมาพูดถึงจากวรรณกรรมร่วมสมัย คิมจียอง เกิดปี 82 ได้บอกเล่าสถานภาพผู้หญิง และนิยมชายในสังคมเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความไม่เท่าเทียมระหว่างชายและหญิง ซึ่งประกอบกับสถานการณ์บ้านเมืองเกาหลีที่มีข่าวเรื่องผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผู้หญิงถูกเอาเปรียบ นำมาสู่การออกมาเรียกร้องด้วย #metoo (운동) จนในเกาหลีเองก็มีกระแสตีกลับและเรี่ยรายเงินเพื่อสร้างผลงานที่ชื่อว่า คิมจีฮุนที่ เกิดปี 1992 (1992년생 김지훈) ที่บอกเล่าความเป็นชายในบริบทสังคม 10 ปีให้หลังจากปีที่คิมจียองเกิด บอกเล่าความไม่เท่าเทียมที่ผู้ชายต้องพบเจอ และมี #youtoo และบทความทางอินเทอร์เน็ตบอกเล่าในฝั่งของชองแดฮยอน (สามีของคิมจียอง) แต่ไม่ได้เป็นที่พูดถึงมากนักในสังคม
การที่มีวรรณกรรมร่วมสมัยจากเกาหลีแปลเป็นภาษาไทยถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ในวงการนักอ่านไทยเป็นอย่างมาก แม้การแปลจากเกาหลีมาเป็นไทยอาจมีการลดทอนอรรถรสทางภาษาบางอย่าง แต่ใจความสำคัญยังสามารถสะท้อนเรื่องราวต่างๆ ของสังคมเกาหลีได้ และเป็นแหล่งความรู้ให้กับคนไทยที่สนใจเกี่ยวกับเกาหลีและสังคมเกาหลี นอกจากเปิดมิติการเรียนรู้สังคมเกาหลีผ่านวรรณกรรมเล่มนี้แล้ว วรรณกรรม คิมจียอง เกิดปี 82 ยังเป็นวรรณกรรมสายสตรีนิยมที่สร้างแรงขับเคลื่อนบางอย่างให้กับสังคมเกาหลีและสังคมโลกอีกด้วย
แท้จริงแล้วความต้องการความเท่าเทียมทางเพศ คงไม่ต้องมี #metoo หรือ #youtoo แต่เราอาจจะต้องนิยามสังคมขึ้นมาใหม่โดยเดินมาคนละครึ่งทางเพราะเราต่างต้องการความเท่าเทียมที่ไม่ต้องการให้ใครเสียหรือได้อะไรไปมากเกิน
อ้างอิงข้อมูลจาก
กุหลาบ สายประดิษฐ์ (2524). กำเนิดครอบครัวของมนุษยชาติ ระเบียบสังคมของมนุษย์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ก่อไผ่.
โชนัมจู (2561). คิมจียอง เกิดปี 82. (ตรองสิริ ทองคำใส, ผู้แปล). กรุงเทพฯ : เอิร์นเนส พับลิชชิ่ง.
วีรญา กังวานเจิดสุข(2562). เอกสารคำสอนวิชา KS334 สังคมและวัฒนธรรมเกาหลี. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
최재석.(1994). 한국인의 사회적 성격. 서울: 현음사.