“มู กุง ฮวา โก จี พี อ็อต โซ รี ดา…” นี่คงเป็นประโยคฮิตติดหูหลายคนในช่วงนี้ ซึ่งมาจากซีรีส์เกาหลี Squid Game หลังจาก Netflix ได้ปล่อยซีรีส์เรื่องนี้ออกมา ก็ได้รับการตอบรับจากคนดูล้นหลาม เห็นได้จากการทำสถิติติดอันดับ 1 ใน 94 ประเทศ และทำลายสถิติซีรีส์ที่มีคนดูเกิน 100 ล้านบัญชีหลังปล่อยมาได้ไม่ถึง 28 วัน ซึ่งถือเป็นซีรีส์เรื่องแรกของ Netflix ที่สร้างปรากฎการณ์นี้ได้
นอกจากกระแสที่เป็นที่พูดถึงทั่วโลกแล้ว Squid Game ยังสร้างเอฟเฟกต์มาถึงวงการอื่นด้วย เพราะตอนนี้หลายที่ต่างจับกระแสซีรีส์ดังผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายมากมาย ไม่ต้องมองที่ไหนไกล ล่าสุด Netflix ได้ร่วมกับ Walmart เตรียมผลิตสินค้าที่มาจากซีรีส์ที่ได้รับความนิยมบนแพลตฟอร์มอย่าง Squid Game และ Stranger Things แล้ว
หากมองย้อนกลับมาที่ต้นทางอย่างเกาหลี ก็น่าสนใจว่าการส่งออกคอนเทนต์ลง Netflix ในฐานะผู้สร้างคอนเทนต์ร่วมนั้นสร้างเม็ดเงินกลับเข้าประเทศได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร
ในขณะที่ Squid Game รันฉายในแพลตฟอร์มอยู่ และยังไม่มีสรุปตัวเลขรายได้ของซีรีส์เรื่องนี้ออกมาอย่างเป็นทางการ The MATTER พามาสำรวจตัวเลขเม็ดเงินที่เกาหลีได้จากการร่วมสร้างคอนเทนต์ลงแพลตฟอร์ม Netflix ซึ่งเป็นการจัดทำผลสำรวจระหว่าง Netflix กับ Deloitte ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016-2020
สิ่งที่น่าสนใจจากรายงานฉบับนี้ก็คือ การผลิตคอนเทนต์บันเทิงลงแพลตฟอร์มไม่เพียงสร้างรายได้กลับมาหาทีมสร้างซีรีส์เท่านั้น แต่ส่งต่อมาถึงการเติบโตของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี อุตสาหกรรมอื่นๆ หรือแม้กระทั่งอัตราจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจเหล่านั้น จนส่งผลมาถึงภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศเลยทีเดียว มาดูกันว่า นับตั้งแต่เกาหลีเริ่มส่งออกคอนเทนต์ลง Netflix ได้สร้างเม็ดเงินกลับมาเข้ามาในประเทศได้เท่าไหร่บ้าง
นอกจากนี้ รายละเอียดการเติบโตและการจ้างงานของแต่ละหน่วยธุรกิจมีอัตราส่วน ดังนี้
กิจการทีมผู้สร้างและกระจายคอนเทนต์ (ภาพยนตร์ ซีรีส์และรายการบันเทิง งานอนิเมชัน)
ทำรายได้หนุน GDP คิดเป็นเงินประมาณ 2.7 ล้านล้านวอน
เกิดการจ้างงานเฉลี่ย 6,000 คน
ธุรกิจสื่อบันเทิงสร้างสรรค์อื่นๆ (สิ่งพิมพ์/เว็บตูนและการ์ตูน/ดนตรี)
ทำรายได้หนุน GDP คิดเป็นเงินประมาณ 1 แสนล้านวอน
เกิดการจ้างงานเฉลี่ย 400 คน
ธุรกิจอื่นๆ (ท่องเที่ยว/อาหาร/เครื่องสำอางและความงาม/แฟชั่น)
ทำรายได้หนุน GDP คิดเป็นเงินประมาณ 2.7 ล้านล้านวอน
เกิดการจ้างงานเฉลี่ย 10,000 คน
สำหรับกลุ่มธุรกิจบันเทิงสร้างสรรค์อื่นๆ ถือว่าได้รับเอฟเฟกต์จากซีรีส์และภาพยนตร์ที่ฉายบน Netflix พอสมควร เพราะผู้ชมจำนวน 42% ตามมาเสพคอนเทนต์อื่นหลังจากได้ชมภาพยนตร์หรือซีรีส์นั่นเอง คิดเป็น
- เว็บตูน 25% โดยซีรีส์ 3 อันดับแรกที่คนตามมาอ่าน ได้แก่
- Sweet Home
- The Uncanny Counter
- Itaewon Class
- วรรณกรรม 11% โดยซีรีส์ 3 อันดับแรกที่คนตามมาอ่าน ได้แก่
- Kingdom
- Stranger
- Train to Busan
- เพลง 23% โดย OST ที่ส่งออกตีตลาดเพลงญี่ปุ่นและติดชาร์ต Oricon ได้แก่
- Hospital Playlist
- Itaewon Class
- Crash Landing On You
นอกจากนี้ การกระจาย K-content ไปทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์ม Netflix ยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตหนัง ซีรีส์ และธุรกิจบันเทิงสร้างสรรค์ตามมาด้วย โดยธุรกิจเหล่านั้นมีอัตราการเติบโตภายใน 5 ปี ดังนี้
ท่องเที่ยว 51%
อาหาร 221%
ความงาม 150%
แฟชัน 210%
ที่สำคัญ เมื่อพิจารณาเฉพาะปี ค.ศ. 2020 พบว่าทำรายได้เข้าประเทศหนุน GDP ประมาณ 2.3 ล้านล้านวอน และเกิดการจ้างงานเฉลี่ย 5,000 กว่าตำแหน่ง อีกทั้งยังได้รับเงินลงทุนจาก Netflix มาแล้วเป็นจำนวนเงินกว่าเจ็ดแสนล้านวอน และในปีนี้ก็มีแผนว่า Netflix ลงทุนสร้าง K-content ลงแพลตฟอร์มอีกประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์ฯ
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเพราะเกาหลีผลิตและส่งออกคอนเทนต์ประเภทต่างๆ เผยแพร่ผ่าน Netflix ไปทั่วโลกมากถึง 80 รายการ ภายในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยเน้นนำเสนอประเด็นที่เป็นที่พูดถึงกันในระดับสากล ผสมผสานการถ่ายทอดและนำเสนอเรื่องราวตามแบบฉบับของเกาหลีที่ทำให้ครองใจผู้ชม อันส่งผลมาสู่การเสพตัววัฒนธรรมหรือสตอรี่จากคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มสตรีมมิงในรูปแบบอื่น เช่น อาหาร ของกิน เสื้อผ้า เพลง การ์ตูน หรือนิยาย และอีกมากมาย
อ้างอิงข้อมูลจาก
Socio-economic Impact of Netflix Korea by Deloitte