ปกติแล้วความเข้าใจของคนเรา (หรืออย่างน้อยที่สุดก็ตัวผู้เขียนเอง) ต่อทีเซอร์ (Teaser) และเทรลเลอร์ (Trailer) คือ ทีเซอร์เป็นเหมือนตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ พอเรียกน้ำย่อย เช่น ถ้าเป็นทีเซอร์ของภาพยนตร์ก็อาจจะยาวเพียง 30 วินาที มีภาพตัวละครนิดๆ หน่อย หรือบางทีมีแค่โลโก้หนังเท่านั้น ส่วนเทรลเลอร์หนังมักยาวราว 2.30 นาที ดูแล้วจะเข้าใจมากขึ้นถึงเนื้อเรื่อง ซึ่งรูปแบบของทีเซอร์หรือเทรลเลอร์ของมิวสิกวิดีโอเพลงก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่อาจไม่ใช่เสมอไปสำหรับวงการเคป๊อป
ผู้เขียนเริ่มรู้สึก ‘เอ๊ะๆ’ กับประเด็นนี้ในช่วงต้นปี 2020 กับเพลง FIESTA ของวง IZ*ONE เมื่อพบว่าสิ่งที่อยู่ในเทรลเลอร์กลับไม่ปรากฏอยู่ในมิวสิกวิดีโอตัวจริงแม้แต่นิดเดียว ไม่ว่าจะภาพหรือเพลงก็ตาม แต่พออ่านดีๆ ตัวเทรลเลอร์เนี่ยเขาเขียนว่าเป็น Concept Trailer ดังนั้นมันไม่ใช่เทรลเลอร์ของตัวเอ็มวีไง แต่เป็นเทรลเลอร์ของอัลบั้ม BLOOM*IZ ที่มีคอนเซ็ปต์ว่าด้วยดอกไม้
ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในเทรนด์ของเคป๊อปในช่วงหลังๆ ที่ก่อนจะปล่อยมิวสิกวิดีโอไม่ได้มีแค่ทีเซอร์หรือเทรลเลอร์แล้ว แต่มีพวก concept film หรือ prologue ต่างๆ ออกมามากมายจนงงไปหมด และหลายครั้งผู้กำกับวิดีโอพวกนี้กับเอ็มวีเพลงก็เป็นคนละคน/คนละทีมกันด้วยซ้ำ เรียกได้ว่ามีอะไรให้ดูเยอะขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น ศิลปินทำงานหนักขึ้น (เพราะต้องถ่ายวิดีโอหลายตัว) แต่ที่แน่ๆ คืองงกว่าเดิม เพราะสรุปว่าวิดีโอใดๆ ที่ปล่อยออกมาก่อนเพลงตัวจริงเนี่ยอาจไม่ได้บอกทิศทางนะว่าเพลงนั้นมันเป็นอย่างไร
ผู้เขียนยิ่งรู้สึกว่าเทรนด์ของภาพโปรโมต / ทีเซอร์ / เทรลเลอร์ / เพลง-เอ็มวีตัวจริง ออกมาคนละทิศคนละทางหรือเดาทางได้ยากจะพบได้มากขึ้นๆ ในปี 2022 ยกตัวอย่างจากเพลงดังแห่งปี After LIKE ของวง IVE ภาพนิ่งที่ออกมาชุดแรกๆ เป็นธีมซัมเมอร์สดใส น้องๆ ใส่ชุดขาวท่ามกลางทุ่งหญ้าเขียวขจี ก็ฟันธงเลยว่าเพลงนี้ออกช่วงเดือนสิงหาคมหรือฤดูร้อนของเกาหลี ดังนั้นเพลงมันจะต้องออกมาแนวใสๆ ซาบซ่าหัวใจแน่นอน
แต่ปรากฏว่าภาพนิ่งชุดต่อมากลับเป็นเมมเบอร์วง IVE ใส่ชุดกลิตเตอร์วิบวับ เล่นเอางงไปเลยว่า เฮ้ย ตกลงเพลงนี้นี่มันแนวไหนกันแน่! และสรุปว่าเพลง After LIKE ก็ออกมาเป็นเพลงดิสโก้เถิดเทิงสุดๆ (ขนาดว่ามีการ sample เพลง I Will Survive ด้วย) นั่นทำให้ผู้เขียนรู้สึกโดน ‘แกง’ อยู่ไม่น้อย เพราะเพลงก่อนหน้าของ IVE ก็เป็นเพลงอิเล็กทรอนิกเป็นส่วนใหญ่ นึกว่าเขาจะลองมาทำเพลงที่ไปในโทนน่ารักบ้าง (ให้คุณผู้อ่านลองเปิดเพลง After LIKE พร้อมลองดูภาพน้องๆ ในคอนเซ็ปต์ซัมเมอร์ที่ปล่อยมาอันแรกดูครับ จะได้ความรู้สึกที่ตลกมาก)
หลังจากวง IVE แล้ว ผู้เขียนก็รู้สึกโดนแกงและปั่นหัวต่อจากวง LE SSERAFIM กับซิงเกิ้ล ANTIFRAGILE ที่ปล่อยภาพมา 3 แบบด้วยชื่อคอนเซ็ปต์สุดอลังการแบบ Frozen Aquamarine, Iridescent Opal และ Midnight Onyx (นี่มันอะไรกัน!) ได้งงอีกแล้วว่าตกลงเธอจะไปทางไหนกันแน่คะ จะสวยเป็นเจ้าหญิงน้ำแข็งแบบ Frozen, จะแต่งหรูไปงานพรอม หรือจะเป็นวัยรุ่นออกไปกล้าไปซ่าส์กับชีวิต
ซึ่งภาพนิ่งที่มีหลายแบบ (และไปคนละทางสุดๆ) แบบนี้ยังความสัมพันธ์กับการตลาดด้วย เพราะวงเคป๊อปมักขายซีดีกันหลายปก ตัว booklet ข้างในจะเป็นคอนเซ็ปต์ภาพที่ต่างกันไป ในแง่หนึ่งแฟนคลับก็อาจซื้อตามภาพที่ตัวเองชอบหรือบางคนตัดใจไม่ได้ก็ต้องเหมามันทุกแบบ แต่ถ้ามองอีกแง่มันก็ทำให้เห็นว่าไม่ว่าจะพวก concept film หรือภาพนิ่งต่างๆ ที่หลากหลาย มันก็เหมือนเป็น ‘งาน’ (หรือศิลปะ -ถ้าเรียกให้ดูดี) อีกประเภทที่แตกแขนงออกมาจากตัวเพลง ให้ผู้ชมได้เสพ ได้ชื่นชม ได้สะสมกันได้
อย่างไรก็ดี LE SSERAFIM ไม่ได้แกงผู้เขียนแค่ภาพโปรโมตเท่านั้น แต่ตัวภาพเคลื่อนไหวก็เช่นกัน จากสองซิงเกิ้ลที่ปล่อยออกมา วงจะปล่อยเทรลเลอร์ของอีกเพลงที่เป็น ‘เพลงอินโทร’ ของอัลบั้มนั้นๆ ก่อน กล่าวคือเทรลเลอร์ The World Is My Oyster ปล่อยออกมาก่อนเพลง FEARLESS (ซึ่งเป็นเพลงหลัก) และเทรลเลอร์ The Hydra ที่ปล่อยออกมาก่อน ANTIFRAGILE (เพลงหลัก) ซึ่งปัญหาของผู้เขียนคือตัวเทรลเลอร์ที่ปล่อยออกมาก่อนมันดันดีกว่าว้าวกว่าตัวเอ็มวีเพลงหลักน่ะสิ!
อย่าง The World Is My Oyster ที่อลังการงานสร้างสุดๆ มีทั้งซิ่งมอเตอร์ไซค์ ระเบิดรถ โหนสลิง แต่เอ็มวี FEARLESS กลับออกมาเหมือนวิดีโอสอนเต้นในฟิตเนส และอีกปัญหาคือหาความเชื่อมโยงไม่ได้เท่าไร ใครช่วยอธิบายทีสิว่า ไอ้เวทีเดินแบบรถบรรทุกในเทรลเลอร์ The Hydra นี่มันเกี่ยวกับพล็อตว่าด้วยอุกกาบาตถล่มโลกในเอ็มวี ANTIFRAGILE ยังไงคะ!!
ดังนั้นผู้เขียนเลยมีความรู้สึกว่าบรรดารูปโปรโมต คอนเซ็ปต์ฟิล์ม เทรลเลอร์ใดๆ ของเคป๊อปที่ปล่อยมาก่อนเอ็มวีตัวจริง มันสร้างความเข้าใจหรือความคาดหวังในทางที่ผิดพอสมควร แต่มองย้อนอีกมุมอาจเป็นผู้เขียนเองที่เป็นคนแก่ตกยุคตามโลกไม่ทัน ยังเสพสื่อด้วยวิธีคิดแบบเดิมๆ เราอาจต้องมาพิจารณากันใหม่ว่า ตัวงานเหล่านี้ควรจะมองแบบ ‘แยกส่วน’ หรือ ‘องค์รวม’ กันแน่ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือเคป๊อปไม่ใช่แค่เรื่องเพลงอย่างเดียวอีกต่อไป (ซึ่งจริงๆ เป็นมานานแล้ว) มันประกอบด้วยสื่อหรืองานศิลปะหลากรูปแบบที่ต้องดึงความสนใจของผู้คนให้มากที่สุด โดยเฉพาะยุคสมัยที่การแข่งขันทวีความดุเดือดอย่างไม่หยุดหย่อน