เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าเพลงเคป๊อปที่ฉากหน้าอาจดูสดใสหวือหวา แต่เนื้อในอาจแฝงไปด้วยสาระหนักแน่น เช่น เนื้อหาที่พูดถึงการบูลลี่ มาตรฐานความงาม หรือความเท่าเทียมเชิงเพศสภาพ นอกจากนั้นในแง่การนำเสนอ หลายครั้งเคป๊อปช่วยให้เราได้รู้จักหรือต่อยอดไปสู่ศิลปะหรือสื่อแขนงอื่นๆ ผ่านการอ้างอิงหรือ Reference
ตัวอย่างดังเช่น อัลบั้มชุด Wings (2016) ของวง BTS ที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ Demian ของเฮอร์มานน์ เฮสเส หรือมิวสิกวิดีโอเพลง Feel My Rhythm ของ Red Velvet ที่อ้างอิงถึงงานจิตรกรรมมากมาย โดยเฉพาะภาพ The Garden of Earthly Delights ของเฮียโรนิมัส บอช
สำหรับครึ่งแรกของปี 2023 กล่าวได้ว่าเป็นปีของวงเกิร์ลกรุ๊ปอย่างแท้จริง ท็อป 5 ของชาร์ตเพลงแทบจะเป็นเพลงของวงผู้หญิงตลอดเวลา ดังนั้นเราเลยขอพาไปสำรวจว่าเพลงสุดฮิตของเหล่าสาวๆ มีการใช้ reference อะไรที่น่าสนใจบ้าง (ซึ่งแน่นอนว่าเขียนถึงทุกเพลงไม่ไหวนะจ๊ะ ชีวิตต้องเลือก)
IVE – Kitsch
แม้จะมีสถานะเป็นเพลง pre-release (ซิงเกิ้ลหลักของ IVE สำหรับอัลบั้มชุด I’VE IVE คือเพลง I AM) แต่ Kitsch ก็เป็นเพลงที่แข็งแรงและมีอะไรให้พูดถึงมากมาย อย่างสารของเพลงที่ว่าด้วยความมั่นใจ การเป็นตัวของตัวเอง อย่างที่เราเห็นข้อความในเอ็มวีว่า You’re so weird, don’t change หรือประมาณว่า “เธอนี่มันโคตรประหลาด แต่อย่าเปลี่ยนตัวเองเลยนะ”
แต่ที่ทำเอาแฟนคลับและผู้ฟังถกเถียงกันยกใหญ่ก็คือไอ้คำว่า Kitsch นี่มันคืออะไรหว่า โดยดั้งเดิมแล้ว kitsch หมายถึงงานศิลปะที่ดูเฉิ่มหรือไร้รสนิยม หากในยุคถัดมาความ kitsch บางอย่างอาจกลับกลายเป็นความเก๋หรือเทรนด์แฟชั่น (เช่น ฟอนต์สติกเกอร์ที่ติดตามรถบรรทุกหรือกระทั่งกระแส Y2K ในปี 2023) ดังนั้นเพลงนี้จึงเป็นการบิดดัดนิยามของ kitsch ให้หมายถึง “ความกิ๊บเก๋ในสไตล์ของฉันเอง” อย่างที่วอนยองให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “kitsch ในที่นี้หมายถึงอิสระ เยาว์วัย ทันสมัย อาจจะต่างจากความหมายเดิมนิดหน่อยค่ะ”
ส่วนท่อนฮุคที่ร้องว่า nineteen’s kitsch บ้างก็ตีความว่าหมายถึงศตวรรษที่ 19 ที่คำว่า kitsch เริ่มใช้กัน ส่วนอีกฝั่งคิดว่ามันหมายถึงช่วงอายุ 19 ซึ่งเป็นช่วงอายุของสมาชิก IVE รวมถึงกลุ่มแฟนคลับของวง แต่ไม่ว่าจะถอดความแบบใด ธีมของ Kitsch ก็ว่าด้วยการที่คนรุ่นใหม่สามารถนิยามความเป็นตัวเอง ตรงกับความเป็นจริงของหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันที่เลือกจะกำหนดเพศสภาพ, สรรพนาม, นิยามความงาม ฯลฯ ของตน
ในเอ็มวี Kitsch ยังมีข้อความหลังเสื้อแจ็กเก็ตที่ว่า “Books, not guns. Culture, not violence.”(เอาหนังสือ ไม่เอาปืน เลือกวัฒนธรรม ไม่เอาความรุนแรง) ซึ่งมาจากภาพยนตร์เรื่อง The Dreamers (2003) ที่เล่าบรรยากาศการประท้วงของหนุ่มสาวฝรั่งเศสในช่วงปี 1968 อย่างไรก็ดี หากดูภาพยนตร์อย่างละเอียดจะพบว่าข้อความนี้ไม่ได้ปรากฏในหนังอย่างโรแมนติกชวนฝัน หนุ่มฝรั่งเศสฝ่ายซ้ายที่พูดประโยคนี้ถูกเพื่อนชาวอเมริกันตอกกลับว่าเขาเป็นเพียงพวก ‘ซ้ายเบียว’ ถ้าแน่จริงเขาต้องออกไปประท้วงที่ถนน มากกว่าจะมาพล่ามคำพูดสวยหรูพร้อมจิบไวน์ราคาแพง
LE SSERAFIM – UNFORGIVEN
เอาเข้าจริงแล้ว คอนเซ็ปต์ของเคป๊อปก็จะวนไปวนมา ธีมอย่างฮัลโลวีน แวมไพร์ ชุดนักเรียน ชุดทหาร จะถูกใช้ซ้ำอยู่เรื่อยๆ รวมถึงธีม ‘คาวบอย’ ด้วย (เช่น เอ็มวีเพลง MAMACITA ของ SUPER JUNIOR หรือ DUMDi DUMDi โดย (G)I-DLE) หากแต่เพลง UNFORGIVEN ของ LE SSERAFIMก็หยิบยกคอนเซ็ปต์ของคาวบอยมาใช้อย่างชาญฉลาด ในแง่ทำนองเพลงเป็นการร่วมงานกับโปรดิวเซอร์ระดับตำนานอย่าง ไนล์ ร็อดเจอร์ส มีการแต่งเนื้อเพลงใหม่ จากทำนองเดิม (sampling) ของเพลงธีมของหนังคาวบอยขึ้นหิ้งอย่าง The Good, the Bad and the Ugly (1966) ที่ประพันธ์โดยเอนนิโอ มอร์ริโคเน ผู้ล่วงลับ
The Good, the Bad and the Ugly เป็นหนังคาวบอยตามขนบว่าด้วยคาวบอยมาดแมน การดวลปืน การล่าสมบัติ และเป็นหนังที่ทำให้ คลินต์ อีสต์วู้ด กลายเป็นดาราดัง หากแต่ในปี 1992 อีสต์วู้ดก็กำกับและนำแสดงในหนังเรื่อง Unforgiven อันเป็นหนังคาวบอยที่ ‘โคตรจะไม่คาวบอย’ เพราะมันว่าด้วยคาวบอยวัยชราที่ต้องจำใจทำงานล่าค่าหัวอีกครั้งเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว
UNFORGIVEN ของ LE SSERAFIM อ้างอิงถึงลักษณะ anti-genre หรือต่อต้านขนบในหนังเรื่องที่ว่า ทั้งในแง่เพลงของวงที่ไม่ค่อยเหมือนกับมาตรฐานเพลงเคป๊อปที่เราคุ้นชิน (เป็นมาตั้งแต่ซิงเกิ้ลก่อนหน้าอย่าง ANTIFRAGILE) และในแง่เนื้อหาที่ว่าด้วยการเป็นขบถ ไม่ยอมอยู่ในกรอบ โดยต้นเพลงประกาศกร้าวว่า “ฉันคือนังตัวร้าย ฉันจะถูกจดจำในฐานะยุคสมัยใหม่” ส่วนท่อนฮุคมีเนื้อหาชวนคนฟัง ไม่ว่าจะชายหญิง ให้ ‘ข้ามเส้น’ ไปสู่อีกดินแดนหนึ่งโดยไม่ต้องคิดถึงการได้รับการอภัย (forgiven) เพราะเราไม่ได้ทำผิดอะไร
เพลงบีไซด์สุดเฟียสอย่าง Eve, Psyche & The Bluebeard’s wife ก็มีสารคล้ายๆ กับเพลง UNFORGIVEN ด้วยท่อนที่ร้องซ้ำไปมา “ฉันปรารถนาในสิ่งที่ต้องห้าม” แต่จะมีความเป็นเฟมินิสต์กว่า ชื่อเพลงนั้นอ้างอิงเหล่าผู้หญิงที่ต้องซวยเพราะความสงสัยใคร่รู้ ไล่ตั้งแต่อีฟที่กินผลไม้ต้องห้ามในสวนเอเดน, ไซคี เทพปกรณัมกรีกที่เผลอเปิดหีบบรรจุความงาม หรือภรรยาของชายเคราน้ำเงินในนิทานพื้นบ้านฝรั่งเศสที่ดันไปเปิดห้องลับใต้ดิน เพลงนี้จึงพูดถึงการละเมิดข้อห้ามของหญิงสาว และเธอก็รู้สึกใจเต้นตูมตามเมื่อได้ทำสิ่งนั้น
(G)I-DLE – Queencard
ช่วงปี 2022 จนถึง 2023 (G)I-DLE ยังคงเน้นเพลงที่มีเนื้อหาว่าด้วยมาตรความงามที่กดทับผู้คนในสังคมเกาหลี เพลงดังอย่าง TOMBOY คือการเสนอภาพผู้หญิงที่ไม่ยอมอยู่ในกรอบที่กำหนดโดยเพศชาย ส่วนเพลง pre-release อย่าง Allergy ว่าด้วยหญิงสาวที่ไม่มีมั่นใจในรูปลักษณ์ตัวเอง รู้สึกว่าด้อยกว่าเพื่อน และคอยเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนในโลกโซเชียล ซึ่งเพลงนี้น่าสนใจตรงเนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่ร้องว่า “ฉันก็อยากจะเต้นเพลง Hype Boy แต่พอออกจอแล้วกลายเป็น TOMBOY” แน่นอนว่าหมายถึงเพลงดังของวง NewJeans แม้จะไม่ถึงขั้นการดิส (diss) แบบวัฒนธรรมฮิปฮอปและดูจะเป็นการหยอกน่ารักๆ แต่การกล่าวถึงศิลปินคนอื่นเป็นสิ่งที่พบไม่บ่อยนักในวงการเคป๊อป
ส่วนซิงเกิ้ลหลักอย่าง Queencard (ซึ่งสามารถทำ Perfect All-Kill หรือขึ้นอันดับหนึ่งทุกชาร์ต ได้ไปเมื่อต้นมิถุนายน 2023) มีเนื้อหาต่อเนื่องจาก Allergy นางเอกเอ็มวีตัดสินใจทำศัลยกรรมใบหน้า แต่แล้วตอนจบเธอกลับเดินออกจากคลินิกกลางคัน ก้าวไปตามถนนหนทางอย่างมั่นใจ ด้วยใบหน้าเดิม ด้วยตัวตนแท้จริงของเธอเอง ซึ่งผู้ชมบางส่วนอาจมองว่า เอ๊ะ บทสรุปของเพลงมันง่ายไปหรือเปล่านะ
คำตอบคือทาง (G)I-DLE ตั้งใจให้มันเป็นแบบนั้น หัวหน้าวงอย่างโซยอนให้สัมภาษณ์ว่าเพลงที่ผ่านมาของวงดูจะให้ ‘บทเรียน’ กับผู้ฟังมากไปหน่อย มาคราวนี้เลยอยากทำเพลงแบบสนุกๆ บ้าง และแรงบันดาลใจของเธอคือภาพยนตร์อเมริกันเรื่อง I Feel Pretty (2018) ว่าด้วยสาวร่างท้วมที่ไม่มีความมั่นใจเอาเสียเลย วันหนึ่งเธอประสบอุบัติเหตุ ตื่นขึ้นมากลับมองเห็นตัวเองเป็นคนรูปร่างหน้าตาดี (ซึ่งเธอมโนไปเอง) แต่นั่นทำให้ชีวิตเธอดีขึ้นทั้งด้านอาชีพและความรัก ทว่าตัวหนังก็ได้รับคำวิจารณ์แง่ลบว่าเป็นการพูดถึงประเด็นสาวพลัสไซส์ที่ดูล่องลอยและเชย
แน่นอนว่าในยุคสมัยแห่งความตื่นรู้ (Woke) ทั้งหนัง I Feel Pretty และเพลง Queencard อาจถูกมองว่าเป็นงานฉาบฉวย แต่ผู้เขียนก็ชอบที่ศิลปินกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าต้นทางของเพลงมาจากหนังที่คนด่าว่าห่วย อีกทั้งยังจริงใจในแนวทางของตัวเอง ดังนั้นอาจมองว่านี่เป็นความเก๋แบบ kitsch ก็ได้