รัชศกเฮเซของประเทศญี่ปุ่นได้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้วในวันที่ 30 เมษายน ปีค.ศ. 2019 ก่อนจะก้าวเข้าสู่รัชศกเรย์วะ ซึ่งเจ้าชายนารุฮิโตะ องค์มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นจะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ในวันที่ 1 พฤษภาคม ปีค.ศ. 2019 ตามเวลาท้องถิ่น
หนึ่งในขั้นตอนสำคัญของพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ ก็คือการรับ ‘ดาบคุซานางิ’ จากสมบัติของจักรพรรดิญี่ปุ่นสู่เรื่องเล่าในวัฒนธรรมป๊อป พระแสงดาบคุซานางิ และอัญมณียาซากานิ รวมถึงพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ก่อนที่สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่จะเสด็จขึ้นประทับบนพระราชบัลลังก์ดอกเบญจมาศ เป็นสัญลักษณ์แห่งการเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นโดยสมบูรณ์
ซึ่งงานพิธีบางส่วนของการสละพระราชสมบัติของจักรพรรดิญี่ปุ่น และพิธีการขึ้นครองราชย์ นั้นจะถูกถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ของประเทศญี่ปุ่นด้วย แต่สิ่งที่เราจะมาพูดถึงกันในครั้งนี้จะโฟกัสไปถึงเรื่องราวของ ‘ดาบคุซานางิ’ ที่มักจะได้รับการหยิบจับมาบอกเล่าในวัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่น
ว่าด้วยตำนานของดาบคุซานางิ
ก่อนที่เราจะเสวนากันว่าวัฒนธรรมป๊อป ปรับเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับดาบคุซานางิไปอย่างไรบ้าง เราควรจะกลับไปพูดถึงตำนานตัวตนของดาบเล่มนี้โดยสังเขปกันก่อน
เรื่องเล่าของดาบคุซานางิในตำนานเทพปกรณัมญี่ปุ่นปรากฏขึ้นครั้งแรกใน โคจิกิ บันทึกตำนานการสร้างโลกตามความเชื่อของญี่ปุ่น แต่จะขอรวบรัดตัดตอนไปยังการเดินทางของ สุซาโนโอะ (Susanoo) เทพเจ้าแห่งพายุ น้องชายของ อามะเทราสึ (Amaterasu) เทวีแห่งดวงตะวัน และ สึคุโยมิ (Tsukuyomi) เทพแห่งจันทรา หลังจากถูกขับไล่ออกจากแดนสวรรค์เนื่องจากก่อเหตุวุ่นวายเอาไว้ สุซาโนโอะ จึงออกเดินทางไปยังแคว้นอิสึโมะ (Izumo) และได้พบกับ เทพแห่งพื้นพิภพ (หรือ Kunitsukami) ชาย-หญิง ที่กำลังโศกเศร้าเสียใจกับการที่ตนเองจะต้องบูชายัญลูกสาวของพวกตนให้กับ งูยักษ์แปดหัวแปดหาง ยามาตะ โนะ โอโรจิ (Yamata No Orochi) มาตลอดเจ็ดปี และในปีที่แปดนี้ เทพทั้งสองก็เหลือลูกสาวเพียงคนเดียว นั่นก็คือ คุชินาดะ ฮิเมะ (Kushinada Hime)
ด้วยความห้าวหาญ สุซาโนโอะ จึงวางแผนกับเทพแห่งพื้นพิภพให้สร้างกำแพงยาวและมีการสร้างประตู 8 บานคั่นอยู่ และมีการวางถังเหล้าสาเกอยู่ด้านในของประตูแต่ละบาน ซึ่งเมื่องูยักษ์ 8 หัว เดินทางมา แต่ละหัวก็ต่างมุดเข้าไปดื่มกินเหล้าสาเกจนครบถ้วนแล้วก็ผล็อยหลับไป จึงกลายเป็นโอกาสดีของสุซาโนโอะ ที่จะใช้ดาบโทซึกะ (Totsuka-no-Tsurugi) แต่บางตำราก็เรียกดาบดังกล่าวว่า ดาบอาเมะโนะฮะบะคิริ (Ame-no-Habakiri), ดาบโอโรจิ โนะ อาระมะสะ (Worochi-no-Aramasa) หรือ ดาบฟุทสึชิมิทามะ (Futsushimitama-no-tsurugi)
ระหว่างที่ไล่ฟันยามาตะโนะโอโรจิ ดาบโทซึกะ ก็เกิดบิ่นจนใช้งานไม่ได้ และเมื่อทะลวงเข้าไปในร่างของงูยักษ์ ก็พบว่ามีดาบฝังอยู่ สุซาโนโอะจึงได้เก็บดาบนี้มาตั้งชื่อว่า ดาบอาเมะโนะมุราคุโมะ (Ame-no-Murakumo-no-Tsurugi) ที่ภายหลัง สุซาโนโอะนำเอาดาบนี้ไปถวายให้กับ อามะเทระสึ เพื่อเป็นการไถ่โทษในเหตุการณ์ในอดีต และ เทวีก็ยอมรับดาบนี้
เวลาผ่านไปเมื่อ เทวีอามะเทระสึ ต้องการให้หลานชาย นินิกิ โนะ มิโคะโตะ (Ninigi-no-Mikoto) หรือ อาเมะ นิกิชิ คุนิ นิกิชิ อามะสึฮิโกะ ฮิโกะ โฮะ โนะ นินิกิ โนะ มิโคโตะ (Ame-nigishi-kuni-nigishi-amatsuhiko-hiko-ho-no-ninigi-no-Mikoto) เดินทางไปเพาะปลูกข้าวยังพื้นโลก เทวีก็ได้มอบ ดาบอาเมะโนะมุราคุโมะ กระจกยาตะ (Yata No Kagami) และ ยาซากะนิโนะมากะทามะ หรือ หยกยาซากะนิ (Yasakani No Magatama) และของวิเศษทั้งสามขั้น ก็ได้กลายมาเป็น เครื่องราชกกุธภัณฑ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่นนับแต่บัดนั้น
มาถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะงงว่ายังไม่เห็นมี ‘ดาบคุซานางิ’ เลย นั่นก็เพราะชื่อนี้ของดาบถูกตั้งขึ้นทีหลัง ตามตำนานที่กล่าวว่าในรัชสมัยของจักรพรรดิเคย์โกะ จักรพรรดิองค์ที่สิบสองของญี่ปุ่น พระองค์ทรงมีพระโอรสฝาแฝด ที่ทรงตั้งชื่อให้ว่า เจ้าชายโอสุ หรือ โอสุ โนะ มิโคโตะ (Osu No Mikoto) แต่ฝาแฝดองค์น้องได้ทำการสังหารฝาแฝดองค์พี่ ทำให้จักรพรรดิ์เคย์โกะเลี่ยงที่จะเกี่ยวข้องกับพระโอรสองค์นี้ แม้ว่าเจ้าชายโอสุจะสร้างชื่อด้วยการจัดการศัตรูไปไม่น้อย จนได้รับชื่อฉายาว่า ยามาโตะ ทาเครุ (Yamato Takeru) หรือที่แปลว่า ผู้กล้าแห่งยามาโตะ ซึ่งสุดท้ายจักรพรรดิเคย์โกะก็ถ่ายทอดราชโองการให้ เจ้าชายยามาโตะ ทาเครุ เดินทางไปจัดการผู้แข็งขืนต่อจักรพรรดิทางทิศตะวันออกของแผ่นดิน
ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจที่เหมือนถูกพระบิดาส่งให้ไปเสี่ยงตาย เจ้าชายยามาโตะ ทาเครุ ได้เข้าไปเสวนากับ เจ้าหญิงยามาโตะ (Yamito Hime) ผู้เป็นมิโกะของเทวีอามะเทระสึในแคว้นอิเสะ ซึ่งเจ้าหญิงมิโกะได้ให้เจ้าชายหยิบยืม ดาบอาเมะโนะมุราคาโมะ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และในการต่อสู้ ครั้งหนึ่งทัพของศัตรูได้เผาทุ่งหญ้าที่อยู่ล้อมรอบตัวเจ้าชายยามาโตะ ทาเครุ เจ้าชายผู้กล้าได้จับดาบวิเศษแล้วกวัดแกว่งดาบแล้วค้นพบว่า ดาบดังกล่าวควบคุมสายลมได้ จนเจ้าชายใช้อำนาจวิเศษของดาบพัดเปลวเพลิงและทุ่งหญ้าที่อยู่โดยรอบจนได้รับชัยชนะ
หลังจากศึกนี้ เจ้าชายยามาโตะ ทาเครุ ก็ได้ตั้งชื่อดาบนี้ใหม่ว่า ‘ดาบตัดหญ้า’ หรือ ‘ดาบคุซานางิ’ (Kusanagi-no-Tsurugi) และชื่อนี้ก็กลายเป็นชื่อสามัญที่หลายคนคุ้นเคยจนถึงยุคปัจจุบัน ภายหลังเจ้าชายยามาโตะ ทาเครุ ได้เสียชีวิตไปในศึกอื่น เพราะเจ้าชายไม่ได้นำดาบวิเศษนี้ไปใช้งาน ตัวดาบจึงถูกเก็บไว้ในศาลเจ้า
เรื่องราวของดาบปรากฏขึ้นอีกครั้งใน ตำนานเฮย์เกะ หรือ เฮย์เกะโมโนกาตาริ (Heikemonogatari) ที่กล่าวว่า พระอัยกีของจักรพรรดิอันโทคุ จับตัวหลานชาย (หรือตัวจักรพรรดิ) กับ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เพื่อโยนลงทะเล โชคดีที่กระจกยาตะนั้นถูกพบก่อนจะถูกโยนลงทะเล ส่วนตัว ยาซากะนิโนะมากะทามะ เชื่อกันว่าสามารถเก็บกลับคืนมาได้เพราะกล่องที่ใส่มากะทามะได้ลอยกลับมาเกยตื้น ส่วน ดาบคุซานางิ นั้นตามเรื่องเล่ากล่าวว่า ดาบได้ลอยกลับมาสู่ฝั่งเช่นกัน
แต่ด้วยธรรมเนียมการเก็บเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของญี่ปุ่นที่จะต้องคลุมผ้าไม่ให้ต้องแสงจากภายนอก ทำให้มีคนเชื่อว่าบางทีดาบเล่มจริงอาจจะหายสาบสูญไปนานแล้ว อย่างไรก็ตาม เครื่องราชกกุธภัณฑ์ของญี่ปุ่น ก็ยังถูกใช้ในงานพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิญี่ปุ่นทุกพระองค์ แต่ตามปกติแล้ว กระจกยาตะ จะถูกเก็บไว้ที่ศาลเจ้าอิเสะ จังหวัดมิเอะ ส่วน ยาซากะนิโนะ กับ ดาบคุซานางิ จะเก็บไว้ที่ศาลเจ้าอัตสึตะ ในเมืองนาโงย่า จังหวัดไอจิ
ทั้งนี้ถึงจะใช้คำว่า ดาบ แต่ลักษณะของ ดาบคุซานางิ นั้นจะไม่ได้เป็นดาบคาตานะ (Katana) หรือดาบญี่ปุ่นที่ชาวโลกคุ้นตา แต่ทรงดาบจะเป็นดาบโบราณในสมัยอดีตช่วงก่อนคริสศตวรรษอยู่หลายขุมทีเดียว ด้วยเหตุนี้เมื่อดาบคุซานางิถูกแปรสภาพการบอกเล่าในวัฒนธรรมป๊อป ทำให้หลายๆ ครั้ง การบอกเล่านั้นก็อาจจะไม่อยู่ในรูปลักษณ์เดิมตามเรื่องเล่ามากนัก
แปรสภาพมาอยู่ในเกมแนว RPG
สื่อบันเทิงจากวัฒนธรรมป๊อปที่เราสามารถพบเจอ ดาบคุซานางิ ได้บ่อยๆ ก็คงจะไม่พ้นกับ การปรากฏตัวในวิดีโอเกมหลายๆ เกม ที่เราจะเห็นได้บ่อยๆ ก็คือ เกม RPG ไม่ว่าจะ Final Fantasy, Valkyrie Profile, Tales Of ฯลฯ และโดยส่วนใหญ่เกมเหล่านี้ก็จะตีความว่าเป็นดาบคาตานะระดับสูงที่มักจะมาพร้อมทักษะพิเศษ หลายเกมก็จะใช้ชื่อดาบว่า ดาบคุซานางิ กันตรงๆ แต่บางเกมก็อาจจะย้อนกลับไปใช้ชื่อ ดาบอาเมะโนะมุราคุโมะ บ้างเหมือนกัน
แปรสภาพมาอยู่ในเกมแนว Action
นอกจากจะอยู่ในเกม RPG หรือเกมภาษาแล้ว เกมอีกแนวหนึ่งที่พบเห็นดาบคุซานางิได้บ่อยก็คือเกมแนวแอคชั่น ไม่ว่าจะเป็นแอคชั่นฟันแหลกอย่าง Sengoku Musou ก็มีดาบคุซานางิเป็นอาวุธที่แรงที่สุดสำหรับตัวละครบางตัว หรือในเกม Nier ก็มีดาบคุซานางิเป็นอาวุธให้ใช้งานเช่นกัน
ถ้าเอาเกมแอคชั่นที่ตัวดาบมีความเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องนิดหน่อยก็คือเกม Okami ที่ในเกม ตัวเทพหมาป่าจะสามารถใช้งานดาบคุซานางิ (ในฉบับภาษาอังกฤษของเกมจะใช้ชื่อ Blade Of Kusanagi) และ ดาบอาเมะโนะมุราคุโมะ (ในฉบับภาษาอังกฤษของเกมจะใช้ชื่อ Thunder Edge) ซึ่งตัวเกมทั้งเกมนั้นเป็นการบิดเอาตำนานโคจิกิมาเล่าใหม่ให้สีสันสวยงามและมีความเป็นเกมมากขึ้นนั่นเอง
จริงๆ ยังมีอีกหลายเกมที่อ้างอิงดาบนี้ไปใช้เป็นอาวุธ แต่เราคิดว่าจะขอพูดถึงการแปรสภาพไปเข้ากับท้องเรื่องมากขึ้นในหัวข้อต่อๆ ไป
แปรสภาพมากลายเป็นพลังวิเศษในซีรีส์ King Of Fighters
ถึงจะเป็นเกมต่อสู้ที่เหมือนจะเอะอะต่อย เอะอะเตะ แต่ความจริงแล้ว เนื้อเรื่องของเกม King Of Fighters เป็นการตีความให้เกี่ยวพันกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของญี่ปุ่น และ ยามาตะ โนะ โอโรจิ สังเกตง่ายๆ จากการที่ตัวเดินเรื่องหลังของเกมนี้ คือ ‘คุซานางิ เคียว’ ที่ตั้งนามสกุลตามดาบคุซานางินั่นเอง
ส่วนท้องเรื่องของเกมนี้ได้ตีความ โอโรจิ ในตำนานโบราณนั้น ไม่ได้เป็นงูแต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีพลังเหนือธรรมชาติ และเป็นผู้นำของนักรบอีกแปดคน จนเมื่อราวเกือบสองพันปี โอโรจิ ตามท้องเรื่องนี้เกิดความไม่พึงพอใจมนุษย์ที่ไม่ดูแลธรรมชาติ เลยต้องการที่จะกวาดล้างพื้นพิภพ จนกระทั่ง มีนักรบของตระกูลคุซานางิ ตระกูลยาตะ และตระกูลยาซาคานิ ใช้พลังพิเศษจากสมบัติลับสามชิ้น (หรือเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของญี่ปุ่นในโลกแห่งความจริง) มากำราบพลังของโอโรจิ และผนึกสิ่งมีชีวิตที่มีพลังเหนือธรรมชาตินี้ได้สำเร็จ
เรื่องราวในเกมดำเนินต่อไปว่า ตระกูลทั้งสามต่างฝึกฝนทายาทให้เตรียมรับมือการคืนชีพของโอโรจิ จนกระทั่งตระกูลยาซาคานิเกิดความระหองระแหงกันกับตระกูลคุซานางิ ทำให้ผู้นำตระกูลยาซาคานิ ยอมทำสัญญาเลือดเพื่อแลกกับวิชาลับ Ya Otome (แปดอนงค์) ทำให้คนในตระกูลต้องคำสาปมีเปลวไฟสีน้ำเงินม่วง ทายาทเสียชีวิตเร็ว และหญิงสาวในตระกูลจะต้องตายจากการคลอดบุตร และจากจุดนี้ตระกูลยาซาคานิ ก็เปลี่ยนนามสกุลของตระกูลมาเป็น ยางามิ แทน
ด้วยเหตุที่เนื้อเรื่องถูกระบุไว้ตามนี้ ทำให้ตัวละครหลักของเกมอย่าง คุซานางิ เคียว มีความเป็นอริกับ ยางามิ อิโอริ จนต้องมาเคลียร์กันในสังเวียน King Of Fighters อยู่บ่อยๆ แต่ในทางกลับกัน ตัวละครสองตัวนี้ รวมกับ คากุระ จิซึรุ หรือ ยาตะ จิซึรุ ก็ร่วมมือกันผนึก โอโรจิ ในเกมมาสองสามครั้งแล้ว
แปรสภาพมาเป็นดาบจริง และ ดาบจักระ ในเรื่อง Naruto นินจาคาถาโอ้โฮเฮะ
ถึงการ์ตูนเรื่อง นินจาคาถาโอ้โฮเฮะ จะมีการใช้เวทมนตร์หวือหวา แต่หลายๆ อย่างในเรื่องก็เป็นการอ้างอิงตำนานพื้นบ้านอยู่ไม่น้อย และนั่นทำให้ในเรื่องนี้มีดาบคุซานางิปรากฏอยู่ในเรื่องถึงสามเล่ม สองรูปแบบ
ดาบคุซานางิ มีดาบเล่มจริงสองเล่ม เล่มหนึ่งคือดาบประจำตัวของ อุจิวะ ซาซึเกะ ที่ใช้งานตั้งแต่ช่วงกลางเรื่องไปจนถึงท้ายเรื่อง ตัวดาบเป็นดาบธรรมดาไม่ได้ความพิเศษใดๆ แต่ซาสึเกะสามารถใช้วิชาของตัวเองเสริมให้ดาบของตัวเองมีประสิทธิภาพขึ้นได้ อย่างการใช้พันปักษาเคลือบตัวดาบจนทำให้มีความคมชวนให้คิดถึงดาบเลเซอร์
ดาบจริงอีกเล่มคือ ดาบของโอโรจิมารุ ที่มีความชวนสับสนต่อคนดูมังงะและคนอ่านอนิเมะเล็กๆ ตรงที่ตัวดาบในฉบับมังงะจะเป็นทรงดาบคาตานะญี่ปุ่น ส่วนในอนิเมะจะดีไซน์มาเป็นกระบี่จีน แต่ความพิเศษของดาบนั้นไม่ต่างกันมากนัก นอกจากที่โอโรจิมารุจะสามารถล้วงดาบมาจากปากของตัวเอง หรือปากของงู แล้วก็สามารถควบคุมดาบให้เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ตัวดาบยังมีพลังสะกดคาถาวิชานินจาอื่นในระดับหนึ่ง
ดาบเล่มสุดท้ายที่เกี่ยวพันกับ ดาบคุซานางิในจักรวาลนารุโตะ ก็คือ ดาบโทสึกะ ที่เกิดขึ้นจากการใช้วิชาเทพวายุ (หรือ สุซาโนโอะ) ของอุจิวะ อิทาจิ จริงๆ ตัวดาบน่าจะไม่เกี่ยวกับดาบคุซานางิตามท้องเรื่องมากนัก หาก โอโรจิมารุ ที่เป็นหนึ่งตัวละครสำคัญของการ์ตูนเรื่องนี้ระบุว่า ดาบโทซึกะ หรือ ดาบสะบันเมรัย ถือว่าเป็นดาบสะกดและนับเป็นดาบคุซานางิเล่มหนึ่ง ส่งผลให้ในการ์ตูนนินจาจอมคาถาเรื่องเดียว มีดาบคุซานางิโผล่มาถึงสามเล่มนั่นเอง
แปรสภาพเป็นยานอวกาศใน Gundam SEED
อันนี้ถือว่าเป็นการแปรสภาพที่สนุกสนานอีกแบบหนึ่ง เพราะใน Mobile Suit Gundam SEED นั้นมีมหาอำนาจฟากหนึ่งที่เรียกว่า ออร์บ (Orb) ซึ่งตามท้องเรื่องระบุว่าเป็นชาติที่ประกอบไปด้วยหมู่เกาะ กับ โคโลนีในห้วงอวกาศอีกหลายแห่ง ซึ่งแม้ว่าจะมีพื้นที่ไม่มากนัก แต่ก็เป็นชาติที่พัฒนาทางเทคโนโลยีอยู่ไม่น้อย และยังได้รับอิทธิพลจากตำนานเทพปกรณัมของญี่ปุ่นอยู่มาก จนทำให้เวลาผลิตยานรบ หุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยี มีการตั้งชื่อโดยอิงจากตำนานดังกล่าว
ในกรณีนี้เราขอพูดถึงยานอวกาศที่ในเรื่อง ออร์บ ได้ผลิตยานรบชั้นอิซุโมะ และตั้งชื่อยานอวกาศลำหนึ่งที่ใช้ในเป็นหัวหอกในการออกศึกว่า ‘คุซานางิ’ ให้สอดคล้องกับตำนานและชื่อของชั้นเรือด้วยนั่นเอง
แปรสภาพมาเป็นอาวุธรูปทรงมนุษย์ ในซีรีส์ BlazBlue
ก่อนอื่นใดต้องขอออกปากว่า BlazBlue เป็นซีรีส์ที่มีความซับซ้อนทางเนื้อเรื่องค่อนข้างสูงจนชวนปวดหัว อันเป็นผลพวงมาจากการตำนานเทพของญี่ปุ่นมายำรวมกับแนวเรื่องแบบไซไฟ แล้วก็ผูกเข้ากับเรื่องการย้อนเวลาไปมาอย่างซับซ้อน แต่ในเรื่องนี้ก็มีอาวุธสำคัญที่ระบุว่าเป็น ‘ดาบคุซานางิ’ อยู่ในท้องเรื่องอยู่เช่นกัน
ด้วละครกลุ่มหนึ่งในเกมนั้นเป็น อาวุธที่มีชีวิตที่ถูกเรียกว่า อาร์คเอเนมีส์ (Arch-Enemies) ที่ถูกสร้างเพื่อต่อกรกับสัตว์ประหลาดดำ (Black Beast) และมีอาวุธกลุ่มหนึ่งที่ถูกเรียกแยกย่อยว่า มุราคุโมะยูนิต (Murakumo Unit) ประกอบ Lambda-11, Mu-12 และ Nu-13 ในกลุ่มนี้ Mu-12 มีชื่อฉายาว่า ดาบสังหารเทพคุซานางิ
ที่แตกต่างไปจากตำนานของดาบต้นฉบับที่กล่าวว่าดาบเล่มนี้กลายเป็นของที่ เทพสุซาโนโอะ ใช้สักการะ เทวีสุริยาอามะเทราสึ ตัว Mu-12 ที่เป็นดาบคุซานางิของเกม BlazBlue กลับถูกสร้างมาเพื่อกำจัดอาวุธอีกชนิดที่ชื่อว่า อามาเทราสึยูนิต (Amaterasu Unit) เสียแบบนั้น
เนื่องจากเรื่องราวของซีรีส์ยังดำเนินอยู่จึงยากที่จะบอกได้ว่าความร้ายกาจของเธอนั้นอยู่ในระดับไหน เพราะการเดินเรื่องต่อไปในอนาคตก็อาจจะแต่งเรื่องให้เธอเก่งขึ้นกว่าเดิมหรืออาจจะไม่มีบทบาทใดกว่าตอนนี้ก็ได้เช่นกัน
แปรสภาพเป็นหุ่นยนต์ยักษ์ใน Kannaduki No Miko
การ์ตูนอีกเรื่องที่ตีความเรื่องการปราบโอโรจิให้แปลกแหวกแนวไปอีกทางก็คือ Kannaduki No Miko หรือที่ใช้ชื่อภาษาไทยว่า คนทรงหุ่นเทวะ ตัวเรื่องตีความว่า โอโรจิ ในเรื่องนั้นเป็นเทพเจ้าที่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้โลกนี้กลายเป็นความมืดและความว่างเปล่า ด้วยการส่งนักรบทั้งแปดขับหุ่นไปทำลายล้างโลก และอาวุธที่สามารถต้านทานหุ่นของเหล่าโอโรจิได้ก็คือ หุ่นที่ชื่อว่า อาเมะโนะมุราคุโมะ เทพเจ้าแห่งดาบที่จะต้องใช้พลังจากมิโกะตะวันกับมิโกะจันทราในการปลุกให้ฟื้นคืนขึ้นมา
กระนั้นกว่าที่หุ่นตัวนี้จะปรากฏมาแผลงฤทธิ์ได้ก็เดินเรื่องเข้าไปท้ายเรื่องเข้าไปแล้ว และปมที่ไม่สามารถเรียกใช้งานได้มาจากความสัมพันธ์ของมิโกะตะวันและมิโกะจันทราในชาติภพก่อนนั่นเอง แต่สุดท้ายหุ่นเทวะตนนี้ก็สามารถปกป้องโลกเอาไว้ได้นั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.prachachat.net
www.posttoday.com
japanesemythology.wordpress.com
eos.kokugakuin.ac.jp