ชามเคลือบสีละมุน จานลายลูกไม้หวานละไม—ถ้าใครชอบเดินดูของใน selected shop, flea market หรืองานบ้านและสวนแฟร์ น่าจะคุ้นหน้าคุ้นตากับเซรามิกแวร์ที่ทั้งน่ารักและใช้งานได้จริงจาก ละมุนละไม. สตูดิโอเซรามิกที่เกิดจากความรักและความหลงใหลในการปั้นดินของไหม—ณพกมล อัครพงศ์ไพศาลและหนาม—นล เนตรพรหม
ทั้งคู่ร่วมกันก่อร่างสร้างแบรนด์นี้ขึ้นมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งไหมและหนามเน้นเรียนด้านเซรามิกและทำธีสิสจบเป็นเซรามิกเหมือนกัน หลังเรียนจบ สตูดิโอละมุนละไม.จึงลงหลักปักฐานบนดาดฟ้าแห่งหนึ่งใจกลางย่านสีลมอันจอแจ และขยันผลิตผลงานแฮนด์เมดคอลเล็กชั่นต่างๆ ออกมาสม่ำเสมอ เปิดเวิร์กช็อปสอนทำเซรามิกให้กับผู้สนใจ รวมทั้งดีไซน์จานชามเซรามิกให้กับร้านอาหารและคาเฟ่หลายแห่ง เช่น Little Pea, Canvas
ช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.ปีก่อน ไหมและหนามได้รับเชิญให้เข้าร่วมโครงการ ‘artist in residence’ หรือ ‘ศิลปินในพำนัก’ ที่โรงงานเซรามิก Kouraku Kiln ในเมืองอาริตะ จังหวัดซาก้า ประเทศญี่ปุ่น คนที่ได้ยินชื่ออาริตะครั้งแรกอาจจะรู้สึกเฉยๆ แต่รู้ไหมว่าอาริตะคือเมืองแห่งเครื่องเคลือบดินเผาซึ่งเพิ่งจะมีอายุครบ 400 ปีไปเมื่อปีที่แล้วนี่เอง รวมทั้งเป็นต้นกำเนิดของดินขาว (porcelain) ที่ใช้กันในหมู่ศิลปินทั่วทั้งประเทศ เรียกได้ว่าเป็นแหล่งรวมความรู้และช่างฝีมือเซรามิกของญี่ปุ่นนั่นเอง
จึงเป็นที่มาของนิทรรศการ Here Comes the Sun นิทรรศการที่รวบรวมผลงานตั้งแต่ยุคแรกเริ่มจนถึงยุคปัจจุบันของละมุนละไม. เริ่มจากชั้นหนึ่งที่แสดงผลงานก่อนไปอาริตะ ตั้งแต่แท็กห้อยรูปสัตว์นานาชนิด แก้วน้ำ เซ็ตจานชามที่ทำด้วยเทคนิค pinching (การขึ้นรูปจากดินก้อนเป็นดินแผ่นโดยการนวด บีบ คลึง ปั้น) ไปจนถึง ovenware แบบต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นตัวตนของสตูดิโออย่างชัดเจนผ่านสีสันและรายละเอียดที่ทั้งคู่บรรจงแต่งเติมลงไป
“ละมุนละไม.คือความเป็นเรากับพี่หนาม” ไหมให้คำนิยาม “พี่หนามคือคนที่มีแพชชั่นเรื่องสีเคลือบ เค้ารู้ลึกเรื่องการเคลือบสีลงบนเซรามิกในแบบต่างๆ ส่วนเราชอบการตกแต่งด้วยมือ การทำพื้นผิวเท็กซ์เจอร์”
เมื่อขึ้นไปชั้นสองจะพบกับผลงานที่ไหมและหนามไปสร้างสรรค์ไกลถึงแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งเป็นการผสมผสานตัวตนของละมุนละไม.เข้ากับเทคนิคดั้งเดิมของญี่ปุ่นและวัสดุใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้และทดลองตลอดสองเดือนที่เมืองอาริตะอันเงียบสงบ
“ปกติที่ไทย สตูดิโอเราอยู่สีลม ซึ่งทั้งร้อน คนเยอะ จอแจ พอไปที่นู่นมู้ดเปลี่ยนทุกอย่าง เงียบ นิ่ง สงบ คนน้อย” ไหมเล่า “แล้วที่ประทับใจคือเราทำงานตามเวลาที่มันควรจะเป็น ตื่นเช้าด้วยแสงอาทิตย์จริงๆ ไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุก สุขภาพจิตและสุขภาพกายดีมาก”
จึงเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการ Here Comes the Sun ที่ว่าด้วยการมาถึงของพระอาทิตย์วันใหม่ อันเป็นสัญญาณแห่งการเริ่มต้นอีกครั้งและการเติบโตไปอีกขั้นของละมุนละไม. อีกทั้งผลงานไฮไลต์ทั้งสามคอลเล็กชั่นยังเชื่อมโยงกับดวงอาทิตย์ด้วย—The Latitude of Sunrise เอกลักษณ์อยู่ที่เส้นสายสีน้ำเงินของเส้นละติจูดและแสงแรกของวัน Sunshine Like a Diamond เอกลักษณ์อยู่ที่ความแวววาวราวกับแสงอาทิตย์ตอนกลางวัน รวมทั้งเทคนิค ‘การกั้นเคลือบ’ ที่ให้ลวดลายและพื้นผิวแบบพิเศษ และ The Sundawn on Sunday เซ็ตเซรามิกสีพาสเทลชมพู-ฟ้าที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนวันอาทิตย์ (กระซิบว่าการเลือกใช้สีแบบนี้แปลกใหม่มากในอาริตะ ซึ่งมักใช้เพียงสีขาวหรือน้ำเงินเท่านั้น) นอกจากนี้ทุกคอลเล็กชั่นยังมีความพิเศษด้วยการใช้เทคนิค ‘เหนือเคลือบ’ เพื่อเติมทอง แพลทตินัม หรือทองแดงลงไปด้วย
และยังมีอีกหนึ่งผลงานแถมท้ายอย่าง The Little Sunflower งานศิลปะแขวนผนังที่ไหมและหนามหยิบจับวัตถุที่พบเห็นในโรงงาน Kouraku Kiln มาบิด ต่อ ผสมผสาน แล้วขึ้นรูปดินและเคลือบสีด้วยเทคนิคของทุกคอลเล็กชั่น เมื่อดูงานชิ้นนี้ก็จะได้เห็นความลงตัวตามที่ทั้งคู่ตั้งใจไว้แต่แรกว่า ทั้งสามคอลเล็กชั่นจะขึ้นโต๊ะอาหารเดียวกันได้ และทำให้มื้ออาหารที่บ้านสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
“ภาพรวมของละมุนละไม.คือความเป็นบ้าน อยากให้เห็นว่าบ้านของเราเป็นยังไง เราเป็นคนแบบนี้ นิสัยแบบนี้ ชอบทำของแบบนี้ แล้วของใช้ในบ้านเป็นยังไง การใช้งานเกิดขึ้นได้ยังไง” ไหมอธิบาย
หลังจากเดินชมทั้งนิทรรศการ นอกจากเห็นความเป็นบ้านแล้ว (และกรีดร้องอยากได้ชิ้นนั้นชิ้นนี้อยู่ในใจ) ส่วนตัวเราเองยังได้เห็นความรักและแพสชั่นในเซรามิกของทั้งสองศิลปิน ซึ่งไม่ลดน้อยลงไปเลยแม้จะเปิดสตูดิโอมากว่าสี่ห้าปีแล้ว—ในทางกลับกันมีแต่จะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ
“เราจะไม่หยุดอยู่แค่ตรงนี้” ไหมบอก “เราไปเจออะไรมา เรียนรู้อะไรมา เราก็จะเอามาสร้างสรรค์งานต่อไปเรื่อยๆ แต่กรอบใหญ่ก็ยังคงเหมือนเดิม คือความเป็นบ้านในแบบของเรา ที่อาจจะเปลี่ยนไปตามวัยหรือตามสิ่งที่เราอินในช่วงนี้”
สำหรับเรา Here Comes the Sun เป็นนิทรรศการที่เต็มไปด้วยแสงอาทิตย์อันสดใส รวมทั้งพลังงานบวกที่ทำให้อยากลุกขึ้นมาสร้างสรรค์อะไรซักอย่าง
—หรืออย่างน้อยๆ ก็อยากจะกินอาหารโฮมเมดที่ดีต่อพุง บนจานแฮนด์เมดที่ดีต่อใจ
Here Comes the Sun จัดแสดงอยู่ที่ Cho Why ซอยนานา วงเวียน 22 กรกฎาฯ จนถึงวันอาทิตย์ 19 มีนาคม โดยเปิดเฉพาะวันพฤหัสบดี-วันอาทิตย์ เวลา 12.00-18.30 น. ต้องหาที่จอดรถตามตรอกซอกซอยเอง ดังนั้นแนะนำให้เดินทางด้วยรถสาธารณะนะ ไปลง MRT หัวลำโพงแล้วเดินต่อนิดเดียวก็ถึงแล้ว
เสาร์อาทิตย์ที่ 4-5 มี.ค. จะมีเวิร์กช็อปขึ้นรูปดิน ส่วนเสาร์อาทิตย์ที่ 11-12 มี.ค. จะมีเวิร์กช็อปเคลือบสีและตกแต่ง ค่าใช้จ่ายวันเดียว 3,800 บาท สองวัน 4,700 บาท นอกจากนี้ยังมีเวิร์กช็อปปั้นดินด้วยแป้นหมุนด้วย ถ้าใครสนใจก็สามารถอินบ็อกซ์ไปนัดวันและเวลาที่เพจละมุนละไม. ได้เลย ไปคนเดียวเค้าก็สอนนะ intensive สุด
หรือใครสนใจแค่อยากไปดูกรรมวิธีการทำหรือพูดคุยกับศิลปินเฉยๆ ก็แวะไปได้เหมือนกันเน่อ : )