บทความตอนนี้ อาจจะเป็นบทความที่ไม่ยาวมากนัก แต่เป็นเหมือนอินโทรของซีรีส์ยาวๆ ที่ผมคงได้เขียนอีกหลายต่อหลายครั้ง ในเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิการทางสังคมและการดูแลประชากรของญี่ปุ่น เพราะเป็นเรื่องที่ผมสนใจเอามากๆ และที่สำคัญคือ กับสภาพสังคมไทยของเราเองที่กำลังเข้าสู่สภาพสังคมคนชราเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ก็อาจจะใช้ประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อย
ซึ่งที่มาของบทความในครั้งนี้ก็เกิดจากการมาเที่ยวโอซาก้ากับครอบครัวของผมเอง ต่างจากปกติที่ผมมักจะมาญี่ปุ่นแบบเป็นสิงลุุยเดี่ยว ทำให้ได้พบกับมุมมองอื่นเพิ่มเติม และมีอะไรให้ชวนคิดได้เสมอ
ตามปกติเวลามาญี่ปุ่นแล้วพักโรงแรม ผมก็มักจะเปิดทีวีทิ้งไว้ดูอะไรไปเรื่อย และที่ชอบดูคือโฆษณาญี่ปุ่นที่มักจะมีไอเดียแปลกๆ ฮาๆ มาให้ดูเสมอ แต่ครั้งนี้มีโฆษณาชิ้นหนึ่งที่สะดุดใจผมเป็นอย่างมาก นั่นคือโฆษณาของ AC Japan หรือ Ad Council Japan องค์กรเอกชนไม่หวังผลกำไร ซึ่งโฆษณาของพวกเขาในครั้งนี้ คือการเลือกเอาโฆษณาที่ชนะการประกวดโครงการของพวกเขามานำเสนอ เป็นโฆษณาของ สมาคมโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงญี่ปุ่น
ตัวโฆษณาเปิดมาด้วยวิดีโอของชายคนหนึ่งที่นอนนิ่งบนเตียงผู้ป่วย ซึ่งเขาก็แนะนำตัวเองว่า เขาเป็นผู้ป่วยจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และเขาอยากจะตอบแทนแม่ของเขาที่ดูแลอาการป่วยเขามาตลอด ซึ่งเขาเองก็ขยับได้แค่นิ้วโป้งเท่านั้น แต่นั่นก็ทำให้เขามีโอกาสได้ ‘ทำงาน’ ด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่ Web Analyst ที่ทำงานด้วยการกดคลิกไปเรื่อยๆ ได้ ซึ่งเขาเอาเงินเดือนรอบแรกของเขา ไปสั่งเค้กอร่อยๆ จากเว็บมาเป็นของตอบแทนให้คุณแม่ และคุณแม่ก็ดีใจ ก่อนจะซูมไปที่หน้าเขา แล้วมีเสียงบรรยายบอกว่า “พลังนั้น เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้า”
ดูแล้วจะได้รับข้อความอะไร ก็อาจจะแล้วแต่มุมมองของแต่ละคน อาจจะมองเรื่องความเป็นลูกกตัญญูก็ได้ แต่ที่สะดุดใจผมเอามากๆ ก็คือประเด็นของการ ให้โอกาสผู้ป่วยได้ทำงาน ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญเอามากๆ เหตุผลหนึ่งก็คือ แม่ผมเองก็ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรค ALS ที่ตอนนั้นคนสาดน้ำ Bucket Challenge เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนสนใจนั่นล่ะครับ ซึ่งการได้เห็นคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคที่ทำให้ช่วยตัวเองไม่ได้ เมื่ออยู่ในสังคมไทย สุดท้ายแล้วก็เป็นได้เพียงผู้ป่วย เพียงอย่างเดียว
แต่ในญี่ปุ่น แม้จะเป็นผู้ป่วย แต่เขาก็พยายามกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้ทำงาน
ไม่ใช่เพียงแค่หาเงินเท่านั้น แต่มองด้วยหลักการของทุนนิยม ซึ่งเป็นความจริงของสังคม การได้ทำงานก็ได้ให้ความหมายและคุณค่าต่อคนๆ นั้นด้วย ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้เป็นเพียงผู้ป่วยที่รอการช่วยเหลือเท่านั้น แต่เขายังสามารถแบ่งเบาภาระของครอบครัวได้ สร้างความภูมิใจให้กับตนเอง กระตุ้นให้ออกไปสู่สังคมได้อีก
พอมีเรื่องหนึ่งมาสะกิดใจ มันก็ทอดยาวไปเรื่องอื่นๆ อีก พอออกไปเดินในเมือง ก็ทำให้สำเหนียกขึ้นได้อีกครั้งว่า ญี่ปุ่นเขาเตรียมพร้อมอะไรต่อมิอะไร เพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้พิการ สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมด้วยตนเองได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเส้นนูนบนฟุตปาธที่ช่วยให้คนตาบอดสามารถเดินไปไหนมาไหนได้เอง และตามแยกไฟแดงยังมีเสียงคอยบอกว่าข้ามถนนได้หรือไม่ หน้าห้องน้ำตามสถานีก็มีแผนภูมิห้องน้ำเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้ตรวจสอบได้ว่าส้วมอยู่ตำแหน่งไหนด้วยตัวเอง รายการทีวีก็สามารถเปิดซับไตเติ้ลเพื่อจะได้รู้ว่าในรายการพูดอะไรกัน ไม่ใช่ต้องอาศัยล่ามภาษามือเพียงอย่างเดียว ขนาดรายการสดเขายังทำ เพียงแต่ซับจะดีเลย์ประมาณ 3 วินาที
ไม่เพียงแต่เรื่องของผู้พิการ แต่ผู้สูงอายุก็เช่นกัน ตอนที่นั่งรถเมลในเมืองไปเที่ยว พ่อผมตกใจมากที่เจอแต่ผู้สูงอายุเดินมาขึ้นรถบัสไปไหนมาไหนเอง ทั้งๆ ที่อายุมากแล้ว แต่กลับดูเหมือนไม่ลำบากอะไรเลย มีปู่คนหนึ่งที่ออกมาซื้อกาวสำหรับปืนกาวเพื่อทำงานฝีมือ ดูแล้วก็ทึ่งกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่นี่ นี่ขนาดว่าโอซาก้าไม่ได้เป็นเมืองที่ปรับตัวเพื่อรับผู้สูงอายุเป็นพิเศษแต่อย่างใด
แค่ทำตามมาตรฐานทั่วไปก็ช่วยให้ชีวิตผู้สูงอายุเขาดีขึ้นแล้ว แถมบางรายก็ยังทำงานต่อไปเรื่อยๆ
ยังไม่นับเมืองอย่างโทยามะ ที่ออกแบบเมืองและระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่ความสะดวกสบายของผู้สูงอายุ (นี่ก็เพิ่งเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินรถรางในเมืองให้สะดวกขึ้น โดยสามารถออกจากรถได้โดยไม่ต้องให้คนขับเช็คว่าจ่ายเงินหรือยัง จะได้ไม่ต้องเสียเวลา อาศัยความไว้ใจกันในเมืองจริงๆ)
ด้วยการเตรียมความพร้อมต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ตอนที่ผมมาอยู่ญี่ปุ่นใหม่ๆ ผมตกใจมากที่เจอผู้พิการและผู้สูงอายุจำนวนมากออกมาเดินถนนจับจ่ายใช้สอยด้วยตนเองได้อย่างสะดวกสบายกว่าที่คิด ทำให้สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่เราจะสามารถพบเจอกลุ่มคนเหล่านี้ได้ทั่วไป อย่างในสวนสนุกก็มีผู้ที่อาศัยใช้วีลแชร์ไฟฟ้ามาเที่ยวด้วยตัวเอง
ทำให้นึกถึงรุ่นพี่ปริญญาโทของผมที่เป็นคนพิการ ไม่มีแขนทั้งสองข้าง แต่ว่าเขาก็มาเรียนเป็นปกติ นั่งกินข้าวด้วยตัวเอง ไปไหนมาไหน ทำอะไรด้วยตัวเองแบบแทบไม่ต้องขอให้ใครช่วย ที่สำคัญเขายังขับรถมามหาวิทยาลัยเองด้วยครับ ตอนที่เขาพูดเรื่องขับรถ ผมเองก็เหวอไป ซึ่งเขาก็รีบพูดต่อด้วยรอยยิ้มว่า “งงล่ะสิ ผมขับรถเองนะ แถมชอบซิ่งด้วย” ผมนี่ได้แต่อึ้ง พอไปดูวิธีขับรถของเขาในเวลาต่อมาแล้วก็ได้แต่คารวะ หลังจากเรียนจบเขายังพยามต่อด้วยการไปเรียนต่อที่อเมริกา ไม่เคยย่อท้อจริงๆ
พอดูโฆษณาแล้วก็สะกิดใจ ได้แต่คิดว่า เราควรจะมองและอยู่ร่วมสังคมกับผู้พิการและผู้สูงอายุอย่างไร ควรที่จะมองว่าพวกเขาเป็นผู้ที่ควรได้รับการช่วยเหลือ หรือควรที่จะสร้างพื้นที่และระบบที่ทำให้พวกเขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และอยู่ได้อย่างเท่าเทียมไม่ต่างจากพวกเรา ในภายภาคหน้าครับ