11 สิงหาคม ปีค.ศ. 2014 อาจจะเป็นวันทำงาน หรือ วันเรียนของหลายๆ คน และอาจจะเป็นวันที่บางคนอาจจะเตรียมตัวในกิจกรรมวันแม่ แต่สำหรับอีกหลายคน ไม่ใช่ในประเทศไทย แต่เป็นคนทั่วโลก ต่างต้องตกใจกับข่าวหนึ่ง ข่าวที่บอกว่า โรบิน วิลเลียมส์ (Robin Williams) นักแสดงชาวอเมริกาได้เสียชีวิตลงจากการก่ออัตวินิบาตกรรม
ความสับสนปนฉงนใจเกิดขึ้นในความคิดของหลายคนทันที ทำไมนักแสดงท่านนี้ถึงจบชีวิตเร็วกว่าที่ใครคาดคิดไว้ และเมื่อรู้ตัวอีกครั้งหนึ่ง ดาราฮอลลีวูดผู้ที่ชาวโลกคุ้นเคยในการรับบทเป็นคนอารมณ์ดี และมักจะสร้างรอยยิ้มให้กับคนดูและมีชีวิตชีวิาอยู่เสมอก็จากเราไปกว่าครึ่งทศวรรษแล้ว และในโอกาสนี้ เราจึงขอรำลึกถึงนักแสดงมากฝีมือผู้นี้ ด้วยการย้อนมองผลงานของเขาไปในอดีต กับอะไรที่สั่งสมให้เขากลายเป็นนักแสดงที่หลายคนจดจำ และเขาได้พบอะไรก่อนจะเลือกสิ้นสุดการเดินทางบนโลกใบนี้
รากฐานของนักแสดงตลกและการรับบทสมทบในภาพยนตร์ Can I Do It… ‘Til I Need Glasses? (1951 – 1977)
หลายอย่างในชีวิตของ โรบิน มีรากฐานมาจากครอบครัวของเขาเอง อย่างที่เห็นได้จากการที่เจ้าตัวบอกกล่าวเองในสารคดีหรือผ่านสื่อต่างๆ ว่า การพยายามสร้างเสียงหัวเราะนั้นมาจากการพยายามให้แม่สนใจตัวเขานั่นเอง รวมไปถึงว่าแม่ของเขาก็เป็นคนมากอารมณ์ขันในตัว เขาเลยเข้าใจว่าเรื่องเหล่านั้นมีเสน่ห์อยู่ไม่น้อย (ระดับที่เธอเคยเล่นมุกแข่งกับลูกชายผ่านรายการทีวีในภายหลังเลยล่ะ)
ส่วนการที่เขาทำเสียงได้หลากหลายนั้น ก็มีผลพวงมาจากวัยเด็ก ที่เจ้าตัวอธิบายว่าตัวเองนั้นเป็นคนที่ ‘ตัวเตี้ย, ขี้อาย, อวบอ้วน และโดดเดี่ยว’ ทำให้เขาต้องอยู่ตัวคนเดียวเป็นประจำ ยังไม่รวมว่าครอบครัวของเขาย้ายบ้านบ่อย อันเป็นผลจากการที่พ่อค่อนข้างก้าวหน้า (พ่อของโรบิน ไปไกลจนถึงเป็นผู้บริหารของ Ford Motor จึงจำเป็นต้องออกเดินทางบ่อยๆ) เลยทำให้เขามีความโดดเดี่ยว แถมยังเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว (แม้ว่าโรบินจะมีพี่ชายต่างพ่อและแม่อยู่ฝั่งละหนึ่งคน แต่ไม่ได้อยู่ด้วยกันในวัยเด็ก) การแสดงออกให้ตลกเพื่อทำให้คนสนใจเลยกลายเป็นทักษะติดตัวขึ้นมา และกลายเป็นสิ่งที่อยู่ติดตัวเขาไปตลอดชีวิต
โรบินเคยเป็นนักเรียนในโรงเรียนเอกชนชายล้วนที่เรียนดีมาก เป็นนักกีฬา แถมยังได้ทุนการศึกษาอีกด้วย (เจ้าตัวบอกว่าคล้ายกับโรงเรียนในเรื่อง ‘Dead Poet Society’) จนกระทั่งอายุ 16 ครอบครัวของโรบินได้ย้ายไปอาศัยอยู่ในเมืองแคลิฟอร์เนีย เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าร่วมชมรมการละคร และเริ่มปลดปล่อยทักษะการแสดงตลกให้คนอื่นนอกครอบครัวได้รับรู้ ระดับที่ว่าเคยถูกเพื่อนๆ ในรุ่นโหวตว่าเป็น ‘คนที่ตลกที่สุด’ ในขณะเดียวกันก็มีคนโหวตให้เขาเป็น ‘คนที่น่าจะไม่ประสบความสำเร็จที่สุด’ ซึ่งแน่นอนว่ามันตรงข้ามกับสิ่งที่เขาได้เป็นเลยทีเดียว
ไฟของการอยากเป็นนักแสดงเริ่มขึ้นอย่างแท้จริงในช่วงที่ โรบิน เริ่มเข้าเรียนช่วงอุดมศึกษา ตอนแรกเขาเรียนอยู่ที่ Claremont McKenna College ในด้านกฎหมาย แต่เจ้าตัวก็โดดคาบเรียนหลัก แล้วเข้าเรียนวิชาการแสดงแบบจริงจัง จนครอบครัวบังคับให้กลับมาเรียนในเมือง Marin ที่เป็นที่พำนัก และ โรบิน ก็เลือกเรียนสาขาการแสดงในวิทยาลัย College of Marin แทน
แม้จะเพิ่งตั้งใจศึกษาการแสดง โรบินก็ทำงานได้เป็นอย่างดี ระดับที่ว่าละครเวทีที่เขาร่วมสร้างในยุคนั้นได้รับคำชมและรางวัลจากงานเทศกาลต่างๆ ก่อนที่เขาจะได้รับทุนให้มาศึกษาต่อที่ Juilliard School สถาบันการแสดงชื่อดังของอเมริกา ซึ่งไม่ใช่เพียงได้รับทุนการศึกษาแบบเต็มรูป แต่ยังได้เป็นเพื่อนสนิทกับ Christopher Reeve (นักแสดงที่รับบท Clark Kent / Super Man ในช่วงปีค.ศ. 1978-1987) ณ โรงเรียนแห่งนี้
ถึง Juilliard School จะมีการเรียนการสอนที่เข้มข้นมากๆ แต่โรบินก็โดดเด่น และเสพวิชาความรู้จากการสอนในสไตล์ดั้งเดิม (ตามยุคนั้น) ทั้งยังเคยโดนอาจารย์ในสถาบันติงว่าเขาทำได้แค่การเป็น ‘เดี่ยวไมโครโฟน’ (Stand Up Comedy) เท่านั้นล่ะ แต่เจ้าตัวก็ซึมซับคำสอน จนอาจารย์ยังชื่นชมการแสดง กระนั้นจนถึงจุดหนึ่งโรบินลาออกจากสถาบันแห่งนี้ ไม่ได้เป็นเพราะว่าเจ้าตัวนั้นไม่เอาอ่าว แต่อาจารย์คนหนึ่งกล่าวว่า เพราะการเรียนการสอนในแบบดั้งเดิมของโรงเรียนการแสดง ณ ตอนนั้น ไม่มีอะไรที่จะสอนอัจฉริยะแบบโรบินเพิ่มเติมได้แล้ว
หลังจากนั้นโรบินก็เริ่มงานเดี่ยวไมโครโฟน สลับกับงานอื่นๆ อย่าง บาร์เทนเดอร์ และ นักแสดงใบ้ข้างถนน ซึ่งตัวงานเดี่ยวไมโครโฟนนั้นก็ได้รับความนิยมเลยทีเดียว แม้ว่าจะมีปัญหาบ้าง เขาทำงานนี้จนเข้าสู่ปีค.ศ. 1977 จึงเริ่มได้เล่นในรายการรวมดาวตลก ‘Laugh-In’ กับ ‘The Richard Pryor Show’
แต่การแสดงตลกทั้งแบบเดี่ยวไมโครโฟน หรือการแสดงข้างถนน ก็ยังส่งเสริมให้โรบินได้รับโอกาสดี เมื่อในปีค.ศ. 1977 ที่โปรดิวเซอร์ซีรีส์ซิตคอม ‘Happy Days’ ได้ยินได้ฟังจากลูกชายว่าตอนนี้ใครๆ ก็นิยมมนุษย์ต่างดาว (ผลพวงจากความดังของภาพยนตร์ Star Wars) และโปรดิวเซอร์ของรายการได้พบนักแสดงตลกข้างถนนที่มีคนยอมจ่ายเงินจนล้นถ้วยเก็บเงิน สุดท้ายโรบินก็ได้มารับบท มนุษย์ต่างดาว Mork ในฐานะตัวละครรับเชิญของ Happy Days
ด้วยสไตล์การแสดงที่พูดเสียงสูงตลอดเวลาโดยธรรมชาติ ด้นมุกสด เล่นมุกตลกสังขารกับตัวเอง ทำให้ตัวละครดังกล่าวที่โดนวางแผนให้เป็นแค่ตัวละครรับเชิญชั่วครั้งชั่วคราว กลายเป็นตัวละครที่ดังมากพอจะทำให้โปรดิวเซอร์ของรายการจดจำมันไว้ และเมื่อพวกเขามีแผนการต้องทำรายการใหม่แบบกะทันหัน ตัวละครของ Mork จึงถูกหยิบยกมาให้เป็นตัวละครหลัก และทำให้ซีรีส์ ‘Mork & Mindy’ กลายเป็นงานชิ้นแรกที่โรบินเป็นตัวละครหลักถือกำเนิดขึ้น (โดยมี แพม ดิวเบอร์ (Pam Dawber) เป็นนางเอก) และเจ้าตัวก็ควบงานแสดงทั้งเดี่ยวไมโครโฟนและสถานีโทรทัศน์ไปพร้อมๆ กัน
และในปีเดียวกันก็เป็นครั้งแรกที่เจ้าตัวได้มีโอกาสก้าวเท้าเข้าสู่วงการภาพยนตร์ ด้วยการแสดงในบทสมทบของภาพยนตร์ ‘Can I Do It… ‘Til I Need Glasses?’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่รวมมุกตลกเอาไว้ในเรื่องเดียวกัน
ก่อนที่ปีค.ศ. 1978 เป็นปีที่ซีรีส์ที่โรบินแสดงนำเป็นเรื่องแรกนั้นดังเป็นพลุแตก ระดับที่ได้เรตติ้งสูงเป็นอันดับ 3 ของปีที่เริ่มออกฉาย รวมไปถึงเป็นปีที่โรบินแต่งงานกับภรรยาคนแรก วาเลอรี เวลาร์ดี (Valerie Velardi) กระนั้นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ใช่แค่สถานะสมรสเท่านั้น เขาทำให้การถ่ายทำซิตคอมเปลี่ยนไป ผลพวงจากการที่การแสดงของโรบินนั้นมักจะไม่อยู่นิ่งกับที่ และมีการด้นสดใหม่ตลอดเวลา การถ่ายทำซิตคอมแบบสี่กล้อง เพื่อให้กล้องแยกหนึ่งกล้องคอยติดตามตัวละครจึงเริ่มขึ้นจากจุดนั้นเช่นกัน
การรับบทนำครั้งแรกในภาพยนตร์จอเงินที่ล้มเหลว PopEye (1980)
ในช่วงที่โรบินโด่งดังจากการใช้มุกสังขารแถมยังพูดดัดเสียงได้อย่างคล่องแคล่ว จึงไม่แปลกนักที่เขาจะถูกคัดเลือกให้มารับบท PopEye ทหารเรือผู้มีกล้ามแขนโต ที่ต้องต่อสู้กับตัวร้าย Bluto เพื่อชิงหัวใจของ Olive Oyl เอาไว้ ตัวภาพยนตร์นั้นไปถ่ายทำที่หมู่บ้านในประเทศมอลตา ทำให้ฉากดูสวยงามน่าสนใจ ก่อนจะได้ออกฉายในปีค.ศ. 1980 แต่ภาพยนตร์นั้นล่มไม่เป็นท่า แม้นักวิจารณ์ส่วนใหญ่จะบอกว่าไม่ได้เป็นปัญหาจากทีมนักแสดงก็ตามที
ชื่อเสียงที่โรบินได้จากเรื่อง Mork & Mindy ทำให้ในช่วงปีค.ศ. 1979 โรบินก็ได้ออกอัลบั้มร่วมมุกเดี่ยวไมโครโฟนที่ชื่อ ‘Reality…What a Concept’ ซึ่งโด่งดังมากจนได้รับรางวัลแกรมมี่ สาขาอัลบั้มตลกยอดเยี่ยม (Best Comedy Album) ในปีค.ศ. 1980 ทำให้ชื่อเสียงและรายได้ของโรบินเพิ่มพูนมากขึ้น สถานะภาพของเขาเปลี่ยนจาก ดาวตลกผู้มีพรสวรรค์ขวัญใจร้านตลกหรือข้างถนน กลายเป็น ดาวตลกขวัญใจชาวอเมริกาไป
อีกส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือ เขากลายเป็นนักดื่มตัวยง และเริ่มเสพโคเคนแบบหนักหน่วง รวมไปถึงการคั่วหญิงที่เข้ามาอย่างไม่เลือกหน้า หรือถ้าพูดง่ายๆ ก็คือเป็นความเมามันส์กับชีวิตที่สุดเท่าที่เคยมีมา
การเสพยาและการดื่มอย่างหนักของเขาหยุดลง เมื่อเพื่อนร่วมวงการของเขาอย่าง จอห์น เบลุสชี่ (John Belushi) เสียชีวิตลงจากการเสพยาเกินขนาดในปีค.ศ. 1982 ซึ่งโรบินเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ได้พบจอห์นก่อนจะเสียชีวิต ส่วน Mork & Mindy ก็ออกอากาศอยู่สี่ซีซั่น ก่อนที่จะอวสานลงในปีค.ศ. 1982 เช่นกัน และการที่คนดูเริ่มผูกติดตัวของโรบินกับการรับบทเป็น Mork ทำให้เขาหาจุดยืนในวงการการแสดงได้ไม่ง่ายนัก
ด้วยเหตุการณ์หลายอย่างที่ถาโถมเข้ามาพร้อมกัน โรบินกับภรรยาเลยโยกย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ในแคลิฟอร์เนีย เพื่อให้ชีวิตได้ตั้งหลักใหม่หลังจาก Mork & Mindy จบลง
อีกมุมหนึ่งที่ผู้ชมไม่คุ้น และช่วยฉายแสงในการแสดงให้คนทราบ The World According To Garp (1982)
ถึงแม้ปีค.ศ. 1982 จะเป็นจุดจบของซีรีส์ที่สร้างชื่อให้กับโรบิน แต่ในปีเดียวกันนั้น โรบินก็มีโอกาสได้ลองก้าวข้ามไปร่วมเล่นในอีกอาชีพหนึ่ง นั่นก็คือการพากย์เสียงการ์ตูน Mork & Mindy/Laverne & Shirley/Fonz Hour ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักแสดงตลกคนนี้ได้มีโอกาสกลับมาพากย์เสียงในโลกอนิเมชั่นอีกหลายต่อหลายครั้ง
ส่วนในฝั่งภาพยนตร์ในปีนั้น ก็มีภาพยนตร์เรื่อง ‘The World According To Garp’ (โลกสดใสของนายการ์ป) ที่เขาได้รับบทนำอีกครั้ง โดยเรื่องเล่าถึงชีวิตของ ที.เอส. การ์ป (T. S. Garp) นักเขียนที่มีชีวิตไม่ธรรมดา มีแม่ที่ต้องการมีลูกแต่ไม่อยากมีสามี กลายเป็นนักเขียนเฟมินิสต์ ซึ่งนำพาได้ตัวเอกไปเจออะไรชวนแปลกใจอีกมาก ออกฉายให้ผู้คนได้รับชม
ภาพยนตร์เรื่องนี้ไปไกลจนสามารถคว้ารางวัลออสการ์ในสาขาดาราสมทบชายและสมทบหญิง ส่วนโรบิน แม้จะยังไม่ได้รับรางวัลใดจากภาพยนตร์ แต่ก็เริ่มมีนักวิจารณ์จดจำเขาได้ในฐานะนักแสดงที่สามารถเล่นบทดราม่าได้ ทั้งยังสามารถแสดงร่วมกับนักแสดงที่ได้รางวัลออสการ์จากหนังเรื่องนี้อีกสองคนได้อย่างออกอรรถรส (หนึ่งในนั้นคือ เกล็นน์ โคลส (Glenn Close) ที่กลายเป็นเพื่อนกับเขาอีกหลายต่อหลายปี)
และในช่วงนั้นครอบครัวของโรบินก็มีการขยับขยายเช่นกัน ปี 1983 เขามีลูกชายคนแรกกับภรรยาชื่อ แซคคารี่ พิม “แซค” วิลเลียมส์ (Zachary Pym “Zak” Williams) ที่โรบินเคยบอกว่าเป็นแรงบันดาลใจในทั้งด้านการทำงานและการเลิกสิ่งมัวเมาทั้งหลาย
หลังจากนั้นโรบินก็รับบทรองหรือบทสมทบทั้งในโทรทัศน์และภาพยนตร์ อย่างในภาพยนตร์ ‘The Survivors’ ที่ออกฉายในปีค.ศ. 1983, ‘Moscow On The Hudson’ ในปีค.ศ. 1194, Seize The Day ในปีค.ศ. 1986 ฯลฯ แต่ก็ยังไม่มีบทไหนที่บอกได้ว่าเป็นบทที่โดดเด่นจนคนดูจดจำได้ ทำให้เขามีโอกาสได้กลับไปสู่วงการเดี่ยวไมโครโฟนแบบเต็มตัว และสามารถจัดการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนสดความยาวราวสองชั่วโมงชื่อ ‘A Night At The Met’ ในปีค.ศ. 1986 ที่ทำสถิติขายตั๋วหมดใน 30 นาทีก่อนจะกลายเป็นอัลบั้มตลกในภายหลัง และนำเอารางวัลแกรมมี่ สาขาอัลบั้มตลกยอดเยี่ยม ชิ้นที่สองมาให้เขาได้
ส่งเสียงจากเวียดนามถึงชาวโลก Good Morning, Vietnam (1987)
หลังจากแสดงในบทภาพยนตร์มาหลายต่อหลายบท ในที่สุดเขาก็ได้รับบทบาทที่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ ในภาพยนตร์ ‘Good Morning, Vietnam’ กับการรับบทเป็นดีเจที่มอบความสดใสให้กับคลื่นวิทยุสำหรับทหารอเมริกาในสงครามเวียดนามที่ดูอึดอัดและอึมครึม ซึ่งตัวภาพยนตร์เป็นเรื่องราวอ้างอิงประสบการณ์ชีวิตจริงส่วนหนึ่ง Adrian Cronauer (และถูกใช้เป็นชื่อตัวละครเอกด้วย) แต่ตัวหนังนั้นไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด ทำให้โรบินจัดเต็มในการด้นมุกสดๆ ในช่วงเป็นดีเจ ในขณะเดียวกันก็มีการแสดงความโหดร้ายของสงคราม และความเป็นมนุษย์ของตัวละครต่างๆ อย่างสนุกสนาน
การรับบทเป็นดีเจอารมณ์ดีนี้เองที่ทำให้โรบินเริ่มถูกจดจำจากผู้ชมมากขึ้น ภาพยนตร์เรื่อง Good Morning, Vietnam ทำรายได้สูงเป็นอันดับ 4 ของภาพยนตร์ที่ฉายในปีค.ศ. 1987 ของอเมริกา ตัวนักแสดงนำได้คว้ารางวัลลูกโลกทองคำจากภาพยนตร์ตลกหรือมิวสิคัล กับ ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาดารานำชายยอดเยี่ยม
และภาพยนตร์เรื่อง ‘Dead Poets Society’ (ครูครับ เราจะสู้เพื่อฝัน) ที่ออกฉายในปีค.ศ. 1989 ที่โรบินรับบทเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่สอนนักเรียนในโรงเรียนเอกชนอันแสนเข้มงวด ด้วยสไตล์ที่ไม่เหมือนครูคนอื่นในสถาบัน ทำให้กลุ่มเด็กชายที่เล่าเรียนกับครูคนนี้ได้บทเรียนที่มากกว่าความรู้ในหนังสือ
ซึ่งหนังก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก เป็นการยืนยันว่าทักษะการแสดงที่ทำให้ใจของคนดูสั่นไหวของเขาไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และนี่ก็เป็นครั้งที่สองที่เขาได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาดารานำชาย แต่เขาก็ไม่สมหวังเป็นครั้งที่สองเช่นกัน
นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในจอแล้ว ชีวิตนอกจอของโรบินก็เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยเช่นกัน ในช่วงปีค.ศ. 1988 ภรรยาคนแรกของเขาได้ตัดสินใจขอหย่า วาเลอรีให้สัมภาษณ์ในปีค.ศ. 2018 ว่า จริงๆ เธอไม่ได้หึงหวงจนนำไปสู่การเลิกรา แต่มาจากการที่ชีวิตของทั้งสองคนนั้นเริ่มไม่สอดคล้องกัน เธอยังอยากใช้ชีวิตแบบมีส่วนร่วมในการทำงานใดๆ ก็ตามของเขา ขณะเดียวกันโรบินก็กลายเป็นดาราที่เดินทางไปหลายประเทศทั่วโลกแล้ว
ต่อมาในปีค.ศ. 1989 โรบินก็แต่งงานใหม่กับ มาร์ช่า เกรซส์ (Marsha Garces) ซึ่งเคยเป็นพี่เลี้ยงของลูกชายคนโตมาก่อน ตอนนั้นสื่อแทบลอยด์เชื่อว่าเป็นความเจ้าชู้ของดาราชื่อดังที่นำพาไปสู่การหย่าร้าง แต่วาเลอรียืนยันว่าไม่ใช่ เธอระบุว่า ทั้งสองคนสนิทสนมกันหลังการหย่าสิ้นสุด แต่เธอไม่สามารถแก้ข่าวใดๆ ได้ในเวลานั้น เพราะเธอไม่ใช่คนดังอะไร แถมวาเลอรียังบอกด้วยซ้ำว่า ณ ช่วงที่ดังใหม่ๆ จนเที่ยวทุกคืนนั้น เธอไม่ได้กังวลใจว่าเขาจะไปนอนกับใครอื่น แต่ขอให้กลับบ้านมาหาเธอก็พอ
และในปีเดียวกันโรบินก็ได้ลูกคนที่สองเป็นลูกสาวที่เขาแสดงถึงความชื่นชอบในการเล่นเกม ด้วยการตั้งชื่อลูกว่า เซลดา เรย์ วิลเลียมส์ (Zelda Rae Williams) ซึ่งปัจจุบันนี้ลูกสาวคนนี้ยังอยู่ในวงการบันเทิง และเคยโฆษณาเกม The Legend Of Zelda: Skyward Sword ร่วมกับพ่อในปีค.ศ. 2011 ด้วย
ช่วงเวลาที่รับบทเป็นคนส่วนน้อย และเริ่มช่วยเหลือสังคม Awakening (1990)
โรบินเปลี่ยนสถานะตัวเอง กลายเป็นดาราภาพยนตร์ที่ฉายแสงอย่างเจิดจ้าและผู้คนต่างจดจำเขาได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน โรบินก็รับเล่นบทบาทที่ยากขึ้น อย่างเช่น การที่ต้องไปศึกษาชีวิตของ โอลิเวอร์ แซกส์ (Oliver Sacks) แพทย์ด้านประสาทวิทยา เขาได้ทำความเข้าใจผู้ป่วยในโรคด้านสมองหลายๆ แบบ เพื่อรับบทในภาพยนตร์เรื่อง ‘Awakening’ (ตื่นเถิดเพื่อนถ้าใจยังมีฝัน) ในปีค.ศ. 1990 ซึ่งเขาเคยกล่าวไว้ว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องที่เขาชอบที่สุด และในขณะเดียวกัน การได้พบผู้ป่วยโรคสมองบางคนก็ส่งอิทธิพลถึงตัวเขาอย่างมาก
ผลพวงจากการศึกษาผู้ที่มีอาการทางสมองยังทำให้เขาเข้าถึงบทบาทในการรับบทเป็นตัวละครเด่นในเรื่อง ‘The Fisher King’ (บ้ากระตุกหลวม) ที่ออกฉายในปีค.ศ. 1991 โรบินรับบทเป็น แพร์รี่ ชายสติไม่ดี ที่แท้จริงแล้วป่วยเป็นโรคจิต หลังจากที่เขาต้องสูญเสียภรรยาไปในการสังหารหมู่ ซึ่งโรบินแสดงได้อย่างเข้าถึงจนได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาดารานำชายอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รางวัลกลับบ้านไป
ซึ่งหลังจากการรับบทเหล่านี้ โรบินก็เริ่มอุทิศตนให้กับผู้ด้อยโอกาสหลายต่อหลายครั้ง ทั้งในแบบสเกลขนาดใหญ่ ด้วยการจัดแสดงตลกการกุศล หรือการช่วยเหลือแบบส่วนตัวอย่างการช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาลของ คริสโตเฟอร์ รีฟ (Christopher Reeve) ที่บาดเจ็บจากการขี่ม้าจนกลายเป็นอัมพาตมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1995
ในอีกด้าน ครอบครัวของโรบินก็ขยายใหญ่ขึ้นอีกเล็กน้อยเมื่อภรรยาของเขาได้ให้กำเนิด โคดี้ อลัน วิลเลียมส์ (Cody Alan Williams) ลูกชายคนที่สอง ในปีค.ศ. 1991
ถึงจะพากย์แค่เสียง แต่ก็ต้องเอาให้สุด Aladdin (1992)
หลังจากพากย์เสียงในการ์ตูน Mork & Mindy/Laverne & Shirley/Fonz Hour ไปแล้วในช่วงปีค.ศ. 1982 เขาก็มีโอกาสได้พากย์เสียงในการ์ตูนเด็กอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ใช่การได้รับบทใหญ่เท่าใดนัก จนกระทั่งในปีค.ศ. 1989 สวนสนุก Disney World จ้างเขาไปร่วมแสดงในภาพยนตร์สั้น ‘Back To Neverland’ ซึ่งเป็นโอกาสแรกที่โรบินได้ร่วมพากย์ตัวละครอนิเมชั่นของ Disney หลายต่อหลายตัว ก่อนอนิเมเตอร์จะเขียนให้เขากลายเป็นตัวละครของกลุ่ม Lost Boy จากภาพยนตร์อนิเมชั่น ‘Peter Pan’ ซึ่งเหมือนเป็นการทำนายล่วงหน้าว่าเขาจะได้เล่นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับ Peter Pan ในอนาคตด้วย
เพราะต่อมา เขาได้มีโอกาสเล่นภาพยนตร์เรื่อง ‘Hook’ ซึ่งออกฉายในปีค.ศ. 1991 ภาพยนตร์ดังกล่าวกำกับโดย สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) โดยเล่าเรื่องของ Peter Pan ที่ไม่ได้กลับสู่ Neverland แต่อาศัยอยู่ในโลกมนุษย์จนแต่งงานมีครอบครัวมาหลายต่อหลายปี ซึ่งตัว โรบินรับบทเป็น Peter Banning ที่ต้องพยายามฟื้นความเป็นเด็กให้ตัวเองเพื่อกลับมาเป็น Peter Pan ที่สามารถต่อกรกับ Captain James Hook ซึ่งแน่นอนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จไปไม่น้อย
และในที่สุดเขาก็ได้รับโอกาสให้พากย์เสียงภาพยนตร์อนิเมชั่นเสียที ซึ่งก็เป็นเรื่องบังเอิญอยู่ไม่น้อยที่ในปีค.ศ. 1992 ภาพยนตร์อนิเมชั่นที่เขาพากย์ได้ออกฉายในโรงภาพยนตร์ถึงสองเรื่อง เรื่องแรกก็คือ ‘FernGully: The Last Rainforest Batty’ (เฟิร์นกัลลี่ ป่ามหัศจรรย์) ด้วยการรับบทเป็น Batty Coda ค้างคาวที่คอยสนับสนุนตัวพระนางของเรื่อง ที่เป็นแฟร์รี่ที่อาศัยอยู่ในป่าเฟิร์นกัลลี่
ส่วนภาพยนตร์อนิเมชั่นอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ‘Aladdin’ ฉบับปีค.ศ. 1992 ซึ่งความจริงแล้วแผนงานนั้นต้องการให้โรบินมาพากย์เป็น ‘จีนี่’ ยักษ์ใหญ่ที่ติดในตะเกียงวิเศษ ถึงขั้นที่อนิเมเตอร์ต้องส่งตัวอย่างภาพตัวละครที่เขียนจำลองจากการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนของเขา ซึ่งภาพนั้นซื้อใจโรบินได้ และการผจญภัยของ อาลาดิน เพื่อพิชิตใจเจ้าหญิงจัสมิน และการปะทะกับตัวร้ายอย่างจาฟาร์ ก็โดดเด่นขึ้นมาอีกขั้นด้วยการที่มียักษ์ใหญ่จินนี่ออกมาแสดงลวดลายและเสกมนต์เพื่อช่วยให้เรื่องนี้จบลงอย่างมีความสุข
การมีโรบินในหนังเรื่องนี้ทำให้มีความพิเศษหลายประการ นับตั้งแต่การพากย์ที่ด้นมุกสดอย่างที่นักแสดงท่านนี้ถนัด ทำให้ตัวละครจีนี่มีเสียงพากย์รวมกันอย่างน้อย 16 ชั่วโมง และด้วยการด้นมุกใหม่อยู่เรื่อยๆ ในการทำงานจึงต้องใช้วิธีพากย์ก่อนแล้วเขียนภาพทีหลังสำหรับจีนี่เพื่อให้ภาพสอดคล้องกับมุกที่เปลี่ยนไป
แล้วก็ด้วยความที่เปลี่ยนมุกรัวๆ นี้เองทำให้ตัวบทภาพยนตร์ไม่สามารถส่งเข้าชิงสาขาใดได้ เพราะจะบอกว่าเป็นต้นฉบับก็ไม่ใช่ จะบอกว่าดัดแปลง ก็ไปไกลเกิดกว่าคำว่าดัดแปลงเสียเยอะ แต่ก็ไม่ใช่ว่างานเรื่องนี้ไม่ดี เพราะความพิเศษเฉพาะตัวนี้ทำให้รางวัลลูกโลกทองคำต้องมอบรางวัลพิเศษให้กับเขาในปีค.ศ. 1993 ยังไม่นับรางวัลอีกหลายต่อหลายรางวัลที่มอบให้นักแสดงสมทบของเรื่อง
การได้ดาราดังมาพากย์ตัวละครนั้นก็ทำให้ยุคหลังจาก Aladdin ฉบับปีค.ศ. 1992 มีการเอานักแสดงมาใช้มากขึ้น และเมื่อพูดถึงดาราดังแล้ว แน่นอนว่าส่วนใหญ่คงจะต้องมาพร้อมกับการโปรโมทอนิเมชั่นด้วยการเอาชื่อของคนดังๆ มาแสดงตัวให้เด่นชัด แต่โรบินมาพากย์ Aladdin พร้อมกับข้อกำหนดจากตัวนักแสดงดังว่า จะรับค่าตัวในขั้นต่ำสุด เพื่อไม่ให้ใช้เสียงของเขาในการขายของเล่นหรือสินค้าอื่นๆ จีนี่กับชื่อของเขาต้องไม่ปรากฏตัวเกิน 25% ของตัวโฆษณา ไม่เช่นนั้นเขาจะไม่รับงานใดๆ กับทาง Disney อีก
เหตุผลของเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเชื่อว่ามาจากการที่เขากลัวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่คนสนใจบทบาทเดิมของเขามากเกินจนทำให้คนไม่สนใจศักยภาพของหนัง ส่วนอีกเหตุหนึ่งเชื่อว่ามาจากการที่เจ้าตัวไม่อยากจะปนเปอยู่ในของเล่นเด็ก เพราะเจ้าตัวพึงพอใจที่จะงานนี้ให้เป็นศิลปะมากกว่า
แม้ว่าจะตกลงกันอย่างดิบดี แต่ เจฟฟรีย์ คัตเซนเบิร์ก (Jeffrey Katzenberg) กรรมการบริหารของ Disney ในยุคนั้น ก็ทำสินค้าต่างๆ ของ จีนี่ ออกมาขายจนได้ เรื่องนี้ไม่เพียงทำให้โรบินไม่ร่วมแสดงในสื่อรูปแบบต่างๆ นานาของทาง Disney เท่านั้น เขายังบอกให้เพื่อนนักแสดงร่วมต่อต้าน Disney ไปอีกระยะหนึ่ง จนกระทั่งเจฟฟรีย์ลาออก และมีการขอโทษอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะ ทำให้โรบินกลับมาทำงานกับ Disney อีกครั้ง
สู่บทนักพากย์ที่ต้องปลอมตัวเป็นหญิงชรา Mrs. Doubtfire (1993)
ข้ามไปสร้างชื่อในโลกนักพากย์มาแล้ว โรบินก็กลับมาแสดงในภาพยนตร์ที่ใช้ทักษะเฉพาะตัวในการแสดงอย่างมากอีกครั้ง แถมคราวนี้ยังต้องรับบทพิสดารกว่าเดิม เพราะเขาจะต้องกลายเป็น Euphegenia Doubtfire คุณยายผู้น่ารัก ในภาพยนตร์ ‘Mrs. Doubtfire’ (คุณนายเด๊าท์ไฟร์ พี่เลี้ยงหัวใจหนุงหนิง) ที่ออกฉายในปีค.ศ. 1993
หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของนักพากย์ฟรีแลนซ์ที่เพิ่งตกงานและภรรยามองว่าเขาไม่มีความพร้อมมากพอจะเลี้ยงดูลูกๆ ทั้งสามได้ ศาลจึงได้ตกลงให้ภรรยาเป็นผู้ดูแลลูก ส่วนฝั่งสามีนั้นจะได้รับการพิจารณาว่าสามารถดูแลลูกได้หากเขาสามารถหางานที่มั่นคงได้ในช่วงสามเดือน ด้วยความที่รักลูกจนสุดหัวใจทำให้เขายอมปลอมตัวเป็น Mrs. Doubtfire เพื่อไปดูแลลูกที่เขารักอีกครั้ง แต่ในขณะเดียวกัน หญิงชราตัวปลอมนี้ก็ช่วยพัฒนาชีวิตของทุกคนในครอบครัวด้วย
แม้เนื้อหาจะดูธรรมดา และการที่ผู้ชายแต่งหญิงปลอมตัวก็เคยมีคนทำมาก่อนแล้ว แต่ด้วยทักษะส่วนตัวของโรบินที่ด้นมุกสด ผู้กำกับ คริส โคลัมบัส (Chris Columbus) เคยกล่าวว่า มีมุกที่ถ่ายเอาไว้มากพอจนสามารถตัดต่อหนังได้หลายเวอร์ชั่น ทั้งแบบดูได้ทั้งครอบครัว ไปจนถึงเรตมุกใต้สะดือพรั่งพรู แม้ว่าหนังจะถูกกำหนดทิศทางชัดเจนมาว่าจะออกมาแบบดูได้ทั้งครอบครัวแต่เริ่มก็ตามที
ภาพยนตร์ได้รับความนิยม ระดับที่ทำรายได้เป็นอันดับสองของปีค.ศ. 1993 ในอเมริกา และโรบินก็ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำดารานำชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์ตลกหรือมิวสิคัลเป็นครั้งที่สอง และภาพยนตร์ก็ยังถูกรีเมคในประเทศอื่นๆ ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ
แอคชั่นผจญภัยก็พร้อมลุย Jumanji (1995)
หลังจากวนเวียนไปเล่นหนังตลกดราม่าเรื่อง ‘Being Human’ ในปีค.ศ. 1994 แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก โรบินก็ได้แสดงในภาพยนตร์ที่หลายคนจดจำอีกครั้ง นั่นก็คือภาพยนตร์เรื่อง ‘Jumanji’ (จูแมนจี้ เกมดูดโลกมหัศจรรย์) ที่ออกฉายในปีค.ศ. 1995
ภาพยนตร์เล่าเรื่องของ อลัน กับ ซาร่าห์ ที่เล่นบอร์ดเกมลึกลับ จนกระทั่งเด็กชายโดนดูดเข้าไปในโลกของเกมอยู่ 26 ปี ก่อนที่จะมีสองพี่น้อง จูดี้ กับ ปีเตอร์ มาอาศัยอยู่ในบ้านเก่าของอลัน และทอยเต๋าช่วยเขาให้ออกมาจากโลกของเกมได้ และผู้เล่นทั้งสี่คนต้องกลับมาเล่นเกมนี้อีกครั้งให้จบลง เพื่อที่จะทำให้ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นจบลง แต่นั่นแปลว่า สัตว์ป่าทั้งหลายที่อยู่ในเกมก็อาจจะมาป่วนโลกได้นั่นเอง
เพราะภาพยนตร์มีเงื่อนไขเรื่องเวลาและบอร์ดเกมเป็นตัวกำหนด ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีบทที่เป็นโครงสร้างที่ค่อนข้างชัดเจน แม้ว่าจะดูสวนทางกับการทำงานปกติของโรบินไปสักหน่อย แต่กลายเป็นว่า นักแสดงมืออาชีพอย่างเขากลับเข้าใจดีว่าจุดแข็งของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ตรงไหน และแทบจะไม่ได้ด้นสดอะไรเลย แต่ยังสามารถแสดงตัวละครที่เหมือนกับเด็กคนที่ถูกวาร์ปไปโลกของเกมได้อย่างดี และการได้เห็นเขาเล่นหนังแอคชั่นผจญภัยบ้างก็เป็นเรื่องที่แปลกตาสำหรับคนดูเช่นกัน
Good Will Hunting (1997)
หลังจาก Jumanji ภาพยนตร์เรื่องต่อๆ มาของโรบินมักจะเป็นการพยายามนำเสนอความตลกของตัวนักแสดงเป็นหลัก จนหลายเรื่องกลายเป็นหนังที่ทำรายได้ไม่สูงนักไป อาทิ Jack (1996), Father’s Day ที่แสดงร่วมกับเพื่อนสนิทอย่าง บิลลี่ คริสตัล (Billy Crystal) และ Flubber (1997)
แล้วก็เป็นปีค.ศ. 1997 นี้ที่เขาได้มีโอกาสเล่นภาพยนตร์ ‘Good Will Hunting’ (ตามหาศรัทธารัก)
ภาพยนตร์ดราม่าเรื่องนี้ เล่าเรื่องของ วิล ฮันติ้ง (Will Hunting) ภารโรงหนุ่ม ในสถาบัน MIT ที่ใช้ชีวิตเสเพล แต่กลับเป็นอัจฉริยะที่แก้โจทย์คณิตศาสตร์ระดับยากบรมยากได้ แต่เมื่ออาจารย์ที่ตั้งโจทย์หินนั้นพบตัว อาจารย์คนนี้ก็ไม่ได้สนใจอะไร จนวันหนึ่งเขาเจอว่าวิล โดนจับหลังจากไปต่อยตีกับกลุ่มที่เคยกลั่นแกล้งเขาในวัยเด็ก และอาจารย์คนนั้นยอมประกันตัววิลออกมา โดยให้เงื่อนไขว่าจะต้องไปเข้ารับการบำบัดกับจิตแพทย์ ที่สุดท้ายก็ลงเอยที่จิตแพทย์ชื่อ ฌอน แมคไกวร์ (Sean Maguire) แม้ว่า Will จะพยายามปฏิเสธและกวนประสาทจิตแพทย์คนนี้ แต่สุดท้าย ชายทั้งสองคนก็ซื้อใจกันและกันได้เพราะทั้งสองคนมีอะไรคล้ายกันมากกว่าที่คิด และกลายเป็นว่าทั้งสองสื่อใจ ช่วยกันและกันได้มากกว่าที่แม้แต่ตัวพวกเขาเองยังคาดไม่ถึง
หากเทียบกับภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง โรบินเล่นเรื่องนี้ด้วยความสุขุมมากกว่าเรื่องก่อน ทำให้รู้สึกได้ว่า คนที่อยู่ในจอภาพยนตร์นั้นคือชายผู้ยังติดหล่มอยู่กับอดีตที่เสียภรรยาไป แต่ในขณะเดียวกัน แมต เดม่อน (Matt Damon) ที่เป็นนักแสดงนำและเขียนบทก็เจอ โรบินปรับบทระหว่างถ่ายทำอยู่หลายบท ที่โดดเด่นก็คือมุก ‘ตดของภรรยา’ กับประโยคสุดท้ายก่อนภาพยนตร์จะอวสาน
การแสดงที่มีความซับซ้อนทางอารมณ์ของบท ฌอน แมคไกวร์ นี้เองที่ทำให้โรบินสามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขาดาราสมทบชายมาครองได้ หลังจากชวดรางวัลด้านการแสดงจากเวทีนี้มาหลายต่อหลายครั้ง
และหลังจากนั้น โรบินก็รับบททตัวละครที่แม้จะมีอารมณ์ที่ดีแต่ก็มีความซับซ้อนสมเป็นมนุษย์ในภาพยนตร์อีกหลายต่อหลายเรื่อง อาทิ ‘What Dreams May Come’ กับ ‘Patch Adams’ ที่ออกฉายในปีค.ศ. 1998 หรือ ‘Bicentennial Man’ ที่ออกฉายในปีค.ศ. 1999
ขอร้าย ให้โลกรู้ One Hour Photo (2002)
มาถึงจุดนี้แล้ว ผู้ชมภาพยนตร์แทบจะทั้งโลกคงจะนึกหน้าของโรบินขึ้นมาก่อน หากพวกเขาจะนึกถึงตัวละครผู้ชายที่น่ารักและมีความอบอุ่น ผสมกับท่าทีชวนขำ ซึ่งนี่อาจจะเกิดการซ้ำรอยปัญหาสำหรับนักแสดงท่านนี้เคยประสบมาแล้วในช่วงยุค 1980s
ดังนั้นภาพยนตร์ที่เขารับบทนำเป็นเรื่องแรกที่ฉายหลังปีค.ศ. 2000 กลับกลายเป็นภาพยนตร์แนวระทึกขวัญที่โรบินรับบทเป็น Sy ช่างอัดภาพด่วนในห้างสรรพสินค้า ผู้ชื่นชมภาพของครอบครัวที่ใช้บริการอัดรูปกับร้านของเขา ทว่าด้วยความเป็นคนเข้าสังคมไม่เก่งเขาจึงไม่กล้าทักทายครอบครัวที่มาใช้บริการเท่าใดนัก จนกระทั่งวันหนึ่งที่เขาพบว่าครอบครัวในอุดมคติที่เขาชื่นชม อาจจะมีสัมพันธ์ชู้สาว และทำให้เขาตัดสินใจก่อเรื่องที่อาจจะเลวร้ายกว่าที่ใครคิด
โรบินทั้งย้อมและโกนผมเพื่อเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับการรับบทที่เปลี่ยนทิศทางไปนี้ แต่เขาก็ยังคงเป็นคนตลกเสมอในกองถ่าย และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับความสนใจจากคนดูและนักวิจารณ์ระดับหนึ่ง ที่แม้ว่าอาจจะไม่ดังเปรี้ยงปร้างนัก แต่ก็ทำให้เห็นว่าโรบินสามารถทำให้คนต้องระแวงได้เช่นกัน
ผลงานภาพยนตร์หลังจากนั้นของโรบินยังอยู่ในการรับบทบาทตัวละครที่ไม่ใช่คนดีแบบ 100 % อย่างในภาพยนตร์ ‘Death To Smoochy’ ที่ออกฉายในปีค.ศ. 2002 เขารับบทเป็นอดีตดาราในรายการเด็กชื่อดังที่ถูกปลดออกและมีดาราคนใหม่มาแทนที่ และแผนการของตัวละครเอกก็คือการสังหารคนที่แย่งชิงชื่อเสียงของเขาไป
ภาพยนตร์อีกเรื่องที่เข้าฉายในปีค.ศ. 2002 ก็คือ ‘Insomnia’ (เกมเขย่าขั้วอำมหิต) ภาพยนตร์ที่ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Chirtopher Nolan) รับหน้าที่กำกับจากบทภาพยนตร์ที่รีเมคมาจากภาพยนตร์ของนอร์เวย โดยโรบินรับบท Walter Finch ฆาตกรที่ปั่นหัวนักสืบที่มาสืบคดีนี้
หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ โรบินก็รับบทนำในภาพยนตร์ไซไฟระทึกขวัญอย่าง ‘The Final Cut’ ในปีค.ศ. 2004 ก่อนจะกลับไปพากย์เสียในภาพยนตร์อนิเมชั่นตามสไตล์สดใสหลากหลายลีลาในเรื่อง ‘Robots’ ที่ฉายในปีค.ศ. 2005 และเล่นบทรับเชิญยิบย่อยในภาพยนตร์หลายเรื่อง
กลับสู่การรับบทเบาสมอง และเรื่องราวหลังจาก Night At The Museum (2006)
โรบินยังอยู่กับภาพยนตร์แนวระทึกขวัญอีกหนึ่งเรื่องก็คือ ‘The Night Listener’ ที่ออกฉายในปีค.ศ. 2006 แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก
จนกระทั่งกลับมามีบทโดดเด่นระดับที่ผู้ชมจากนานาชาติจำได้ก็คือการมารับบทสมทบในภาพยนตร์ ‘Night At The Museum’ (คืนมหัศจรรย์…พิพิธภัณฑ์มันส์ทะลุโลก) ที่เขาเล่นเป็น รูปปั้นขี้ผึ้งของ ธีโอดอร์ รูสเวลท์ (Theodore Roosevelt) ขี่ม้า ที่คอยให้ความช่วยเหลือพระเอกในการควบคุมความสงบสุขของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับความนิยมมากจนมีการสร้างภาคต่อออกมาถึงสองภาค
ในปีค.ศ. 2006 โรบินก็มีโอกาสไปพากย์เสียงให้ภาพยนตร์อนิเมชั่นอีกครั้งในเรื่อง ‘Happy Feet’ ที่เขาได้ใช้เสียงที่หลากหลายกับการปรับบทให้ร่าเริงทันท่วงทีอีกครั้ง และในปีค.ศ. 2006 นี้เช่นกัน ที่โรบินต้องไปรักษาตัวอยู่ที่ศูนย์บำบัดผู้มีอาการติดสิ่งมึนเมา หลังจากที่เขากลับมาติดเหล้าอีกครั้งในช่วงปีค.ศ. 2003 ระหว่างที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ‘The Big White’ ใน Alaska
ในช่วงปีค.ศ. 2007 ตัว โรบินออกทัวร์แสดงตลกแบบเดี่ยวไมโครโฟนให้ทหารที่ประจำการอยู่นอกสหรัฐอเมริกา ก่อนจะต่อด้วยการออกทัวร์เดี่ยวไมโครโฟนทั่วสหรัฐฯ ในปีค.ศ. 2008 ทำให้ไม่มีผลงานภาพยนตร์มากนักในช่วงสองปีดังกล่าว และในปีค.ศ. 2009 ถึงในปีนั้นจะมีภาพยนตร์ที่ทำรายได้ดีแบบ ‘Night at the Museum: Battle of the Smithsonian’ เข้าฉาย ในปีนั้นโรบินก็ต้องพักฟื้นร่างการเพราะต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก ส่วนปัญหาติดเหล้านั้นก็ยังไม่คลี่คลายระดับที่ภรรยาคนที่สองขอเลิกราในปีค.ศ. 2010
เห็นได้ชัดว่าในช่วงนี้ที่อายุมากขึ้นและป่วยไข้นี้ โรบินเริ่มเปลี่ยนมุมมองในการทำงานไป แม้ว่าเขาจะยังเอาเรื่องป่วยไข้ที่เจอกับตัว ไปเล่นตลกแซวตัวเองอยู่บ่อยครั้ง แต่เขาเริ่มคิดละเมียดขึ้น เล่นหนังที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ภาพยนตร์ที่คนหมู่มากน่าจะจดจำได้ในช่วงนั้นก็คงจะเป็น ‘Happy Feet Two’ ที่ฉายในปีค.ศ. 2011 ซึ่งเขากลับมารับพากย์เสียงตัวละครนกเพนกวินแสนสดใส และในปีค.ศ. 2011 เขาก็แต่งงานกับ Susan Schneider ภรรยาคนที่สาม
หลังจากนั้น โรบินมักจะเล่นภาพยนตร์ในบทสมทบ ก่อนที่เขาจะกลับไปสู่การเล่นซิตคอมอีกครั้งในปีค.ศ. 2013 กับเรื่อง ‘The Crazy Ones’ แม้ว่าเจ้าตัวจะได้ร่วมงานกับ Sarah Michelle Gellar ที่สนิทสนมจนเรียกโรบินว่า ‘พ่อคนสำรอง’ และได้ร่วมงานกับ Pam Dawber อีกครั้ง กระนั้นคนใกล้ตัวหลายคนก็สังเกตได้ว่า ชายคนนี้ดูสดใสน้อยลงกว่าที่เคย เขาดูอมพะนำ มีความลับในใจ
เหตุที่ก่อให้เกิดความโศกสลดที่ก่อขึ้นในตัวของดาวตลกระดับโลกก็คือ การตรวจสุขภาพกับแพทย์ และหมอเข้าใจว่าเขาเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเพื่อนสนิทอีกคนอย่าง Bobcat Goldthwait ก็เคยเข้าใจว่าเขามีอาการของโรคนี้จริง และตัวแทนของโรบินได้กล่าวว่า ดาราชื่อก้องโลกคนนี้ มีอาการของโรคซึมเศร้า หลังจากได้รับทราบอาการป่วยนี้และก่อนหน้านั้นเขายังไม่พร้อมจะเปิดเผยเรื่องนี้ให้สาธารณะรับทราบ ก่อนที่การชันสูตรศพจะทำให้พบว่าโรบินมีภาวะสมองเสื่อมจาก ‘โรคลิววี่บอดี้’ (Lewy Body) กระนั้นคนที่คิดไวทำไวแบบโรบินนั้นก็เข้าใจดีว่าตัวเองไม่เหมือนก่อนแล้ว และความรู้สึกของตัวเองรวมกับข้อมูลที่เขาเคยพบเจอมาก่อน อาจจะทำให้เขาอยู่ในภาวะที่กดดันจนไม่สามารถหาทางออกอื่นให้ได้
แต่สิ่งที่เขาอาจจะไม่รับรู้ก็คือ หลังจากการจากไปของเขา เพื่อนในวงการบันเทิงกับคนที่มีโอกาสได้พบเจอเขาต่างจดจำเขาว่าเป็นคนถ่อมตัว มักจะอยู่เงียบๆ ไม่บอกเล่าปัญหาให้ใครฟัง แต่ทุกคนก็รับรู้ว่าเขารักคนรอบตัว เฉกเช่นเดียวกับที่คนใกล้ชิดก็รักเขา ระดับที่หลายคนยังทำใจไม่ได้ที่จะพูดถึงการจากไปของดาราที่เคยเปล่งประกายดวงนี้
เชื่อว่าหลายคนอาจจะตกใจจนเหมือนอะไรหายไปจากชีวิต เพราะว่าดาราตลกที่เป็นตำนานคนนี้นั้น เป็นส่วนหนึ่งที่งดงามในชีวิตไปแล้ว แม้ว่าเขาจะจากไปแล้วก็ตามที ซึ่งตรงข้ามความกังวลหนึ่งที่โรบินเคยแสดงให้เห็นว่าผู้คนจะลืมเลือนเขาไป เพราะเขาได้ฉกฉวยมุมหนึ่งของหัวใจของผู้ชมไปนานแล้ว
คำขอสุดท้ายของดาราผู้จากไปคือการให้นำเอาเถ้ากระดูก ไปโปรยลงในอ่าวซานฟรานซิสโก แม้ว่าตัวจะจากไปแล้ว แต่เสียงกับการแสดงของเขาที่ฝากไว้กับผู้คนในยุคสมัยนี้ จะไม่ถูกลืมเลือนไปอีกนาน
อ้างอิงข้อมูลจาก
ภาพยนตร์สารคดี Robin Williams: Come Inside My Mind
IMDB.com
Youtube Channel: Screen Rant – Robin Williams: Voice Of An Era [Documentary]
Youtube Channel: Bigorapics – Robin Williams Biography: The Darkness Behind the Light