“ขอผมพูดอะไรสักคำ ตอนวันเกิดพ่อครั้งล่าสุด ผมบอกพ่อว่า ผมรักพ่อมากที่สุดและผมภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกของพ่อ มันจะเป็นถ้อยคำที่จริงแท้ตลอดกาล”
ไมเคิล ดักลาส (Michael Douglas) นักแสดงฮอลลีวูดโพสต์ข้อความแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ เคิร์ก ดักลาส (Kirk Douglas) ตำนานนักแสดงฮอลลีวูดผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งจากโลกนี้ไปด้วยวัย 103 ปี เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
สำหรับผู้ชื่นชอบภาพยนตร์ นี่คือการจากไปของนักแสดงที่มีผลงานภาพยนตร์เลื่องชื่อ สำหรับคนที่ไม่คุ้นกับเขา นี่คือนิยามของมนุษย์คนหนึ่งที่ผลักดันตัวเองจากจุดต่ำสุด ค้นหา ตั้งใจ ฝึกฝน ใช้ชีวิต ท้าทาย ไม่ยอมแพ้ เพื่อจะลือลั่นคู่ควรกับคำว่า ผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง
ลูกของคนเก็บของเก่า
เคิร์ก ดักลาส เกิดที่เมืองนิวยอร์ก ปี ค.ศ.1916 ในครอบครัวอพยพชาวรัสเซียเชื้อสายยิว พ่อกับแม่ของเคิร์กไม่รู้หนังสือ เขาเกิดมาเป็นลูกคนที่ 6 จากพี่น้อง 7 คน โดยพี่ทุกคนของเขาเป็นผู้หญิงทั้งหมด แรกเกิดมานั้น เคิร์ก ดักลาส ไม่ใช่ชื่อของเขา แต่คือ อิชชู ดาเนี่ยลโลวิช (Issur Danielovitch) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น อิชชู เด็มสกี้ (Issur Demsky) และมีชื่อเล่นว่า อิชชี่ (Izzy) ซึ่งเคิร์กบอกว่าเขาเกลียดชื่อนี้มาก โดยเฉพาะชื่อเล่น
ชีวิตครอบครัวลูกคนอพยพเป็นไปด้วยความยากลำบาก ในยุคนั้นกระแสการเกลียดชังคนยิวดำรงอยู่ในสังคมโลก แม้กระทั่งในอเมริกา พ่อของเขาไม่สามารถหางานดี ๆ ทำได้ เพราะหลายที่ไม่ต้อนรับพวกคนยิว พ่อของเคิร์กจึงต้องทำงานเก็บของเก่าขาย
เคิร์กเล่าว่า ทุกหัวมุมถนน ในย่านยากจนสุดของเมือง ซึ่งหลายครอบครัวดิ้นรนต่อสู้ คนเก็บของเก่าคือวรรณะที่ต่ำสุด และผมก็คือ “ลูกคนเก็บของเก่า” ต่อมาเขาจะเอาชื่อนี้ไปตั้งเป็นชื่อหนังสือชีวประวัติของตัวเอง
ชีวิตกระเสือกกระสน เงินแทบไม่พอซื้ออาหาร อิชชี่ต้องทำงานสารพัดอย่าง กว่าไอ้หนูอิชชี่จะกลายเป็นเคิร์กได้ ต้องทำงานเกือบ 40 งานหาเลี้ยงชีพ พอเรียนจบมัธยมปลาย ก็ไม่มีเงินเรียนต่อมหาวิทยาลัย ต้องไปทำงานเป็นนักมวยปล้ำ หาเงินส่งตัวเองเรียนมหาวิทยาลัย ด้วยความฝันตั้งแต่เด็กที่ตั้งใจจะเป็นนักแสดงให้ได้
“ผมอยากเป็นนักแสดงมาโดยตลอด ผมเชื่อแบบนั้น
ตั้งแต่ออกไปท่องกวีตอนอนุบาล แล้วทุกคนปรบมือ
ผมชอบเสียงนี้มาก จึงตั้งใจว่าจะต้องเป็นนักแสดงให้ได้”
ดังนั้นเมื่อมีเวลาว่างหลังการทำงานหาเงินเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เขามักจะไปแสดงละครเวทีในโรงละครเล็ก ๆ อยู่เสมอ จนเมื่อสามารถกู้เงินยืมเรียนจนสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ เขาก็ยังต้องทำงานสารพัดอย่าง รวมถึงการเป็นนักมวยปล้ำตามงานวัด
เมื่อเรียนจบ เขาตัดสินใจเปลี่ยนชื่ออย่างถูกกฎหมาย โดยเลือกชื่อว่า เคิร์ก ดักลาส เพราะชื่อเดิมนั้นมันไม่เหมาะกับการเป็นนักแสดง เขาเลือกชื่อ เคิร์ก ดักลาส เพราะดูแมนๆ ดี โดยไม่รู้มาก่อนว่ามันเป็นชื่อของคนสก็อต
เพื่อมุ่งตามความฝัน จึงย้ายกลับไปนิวยอร์ก เพื่อเข้าเรียนในสถาบันศิลปะการละครอเมริกัน โดยเขาได้รับทุนการศึกษาให้เข้าเรียนที่สถาบันการแสดงนี้ เคิร์กได้พบกับนักแสดงหญิงผู้เป็นตำนานอย่าง ลอเรน เบคอลล์ (Lauren Bacall) ทั้งสองเรียนชั้นเดียวกัน และเธอคือผู้แนะนำเขาให้กับผู้กำกับภาพยนตรที่จะเลือกเคิร์กไปแสดงหนังจนโด่งดังในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ระหว่างที่เรียนการแสดง เคิร์กยังได้พบกับภรรยาคนแรก ไดอานา ดิล (Diana Dill) ทั้งสองได้แต่งงานกันในปี ค.ศ.1943 หลังจากแต่งงาน เขาก็ไปสมัครเป็นทหารเรือโรมรันในมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเข้าสู่สมรภูมิรบจนได้รับบาดเจ็บและถูกปลดออก เมื่อกลับสู่ความเป็นพลเรือนอีกครั้ง เคิร์กก็มุ่งหน้ากับการก้าวไปเป็นนักแสดงในฮอลลีวูดทันที
กบฎผู้กล้า
หลังจากเคิร์กตระเวนแสดงละครเวทีเพื่อฝึกปรือตัวเอง เมื่อมีโอกาสได้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก เขาก็มีเรื่องอื่นตามมาทันที ในเวลาต่อมาผู้คนจะยกย่องเคิร์กว่าเป็นนักแสดงคนแรกๆ ที่แสดงภาพยนตร์ด้วยบทบาทตัวละครแบบแอนตี้ฮีโร่ เปลี่ยนภาพลักษณ์ความเป็นชายแท้แต่แบนราบ เขามักจะไปรับบทที่เผยให้เห็นด้านอ่อนแอ ด้านหดหู่ ด้านล้มเหลวของตัวละครได้อย่างดีเยี่ยม
ตอนที่เขาแสดงเป็นวินเซนต์ แวนโกะห์ จอห์น เวย์น (John Wayne) นักแสดงตำนานอีกคนในฮอลลีวู้ดถึงขั้นตกใจและถามว่าทำไมไปแสดงอะไรแบบนั้น พวกเราต้องแสดงให้เห็นด้านแข็งแกร่ง ตัวละครเข้มแข็ง ไม่เผยด้านที่อ่อนแอให้ใครเห็นเด็ดขาด
อย่างไรก็ดีผลงานการแสดงของเคิร์กประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ตัวละครของเขาจับใจคนดูมาก สำหรับเคิร์ก มันเป็นเรื่องท้าทายที่ได้แสดงบทบาทต่างๆ ด้วยความที่เคยเป็นนักมวยปล้ำมาก่อน เขาเชื่อว่าตัวเองสามารถเล่นบทบู๊ๆ ได้โดยไม่ต้องมีสตั๊นท์แมน หรือแม้แต่สแตนด์อิน หากตัวละครต้องมีทักษะอะไรในเรื่อง เคิร์กจะหัดทำก่อน เขาพยายามเข้าถึงตัวละครอย่างถึงที่สุด
เมื่อสัญญา 7 ปีที่เคิร์กเซ็นกับค่ายหนัง ซึ่งเขาเปรียบว่ามันคือสัญญาทาสหมดอายุลง เขาก็ทำในสิ่งที่นักแสดงยุคนั้นไม่ทำกันคือออกมาตั้งค่ายหนังของตัวเองและเลือกรับงาน นั่นทำให้เขาได้พบกับผู้กำกับภาพยนตร์หนุ่มที่จะเป็นตำนานขวัญใจแฟนหนังหลายคนอย่าง สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick)
ทั้งสองได้ร่วมงานกันสร้างภาพยนตร์ที่จะเป็นตำนานทั้งในแง่สุนทรีย์แห่งภาพยนตร์และประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อเมริกันอย่าง ‘สปาร์ตาคัส’
สปาร์ตาคัส บอกเล่าเรื่องราวของทาสหนุ่มที่ลุกขึ้นนำทาสทั้งหลายกบฎต่อต้านการกดขี่ของอาณาจักรโรมัน ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เคิร์กได้ให้ ดัลตัน ทรัมโบ (Dalton Trumbo) มือเขียนบทที่อยู่ในบัญชีดำของฮอลลีวู้ดเป็นคนเขียนเรื่อง
สำหรับทรัมโบนั้น เขาเคยติดคุก 10 เดือนเพราะปฏิเสธจะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการพิจารณากิจกรรมที่ไม่เป็นอเมริกัน ซึ่งเป็นคณะกรรมการล่าแม่มดของวุฒิสมาชิก โจเซฟ แม็คคาร์ธี (Joseph McCarthy) ซึ่งไล่ล่าคนอเมริกันจำนวนมาก และกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ การล่าแม่มดนี้ทำให้คนอเมริกันหลายคนถูกสังคมตราหน้าจนหางานทำไม่ได้ นั่นรวมถึงทรัมโบและเพื่อนนักเขียนจำนวนมากด้วย
หลังถูกล่าแม่มด พวกเขาหางานทำไม่ได้ เพราะไม่มีคนจ้าง ไม่มีคนในฮอลลีวูดอยากทำงานกับพวกที่โดนกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ดีทุกสังคมล้วนเสแสร้ง บทภาพยนตร์ดีเยี่ยมมากมาย มาจากผลงานของทรัมโบ เพียงแต่ไม่มีใครทราบเพราะเขาต้องใช้นามปากกาปิดบังตัวเอง
แต่ไม่ใช่กับเคิร์ก เมื่อเขาติดต่อทรัมโบให้มาเขียนบทสปาร์ตาคัส เขาระบุว่าจะให้ทรัมโบใส่ชื่อจริงนามสกุลจริงไปเลย
ด้วยความที่เคิร์กไม่ใช่นักแสดงกระจอกอีกแล้ว เขาจึงได้ฉีกทำลายบัญชีดำนี้ทิ้งทันที แม้ยุคนั้นจะมีสื่อเรียกร้องให้คนแบนหนังเรื่องนี้ แต่กระแสธารแห่งความถูกต้องย่อมอยู่เหนือยุคสมัย สุดท้ายมันก็ไม่อาจยื้อรั้งฉุดความก้าวหน้าได้ บัญชีดำที่ดำรงอยู่ในฮอลลีวู้ดมาหลายปี บัดนี้มันถูกทำลายลงไปแล้วอย่างเรียบง่าย ด้วยการผลักดันของเคิร์ก ดักลาสนี่เอง
แม้หลายคนจะวิจารณ์ว่าเคิร์กได้รับการยกย่องในเรื่องนี้มากไปหน่อย แต่สำหรับครอบครัวของทรัมโบ ทุกคนต่างยกย่องและซาบซึ้งเคิร์กเป็นอย่างมาก
เคิร์กให้เหตุผลว่า สิ่งที่เขาทำคือการต่อสู้กับระบบเสแสร้งในฮอลลีวูด ซึ่งพวกหัวหน้าสตูดิโอใช้บัญชีดำเหล่านี้กดขี่ค่าแรง ไม่จ่ายเงินเต็มจำนวน แล้วบังคับให้นักเขียนบทที่โดนบัญชีดำต้องใช้นามปากกาปกปิดตัวเอง
อาจเพราะเขาเป็นลูกคนยิวที่สังคมตอนนั้นรังเกียจ เป็นลูกคนเก็บของเก่าที่อยู่ในชนชั้นต่ำสุดในสังคม ต้องทำงานสารพัดกว่าจะมาถึงจุดนี้ เมื่อมาถึงจุดที่สามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมวิชาชีพได้ เคิร์กไม่ลังเลที่จะเพิกเฉยต่อการกดขี่นี้
บางทีคำว่า นักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ ก็อาจไม่พอจะยกย่องเคิร์ก ดักลาสได้
ชีวิตนั้นมีค่า
ตลอดชีวิตการแสดง เคิร์ก ดักลาส มีผลงานกว่า 80 เรื่อง แต่ผลงานหลายๆ ชิ้นไม่เป็นที่น่าจดจำ ถูกนักวิจารณ์สับเละ เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ แต่ไม่เคยได้รางวัลในฐานะนักแสดง แต่ไปได้รางวัลเกียรติยศยกย่องแทน ทั้งนี้เคิร์กยังเป็นนักเขียนอีกด้วย เขาเขียนหนังสือหลายเล่ม ทั้งชีวประวัติตัวเองรวมถึงนวนิยาย เขาก็เคยประพันธ์ออกมาหลายเล่มอยู่เหมือนกัน
สำหรับชีวิตครอบครัว ความรักกับภรรยาคนแรกจบลงที่การหย่าร้าง โดยเธอให้เหตุผลว่าเขานอกใจเธอ เคิร์กแต่งงานกับภรรยาคนที่สองซึ่งพบกันที่ฝรั่งเศส โดยลูกคนสุดท้องกับภรรยาคนที่สอง เสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาด
ในปี ค.ศ.1991 เคิร์กรอดชีวิตจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตก อุบัติเหตุครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 2 คน ปี ค.ศ.1996 เขาป่วยด้วยโรคหลอดเลือดในสมองทำให้สั่งการร่างกายไม่ได้ นั่นทำให้เขาหดหู่ซึมเศร้า เกือบคิดจะฆ่าตัวตายด้วยซ้ำไป แต่เลือดนักสู้ยังเต็มเปี่ยม เคิร์กรักษาตัวเองจนหายกลับมาได้อีกครั้งและยังไปแสดงหนังอีกหลายเรื่องด้วย
ในยามชรา เคิร์กกับภรรยาตั้งกองทุนทำงานการกุศลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสนามเด็กเล่นในเมืองลอสแอนเจลิส กว่า 400 แห่ง สร้างศูนย์ช่วยเหลือหญิงไร้บ้าน ช่วยเหลือผู้ติดยาและแอลกอฮอลล์ ตั้งโรงเรียนมัธยมปลายเพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาให้สามารถเรียนจบได้ ตั้งโรงละครเวทีเพื่อช่วยให้ศิลปินหนุ่มสาวได้ใช้พื้นที่ในการสร้างสรรค์ ในปี ค.ศ.2015 เมื่ออายุได้ 99 ปี เคิร์กและภรรยาบริจาคเงิน 15 ล้านยูเอสดอลลาร์ก่อตั้งศูนย์ดูแลคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์
ด้วยผลงานการแสดง การทำเพื่อสังคม ความถูกต้อง เคิร์กได้รับเหรียญ Medal of Freedom ซึ่งเป็นเหรียญยกย่องขั้นสูงสุดที่ให้กับพลเรือนจากประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) รวมถึงรางวัลอีกมากมายที่ได้รับตลอดชีวิต การแสดงภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย เคิร์กแสดงเป็นพ่อ โดยมีไมเคิล ดักลาส ลูกชายแท้ๆ รวมถึงคนในครอบครัวมาร่วมแสดงด้วย มันเป็นภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวของพ่อผู้แปลกหน้าที่ห่างเหินกับลูกชาย ซึ่งคล้ายคลึงกับชีวิตลูกคนเก็บของเก่าที่มีฐานะยากจนในวัยเด็ก ขาดความอบอุ่นจากพ่อ สิ่งเหล่านี้อยู่ในใจเคิร์กเสมอมา
เขาบอกว่าเรื่องราวเหล่านี้มันอธิบายแรงขับดันในตัวได้เป็นอย่างดี มันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเคิร์ก ดักลาส
สรุป
นี่คือนักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ ชีวิตของมนุษย์ที่ดำรงตนอยู่ยาวนาน ผ่านหนทางขวากหนาม ดิ้นรนต่อสู้มากมายจนมายืนอยู่ในจุดที่ตัวเองต้องการใฝ่ฝัน แล้วยังทำเพื่อคนอื่น ให้คนทุกข์ยากได้มีชีวิตดีขึ้น เขาได้อยู่ในยุคทองของฮอลลีวูดซึ่งเป็นรากฐานสืบทอดให้กับนักแสดงรุ่นต่อมาได้โลดแล่นในวงการที่เปี่ยมด้วยประวัติศาสตร์และเรื่องราวมากมาย
ชีวิตและความตายของเคิร์ก ดักลาส อาจจบลงด้วยบทความของนิวยอร์ก ไทมส์ที่ปิดท้ายได้อย่างตราตรึงว่า
“หลายปีก่อน ผมนั่งอยู่ข้างเตียงเฝ้าแม่ที่กำลังจากไป แม่ผู้ไม่รู้หนังสือ เป็นเพียงแค่ชาวนา ผมจับมือเธอไว้ แม่เปิดตามาแล้วมองผม สิ่งสุดท้ายที่เธอบอกผมก็คือ “อย่ากลัวไปลูก มันเกิดขึ้นกับทุกคน”