ปรากฏการณ์ซึมเศร้าจากการศึกษาในระดับสูงเกิดขึ้นทุกวัฒนธรรมทั่วโลก น่าแปลกที่คนมีการศึกษาสูงยิ่งเผชิญความยากลำบากในการถ่ายทอด ‘ความเครียดและความวิตกกังวล’ มากขึ้น ดังนั้น คนรอบข้างสามารถสังเกตความเปลี่ยนแปลงเบื้องต้นได้อย่างไรบ้างเมื่อนักศึกษาปริญญาโทต้องการความช่วยเหลือ?
ในปี 2013 นักศึกษาภาควิชาจุลชีววิทยาอนาคตไกล Wendy Ingram จากรั้วมหาวิทยาลัยชั้นนำ University of California, Berkeley หายจากห้องเรียนหลายวันจนถูกพบว่า เธอตัดสินใจ ‘ฆ่าตัวตาย’ ด้วยความเครียดจากการเรียนหนักในระดับปริญญาโท สร้างความตกตะลึงให้กับคนรอบข้าง เพราะเธอมักดูร่าเริงเมื่ออยู่กับคนอื่นๆ จนแทบไม่มีใครสังเกตความเครียดของเธอที่ถึงจุดระเบิดไปแล้ว
เหตุการณ์นี้ทำให้มหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญและจัดตั้งกลุ่ม Graduate Network ขึ้นมา เป็นช่องทางให้นักศึกษามีพื้นที่ได้รับการเยียวยาจากความทุกข์ของการเรียน ในกลุ่มมีทั้งนักศึกษารุ่นพี่ที่มาแชร์ประสบการณ์คุยกับรุ่นน้อง มีนักจิตวิทยามาให้คำปรึกษา และอาจารย์เองก็ได้รับการอบรมเพื่อไม่ให้กดดันนักศึกษามากไปและให้เข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้ เพราะบ่อยครั้งแม้แต่อาจารย์เองก็หลงลืมไปว่า มนุษย์เรียนรู้ไม่เหมือนเครื่องจักร
โมเดลของ University of California, Berkeley น่าสนใจจนมหาวิทยาลัยในสหรัฐอื่นๆ นำไปพัฒนาต่อบ้าง
ทำไมการเอาใจใส่สุขภาพจิตนักศึกษาปริญญาโทถึงมีความสำคัญ The MATTER จะพามาสำรวจกัน
1. ปัจจัยที่นำมาสู่ความเครียด
จากการถอดบทเรียนกลุ่มเยียวยานักศึกษาปริญญาโท Graduate Network พบข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ แม้แต่ละคนจะมีเหตุปัจจัยต่อความเครียดต่างกัน แต่กลับมีจุดร่วมที่คล้ายคลึงกันเป็นอันดับต้นๆ คือ ความรู้สึกวิตกกังวลต่อการแข่งขัน (competitive anxiety) ที่รู้สึกว่าสิ่งที่เรียนไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และมีความคาดหวังต่ออาชีพค่อนข้างสูง เพราะการตัดสินใจเรียนต่อเป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่ง ความรู้สึกไม่มั่นคงต่ออาชีพในอนาคตจึงสั่นคลอนกำลังใจในการเรียน ทำให้ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ลุงทุนไปคุ้มแล้วหรือไม่
ปัจจัยสำคัญอีกประเด็นที่ไม่แพ้กัน คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษา (supervisor-student relationship) ที่บั่นทอนความรู้สึกอยากเรียน อาจารย์อาจคาดหวังมากเกินไป หรือความสัมพันธ์พัฒนาไปเป็นอำนาจทับซ้อนระหว่างผู้มีอำนาจเหนือกว่าและผู้มีอำนาจน้อยกว่า—สร้างความกดดันจนพัฒนาเป็นความเครียดระยะยาว
2. ความสัมพันธ์ร้าวฉานของอาจารย์ที่ปรึกษากับนักศึกษา
บรรยากาศขมุกขมัวทุกครั้งที่พบหน้าอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นปัจจัยที่ ‘ท้าทายที่สุด’ David Sacks นักจิตวิทยาจาก The American School of Professional Psychology กล่าวว่า “มันย้อนแย้งนักที่อาจารย์มาในตำแหน่ง supervisor แต่กลับไม่สามารถให้คำปรึกษาใดๆ ได้เลยนอกเหนือจากเรื่องเรียน หรือหลายเคสกลับทำได้แย่กว่าเดิม”
ความขัดแย้งเช่นนี้เกิดในทุกประเทศ และเมื่อเกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น ‘ความอาวุโส’ จะถูกหยิบขึ้นมาใช้ทันที มหาวิทยาลัยมักยืนข้างอาจารย์ ทำให้เกิดความไม่สมดุลทางอำนาจเพราะผู้สอนมีอำนาจเหนือกว่าผู้เรียน ผู้เรียนจำต้องเลือกกล้ำกลืนฝืนทนความรู้สึกเชิงลบนั้นไป ไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาใคร คนกลางที่คอยไกล่เกลี่ยให้ก็ไม่มี
พอเอาเข้าจริง ความเครียดจากการเรียนโดยตรงกลับมีผลน้อยกว่าปัญหาความสัมพันธ์จากคน
3. ยอมรับให้ได้ว่าคุณก็ ‘อ่อนแอเป็น’
ก้าวแรกที่จะเข้าสู่การเยียวยาหัวใจคือยอมรับว่า คุณเองไม่ได้แข็งแกร่งดุจหินผา แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนไหวต่อปัจจัยร่วมที่แปรเปลี่ยนได้เสมอ อย่าอายที่จะเปิดเผยความเครียด ความเศร้า และความวิตกกังวล คุณเองก็เป็น ‘กลุ่มคนส่วนใหญ่’ ที่เผชิญหน้ากับความยากลำบากในระหว่างการเรียนเช่นกัน
งานวิจัยล่าสุดในปี 2018 สำรวจนักศึกษาปริญญาโทในสหรัฐอเมริกาจำนวน 2,200 คน พบตัวเลขที่น่าสนใจว่า 41% ยอมรับว่าตัวเองรู้สึกวิตกกังวล (anxiety) ในระหว่างเรียน และอีก 39% เข้าข่ายซึมเศร้า (depression) โดยนักศึกษากลุ่ม transgender มีแนวโน้มมากที่สุด รองลงมาคือนักศึกษาหญิงและนักศึกษาชายตามลำดับ
เหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากศึกษากลุ่ม transgender เป็นกลุ่มที่เสี่ยงถูกคุกคามทางเพศและถูกปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมในสถานศึกษามากที่สุด
4. เห็นแล้วอย่าเงียบ รู้สึกแล้วอย่าเก็บไว้
การที่คุณไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบกับเหล่านักศึกษาปริญญาโท (หรือแม้แต่คนอื่นๆ) เป็นการเปิดประตูใจเบื้องต้น หากคุณรับรู้ว่าพวกเขากำลังดิ้นรนต่อสู้กับความอึดอัดคับข้องใจ อย่าเงียบงันอย่างเฉยเมย Emily O’Hara นักจิตวิทยาการปรึกษากล่าวว่า “เราถามทุกคนตลอดเวลาว่าคุณยังโอเคอยู่ไหม ทั้งกับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ครู อาจารย์ และนักศึกษา”
คนส่วนใหญ่กลัวว่า หากพูดหรือแนะนำอะไรไปแล้วจะทำให้เรื่องแย่กว่าเดิม เลยเลือกไม่รับรู้แต่ต้นดีกว่า ซึ่งค่อนข้างอันตรายทีเดียว เมื่อคุณเห็นความไม่ปกติ ลองเริ่มพูดคุยดูก่อน แม้คุณจะยังไม่มีไอเดียดีๆ ในการแก้ไขมันเลยก็ตามในตอนแรก
5. รับฟังด้วยใจ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย
เวลาเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่ค่อยมอบให้ใคร ทุกคนดูยุ่งไปเสียหมด ดังนั้น พยายามหาโอกาสรับฟังนักศึกษาถึงปัญหาที่พวกเขามีโดยไม่พยายามไปตัดสินการตัดสินใจของเขาแบบถูกผิด เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมบาดแผล (destigmatize) และสนับสนุนความรู้สึกเชิงบวกที่พวกเขารวบรวมความกล้ามาปรึกษา
การขอความช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องอับอาย และไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนอ่อนแอ การรับคำปรึกษากลับเป็นอีกทางหนึ่งที่จะพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ให้มากกว่าเดิม
6. ติดตามผลเป็นระยะ และขอความช่วยเหลือจาก ‘มืออาชีพ’
ความเครียดจำต้องมีการศึกษาและติดตามผลเป็นระยะเพื่อดูว่าคุณตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างไร ดังนั้น โปรแกรมที่ออกแบบมาอย่างดีมักอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยาที่ให้คำปรึกษานักศึกษาปริญญาโทในโปรแกรมของ Graduate Network จะกระตุ้นให้พวกเขาเห็นทางเลือกว่า จริงๆ แล้วภายในมหาวิทยาลัยไม่ได้ปิดกั้นความรู้สึกเชิงลบของผู้เรียนเลย พวกเขาไม่ได้เผชิญความเครียดอย่างเดียวดาย การศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องของความ ‘เก่งหรือไม่เก่ง’ ซึ่งในชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัยเองก็ไม่ได้วัดผลเช่นนั้น
University of California, Berkeley ทำสำเร็จในการลดอัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มนักศึกษาปริญญาโท และมีส่วนลดความวิตกกังวลในการเรียนผ่านโปรแกรม Graduate Network อย่างมีนัยสำคัญ
น่าสนใจที่มหาวิทยาลัยในไทยควรมีส่วนร่วมในชีวิตนักศึกษามากขึ้นโดยเฉพาะด้านจิตใจ
การประสิทธิ์ประสาทวิชาโดยการขาดความเข้าอกเข้าใจความเป็นมนุษย์ อาจจะทำให้ได้คนที่มีความรู้แต่สูญสิ้นหัวใจสู่โลกภายนอก และนั่นคงไม่ใช่สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องการ
อ้างอิงข้อมูลจาก
- The Graduate Assembly Graduate Student Happiness & Well-Being Report | 2014
- Stressed-Out Students: UC Campuses Strain to Meet Soaring Need for Counseling