หลังจาก ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) เสร็จสิ้นภารกิจเดินทางอันยาวนานด้วยเรือหลวงบีเกิล (HMS Beagle) เขาเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจเปี่ยมล้นจากการสำรวจหมู่เกาะ ‘กาลาปากอส’ เกาะสุดพิสดารทางชีวภาพทำให้เขากรุยเส้นทางสู่ทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ มอบกระบวนทัศน์อันลุ่มลึกในการมองชีวิต และสร้างแนวคิดสะเทือนความเชื่อเรื่องพระเจ้าเป็นผู้สร้างชีวิต มีผู้คนแซ่ซ้องพร้อมๆ กับผู้คนที่ก่นด่าสาปแช่ง ชาลส์ ดาร์วิน เป็นนักปฏิวัติจนคุณคงคิดว่า คนเหล่านี้ที่กล้าสร้างสิ่งใหม่ๆ คงเป็นคนที่หนักแน่นเข้มแข็งดุจหินผา ไม่มีอะไรสามารถทำให้เขาโอนอ่อนได้ง่ายๆ
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ชาลส์ ดาร์วิน กลับเป็นชายที่อ่อนไหว วิตกกังวล แถมต้องแบกรับอาการเจ็บป่วยทางกายและทางจิตยาวนานกว่า 40 ปี หลายครั้งที่อาการเจ็บป่วยถูกสอดแทรกอย่างมีนัยยะในงานเขียนของเขา หรือผ่านการระบายทุกข์ผ่านจดหมายที่เขาสื่อสารกับเหล่าเพื่อนในสมาคม ชาลส์ ดาร์วิน ไม่ได้เป็นคนที่มีสุขภาพดีนัก ทุกๆ วันเขามักอาเจียน บ่นปวดหัวปวดท้อง เหนื่อยล้าอ่อนแรง คันตามร่างกายจากโรคผิวหนัง
ความเจ็บป่วยของ ชาลส์ ดาร์วิน ถูกนักวิชาการรุ่นหลังนำมาศึกษาและตีความมากมาย ส่วนหนึ่งมองว่า ความเจ็บป่วยทางกายและทางจิตมีผลต่อการสร้างกระบวนทัศน์เรื่องวิวัฒนาการและการศึกษาธรรมชาติ บ้างก็ว่ามีแพทย์กว่า 20 ราย พยายามรักษาเขาแต่ไร้หนทาง บ้างก็ว่าเขาถูกสารเคมีอันตรายบางชนิด บ้างก็มีหลักฐานว่า ชาลส์ ดาร์วิน มักอาเจียนหลังกินอาหาร 3 ชั่วโมงให้หลัง หรือเขาอาจถูกแมลงพิษเขตร้อนต่อยเข้าขณะสำรวจเกาะกาลาปากอส หรือลึกซึ้งไปกว่านั้น ถึงขั้นระบุว่าเขาแพ้แลคโตส (lactose) ในนมและเนยที่มักทำให้เขาเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารและอาเจียนบ่อยๆ ดูเป็นชีวิตที่ประชดประชันไม่น้อย เมื่อแลคโตสเองก็มีความสำคัญด้านวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และเขาดันแพ้แลคโตสด้วยซะนี่ (ประชากรโลกมนุษย์รุ่นใหม่ๆ ก็มีแนวโน้มแพ้แลคโตสเช่นกัน เนี่ยแหละวิวัฒนาการมนุษย์)
ในช่วงแรกนักวิชาการส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่อาการเจ็บป่วยทางกายอย่างเดียว ว่าเขาเป็นโรคนู่นนี่สารพัด แต่ในยุคหลังๆ องค์ความรู้ด้านจิตวิทยาพัฒนามากขึ้น กรอบการมองความเจ็บป่วยจึงขยายออกไปถึงจิตภาวะ จนเกิดข้อสันนิฐานว่า
“หรือ ชาลส์ ดาร์วิน อาจเป็นโรคซึมเศร้า?”
ปริศนาในความป่วยไข้
ชาลส์ ดาร์วิน เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1882 แต่นักประวัติศาสตร์ แพทย์สาขาต่างๆ รวมไปถึงจิตแพทย์สมัยใหม่เริ่มมองว่า ชาลส์ ดาร์วิน น่าจะเป็นคนที่มีอาการวิตกกังวลแบบเรื้อรัง สาละวนอยู่กับความคิดย้ำคิดย้ำทำ จากส่วนหนึ่งที่เขากังวลต่อสุขภาพของลูกๆ ทั้ง 2 ที่มักป่วยหนักจนเฉียดตายหลายครั้ง ในขณะที่งานวิชาการที่ทำอยู่ก็เร่งรัด และมักได้พลังลบเสียส่วนใหญ่เมื่อไปแสดงปาฐกถาในที่ต่างๆ เพราะอย่างน้อยจะมีคนออกมาโต้เถียงโจมตีด้วยถ้อยคำรุนแรง ด่าหยาบคายโจมตีตัวบุคคลมากกว่าข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เอาเข้าจริงๆ ชาลส์ ดาร์วิน ก็เผชิญความขับข้องใจเฉกเช่นกับมนุษย์คนอื่นๆ เขามีช่วงเวลาแย่ๆในการจัดการความคาดหวังกับผู้คนที่อยู่รายล้อม
เมื่อคลื่นทะเลเปลี่ยน
สิ่งหนึ่งที่ละเลยไม่ได้เมื่อจะศึกษาบุคคล คือการไปดูความสัมพันธ์ทางครอบครัวที่บุคคลนั้นเติบโต พ่อของ ดาร์วิน คือ โรเบิร์ต เวริ่ง ดาร์วิน (Robert Waring Darwin) เป็นแพทย์ที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่หนุ่มๆ และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้คนในเกาะอังกฤษ มีหัวการค้าเป็นเลิศ ทำให้ตระกูลดาร์วินมีพื้นฐานร่ำรวยเป็นพิเศษ และมีเครือข่ายกับผู้คนในโลกวิชาการกว้างขวาง ในขณะที่ประวัติแม่ของดาร์วิน ซูซานนา ดาร์วิน (Susannah Darwin) มาจากตระกูลช่างปั้น ‘เวดจ์วู้ด’ (Wedgwood pottery) นั้นกลับไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก ในช่วงวัยเด็ก ชาลส์ ดาร์วิน จะใกล้ชิดกับแม่เป็นส่วนใหญ่ เป็น ‘คุณหนูติดแม่’ ที่มักพาเขาเดินสำรวจสวนต่างๆ เวลาไปพักผ่อน แต่ไม่นานกลับมีเรื่องเศร้า แม่ของเขาเป็นคนเจ็บป่วยง่าย มีสุขภาพอ่อนแอ มักเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร และเสียชีวิตจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ขณะที่ ชาลส์ ดาร์วิน มีอายุเพียง 8 ขวบ
หลายงานศึกษาชี้ตรงกันว่า ‘ภาวะสูญเสียแม่’ สร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อการเติบโตของ ชาลส์ ดาร์วิน มีอิทธิพลทำให้เขาวิตกกังวลบ่อยครั้ง และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าในภายหลังเมื่อโตขึ้น เจเนต บราวน์ (Janet Browne) นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาชีวิตของ ชาลส์ ดาร์วิน เคยระบุว่า การตายของแม่อย่างกะทันหัน ทำให้ ชาลส์ ดาร์วิน หวาดกลัวอนาคตลูกๆ ของเขาจะได้รับการสืบทอดโรคและความอ่อนแอเหมือนเขาและแม่ด้วย ซึ่งตัวเขายังมีประสบการณ์แจ่มแจ้งว่าอาการเจ็บป่วยเช่นนี้ มักลงเอยด้วยความตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ใครว่า ดาร์วิน เป็นคน Extrovert
เรามักจินตนาการว่า ชาลส์ ดาร์วิน คงกระโดดขึ้นเรือหลวงบีเกิล (HMS Beagle) ด้วยตาลุกวาวราวกับเป็นใบเบิกทางให้เขาค้นพบโลกใบใหม่ที่ยังไม่มีผู้ใดอาจหาญมาก่อน แต่ตรงกันข้ามเลย! ชาลส์ ดาร์วิน วิตกกังวลกับทริปนี้อยู่เป็นเดือนๆ ที่ทำให้เขาเป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร กินไม่ได้นอนไม่หลับ เขาบรรยายถึงกรณี worst case scenarios ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะระหว่างล่องเรือ ดาร์วินไม่ใช่นักผจญภัยโดยสายเลือด และการเดินทางเป็นระยะเวลานานทำให้เขากังวลต่อสุขภาพจนบางครั้งก็เกินกว่าความเป็นจริง
จิตแพทย์ส่วนหนึ่งอธิบายว่า ดาร์วินอาจมีอาการของโรคทางจิตที่เรียกว่า Hypochondriasis คือเมื่อมีอาการทางกายบางอย่าง จะพาลคิดไปว่าตัวเองป่วยเป็นโรคนั้นโรคนี้ เขามักเขียนถึงอาการที่เกี่ยวข้องกับหัวใจหลายครั้ง เช่น “ฉันมักรู้สึกว่าหัวใจสั่นและปวดที่หัวใจทุกครั้ง เหมือนกับมันจะหยุดเมื่อไหร่ก็ได้”
ระหว่างการเดินทางที่ไกลถึง 40,000 ไมล์ทะเล ในพื้นที่แออัดไปด้วยลูกเรือซึ่งไม่ได้สะดวกสบายแม้แต่น้อย ชาลส์ ดาร์วิน เจ็บป่วยบ่อย เมาเรือเป็นเรื่องปกติ อาการปวดเมื่อยร่างกายจึงตามมา เมื่อถึงเวลาเรือเทียบท่าเขาจึงหาเหตุผลที่จะอยู่บนบกมากกว่า ความไม่ชอบอยู่ในเรือแออัดทำให้เขาต้องเดินสำรวจบนเกาะทุกครั้ง นี่อาจจะส่งเสริมให้ดาร์วินเก็บตัวอย่าง หิน พืชพรรณและสิ่งมีชีวิตถึง 10,000 ตัวอย่าง ขนขึ้นเรือและนำไปศึกษาต่อที่บ้านเกิด
จากกำหนดการล่องเรือหลวงบีเกิลที่ระบุว่า 2 ปี แต่เอาเข้าจริงประสบความล่าช้าและขลุกขลักเสียจนปาไปถึง 5 ปี นับเป็นทริปที่โหดหินวัดจิตวัดใจคนเดินทางเป็นอย่างมาก สำหรับ ชาลส์ ดาร์วิน แม้จะมีสุขภาพไม่ค่อยดีตลอดทริป แต่ก็รอดชีวิตมาได้ (แบบสะบักสะบอม) เป็นการเดินทางที่คุ้มค่าและเปลี่ยนมุมมองชีวิตในหลายมิติ อย่างไรก็ตามการใช้ร่างกายอย่างหนักหน่วงตลอด 5 ปีของการเดินทางทำให้เขาเหนื่อยล้าเรื้อรัง ถ้าคนยุคใหม่อาจกล่าวว่ามีอาการ TATT หรือ ‘Tired all the time’ ในแบบที่คนทำงานหนักมากติดต่อกันโดยขาดการพักผ่อน
หลังจากกลับมาถึงอังกฤษในปี ค.ศ.1844 ชาลส์ ดาร์วินเริ่มเขียนหนังสือว่าด้วยทฤษฎีของเขาได้คร่าวๆ ราว 189 หน้า ซึ่งระหว่างนั้นเขารู้สึกว่าอาจเขียนไม่จบ อาจจะตายก่อน จึงได้สั่งเสียกับภรรยา เอ็มม่า (Emma) ที่ระบุว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่เขาค้นพบจะตกเป็นของใคร รวมไปถึงพินัยกรรมที่เขาเขียนเนิ่นๆ ไว้เรียบร้อย แต่จนแล้วจนรอดเขาก็ยังไม่ตายระหว่างเขียนยาวนานถึง 14 ปี กระทั่ง อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ (Alfred Russel Wallace) เพื่อนนักธรรมชาติวิทยามารับต้นฉบับถึงประตูบ้าน เขามักแซวความล่าช้าของดาร์วินว่า “Darwin’s delay” ที่ทำให้ต้นฉบับมีการเขียนนานที่สุดเท่าที่เขาเคยเห็น ทั้งจากภาวะเจ็บป่วย และการที่ดาร์วินต้องการให้งานเขียนนี้มีความประณีตของเนื้อหา ตรวจซ้ำแล้วซ้ำอีก ระหว่างนี้นี่เองที่ดาร์วินบรรยายความเจ็บป่วยของเขาอย่าง ‘นามธรรม’ (abstract) ขึ้นเรื่อยๆ คือไม่ได้เจ็บป่วยแบบตรงไปตรงมา แต่สะท้อนในลักษณะของรูปรสกลิ่นเสียงที่บิดเบี้ยวไปในการรับสัมผัส อาทิ “ข้าพเจ้าว่ายน้ำอยู่ในหัว” “จมหายอยู่ในบ่อโคลนหนืด”
มีนักวิชาการรุ่นใหม่ตีพิมพ์การศึกษาอาการป่วยของดาร์วินในวารสาร Journal of the American Medical Association โดยศึกษาจากหลายๆหลักฐานและระบุว่า ดาร์วินมีอาการโรควิตกกังวล (anxiety disorder) และโรคซึมเศร้า ที่เข้าข่ายอยู่หลายรายการ ทั้งหายใจถี่ ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ มีภาวะหลงลืม รู้สึกถึงความตายที่กำลังเยือนเข้ามา บางครั้งเขาเก็บตัวไม่พบกับใครเลยนานเป็นสัปดาห์
ถ้าดาร์วินเกิดในยุคนี้
อาการโรควิตกกังวล (Anxiety disorders) และโรคซึมเศร้า (Depression) เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้นในปัจจุบัน ผิดกับแต่ก่อนที่ดาร์วินมักถูกวินิจฉัยจากแพทย์ด้วยสมมติฐานต่างๆ นานาและยังไม่รู้หนทางในการรักษา จนต้องเข้ารับการทดลองหลายวิธีไล่ตั้งแต่ เอาน้ำแข็งประคบหลัง กินยาธาตุตะกั่ว กระตุ้นด้วยไฟฟ้า และแม้กระทั่งใช้มะนาวรักษาโรค (ใช่แล้ว! คุณคงคาดไม่ถึงว่า แม้แต่ ชาลส์ ดาร์วิน เองยังเข้ารับการรักษาด้วยน้ำมะนาวไม่ต่างจากแชร์กลุ่มไลน์) แต่ในวันนี้อาการทางจิตนี้สามารถบำบัดและรักษาได้ด้วยกระบวนการทางการแพทย์ปัจจุบัน หรือลดพฤติกรรมความวิตกกังวลด้วยบำบัดแบบ CBT (Cognitive Behavioral Therapy) ที่อาจเยียวยาให้เขามีความสุขต่อตัวเองได้บ้าง
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์บางคนมีความเห็นว่า เพราะความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าต่างหาก ที่ทำให้เขาสร้างผลงานชั้นยอดอย่าง กำเนิดสปีชีส์ (Origin of Species) ได้สำเร็จ เป็นหมุดหมายสำคัญของวิทยาศาสตร์โลกในการมองชีวิตอย่างมีที่มาที่ไป เห็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและโครงสร้างเพื่อการอยู่รอด การคิดที่ละเอียดถี่ถ้วนและลึกซึ้งอาจมีรากฐานมาจากความกังวลที่ ‘ต้องการทำให้ดีที่สุด’ เพราะ ชาลส์ ดาร์วิน มักเลือก ‘ทางที่ยากที่สุด’ ในการทำงานเสมอ
ในระยะหลัง ชาลส์ ดาร์วิน สามารถปรับตัวอยู่กับอาการเจ็บป่วยทางกายและจิตได้ดีขึ้น ช่วงวัยชราเขาหันไปสนใจชีวิตเล็กๆ ในสวนหลังบ้าน โดยเฉพาะไส้เดือนดิน (earthworm) จนเขียนเป็นหนังสือชื่อ The Formation of Vegetable Mould Through the Action of Worms ที่น่าจะเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายก่อนเสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านด้วยวัย 72 ปี
การผจญภัยที่ไม่สู้ดีนักของยอดนักธรรมชาติวิทยา ชาลส์ ดาร์วิน ทำให้เห็นว่าเขาเองก็เผชิญกับความสามัญของชีวิต ความเจ็บปวด ทุกข์ทางใจ วิตกกังวลต่ออนาคตที่ไม่ต่างจากพวกเราคนทั่วไป มีวันที่ดีและแย่ผสมปนเปกัน บางครั้งก็หดหู่จนไม่อยากทำอะไร และถูกโบยตีจากความคาดหวังของสังคม
แต่ถึงจุดหนึ่งความเจ็บป่วยนี้ก็ไม่ได้ลดทอนประสิทธิภาพในการใฝ่หาความรู้ และจิตวิญญาณแห่งนักถ่ายทอด มันกลับยิ่งทำให้เขาเข้าใจเงื่อนไขของธรรมชาติอันลึกลับนี้ด้วยซ้ำ ช่วงชีวิตของทุกสรรพสิ่งมีห้วงเวลาที่ได้ลิ้มรสความหวานหอม กระตือรือร้นที่จะเติบโต แต่ในอีกพริบตาความขมขื่นก็แทรกตัว ท้าทายให้ชีวิตต้องปรับตัวอยู่เสมอ
ความเจ็บป่วยไม่ได้ลดทอนศักยภาพสิ่งมีชีวิต เพียงแต่อาศัยเวลา และการปรับตัวที่เหมาะสม
บางคนมักบอกเสมอว่า อะไรที่ยากแปลว่าฝืนธรรมชาติ แต่สำหรับ ชาลส์ ดาร์วิน แล้ว “อะไรที่ยาก คือธรรมชาติอย่างแท้จริง”
อ้างอิงข้อมูลจาก
Charles Darwin Volume 2 : The Power at Place By (author) Janet Browne
The illnesses of Charles Darwin and his children: a lesson in consanguinity