คุณ … อาจเป็นลูกคนกลาง หรืออาจจะเป็นสมาชิกของครอบครัวที่ไม่ได้โดดเด่นอะไร ไม่ได้เป็นพี่คนโตผู้เพียบพร้อม หรือน้องคนเล็กที่ใครๆ ก็ทะนุถนอม คุณพอจะเข้าใจระบบของโลก แต่คุณก็พอจะรู้ว่าการจะได้อะไรดังใจ มันก็ต้องมีการควบคุมบงการกันบ้าง
เมื่อค่อยๆ โตขึ้น โลกเริ่มสอนให้เราเห็นสีเทาๆ เห็นความอยุติธรรม และเห็นว่าความเป็นอุดมคติอาจไม่ใช่คำตอบ ยุคหนึ่งเราเริ่มปลื้มวีรบุรุษแบบคลาสสิก แต่หลังๆ คุณอาจจะค่อยๆ ชอบซูเนโอะ ชอบบักส์ บันนี่ ชอบจิ้งจอก เพราะเริ่มเห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะอยู่กลางสปอตไลต์ แต่ทว่าเอาเข้าจริงตัวละครเหล่านี้ก็มีสีสันกว่า แสบทรวงกว่า และเป็นพวกที่มักจะเอาตัวรอดด้วยสติปัญญาและความร้ายที่แอบแฝงไว้
แน่นอนว่าความเจ้าเล่ห์กำลังยิ่งใหญ่อีกครั้งจากซีรีส์ Loki ตัวเรื่องที่ถือว่าเป็นภาคต่อนับจากศึกสำคัญกับทานอส ที่คราวนี้เป็นการเลือกตัวละครฮีโร่จากตัวร้าย—เข้ากับกระแสความซับซ้อนของขาวและดำ อันที่จริงโลกิดูจะเป็นตัวร้ายที่ทั้งผู้สร้างและผู้ชมรักมานานแล้ว เป็นตัวละครเริ่มมีมิติจนคราวนี้ได้อยู่ในศูนย์กลางของเรื่อง—ในนามฮีโร่
อันที่จริง การปรากฏตัวของโลกิในฐานะฮีโร่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในเรื่องเล่าอันยาวนานของมนุษย์เรา โลกิเป็นส่วนหนึ่งของตัวละครที่เรียกว่าทริกส์เตอร์ (trickster) ตัวละครจอมเจ้าเล่ห์กลุ่มสีเทาๆ เหล่านี้หลายครั้งได้รับการยกย่องว่าเป็นฮีโร่ประเภทหนึ่ง เป็นตัวละครที่ด้านหนึ่งไร้อำนาจต่างกับพระเอก แต่พวกเขากลับสามารถตอบโต้ ต่อรอง หรือกระทั่งตั้งคำถามกับอำนาจผ่านการหาช่องโหว่ต่างๆ ได้

ภาพจาก : rickunioninstitute.wordpress.com
จอมเจ้าเล่ห์ : นักหาบั๊กผู้ล้มยักษ์
จริงอยู่ว่าถ้าเรานิยามคำว่าโกง—หลอกลวง—ฟังดูเป็นคำที่รุนแรง และไม่น่ามากับคำว่าวีรบุรุษได้ ทว่าถ้าเรานึกย้อนไปในเรื่องเล่า ตำนาน เทพปกรณัม และนิทาน มักมีตัวละครที่ทางวิชาการเรียกว่าทริกสเตอร์ร่วมอยู่ในเรื่องเล่าเสมอ อันที่จริงการศึกษาตัวละครแบบทริกสเตอร์ค่อนข้างสังกัดอยู่ในแขนงวิชาที่เรียกว่า ‘คติชนวิทยา’ คือศึกษาเรื่องเล่าของชาวบ้าน นิทานพื้นบ้าน ซึ่งถ้าเราดูนิยามของตัวละครจอมเจ้าเล่ห์เหล่านี้ เราก็พอจะเข้าใจว่าทำไมในเรื่องเล่าของประชาชนจึงได้เชิดชูความเจ้าเล่ห์เป็นวีรบุรุษอยู่บ่อยครั้ง
คำว่าความเจ้าเล่ห์สัมพันธ์คุณสมบัติหลายๆ อย่าง หนึ่งในนั้นคือสติปัญญา คุณจะเจ้าเล่ห์และหลอกลวงคนอื่นไม่ได้เลยถ้าคุณไม่มีไหวพริบและความฉลาดเฉลียว นอกจากนี้ความเจ้าเล่ห์ยังสัมพันธ์กับอำนาจและการควบคุม ตัวละครแสนกลนั้นมักวางตัวอยู่นอกระบบความคิด เป็นตัวละครเจ้าสำราญ เต็มไปด้วยอิสระ ทำอะไรตามอำเภอใจโดยมักมีความสนุกสนานและความพอใจส่วนตัวเป็นที่ตั้ง ตัวละครพวกนี้มักเอาตัวรอดได้เสมอ พูดง่ายๆ คือ สังคมมักจะวางกฎเกณฑ์บางอย่างไว้ ตัวละครพวกนี้คือพวกอยู่นอกกฎ แถมยังหาช่องโหว่ของกฎพวกนั้นและหนีรอดไปได้เสมอ
นัยหนึ่งพวกตัวละครเจ้าเล่ห์จึงเป็นตัวละครที่ไม่ได้มีอำนาจอะไรเป็นพิเศษ—เช่น เทียบโลกิเข้ากับทอร์ เทียบจิ้งจองเข้ากับราชสีห์—พวกนี้ไม่ได้มีพรอะไรเป็นพิเศษนอกจากสติปัญญา ไม่มีความสูงส่ง ไม่มีบรรดาศักดิ์ ดังนั้นตัวละครเช่นจิ้งจอกก็เลยเป็นเหมือนตัวแทนของคนที่ไม่ได้เป็นวีรบุรุษโดยสัญชาติ แต่ด้วยสติปัญญานั้นก็อาจทำให้รอดพ้นหรือตอบโต้กับอำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่าตนได้เสมอ
นอกจากกรณีการเป็นตัวร้ายนักทำตามอำเภอใจเช่นโลกิ ตัวละครจอมเจ้าเล่ห์เป็นฮีโร่ที่ปรากฏแทบทุกวัฒนธรรมทั่วโลก หลักๆ คือพวกเจ้าปัญญา บ้านเรามีศรีธนญชัย ญี่ปุ่นมีอิคคิวซัง เยอรมันนีมี ทิลล์ ออยเลินชปีเกิล (Till Eulenspiegel) เราจะเห็นว่าตัวละครพวกนี้เป็นตัวแทนของพวกที่อยู่ใต้อำนาจ แต่ใช้สติปัญญาเพื่อยั่วล้อกับอำนาจที่อยู่สูงกว่าตน เป็นโอกาสที่คนธรรมดาจะหัวเราะเยาะและสร้างความอับอาย หรือกระทั่งเปิดโปงอำนาจและการใช้อำนาจต่างๆ ได้
พลังของความเจ้าเล่ห์คือการบอกทั้งกับผู้อยู่ใต้อำนาจว่า ด้วยปัญญาและจังหวะโอกาสที่เหมาะสม คนตัวเล็กๆ ก็สามารถล้มยักษ์ได้ ในทางกลับกันก็เป็นคำเตือนต่ออำนาจและการใช้อำนาจ ว่าบางครั้งอำนาจนั้นๆ ก็ไม่ได้สมบูรณ์ บั๊กเล็กๆ ก็อาจนำไปสู่การล่มสลายได้

ภาพจาก : amazon.it
โลกิก็คือโลกิ : ตัวพ่อของการลวงหลอกและปรัชญาแบบโลกิ
กลับมาที่โลกิ ดังนั้นโลกิก็ยังคงเป็นโลกิ และดูเหมือนว่าทีมสร้างซีรีส Loki จะดึงขนบของการเป็นตัวละครนักลวง แถมใช้แก่นของความเป็นโลกิไว้ได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะการเอาตัวรอดได้เสมอ ทีนี้ในเรื่องโลกินั้นดูจะมีการ ‘ถกเถียงทางปรัชญา’ อยู่บ้าง ด้วยความที่โลกิเป็นตัวแทนของความเป็นขบถเนอะ และโดยตัวเรื่องก็วาดศัตรูของโลกิได้อย่างเข้าล็อก คือโลกิเป็นตัวแทนของ ‘ความโกลาหล’ หรือ Chaos ดังนั้นศัตรูตลอดกาลก็คือ ‘ระเบียบ’ หรือ Order นี่แหละ
เรายังไม่แน่ใจชะตา หรือการเรียนรู้ในระดับปรัชญาของโลกิเท่าไหร่ เช่นการคุยกันเรื่องเป้าหมายว่าโลกิอยากจะทำอะไร และโลกิตั้งคำถามกับ ‘เจตจำนงเสรี’ ที่พูดเรื่องเสรีภาพเป็นความอับอาย ฟังดูเป็นปรัชญาแบบ ฌ็อง ปอล ซาตร์ (Jean-Paul Sartre) ที่ล้อกับวิธีคิดเรื่องโอกาสแบบกรีก คือการเลือกมักมีการเลือกที่ผิดและโอกาสที่เสียไปเสมอ (โลกิก็เลยบอกเป็นนัยว่าอย่าเลือกเลยแล้วกัน) ในทำนองเดียวกัน ซาตร์นักปรัชญายุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็พูดถึงคำสาปของการเลือกในโลกสมัยใหม่ที่เรา ‘ต้องเลือก’ ไม่เลือกก็ไม่ได้
อันที่จริง ดูเหมือนว่าโลกิกำลังเผชิญกับจอมเผด็จการอยู่ ในแง่นี้บทบาทของความโกลาหลก็เลยอยู่ที่การตั้งคำถามกับระเบียบ ซึ่งแน่นอนว่าเราอาจจะชอบระเบียบเนอะ มนุษย์ต้องการระบบบางอย่างเพื่อสร้างความสงบสุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งความถูกต้อง ความดีงามไปตามครรลองคลองธรรม
ทว่า เมื่อระบบมันสัมบูรณ์และเบ็ดเสร็จ ในที่สุดก็นำมาซึ่งคำถามคลาสสิก แล้วใครคือพี่เบิ้มคนนั้น ใครจะมีสิทธิในการควบคุมกำหนดความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ยิ่งในกรณี TVA <องค์กรควบคุมความเป็นระเบียบของเส้นเวลา> มันคือการควบคุมชะตาชีวิตในระดับจักรวาล ใครที่สมควรจะเล่นบทพระเจ้า และพระเจ้านั้นผิดพลาดหรือจะชอบธรรมได้มากน้อยแค่ไหน

ภาพจาก : fullyfilmy.in
การกลับมาของโลกิ ของความเจ้าเล่ห์ ดูเหมือนว่าจะเข้ากับสถานการณ์ของบ้านเราพอสมควร ตัวละครทริกสเตอร์ด้านหนึ่งคือการให้สิทธิพิเศษกับการโกง การหาช่องโหว่ แต่ทว่ามันคือการเปิดโปงให้เห็นความไม่ชอบธรรมในระบบที่บอกว่าสัมบูรณ์ชอบธรรม ในการต่อสู้กับระบบฉ้อฉลหรือทรงอำนาจมากๆ การเล่นไปตามเกมนั้นอาจเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การหาช่องโหว่ และตอบโต้ด้วยวิธีการที่อาจจะไม่ขาวสะอาดนัก บางครั้งในการโค่นศัตรูที่เหนือกว่ามากๆ ก็อาจเป็นเรื่องจำเป็น
โกงมาโกงกลับ ไม่โกง
อ้างอิงข้อมูลจาก