“ซีรีส์ LOKI จะโชว์ให้ผู้ชมเห็นถึงวิวัฒนาการทางจิตวิทยาของตัวละครนี้ และเผยแง่มุมของเทพเจ้าแห่งการหลอกลวงในแบบที่คุณจะไม่เคยเห็นเขามาก่อน” ทอม ฮิดเดิลสตัน (Tom Hiddleston) กล่าว ก่อนที่ซีรีส์สเกลใหญ่ ซีจีเว่อร์วังอลังการระดับหนังโรงเรื่องนี้จะดังเป็นพลุแตก
ย้อนกลับไปเมื่อตอนประกาศสร้างแรกๆ LOKI เป็นหนึ่งในซีรีส์ Disney+ ที่ผู้ชมตั้งหน้าตั้งตารอมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เนื่องจากแฟน Marvel ไว้ใจวิสัยทัศน์ของ เควิน ไฟกี (Kevin Feige) และรู้สึกดีใจที่จะได้เห็น ทอม ฮิดเดิลสตัน ในบทบาทนี้อีกครั้งหลังจาก heroic exit ใน Avengers: Infinity War (ค.ศ.2018) ซึ่งเมื่อซีรีส์ออกอากาศและจบลงที่ตอนที่ 6 ไปเป็นที่เรียบร้อยก็ไม่ผิดคาด ผลผลิตระหว่างความเป็นซีรีส์ท่องเวลา ผสมกับตัวละครวายร้ายอันเป็นที่รัก คือซีรีส์ Marvel Studios ที่อยู่อันดับ 1 ในลิสต์ของคนจำนวนมาก
LOKI เป็นซีรีส์ที่มีทั้งความสนุกบันเทิง ทะเล้นกะล่อน (พอๆ กับบุคลิกลักษณะของตัวเอกนั่นแหละ) ตื่นเต้น เข้มข้นไปตามลำดับ ในขณะเดียวกันก็บาลานซ์ได้ดีกับดราม่า ทั้งยังถ่ายทอดด้วยงานภาพที่หวือหวาเล่นใหญ่ กับเจาะลึกลงไปยังสิ่งที่อยู่ข้างในสมองและหัวใจของตัวละครโลกิได้อย่างน่าสนใจ
และอย่างหลังสุดนี้ ‘จิตวิทยา’ คือสิ่งที่น่าหยิบยกมาพูดถึงในเชิงวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่บทความนี้กำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ เนื่องจากจิตวิทยาตัวละครในซีรีส์ค่อนข้างจะความโดดเด่นชัดเจนและแทรกอยู่ในทุกอณูของซีรีส์ ไม่ว่าจะเบื้องหน้าหรือในดีเทลระหว่างทาง ทำให้นอกจากความสนุกแล้ว ซีรีส์ทำให้เรารู้จักตัวละครโลกิดีกว่าที่เคย นั่นคือเหตุผลที่ทำไมตัวละครวายร้ายตัวนี้ถึงได้เป็นวายร้ายที่แฟนๆ รักมากที่สุด ณ ขณะนี้
(เนื้อหาส่วนต่อไปนี้เปิดเผยข้อมูลสำคัญของซีรีส์ LOKI)
โลกิแห่งมาร์เวล vs โลกิต้นฉบับ
ก่อนอื่นพูดถึงสิ่งที่น่าจะอยากรู้กันก่อน หลายคนน่าจะทราบกันอยู่แล้วว่าตัวละครโลกินั้นมีต้นแบบมาจาก ‘โลกิ’ เทพแห่งการโป้ปดหลอกลวงจำแลงกาย (the god of mischief) และเทพขี้เล่น (trickster) สุดป๊อปแห่งตำนานปรัมปรานอร์สหรือตำนานเทพแถบๆ ยุโรป ว่าแต่อะไรเกี่ยวกับตัวเขาที่ตรงไม่ตรงกับต้นฉบับบ้าง?
ตามตำนานโลกิเป็นทายาทยักษ์น้ำแข็งแห่งโยธัน มีบิดานามว่า ฟาโบติ (Fárbauti) และมีมารดาคือ ลอเฟย์ (Laufey) ในขณะที่ในคอมมิค/หนัง/ซีรีส์มาร์เวลนั้น โลกิมีนามว่า โลกิ ลอเฟย์สัน (Laufeyson) ที่นามสกุลตั้งมาจากการเป็นบุตรแห่งลอเฟย์ ราชายักษ์น้ำแข็งแห่งอาณาจักรโยธันไฮม์ โดยต่อมา หลังจากจบศึกสงคราม เขาถูกเทพ โอดิน (Odin) แห่งอาณาจักรแอสการ์ดรับไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม จึงได้กลายเป็นพี่น้องบุญธรรมกับ ธอร์ โดอินสัน (Thor Odinson) ในเวลาต่อมา
นี่เป็นอีกจุดที่มีความแตกต่างกัน เพราะในตำนานนอร์สนั้น หากให้นับญาติกันแล้วโลกิเป็นลุงของธอร์ เนื่องจากเขาเป็นพี่น้องร่วมสาบานกับเทพโอดินแทนที่จะเป็นอย่างในคอมมิคมาร์เวล ส่วนในเรื่องราวการผจญภัย ไปหาๆดูก็พบว่ามีหลายครั้งที่โลกิร่วมเดินทางผจญภัยไปกับธอร์ ส่วนเฮลาที่รับบทโดย เคต แบลนเชตต์ (Cate Blanchett) ใน Thor: Ragnarok (ค.ศ.2017) นั้น ตามตำนานเป็นลูกสาวโลกิ
นอกจากนี้ เขาไม่ใช่คนแย่ซะทีเดียว แม้จะเป็นเทพสายปั่น และชอบทำตัวเกรียนๆ ไปเรื่อย เขาก็เป็นเทพที่ค่อนข้างจะมีมิติและมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นไม่น้อย เช่น ครั้งหนึ่งเขาเคยตัดผมเลดี้ซิฟ ชายาธอร์ (ฉากเอาคืนเรื่องตัดผม นี้ปรากฏอยู่ในซีรีส์ด้วยในฐานะลูปสำนึกผิด) และรู้สึกผิด จึงไปพูดจาหว่านล้อมขอให้เอลฟ์ช่วยถักทอผมจากทองคำเพื่อนำมาคืนให้กับเธอ
สิ่งที่น่าสนใจคือในตำนาน ด้วยความที่มีความสามารถในการจำแลงกายเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นชายแก่ คนแคระ มนุษย์เพศหญิง สัตว์บก สัตว์ปีก สัตว์น้ำ และอีกมากมาย โลกิจึงเป็นเทพที่มีความเป็นสเป็คตรัม/ไม่จำกัดเฉดทางเพศ (spectrum) หรือมีความลื่นไหลทางเพศ (gender fluid) ซึ่งแม้จะดูมีพื้นฐานรูปลักษณ์เป็นเพศชาย แต่ในเรื่องเล่าก็มีหลายครั้งที่การจับคู่ เกี้ยว หรือตกหลุมรักของโลกิแสดงถึงความ ‘pansexuel’ คือไม่จำกัด ไม่ระบุตัวตนทางเพศ สามารถรักใครก็ได้ ตั้งแต่ชาย หญิง จนถึงเพศที่ 3
เรื่องเพศของโลกิในทีแรกยังไม่ได้มีการเปิดเผยหรือถูกหยิบยกมาใช้ จนต่อมาทีเซอร์ของดิสนี่ย์พลัสเพื่อโปรโมทซีรีส์ LOKI ก็ได้เผยข้อมูลหน้าแฟ้มเอกสาร ให้เห็นว่าเพศของเขาระบุไว้ว่า ‘fluid’ อย่างชัดเจน
ฉากหนึ่งใน LOKI อีพี 3 ก็เป็นการ come out อย่างชัดเจนของตัวละคร ในบทสนทนาระหว่างโลกิกับซิลวี่
“แล้วเจ้าล่ะ เป็นเจ้าชาย คงมีคนอยากเป็นเจ้าหญิงของเจ้าจำนวนมากแน่ๆ หรือเจ้าชาย”
“ก็ได้ทั้งสองอย่างแหละ”
ส่วนความ fluid ของโลกิที่แหวกแนวที่สุดในตำนาน (ชนิดที่ fluid แบบเมตามอนในเกม Pokémon) ก็เห็นจะเป็นการที่เขาแปลงร่างเป็นม้าเพศเมียไปผสมพันธุ์กับม้าเพศผู้ เพื่อคลอดม้า 8 ขาออกมาให้เทพโอดินขี่ แสดงให้เห็นถึงความลื่นไหลที่ไม่ใช่แค่ทางเพศ แต่เป็นทางสายพันธุ์ด้วย
ปมในใจภายใต้รอยยิ้มแสยะ
มาร์เวลนับว่าฉลาดไม่น้อยที่ทำให้โลกิวายร้ายกลับใจผู้เคยเป็นบอสของหนังรวมฮีโร่เรื่องแรกอย่างThe Avengers (ค.ศ.2012) ได้มีช่วงเวลาพัฒนา เปลี่ยนแปลงตัวเองในหนัง Thor ภาคต่างๆ และกลายมาเป็นผู้ไถ่บาปใน Avengers: Infinity War ด้วยการจากไปอย่างน่าจดจำ ก่อนที่จะกลับมาอีกครั้งด้วยร่างร้ายแบบอินโนเซนต์ช่วงเหตุการณ์การบุกยึดที่นิวยอร์ก โลกิเวอร์ชั่นนี้บังเอิญได้เทสเซอร์แร็คไประหว่างการทำภารกิจย้อนเวลาของฮีโร่ใน Avengers: End Game (ค.ศ.2019) ทำให้เขากลายไปเป็น ‘ตัวแปร’ ที่อาจก่อให้เกิดการแตกออกของไทม์ไลน์คู่ขนาน
ความน่าสนใจที่สุดของของซีรีส์ LOKI เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ตอนแรก และนั้นไม่ใช่กับหน่วยควบคุมกาลเวลาที่ควบคุมความสงบเรียบร้อยและรีเซ็ตไทม์ไลน์ได้อย่าง TVA (Time Variance Authority) แต่เป็นที่ตัวละครโลกิเอง
ซีรีส์ LOKI เป็นซีรีส์ที่จะพาคนดูสำรวจจิตใจของตัวละครโลกิอย่างลึกซึ้ง เราอาจรู้สึกดีกับโลกิเวอร์ชั่น Infinity War ไปแล้ว แต่เวอร์ชั่นนี้ไม่ เขายังเป็นจอมวายร้ายสุดกะล่อนที่วางแผนจะเป็นราชาแห่งมิดการ์ดหรือครองโลกสไตล์ตัวร้ายทั่วไปอยู่ และซีรีส์ก็ได้พาเขาไปพบกับตัวละครมอร์เบียสของ โอเวน วิลสัน (Owen Wilson) ที่ตั้งคำถามแทนคนดูราวกับเป็นนักจิตวิทยา ว่าเหตุใดโลกิถึงเป็นโลกิ เหตุใดเขาถึงต้องเกิดมาเป็นวายร้าย
เมื่อมองทะลุเข้าไปยังข้างในเบื้องลึก โลกิเป็นเพียงเด็กน้อยคนหนึ่งที่ดูจะมีปมและปัญหาในใจ ไม่ใช่ว่าพ่อแม่บุญธรรมเขาไม่ดี ตรงกันข้าม เขาได้รับความเอาใจใส่จากแม่ (แม้จะขาดมันจากพ่อ) ถูกปฏิบัติดูแลไม่ต่างจากเป็นลูกแท้ๆ แต่ถึงกระนั้นก็ยังถวิลหาการยอมรับและยังรู้สึกแปลกแยกเพียงเพราะชาติกำเนิด ไม่ได้เห็นค่าความรักที่ทุกคนมอบให้ ปฏิเสธมันอย่างไร้เยื่อใยมาตลอด
มองตามหลักพฤติกรรมศาสตร์จะเห็นได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่โลกิทำ สะท้อนความในใจทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น
- การที่เขารู้สึกเดียวดายและต้องการปลีกวิเวก หรือเป็นที่หนึ่ง (ที่มีคนเดียว) ก็เพราะเขารู้สึกว่าเขาไม่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเนื่องจากคนละสายพันธุ์ หนำซ้ำเขายังรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในฐานะเชลยถูกนำมาเลี้ยง ณ สถานที่ต่างแดน
- การที่เขาต้องการความสนใจ หรือทำอะไรสุ่มเสี่ยง เล่นใหญ่ ชั่วร้าย ก็เพราะตอนเด็กรู้สึกแปลกแยก โอดินก็ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าไหร่นักจึงรู้สึกขาดความอบอุ่นอย่างไม่รู้ตัว แถมยังคิดว่าตัวเองไม่ต้องการใครซะด้วย
- การที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง ดันให้ตัวเองมีค่า เป็นที่จดจำ ต้องโกหก ลอกลวง ปลิ้นปล้อน ก็เพราะอยากเป็นคนสำคัญ
- ความเจ็บปวดที่ตัวเองได้รับจากการรู้สึกโดนทรยศโดยครอบครัว นำไปสู่การที่เขาระบายมันออกมาด้วยความรุนแรงและการเสียชีวิตอันดูจะหาแคร์ไม่
ทั้งหมดทั้งมวลรวมถึงการที่โลกิต้องทำตัวแข็งกร้าว วางมาด อวดเบ่ง ก็เพื่อปกปิดความอ่อนแอและปมปัญหาในใจของตน เพราะถูกปฏิเสธ จึงต้องการปฏิเสธโลกใบนี้
ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิทยาชื่อดังที่ใครๆต้องเคยได้ยินชื่อ แบ่งการทำงานของระดับจิตใจคนเราเป็น 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่
- ระดับจิตสำนึก (conscious mind)
- ระดับจิตกึ่งสำนึก (sub-conscious mind)
- ระดับจิตใต้สำนึก (unconscious mind)
ฟรอยด์ล่าวไว้ว่า ช่วงเวลาวัยเด็กที่ทุกคนพบเจอ โดยเฉพาะช่วงเวลาและความทรงจำที่มีต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง ครอบครัว มีผลต่อบุคลิกภาพ นิสัยใจคอ ความคิดความอ่าน และวิธีการที่คนๆนึงจะมองโลกในแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกฝังอยู่ในส่วนของระดับจิตใต้สำนึกที่หากไม่ตั้งคำถามหรือไม่มีคนบอก คนคนนั้นอาจไม่เคยรู้ตัวหรือสังเกตเลยว่า เหตุใดเขาถึงได้คิดแบบนั้น และต้องเป็นอย่างที่กำลังเป็นอยู่
เมื่อมองตามนี้ก็จะเห็นได้ชัดว่า จิตใต้สำนึกทำให้โลกิเป็นคนมีปม ขาดความอบอุ่น เขาถูกหล่อหลอมมาโดยปมวัยเด็ก ส่งผลให้ตอนโตต้องมาเป็นวายร้ายที่ลึกๆ แล้ว ไม่ได้อยากทำลายทุกชีวิต ไม่ได้อยากเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว แต่แค่อยากโดนใครซักคนกอดแน่นๆ เท่านั้นเอง
ช่วงเวลาแห่งการสำนึกผิด
“สมมุติกลับไปได้ อยากทำอะไร”
“ทำสิ่งที่ได้เริ่มไว้ ครองบัลลังก์ ข้าไม่ได้ต้องการเป็นราชา ข้าเกิดมาเป็นราชา”
“ราชาของโลก แล้วไงต่อ”
“แอสการ์ด 9 อาณาจักร”
“อวกาศด้วยเลยมั้ยล่ะ โลกิ ราชาแห่งอวกาศ”
มอร์เบียสไล่ต้อนโลกิอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะเพื่อที่จะชวนมาทำงานด้วย เขาต้องการให้คู่หูคนใหม่กลับตัวกลับใจให้ได้ด้วยการถามและให้โลกิตอบคำถามเหล่านั้นด้วยตัวเอง และถ้าไม่ใช่โอกาสนี้ ก็คงไม่มีโอกาสไหนที่ดีไปกว่านี้แล้วที่โลกิจะได้คิดถึงตัวเขาเองอย่างจริงๆ จังๆ
หลังจากนั้นมอร์เบียสก็เปิดให้โลกิดู ว่าเส้นทางของเขาถูกวาดเขียนไว้อย่างไร ควรจะเป็นยังไง และระหว่างทางเพื่อที่เขาจะได้บรรลุเป้าหมาย โลกิทำอะไรมาบ้างเพื่อแลกมันมา มีกี่ชีวิตที่จะต้องสังเวยเพื่อที่เทพเจ้าขี้เล่นคนนี้จะได้นั่งบนบัลลังก์ พร้อมกับถามเขาตลอดทางว่า “นายรู้สึกยังไงบ้าง?” ซึ่งเราจะได้เห็นได้ชัดว่าโลกิเริ่มที่จะมีสีหน้าไม่สู้ดี และกระอักกระอ่วนพอสมควร
ถ้าให้มองตามจริงแล้ว ฉากในอีพีแรกนี้ก็เปรียบเสมือนช่วงบำบัดจิตดีๆ นี่เอง มันเป็นช่วงเวลาที่เกิดการตั้งคำถามว่าคนคนหนึ่งโตมาชั่วร้าย เขาเป็น evil baby แต่ลืมตาดูโลกเลยหรือไม่ หรือที่แท้จริงแล้วเขาถูกหล่อหลอมให้เป็น และคำตอบคืออย่างหลัง
“ข้าตัดผมเจ้าก็เพราะมันน่าขำดี
ข้าก็แค่เรียกร้องความสนใจ
จริงๆแล้วข้ามันก็แค่คนหลังตัวเอง
และก็อาจจะเพราะข้อกลัวการที่จะต้องอยู่คนเดียว”
หลังจากนั้นเขาก็ถูกเลดี้ซิฟในไทม์ลูป ตอบกลับอย่างจุกๆเบิ้มๆคือลือยิ่งกว่าเตะผ่าหมากวนลูปด้วยการพูดว่า “เจ้าต้องอยู่คนเดียว และจะเป็นอย่างนั้นชั่วกาล” (ทีแรกก็นึกว่าจะเตะอีกรอบ แต่สำหรับโลกิแล้ว สู้เตะซะยังดีกว่าอีกมั้ง) นี่เป็นอีกฉากหนึ่งที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า โลกิรู้สึกมีปมในใจ เขาไม่ใช่คนที่ชั่วร้ายโดยไม่มีสาเหตุ ปมในใจนำไปสู่การเพิ่มมิติให้กับตัวละคร มิติตัวละครทำให้เราผูกพันกับตัวละครนั้นๆ และมันคือสาเหตุที่ทำไมถึงมีแต่คนรักตัวละครโลกิ
จุดพลิกผันจากวายร้ายสู่แอนตี้ฮีโร่
โลกิยังคงเป็นโลกิวันยังค่ำ ช่างต่อปากต่อคำ ชอบปั่นหัว ไม่พูดความจริง และไม่คิดจะให้ความร่วมมือ จนตัวเองได้มาเห็นเส้นเรื่องของตัวเอง และพบกับฉากสะเทือนใจ นั่นก็คือแม่ของเขาที่รักเขาที่สุดได้จากไป, พ่อบอกรัก, ธอร์นับเขาเป็นน้องชายแท้ๆ เสมอมา รวมถึงค้นพบว่าจุดจบของตัวเองคือการเสียสละชีวิตเพื่อช่วยพี่ชาย ก่อนที่ฟิล์มจะหมดม้วน ขึ้นว่าจบไฟล์เพื่อเป็นการบอกนัยว่า “และชีวิตคุณกับบทของคุณก็มีเท่านี้”
จะว่าไปเป็นใคร ก็สะเทือนใจแหละ ที่รู้ว่าทั้งชีวิตตัวเอง เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ เป็นแค่เรื่องโกหก แม้กระทั่งอัญมณี infinity stone ที่ตามหากันมาตลอดและเป็นตัวกำหนดชะตากรรมจักรวาลเอง ก็ยังเป็นแค่หนึ่งในเรื่องเล่าที่ถูกกำหนดมาและต้องเป็นไปตามนั้นเท่านั้น ซึ่งนี่ดูจะเป็นวิธีลัดที่สุดที่ซีรีส์สามารถทำได้เพื่อที่จะชำระล้างทำให้โลกิคนนี้เป็นโลกิเวอร์ชั่นพระเอก
และมันได้ผล ด้วยการทำให้โลกิตระหนักและครุ่นคิดอะไรหลายอย่างอย่างก้าวกระโดดนี้ เขารู้สึกว่า เป้าหมายอันทรงเกียรติ (glory purpose) ของเขาเป็นแค่เรื่องไร้สาระ แถมยังแย่กว่าเดิมตรงที่โลกิรู้สึกไร้ตัวตนกว่าเดิมและมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ชีวิตตัวเองดูไม่มีค่า ไม่มีสิทธิ์ใดใดในชีวิต ไม่มีเจตจำนงเสรี ไม่มีอิสระ เป็นแค่เบี้ยตัวหนึ่งในเรื่องราวที่ใหญ่กว่า เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถเลือกอะไรได้นอกจากรอไปเติมเต็ม character arc ใน story arc ให้เป็นไปตามที่ถูกกำหนดมาเท่านั้นเอง
ทันทีที่เขาได้รับรู้ความจริงและความไม่จริงทั้งหมดเมื่อนั้นเขาค้นพบตัวเองว่า วิธีที่จะทำให้ชีวิตตัวเองมีค่าต่อจากนี้ มีตัวตนต่อจากนี้คือการสร้างคุณค่าและตัวตนใหม่ขึ้นมา และเมื่อ TVA เห็นว่าเขามีคุณค่า นั่นคือการที่เขาได้มี ‘ตัวตน’ จริงๆ ขึ้นมา สองสิ่งนี้เกิดขึ้นมาได้ด้วยการฟอร์มจากภายใน และคนอื่นเห็น/รับรู้ได้จากภายนอก ทำให้แอนตี้ฮีโร่คนใหม่ก็ถือกำเนิดตั้งแต่ตอนนั้น
ความโกลาหลและโลกิที่เติม s
เป้าหมายของโลกิคือช่วย TVA กำจัดโลกิตัวแปรคนที่อันตรายต่อการเกิดการแตกกิ่งก้านสาขาของไทม์ไลน์อย่าง ‘เน็กซัส อีเวนท์’ ที่สุดอย่างซิลวี่ หรือโลกิเวอร์ชั่นผู้หญิง
นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรโลกิอีกหลายคนที่เพิ่งรู้ว่ามีอยู่ นี่คืออีกจุดที่ถือว่าสร้างความฮือฮาให้กับซีรีส์ LOKI เหล่าโลกิในเวอร์ชั่นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น โลกิผิวดำ โลกิที่ขี้ขลาดและไม่ถูกธานอสฆ่าจนต้องอยู่คนเดียวอย่างเหงาๆ (แต่ก็มีจุดจบที่ปิดสมบูรณ์) โลกิเด็ก จนถึงโลกิจระเข้ ที่ทำให้โลกิตัวเอกของเราต้องปวดหัวและเพลียมากๆ จนเข้าใจรู้ซึ้งด้วยตัวเองว่าคนอื่นเพลียกับความโลกิยังไงบ้าง
สิ่งหนึ่งที่อดแซวไม่ได้คือโรแมนซ์ระหว่างโลกิกับซิลวี่ หลังจากที่โลกิดูเป็นคนหลงตัวเองมาตลอด ครั้งนี้เขาดูจะหลง (รัก) ตัวเองจริงๆ และเชื่อใจตัวเองสุดๆ แสดงถึงคาแร็กเตอร์โลกิได้เป็นอย่างตรงประเด็นและชวนขำไม่น้อย อีกทั้งยังแสดงถึงการที่ตัวละครนี้มีมิติลึกซึ้งขนาดไหนผ่านการที่เข้าใจกัน แต่ก็ยังมีตีกันเอง ไม่ลงรอยกันเอง ราวกับคนคนเดียวมีความคิดตีกันในหัว (อีกคนเหตุผล อีกคนอารมณ์ความรู้สึก) หากมองทั้งคู่เป็น ‘ก้อนโลกิ’ เหมือนกัน
เรื่องราวจับพลัดจับผลูให้ทั้งคู่ (โลกิกับซิลวี่) ได้ใช้เวลาร่วมกันผ่านการเดินทาง รู้จักกัน รู้สึกมีกันและกัน รักกันอย่างไม่รู้ตัว และค้นพบความจริงว่ามีสิ่งที่ยิ่งใหญ่รออยู่ นั่นก็คือโค่น TVA และค้นพบคำตอบของความจริงเบื้องหลังความโป้ปดมดเท็จที่เกี่ยวพันกับชีวิตและชะตากรรมผู้คน ความลับของผู้ควบคุมเหตุการณ์และเส้นไทม์ไลน์ต่างๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งไปตลอดกาล
จนในที่สุดทั้งคู่ก็ได้พาไปพบคำตอบนั้น แต่ทว่ามันเป็นคำตอบที่กลับทำให้เกิดคำถามกับทั้งสองคนและคนดูมากมายมากกว่าที่จะได้รับคำตอบ
ทั้งสองได้รู้ว่า ทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้วจนถึงวินาทีตรงหน้า และได้รับทางเลือกที่จะด้นสดต่อจากนี้ นั่นก็คือปกครองที่แห่งนี้ฉันท์คู่รักแล้วควบคุมความสงยเรียบร้อยของมัลติเวิร์สด้วยกัน กับฆ่าผู้ยังคงอยู่ (อิมมอร์ตัส) ที่รับบทโดย โจนาธาน เมเจอร์ส (Jonathan Majors)
สุดท้ายดันไปลงเอยที่อย่างหลัง ซิลวี่ที่ไม่สามารถระงับแค้นได้สังหารนายคนนี้ ทำให้มัลติเวิร์สกำลังตกอยู่ในอันตรายเพราะอีกหนึ่งเวอร์ชั่นชั่วร้ายของผู้ยังคงอยู่นั้น เขามีนามว่า ‘แคง ผู้พิชิต’ และสิ่งที่เขาทำคือ ‘พิชิต’ เช่นเดียวกับที่โลกิคือตัวแปรที่อันตรายที่สุดอย่างว่าจริงๆ เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่ต้องมีอยู่คู่กันอย่าง order & chaos ตัวเขานั้นเปรียบได้กับตัวแทนแห่งความโกลาหล (chaos) ที่เดาไม่ได้ ที่จะทำลายกฎระเบียบ (order ) ตามเนเจอร์ของตัวเองอยู่แล้ว
ฉะนั้นไม่ว่าจะโลกิคนไหน สิ่งที่โลกิทำคือ ‘ท้าทาย’ และ ‘แหกกฏ’ หรือ ‘กระทำการโลกิ’ โลกิเองก็ไม่อยากเชื่อว่าซิลวี่จะทำแบบนั้นเช่นกัน เรื่องราวนี้ตั้งแต่เริ่มจนจบซีซั่น ทำให้โลกิรู้ว่า ‘เขาไม่รู้จักตัวเองเลย’ และพร้อมๆ กัน ก็ได้รู้จักตัวเองเป็นอย่างดีว่าตัวเองนั้นควบคุมไม่ได้ หัวขบถและโลกิก็คือผู้ทำตามอำเภอใจอย่างไร้กรอบ ซึ่งหมายความว่าเดาไม่ได้อีกนั่นแหละ