“ข้ารู้แล้วว่าตัวเองต้องเป็นเทพแบบไหน เพื่อเจ้า เพื่อเราทุกคน”
คงไม่มีใครคาดคิดว่าวายร้ายอวดดีที่ปรากฏตัวมาตั้งแต่ปี 2011 จะกลายเป็นหนึ่งในตัวละครที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของมาร์เวลในอีก 12 ปีให้หลัง
จากที่ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นเพียง ‘เทพกระจอก’ ที่ถูกย่ำยีจนสภาพดูไม่ได้ ก่อเรื่องวุ่นวายซ้ำแล้วซ้ำเล่า แถมผู้ชมยังได้เห็นฉากการจากไปของเขามาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่วันนี้โลกิได้ก้าวไปยืนอยู่บนจุดสูงสุดของบัลลังก์ พร้อมประกาศอย่างกึกก้องว่า นอกจากข้าจะไม่ใช่เทพกระจอกแล้ว ข้านี่แหละผู้กอบกู้ทุกจักรวาล และช่วยแก้วิกฤตกาลขาลงของซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวลได้อย่างทันท่วงที
ในระยะหลังมานี้ กระแสตอบรับที่ผู้ชมมีต่อหนังซูเปอร์ฮีโร่ดูจะไม่ดีเท่าแต่ก่อน แล้วเพราะอะไรตัวละครที่ครั้งหนึ่งแทบจะเป็นส่วนเกินของค่าย จึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทุกคนพูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็น ‘เดอะแบก’ แห่งปี
บทความนี้จะพาไปหาคำตอบ
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ Loki ทั้ง 2 ซีซั่น และภาพยนตร์ที่โลกิเคยปรากฏตัว*
ตัวละครเสน่ห์ล้น คนแสดงน่าหลงใหล
แม้ว่าเราทุกคนจะถูกแนะนำให้รู้จักกับตัวละครผู้เป็นน้องชายของเทพเจ้าสายฟ้าธอร์อย่างไม่พิถีพิถันเท่าใดนัก แถมในปีถัดมา เขายังต้องปรากฏตัวด้วยมาดวายร้ายไร้มิติใน The Avengers แต่ก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ท่วงท่าการร่ายเวท ลีลาการต่อสู้ รวมไปถึงถ้อยคำที่ออกมาจากปากของโลกินั้นมีเสน่ห์ไม่เบา ดูเจ้าเล่ห์ น่าค้นหา สมฉายาเทพแห่งคำลวง ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องยกความดีความชอบให้กับการตีความและถ่ายทอดของทอม ฮิดเดิลสตัน (Tom Hiddleston) นักแสดงที่ครั้งหนึ่งเคยมาออดิชั่นในบทธอร์ แต่ทีมงานกลับเล็งเห็นว่า โครงหน้าคมชัดและแววตาอันลึกล้ำของเขา น่าจะเหมาะรับบทเทพผู้เป็นทายาทของยักษ์น้ำแข็งเสียมากกว่า และก็ดูเหมือนว่าทีมงานจะตัดสินใจไม่ผิดจริงๆ
โลกิน่าจะเป็นวายร้ายตัวแรกๆ ของมาร์เวลที่เราพูดได้ว่าเป็นที่รักของผู้ชม เริ่มแรกเราอาจไม่ได้หลงใหลในการกระทำของตัวละครนี้ เพียงแต่มองว่าก็คงดีหากเขามีจังหวะเข้ามาสร้างสีสันให้กับเรื่องราวบ้าง แต่ในระหว่างนั้นเองผู้สร้างก็ค่อยๆ ปูตื้นลึกหนาบางของตัวละคร หลังภารกิจของโลกิย่อยยับไม่เป็นท่าใน The Avengers คนดูก็เริ่มเห็นอกเห็นใจโลกิเพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อย เมื่อได้ทราบความสัมพันธ์ของเขากับแม่บุญธรรมใน Thor: The Dark World เห็นแง่มุมความสนิทสนมอมยิ้มของเขากับพี่ชายอย่างธอร์ใน Thor: Ragnarok และสุดท้ายใน Avengers: Infinity War หลายคนก็พากันน้ำตาซึม เมื่อได้เป็นสักขีพยานการเสียสละของตัวละครที่ครั้งหนึ่งเคยต้องการครองโลก
ดังนั้นเราคงสรุปง่ายๆ ได้ว่า ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2011-2019 โลกิคือตัวละครที่ค่อยๆ ย่องเข้าไปจับจองพื้นที่ในหัวใจของคนดู จนมารู้ตัวอีกทีจากเคยชื่นชอบเพียงเสน่ห์ของตัวละครนี้ เรากลับเริ่มผูกพันกับเขาในด้านความเป็นมนุษย์ ถึงขั้นได้มีซีรีส์เป็นของตัวเองมากถึง 2 ซีซั่น
บทที่ดีนำไปสู่ซีรีส์ที่ยอดเยี่ยม
ต่อให้โลกิในภาพยนตร์จะมีเสน่ห์เหลือล้นขนาดไหน ดูมีเลือดเนื้อมากมายเพียงใด หากนำมาจัดวางในซีรีส์ที่บทแย่หรือพล็อตมีปัญหา ให้ตายยังไงก็คงไปไม่รอด เหมือนอย่างตัวละครนิค ฟิวรี่ที่ไม่สามารถโอบอุ้มซีรีส์ Secret Invasion ไว้ได้
ความท้าทายแรกของโชว์รันเนอร์ (ผู้ควบคุมทิศทางของซีรีส์) อย่างไมเคิล วัลดรอน (Michael Waldron) คือจะทำอย่างไรให้ผู้ชมไปต่อกับตัวละครโลกิในซีรีส์ เพราะนี่ไม่ใช่ตัวละครโลกิเดียวกับที่ทุกคนเคยรู้จัก แต่เป็นโลกิในอีกจักรวาลที่ใช้เทสเซอร์แรคต์ (อัญมณีเคลื่อนย้ายมวลศาล) หลบหนีการจับกุมใน Avengers: Endgame เป็นโลกิที่ยังไม่ผ่านการสูญเสียแม่บุญธรรม ยังไม่กลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพี่ชาย ทั้งยังหาความหมายในการเป็นเทพเจ้าไม่พบ
ซีรีส์ภาคแรกใช้วิธีให้เวลาโลกิคนใหม่ได้สำรวจความเป็นไปของชีวิตตัวเองผ่านหน้าจอ ทั้งย้อนดูอดีตและข้ามไปดูจุดจบ ทบทวนจนเข้าใจว่าตัวเองคือจอมบูลลี่ขี้แพ้ ลิขิตอันทรงเกียรติที่ตัวเขากล่าวอ้างเป็นแค่เรื่องหลอกลวง สุดท้ายตัวละครก็เริ่มสำนึกและออกตามหาเป้าหมายครั้งใหม่
ด้วยเหตุนี้โลกิจึงไม่ได้เป็นเพียงซีรีส์แนวแอ็กชั่น-แฟนตาซีที่ทำได้ดีและน่าติดตาม แต่ยังสอดแทรกความ ‘Coming-of-age’ ของตัวละคร ทำให้ในระหว่างต่อสู้ กอบกู้เส้นเวลา กับค้นหาความจริงของโลกิ ยังได้เจาะลึกเข้าไปในจิตใจของตัวเองด้วยว่า ลิขิตอันทรงเกียรติที่เขาตามหาแท้จริงแล้วคืออะไร
พล็อตการกอบกู้เส้นเวลาก็ดำเนินไปพลางเล่นกับความอยากรู้อยากเห็นของคนดู โลกิกับซิลวี่ (ตัวแปรของโลกิที่เป็นผู้หญิงในอีกจักรวาล) จะทำสำเร็จหรือไม่ สมาชิกองค์กรทีวีเอที่ต้องคอยสอดส่องความผิดปกติของเส้นเวลาศักดิ์สิทธิ์จะตัดสินใจอย่างไร เมื่อรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำมาตลอดคือการปิดกั้นเจตจำนงเสรีของผู้คน เหล่านี้คือความซับซ้อนของตัวบทที่ซีรีส์เลือกจะให้ความสำคัญ และพร้อมกันนั้นสิ่งที่ซับซ้อนไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ การทำความเข้าใจความต้องการของตัวโลกิเอง
ความคิดสร้างสรรค์ปลุกปั้นผลงาน
นอกเหนือไปจากความมุ่งมั่นในการปลุกปั้นตัวบท Loki ทั้ง 2 ซีซั่นยังอุดมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งดึงความสนใจของผู้ชมได้อยู่หมัด การหักมุมไปมาของเนื้อเรื่องสามารถเอาใจผู้ชมสายเนิร์ด การเติบโตของตัวละครพาให้ผู้ชมรู้สึกเชื่อมโยง จากนั้นก็เสริมแรงด้วยมุกตลก เกร็ดข้อมูล และงานออกแบบ
ภายใต้ท่าทีจริงจังในการนำเสนอเรื่องราวและตั้งคำถามถึงทางเลือกในชีวิต ซีรีส์ Loki ไม่ลืมที่จะหยอดมุกฮา ทั้งขำจริงและตลกร้าย แถมยังจัดสรรได้อย่างตรงจุดลงตัว อาทิ ฉากที่ตัวละครโอ.บี. ได้พบกับวิคเตอร์ ไทม์ลีย์เป็นครั้งแรก ก็ให้ความรู้สึกทั้งขบขันและประทับใจ หรือในฉากที่โลกิตั้งใจทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งการพังทลายของเครื่องทอเวลา ภาพก็ตัดเป็นสีดำ พร้อมขึ้นข้อความว่า ‘Centuries Later (หลายร้อยปีต่อมา)’ ที่ชวนขำและทำคนดูอึ้ง เพราะนั่นหมายความว่าโลกิยอมเสียเวลาหลายร้อยปีสำหรับศึกษาฟิสิกส์เพื่อช่วยเพื่อน
อีกหนึ่งหมัดเด็ดของซีรีส์คือการใส่เกร็ดเรื่องราวจากโลกความจริง ไม่ว่าจะเป็นการให้ตัวละครโมเบียสพูดถึงเฮช. เฮช. โฮล์มส (H. H. Holmes) ฆาตกรต่อเนื่องผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตจากกรณีฆ่าคนตาย 27 ศพในชิคาโก สหรัฐอเมริกา หรือการเฉลยที่มาของตัวละครที่ปรากฏตัวตั้งแต่ซีซั่นแรกอย่างเคซีย์ว่า แท้จริงแล้วเขาคือแฟรงก์ ลี มอร์ริส (Frank Lee Morris) 1 ใน 3 นักโทษตัวจริงที่พยายามหลบหนีออกจากคุกกลางทะเล ณ อ่าวซานฟรานซิสโกอย่างอัลคาทราซ ซึ่งจวบจนปัจจุบันก็ยังไม่มีใครล่วงรู้ว่าทั้ง 3 คนเป็นอย่างไร
สุดท้ายคืองานออกแบบสุดวิจิตรพิสดาร ซึ่งกาสรา ฟาราฮานี (Kasra Farahani) ผู้ออกแบบงานสร้างเผยว่า เขาได้ออกแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ ของทีวีเอ (Time Variance Authority – TVA) ให้เป็นสถานที่ปราศจากยุคสมัย (ที่ตั้งของทีวีเออยู่นอกเส้นเวลาปกติ) กล่าวคือทำการผนวกความล้ำสมัยเข้ากับอดีตกาล มีทั้งองค์ประกอบแห่งอนาคตอย่างระบบเอไอ และอุปกรณ์แสนเชยอย่างเครื่องพิมพ์ดีด ทำให้ผู้ชมคาดเดาเวลาไม่ถูก แต่ยังคงรู้สึกว่าสิ่งที่ได้เห็นนั้นสมจริง
กาสรายังเผยอีกว่า แรงบันดาลใจในการออกแบบส่วนใหญ่มาจากสถาปัตยกรรมแนวโมเดิร์นนิสม์ (Modernism) และบรูทัลลิสม์ (Brutalism) ซึ่งประเภทหลังนี้ได้รับความนิยมเป็นวงกว้างในสหภาพโซเวียตยุคหลังสงครามเย็น โดยบรูทัลลิสม์คืองานออกแบบที่มุ่งเน้นสร้างอาคารบ้านเรือนให้ดูไม่ฟุ่มเฟือย เน้นการใช้งานจริง จึงมีจุดเด่นเป็นโครงสร้างแบบซ้ำไปซ้ำมา มีความสมมาตร ไม่มีส่วนใดของอาคารที่มีความสวยงามแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ส่งผลให้ในมุมหนึ่ง สถาปัตยกรรมแบบบรูทัลลิสม์ก็ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้จริง แต่อีกมุมก็ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกอึดอัดเหมือนถูกคนจับตามองตลอดเวลา ตรงกับระบบราชการในทีวีเอและความรู้สึกของนักโทษที่องค์กรแห่งนี้คุมขัง
“จริงๆ งานออกแบบแบบบรูทัลลิสม์ ควรจะเป็นอุดมคติของการสร้างที่อยู่อาศัยที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่กลายเป็นว่าผู้คนกลับรู้สึกกดดันที่จะอยู่ในนั้น” กาสราทิ้งท้าย ซึ่งสะท้อนถึงความใส่ใจในการออกแบบงานสร้างทุกกระเบียดนิ้ว
ไม่พยายามผูกโยงตัวเองกับหนังเรื่องอื่น
หากย้อนมองซีรีส์ที่เข้าฉายในช่องว่างระหว่าง Loki 2 ซีซั่น ซีรีส์อย่างฮอว์กอายเต็มไปด้วยความพยายามเชื่อมต่อเรื่องราวเก่าของมาร์เวล ไล่ตั้งแต่หนึ่งในปมของเรื่องต้องผูกโยงกับการตายของแบล็ค วิโดว์ใน Avengers: Endgame ต่อด้วยความจำเป็นในการหย่อนตัวละครอย่างคิงพินเพื่อบอกกับผู้ชมว่า ‘เรารวมจักรวาลซีรีส์ของเน็ตฟลิกซ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมาร์เวลแล้ว’ และมากไปกว่านั้นซีรีส์ฮอว์กอายยังต้องปูทางตัวละครใหม่ ทั้งเคต บิชอป ที่น่าจะมีบทบาทในทีม Young Avengers รวมถึงเอคโค่ ฮีโร่สาวที่กำลังจะมีซีรีส์เป็นของตัวเองในปี 2024
ทั้งหมดทั้งมวลส่งผลให้ซีรีส์นักยิงธนูเต็มไปด้วยข้อจำกัดตั้งแต่ยังไม่เริ่มเขียนบท ราวกับ 50% ของพล็อตถูกกำหนดไว้แล้วแต่แรก เป็นการตีกรอบที่ลดทอนเสน่ห์ของซีรีส์โดยปริยาย ซึ่งสถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ฮอว์กอาย แต่กับซีรีส์เรื่องอื่นๆ และฝั่งภาพยนตร์ก็ไม่ต่างกัน (ล่าสุด The Marvels ที่ต้องเชื่อมจักรวาลก็ทำรายได้ไม่เข้าเป้า)
อย่างไรก็ดี ปัญหาเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นกับ Loki ทั้ง 2 ซีซั่น เพราะผู้สร้างสามารถบรรเลงความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างถนัดมือ โดยไม่จำเป็นต้องอิงจากผลงานเก่าๆ จึงเล่นกับความเป็นไปได้ได้อย่างหลากหลาย นำพาโลกิให้กลายเป็นซีรีส์ที่มีความเฉพาะตัว มีเรื่องราวตามสูตรแต่ไม่จำเจ
เคารพตัวละคร
“ความสามารถของทอม คือการพาตัวละครโลกิข้ามสเปกตรัมดี-เลว ทั้งยังชวนให้ผู้ชมติดตาม Loki ได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ว่าเขาจะไปไหนหรือเป็นอย่างไร จะเป็นคนที่เลวจากก้นบึ้งของหัวใจ หรือตอนนี้ที่กลายมาเป็นฮีโร่เต็มตัว”
เควิน อาร์ ไรต์ (Kevin R Wright) ผู้อำนวยการสร้างซีรีส์ให้สัมภาษณ์
เมื่อรับชมซีซั่น 2 มาจนถึงตอนที่ 5 หลายคนอาจจะพอทึกทักได้ว่า โลกิอาจจะกลายเป็น ‘He Who Remains’ คนต่อไป หรือก็คือมนุษย์ผู้คงอยู่เหนือกาลเวลา คอยควบคุมทุกชีวิตบนกิ่งก้านสาขาแห่งความเป็นไปได้ให้สามารถมีชีวิตอยู่ต่อ แต่ถึงจะรู้ทั้งรู้คนดูก็ยังชื่นชมกับฉากจบซึ่งถูกเนรมิตขึ้นอย่างจริงใจและเหมาะสม เรารู้ดีว่าเทพสีเขียวจะแข็งแกร่งและควบคุมเวลาได้อย่างเชี่ยวชาญในตอนจบ แต่เราก็ไม่ทันจินตนาการว่า เขาจะต้องเสียสละความต้องการส่วนตัวมากมายเพียงใด
“ข้ารู้แล้วว่าตัวเองต้องเป็นเทพแบบไหน เพื่อเจ้า เพื่อเราทุกคน”
ประโยคสุดท้ายที่โลกิฝากไว้ในซีรีส์ โดยอันที่จริงโลกิเคยกล่าวประโยคนี้มาก่อนใน Thor ภาคแรก ซึ่งเป็นหนังเรื่องแรกที่เขาปรากฏตัว แต่ครั้งนั้นเขาตะโกนถ้อยคำดังกล่าวเสียงดังลั่นด้วยความจองหอง เขาพูดเพราะต้องการได้รับการยอมรับจากผู้เป็นพ่อบุญธรรมโดยไม่สนผิดชอบชั่วดี
วิธีเคารพตัวละครของนักแสดงอย่างทอม ฮิดเดิลสตัน กับผู้สร้างซีรีส์ คือการให้โลกิได้พูดประโยคเดิมนี้ในบริบทที่ต่างออกไป ครั้งนี้เขารู้แล้วว่าตัวเองจะต้องเป็นเทพแบบไหน เขาอาจไม่ได้ต้องการ (want) แต่จำเป็น (need) ต้องทำเพื่อสิ่งที่เชื่อมั่น ในตอนที่ 5 ของซีซั่น 2 ผู้ชมได้ทราบจากปากของตัวโลกิว่า สิ่งที่เขาหวาดกลัวที่สุดคือ การอยู่คนเดียว ลึกๆ แล้วเขาไม่ได้ต้องการช่วยโลก เขาเพียงอยากได้เพื่อนทุกคนกลับคืนมา เพื่อนที่เป็นดั่งบ้านให้หัวใจของเทพผู้โดดเดี่ยวได้พักพิง เพราะหากลองมองย้อนกลับไป เขาคือเทพเจ้าที่ไม่เคยมีบ้านมาก่อน ตอนเป็นเด็กก็ถูกกษัตริย์อย่างโอดินลักพาตัวไปจากบ้านเกิด แม่ที่เขาผูกพันก็ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด เขาถูกรายล้อมด้วยความเปลี่ยวเหงามาตลอดชีวิต และในที่สุดเขาก็รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองใฝ่หามาตลอดคือ มิตรภาพ
ทว่าจนแล้วจนรอด ในตอนสุดท้ายของซีรีส์ โลกิก็ไม่อาจมีชีวิตร่วมกับเพื่อนได้ตามที่เขาปรารถนา ในช่วงท้ายเขาตัดสินใจกัดฟันเลือกทางเดินที่ตัวเองจะต้องโดดเดี่ยวที่สุด เพื่อช่วยเพื่อนของเขาทุกคน เขาเสียสละตัวเองเพื่อให้เส้นเวลาทั้งหมดยังคงอยู่ ส่วนตัวเขาทำได้เพียงเฝ้าดูเพื่อนทุกคนใช้ชีวิตต่อโดยไม่มีตัวเองอยู่ตรงนั้น
Loki ซีซั่น 1 ตอนที่ 1 และ Loki ซีซั่น 2 ตอนสุดท้ายมีชื่อตอนเหมือนกันนั่นคือ ‘Glorious Purpose (ลิขิตอันทรงเกียรติ)’ ทีแรกลิขิตนั้นอาจเป็นการเรียกร้องความสนใจเพื่อให้ได้การยอมรับ แต่ตอนนี้โลกิรู้แล้วว่าการถูกยอมรับไม่อาจได้มาด้วยการเรียกร้องหรือแก่งแย่ง ทว่าหาได้จากการผูกมิตรและการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ลิขิตอันทรงเกียรติของเขาแม้จะต้องเหงาไปชั่วนิรันดร์ แต่เขาก็รู้แล้วว่าตัวเองจะต้องเหงาแบบนั้นไปเพื่อใคร ผู้สร้างอาจทำร้ายจิตใจทั้งตัวโลกิและผู้ชมในตอนจบ อย่างไรเสียมันก็เป็นบทสรุปซึ่งเคารพตัวละครได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
และผู้ชมอย่างเราก็คงจะทำได้เพียงบอกรักตัวละครนี้เป็นครั้งสุดท้าย ด้วยประโยคที่เป็นดั่งคำขวัญขององค์กรกาลเวลาในเรื่องนั้นคือ ‘For All Time, Always’
อ้างอิงจาก