พ่อแม่เตือนไม่เคยจำ ดู Final Destination หนึ่งครั้งจำจนวันตาย
ประโยคข้างต้นคงไม่เกินจริงเท่าไหร่ สำหรับใครก็ตามที่เคยดูแฟรนไชส์หนังโกงความตายมาแล้ว ก็มันจะมีหนังสักกี่เรื่องกันที่ทำให้เรากลัวทุกครั้งก่อนข้ามถนน ระแวงว่าจะมีอะไรหล่นใส่หัว หรือต้องระวังไม่ให้น้ำที่เกาะรอบแก้วไหลเจิ่งจนสุ่มสี่สุ่มห้าไปทำไฟช็อตเข้า ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะความตายอันน่าสยดสยองในหนังมันฝังเข้าไปในหัวแล้วนี่สิ
Final Destination นำเสนอภาพความตายชวนขนลุกขนพองของตัวละครกลุ่มหนึ่งที่รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมมาด้วยภาพนิมิตและคำเตือนของใครบางคนในกลุ่ม พวกเขารอดตายมาก็จริง ทว่ากลุ่มผู้รอดชีวิตกลับเริ่มทยอยตายตามลำดับ ทุกคนล้วนเผชิญชะตากรรมสุดสยอง การตายหลายครั้งพิสดารเกินความเป็นจริง ตัวละครในเรื่องจึงพยายามโกงความตาย แต่สุดท้ายแทบไม่มีใครรอด
หนังโกงความตายที่เริ่มฉายต้นยุค 2000s เป็นทั้งหนังที่แสดงให้เห็นความกลัวของผู้คนในยุคสมัยใหม่ ยุคที่เทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การนั่งเครื่องบิน ขึ้นรถไฟเหาะ หรือใช้เครื่องมือครัวมักจะแฝงไปด้วยความกลัวลึกๆ อีกประเด็นที่น่าสนใจของ Final Destination คือการมองความตายอย่างเป็นระบบ ความตายไม่ใช่สิ่งที่เกินความควบคุม แต่มีรูปแบบที่คาดเดาได้ และอาจจะโกงได้
อาจเป็นเคราะห์ดีของแฟนๆ ที่กำลังจะได้ดู Final Destination Bloodlines (2025) หนังภาคใหม่ที่เหมือนจะมาขมวดปมโกงตายอีกครั้ง หลังห่างหายจากภาคล่าสุดถึง 14 ปี โชดดีในโชคร้ายคือในภาคนี้เรายังมีโอกาสได้เห็น โทนี ท็อดด์ (Tony Todd) มารับบทเป็นคุณลุงบลัดเวิร์ธ เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพที่มักจะคอยให้คำแนะนำกลุ่มผู้รอดชีวิต แต่น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้คือโอกาสสุดท้ายที่เราจะได้เห็นโทนี เพราะเขาได้จากโลกนี้ไปแล้ว
เมื่อภาคใหม่กำลังจะมา The MATTER ก็ไม่อยากพลาด ขอลงทุนย้อนกลับไปดูหนังแฟรนไชส์ Final Destination ทั้งหมด 5 ภาครวดอีกครั้ง ไม่ว่ามันจะอี๋และน่ากลัวขนาดไหนก็ตาม เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลมาสรุป พิสูจน์ให้เห็นกันไปเลยว่า ที่จะโกงตายน่ะ ทำได้จริงไหม ทำได้รึเปล่า ตายด้วยสาเหตุไหนเยอะที่สุด ทำไมหนังทำให้คนดูกลัวได้ตั้งแต่ไม้จิ้มฟัน ยันท่อนซุงพุ่งเข้าหน้า
*เก็บข้อมูลจากภาพยนตร์ 5 เรื่อง ได้แก่ Final Destination (2000), Final Destination 2 (2003), Final Destination 3 (2006), The Final Destination (2009) และ Final Destination 5 (2011)
กลุ่มผู้รอดชีวิต
ตั้งแต่เหตุเครื่องบินเที่ยว 180 ระเบิดใน Final Destination ภาคแรก จนถึงเหตุสะพานถล่มใน Final Destination 5 มีผู้รอดชีวิตที่รอดจากความตายด้วยภาพนิมิต/ลางบอกเหตุล่วงหน้า (premonition) รวมกันทั้งหมด 42 คน ซึ่งในจำนวนนี้ไม่นับรวมตัวละครที่รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมอยู่แล้ว หรือก็คือไม่ต้องพึ่งลางสังหรณ์ก็รอดอยู่ดี
จากจำนวนทั้งหมด ในตอนสุดท้ายมี 40 คนที่ตาย และมีเพียง 2 คนที่รอดชีวิต (ตามเนื้อเรื่องหลัก—จะอธิบายเพิ่มเติมในลำดับถัดไป) จากตัวเลขนี้เท่ากับว่า ถึงจะรอดจากโศกนาฏกรรม ก็มีโอกาสตายภายหลังถึง 95.24% และมีโอกาสรอดจากเงื้อมมือความตายเพียงแค่ 4.76%
สำหรับสัดส่วนเพศของผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมจะอยู่ที่ ชาย 24 คน (57.2%) และ หญิง 18 คน (42.8%)
เหตุเฉียดตายต่อเนื่อง
จุดเด่นข้อหนึ่งของหนัง Final Destination คือ การตายของแต่ละตัวละครหลายครั้งไม่ใช่การตายโดยเฉียบพลัน หนังจะสร้างสถานการณ์ให้ความตายมีความหวาดเสียว และมีการวางเหตุการณ์ที่อาจดูเล็กน้อยแต่สุดท้ายเรียงร้อยต่อกันจนนำไปสู่ความตายในที่สุด ซึ่งในที่ขอเรียกว่า ‘เหตุเฉียดตายต่อเนื่อง’
ตลอดทั้ง 5 ภาค แน่นอนว่า จำนวนเหตุเฉียดตายต่อเนื่องที่น้อยที่สุดคือ 0 เหตุการณ์ หรือก็คือตัวละครตายในทันที (เช่น รถชน) ส่วนจำนวนเหตุเฉียดตายต่อเนื่องที่สูงที่สุดจะอยู่ที่ 18 เหตุการณ์ โดยเกิดขึ้นใน Final Destination ภาคแรก ในฉากที่จะถึงคราวตายของ เคลียร์ ริเวอร์ส (ตัวละครสาวที่จะรอดไปมีชีวิตใน Final Destination 2)
18 เหตุการณ์เฉียดตายต่อเนื่องมีลำดับ ดังนี้: หม้อแปลงระเบิด>ราวตากผ้าหมุน>สายไฟช็อต>หมาเห่า>เทียนดับ>เสาเหล็กแทงพื้น>สระน้ำรั่ว>ไฟช็อต>หลังคาหลุด>ทีวีระเบิด>หลอดไฟแตก>แท่งเหล็กทิ่ม>ถังหล่น>รถยนต์ดับ>น้ำมันรั่ว>ถังแก๊สพุ่ง>ไฟไหม้>รถยนต์ระเบิด
นอกจากนี้ จากความตายทั้งหมดที่เกิดขึ้น มีเหตุอันตรายที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ ได้แก่
- น้ำหยด/น้ำไหล 14 ครั้ง
- ไฟไหม้ 13 ครั้ง
- ระเบิด 13 ครั้ง
- ไฟช็อต 12 ครั้ง
- เหตุชน 10 ครั้ง
สาเหตุการตาย
มาถึงหัวข้อที่สยองที่สุดกับสาเหตุการตายที่เกิดขึ้นใน Final Destination สำหรับข้อมูลในส่วนนี้เราจะใช้บริบทในเรื่องและสภาพศพในตอนสุดท้ายมาพิจารณาร่วมกัน โดยที่ไม่นับการตายที่เกิดขึ้นในภาพนิมิต จะนับเฉพาะการตายจริงๆ ที่เกิดขึ้นหลังรอดจากโศกนาฏกรรมเท่านั้น แน่นอนว่าทุกการตายไม่น่าดูสักเท่าไหร่
สาเหตุการตายที่มานำเป็นอันดับที่ 1 จากการตายของทั้งหมด 40 คน คือ การตายที่เกี่ยวข้องกับบริเวณลำตัว/ทั้งตัว (เช่น ตัวขาด ร่างเละ โดนบด) โดยมีจำนวนผู้รับเคราะห์อยู่ที่ 16 คน (40%) ต่อมาอันดับที่ 2 คือ การตายที่เกี่ยวข้องกับส่วนหัว (เช่น หัวขาด หัวเละ) มีจำนวนอยู่ที่ 13 คน (32.5%) และอันดับที่ 3 คือ การตายจากการถูกไฟคลอก/ระเบิด มีจำนวนอยู่ที่ 6 คน (15%)
ส่วนการตายอื่นๆ นอกจาก 3 อันดับแรก มีดังนี้ โดนเสียบ 3 คน (7.5%), ขาดอากาศหายใจ 1 คน (2.5%), และตกตึก 1 คน (2.5%)
โกงความตาย
การโกงความตายเป็นหนึ่งในแกนหลักของ Final Destination เมื่อความตาย—การทวงคืนความตาย—มีรูปแบบที่ชัดเจน กางลำดับออกมาได้เหมือนท่องเลข 1 2 3 ตัวละครสามารถเดาได้ว่าใครจะเป็นรายต่อไปที่ต้องประสบเคราะห์ร้าย และพยายามช่วยคนคนนั้นเพื่อให้ความตายข้ามลำดับไป หรือที่ในหนังเรียกว่า ‘skip’ แต่อนิจจา สุดท้ายความตายวนกลับมาเอาชีวิตอยู่ดี
ใน Final Destination มีการโกงความตาย/ข้ามลำดับเกิดขึ้นทั้งหมด 11 ครั้ง ในจำนวนนั้นมีผู้ร่วมขบวนการการโกงทั้งหมด 14 คน ทว่ามีเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้นที่มีคนรอดชีวิตและรอดชีวิตไปได้ 2 คน เราสามารถคำนวณโอกาสโกงความตายสำเร็จได้ 2 วิธี คือ
- โอกาสที่คนในเหตุการณ์จะรอดชีวิต 14.29% (2 ใน 14 คน) โดยคํานวณอิงจากจํานวนผู้รอดชีวิต
- โอกาสที่เหตุการณ์หนึ่งจะมีคนรอดชีวิต 9.09% (1 ใน 11 เหตุการณ์) โดยคํานวณอิงจากจํานวนเหตุการณ์
ในจักรวาลเนื้อเรื่องหลัก (canon) ของ Final Destination มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่รอดชีวิต และถ้ากำลังสงสัยว่าใครกันที่รอด ชื่อของทั้งคู่คือ ‘คิมเบอร์ลี คอร์แมน’ หญิงสาวผู้มีนิมิต และ ‘โทมัส เบิร์ก’ นายตำรวจที่คอยช่วยเหลือกลุ่มรอดชีวิต ในหนัง Final Destination 2 ทั้งสองรอดชีวิตจากการที่คิมเบอร์ลีขับรถดิ่งลงทะเลสาบเพื่อฆ่าตัวตาย แต่เธอกลับรอดชีวิต ตรงนี้เองที่หนังตีความให้การฟื้นจากความตายหมายถึง ‘การได้ชีวิตใหม่’ (new life) ซึ่งเป็นการหักล้างกับความตาย
ถึงอย่างนั้น ยังมีอีกจักรวาลหนึ่ง (non-canon) ที่คิมเบอร์ลีและโทมัสเลือกความตายด้วยตัวเอง เป็นเนื้อหาที่มาจาก Choose Their Fate ฟีเจอร์พิเศษที่แถมมากับดีวีดี Final Destination 3 โดยให้คนดูสามารถเปลี่ยนชะตากรรมที่เกิดขึ้นได้
ดังนั้นหากนับจักรวาลที่อยู่นอกเนื้อเรื่องหลัก กลุ่มผู้รอดชีวิตก็ไม่มีโอกาสเอาชนะความตายได้เลย (0%) และต้องตาย 100% คงคอนเซ็ปต์ของ Final Destination ที่พยายามบอกกับเรา นั่นคือ ไม่ว่าจะอย่างไร ความตายมักมาเยือนเสมอ
Final Destination ทําคุณกลัวอะไรบ้าง?
ว่ากันว่าหลังดู Final Destination เราจะระแวงไปทุกอย่าง กังวลในทุกสิ่ง จะไปเหยียบตะปูตรงไหนมั้ย จะโดนไฟช็อต โดนบันไดเลื่อนดูดขารึเปล่า ไม้ที่หักตรงนั้นล่ะ จู่ๆ เราจะเดินเซจนโดนมันทิ่มปอดมั้ย คือกลัวไปหมด
ต่อไปนี้คือรายชื่อตั้งแต่ลางบอกเหตุ สิ่งมีชีวิต สถานที่ ไปจนถึงสิ่งของและ/หรือการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการตายที่เกิดขึ้นในหนัง Final Destination รวบรวมมาได้อย่างน้อย 156 รายการ ดังนี้
ลมพัด, เครื่องบิน, เพลง Rocky Mountain High (จอห์น เดนเวอร์), ประตู, ก็อกน้ำ, น้ำ, มีดโกนหนวด, ไฟซ็อต, ลวดเหล็ก, สบู่, เตาแก๊ส, แก้วน้ำ, คอมพิวเตอร์, เศษกระจก, เหล้า, ไฟไหม้, แก๊สระเบิด, มีด, ประตูรถล็อก, รถไฟ, โซ่, แผ่นเหล็ก, เบ็ดตกปลา, ถังขยะ, ราวตากผ้า, สายไฟ, เสาไฟ, ฟ้าผ่า, ตะขอเบ็ดตกปลา, ต้นไม้, กิ่งไม้, หลังคา, ทีวี, หลอดไฟ, ถังน้ำมัน, ถังแก๊ส, ท่อเหล็ก, ป้ายร้าน, ก้อนอิฐ, ไฟดับ, หมา, รถยนต์, เพลง Highway to Hell (AC/DC), ท่อนซุง, บุหรี่, ถนนเปียก, มอร์เตอร์ไซค์, กาแฟหก, รถบรรทุก, ขวดน้ำ, รถคว่ำ, รถระเบิด, น้ำมัน, แม่เหล็ก, กระทะ, ไมโครเวฟ, อ่างล้างจาน, หน้าต่าง, สปาเก็ตตี้, บันไดเหล็ก, นกพิราบ, คลินิกหมอฟัน, น้ำรั่ว, ถังออกซิเจน, โมบายแขวน, รถเครน, แผ่นกระจก, ลูกบิลเลียด, กับดักหนู, รอก, เซิร์ฟบอร์ด, ลูกโบว์ลิ่ง, ตะขอ, ลิฟต์, รั้วลวดหนาม, ท่อพลาสติก, หิน, ยางรถ, ถุงลม, เครื่องกระแทก, เลื่อย, รถเข็น, ช่องระบายอากาศ, สายออกซิเจน, รถไฟเหาะ, ครีมกันแดด, ตู้อบผิวแทน, ชั้นวาง, ราวแขวนโค้ต, ไม้กระดาน, วิทยุ, มอเตอร์รถ, ดาบ, เครื่องออกกำลังกาย, มาสคอตหมี, ปืนยิงตะปู, รถโฟล์คลิฟต์, น้ำยาเช็ดกระจก, ค้อน, เศษขี้เลื่อย, ดอกไม้ไฟ, ตะปู, ลูกปืนใหญ่, ม้า, ประทัด, เชือก, เตาบาร์บีคิว, ขนมเวเฟอร์, หนู, สนามรถแข่ง, รั้วเหล็ก, ล้อรถ, แท่งไม้, น้ำมันเครื่อง, สกรู, ไขควง, เกือกม้า, ครีมทาตัว, กรรไกร, เครื่องหนีบผม, รถตัดหญ้า, เครื่องพ่นไฟ, อู่รถ, สระน้ำ, หลังคารถ, ปืนฉีดน้ำ, อู่ล้างรถ, ลูกกอล์ฟ, เหรียญนำโชค, อ่างอาบน้ำ, เฮลิคอปเตอร์บังคับ, โรงหนัง, บันไดเลื่อน, แว่นตา, นั่งร้าน, ประแจ, ยางมะตอย, บาร์โหน, คานทรงตัว, แป้ง, เตียง, ฝังเข็ม, ธูป, น้ำยาแอลกอฮอส์, โทรศัพท์มือถือ, เทียน, รูปปั้น, เครื่องเลสิก, คีมถ่างตา, ตู้กดน้ำ, ตุ๊กตา, เครื่องบดเนื้อ, เหล็กเสียบย่าง, เตาย่าง, ปืน, คน, literally everything…
อ้างอิงจาก