กลับมาอีกครั้งกับสุดยอดหนังที่ทำให้เราทุกคนมองชีวิตประจำวันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป กับ Final Destination ในภาคล่าสุดอย่าง Final Destination Bloodlines หนังที่ทำให้เราไม่อยากขับรถตามหลังรถบรรทุก ขึ้นเครื่องบินก็พยายามไม่คิดอะไร หลอนไปจนถึงเรื่องการทำเลสิก เรียกได้ว่า คนเราตายได้ในทุกบริบท ตายได้จากสารพัดสรรพสิ่งสามัญ ที่จะมารุมเอาชีวิตของเราไปได้อย่างแปลกประหลาด
อันที่จริง โลกของเรามีเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างประหลาดชนิดนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุซึ่งนำไปสู่ชีวิตได้ หลายครั้งยังเกิดจากสิ่งที่แปลกประหลาดไม่คาดฝัน คำขำๆ ที่เราพูดกันว่า “แค่นี้ไม่ตายหรอก” กลับนำไปสู่ความตายได้จริงๆ และนอกจากความโชคร้ายแล้ว หลายบริบทยังสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ เช่นว่าเป็นเหตุการณ์ก่อนที่เราจะเข้าใจเรื่องทางการแพทย์ หรือเป็นเหตุการณ์ร่วมบางอย่างที่เกิดขึ้นอย่างแปลกประหลาดในประวัติศาสตร์
ความตายเป็นสิ่งแปลกประหลาด พอๆ กับโชคชะตาของมนุษย์ ในโอกาสที่หนังแห่งการเจริญมรณานุสติจะกลับมาฉายอีกครั้ง The MATTER จึงชวนย้อนดูเหตุแห่งความตายที่เหนือความคาดหมาย จากกิจกรรมธรรมดาอย่างการโกนหนวด ที่ทำให้สุภาพบุรุษเสียชีวิตไปแล้วหลายคน ไปจนถึงความรักที่ร้าวรานจนใจสลาย หรือการตายในพิธีส่งผู้ตายที่ซ้ำซ้อนกัน
โกนหนวด เหตุการตายกลายเป็นวรรณกรรม
การโกนหนวดเป็นตัวแทนของความศิวิไลซ์และความเป็นสุภาพบุรุษ ทว่าในยุคสมัยก่อนที่เราจะมีมีดโกนหนวด รวมถึงแนวคิดเรื่องสุขอนามัยและความเข้าใจเรื่องเชื้อก่อโรค การโกนหนวดจึงเป็นกิจกรรมที่คร่าชีวิตสุภาพบุรุษมาแล้วหลายท่าน เช่น ในปี 1921 ไมเคิล ฟาร์เลย์ (Michael F. Farley) สุภาพบุรุษจากไอร์แลนด์ผู้มาตั้งรกรากในสหรัฐฯ ได้เข้าไปโกนหนวดที่ร้านตัดผม ซึ่งในขณะนั้นมีการใช้แปรงจากขนของตัวแบดเจอร์ เพื่อตีครีมสำหรับใช้ในการโกนหนวด แต่ความโชคร้ายคือเจ้าแปรงจากขนของตัวแบดเจอร์ในคร้ังนั้น ติดเชื้อ ‘แอนแทรกซ์’ จนทำให้คุณไมเคิลเสียชีวิตในเวลาต่อมา
นอกจากกรณีเชื้อแอนแทรกซ์แล้ว ยังมีผู้เคราะห์ร้ายที่เป็นจุดเริ่มต้นของงานเขียนสำคัญ คือกรณีของ จอห์น เทร์รี (John Terry) พี่ชายของ เฮนรี เดวิด ธอโร (Henry David Thoreau) ซึ่งจอห์นทำการโกนหนวดอันเป็นกิจวัตรประจำวัน ทว่าครั้งนั้นกลับทำมีดบาดจนเกิดอาการกรามแข็ง และเสียชีวิตในอ้อมกอดของน้องชาย การตายที่ไม่คาดฝันนี้ทำให้เดวิด ธอโร เสียใจมาก ในที่สุด ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson) จึงแนะนำให้เดวิดไปพักใจที่บ้านสวนริมน้ำที่ชื่อว่า วอลเดน (Walden) จนกลายมาเป็นวรรณกรรมและความเรียงสำคัญ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ
ตายเพราะนาฬิกาปลุก
การตายยังคงอยู่ในยุควิคตอเรียน แถมเป็นเนื้อข่าวคึกโครมลงหนังสือพิมพ์ ในปี 1886 มีสุภาพบุรุษท่านหนึ่งชื่อว่า ซามูแอล วาร์ดเดล (Samuel Wardell) อาศัยอยู่ใกล้ๆ นิวยอร์ก บางแหล่งระบุว่าเป็นคนจุดตะเกียง คือทำหน้าที่จุดโคมไฟถนนที่ตอนนั้นเป็นระบบแก๊ส ตัวคุณแซมเป็นคนหลับลึก แต่ก็รักในหน้าที่ แกจึงออกแบบระบบปลุกแบบใหม่ด้วยการแขวนหินเอาไว้ใกล้ๆ หัวเตียงและผูกเข้ากับนาฬิกาปลุก เพื่อให้หินตกใส่หัวเตียงจนตื่นเมื่อนาฬิกาปลุกดัง ทว่าวันหนึ่งเขาดันจัดปาร์ตี้ที่บ้านและคงจะหนักและสนุกไปหน่อย จนทำให้ตัวเตียงของเขาไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม พอนาฬิกาปลุกดัง หินนั้นจึงหล่นลงตรงมาตรงหัวของแซมและทำให้เขาเสียชีวิต
ตายเพราะใจสลาย มีอยู่จริง
โดยทั่วไปเรามีคำว่า ‘ตรอมใจ’ คือภาวะที่ผู้คนเผชิญความเจ็บปวด ความสูญเสีย จนนำไปสู่การเสียชีวิต นอกจากการเป็นถ้อยคำในเชิงอุปมาแล้ว รายงานการเสียชีวิตที่เกิดต่อเนื่องจากการสูญเสียในระยะเวลาสั้นๆ ยังเป็นสิ่งที่พบได้ โดยแม้จะเป็นกรณีหายาก แต่นักวิจัยมีการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียกว่าภาวะใจสลายกับสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด กล่าวคือ มีการบ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างความเศร้าอย่างรุนแรงกับสุขภาพเชิงกายภาพ
กรณีการเสียชีวิตในระยะเวลาสั้นๆ เป็นกรณีที่เกิดขึ้นน้อยและไม่มีรูปแบบชัดเจน ทว่ามีงานศึกษาของอเมริกา ซึ่งศึกษากลุ่มตัวอย่าง 12,000 รายที่อายุเกิน 50 ปี พบว่า กลุ่มตัวอย่างเพศชายมีแนวโน้มเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ภายในระยะเวลา 3 เดือน หลังจากคู่ชีวิตเสียชีวิตลง ทั้งนี้บทความจากนิตยสาร TIME ยังชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของการหลั่งอะดรีนาลีน ซึ่งสัมพันธ์กับระบบการทำงานของหัวใจที่อาจส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก และสัมพันธ์ทั้งกับการเกิดเหตุการณ์รุนแรงในชีวิต ทั้งการสูญเสีย ไปจนถึงการเผชิญภัยพิบัติ
ตายเพราะลูกมะพร้าว
คุณอาจเคยอ่านเจอว่า มะพร้าวสังหารคนมากกว่าปลาฉลาม ขีดเส้นใต้ก่อนว่าตัวเลขที่บอกว่ามะพร้าวตกใส่คนจนตายที่มีมากถึง 150 กรณี โดยเฉลี่ยต่อปี เป็นตัวเลขที่เกินจริงจากงานศึกษาที่ชื่อว่า Injuries Due to Falling Coconuts ในปี 1984 ด้วยขนาดของลูกมะพร้าวและความสูง ความเป็นไปได้ในการตายจากการถูกตกใส่จังๆ จึงถือว่าเป็นไปได้น้อย แต่การบาดเจ็บที่เกี่ยวกับลูกมะพร้าวนั้นมีอยู่บ้าง เช่น รายงานจากโรงพยาบาลในปาปัวนิวกินี ระบุว่า 2.5% ของการบาดเจ็บจนมาโรงพยาบาลเกิดจากลูกมะพร้าว โดยตัวเลขเฉลี่ยที่มะพร้าวฆ่าคนนั้นจะอยู่ที่ราว 2 กรณีต่อปี ซึ่งในประวัติศาสตร์มีการบันทึกการตายจากการถูกมะพร้าวหล่นใส่อยู่หลายครั้ง นั่นคือเกิน 20-30 กรณี
ตายเพราะคำสาปฟาโรห์
การตายครั้งนี้ต้องบอกพี่แจ็คก่อนว่า เป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่สื่อสารพัดในยุคนั้นก็รายงานโดยอ้างอิงไปในทางเดียวกันว่า ความตายนี้ต้องเกี่ยวกับการไปเปิดโลงศพฟาโรห์แน่ๆ เพราะห่างกันแค่ 6 สัปดาห์เท่านั้น กับตำนานคำสาปบันลือโลกในปี 1922 ที่ขณะนั้นตะวันตกออกสำรวจและเปิดสุสานตุตันคาเมน โดยหนึ่งในผู้นำคณะสำรวจผู้หลงใหลในโบราณคดีคือ จอร์จ เฮอร์เบิร์ต เอิร์ลแห่ง แคร์นาร์วอน (George Herbert, Earl of Carnarvon)
กล่าวโดยสรุปคือ ในปีนั้นคณะสำรวจได้เปิดสุสานและโลงศพฟาโรห์ตุตันคาเมน แต่หลังจากเปิดสุสานได้เพียง 6 สัปดาห์ ท่านเอิร์ลก็เสียชีวิตลงจากแผลยุงกัด ซึ่งเกิดจากรอยจากการโกนหนวด (คุ้นๆ) ในครั้งนั้น หนึ่งในผู้สร้างเรื่องของการตายครั้งนี้ คือ เซอร์โคนัน ดอยล์ (Sir Conan Doyle) ผู้เป็นหนึ่งในคนดังที่ดันไปให้สัมภาษณ์ และเชื่อมโยงว่าอาจจะเกี่ยวกับการไปเปิดสุสานและเจอกับคำสาปที่นักบวชสาปเอาไว้ ประกอบกับคณะเดินทาง 12 คน ก็เสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกัน
สิ่งที่น่าสนใจคือ ข่าวส่วนใหญ่พาดหัวว่าเป็น ‘คำสาปมัมมี่’ และคำสาปฟาโรห์ ซึ่งในที่สุด เรื่องนี้ก็กลายเป็นหนึ่งในความเชื่อและเรื่องเล่าสำคัญในวรรณกรรมต่างๆ ซึ่งในขณะนั้นก็มีงานวิจัยหรือแถลงจากภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะการที่ชี้ในมิติวิทยาศาสตร์ เช่น อาจเชื่อมโยงกับเชื้อราบางจำพวก
ตายเพราะโลงศพทับ
ผู้จัดการความตายกลับเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ คุณอาจเคยเห็นมีมของผู้แบกโลงศพในงานศพแบบตะวันตก ซึ่งจะต้องแบกหรือแห่โลงศพเพื่อนำไปสู่สุสาน โดยปี 1872 นั้นได้เกิดอุบัติเหตุน่าสลดใจที่เมืองลอนดอน ในระหว่างการนำโลงศพไปยังสุสาน Kensal Green Cemetery ผู้แบกโลงศพ 6 ราย ต้องแบกโรงศพในวันที่เฉอะแฉะหลังจากฝนตก และต้องนำโลงศพนั้นเดินทางผ่านช่องทางแคบๆ ซึ่งในจังหวะนั้น เฮนรี่ เทย์เลอร์ (Henry Taylor) ผู้ควบคุมขบวน ได้จัดการหันโลงศพเพื่อให้ส่วนบนของโลงศพเข้าสู่สุสานเป็นส่วนแรก ทว่าในจังหวะจัดขบวน ผู้รับหน้าที่แบกโลงศพคนอื่นกลับทำโลงศพหลุดมือไปทับเฮนรี่จนเสียชีวิต
อ้างอิงจาก