เรียกได้ว่าเดือดมากกับซีรีส์ Moon Knight ที่ทั้งเดือดทั้งงงกับการตัดสลับไปมาของทั้งตัวตนและมิติเวลาของพระเอก การปรากฏตัวอย่างแปลกประหลาดของเทพหรืออะไรสักอย่างที่ทั้งหลอกหลอนและช่วยเหลือ
แต่ทั้งหมดนี้ยืนอยู่บนบริบทสำคัญว่า Moon Knight กำลังใช้ตำนานอียิปต์เป็นองค์ประกอบของพลังพิเศษและเรื่องราวยอดมนุษย์ที่น่าจะหมายถึงการกอบกู้โลกเป็นแกนสำคัญ โดยรวมแล้วเท่าที่เรื่องเริ่มเผยปกรณัมต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานของเรื่องราว ก็นับว่าเป็นการตีความตำนานอียิปต์ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจและน่าสนใจไปพร้อมๆ กัน
จากฉากของเรื่องที่ดูจะแสนธรรมดาคือเมืองลอนดอน แต่พอเรื่องเริ่มเล่าการงานของพระเอกที่ทำงานที่พิพิธภัณฑ์—ที่เราเองก็ตีความว่าน่าจะเป็น British Museum หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ครอบครองโบราณวัตถุจากอารยธรรมอียิปต์ที่มากและครบถ้วนที่สุดนอกอียิปต์ โดยได้มาตั้งแต่ยุคของการสำรวจไปยังโลกตะวันออกและการล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ 18-19 เหล่าตำนานที่เคยหลับใหลก็เริ่มกลับมาโลดแล่นอีกครั้งในมิติของหนังและการ์ตูนมาร์เวล เราเริ่มได้เห็นอักษรไฮโรกลีฟิก เห็นมัมมี่ เห็นพีระมิดที่เป็นเค้าลางถึงการต่อสู่ต่อไปที่จะต้องเต็มไปด้วยกลิ่นอายของแสงแดดอันเจิดจ้าและแม่น้ำที่เต็มไปด้วยกอกก ฮิปโป และจระเข้
นอกจากพีระมิดและสิ่งอื่นๆ ที่เราอาจจะคุ้นเคยกันดี ในความงงของเรื่องราว เราอาจจะเริ่มงงกับอ้างอิงบางอย่างที่ตัวเรื่องดึงมาจากปกรณัมอียิปต์ ตั้งแต่ตัวร้าย—น่าจะแหละ—ที่ทุบแก้วใส่รองเท้าและออกเผยแพร่ธรรมเหมือนกับอาจารย์แดง ในกระบวนการตัดสิน อะไรคือความหมายของตาชั่ง ตัวละครประหลาดที่น่าจะเป็นเทพที่มีหัวเหมือนกระโหลกนกคืออะไรกันแน่ และเกี่ยวอะไรกับดวงจันทร์ เอ็นเนียดหรือเทพเจ้าทั้งเก้าที่ตัวเอกหมายถึงคือใคร สการับที่แย่งกันไปมาคืออะไร อะไรคือหมาในที่ไล่ล่าในตอนท้ายของเรื่อง
เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มความสนุกในการดู Moon Knight ในตอนต่อๆ ไป The MATTER ชวนไปรู้จักตำนานอียิปต์เบื้องต้นที่ Moon Knight น่าจะใช้เป็นแกนและปมขัดแย้งหลักของเรื่อง จากตำนานว่าด้วยโถงแห่งสัจจะที่พูดถึง ‘ตาชั่ง’ หัวใจ และขนนก ที่ทวยเทพจะใช้ตัดสินมนุษย์ในโลกหลังความตาย อัมมิตเทพเจ้ากึ่งอสูรมีหัวเป็นจระเข้ที่ควรจะอยู่ในการทำลายวิญญาณบาปในห้องแห่งการตัดสิน แต่ดูเหมือนว่าจะกลายมาเป็นตัวร้ายของเรื่อง เทพคห์อนชู จันทรเทพและเทพแห่งการเดินทาง ผู้ที่บางครั้งก็มีเศียรเป็นเหยี่ยวและเกี่ยวข้องกับการเดินทางข้ามห้วงเวลา อานูบิสเทพแห่งความตายผู้นำทางดวงวิญญาณสู่โลกสุดท้าย และแมลงสการับ ด้วงปีกแข็งที่ถือกันว่าเป็นตัวแทนของวงจรและเป็นเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์อันสำคัญ
Khonshu : จันทรเทพ เทพเจ้าแห่งการเดินทางและห้วงเวลา
เทพเจ้าของอียิปต์ก็คล้ายๆ กับตำนานเทพเจ้าของอาณาจักรโบราณคือมักเป็นศาสนา เป็นเครื่องชี้นำชีวิต และเป็นคำอธิบายของสิ่งต่างๆ สำหรับคห์อนชู—อ้างอิงจาก Moon Knight—น่าจะเป็นเทพองค์สำคัญที่ปรากฏตัวอย่างหลอกหลอน คือ เป็นเหมือนปีศาจที่มีกะโหลกของนก มาพร้อมผ้าคลุมและไม้เท้า แน่นอนว่าเรื่องคือ Moon Knight อัศวินแห่งจันทรา เทพคห์อนชูหรือคอนส์ (Khons) ของอียิปต์เองก็เป็นหนึ่งในคณะเทพที่เป็นตัวแทนของดวงจันทร์ โดยในตำนานอียิปต์มีเทพสององค์ที่ถือว่าเป็นเทพแห่งดวงจันทร์คือเทพทอธ (Thoth) เทพแห่งปัญญาและอักษรศาสตร์ และคห์อนชู เทพเจ้าแห่งการเดินทางและห้วงเวลา
สำหรับคห์อนชู ถือว่าเป็นเทพที่ได้รับความนิยมพอสมควร โดยเฉพาะในงานป๊อปคัลเจอร์ และในบางพื้นที่เช่นที่เมืองทีบส์ (Thebes) ในฐานะบุตรของเทวีมัต (Mut) และอามุน (Amun) ประวัติศาสตร์ของอียิปต์รวมถึงตำนานเทพมีห้วงเวลาค่อนข้างยาวนานจากอาณาจักรเก่าคือ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล จนมีการรวมอียิปต์บนและล่าง (ของแม่น้ำไนล์) เข้าเป็นหนึ่ง เทพคห์อนชูเป็นเทพที่มีบทบาทในช่วงอาณาจักรใหม่ ในช่วงอาณาจักรเก่าคห์อนชูถูกวาดให้เป็นเทพเจ้ากระหายเลือด จนยุคหลังๆ เริ่มได้รับการบูชาในฐานะเทวบุตร เป็นส่วนหนึ่งของสามเทพเจ้าที่เป็นตัวแทนของครอบครัว
เทพคห์อนชู โดยรากของชื่อ khenes หมายถึงการข้าม—การเดินทาง—หมายความถึงการที่ดวงจันทร์เดินทางจากฟากหนึ่งไปสู่อีกฟากในค่ำคืน ตัวภาพของคห์อนชูในร่างมนุษย์ถูกวาดให้เป็นเด็กหนุ่ม ในบางร่างเทพคห์อนชูจะมีเศียรเป็นนกเหยี่ยว ในมือถือไม้เท้าหรือคฑาคล้ายกับที่ปรากฏใน Moon Knight เหนือเศียรในทุกร่างทรงไว้ซึ่งดวงจันทร์ และรัดเกล้างูเห่า
ในนามของคห์อนชูยังสัมพันธ์กับฉายาอีกสามนาม คือผู้โอบอุ้ม (Embracer) ในฐานะเทพผู้ดูแลนักเดินทางในยามค่ำคืน ผู้ชี้ทาง (Pathfinder) ในฐานะผู้ให้แสงสว่างยามราตรี และผู้ปกปักษ์(Protector) ในฐานะเทพเจ้าผู้ปกป้องเหล่าสรรพสัตว์และเป็นผู้รักษาเยียวยา ด้วยความเชื่อว่าแสงจันทร์เป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์และการเกิดของสิ่งมีชีวิต เทพคห์อนชูค่อนข้างมีชื่อเสียง ในเรื่องป๊อปๆ ยุคหลังเช่นจารึกโบราณในหนังเรื่อง Night at the Museum ก็ได้รับพลังการให้ชีวิตในยามค่ำคืนจากเทพองค์นี้นี่เอง
Ennead : เทพบดีทั้ง 9 ที่บางทีก็มี 10 องค์
ในเรื่องตัวเอกของเราจะเปิดหนังสือแล้วพูดถึงเอ็นเนียด (Ennead) บางช่วงมีไปเถียงว่ามีเทพองค์ไหนบ้าง The Ennead โดยความหมายหมายถึงจำนวน 9 เป็นคำที่อียิปต์ยืมมาจากภาษากรีก ดังกล่าวว่าตำนานของอียิปต์มีความยืดยาวยาวนาน เอ็นเนียดหรือคณะมหาเทพทั้ง 9 เกี่ยวข้องกับตำนานกำเนิดโลกและคณะเทพที่ยิ่งใหญ่ที่กลายเป็นที่บูชาโดยเฉพาะที่เมืองเฮลิโอโปลิส (Heliopolis) เมืองหลวงเก่าของอาณาจักรอียิปต์ใต้ในยุคอาณาจักรเก่า และถือว่าเป็นศูนย์กลางของศาสนาและเป็นรากฐานความเชื่อของอิยิปต์โบราณ คำว่า Ennead ในด้านหนึ่งหมายถึงความเป็นกลุ่ม ดังนั้นคณะเทพที่เรียกว่า Ennead จึงมักมีความหมายกว้างๆ ถึงมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่โดยไม่จำเป็นต้องมี 9 องค์ หรือมีการนับรวมเทพเจ้าที่ตายตัวแต่อย่างใด
โดยทั่วไปมหาเทพทั้ง 9 ที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวข้องกับตำนานการสร้างโลกคือประกอบด้วยอาทุม (Atum ต่อมาราหรือเร (Re) มีความสำคัญขึ้นกว่า) เทพเจ้าแห่งดวงตะวัน เทพเจ้าผู้สร้างผู้กำเนิดขึ้นเองจากความว่างเปล่า จากนั้นจึงทรงสร้าง (บ้างใช้คำว่าหลั่ง—spat) เป็นเทพเจ้าชู เทพเจ้าแห่งอากาศ (Shu) และเทฟนุต (Tefnut) เทพีแห่งฝนและความชุ่มชื้น ทั้งสองให้กำเนิดเทพเกบ (Geb) และเทวีนุด (Nut) เทพเจ้าแห่งผืนดินและเทวีแห่งท้องฟ้า โดยแผ่นดินและผืนฟ้าถูกแบ่งแยกด้วยอากาศคือเทพชูกำเนิดเป็นโลกและเกิดเป็นเทพองค์สำคัญที่โด่งดังคือ โอไซริส (Osiris) เซต (Set) และเทพีสำคัญสององค์คือ ไอซิส (Isis) และเนฟทิส (Nephthys) ตรงนี้คือครบ 9 แล้ว หลายตำนานมักนับรวมเทพฮอรัส (Horus) เข้าเป็นหนึ่งในเก้าที่มี 10 องค์ด้วย
ในส่วนของเทพฮอรัสเป็นเสมือนบุตรของโอไซริส แต่ก็ไม่เชิงเพราะการเกิดเหมือนเทวีไอซิส คือ เทวีของโอไซริสไปเอาศพมาแล้วให้กำเนิดเป็นฮอรัสขึ้น โดยตัวฮอรัสเองสัมพันธ์กับการก่อตั้งอาณาจักรอียิปต์ที่เป็นหนึ่งเดียวกันในฐานะฟาโรห์ ดังที่มงกุฎของฮอรัสจะเป็นการรวมเอามงกุฏของอาณาจักรอียิปต์เหนือและใต้เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งในเรื่องพระเอกของเราจะไปบ่นว่าเทพเอ็นเนียดทำไมมีเจ็ดองค์ และก็มีแฟนๆ ตาดีบอกว่าในโปสเตอร์มีชื่อเทวีฮาทอร์ (Hathor) เทวีแห่งท้องฟ้าและการให้กำเนิด ที่ในบางตำนานกล่าวว่าเป็นเหมือนภรรยาคู่กับคห์อนชูในการให้กำเนิดสิ่งต่างๆ โดยในตัวอย่างก็มีการเผยภาพเทวสภาที่มีเทพเก้าองค์อยู่ในคณะ ก็รอดูกันต่อไปว่าเทพทั้งเก้านี้จะมีองค์ไหนกันบ้าง
The Hall of Truth และ Ma’at : โถงแห่งสัจจะและหัวใจที่เบากว่าขนนก
ตาชั่งเป็นกิมมิกสำคัญของเรื่อง และในปกรณัมอียิปต์ ตาชั่งเป็นอีกหนึ่งตำนานสำคัญและถือกันว่าเป็นรากฐานของอารยธรรมอียิปต์โบราณ ทั้งในแง่ของความเชื่อในโลกหลังความตาย และการเป็นภาพแทนของหลักการสำคัญที่ก่อร่างเป็นสังคมขึ้น ภาพของตาชั่งเป็นเรื่องราวที่ปรากฏในคัมภีร์มรณะ (Book of the Dead) เล่าถึงเส้นทางที่มนุษย์จะต้องเดินทางไปหลังความตาย ตามตำนานเมื่อเราตายแล้ว เราจะต้องเดินทางไปยังดินแดนแห่งการพิพากษา ภายในห้องนั้นจะมีชื่อว่าโถงแห่งสัจจะทั้งสอง (The Hall of Two Truths) ในหอที่รายล้อมไปด้วยมหาเทพและตุลาการ หัวใจของผู้วายชนม์จะถูกควักออกมาและนำขึ้นชั่งบนตราชั่งคู่กับขนนกหนึ่งก้าน ขนนกของเทวีที่มีชื่อว่า เทวีมา’อัต (Ma’at) หากหัวใจนั้นเบาเท่ากับขนนก ดวงวิญญาณดวงนั้นก็ปลอดจากบาปสำคัญและได้รับการต้อนรับสู่แดนสุขาวดีหรือทุ่งกกแห่งความเป็นนิรันดร์ (Field of Reeds)
การชั่งหัวใจบนตาชั่งทองถือเป็นการตัดสินที่สำคัญที่สุดในความเชื่อแบบอียิปต์ คือ การใช้ชีวิตเพื่อไปถึงชีวิตนิรันดร์หลังความตาย ในโถงของการพิพากษา เทวีองค์สำคัญก็คือเทวีมา’อัต เทวีที่เป็นทั้งเทพเจ้าและเป็นเหมือนคอนเซปต์อันเป็นรากฐานของอารยธรรม เทวีมา’อัตมักถูกวาดเป็นเทวีที่มีปีกหรือเป็นภาพเทวีที่มีขนนกกระจอกเทศอยู่บนศีรษะ และถือกันว่าเป็นเทพสูงสุดองค์หนึ่งโดยเป็นตัวแทนของสมดุล ความยุติธรรม ระเบียบ และสัจจะ การชั่งหัวใจบนตาชั่งนั้นจึงเป็นการเผยความจริงครั้งสุดท้ายที่มีองค์เทวีและเทพสำคัญเป็นสักขีพยาน องค์คณะของการตัดสินมักวาดเป็นภาพของเทพอานูบิสที่นำหัวใจขึ้นชั่ง มีเทพทอธ เทพแห่งปัญญาทำหน้าที่จดบันทึก มีโอไซริสเทพผู้ยิ่งใหญ่เป็นประธานและมักจะมีเทวีมา’อัตปรากฏอยู่ด้วย รายล้อมด้วยตุลาการอีก 42 องค์ โดยในฉากนั้นเรามักเห็นภาพของสัตว์สี่ขาที่มีหัวเป็นจระเข้ ซึ่งเป็นเทพอสูรองค์หนึ่งชื่ออัมมิตทำหน้าที่ดูดกลืนดวงวิญญาณที่ไม่ผ่านการทดสอบด้วยตาชั่ง
ดังนั้นกระบวนการที่ปรากฏขึ้นในเรื่อง Moon Knight คือการชั่งความดีความชั่วของผู้คน ไปจนถึงการดูดกลืนวิญญาณ ก็ดูจะเป็นแนวคิดเรื่องความยุติธรรมและรักษาระบบระเบียบของโลกจากตำนานอียิปต์นี่เอง คำว่าสัจจะทั้งสองก็มีการตีความหลายด้าน ทั้งมา’อัตที่ปรากฏตัวในสองรูป คือ ขนนกและร่างเทวี หรือวัฒนธรรมอียิปต์ค่อนข้างให้ความสำคัญทวิลักษณ์ คือ ลักษณะที่เป็นสอง เทวีมา’อัตอาจหมายถึงเทวีอีกสององค์คือไอซิสและเนฟทิส เทวีแห่งการเกิดและการตาย บ้างก็ตีความว่าหมายถึงคำตัดสินที่มีสองทาง คือ ไปแดนสุขาวดีหรือถูกลงทัณฑ์ ในอีกด้านหนึ่งการที่เทวีมา’อัตคือเทวีแห่งความจริงที่มีสองด้าน ก็อาจสัมพันธ์กับมิติทางปรัชญาเรื่องมุมมองของความคิด
Ammit : เทพเจ้าแห่งการกลืนกิน
ความน่าสนใจของเรื่อง Moon Knight คือ ตัวละครที่กำลังทำหน้าที่พิพากษาผู้คนดูทรงแล้วจะไม่ใช่เทวีมา’อัต หรือมหาเทพในองค์คณะมหาเทพใหญ่ ถ้าเราดูจากคำใบ้ของตัวร้ายในเรื่อง อาจารย์แดงฉบับ Moon Knight น่าจะเกี่ยวข้องกับอัมมิต สัตว์อสูรและเทพเทวีที่อยู่ในกระบวนการการตัดสินในโถงแห่งการพิพากษา จากการถือครองตาชั่ง ไม้เท้าที่มีลักษณะเป็นหัวจระเข้ และพลังในการดูดกลืนดวงวิญญาณ โดยตามตำนานอัมมิตเป็นเทวีแห่งการลงโทษที่จะอยู่ในกระบวนการตัดสิน อัมมิตเป็นเทพที่เป็นส่วนผสมของสัตว์ร้ายตามลักษณะท้องถิ่นของอียิปต์ คือ มีส่วนหัวเป็นจระเข้ ส่วนกลางเป็นสิงโต และส่วนท้ายเป็นฮิปโป สามสิ่งมีชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่มนุษย์ยำเกรงและสามารถกินมนุษย์เป็นอาหารได้
อัมมิตมีฉายาว่าเทพเจ้าแห่งการกลืนกิน (Devourer) ดังกล่าวว่าถ้าวิญญาณดวงไหนไม่ผ่านการทดสอบบาป เป็นดวงวิญญาณบาป หัวใจที่อยู่บนตาชั่งก็จะถูกอัมมิตกลืนกินและตกอยู่ในภาวะทุกข์ทรมานไปชั่วกัลป์ชั่วกัลป์ ทีนี้ อียิปต์ค่อนข้างมองลักษณะที่เป็นคู่ เช่น เทวีมา’อัตก็มีคู่ ชีวิตหมายถึงโลกแห่งคนเป็นและชีวิตหลังความตาย แม่น้ำไนล์ส่วนบนและล่าง การเดินทางจากตะวันออกไปตะวันตกของพระอาทิตย์และพระจันทร์
ในแง่นี้คู่ตรงข้ามที่น่าสนใจคือในกระบวนการตัดสิน คือ เทวีมา’อัตเป็นตัวแทนของระเบียบ (order) และความกลมเกลียว (harmony) นักประวัติศาสตร์เช่น Patrick Auerbach เขียนไว้ใน Egyptian Gods: The Gods and Goddesses of Ancient Egypt ว่าอัมมิตเป็นเทพีแห่งความโกลาหลและความไร้ระเบียบ (disorder) ซึ่งดูจะตรงข้ามกับเทวีมา’อัต ที่ถือกันว่าเป็นรากฐานของสังคมในสมัยนั้น การที่เทพแห่งความไร้ระเบียบมาสร้างและตัดสินด้วยระเบียบและความยุติธรรมจึงดูเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะถ้าเรามองไปที่ตัวร้ายสำคัญเช่นทานอส (Thanos) เอง ก็พยายามเล่นบทพระเจ้าและจัดการโลกในนามของการสร้างระเบียบโลกใหม่ (order) ด้วยเช่นกัน
Anubis: หมาใน และเทพเจ้าแห่งความตาย
แน่นอนว่าถ้าอ้างอิงเทวตำนานอียิปต์ อานูบิสเป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่ทั้งดูเท่และสำคัญ และน่าจะต้องปรากฏตัวเกี่ยวข้องในการตีความใหม่เสมอ ใน Moon Knight เองแม้ว่าเทพอานูบิสยังไม่ปรากฏตัว แต่ทว่าเราได้เห็นหมาในที่ไล่ล่าตัวเอกของเราก่อนจะถูกตื้บร่วงไปในที่สุด หมาในที่ปรากฏนี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับเทพอานูบิสไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แถมเทพอานูบิส เทพที่มีเศียรเป็นหมาในสีดำนี้ก็เกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินด้วยตาชั่งทองคำด้วย
เทพอานูบิสเป็นเทพเจ้าแห่งความตาย ถือเป็นเทพเจ้าสำคัญแถวหน้าของอียิปต์ด้วยฉายาเทพผู้พิทักษ์สุสาน เทพแห่งโลกแห่งความตาย อันที่จริงเทพอานูบิสในยุคหนึ่งเคยเป็นเทพเจ้าที่สำคัญอันดับหนึ่งก่อนที่จะถูกลดทอนบทบาทลง โดยมีการยกย่องเทพโอไซริสขึ้นเป็นเทพสูงสุดแทน หน้าที่โดยทั่วไปคือการเป็นผู้นำทางดวงวิญญาณไปสู่โถงแห่งการพิพากษา ตามคัมภีร์มรณะของอียิปต์คือตายแล้วไม่ได้ไปโดยอัตโนมัติแต่ต้องรอนแรมเดินทาง ซึ่งถือเป็นการทดสอบหนึ่ง อานูบิสมักถูกนำไปเปรียบเทียบในฐานะผู้นำทางดวงวิญญาณในทำนองเดียวกับเฮอร์มีสของกรีก และถือว่าเป็นผู้พิทักษ์ตาชั่งทองคำและเป็นผู้นำหัวใจของดวงวิญญาณขึ้นตาชั่งในการพิพากษาสุดท้าย
Khepri และ Scarab : เทพหน้าแมลงสการับ กับเครื่องรางเทพเจ้า
ในวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ แมลงสการับถือเป็นแมลงและสัตว์สัญลักษณ์สำคัญตามความเชื่อ โดยทั่วไปเรามักจะเห็นสการับเป็นเครื่องราง ซึ่งในเรื่อง Moon Knight มีการแย่งสการับกันก็น่าจะเป็นการแย่งเอาอาวุธ หรือเครื่องรางสำคัญของเทพเจ้า โดยทั่วไปแมลงสการับเป็นด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง บ้านเราอาจจะเรียกอย่างไม่เท่ว่าเป็นแมงกุดจี่ขี้ พฤติกรรมมันก็ไม่ค่อยเท่เท่าไหร่คือมันจะกลิ้งมูลของสัตว์ที่มันวางไข่ไว้ในมูลไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นการขยายพันธุ์และปกป้องตัวอ่อน
แต่สำหรับชาวอียิปต์แล้ว พฤติกรรมของสการับถูกตีความเข้ากับสุริยเทพ การกลิ้งมูลถูกตีความเข้ากับการกลิ้งพระอาทิตย์ขึ้นสู่ท้องฟ้าในทุกๆ วันอันหมายถึงการเริ่มต้นใหม่ ในตำนานเทพอียิปต์จึงมีเทพที่มีหน้าเป็นแมลงสการับชื่อ เคปริ (Khepri) ถือว่าเป็นเทพสำคัญและได้รับการเคารพในฐานะเทพเจ้าแห่งรุ่งอรุณ เป็นการก่อกำเนิดขึ้นจากความว่างเปล่า ในงานศิลปะของอียิปต์จึงมักมีภาพแมลงสการับที่กลิ้งดวงอาทิตย์สีแดง ด้วยความเป็นมงคลนี้ แมลงสการับจึงถูกสร้างเป็นเครื่องรางโดยเฉพาะเครื่องรางในพิธีการทำมัมมี่ ในขั้นตอนการทำมัมมี่เครื่องรางรูปสการับทรงไข่จึงมีชื่อเรียกว่า แมลงสการับหัวใจ (Heart Scarab) คือเป็นเครื่องรางที่วางไว้แทนตำแหน่งของหัวใจในขั้นตอนของการทำมัมมี่ อวัยวะสำคัญที่จะต้องรักษาไว้และใช้ในพิธีการตัดสินสุดท้าย แมลงสการับเป็นตัวแทนของการเกิดใหม่ การฟื้นคืนชีพ
นอกจากนี้เครื่องรางสการับยังมีหลายรูปแบบเช่นสการับกางปีก คือ เครื่องรางที่ผสมระหว่างแมลงสการับกับปีกของนก เครื่องรางสการับกางปีกนี้ใช้วางไว้ที่หน้าอก หรือใช้ส่วนปีกในการกลัดผ้าพันมัมมี่ในการทำมัมมี่
อ้างอิงข้อมูลจาก