ในบรรยากาศที่น่าอึดอัดใจ โลกรอบตัวเต็มไปเรื่องราวห่วยแตก เรามองเห็นความอยุติธรรม เห็นความไม่ถูกต้อง และในหัวใจของเรานั้นก็เกิดความคับแค้นแน่นอยู่ในอก
เราอยู่ในคำสอนบางอย่างที่อาจจะแบนราบระหว่างความดีและความชั่ว ระหว่างขาวและดำ ถ้าเราพูดว่าช่วงนี้โลกมันแย่ เราแค้นใจ คุณครูผู้สอนศีลธรรมก็จะรีบเอาน้ำเย็นเข้าลูบเรา อย่าเป็นไฟเลย อย่าแค้นใจเลย เราต้องทำหัวใจของเราเย็นและเป็นสุขจะดีกว่า ทำลายความขุ่นข้องออกไปให้หมด
แต่โลกไม่ได้ง่ายและสงบงามแบบนั้น และอันที่จริงหลายอย่างที่เราไปนิยามแบบไร้เดียงสา ในหลายสำนักปรัชญาโบราณกลับมองว่าเป็นเรื่องสำคัญและมีบทบาทสำคัญ
ในห้วงเวลาที่เราเกิดความเดือดดาลในใจจากความอยุติธรรมนั้น ในปรัชญาแบบกรีกโดยเฉพาะแนวคิดของอริสโตเติลมีแนวคิดหนึ่งเรียกว่า nemesis หรือความคับแค้นที่อริสโตเติลบอกว่าเป็นอารมณ์ที่ดี เป็นเครื่องส่งเสริมจิตใจของเราให้เป็นผู้เจริญ เป็นความรู้สึกที่ทำให้เราอ่อนไหวต่อความยุติธรรม
และคำว่า Nemesis นี้เอง ก็เป็นชื่อของเทวีแห่งการลงทัณฑ์และการล้างแค้น ซึ่งตามตำนาน ละครกรีกคลาสสิกถือว่าเป็นเทวีที่มีบทบาทสำคัญ นางสัมพันธ์และมักทำงานร่วมกับเทวีแห่งความยุติธรรม ในโอกาสที่เราเป็นประจักษ์พยานของความน่าคับข้องใจทั้งหลายนี้ อาจเป็นการที่ดีที่จะยกเทวีแห่งความคุมแค้นและการล้างแค้นที่สมเหตุสมผลขึ้นบูชาอีกองค์
เทวีเนเมซิส ความพิโรธและการล้างแค้นอันสาสม
การให้อภัยนั้นสำคัญ แต่หลายครั้งการล้างแค้นและการลงทัณฑ์ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในการรักษาความยุติธรรมและสมดุลของโลกนี้ไว้ คำว่า Nemesis มาจากเทวีสำคัญในชื่อเดียวกัน เนเมซิสเป็นเทวีที่แค่ได้ยินชื่อก็ขนลุกเกรียว เพราะนางเป็นเทวีที่ทำหน้าลงทัณฑ์ เป็นเหมือนทัณฑ์สวรรค์จากทวยเทพแห่งโอลิมปัส นัยของนางคือความเกรี้ยวกราดหรือการล้างแค้นที่สมเหตุสมผล และบทบาทของนางนั้นเป็นบทบาทที่ถือว่ารักษาคติความคิดแบบกรีกไว้ด้วย
โดยตัวเทวีเนเมซิสนั้น นิยามหลักของนางคือเป็นเทวีแห่งความคับแค้น (indignation) มีนัยของความเกรี้ยวกราดที่เกิดจากการได้รับความอยุติธรรม ตัวเทวีเองก็เลยรับหน้าที่สนองความไม่ยุติธรรมนั้นๆ ทั้งลงโทษการกระทำที่ชั่วร้าย รวมถึงให้โทษกับพวกที่ได้ดีโดยที่ไม่สมควรด้วย ดังนั้นตัวเธอเองจึงเป็นเหมือนกรรมตามสนอง เป็นเทวีที่ไม่อาจหนีพ้นองค์หนึ่ง
ในตำนานกรีก เทวีเนเมซิสเป็นเหมือนอัลติเมตบอสตัวหนึ่งที่ออกมาแล้วกวาดเรื่องและคืนความยุติธรรมให้โลกนี้ได้ง่ายๆ เรื่องที่ดังมากคือบทบาทในตำนานเรื่องนาร์ซิสซัสกับเอโค ในเรื่องก็ว่าด้วยนาร์ซิสซัสที่หล่อเหลือเกินจนไปหักอกนางพรายเข้า ตอนท้ายของเรื่องเทวีเนเมซิสที่เห็นว่าเกินไปแล้ว ก็เลยลงโทษนาร์ซิสซัสให้ตกหลุมรักเงาของตัวเอง
อหังการและความยุติธรรม
ทีนี้ ตัวอย่างจากนาร์ซิสซัส นอกจากว่าเทวีเนเมซิสจะทำหน้าที่ลงโทษการกระทำผิดของมนุษย์ แต่การลงมือของเนเมซิสนั้นยังสัมพันธ์กับปรัชญาและจริยธรรมแบบกรีกโบราณอย่างลึกซึ้ง สัมพันธ์ค่านิยมเรื่องกฎหมายและความยุติธรรมด้วย
ความผิดหลักๆ ของนาร์ซิสซัส และอีกหลายมนุษย์ฮีโร่ของกรีกและโรมัน คือ มนุษย์เหล่านี้เกิดอหังการ หรือ hubris ขึ้น คำว่าอหังการหมายถึงการที่มนุษย์ในฐานะปุถุชนอาจจะครอบครองอะไรบางอย่าง เช่น อำนาจ ความงาม ไม่ว่าจะชายหรือหญิง และเริ่มทะนงตนจนเกินมนุษย์ ในมุมของกรีกคือยกตนขึ้นเทียมทวยเทพ เป็นการละเมิดเส้นของความเป็นมนุษย์และมักนำไปสู่หายนะต่างๆ กัน
ฟังแล้วอาจจะดูกดขี่เนอะ ข้ามเงยหน้าขึ้นสู้อำนาจที่เหนือกว่า แต่อันที่จริงบาปของอหังการนั้นสัมพันธ์กับเรื่องทางโลก—กับจริยธรรมแบบกรีก อหังการก็คล้ายกัยการที่มนุษย์คนหนึ่งรู้สึกเหนือกว่าคนอื่น ทำให้คุณธรรมที่เรียกว่า aidos หรือความถ่อมตนหายไป ซึ่งนัยของความถ่อมตนนั้นคือการถ่อมตนต่ออำนาจของกฏหมายและการปกครอง นอกจาก aidos แล้วยังทำลาย sophrosyne คือการควบคุมและการรู้ขอบเขตของตน ดังนั้นเรื่องทวยเทพและเทวีแห่งการลงทัณฑ์ด้านหนึ่งก็เป็นเหมือนอุปมาของคุณธรรมและเส้นทางที่มนุษย์ควรเป็นในการอยู่ร่วมกัน
แน่นอนว่าเมื่อคนคนหนึ่งหลงในตนเองและอำนาจแล้ว คำสำคัญๆ ทั้งความหยิ่งผยอง การชื่นชมตนเอง ความหยาบคาย และขาดการเคารพผู้อื่นก็นำมาซึ่งความแปรปรวนของกฏหมายและความยุติธรรมในโลก (คุ้นๆ)
ในมหากาพย์ของกรีกหลายเรื่องจึงว่าด้วยผู้นำ กษัตริย์ หรือนักรบที่เก่งกาจหรือทรงอำนาจ เมื่อทรงอำนาจมากจนกระทั่งหลงในอำนาจ นำไปสู่ความมัวเมาจนเกิดความหลงตนไป การหลงนั้นจึงทำให้มนุษย์หลงคิดไปว่าตนนั้นอยู่เหนือกฎหมาย เหนือกฎเกณฑ์ ซึ่งความอหังการนั้นเอง แม้นจะไม่มีเทพเจ้าเสด็จลงมาลงโทษ แต่อหังการนั้นก็มักจะจบลงเป็นนิทานสอนใจว่า ผู้นำหรือวีรบุรุษที่เกรียงไกรแค่ไหน สุดท้ายก็เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา ขึ้นสูงสุด ก็ร่วงลงต่ำสุดได้ตามสไตล์บทละครโศกนาฏกรรมสอนใจแบบกรีกคลาสสิกนั่นเอง
ในมุมมองปัจจุบัน—ตำนานกรีกก็จะใช้คำนี้—คือเวลามนุษย์ ‘เผยอ’ ขึ้นมา เทพเจ้าโอลิมปัสก็จะเกิดความอิจฉา (envy) และเกิดความพิโรธ (anger) และหน้าที่ของทวยเทพคือการส่งทัณฑ์สวรรค์ลงมาเพื่อฟื้นฟูความยุติธรรมและความสมดุลของโลก หน้าที่ของเนเมซิสคือการสั่งสอน โดยเฉพาะการสั่งสอนมนุษย์ให้รู้ขอบเขตของตน บทบาทของเทวีเนเมซิสนั้นคือการลงโทษด้วยความรุนแรงและน่าขนพองสยองเกล้า แต่การปรากฏตัวและลงมือในแต่ละครั้งของนางจะประกอบด้วยอาญาที่เที่ยงธรรม เป็นความพิโรธโทษทัณฑ์ที่สมควรแก่เหตุเสมอ
‘สาแก่ใจ’ ปรัชญาของความคับแค้นที่ทำให้เรามีหัวใจที่เป็นธรรม
อารมณ์ความรู้สึกของเรามีความซับซ้อน คือถ้าเราบอกว่ามีความคับแค้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่ต้องกำจัด นอกจากเทวีเนเมซิสแล้ว คำว่า nemesis ในทำนองเดียวกันก็หมายถึงอารมณ์ความรู้สึกด้วย ในความคิดของ อริสโตเติล นักปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับอารมณ์ในฐานะเครื่องมือเพื่อปลูกฝังมนุษย์ให้สูงส่งขึ้น อริสโตเติลมองว่าความคับแค้นหรือ nemesis นี้เป็นอารมณ์ในทางเจริญ (noble) เป็นสิ่งที่สาธุชนพึงมี
อริสโตเติลพูดถึงความรู้สึกในฐานะส่วนหนึ่งของคุณธรรมเยอะมาก ทฤษฎีที่ดังมากก็ว่าด้วยบทละครที่เชื่อว่ามนุษย์ยกระดับจิตใจผ่านความกลัว ความสงสาร คือผ่านกระบวนการปลุกเร้าและบริหารอารมณ์ความรู้สึก ทีนี้อริสโตเติลอธิบายอารมณ์ไว้อย่างหลากหลายไว้ในงานหลายชิ้น มีการแบ่งด้านบวกด้านลบซึ่งความรู้สึกที่เรียกว่า nemesis หรือความคับแค้นนั้น โดยความหมายแล้วสัมพันธ์กับการรับรู้ความอยุติธรรมต่างๆ
สำหรับความขุ่นข้องนั้น ในคำอธิบายของอริสโตเติลก็อธิบายไว้หลายครั้ง สหรับอริสโตเติลแล้วนับว่าเป็นความรู้สึกที่นำไปสู่คุณธรรมอย่างหนึ่ง อริสโตเติลอธิบายคำว่า nemesis ในมิติเชิงอารมณ์ไว้ใน Nicomachean Ethics ว่าเป็นความรู้สึกขุ่นข้องเมื่อเห็นคนได้ดีที่ไม่สมควร
นอกจากนี้ใน Rhetoric อธิบายความคับใจว่าเป็นคู่ตรงข้ามของความสงสาร (pity) โดยความสงสารคือความรู้สึกที่เราเกิดเมื่อรับรู้ชะตากรรมเลวร้ายที่ไม่สมควร แต่ nemesis คือความเจ็บปวดเมื่อมีบางคนไม่สมควรได้ดี ทั้งความสงสารและความขุ่นข้องนั้นอริสโตเติลยกให้เป็นความรู้สึกเชิงบวกที่อริสโตเติลบอกว่าพึงมี nemesis จึงสัมพันธ์กับการอ่อนไหวต่อความถูกต้องและความยุติธรรม เป็นความรู้สึกที่ขุดพรวนคุณธรรมต่อไป ซึ่งนักคิดในยุคหลังเช่น มาธาร์ นุสบาม (Martha Craven Nussbaum) ก็เอาความคิดเรื่องความคุมแค้นมาอธิบายต่อว่าเป็นความรู้สึกที่เกิดจากความไม่เป็นธรรม
ใน Rhetoric เอง อริสโตเติลก็อธิบาย nemesis ค่อนข้างเยอะในฐานะอารมณ์คู่กับ pity ซึ่งอันที่จริงคำว่าคุมแค้นนั้นค่อนข้างถูกใช้เป็นคุณสมบัติของทวยเทพมากกว่ามนุษย์ นัยของคำหรือความรู้สึกคับข้องนี้ อริสโตเติลอธิบายไว้อย่างซับซ้อนโดยแย้งออกจากอารมณ์เชิงลบ ความคับข้องไม่ใช่ความอิจฉา (envy) และไม่ใช่ความโกรธ (anger) อริสโตเติลแยกแยะว่าถ้าคุณรู้สึกแย่กับทุกการได้ดีนั่นคือความอิจฉา หรือสะใจกับทุกความซวยก็คือเป็นคนชั่ว (malice) แต่ถ้า เออ เห็นว่าคนทำชั่วได้ดีแล้วเจ็บปวด แต่เห็นคนดีได้ดีแล้วสรรเสริญ อันนี้นับว่าเป็นการบริหารความเป็นธรรมในใจ
สำหรับความโกรธ (anger) ความขุ่นข้องในมุมมองของอริสโตเติลต่างจากความโกรธ เพราะเราอาจคับข้องกับความอยุติธรรมโดยที่เราไม่ได้เกี่ยวโยงกับเรื่องหรือผู้คนในเรื่องร้ายๆ นั้นโดยตรง และความคับข้องไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับอันตรายโดยตรง ผิดกับความโกรธที่มักสัมพันธ์กับการเกิดภัยบางอย่างขึ้น แต่ความคับข้องนั้นอาจหมายถึงการรับรู้สิ่งที่มันไม่ถูกไม่ควร และที่สำคัญคือความโกรธมักสัมพันธ์กับความปรารถนาที่จะแก้แค้น ที่จะลงมือ แต่ความคับข้องนั้นจะไปโยงกับการมองหาความยุติธรรมหรือแนวทางที่ถูกต้องผ่านการคิดใคร่ครวญต่อไป—ยากนิดหน่อย แต่เหมือนจะว่าด้วยระยะห่างและการครุ่นคิดคำนึงต่อเรื่องต่างๆ ต่อชะตากรรมของผู้คนที่เรารับรู้
หลังจากอภิปรายความซับซ้อนทางอารมณ์ จริงๆ สิ่งที่อริสโตเติลอธิบายก็อาจจะอธิบายความรู้สึกหน่วงๆ ของเราในโลกที่เราเป็นสักขีพยานของความไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ในแง่นี้การรักษาความรู้สึก—ความรู้สึกรู้สาที่เรามีต่อเรื่องราวต่างๆ ที่เราเห็นว่ามันควรเป็นและไม่ควรเป็นอย่างไร การครุ่นคิดพิจารณาและอารมณ์ที่อัดอั้นอยู่ในใจล้วนเป็นสัญญาณที่ดีที่บอกกับเราว่าเรายังมีความเป็นคนอยู่
ดังนั้นแล้ว ถ้าเราอยู่ในโลกที่ไม่สวยงาม การมองเห็น รับรู้ จดจำ และรักษาความรู้สึกคุมแค้นเอาไว้ การได้เฝ้ารอเพื่อให้ได้เห็นวันที่กงล้อแห่งความยุติธรรมกลับมาทำงานอีกครั้ง ในตอนนั้นเอง ถ้าว่าตามปรัชญาแบบทางโลกที่ไม่ได้เรียกร้องให้เราอยู่เหนือความเป็นมนุษย์มากนัก การเฝ้ารอและรู้สึกสาใจไปกับปลายทางที่เหมาะควร ในวันที่เทวีแห่งการล้างแค้นกลับมาฟื้นฟูความยุติธรรมอีกครั้ง ความรู้สึกสาแก่ใจนั้นก็น่าจะเป็นความรู้สึกที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างหนึ่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan