ตัวตนของเทพสะท้อนมุมมองบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเป็นตัวแทน
เทพของความตายในแต่ละวัฒนธรรมแสดงออกถึงมุมมองสังคมนั้นๆ ต่อความตาย แล้วเช่นนั้นเทพหรือเทพีแห่งความรักจากแต่ละตำนาน ปกรณัม เรื่องเล่า จะแสดงถึงแง่มุมใดต่อความรักได้บ้าง?
อีรอส (Eros)
ไม่น่าแปลกใจที่เทพแห่งความรักของปกรณัมกรีกจะเป็นหนึ่งในเทพที่มีตำนานที่โรแมนติกที่สุด นั่นคือตำนานรักระหว่างอีรอสกับไซคี เจ้าหญิงรูปงามผู้เหงาหงอย รูปงามเสียจนเป็นภัยเพราะหลังผู้คนเริ่มบูชาความงามของนางเหนืออะโฟรไดต์ อุบายของเทพีแห่งความใคร่คือจะทำให้เธอตกหลุมรักกับสัตว์ประหลาดที่แม่แต่เทพเจ้ายังกลัวโดยส่งลูกชายของนาง อีรอส ไปแผลงศรใส่ไซคีและสัตว์ประหลาด
สถานการณ์จับพลัดจับผลูให้อีรอสสะดุดทับศรของตัวเอง และไซคีก็ทำศรจิ้มตัวเองเช่นกัน ทั้งคู่ตกหลุมรัก ก่อนจะผ่านอุปสรรคต่างๆ นานา ที่อะโฟรไดต์วางไว้เพื่อขัดขวางที่ทดสอบทั้งความอดทน ไหวพริบ แม้แต่ชีวิต เมื่อผ่านไปได้อีรอสและไซคีได้วิวาห์กันและกัน โดยเรื่องราวดังกล่าวอีรอสเป็นตัวแทนของความรัก สิ่งที่มีอำนาจเหนือพระเจ้าทุกองค์ ไซคีคือตัวแทนของจิตวิญญาณมนุษย์ที่ทั้งคู่จะฝ่าฟันอุปสรรค์ที่ยากลำบากที่สุดไปได้ โดยผลของการเดินทางนั้นถูกแทนเป็นสัญลักษณ์โดยลูกของทั้งคู่ ‘ฮีโดเน’ ที่แปลว่าความสุขในภาษากรีก
อะโฟรไดต์ (Aphrodite)
รักไม่ได้มีแง่มุมเดียว และนิสัยที่แตกต่างของเทพีแห่งความรักและความใคร่ขึ้นอยู่กับว่า ฟังมาจากตำนานไหน นั่นเป็นเรื่องบังเอิญที่กลับสะท้อนความรักออกมาได้อย่างดี อะโฟรไดต์ เทพีแห่งความรักและความใคร่ผู้เกิดจากฟองคลื่นนั้น อาจมีลักษณะขี้อิจฉา ขี้หงุดหงิด และเอาแต่ใจ เช่นในตำนานสงครามโทรจัน แต่ในบางเรื่องนางก็โดนนำเสนอในรูปของแม่ผู้เป็นห่วงเป็นใย มีความเมตตา ทั้ง 2 รูปแบบมาจากอะไร และนำเสนออะไร
อะโฟรไดต์แพนเดโมส คือแง่มุมร้อนแรงที่นำเสนอ อะโฟรไดต์ไปยังรักทางกายภาพ ส่วนอะโฟรไดต์ยูเรเนียนำเสนอ ‘รักบริสุทธิ์’ ในขณะที่เราจะเห็นแบบแรกนั้นอาจมาจากเทพีเมโสโปเตเมียชื่ออิชทาร์ที่ค่อยๆ พัฒนาผ่านกาลเวลามาหลายพันปี และเป็นเวอร์ชั่นที่พบได้บ่อยครั้งในตำนานกรีกต่างๆ ส่วนในรูปแบบหลังมักโผล่ออกมาในการบูชาโดยลัทธิเล็กๆ น้อยๆ หรือเป็นอะโฟรไดต์ในเวอร์ชั่นที่ได้รับอิทธิพลการตีความจากผู้ศรัทธาคริสต์ศาสนาแล้ว
เฟรยา (Freyja)
ตั้งแต่อิชทาร์ไปจนอะโฟรไดต์ร่างที่ชาวสปาร์ตาเคารพบูชา แม้ห้วงเวลาเปลี่ยนไปนานขนาดไหน แต่บ่อยครั้งเทพีแห่งรักมักจะเป็นเทพีแห่งสงครามไปพร้อมๆ กันด้วย อาจจะเพราะวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ ส่งอิทธิพลไปยังตัวตนของเทพที่พวกเขาบูชา และเมื่อเรามองห่างไกลออกมาจากวัฒนธรรมกรีกโบราณ แล้วไปยังปกรณัมนอร์ส แม้พื้นที่จะเปลี่ยนแปลงไปแต่ดูเหมือนว่ารักและสงครามจะอยู่ด้วยกันเสมอในเทพีแห่งความรัก ความอุดมสมบูรณ์ และนักรบ
เฟรยาเป็นหนึ่งในเทพที่ทรงพลังที่สุดในปกรณัมนอร์ส เพราะนอกจากรักแล้ว เฟรยาเกี่ยวข้องกับชะตากรรม เวทมนตร์ ความตาย และสงครามด้วย เฟรยาเป็นผู้ควบคุมนักรบหญิงวัลคีรี และเป็นผู้เลือกวิญญาณนักรบผู้ดับสูญในการสู้รบไปอยู่ในโลกหลังความตายโฟล์ควังก่อนโอดินจะเลือกใครไปยังวัลฮาลาด้วยซ้ำ
บาสต์ (Bastet)
ทำไมเทพีแห่งความรักอียิปต์ถึงเป็นเทพีแห่งแมวไปพร้อมๆ กันด้วย? เพราะเมื่อพูดถึงแมวสิ่งแรกๆ ที่เราจะนึกถึงคงเป็นความทะนงตนของมันมากกว่ารัก แต่เมื่อมองในบริบทของสังคมวัฒนธรรมโบราณความเชื่อมโยงของทั้ง 2 อาจเข้าใจได้มากกว่านั้น
บาสต์คือเทพีแห่งแมว ความรัก และความเจริญพันธุ์ ในสังคมอียิปต์ ณ ขณะนั้น แมวเป็นสัตว์ที่ได้รับความยกย่องสูงในหลากหลายแง่มุม ทั้งการเป็นสัตว์ที่ช่วยดักจับหนูและงู ไปจนการยกย่องการดูแลลูกหลานของมัน บาสต์เป็นเทพีที่สะท้อนภาพนั้น นั่นคือเป็นทั้งผู้ปกป้องต่อโรคร้าย เป็นเทพของความเป็นแม่ และความเจริญพันธุ์ของแมวก็ย่อมเป็นที่รู้จักกันดี บ่อยครั้งปัจจัยเหล่านั้นอาจเป็นส่วนประกอบสร้างเกี่ยวกับความรักของสังคมนั้นๆ ได้
พระปารวตี (Parvati)
พระปารวตีหรือพระแม่อุมา คือมเหสีของพระศิวะ เป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ การเชื่อมต่อระหว่าผู้คน และความปรารถนา แต่ความหมายเบื้องหลังสัญลักษณ์ของพระปารวตีนั้นสามารถตีความได้มากกว่าแค่ความรักหรือความต้องการ
เช่นเดียวกันกับที่ศิวลึงค์เป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะ โยนีเป็นสัญลักษณ์ของพระปารวตี และความหมายเชิงสัญลักษณ์นั้น คำว่าโยนีอาจแปลได้ว่าแหล่งกำเนิด แหล่งที่มา แปลว่าทั้ง 2 เป็นมากกว่าอวัยวะเพศ แต่เป็นนามธรรมเกี่ยวข้องกับการกำเนิดสรรพสิ่ง และหากจะตีความว่ารักและความเชื่อมต่อเป็นจุดกำเนิดของทุกอย่างก็คงเป็นแนวคิดที่ทรงพลังไม่น้อย