“May the goddess of victory smile upon us.”
ในการแข่งขัน กีฬา หรือสงครามในสมัยก่อน เราจะมีคำพูดหรืออุปมาที่พูดถึงว่า ในการต่อสู้นั้นๆ เทวีแห่งชัยชนะจะโปรยยิ้มให้กับฝักฝ่ายใด ในภาพจินตนาการหรือกระทั่งในพิธีการ เราก็มักโยงการได้รับชัยชนะว่าเป็นการได้รับรางวัลหรือการยอมรับจากเทวีองค์หนึ่ง ซึ่งตามตำนานกรีกก็คือเทวีที่มีนามว่า เทวีไนกี้ (Nike) เทวีแห่งชัยชนะของกรีกโรมันที่กลายเป็นแบรนด์กีฬาที่ใครๆ ก็รู้จัก
ไนกี้ถือเป็นเทวีที่ดูจะทรงอำนาจ เป็นเทวีอันสำคัญที่พึงบูชา ในระดับตำนานหรือสำหรับคนรักศิลปะ เทวีไนกี้เป็นหนึ่งในรูปปั้นสำคัญในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ รูปปั้นที่เหลือเพียงร่างบางส่วน เทวีไนกี้เป็นเทพเจ้ากรีกไม่กี่องค์ที่มีปีก รูปปั้นเทวีไนกี้ที่ลูฟวร์หรือ Nike of Samothrace ถือเป็นหนึ่งในประติมากรรมคลาสสิกที่งดงามที่สุด ทรงพลังสมกับการเป็นเทวีแห่งชัยชนะ เทวีในกี้มักปรากฏองค์เป็นเทวีสตรีวัยเยาว์ ในมือถือใบปาล์ม เฟิร์น หรือถือดาบ เบื้องหลังเป็นปีกขนาดใหญ่ซึ่งผิดกับภาพของเทพและเทวีอื่นๆ โดยนางนั้นเป็นเทวีผู้ช่วยของเทพสำคัญของชาวกรีกและโรมันคือซุสและเทวีอะธีนา
เพื่อเป็นการฉลองชัยชนะ The MATTER จึงชวนกลับไปรู้จักกับเทวีแห่งชัยชนะ ที่นอกจากจะว่าด้วยพลังอำนาจและตัวตนของการได้ชัยชนะแล้ว เทวีไนกี้ยังสัมพันธ์กับกิจกรรมสำคัญคือการแข่งกีฬาในฐานะผู้มอบรางวัลแด่ผู้ได้ชัย ซึ่งผู้ได้ชัยนั้นย่อมต้องมีเงื่อนไขที่ถูกต้องจึงจะได้รับรอยยิ้มและช่อดอกไม้แห่งชัยชนะ ซึ่งก็คือการฝึกฝนขัดเกลาตนเองจนมีคุณสมบัติที่คู่ควรและเป็นที่โปรดปรานของเหล่าทวยเทพ
ปีกของเทวีไนกี้ และที่มาที่อาจมาจากนอกยุโรป
ไนกี้ถือเป็นเทวีเก่าแก่ มีบทบาทและปรากฏในตำนาน ตั้งแต่ยุคที่ซุสเอาชนะพวกไททันคือเทพยุคเก่าและสถาปนาเทพโอลิมปัสขึ้น เทวีไนกี้เป็นธิดาของไททันชื่อ แพลลัส (Pallas) และเทวีสติกซ์ (Styx) ในการรบใหญ่ซุสได้เรียกเทพทั้งหมดเพื่อทำสงคราม ในการนั้นเทวีไนกี้ก็ได้ร่วมสงครามด้วยและรับหน้าที่เป็นพลขับ ทำหน้าบังคับรถม้าศึกจนรบชนะไททันได้สำเร็จ ผู้ขับรถม้าศึกในการศึกโดยเฉพาะในปกรณัมต่างๆ ถือเป็นหน้าที่สำคัญ เป็นผู้นำทัพไปสู่ชัยชนะ
ภาพของเทวีไนกี้ถือว่าเป็นเทพเจ้าที่มีภาพแทนที่ค่อนข้างแปลก เทพเจ้ากรีกไม่ค่อยถูกวาดเป็นเทพที่มาพร้อมปีกขนาดใหญ่ แน่นอนว่านกเป็นสัญญะสำคัญที่สัมพันธ์กับเทพเจ้า นกทำหน้าที่บ่งบอกเวลาจากการอพยพตามคาบของฤดูกาล และเป็นสัญญาณของการลงมือเพาะปลูก ทั้งนกยังสัมพันธ์กับอากาศอันเป็นตัวแทนของการมีชีวิต นก ปีก และการโบยบินจึงเป็นคู่ตรงข้ามของความตาย หมายถึงการมีชัยเหนือความตาย (victory over death)
ชื่อของเทวีคือคำว่า ไนกี้ เป็นคำโบราณที่มีความหมายคลุมเครือ ความหมายทั่วไปหมายถึงความว่องไว บ้างก็ระบุว่ามาจากคำกรีกคือ neikos ที่หมายถึงการตัด (to cut) หรือการทะเลาะต่อสู้ หมายถึงผู้ที่ชนะคือคนที่ตัดตัวเองออกจากคนที่เหลือ (เช่นวิ่งออกจากกลุ่ม) ฟังดูไม่ดีเท่าไหร่ นักภาษาศาสตร์บางส่วนจึงเสนอว่าอาจเป็นคำเก่าและมีที่มาจากทางอียิปต์อีกทอดโดยมีบริบทสัมพันธ์กับความหมาย คือ ชัยชนะ ความแข็งแรง อำนาจ การปกป้อง โดยอีกจุดเชื่อมโยงที่น่าสนใจคือคำว่า nht ในภาษาอียิปต์ยังเกี่ยวข้องกับเทพเจ้า ซึ่งสัญลักษณ์ปีกในอียิปต์มักเกี่ยวข้องกับเทพเจ้า (คือนักภาษาศาสตร์ก็ชี้ให้เห็นว่าในอียิปต์มีการใช้สัญลักษณ์ปีก และเทวีที่มีปีกมาก) และเกี่ยวข้องกับเทวีแฮธอร์ เทวีแห่งท้องฟ้าที่มีฉายาว่าเทวีผู้ได้ชัย (Hathor, the victorious)
จากรากศัพท์ มาสู่บทบาทและหน้าตาของเทวีไนกี้ โดยทั่วไปเทวีไนกี้ถ้าปรากฏตัวกับเทพองค์อื่นมักปรากฏคู่กับซุสและอะธีนา ถ้านางปรากฏร่วมมหาเทพก็มักเป็นเทวีไร้ปีกที่อยู่ในมือของเทพเจ้าอันเป็นตัวแทนชัยชนะของทั้งสองเทพเจ้า (ซุสและอะธีนา) หากปรากฏโดยลำพัง เทวีไนกี้จะเป็นเทวีที่มีปีก โดยนางจะทำหน้าที่บินอยู่เหนือสนามรบและคอยบินไปให้รางวัลแด่ผู้ได้ขัย สำหรับเทพองค์อื่นก็มีความสัมพันธ์กับนก แต่เทพทั้งหลายมักจะแปลงกายเป็นนกในการเดินทางไปไหนมาไหนไม่ใช้รูปลักษณ์เป็นเทพที่มีปีก เทวีไนกี้จึงมีคุณสมบัติของกำลังและความรวดเร็ว
นักกีฬา ร่างเปลือย และโรงยิม : ปรัชญาของชัยชนะที่มาจากการฝึกตน
ความพิเศษเวลาเราพูดถึงเทวีแห่งชัยชนะ แน่นอนเราพูดถึงคนที่แข็งแกร่งหรือเหมาะสมที่สุดในสนามนั้นๆ ทว่านอกจากชัยชนะแล้ว เทวีไนกี้หรือรางวัลของชัยชนะยังเกี่ยวข้องกับ ‘ที่มา’ ของความแข็งแกร่งนั้น ซึ่งก็คือการฝึกตน มิติของเทวีไนกี้ในฐานะเทพสตรี ในภาคหนึ่งของนางจึงมีความเชื่อมโยงหรือกระทั่งตัวนางเองคือเทวีอะธีนาที่มีปีก
ในอารยธรรมกรีก การแข่งกีฬาโอลิมปิกถือเป็นการแข่งขันศักดิ์สิทธิ์เพื่อบูชาและเป็นสัญลักษณ์และการพิสูจน์ตนต่อเหล่าเทพ เป็นการแข่งขันบนยอดเขาโอลิมปัส ในการมอบชัยชนะนั้นแน่นอนว่าเทวีไนกี้จะเป็นผู้โบยบินลงมา ในมือของนางจะถือคบไฟและพวงมาลาสำหรับผู้ชนะ โดยนักกีฬาจะถูกวาดให้เปลือยเปล่า
ในระดับปรัชญา การแข่งขันโอลิมปิกของกรีกจึงไม่ได้เป็นแค่เกมกีฬา แต่สัมพันธ์ทั้งกับการได้รับรางวัลที่มีที่มาจากการฝึกตน เบื้องต้นโอลิมปิกโบราณเกี่ยวข้องกับเทวีไนกี้และเทวีอะธีนาที่ผู้ชนะการแข่งขันจะได้รับรางวัลจากทวยเทพ ทีนี้โอลิมปิกของกรีกมีการแข่งขันห้าประเภท เช่น ปาหอก วิ่ง มวยปล้ำ เรียกว่า pentathlon รากศัพท์ของคำคำนี้หมายถึงรางวัลทั้งห้า (pent+atlon) เทวีอะธีนาและเทวีไนกี้มีความสัมพันธ์กันในเชิงอุปมา คือ เทวีอะธีนาเป็นตัวแทนของปัญญาและกลยุทธ์ที่นำไปสู่รางวัลคือชัยชนะ ในขณะที่คำว่า atlon และ Athena ก็มีความเกี่ยวข้องกัน
ทีนี้การเป็นนักกีฬาที่จะไปชนะและได้รับรางวัลจากเทวีแห่งชัยชนะ ด้วยบริบทก็เลยไปสัมพันธ์กับอีกองค์ประกอบที่ฟังแล้วอาจจะหวิวๆ คือ การเปลือยเปล่า แน่นอนภาพของนักกีฬาถูกวาดให้มีลักษณะเปลือยและเปิดเผยเรือนร่าง โดยเรือนร่างนั้นก็มีที่มาจากการฝึกฝน ในยุคกรีกโบราณมีคำว่ายิมเนเซียม (gymnasium) แต่รากของคำว่ายิมเนเซียมหมายถึงการเปลือย (gymnos-nudity)
คือในสมัยกรีก ยิมเนเซียมก็ใช้เป็นพื้นที่ฝึกฝนร่างกายของชายขาตรีนั่นแหละ แต่เดิมเป็นที่ฝึกเพื่อให้เหล่าบุรุษเตรียมร่างกายสำหรับสงคราม แต่ในการฝึก รวมถึงการเล่นกีฬาต่างๆ เหล่าชายชาตรีจะทำในลักษณะเปลือยเปล่า—คือกีฬาและโรงยิมเป็นพื้นที่ของผู้ชายเท่านั้น ในระดับสังคมโรงยิมจึงเป็นพื้นที่ที่ชายชนชั้นสูงมาเปิดเผยเรือนร่างและใช้แสดงคุณลักษณะทางกายภาพที่สัมพันธ์กับสถานะทางสังคม—การเป็นนักรบ โดยในโรงยิมนี้นอกจากทุกคนละเปลือยแล้วเล่นกีฬากัน ก็ยังมีความสัมพันธ์ระหว่างชายชาตรีที่ออกจะเกเรหน่อยเช่นมีหน้าที่นวดและลงน้ำมันให้กัน (oiling)
ดังนั้น พื้นที่เช่นยิมเนเซียมในบริบทกรีกโบราณจึงเป็นพื้นที่ทางสังคมที่สำคัญ เป็นที่บ่มเพาะผู้นำและนักรบของสังคมต่อไป ในพัฒนาการของยิมเนเซียม อันที่จริงไม่เชิงว่าเป็นที่ฝึกฝนทางร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่เรือนร่างและร่างกายเป็นส่วนหนึ่งของผู้ชายในฐานะนักรบและผู้ปกครองต่อไป ในยิมเนเซียมจึงมีสรรพวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมในการหล่อหลอมบุรุษและผู้ชนะในอนาคตเหล่านั้น เช่นในกีฬาบางประเภทก็จะมีเรื่องของดนตรีและศิลปะอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
ตัวยิมเนเซียมก็มีพัฒนาการและมีบทบาทที่กลายเป็นพื้นที่บ่มเพาะทางวัฒนธรรมในเวลาต่อมา ยุคสำคัญ เช่น ยุคของเพลโตและอาริสโตเติลก็พูดยิมเนเซียมในฐานะพื้นที่ของชายทุกช่วงวัย เป็นพื้นที่ที่พลเมืองเข้าไปพูดคุยถกเถียงกันในยามว่าง ในยุคคลาสสิก ยิมเนเซียมในเอเธนมีลักษณะเหมือนกับมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน คือ เป็นพื้นที่ที่สมาชิกเข้าไปฟังบรรยายและปาฐกถา จนมาในยุคต่อมาคือยุคเฮลเลนนิสติก ยิมเนเซียมจึงเป็นเหมือนโรงเรียนที่คนหนุ่มจะเข้าไปฝึกฝนร่างกายและทักษะอื่นๆ โดยรวมแล้วยิมเนเซียมเป็นเหมือนพื้นที่เรียนรู้สำหรับพลเมือง เป็นที่ฝึกฝนตนเองที่เข้าไปใช้เวลาฝึกฝนทักษะต่างๆ เพื่อนำไปสู่การแข่งขันและได้รับชัยชนะ
การพูดถึงเทวีไนกี้ในห้วงเวลาของชัยชนะจึงดูเป็นประเด็นเกี่ยวพันกันในหลายมิติ เราได้เห็นภาพของชัยชนะสีเขียวขจีที่ในวันถัดมาก็ได้เห็นผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ที่ออกวิ่งในทุกๆ เช้า ชัยชนะในฐานะรางวัลที่เราชื่นชมยินดีนั้นจึงไม่ได้สัมพันธ์แค่ตัวชัยชนะ แต่การได้มาซึ่งชัยชนะไม่ว่าจะต่อตัวเองหรือการชนะในสนามเล็กใหญ่ ส่วนใหญ่แล้วชัยชนะ—ความแข็งแกร่ง ย่อมมีที่มาจากการฝึกฝนตนเองอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดพัก
ในทำนองเดียวกัน เมื่อเรามองไปที่ภาพอุปมาของชัยชนะคือในตำนานและปรัชญาคลาสสิก ในระดับภาษา เรื่องเล่า และความคิด เราก็จะเห็นความโยงใยของชัยชนะที่ไม่ได้อวยชัยให้เพียงแค่คนชนะ แต่คือการมอบรางวัลและตอบแทนให้กับเหล่าผู้คนที่ได้เข้าฝึกฝนตนเอง ที่ในยุคนั้นมีโรงยิมและการฝึกฝนสรรพวิชาต่างๆ รวมถึงการฝึกฝนร่างกายจนกลายเป็นผู้แข็งแกร่งและเป็นผู้นำที่เหมาะสมในทุกๆ ด้าน ที่แม้แต่เทพเจ้าเองก็ยอมรับและอำนวยพรให้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Manita Boonyong