ถือเป็นเหตุสะเทือนขวัญอีกครั้งสำหรับวงการบันเทิงของประเทศญี่ปุ่น เมื่อ โทมิตะ มายุ อดีตนักแสดงที่มีบทเด่นจากการเล่นละครโดยรับบทเป็นวงไอดอล Secret Girls ที่โด่งดังระดับโลกตามท้องเรื่อง ปัจจุบันเธอผันตัวเป็นนักร้องนักแต่งเพลง ประวัติของเธอชวนสับสนเล็กน้อย คือเธอเคยรับบทเป็นไอดอล แต่ชีวิตจริงไม่ใช่ไอดอลแต่อย่างใดนะ ทำนองเดียวกับ เบนซ์ พรชิตา ที่ไม่ได้เป็นนักร้องแต่เคยรับบทนักร้องลูกทุ่งนั่นล่ะ
เธอถูกนายอิวาซากิ โทโมฮิโระ วัย 27 ใช้มีดแทงกว่า 24 ครั้ง จนทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบริเวณหน้างานคอนเสิร์ตเล็กๆ ที่เธอมีกำหนดการแสดง ส่วนสาเหตุของการทำร้ายร่างกายที่เข้าข่ายพยายามฆ่านี้เกิดจากความโกรธชังที่นักร้องสาวปฏิเสธของขวัญที่แฟนคลับผู้ก่อเหตุเคยส่งไป แม้เธอจะเคยแจ้งตำรวจไปแล้วว่าถูกคุกคามโดยชายผู้หนึ่งแต่ก็ไม่มีใครคิดว่าเรื่องราวจะเลยเถิดมาถึงขั้นนี้
ถ้าได้ติดตามวงการบันเทิงญี่ปุ่นในช่วงก่อนหน้านี้ จะพบว่าข่าวในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงกลางปี 2014 ภายในงานจับมือของวง AKB48 (อ่านว่า – เอเคบีโฟร์ตี้เอท) อันเป็นงานพบแฟนคลับที่นิยมจัดกันในประเทศญี่ปุ่น จนทำให้สมาชิกของวงสองคนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย
หรือหากเป็นกรณีที่ไม่มีความรุนแรงถึงเนื้อต้องตัวแต่ก็ดูเป็นการหักหาญกำลังใจก็คงเป็นเรื่องของนักร้องและนักพากย์ที่โด่งดังจากซีรีส์ Love Live! ในบทไอดอลนักเรียนสาวก็เจอปัญหาไม่น้อย เมื่อแฟนคลับกลุ่มหนึ่งบังเอิญไปเจอว่าเธอหน้าตาละม้ายคล้ายนักแสดง AV จนเกิดกระแสต่อต้านอยู่พักใหญ่ แม้เวลาจะผ่านไปและมีข้อพิสูจน์ได้ว่านักร้องคนนี้ไม่ใช่คนเดียวกันกับในหนังที่ถูกอ้างถึงก็ตาม
ผลพวงจากเหตุการณ์ข้างต้นมักตามมาด้วยการปรับกฏระเบียบให้เข้มงวดขึ้นหลังจากโทมิตะถูกแทง วงดนตรีไอดอลวงอื่นที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันได้ตัดสินใจยกเลิกการจัดงานพบปะแฟนๆ นัยว่าเลี่ยงเหตุซุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดจากแฟนคลับที่อาจคะนองเลียนแบบเหตุการณ์ก่อนหน้า
แบบนี้แปลว่าความผิดมาจากเหล่าแฟนคลับหัวรุนแรงพวกนี้หรือเปล่า?
ส่วนหนึ่งพบว่าอาจเป็นเช่นนั้น เช่นเดียวกันกับภาพเหมารวมที่เห็นว่าแฟนคลับเหล่านี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโอตาคุ อันมาพร้อมกับการเข้าสังคมที่ไม่เก่งนัก แต่เมื่อชอบสิ่งใดคนเหล่านี้ก็จะทุ่มเทพลังทั้งหมดลงไปยังสิ่งนั้น เมื่อความชอบพลิกกลับ กลายเป็นความเกลียดเข้ามาแทนที่ ก็ไม่แปลกนักที่จะกระทำความรุนแรงต่อสิ่งที่ตนเคยรัก
แต่นั่น ก็อาจเป็นแค่ภาพเหมารวมจากสังคม เพราะแฟนคลับที่ไปถึงจุดขาดสตินั้นไม่ได้มีจำนวนมหาศาล ในทางกลับกัน หลายครั้งเหล่า ‘โอตาคุ’ กลับเป็นกลุ่มคนที่คอยเตือนให้แฟนคลับรักษามารยาทด้วยซ้ำ ดังนั้นเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นคงเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่ไม่สามารถยั้งสติได้จนก่อให้เกิดเหตุร้ายขึ้นมากกว่า
อีกปัจจัยที่อาจทำให้เหตุการณ์ร้ายๆ แบบนี้มีมากขึ้น The Matter มองว่าเกิดจากผลของการตลาดในวงการเอง อย่างในปัจจุบัน วงไอดอลแบบ AKB48 เป็นวงที่โด่งดังระดับต้นของญี่ปุ่น เพราะวงไอดอลวงนี้มากับคอนเซปท์ ‘ไอดอลที่สามารถพบตัวได้’ อันเป็นการบ่งบอกว่าสมาชิกของ AKB48 ถูกคัดมาจากคนทั่วไปและสามารถเข้าถึงได้ง่าย พอเจ้าคอนเซ็ปต์นี้มาแรง วงอื่นๆ จึงทำการตลาดตามกันมา ส่งผลให้ไอดอลหลายวงลดกำแพงความเป็นดาราที่เข้าข่าย ‘เสียเงินเป็นแสนแขนยังไม่ได้จับ’ กลายเป็น ‘ได้จับเรือนแขนแม้นจะต้องจ่ายเงินหนัก’ แทน
นอกจากมุมมองการตลาดที่เปลี่ยนไป ไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบันก็ส่งผลไม่เบา ใช่แล้ว เพราะในยุคนี้ ดาราและไอดอลญี่ปุ่นเริ่มมีช่องทางในการติดต่อแฟนคลับ โดยนิยมใช้ทวิตเตอร์แจ้งข่าวของตน หรือบางคราก็จะมีกิจกรรมตอบอีเมล์แฟนคลับด้วย (บริการนี้เสียเงินนะ ดาราบ้านเราที่ให้เซลฟี่ฟรีทุกครั้งแถมส่ง SMS ตอบกลับในฐานะน้ำใจนี่ดูน่ารักไปเลยล่ะ) และราวกับว่าช่องทางเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้เสียมารยาทได้ แฟนคลับหลายคนจึงเผลอคิดไปว่าตัวเองสามารถกระทำการใดได้มากขึ้นกว่าเดิมและมากไปกว่านั้น พวกเขาอาจตัดสินใจใช้ความรุนแรงกับดาราหรือไอดอลในชีวิตจริงไปเลย
และไม่ใช่ว่าเรื่องเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยเสียทีเดียว ตามแฟนเพจหรืออินสตาแกรมส่วนตัวของดาราก็พบว่ามีคอมเม้นต์ที่รุนแรงในหลายกรณี ซึ่งนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุรุนแรงอย่างในญี่ปุ่นปัญหาเหล่านี้คงยากที่จะหายไปง่ายๆ เพราะอย่างไรเสีย คนก็ยังต้องการความบันเทิง