วินาทีนี้ คงไม่มีใครไม่พูดถึงภาพยนตร์ One for the road ภาพยนตร์ไทยที่ได้ไปฉายในเทศกาลหนังซันแดนซ์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เดินทางกลับมาฉายในไทยแล้ว ณ เวลานี้
ยิ่งไปกว่านั้น นี่คือหนังที่ บาส – นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ร่วมงานกับ หว่อง กาไว ผู้กำกับหนังชื่อดังที่เป็นที่รักและเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ คน
แต่ที่สำคัญที่สุด นี่คือหนังที่ บาส เปิดเปลือยชีวิตของเขา ประสบการณ์ที่อยู่ในใจและสำคัญกับเขามากที่สุด มาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ที่หลายคนน่าจะได้ดูกันไปบ้างแล้ว
แต่กว่าจะมาเป็น One for the road นั้นไม่ง่ายเลย เมื่อบาสต้องเรียนรู้ที่ยอมรับตัวเอง ยอมรับสิ่งที่ตัวเองเคยก่อ และยอมรับว่าการ move on ไม่ใช่แค่การช่างแม่ง ไม่พูดถึงมัน เพราะเรื่องราวต่างๆ ที่เหมือนว่าเราจะลืมได้ แท้จริงแล้วจะยังติดตามเราไปในทุกๆ ย่างก้าวของชีวิต
ชวนไปสำรวจชีวิตการกำกับหนังภาพยนตร์ One for the road ที่ถนนเส้นนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และการตัดสินใจเอาชีวิตและความรู้สึกของเขามาฉายให้ทุกคนได้รับรู้ไปด้วยกัน ผ่านบทสัมภาษณ์ในครั้งนี้
พล็อตของ One for the road เริ่มมาจากไหน?
ย้อนกลับไปถึงสมัยทําฉลาดเกมโกงเสร็จใหม่ๆ ก็เป็นความโชคดีที่คุณหว่อง กาไว ได้ดูฉลากเกมโกง แล้วแกก็รู้สึกชอบหนัง เลยให้คนติดต่อมาว่าอยากทําหนังด้วยกันไหม เลยบินไปหาแกที่ฮ่องกง แล้วก็ตกลงพูดคุยกัน สุดท้ายก็ตกลงทําด้วยกันประมาณช่วงปลายปี 2017 หลังจากนั้นก็ใช้เวลาสักพักหนึ่งเหมือนกันฮะ ในการค้นหาสตอรี่ว่าจะทําเรื่องไหนด้วยกัน ซึ่งตอนแรกจริง ๆ มันมาพร้อมกับโปรเจกต์อื่นที่ทางคุณหว่องเสนอให้ผมเอามาพัฒนาต่อ
แต่ว่าสุดท้ายแล้วเราทํากันไปสักพักนึง ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ คือไม่ใช่โปรเจ็กต์ที่เหมาะสมระหว่างการทํางานของผมกับเค้าในช่วงเวลานั้น เราก็เลยเกิดช่วงเวลาของการช่วยกันค้นหาว่า เราจะทําเรื่องราวอะไรกันดี แล้วสุดท้ายก็มาลงที่เรื่องราวนี้
ทำไมโปรเจ็กต์แรกถึงไม่ได้ไปต่อ?
อย่างที่บอกคือตอนแรกเค้ามาพร้อมกับไอเดียหนังบางอย่าง ซึ่งผมก็ไปพัฒนาเรื่องเล่าและตัวละคร มีการเขียนบทไปแล้วด้วยในระดับนึง แต่สุดท้ายพอตัดสินใจว่ามันไม่น่าจะใช่จริงๆ คือความเป็นคุณหว่องอะนะ เค้าเป็นคนทําหนังที่ค่อนข้างเป็นตัวเองสูง แล้วเค้าก็คงจับได้ว่าพี่ไม่ได้เชื่อในสตอรี่อะไรอย่างนี้ ซึ่งตอนนั้นเราก็อาศัยความเป็นมือปืนรับจ้างที่เราทํามาตลอดเวลา แต่สุดท้ายก็ใช้สิ่งนี้กับเขาไม่ได้แหละ เขาก็เลยผลักดันให้พี่ทําในสิ่งที่มันส่วนตัวที่สุด ให้พี่ทําในสิ่งที่พี่ไม่เคยทํามาก่อน มันเลยเกิดของการทําความรู้จักกันใหม่ พูดคุย ขุดคุ้ยกันใหม่ในความเป็นตัวพี่เองในฐานะมนุษย์ปุถุชนทั่วไปที่ควรจะสะท้อนสิ่งนี้ออกมาได้ในเชิงของความเป็นคนทำหนังด้วย
ในฉากหลังของเรื่องก็มีบาร์เป็นส่วนสำคัญ และพอรู้มาบ้างว่าพี่บาสชอบไปทำงานที่บาร์ เป็นเพราะอะไร?
หลักๆ คือ พี่ว่าพี่น่าจะเป็นคนอินโทรเวิร์ตในระดับนึงมั้ง หมายถึงว่ากําแพงค่อนข้างเยอะ อย่างมันมีขั้นตอนช่วงที่ทําสตอรี่เรื่องนี้กับทางคุณหว่อง แล้วเราก็พยายามจะช่วยกันหาเหตุผลและความหมายในการทําสิ่งนี้ด้วยกัน แต่พี่ก็รู้ตัวเองว่าพี่มีกําแพงเยอะมาก พี่เลือกที่จะปิดบังความรู้สึกหลายๆ อย่างที่พี่รู้สึกว่ามันไม่มีความหมายหรอก แต่จริงๆ แล้วมันมี ถึงขั้นที่คุณหว่องเอาจิตแพทย์มาคุยกับพี่อะ เพื่อตีโจทย์ให้ออกว่ามันคืออะไร
แต่เราก็ได้รู้ว่า การดื่มไวน์สักสองแก้ว แม่งอาจจะทําให้กําแพงเหล่านั้นเราลดลงนิดหนึ่ง ถ้าเราดื่มมันอย่างมีความรับผิดชอบนะ มันช่วยให้กระบวนการคิดและการยอมรับตัวเองของเรามันต่ําลง แล้วมันทําให้เราอาจจะมีความกล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำอะไรหลายหลายอย่างในชีวิต
การนั่งดื่มในบาร์เลยเหมือนเป็นตัวทลายกําแพงอะไรบางอย่างของเรา ภาษาชาวบ้านก็คือพอกึ่มแล้วเราจะคิดน้อยลงรู้สึกเยอะขึ้น ฟังดูเหมือนแย่นะ คิดน้อยลง รู้สึกเยอะขึ้น แต่ในเชิงของการทํางานด้านที่พี่ทําอยู่มันดีเหมือนกัน ในบางโมเมนต์
ทีนี้มันมีประโยคในหนังที่บอกว่าจะกลับไปเปิดแผลแฟนเก่าทำไม มันก็น่าคิดนะพี่
ประโยคเหล่านี้มันเป็นประโยคที่เกิดจากประสบการณ์ตรงเลยนะ คือในวันที่เรากําลังจะพัฒนาเป็นบทและเรื่องราวอะ พี่ต้องกลับไปหาแฟนเก่าพี่เกือบทุกคนเลย ซึ่งแบบพี่อายุสี่สิบกว่าแล้ว ก็มีลิสต์แฟนเก่าอยู่ในระดับหนึ่งแหละ บางคนก็ไม่เจอกันมาเป็นเวลาหลายสิบปี เลิกกันไปแล้วไม่เคยเจอ ไม่เคยคุยกันเลย บางคนก็อาจจะติดต่อกัน เป็นเพื่อนกัน แต่ว่าการต้องกลับไปพูดคุยและสัมภาษณ์เขาเพื่อเอาข้อมูล หรือการที่ต้องไปจูงมือเขาแล้วแบบ มึงช่วยกลับไปโมเมนต์นั้นกับกูหน่อยเถอะอะไรอย่างนี้ บางทีมัน มันได้ผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละคนนะ เออ มันก็เป็นมวลสารความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาทําการบ้านของพี่ตอนนั้นแหละ ซึ่งพี่ก็ต้องขอขอบคุณทุกคนในชีวิตที่เขายอมให้ความร่วมมือกับสิ่งนี้นะ ทั้งๆ ที่พี่รู้ว่ามันก็คงไม่ใช่ขนมหวานสําหรับเขาอะ
พี่บาสใช้วิธีเลือกประสบการณ์ไหนเพื่อเอามาเล่าในหนังเรื่องนี้
ใช้วิธีเลือกจากประสบการณ์ที่พี่รู้สึกกับมันมากที่สุด มีความหมายกับกับชีวิตพี่มากที่สุด แล้วก็อะไรที่มันอยู่ในใจเรา ความทรงจําอะไรบางอย่างที่เราอาจจะรู้สึกค้างคากับมัน พี่ว่าการทําหนังหรือการทํางานศิลปะ ไม่ว่าจะประเภทไหนก็แล้วแต่ ถือเป็นการเยียวยาอย่างหนึ่ง ในการใช้มันในการทํางานเพื่อช่วยค้นหาคําตอบที่เราอาจจะค้นหาไม่ได้ในชีวิตจริง
แล้วก่อนหน้านั้นทำไมถึงไม่หยิบเอาประสบการณ์ของตัวเองมาเล่าเลย
พี่ไม่เคยรู้สึกว่าชีวิตพี่น่าสนใจขนาดนั้น เรารู้สึกว่าเราก็โตมาแบบที่ไม่ได้มีชีวิตที่มันขรุขระหรือว่าต้องต่อสู้เพื่อฝันอะไรขนาดนั้น ถ้าเทียบกับคนอื่นที่เราเห็น เรารู้สึกว่ายังมีคนที่ต้องต่อสู้มากกว่าเราเยอะ มีเรื่องราวหรือมีมุมที่น่าสนใจกว่านี้เยอะ ก็เลยรู้สึกว่าเรื่องของเราไม่คู่ควรกับเวลาคนดูมั้งนะ
แต่ก็นั่นแหละ การทํางานกับคุณหว่องมันคือการมองข้ามว่าสิ่งเหล่านี้จะทําให้คนดูสนใจได้ยังไงมาสู่ที่ว่าสิ่งเหล่านี้มันจะทําให้เราในฐานะเจ้าของเรื่อง ผู้ถ่ายทอดเรื่องนี้สนใจได้ยังไงมากกว่า มากไปกว่านั้นคือเราเป็นคนทํางานที่ประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมดสอนให้มอบชีวิตให้คนดูมากกว่าตัวเองอะ
ถ้าไม่นับหนังใหญ่ มันมีช่วงเวลาที่พี่ไปคลุกคลีกับการทําโฆษณาหรือรับบรีฟจากลูกค้าซะเยอะ เลยถูกสอนให้ทำตามโจทย์ลูกค้าหรือก็คือคนดูอะไรอย่างนี้ เราเลยลืมความเชื่อของตัวเองในการทําสิ่งเหล่านี้ไปชั่วขณะหนึ่งเหมือนกัน แต่การทำหนังเรื่องนี้มันสอนให้คิดใหม่หมดเลย
ที่บอกว่าการทำหนังเรื่องนี้เหมือนเป็นการเยียวยาตัวเองด้วย มันเยียวยายังไงคะ
มันมีหลายหลายคําถามที่พี่ไม่เคยกล้าถามตัวเอง หลายหความรู้สึกที่พี่พยายามจะชัตดาวน์มันไป แต่พอมาทําเรื่องนี้พี่ได้มีโอกาสกลับมาผ่านการทําหนัง ผ่านการเอาตัวเองไปใส่ในตัวละครที่เหมือนจะเป็นบุคคลที่สาม แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ แล้วการได้เฝ้าดูสิ่งที่มันเกิดขึ้นในการถ่ายทํา ในการแสดงของนักแสดงผ่านสิ่งที่เราเขียนออกมาจากความรู้สึก มันเลยเป็นการแบบ อ๋อ หน้าตาของการยอมรับความรู้สึกตัวเองมันเป็นประมาณนี้เนอะ การฟังสิ่งที่เราเคยพูดเมื่อนานมาแล้วกับคนอื่น อ๋อ มันแย่ขนาดนี้ว่ะ แล้วการโอกาสในการพูดขอโทษมัน น่าจะมีรสชาติแบบไหนอะไรอย่างนี้
แปลว่าก็เหมือนได้เรียนรู้ที่จะเห็นตัวเองมากขึ้น?
พี่เชื่อว่าทุกคนต้องเคยผ่านการทําร้ายคนอื่นมา ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ หรือโดนคนอื่นทําร้ายในทางกลับกัน เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นเรื่องพื้นฐานของการที่เรายังต้องเวียนวนอยู่ในความรู้สึกผิด ความรู้สึกถูก ความรู้สึกอยากแก้ไขความรู้สึกอยากโดนแก้ไข มันเป็นการเชื่อมโยงกับอารมณ์เหล่านั้นมากกว่า ที่ไม่เคยมองมันจริงจังจริงๆ
ทำไมถึงเลือกรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมา เอากลับมาทบทวนใหม่
ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยคิดกับมันละเอียดเลย คือคิดแล้วก็รู้สึกว่าช่างแม่งเหอะ มันผ่านไปแล้ว ทุกคนเขาก็ move on แล้ว พวกความรู้สึกเหล่าแหละที่ทำให้ไม่เคยลงดีเทลกับมัน แต่พอได้ใช้เวลากับโปรเจ็กต์นี้ แล้วก็มีเวลาคิดเรื่องพวกนี้นานขึ้น เยอะขึ้น เราก็ได้รู้อย่างหนึ่งว่าบางทีการ move on ไม่ได้หมายความว่าช่างแม่งอะ บางทีเราอาจจะสะพายความรู้สึกเหล่านั้นอยู่แหละ โดยที่เราไม่รู้ตัวทั้งตัวพี่เองและคนรอบข้างพี่ด้วย
นี่คือต้นทุนของมนุษย์ นี่คือต้นทุนของการมีชีวิต ไอ้ความรู้สึกทั้งด้านบวกและด้านลบเหล่านี้ มันคือสัมภาระที่เราต้องแบกมันไว้ จากที่ก่อนหน้านี้เราอาจจะเคยแหลอกตัวเองว่า แม่ง ไม่มีอยู่จริง เราเคยบอกตัวเองว่าทุกความรู้สึกเราวางมันไว้ข้างทางแล้วเราก็เดินผ่านจุดนั้นมาแล้ว แต่ตอนนี้มันคือการยอมรับกับตัวเองว่าเราไม่ได้ทิ้งมันไว้ เราลากมันไปด้วย สะพายมันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นสัมภาระที่เบาหรือหนักขนาดไหน แต่ว่ามันมีผลต่อการเดินทางของเราในปัจจุบันและในอนาคตทั้งหมด
แล้วหลังจากทำหนังจบ เราเติบโตขึ้นไหม ได้ก้าวข้ามอะไรบางอย่างในใจไหม?
ต้องบอกว่าหนังเรื่องนี้มันเป็นเหมือนจดหมายที่พี่เขียนเพื่อพูดในสิ่งที่พี่ไม่กล้าพูดหรือไม่มีโอกาสได้พูดในชีวิตจริง กับคนที่มันมีความหมายในชีวิตพี่ที่พี่ไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นจะมาดูหนังหรือเขาจะรู้ตัวหรือเปล่านะ แต่พี่ก็มีโอกาสได้พูดมันออกไป
พอ ณ ขณะนี้พี่มีสติแล้ว และรู้แล้วว่าบางทีมันก็ไม่แย่ขนาดนั้นนะ การที่จะยอมรับว่าตัวเองเป็นคนเฮงซวยอ่ะ พอถึงวัยหนึ่งเราจะรู้สึกว่าก็ไม่ผิดหรอกที่มึงจะเฮงซวยเพราะมึงคือมนุษย์ และนี่คือธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งที่ทําให้ต่างคือ เฮงซวยแล้วไงต่อ เฮงซวยแล้วยอมรับมันไหม ก้าวข้ามมันไหม แล้ว ความรู้สึกนี้ที่เราสร้างกับคนอื่นยังไง พวกนี้มากกว่า
พอเป็นหนังที่เล่าความรู้สึกของตัวเองแล้วกดดันไหม?
พอมันเป็นหนังที่ส่วนตัวประมาณหนึ่ง มันไม่ใช่แค่ในฐานะผู้กํากับที่ออกแบบผลงานว่ามันสื่อสารอารมณ์หรือมันดูสนุกไหม แต่พี่ต้องย้อนกลับมาถามให้มันลึกกว่านั้น ว่ามันถูกต้องตามความตั้งใจแรกของเราไหม มันเหมือนกับที่เราคาดหวังให้มันเป็นหรือเปล่า
ก็ค่อนข้างซับซ้อนเหมือนกันนะ เหมือนพี่ต้องใส่หมวกทั้งผู้กํากับและใส่หมวกของการเป็นจิตแพทย์ที่ต้องวิเคราะห์สภาพจิตและชีวิตตัวเองประมาณหนึ่ง มันก็ท้าทายดี และก็มีช่วงที่ยาก หมายถึงว่าการต้องเฝ้ามองภาพจําลองความรู้สึกเหล่านี้ในฐานะบุคคลที่สาม มันมีช่วงแบบเกินจะทนเหมือนกันนะ แต่พอทําความเข้าใจมันได้ แล้วย้อนกลับไปสู่ความตั้งใจแรกที่เราคุยกับคุณหว่อง กาไว ไว้ในการทําหนังเรื่องเนี้ย มันเลยแบบเออ เป็นความท้าทายที่เราต้องก้าวข้ามมันไปให้ได้
insecure บ้างไหม ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยเปิดเผยเรื่องราวของเราเข้าไปในหนังขนาดนี้?
ก็มีแหละ อันนี้ปฏิเสธไม่ได้นะ หลังจากที่มันไปฉายที่เทศกาลหนังซันแดนซ์แล้ว มันเริ่มมีบทวิจารณ์ชุดแรกออกมา ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของการวิจารณ์นะ ที่มีทั้งบวกและลบ แต่พออันไหนที่มันเป็นการวิจารณ์มุมลบที่เขาไม่ได้พูดถึงแค่สกิลในการทําหนัง แต่เขาพูดถึงท่าที ทัศนคติ หรือความเชื่อของตัวละคร แล้วเค้าด่าไปว่าทําไมตัวละครพวกนี้มันเฮงซวยจังวะ อะไรอย่างนี้ เราจะรู้สึกว่า เอ้า ไอ้สัตว์มึงด่ากู นึกออกป่ะ มันไม่ใช่แค่ด่าการทํางานของเราอะ มันด่าเราจากสิ่งที่เราเคยคิด เคยเป็น เคยรู้สึก ก็มีจุกอยู่บ้างเหมือนกัน หมายถึงแบบ โอ้ นี่คือสิ่งที่คุณต้องแลกมากับการเอาตัวเองใส่เข้าไปในงานสินะ
แต่ก็รู้สึกแป๊บเดียวนะ ไม่ได้นาน พอผ่านมันไปสักพักนึงแล้วกลับไปอ่านก็รู้สึกว่า เออ ก็เนี่ยแหละก็สิ่งที่ต้องแลกมา ก็หวังว่าไอ้ความรู้สึกอันนี้มันจะช่วยเตือนสติคุณใน ในการใช้ชีวิตของคุณหลังจากนี้เหมือนกัน
แล้วถ้าวันหนึ่งพี่ตาย สิ่งสุดท้ายที่พี่อยากทำคืออะไร?
พี่โดนถามคําถามนี้มาเยอะมาก รู้สึกว่า ไอ้เหี้ยโดนแช่งเปล่าวะเนี่ย ต
สำหรับพี่ ในจุดนี้ของชีวิต พี่ยังคงรู้สึกว่าการทําหนังมันยังมีความหมายที่สุดอยู่มั้ง มันคือการเสียสละเวลาในชีวิตเกือบทั้งหมดเพื่อเพื่องานหรือ business ซึ่งเป็นส่วนสําคัญของพี่อยู่ แต่ว่าพี่ก็ไม่รู้ว่าในอีก 20 หรือ 20 ปีข้างหน้า หากโชคดีหน่อยก็อีก 40 ปี ในอนาคตเราได้กลับมาถามคําถามพี่คําถามเดิม พี่อาจจะตอบอีกแบบหนึ่ง
สุดท้ายแล้วคาดหวังอะไรหลังจากหนังเรื่องนี้ไปถึงคนดู
ตั้งแต่มีโควิดมาแล้วโลกมันเป็นอย่างนี้ พี่ว่าโลกและผู้คนมันเปราะบางขึ้นเยอะเหมือนกัน เราถูกเตือนสติจากสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ชีวิตมันเป็นสิ่งเปราะบางนะ เราไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่เกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้าเลือกได้พี่อยากเห็นการที่ ถ้าจะมีคนดูสักกลุ่มหนึ่งที่แบบไม่ต้องมาอินกับเรื่องของพี่ก็ได้นะ แต่อย่างน้อยเรื่องของพี่มันช่วยจุดประกาย หรือช่วยทําให้เขารู้สึกอะไรบางอย่างแล้วตัดสินใจกลับไปทําอะไรบางอย่างในชีวิตที่เขายังทําได้และทําทันในสถานการณ์ปัจจุบัน
คิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้