รูปถ่ายเป็นที่สิ่งโรแมนติกเสมอ
ลองสมมติดูว่าในมือของเรามีภาพถ่ายอยู่รูปหนึ่ง รูปถ่ายในยามเย็นบนชายหาดสักแห่ง พระอาทิตย์สีลูกพีชกำลังส่องแสงตกกระทบน้ำทะเล นอกจากตะวันที่กำลังหลับใหลแล้ว สีสันของสิ่งอื่นโดยรอบมีไม่มากนัก เนื่องจากท้องฟ้าเริ่มมืดลง กลายเป็นสีน้ำเงินอมเทาที่ดูดกลืนชีวิตออกจากทุกสิ่ง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีสิ่งมีชีวิตอะไรอยู่ในรูป เพราะตรงกลางของรูปถ่าย ปรากฏคนอยู่หนึ่งคนที่กำลังหันกลับมามองเรา ผู้เป็นคนถ่ายรูปใบนั้นเองกับมือ
ไม่มีแม้แต่เสียงคลื่นและลมในภาพถ่าย แต่ความรู้สึกขณะที่เรากดถ่ายยังคงชัดเจน แสงและสี จังหวะที่ลั่นชัตเตอร์ รอยยิ้มและสายตา ทั้งหมดไม่ใช่เพียงแค่ภาพถ่าย แต่เป็นการเก็บความสมบูรณ์แบบของเสี้ยววินาทีเหล่านั้นเอาไว้ เมื่อมองไปยังรูปถ่ายที่ให้ความรู้สึกแบบนั้น นอกจากความรู้สึกของช่วงเวลาที่สะท้อนกลับ มันยังให้อีกความคิดหนึ่งว่าความสมบูรณ์แบบได้ผ่านไปแล้ว บางครั้งก็ผ่านและหายไปไม่ต่างจากคนในภาพ
ธรรมชาติของความสัมพันธ์ระยะสั้นคล้ายคลึงกับภาพถ่าย ไม่ว่าจะเป็นคนคุย เพื่อนที่เจอกันในค่าย ใครสักคนที่พบเจอกันตอนเราไปเที่ยว หรือเพื่อนชั่วคราวที่เราพบเจอในคอนเสิร์ต ฯลฯ แม้ความสัมพันธ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ชั่วคราว แต่เมื่อมันจบลงกลับทิ้งตราประทับที่สวยงามและเจ็บปวด ลงไปในความทรงจำของเราไว้อย่างชัดเจนและยาวนาน บางครั้งก็ชัดเจนและยืดยาวกว่าความสัมพันธ์ระยะยาวอื่นใดเสียด้วยซ้ำ
จุดเริ่มต้นที่ไม่ต่างกัน
ในช่วงแรกเริ่มของความสัมพันธ์ แม้ว่าเราจะปักธงว่าอยากอยู่ตรงนี้เพียงครู่เดียว แต่ในเชิงการปฏิบัติและในจิตใต้สำนึกของเรา มักไม่สามารถแยกความสัมพันธ์ในระยะสั้นและยาวออกจากกันได้ ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ได้รับการพิสูจน์ในงานวิจัย What Do Short-Term and Long-Term Relationships Look Like? Building the Relationship Coordination and Strategic Timing (ReCAST) Model โดยพอล อีสต์วิค (Paul Eastwick) นักวิจัยจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, เดวิส
งานวิจัยดังกล่าวเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระยะสั้นและยาว ผ่านการให้กลุ่มตัวอย่างเขียนกราฟความรู้สึกของตัวเองเปรียบเทียบกันระหว่างความสัมพันธ์ทั้ง 2 แบบ พบว่าความสัมพันธ์ทั้ง 2 แบบนี้มีหน้าตาเหมือนกันในช่วงเริ่มต้น และความต้องการยืดระยะของความสัมพันธ์มักเกิดขึ้นระหว่างทางที่คู่รักเดินไปด้วยกัน ไม่ใช่เริ่มจากความตั้งใจที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดินเข้าไปในความสัมพันธ์
เราอาจแปลความหมายผลการทดลองนี้ได้ว่า ความสัมพันธ์ทั้ง 2 แบบ สร้างความรู้สึกแบบเดียวกันในช่วงแรก โดยความสัมพันธ์มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่สิ่งที่แตกต่างระหว่างความสัมพันธ์ระยะสั้นและยาว คือส่วนมากแล้ว ความสัมพันธ์ระยะสั้นไม่ได้ยาวนานพอที่มันจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปให้เราเห็นนั่นเอง และในช่วงเวลา 2 เดือนแรก มักเป็นระยะเวลาที่หอมหวานที่สุดของความสัมพันธ์เสมอ
เพื่อนคนนี้ที่เราเจอในค่ายอาจแตกต่างออกไป เพราะเราไม่จำเป็นต้องเห็นว่าเขาเห็นแก่ตัวในวิชาเรียน นี่เป็นเขาในร่างเด็กกิจกรรม สำหรับคนคุยชั่วครู่ชั่วคราว เราทั้งคู่ต่างก็นำด้านที่ดีที่สุดของตัวเองให้กันและกันเห็น เราอาจไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับคนที่เราเจอในคอนเสิร์ตนี้ นอกจากว่าเขาฟังเพลงแบบเดียวกันและเราคุยกันได้ และในบางครั้งนั่นก็ถือว่ามากพอแล้ว หรือเราอาจรู้จักคนคนนี้ในวันพักร้อนในฐานะนักท่องเที่ยวที่บังเอิญถูกใจกันขึ้นมา ไม่ใช่จากบทบาทในชีวิตจริงของเขา หากคิดตามแบบนี้แล้วลองนึกภาพว่า ทุกอย่างจบลง ณ ตรงนั้น และความสัมพันธ์ที่หน้าตาเหมือนเดิมตลอดไป
แม้ความสัมพันธ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ชั่วคราว
แต่เมื่อมันจบลงกลับทิ้งตราประทับที่สวยงามและเจ็บปวด
ลงไปในความทรงจำของเราไว้อย่างชัดเจนและยาวนาน
ด้วยรัก และด้วยรักเท่านั้น
แล้วอะไรเป็นเหตุให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์? มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มักมีความวิตกกังวลอยู่เสมอ เรามีงานที่ต้องทำ เรามีทรัพยากรในชีวิตจำกัด เรามีคนที่ต้องดูแล เรามีความคาดหวังที่ต้องแบกรับ เรามีอนาคตต้องนึกถึง ฯลฯ และความวิตกกังวลเหล่านี้ทำให้เราเกิดความจำเป็นต่อการวางแผน เพื่อจะขจัดความวิตกกังวลในอนาคตที่ไม่อาจรู้ล่วงหน้า และเมื่อความสัมพันธ์ต้องยืนระยะ การวางแผนจึงย่อมเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ
แน่นอนว่าเรายังมีเดตสนุกๆ ในร้านกาแฟที่เราชอบไปตอนคบกันใหม่ๆ ได้ แต่ก็ต้องคุยกันเรื่องหน้าที่การงานในปัจจุบัน เพื่อมองหาความมั่นคงในคู่ของเราด้วย เราอาจจะไปเที่ยวต่างประเทศกันได้ ถ้ามีวันว่างตรงกัน แต่เงินส่วนนั้นอาจเก็บไว้สำหรับบ้านและรถก็ดีหรือเปล่านะ? เพราะความมั่นคงทำให้เราเกิดความวิตกกังวลที่น้อยลง ซึ่งมันก็นำไปสู่สัมพันธ์ที่ยาวนานขึ้นได้
เพื่อให้ความสัมพันธ์สามารถยืนระยะได้ หลายครั้งเราอาจต้องปล่อยให้มีส่วนผสมอื่นๆ เข้ามาในความสัมพันธ์ด้วยเสมอ ทั้งการตกลงปลงใจในกันและกัน การวางแผนอนาคต หรือความรับผิดชอบ นั่นเป็นเรื่องที่คนรักยอมรับและให้กันได้อยู่แล้ว หากตกลงกันได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าบ่อยครั้ง การวางแผนมันก็น่าเบื่อมากเลยว่าไหม?
เมื่อเรามองไปยังความสัมพันธ์ระยะสั้น เรื่องการวางแผนแทบไม่มีความจำเป็นเลย โดยแผนเดียวที่เราอาจจะมีได้คือ เรามีเวลาเพียงเท่านี้ และเราจะใช้มันอย่างดีที่สุด เรียกได้ว่าแทบจะเป็นความสัมพันธ์ที่พวกเราอยู่ด้วยกัน เพื่อรักในกันและกันเท่านั้น ซึ่งความสัมพันธ์แบบนี้ก็มีข้อเสียในตัวของมันเอง บางครั้งอยู่ดีๆ มันจะจบก็จบ เพราะว่าเราต่างไม่มีอะไรให้เกาะเกี่ยวต่อกันและกัน แม้บางครั้งเกิดการข้ามเส้นที่คนหนึ่งอาจรับไม่ได้ แต่ก็ไม่อาจวิจารณ์อะไรได้เช่นกัน เพราะเราไม่มีข้อตกลงที่รัดกุมมากพอ
แล้วจุดจบของความสัมพันธ์ มันใช่จุดจบของความรู้สึกที่ไหนกัน?
ฮันนีมูนที่ไม่เคยจบลง
ช่วงแรกของความสัมพันธ์เป็นช่วงที่เราเรียกกันว่า ‘ฮันนีมูน’ ทุกอย่างดูสวยงามไปเสียหมด และคนรักของเราทำอะไรก็ดูจะไม่ผิดทั้งนั้น ซึ่งคำอธิบายของช่วงเวลานี้คือ มันเป็นระยะเวลาที่ร่างกายของเราหลั่งโดปามีน หรือสารแห่งความสุขมากที่สุดในความสัมพันธ์ ร่างกายอยากจะให้เรารู้ว่าสิ่งดีๆ กำลังเกิดขึ้นอยู่กับเรา ณ ขณะนี้ ฉะนั้นหากเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ แทบจะเรียกได้ว่า มันคือชั่วขณะแห่งการ ‘เมารัก’ เลยก็ว่าได้
เช่นเดียวกันกับทุกอาการเมา เมื่อเกิดขึ้นไปแล้วสักพักเราจะชินกับมัน สิ่งที่เคยให้ความสุขก็ให้ได้ไม่เท่าที่เคยรู้สึก เมื่อไม่มีฟิลเตอร์สีชมพูนี้แล้ว รอยด่างรอยร้าวก็จะโผล่ให้เห็นว่า จริงๆ เราก็ไม่ได้ชอบคนนิสัยแบบนี้นี่นา ทำไมพูดเสียงดังจัง เล่นโทรศัพท์บ่อยไปมั้ยนะ หรือทำไมไม่ให้ความสนใจเราเหมือนเมื่อก่อน และบ่อยครั้งเหลือเกินที่ร่องรอยของความเป็นมนุษย์เหล่านั้นปรากฏมานานแล้ว แต่เราต่างมองข้ามกันไปเพราะความรักครึ่งหนึ่งบังตาอยู่
บ่อยครั้งเหลือเกินที่ความสัมพันธ์แบบสั้นๆ จะจบลงตรงนั้น ก่อนเวลาที่เราจะสร่างเมา รักในความสัมพันธ์ระยะสั้น แม้จะไม่ได้กำหนดโดยแผนการ แต่กำหนดด้วยความรู้สึกและสถานการณ์ของชีวิต เมื่อมันจบลง หลายครั้งก็จบอยู่ ณ จุดพีคที่สุดของช่วงเวลาฮันนีมูน เช่น เมื่อคนคนหนึ่งต้องกลับไปประเทศที่เขาจากมา เมื่องานเลี้ยงเลิกราหรือคอนเสิร์ตจบแล้ว เราทั้งคู่ต่างต้องกลับไปใช้ชีวิตที่เป็นตัวของเราจริงๆ ในชีวิตประจำวัน
เหมือนภาพฝันที่อยู่ดีๆ ก็หายไป เหมือนความสัมพันธ์ที่เป็นฮันนีมูนตลอดทางสั้นๆ เหลือไว้เพียงความรู้สึกเดียวกัน เมื่อเรามองรูปถ่ายที่สมบูรณ์แบบ มันงดงามเสียจนสิ่งเดียวที่จะเรียกว่าเจ็บปวดได้ คือความสัมพันธ์ที่จะไม่มีกันอีกแล้วต่อไปจากนี้
แทบจะเป็นความสัมพันธ์ที่พวกเราอยู่ด้วยกัน เพื่อรักในกันและกันเท่านั้น
สิ่งที่ติดอยู่ในใจเรามากกว่าอะไรในความสัมพันธ์ระยะสั้นเช่นนี้ คือคำถาม ‘What-if…’ หรือการถามกับตัวเองว่า หากได้ไปกันต่อเราจะเป็นยังไงกันนะ? จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ ถ้าเราขอช่องทางติดต่อเขาเอาไว้? คนคนนี้คงเป็นพ่อที่ดีมากแน่ๆ ถ้าเราทำตามสัญญาว่าจะเจอกันอีกครั้งได้ มันจะดีแค่ไหนกัน? คำตอบที่เราหาได้เพียงไม่กี่อย่างนั้น อาจมาจากความทรงจำ จินตนาการ ความฝัน และความคาดหวัง ซึ่งยังไงก็เป็นคำตอบของคำถามไม่น่าพึงใจมากพอ เพราะมันไม่ใช่คำตอบที่เกิดขึ้นจริง
นั่นคือสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ระยะสั้นนี้ ทิ้งรอยไว้กับเรามากกว่าแบบใดๆ ความสัมพันธ์ซึ่งมีแต่คำถามที่ไม่มีคำตอบสุดท้าย ทั้งยังเป็นคำตอบที่ถูกเสริมเติมด้วยจินตนาการอันสวยงามของเรา ตอบมันด้วยทุกสิ่งนอกจากความเป็นจริง สร้างภาพคำตอบให้สวยงามขนาดไหนก็ย่อมได้ หากว่าเราได้มีโอกาสตอบคำถามเหล่านั้นด้วยความเป็นจริงแล้ว ภาพฝันที่มีทั้งหมดก็คงหายไป ความโรแมนติกจะน้อยลง อยู่กับความเป็นจริงมากขึ้น และเราจะห่างออกจากความสมบูรณ์ในอุดมคติมากขึ้นด้วย
เพราะเหตุผลที่ความสัมพันธ์ระยะสั้นนั้นสมบูรณ์ เจ็บปวด และคงอยู่ในใจ คือการจบลง
อ้างอิงจาก