“ความเหมือนใดๆ ในหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าตัวละครหรือสถานที่ ขอให้รู้ไว้เลยว่าไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจ” นี่คือประโยคเปิดเรื่อง ‘Z’ อันห้าวหาญจาก คอสตา กาวราส (Costa-Gavras) ผู้กำกับสัญชาติกรีซ
‘Z’ ออกฉายครั้งแรกในปี 1969 โดยกาวราสดัดแปลงบทภาพยนต์เรื่องนี้จากหนังสือชื่อเดียวกันของ วาสสิลิซ วาสสิริกอส (Vassilis Vassilikos) นักเขียนและนักเคลื่อนไหวชาวกรีซที่ลี้ภัยการเมือง ก่อนมันจะคว้ารางวัลภาพยนต์ต่างประเทศยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ในปี 1969 รวมถึงรางวัลจากงานจูรี่ไพรซ์, เทศกาลหนังเมืองคานส์, BAFTAs และโกลเดนโกลบ
ถึงแม้ในภาพยนต์เรื่องนี้จะไม่มีการเปิดเผยชื่อของสถานที่ แต่กาวราสไม่เคยปิดบังว่าเขาพยามยามเล่าอะไรผ่านภาพยนต์เรื่องนี้ “เรื่องราวใน ‘Z’ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง” กาวราสให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The News York Times ในปี 1970 ช่วงเวลาที่กรีซตกอยู่ในเงื้อมมือของรัฐบาลเผด็จการทหาร
ผู้เขียนได้มีโอกาสดูภาพยนต์เรื่องนี้จากโรงหนัง Doc Club เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (20 ส.ค.) และรู้สึกในทันทีเลยว่าแม้ผ่านมากว่า 54 ปี Z ยังยืนตระหง่านในฐานะภาพยนต์ที่ชำแหละเครือข่ายชนชั้นนำ เผด็จการทหาร และระบบอำนาจนิยม มันยังคงบอกเล่าและสะท้อนกลไกกำจัดผู้เห็นต่างและบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม หรือถ้า Z แปลว่ายังมีชีวิตอยู่ นั่นหมายถึงทั้งภาพยนต์เรื่องนี้และเหล่าผู้ต่อต้านอำนาจอันฉ้อฉลทั่วโลก
บทความนี้เปิดหาเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์
(1)
Z – เขายังมีชีวิตอยู่!
“เฉกเช่นโรคราน้ำค้าง เชื้อโรคทางอุดมการณ์ต้องถูกกำจัดให้สิ้นซาก เพราะพวกมันไม่ต่างจากโรคร้ายและปรสิต” เหล่าข้าราชการระดับสูงพยักหน้างึกงักในฉากแรกของเรื่อง
ภาพยนต์เรื่องนี้จำลองเมืองสมมติ ซึ่งกลุ่มอำนาจเก่าที่นำโดยกองทัพ ตำรวจ และข้าราชการกำลังถูกท้าทายด้วยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘สันตินิยม (pacifist)’ ที่ปฏิเสธสงคราม ต่อต้านนิวเคลียร์ และประท้วงการตั้งฐานทัพต่างชาติในกรีซ โดยมีแกนนำคนสำคัญคือ กรีกอริส แลมบรากิส (Grigoris Lambrakis) อดีตนักกีฬาทีมชาติ หมอ นักเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม และ สส.ฝ่ายค้านที่มีตัวตนอยู่จริงในประเทศกรีซ
ในภาพยนต์เรื่องดังกล่าว แลมบรากิสเดินทางมาที่เมืองแห่งหนึ่งเพื่อปราศรัยต่อต้านสงคราม แต่ทุกอย่างกลับไม่เป็นดั่งใจ เมื่อต้องย้ายสถานที่ปราศรัยก่อนวันจัดงานเพียงหนึ่งวัน ตามด้วยการจัดตั้งมวลชนมาทำร้ายทีมงานที่ไปติดตั้งป้ายและแจกใบปลิวเพื่อแจ้งข่าวการย้ายสถานที่จัดงาน ที่สำคัญข่าวลือการลอบสังหารตัวเขาที่เจ้าหน้าที่รัฐเมินเฉยเมื่อได้รับแจ้งเหตุ
ฉากไคลแมกซ์ขององค์ที่ 1 คือ ฉากบนท้องถนนใกล้ที่ปราศรัยที่กำลังวุ่นวายจากการปะทะกันระหว่างฝ่ายสนับสนุนสงครามกับฝ่ายต่อต้านสงคราม ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐ (สารวัตรทหาร) ทำเพียงยืนดูความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างไม่แยแส
เมื่อถึงเวลาที่แลมบรากิสต้องปราศรัย แลมบรากิสกระชับสูท สูดหายใจให้ลึกทั่วปอด แล้วเดินฝ่าฝูงชนที่ตะโกนไล่ให้เขาไปตายเพื่อข้ามไปที่อาคารอีกฝั่งเพื่อปราศรัย ก่อนจะถูกชายคนหนึ่งใช้กระบองฟาดเข้าที่ศีรษะ และแน่นอนว่ากลุ่มสารวัตรทหารมองไม่เห็น
“ทำไมพวกเขาถึงทำร้ายผม ทำไมแนวคิดของพวกเราถึงทำให้เกิดความรุนแรง พวกเขาไม่ชอบสันติภาพหรือ แล้วทำไมพวกเขาไม่โจมตีกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นบ้าง?” แลมบรากิสปราศรัย “คำตอบมันเรียบง่ายมาก เพราะพวกเขาคือกลุ่มชาตินิยมที่จัดตั้งโดยรัฐบาล และพวกเขาไม่สนที่เราถูกหักหลังจากพันธมิตรหน้าไหว้หลังหลอก”
แลมบรากิสไม่รู้เลยว่านี่จะเป็นการปราศรัยครั้งสุดท้ายของตัวเอง เพราะหลังปราศรัยที่เขาต้องฝ่าฝูงชนเพื่อกลับมายังอาคารที่พัก รถสามล้อสีฟ้าก็ขับฝ่าจากมุมมืด ก่อนที่ชายบนหลังกระบะจะฟาดเขาด้วยกระบองที่ศีรษะอย่างจัง เขาล้มลงและเสียชีวิตในอีก 5 วันต่อมา
ความตายของแลมบรากิสทำให้มวลชนที่สนับสนุนเขาออกมารวมตัวกัน และพ่นสีขาวเป็นตัว ‘Z’ ซึ่งมีความหมายในภาษากรีกว่า ‘เขายังมีชีวิตอยู่ (He lives!)’ ลงสู่พื้นถนน ก่อนผู้ชุมนุมทั้งหมดจะถูกปราบปรามอย่างรุนแรงโดยสารวัตรทหาร
***********
นอกโลกภาพยนต์ แลมบรากิสเป็นนักรณรงค์ต่อต้านสงครามที่ไม่รู้เหน็ดเหนื่อย เขาเข้าร่วมการต่อต้านตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 เรื่อยมาจนถึงสงครามเวียดนาม และในปี 1961 เขาเคยจัดงานเดินเพื่อสันติภาพจากเมืองมาราธอน (Marathon) สู่กรุงเอเธนส์ (Athens) แต่กลับถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาจับกุมผู้ร่วมกิจกรรมทั้งหมด จนในที่สุด มีเพียงแลมบรากิสเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เดินเท้าสู่กรุงเอเธนส์พร้อมกับผ้าใบที่มีสัญลักษณ์ของสันติภาพ
หลังจากกิจกรรมนั้นเพียงเดือนเดียว แลมบรากิสก็ถูกลอบสังหารโดยกลุ่มหัวรุนแรงขวาจัดด้วยเหตุการณ์ที่ไม่ต่างจากที่เล่าในภาพยนต์ และเพียงหนึ่งวันหลังการเสียชีวิตของเขา มวลชนกว่า 500,000 คนออกมาประท้วงรัฐบาลและศาล ซึ่งเชื่อว่าสนับสนุนกลุ่มขวาจัดที่มีส่วนกับความตายของแลมบรากิส
(2)
ความจริงที่ไม่ถูกใจกระบวนการยุติธรรม
องค์ที่ 2 ของเรื่องเล่าผ่านความพยายามสืบหาความจริงของเจ้าหน้าที่สอบสวนของศาล (ในหนังใช้คำว่า Examining Magistrate) กับกลุ่มสารวัตรทหารที่พยายามปกปิดความจริงด้วยการสร้างหลักฐานปลอมและพยานเท็จ
“ถึงแม้เราจะมีข้อมูลเกี่ยวกับคนร้ายน้อยมาก แต่เห็นได้ชัดว่าเกิดจากอุบัติเหตุ” กลุ่มสารวัตรทหารพยายามยืนยันว่าแลมบรากิสถูกรถชนเสียชีวิต และสาเหตุมาจากการเมาแล้วขับ ขณะที่อัยการเองก็รับลูกกับข้อสรุปของสารวัตรทหาร เพราะถูกกดดันจากฝ่ายการเมืองให้ปิดคดีนี้โดยไวที่สุด
แต่ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย อัยการพิเศษค่อยๆ พบว่าคำให้การของสารวัตรทหารไม่เป็นความจริง แต่ทุกสิ่งถูกจัดวางอย่างเป็นระบบผ่านการจัดตั้งม็อบฝ่ายต่อต้าน ซึ่งแท้จริงเป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่ถูกว่าจ้างโดยสารวัตรทหารผ่านข้อแลกเปลี่ยน อาทิ ใบอนุญาตค้าขาย ซึ่งผู้มีอำนาจมอบให้ก็คือสารวัตรทหารเอง การถ่วงเวลาไม่ให้พาตัวแลมบรากิสไปโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที ด้วยการนำรถยนต์คันหนึ่งเข้าไปในที่เกิดเหตุ แต่คนขับกลับเป็นคนใกล้ชิดกับผู้บัญชาการสารวัตรทหาร และจงใจขับรถยนต์ชนคันอื่นที่จอดอยู่เพื่อถ่วงเวลา การทำร้ายและข่มขู่พยาน อย่างช่างทำโรงศพที่ถูกดักตีหัวเหมือนแลมบรากิส อีกทั้งเหล่าสารวัตรทหารยังไปเยื่อมเยือนเขาถึงโรงพยาบาลเพื่อขอให้ตัดใจที่จะให้การกับเจ้าหน้าที่สอบสวนของศาลเสีย
ที่สำคัญ แรงกดดันจากผู้มีอำนาจโดยเฉพาะอัยการสูงสุดในช่วงท้ายก่อนการยื่นฟ้องคดี ซึ่งขอไม่ให้เจ้าหน้าที่สอบสวนศาลฟ้องคดีสารวัตรทหาร เพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองและแนวคิดของกลุ่มอนุรักษ์นิยม และเสนอความก้าวหน้าทางอาชีพแลกกับการสอบสวนคดีใหม่ทั้งหมด
“ราวกับยังไม่พอที่ประเทศเราถูกรุกร้านด้วยพวกกุ๊ยผมยาว คนไม่มีศาสนา และสวะที่ไม่รู้เพศตัวเอง และตอนนี้คุณยังพยายามที่จะทำลายกองทัพและศาล อวัยวะไม่กี่อย่างที่ยังแข็งแกร่งภายใต้ระบบรัฐสภาเช่นนี้ พวกเรากำลังฝันถึงการรื้อฟื้นประเทศที่ปราศจากพรรคการเมือง ไม่มีฝั่งขวาหรือฝั่งซ้าย เลื่อมใสพระเจ้า แต่สิ่งที่คุณอยู่ตอนนี้คือพังทุกอย่างลง” อัยการสูงสุดพูดกับเจ้าหน้าที่สอบสวนศาลในห้องตัดสินคดี
แม้ท้ายที่สุด ความพยายามตัดตอนกระบวนการสืบหาความจริงจะไม่สำเร็จ และได้มีการยื่นฟ้องผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด แต่หนังก็จบลงด้วยบทสรุปที่น่าเจ็บปวดคือเครือข่ายผู้มีอำนาจทั้งหมดรอดตัว สารวัตรทหารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดพ้นผิด ผู้ก่อเหตุได้รับการลดโทษ ขณะที่ผู้ยืนตรงข้ามรัฐล้วนถูกฆ่าตัดตอน จำคุก รวมถึงเจ้าหน้าที่สอบสวนของศาล ที่ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ
“รัฐบาลทหารยึดอำนาจและสั่งห้ามไม่ให้ไว้ผมยาว, กระโปรงสั้น, โสโฟคลีส, ตอลสตอย, เอรีพิดีส, ขนมปังปิ้งแบบรัสเซีย, การนัดหยุดงาน, อริสโตฟานีส, โยเนสโก, ซาร์ต, อัลบี, พินเตอร์, เสรีภาพสื่อ, สังคมวิทยา, เบคเกตต์, ดอสโตเยฟสกี, เพลงสมัยใหม่, เพลงป็อป, คณิตศาสตร์สมัยใหม่ และตัวอักษร Z ซึ่งแปลว่า เขายังมีชีวิตอยู่ ในภาษากรีกโบราณ” ข้อความสุดท้ายในเรื่องบรรยายถึงสภาพของกรีซหลังรัฐบาลทหารยึดอำนาจระหว่างปี 1967 – 1974
(3)
กรีซหลังเรื่องราวทั้งหมด
อย่างที่เล่าไปว่าภาพยนต์เรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นจากเรื่องจริง เราเลยอยากพามาดูต่อว่าหลังความตายของแลมบรากิส การเมืองและสังคมกรีซเดินไปในทิศทางไหน
การยื่นฟ้องคดีฆาตกรรมแลมบรากิสเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 1966 โดย คริสตอส ซาสซีตากิส (Christos Sartzetakis) ได้สั่งฟ้องผู้ก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมด แต่ศาลกลับตัดสินว่าจำคุกผู้ก่อเหตุ 2 รายเท่านั้น
และในปีต่อมา เพียง 1 เดือนก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมปี 1967 กองทัพกรีซได้ประกาศรัฐประหารด้วยข้ออ้างว่ามันคือ “การปฏิวัติเพื่อพิทักษ์ชาติ” จากแนวคิดคอมมิวนิสต์ที่กำลังระอุไปทั่วยุโรปตะวันออก ผลจากรัฐประหารครั้งนั้นทำให้กรีซตกอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารนานกว่า 7 ปี (มีการรัฐประหารซ้ำในปี 1973 โดยคนในกองทัพเอง) รวมถึงยังทำให้ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมแลมบรากิสได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ และซาสซีตากิสต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
การต่อต้านรัฐบาลทหารเกิดขึ้นทุกย่อมหญ้า แต่ผลลัพธ์คือกำปั้นเหล็กหรือการปราบปรามอย่างรุนแรง เช่นในเหตุการณ์วันที่ 14 พฤศจิกายน 1973 คณะรัฐประหารได้ส่งรถถังบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคประจำกรุงเอเธนส์ จนทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตอย่างน้อย 24 ราย
แต่ในท้ายที่สุดรัฐบาลทหารก็เสียทีตัวเอง กรีซแพ้ให้กับตุรกีในสงครามเกาะไซปรัส ทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลหมดลง และถูกกดดันให้จัดการเลือกตั้งขึ้นในปี 1974 ซึ่งตามมาด้วยการทำประชามติที่นำไปสู่การยกเลิกสถาบันกษัตริย์ การดำเนินคดีกับผู้ก่อการรัฐประหารทั้งหมด ซึ่งศาลตัดสินประหารชีวิตกลุ่มผู้นำรัฐประหารทั้งหมด ก่อนลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม
หลังเรื่องราวดังกล่าว ซาสซีตากิสกลายมาเป็นประธานาธิบดีของกรีซในช่วงปี 1985 – 1990 และได้รับเลือกให้รัฐบุรุษอาวุโสของประเทศในเวลาต่อมา เช่นเดียวกับแลมบรากิส ที่ยังมีชีวิตอยู่ในหัวใจของผู้รักประชาธิปไตยชาวกรีซ และได้รับเกียรตินำชื่อไปตั้งเป็นชื่อสถานที่สำคัญ อาทิ สนามฟุตบอล, ถนน หรือจัตรุรัสทั่วประเทศ รวมถึงการแข่งขันวิ่งมาราธอนประจำกรุงเอเธนส์ในปี 1982 ที่อุทิศให้แก่ตัวเขา
ที่สำคัญในปัจจุบัน กรีซก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างเต็มใบโดยรายงานจาก Freedom House ในปี 2023 ได้ให้คะแนนประชาธิปไตยในกรีซสูงถึง 86 จาก 100 คะแนน
(4)
ความรุนแรงโดยรัฐที่ไม่เคยมีใครรับผิดชอบ
เหมือนกับประเทศไทยเหลือเกินคือคำแรกที่ผู้เขียนและเพื่อนพูดขึ้นหลังดูเรื่องนี้จบ เพราะนอกจากว่าหนังเรื่องนี้จะถูกห้ามฉายในกรีซช่วงเผด็จการทหารเช่นเดียวกับภาพยนต์ไทยหลายเรื่อง (เชคสเปียร์ต้องตาย, แมลงรักในสวนหลังบ้าน, ดาวคะนอง,..) สิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนต์เรื่องนี้ชวนให้นึกถึงความรุนแรงโดยรัฐอย่างเหตุการณ์ ‘ถีบลงเขา เผาลงถังแดง’ ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงของไทยฆ่าตัดตอนผู้ต้องสงสัยว่ามีแนวคิดคอมมิวนิสต์ จนทำให้ผู้สูญหายอย่างต่ำ 3,000 ราย
ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในธรรมศาสตร์ปี 2519 ซึ่งรัฐไทยใช้ทั้งสื่อ, ขบวนการจัดตั้ง, ผู้มีอิทธิพลทางศาสนาแปะป้ายว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ จนนำไปสู่การฆาตกรรมหมู่โดยรัฐที่โหดร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
ทำให้นึกถึงการสลายชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ที่มีบทความลงในวารสารเสนาธิปัตย์ชัดเจนว่า ศอฉ. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากกองทัพ มีส่วนในการโจมตีและสร้างวาทกรรมป้ายสี อาทิ เผาบ้านเผาเมือง หรือผังล้มเจ้า (ซึ่งต่อมา ‘ไก่อู’ ปฏิเสธในชั้นศาลว่าว่าไม่มีมูลความจริง) ให้คนเสื้อแดง หรือกลุ่ม นปช. จนทำให้สังคมเห็นชอบกับการล้อมปราบเมื่อเดือนเมษายน-พฤภาคม 2553
แต่ที่แตกต่างจากกรีซอย่างที่สุดคือ ในปัจจุบันที่ไทยมีการเลือกตั้งและนายกฯ คนที่ 30 แล้ว ยังไม่มีสัญญาณของความพยายามใดๆ จากผู้มีอำนาจที่จะคืนความยุติธรรมให้ผู้สูญเสียและนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ
พวกเขาที่สั่งฆ่าประชาชนยังคงลอยนวลด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ยังเหยียบย่ำคนเป็นและคนตายอย่างไร้ยางอาย และยังเสวยสุขและดื่มกินอยู่บอดยอดดาดฟ้าพีระมิดสังคมไทย